บางทีวันลาที่มีน้อยๆ ทำให้เราไปไหนไม่ได้ไกล ก็ได้แต่อาศัยวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หาสถานที่ไปพักผ่อนหลังจากการทำงานหนักมาตลอดสัปดาห์ มาคราวนี้ พี่ใหญ่กับหนูเล็กขอพาไป One day trip กันที่จังหวัดเพชรบุรีค่ะ ระยะทางอาจไกลไปนิด แต่ก็สามารถเดินทางไปเที่ยวได้ใน 1 วันค่ะ
เราออกเดินทางโดยใช้เส้นทางถนนพระราม 2 ครั้งนี้ตั้งใจใช้เส้นทางลัดคลองโคนสู่ชะอำ ซึ่งเมื่อขับตามเส้นทางมาเรื่อย ๆ จนข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง (เลยทางแยกเข้าอัมพวาไปนิดนึง) พอลงสะพาน สักพักก็จะเจอปั๊ม ปตท. ทางซ้ายมือก็จะมีทางเข้าเล็ก ๆ ตรงป้อมตำรวจข้างปั๊ม เลี้ยวเข้าไปแล้วขับตามป้ายบ้านแหลมเลยครับ ขับมาประมาณ 15 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดหมายแรกของเรา "ปากแม่น้ำบางตะบูนหรือปากอ่าวบางตะบูน" นั่นเอง แวะชมบรรยากาศยามเช้ากันสักนิดค่ะ ชาวประมงที่นี้เริ่มวันใหม่กันแต่เช้าตรู่ เรายังนับว่ามาสายไป ชาวประมงที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นประมงจับหอยแครง กระท่อมกลางน้ำที่เห็นก็เอาไว้ใช้เฝ้าแปลงเลี้ยงหอยแครงนั่นเอง แต่มีคำเตือนว่าถ้าลงรถมาถ่ายรูปแถวๆ นี้ให้ระวังน้องลิงค่ะ มีเยอะมากเป็นฝูงๆ เลย
ปากอ่าวบางตะบูนยามสาย
หลังจากชมความงามของปากอ่าวบางตะบูนกันแล้วเราก็ออกเดินทางกันต่อ ขับรถต่อมาอีกประมาณไม่เกิน 5 กิโลเมตรก็มาถึง "นาเกลือบ้านแหลม" กันแล้ว มาเจอแปลงที่กำลังมีคนงานมาเริ่มงานพอดีเลย คนงานจะมาขนเกลือเข้าโรงเก็บ มาถึงแต่ละคนจะไม่พูดพล่ามทำเพลง วางอุปกรณ์ประจำตัวนั่นคือกระติกน้ำ จากนั้นก็ลงมือทำงานกันเลย หลังสู้ฟ้า หน้าสู้เกลือ ไม่สนใจเราที่มายืนตั้งอกตั้งใจดูสักนิดค่ะ นาเกลือขาว ๆ กับฟ้าใส ๆ สวยมากจริงๆ ค่ะ ตลอดเส้นทางเขาจะมีจุดพักรถให้ชมความงามของนาเกลือเป็นจุดๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับมหัศจรรย์ของเกลือที่ให้ประโยชน์ต่างๆ มากมายด้วย
การเดินทางของเรายังคงไปต่อเพราะยังไม่ถึงเป้าหมาย ระหว่างทางเจอสถานที่ให้แวะอีกแล้ว เราก็แวะตามเคย ทัวร์นี้ชอบแวะค่ะ ที่นี่คือ "โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ" เป็นแหล่งศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านการประมงแก่เกษตรกร เพื่อนำไปพัฒนาอาชีพประมง ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง เป็นฟาร์มตัวอย่างแห่งใหม่ภายใต้มูลนิธิศิลปาชีพเช่นเดียวกับฟาร์มตัวอย่างแห่งอื่นทั่วประเทศหลายโครงการ เริ่มจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงทราบปัญหาสัตว์ทะเลธรรมชาติในน่านน้ำไทยลดน้อยลงมาก รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง และปัจจัยอื่นๆที่ใช้ในการออกเรือไปจับสัตว์น้ำธรรมชาติ มีต้นทุนสูงขึ้นมาก อีกทั้งต้องออกเรือไปจับสัตว์น้ำในทะเลที่ห่างไกลมากยิ่งขึ้น ผลผลิตสัตว์น้ำที่จับได้ขายแล้วไม่คุ้มทุน จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหา เป็นสถานที่เล็กๆ แต่มีปลาทะเลพันธุ์ต่างๆ ให้ชมด้วยค่ะ ถ้าขับรถเข้าไปด้านในจะมีพลับพลาที่ประทับที่เคยใช้ในการรับเสด็จด้วย มีพนังกั้นน้ำให้เห็น นับเป็นอีกสถานที่ที่มีบรรยากาศดี แวะเข้าไปชมและพักรถได้ค่ะ
เราไปรับลมเย็นๆ และชมปลาหน้าตาแปลกๆ กันสักพักก็ออกเดินทางกันต่อ มองไปเห็นป้ายบอกทางสู่ “โครงการพระราชดำริแหลมผักเบี้ย” ความคิดถึงใครบางคนแล่นเข้ามาจับหัวใจทันที มีคำกล่าวว่า “ถ้าคิดถึงพระองค์ท่าน ก็แค่แวะไปยังสถานที่ที่พระองค์ท่านทรงทำไว้ให้พวกเรา เท่านี้ความคิดถึงก็จะคลายลง” ไปค่ะ แวะไปกัน ขับรถต่อไปอีกไม่ไกลนัก ทางซ้ายมือมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายสู่โครงการฯ เราขับรถเข้าไปจอด ไปลงชื่อในสมุดเยี่ยม ไม่มีค่าเข้าชมอะไร เขาจะมีรถรางพานำชม วันที่เราไปมีน้องๆ นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ มาทัศนศึกษากันพอดีทำให้บรรยากาศคึกคักมาก
การชมโครงการหากขยันเดินก็คงได้ แต่การนั่งรถรางน่าจะเหมาะกว่าเพราะเขาจะมีเจ้าหน้าที่บรรยายให้ความรู้ด้วย และในวันที่แดดค่อนข้างร้อนก็คงไม่ไหว แต่ถ้าไม่อยากนั่งรถราง อยากจะออกกำลังขา จะมีจักรยานให้ยืมปั่น ราคาไม่แพงเลย ลองดูค่ะ แต่วันที่เราไปแดดร้อนมาก ดังนั้นขอสมัครใจนั่งรถรางดีกว่า
ระหว่างทางเจ้าหน้าที่จะอธิบายถึงโครงการบำบัดน้ำเสียโดยเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริที่ได้นำมาใช้ในแหลมผักเบี้ยมีทั้งหมด 4 ระบบ ได้แก่ ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย เป็นระบบที่อาศัยการกักพักน้ำเสียไว้ในระยะเวลาที่เหมาะสมกับความสกปรกของน้ำ เติมออกซิเจนด้วยการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอน และสาหร่าย ถัดไปเป็นระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย เป็นระบบที่ให้พืช หญ้าอาหารสัตว์ ช่วยดูดซับธาตุอาหารจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดิน ระบบที่ 3 คือระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม วิธีการ คือ จะเติมน้ำเสียลงสู่ระบบอย่างต่อเนื่องตลอดวัน และสุดท้ายคือ ระบบแปลงพืชป่าชายเลน ระบบนี้จะให้ธรรมชาติบำบัดด้วยตัวของมันเองตามระยะเวลาการขึ้นลงของน้ำทะเลในแต่ละวัน
ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย
ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย
ระบบแปลงพืชป่าชายเลน
น้ำเสียที่อยู่ในบ่อจะถูกส่งมาตามท่อด้วยความยาวกว่า 18 กิโลเมตร ตามจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดที่ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูง และเป็นยังมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ฟังแล้วก็ได้ความรู้ดีค่ะ แต่เท่าที่ดูแล้ว เป็นที่บำบัดน้ำเสีย ที่ดูไม่เหมือนที่บำบัดน้ำเสียที่เราเคยเห็นเป็นบ่อที่ใช้เลี้ยงปลาได้อีกต่างหาก และต้องนับว่าที่นี่เป็นแหล่งดูนกชั้นดีทีเดียว เพราะเท่าที่มองเห็นมีนกหลากหลายพันธุ์มาก ถ้ามีกล้องดีๆ คงเก็บภาพได้มากทีเดียว นับเป็นโรงเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งที่ควรมาอย่างน้อยสักครั้ง
นั่งรถรางไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งเจ้าหน้าที่จะให้เราลงเดินบริเวณทางเข้าทางเดินท่องเที่ยวศึกษาป่าชายเลนตามธรรมชาติ ซึ่งมีระยะทางราวๆ 1 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะร่มครึ้มไปด้วยต้นโกงกาง แสม ส่วนที่ด้านล่างจะมีสัตว์ต่างๆ ที่เราต้องค่อยๆ สังเกต เช่น ปลาตีน ปูตัวเล็กตัวน้อย และปูก้ามดาบ หากสงสัยว่า ทำไมชือโครงการคือแหลมผักเบี้ย ก็ไม่มีอะไรมากค่ะ ผักเบี้ยทะเลของจริงจะขึ้นอยู่เต็มบริเวณโดยรอบป่าชายเลนให้เราเดินชมกันเพลินๆ
เส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน
ทางเดินตามเส้นทางที่ 1 จะพาเดินไปจนสุดที่ทะเล แต่เราเดินกันไม่ถึงค่ะเพราะเริ่มหิวและต้องเดินกลับทางเดิมมารอรถอีก จึงเลือกที่จะเดินกลับ
เส้นทางเดินที่ร่มรื่น
สังเกตดีๆ จะมีปูก้ามดาบให้เห็นเยอะทีเดียว
ปลาตีนก็มีค่ะ
เมื่อออกได้ที่ด้านนอกสักพักรถก็มา เราก็นั่งรถกลับออกมาที่จุดที่เราจอดรถไว้ เสียดายที่ไม่มีเวลามากพอที่จะเดินชมนิทรรศการภายในอาคารจึงได้แต่คิดว่าครั้งหน้าคงจะหาเวลามาที่นี่ใหม่
นกต่างๆ พบเห็นได้มากมาย
สังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีนกเกาะที่เสาทุกต้น
ภายในอาคาร
หลังจากออกเดินทางมาได้สักพัก เห็นป้ายบอกทางไป “หาดเจ้าสำราญ” เราทั้งคู่ไม่ได้มาเยือนกันนานนับสิบปีหลังจากเรียนจบสมัยมัธยม (ตายจริง เผลอบอกอายุไปไหมเนี่ย) แวะไปชมความเปลี่ยนแปลงกันหน่อยดีกว่า ขับรถไปไม่นานก็มาสุดทางที่หาดเจ้าสำราญกันเลยค่ะ ถึงแม้จะคิดถึงเขา แต่เราก็มาทะเล...ฮา เดินรับลมทะเล รื้อฟื้นความหลังครั้งยังสาวกันไม่นาน ออกเดินทางต่อล่ะค่ะ หิวข้าวแล้ว
