สวัสดีค่ะเพื่อนๆ รีวิวนี้เป็นรีวิวแรกของเราใน Readme.me ฝากติดตามและให้กำลังใจด้วยนะคะ ^^

การออกเดินทางครั้งนี้ เป็นการเดินทางไปเป็น "อาสาสมัครปักกล้าข้าวลงนา" กับคณะโรงบ่มอารมณ์สุข เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วค่ะ เราและเพื่อนตั้งใจไว้ว่ากลับมาจากค่ายจะนำสิ่งที่ได้พบเจอ และเรียนรู้ มารีวิวแชร์ประสบการณ์การเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอในพื้นที่
"บ้านป่าบงเปียง" จ.เชียงใหม่ ค่ะ ^^

ในการรีวิวครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ส่วนค่ะ
- การเดินทางและที่พัก -
- ถอนกล้าและการปักดำ -
- อาหารการกิน -

พร้อมแล้วออกเดินทางกันเลยค่า ^^


- การเดินทางและที่พัก -

> การเดินทาง <

บ้านป่าบงเปียง ตั้งอยู่ใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ทำนาขั้นบันไดของชาวปกาเกอะญอค่ะ
ในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ชาวบ้านเริ่มปักดำข้าว ที่นี่จะมีการปลูกข้าวเพียงปีละครั้งเท่านั้น
โดยจะปลูกไว้กินเองเป็นหลัก และที่เหลือจะส่งลงมาขายในตัวเมือง


การเดินทางในครั้งนี้เราเริ่มต้นที่ดอยอินทนนท์ โดยการนั่งรถสองแถวสีเหลืองมากับชาวคณะ มาลงที่ลานจอดรถน้ำตกแม่ปาน เพื่อเปลี่ยนรถไปขึ้นกระบะโฟรวิวของทางที่พัก (เราสามารถติดต่อให้ที่พักมารับ โดยการแจ้งวันเวลาให้ชัดเจนค่ะ) เวลาการเดินทางจากลานจอดรถไปยังบ้านป่าบงเปียงใช้เวลาประมาณ 25-40 นาที ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและสภาพถนนค่ะ

ช่วงเดือนกรกฎาคมมีฝนตกชุก ทำให้การเดินทางค่อนข้างลำบากค่ะ เพราะถนนขึ้นไปบ้านป่าบงเปียงเป็นดินลูกรัง ต้องให้คนที่ชำนาญในพื้นที่พาขึ้นไป


ดอยอินทนนท์ในวันที่หมอกลงจัดตอน 7 โมงเช้า มุ่งหน้าไปยังน้ำตกแม่ปาน


วิวระหว่างทางบนกระบะโฟรวิวยังเป็นถนนราดยางนั่งสบายๆค่ะ


ขับมาได้ไม่นานถนนก็เปลี่ยนเป็นดินลูกรัง


ช่วงที่ฝนตกหนักชาวบ้านต้องเอาโซ่พันล้อเพื่อเพิ่มความหนืดในการเคลื่อนที่ค่ะ

...............................................................................................................................

> ที่พัก <

บ้านป่าบงเปียงมีบ้านพักจำนวนหลายหลัง ซึ่งมีทั้งบ้านที่ตั้งอยู่ริมเขามองเห็นวิวนา และบ้านที่ตั้งอยู่กลางนาขั้นบันได ข้างบนนี้ "ไม่มีไฟฟ้าใช้" นะคะ ใช้วิธีการจุดเทียนในตอนกลางคืนเอาค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าร้อน เพราะที่นี่อากาศเย็นเกือบตลอดทั้งปี บ้านพักมีมุ้งและเครื่องนอนให้ครบ ส่วนห้องน้ำจะอยู่นอกบ้านบริเวณใต้ถุน

บ้านพักสามารถรองรับนทท.ได้ตั้งแต่ 2 คนจนถึง 10 คนเลยค่ะ


กลุ่มบ้านพักริมเขามองเห็นวิวนา นั่งห้อยขาก็ยังได้ ในเครือของมาฉิโพค่ะ


บ้านพักกลางนาขั้นบันได เปิดประตูออกมาก็เจอนาข้าวเลย


วิวหน้าบ้านมาฉิโพ (อยากตื่นมาเจอวิวแบบนี้ทุกวันเลยค่ะ)




- ถอนกล้าและปักดำ -

อาสาด้วยใจ ช่วยชาวบ้านถอนต้นกล้าและปักดำ

9 โมงตรงชาวคณะอาสามุ่งหน้าไปยังแปลงนาที่ว่างเพื่อปักดำข้าว ก่อนที่เราจะได้ไปปักดำเราต้องไปเรียนรู้จากชาวบ้านกันก่อนนะคะ อยู่ดีๆจะไปปักดำเลยก็ไม่ได้ เพราะไม่มีใครเคยทำมาก่อน การเป็นอาสาสมัครที่ดีต้องฟังและทำความเข้าใจในกฎกติกาของคณะ และกฎระเบียบในพื้นที่ค่ะ เคารพซึ่งกันและกัน พร้อมใจกันทำงานอย่างสามัคคี เรียนรู้อย่างเต็มที่และเต็มกำลังไปในตัว ^^


เตรียมพร้อมเดินไปหาแปลงนาที่ว่างค่ะ การแต่งตัวต้องให้ง่ายต่อการเดินบนคันนา


แปลงต้นกล้าเขียวขจี ที่รอการถอนระหว่างทางค่ะ

...............................................................................................................................

> งานแรก "การไถหน้าดิน" หรือการไถนา <

การไถหน้าดินในสมัยก่อนจะใช้คันไถไม้ โดยใช้แรงคนในการไถ พอเทคโนโลยีเข้ามาชาวบ้านก็หันมาใช้เครื่องไถแทนการใช้แรงคนเพราะประหยัดเวลา แต่ก็ยังมีคันไถไม้เหลืออยู่ให้เราชาวคณะได้เรียนรู้และทดลองไถหน้าดิน บอกเลยว่าไม่ง่ายค่ะ ผู้หญิงอย่างเราไถไม่ไปแหะๆ


ชาวบ้านใช้เครื่องไถ ส่วนชาวคณะใช้คันไถไม้


ชาวคณะให้กำลังเพื่อนที่กำลังลองใช้คันไถไม้ค่ะ


...............................................................................................................................

> งานสอง "การถอนกล้า" ก่อนการปักดำ <

สิ่งแรกที่ชาวบ้านบอกเราคือ "ต้องรู้วิธีถอน ถอนยังไงให้ใช้เวลาน้อยที่สุด" เพราะไม่ได้มีแค่แปลง 2 แปลง แต่มีเป็นร้อยแปลงค่ะ วิธีถอนกล้าของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ของแบบต้องใช้เวลาจริงๆค่ะ แล้วจะคล่องมือไปเอง เมื่อถอนกล้าเสร็จแล้วก็จะเอากล้ามาเล็มปลายยอด มัดเป็นกำแบบหลวมๆ



ชาวคณะช่วยกันถอนกล้าคนละไม้คนละมือนั่งทำเพลินๆ เกือบ 2 ชั่วโมง


ชาวบ้านมัดเป็นกำ เตรียมไปปักดำต่อค่ะ


...............................................................................................................................

> งาน "การปักดำ" หรือการดำนา <

การปักดำ หรือการดำนา เป็นการเอากล้าที่เล็มปลายยอดแล้วมาปักในนา วิธีการที่ทุกคนทำเหมือนกันคือ การใช้นิ้วโป้งกดรากลงในดิ

ฝนตกหนัก และปักกล้าไม่จม กล