มื้อกลางวันวันนี้ขอเลือกไปรับประทานเมนูแปลกๆ ที่คนกรุงเทพฯ อย่างเราไม่เคยทานนั่นคือ ขนมจีนทอดมัน เราตั้ง GPS ไปที่ร้านนุชทอดมันขนมจีน หน้าวัดข่อย ซึ่งอยู่ในเขตตัวเมืองเพชรบุรี ไปถึงก็เอารถเข้าไปจอดในรั้ววัดกันก่อนเลย ทั้ง ขนมจีน และ ทอดมัน มีทั้งแบบเป็น จาน ๆ หรือจะสั่งแยกก็ได้ แบบดิบกลับไปทอดเองก็มีขายด้วย คุณลุงมาแนะนำว่าการทานให้อร่อยต้องตักขนมจีนพอดีคำเอาทอดมันวางจากนั้นราดน้ำจิ้มรสชาติเผ็ดๆ หวานๆ นี่ล่ะ สูตรอร่อยเลย เป็นเมนูอาหารที่แปลกและแนะนำให้มาลองค่ะ ได้น้ำจิ้มรสเด็ดนี่ล่ะมาช่วยไม่งั้นก็คงจะเลี่ยนๆ เหมือนกัน
หลังจากอิ่มกันเรียบร้อย ไม่ต้องไปเที่ยวอื่นไกลค่ะ แวะเที่ยวที่วัดข่อยที่เราจอดรถกันเลย จุดเด่นของวัดก็คือ พระธาตุฉิมพลีพระเศรษฐีนวโกฏิ ซึ่ง เป็นศาสนสถานที่มีการนำงานศิลปะชั้นสูงของช่างเมืองเพชร หรือเรียกว่า ช่างสิบหมู่ มาเป็นส่วนร่วม จนเรียกได้ว่า เป็น พุทธสถานศิลป์หนึ่งเดียวในโลก ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมกับเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมเจริญจิตภาวนา โดยมูลค่าการก่อสร้างกว่า 24 ล้านบาท สถาปัตยกรรมของพระธาตุ ฉิมพลีฯดูแตกต่าง เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร พระธาตุฉิมพลีพระเศรษฐี เป็นทรงอาคารสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีลักษณะคล้ายผ้ายันต์ที่ผนังอาคารเต็มไปด้วย อักขระพิเศษ มีพระพุทธรูปประจำอยู่ 4 ทิศ ชั้นบนสุดเป็น ที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ
ส่วนบรรยากาศรอบบริเวณพระธาตุฯมีรูปปั้นจำลองของมักกะลีผลแขวนบนต้นไม้เป็นเพศชายซึ่งแตกต่าง จากมักกะลีผลทั่วไป ที่เป็นเพศหญิง ส่วนสาเหตุที่สร้างเป็นเพศชายนั้นก็เพื่อให้ญาติโยมที่มาเที่ยวมาไหว้พระ เห็นแล้วแปลกใจแค่นั้นเองค่ะ
จากวัดข่อยยังพอมีเวลา เราไปเที่ยวอีกสถานที่หนึ่งไม่ไกลนัก อยู่ในเขตตัวเมือง จุดหมายเราคือ “พระราชวังบ้านปืน” ค่ะจากวัดข่อยขับรถไปที่ค่ายรามราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังอันงดงามที่เราตั้งใจมาชมกัน การเข้าชมต้องแลกบัตรค่ะ เพราะเราเข้ามาในเขตทหาร ต้องนำรถไปจอดยังลานจอดที่กำหนด ซึ่งจุดจอดรถจะเป็นลานตรงหน้าพระที่นั่งวังบ้านปืนพอดิบพอดีค่ะ
ที่ลานหน้าพระที่นั่งพระราชวังบ้านปืน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ประทับยืน ผู้มาเยือนทุกคนจึงมักหยุดกราบสักการะก่อนเข้าชมทุกครั้ง
วังบ้านปืน มีชื่อเรียกมาจาก รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงดำเนินการหล่อ รูปปั้นพระนารายณ์ทรงปืนเพื่อนำมาประดิษฐานไว้ยังหน้าพระที่นั่ง ซึ่งปัจจุบัน รูปปั้นนี้ย้ายมาไว้ยังหน้าพระที่นั่ง พุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร การก่อสร้างพระที่นั่งแห่งนี้ มาสำเร็จในรัชสมัย พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท" และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนาม "พระราชวังบ้านปืน" โดยพระราชทานนามพระราชวังใหม่ว่า "พระรามราชนิเวศน์" แต่ชาวเมืองเพชรบุรี และผู้คนทั่วไปยังเรียกติดปากว่าพระราชวังบ้านปืนตามชื่อเดิม
พระราชวังบ้านปืนหรืออีกในนามว่า พระรามราชนิเวศน์ เป็นพระราชวังแห่งความทรงจำ ซึ่งเดิมที พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ผู้บัญชาการทหารเรือ กับ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) เป็นแม่กองดำเนินการก่อสร้างพระตำหนัก ถนน และสถานที่ต่างๆ พร้อมโปรดเกล้าฯ ให้ คาล ดอห์ริง นายช่างเยอรมัน เป็นผู้คิดเขียนแบบรูปพระตำหนักตามกระแสพระราชดำริ โดยมี ดอกเตอร์ควดไบเยอร์ ชาวเยอรมัน เป็นนายช่างก่อสร้าง โดยพระราชประสงค์ให้สร้างพระราชวังแบบยุโรป เพื่อใช้สำหรับแปรพระราชฐานในฤดูฝน ความงดงามของสถาปัตยกรรมยุโรปสุดคลาสสิกที่มีอายุกว่า 100 ปีแต่ยังคงความงดงามไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ รูปแบบของสถาปัตยกรรมภายในพระราชตำหนัก เป็นสถาปัตยกรรมแบบบารอค และแบบอาร์ตนูโว ตัวพระตำหนักเน้นความทันสมัย ไม่เน้นลายรูปปั้นที่วิจิตรพิสดารมากมาย เหมือนอาคารที่ถูกสร้างในสมัยเดียวกัน แต่จะเน้นเรื่องความสูงของหน้าต่างซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งจากภายในและด้านนอกของอาคาร รวมถึงความสูงและกว้างใหญ่ของเพดาน ทำให้พระตำหนักดูใหญ่โต สง่างาม และตระการตา โดยไม่ต้องแต่งเติมด้วยลวดลาย หรือสีสันมากจนเกินไป
ในการเข้าชมพระราชวังแห่งนี้สามารถเข้าชมได้ทั้งชั้นล่างและชั้นบน ซึ่งชั้นล่างจะประกอบไปด้วย ห้องรอเฝ้า ท้องพระโรงกลาง ห้องเสวย ห้องเครื่อง และห้องเทียบเครื่อง สำหรับบันไดขึ้นชั้นบน เป็นบันไดแบบเวียนคู่เป็นศิลปะแบบบารอค มีลักษณะวนหากันเป็นรูปดอกจิก บนราวบันไดประดับด้วยรูปปั้นตุ๊กตาถือผลไม้ ถือพวงมาลัย ซึ่งเป็นศิลปะแบบโมเดิร์นสไตล์ เชื่อมต่อจากห้องโถงกลมชั้นล่าง ที่นายช่างเยอรมัน ออกแบบเป็นศิลปะผสมผสานที่เข้ากันอย่างลงตัว โดดเด่นด้วยต้นเสาสีเขียวเข้ม และพื้นหินอ่อนกลางห้องลวดลายลักษณะคล้ายเกล็ดปลา หากมองจากด้านบนลงมาจะเห็นถึงความสวยงามได้อย่างชัดเจน ซึ่งที่ชั้นสองยังมีระเบียงที่สามารถมองเห็นวิวด้านนอกได้อย่างชัดเจนเป็น มุมผ่อนคลายสายตาของผู้มาเยือนอีกด้วย
เป็นที่น่าเสียดายว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ทางพระราชวังบ้านปืนห้ามการถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอทุกชนิดที่ด้านใน หนูเล็กจึงมีแต่เพียงภาพบรรยากาศอาคารและบริเวณด้านนอกมาฝาก แต่เท่าที่ได้ไปเดินชมอาจเป็นด้วยกาลเวลาที่ล่วงเลยมานาน จึงทำให้เกิดร่องรอยความชำรุดทรุดโทรมไปพอสมควรจากที่เคยมาเยือนเมื่อหลายปีก่อน หากแต่โครงสร้างโดยรวมยังคงความงดงาม ตระการตาไม่เสื่อมคลาย
เราออกจากพระราชวังบ้านปืนเมื่อบ่ายแก่ อากาศที่ร้อนจัดจึงทำให้ต้องไปหาอะไรเย็นๆ ดับร้อนกันก่อนกลับ จะมีอะไรดีไปกว่าเมนูขึ้นชื่อเมืองเพชรอย่าง “ข้าวแช่” เดินทางเข้าตัวเมืองไปที่สถานีกาชาดที่ 8 แล้วมองไปฝั่งเยื้องๆ กัน “ร้านข้าวแช่ป้าเอื้อน”ร้านเก่าแก่ขายมานานกว่า 70 ปี สูตรดั้งเดิมของชาวเพชรบุรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จะตั้งร้านอยู่ตรงนั้นค่ะ ลูกค้าสามารถมานั่งทานที่ร้าน ที่ร้านมีโต๊ะและเก้าอี้เล็กๆ ไว้บริการ การเสิร์ฟข้าวแช่ใช้ถ้วยชาม จานแบบเก่า และใช้ช้อนทองเหลือง ทำให้ให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น ข้าวแช่ ครบเครื่องจัดมาเต็ม ทั้ง เนื้อปลาผัดหวาน ลูกกะปิทอดหอม และไชโป๊วเค็มผัดหวานกำลังดี ทานคู่กับข้าวหอมมะลิ ข้าวเรียงเม็ดสวยงาม หุงแบบร่วน แช่น้ำที่เก็บไว้ในหม้อดินเผาที่เก็บความเย็น ลอยดอกมะลิหอม เย็นชื่นใจ ขายชุดละ 20 บาท ถ้าไม่อยากนั่งทานจะซื้อกลับบ้านก็สะดวกค่ะ แต่ถ้าใครไม่อยากทานข้าวแช่
ร้านข้าวแช่ป้าเอื้อน
ข้างๆ กันมี "ร้านขนมจีนแม่อ้อย" ที่ขายขนมจีนทุกอย่าง แต่ที่มีชื่อคือ ขนมจีนซาวน้ำที่ร่ำลือกันถึงรสชาติที่อร่อยล้ำ และยังมีน้ำยา น้ำพริก และแกงเขียวหวานที่ต้องมาทานแต่เช้าด้วยเพราะจะหมดก่อน 10 โมง
ร้านขนมจีนแม่อ้อย
ก่อนหมดหนึ่งวันในเพชรบุรีของเรา เดินจากร้านข้าวแช่ไปที่ตลาดที่อยู่ไม่ไกลกันค่ะ ไปหิ้ว “ชมพู่เพชร” กลับบ้านกันคนละถุงสองถุง มาถึงถิ่นทั้งทีจะไม่ซื้อกลับไปเสียดายแย่เลย
“เพชรบุรี” เป็นอีกจังหวัดที่สามารถจัดโปรแกรมเล็กๆ ไปกิน ไปเที่ยว ได้สบายๆ เพราะนอกจากที่กิน ที่เที่ยวที่พี่ใหญ่กับหนูเล็กพาไปในวันนี้แล้ว ยังมีอีกหลายแห่งรอให้ไปสัมผัส จะเลียนแบบเรา หรือจะลองวางแผนเที่ยวเองก็ได้ค่ะ
ว่าแล้วก็...วันหยุดหน้าวางแผนออกเดินทางเลยนะคะ
แวะไปทักทายกับพี่ใหญ่และหนูเล็กกันได้ค่ะที่ https://www.facebook.com/TravelWithPiyaiAndNoolek/
Piyai&Noolek
วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เวลา 14.10 น.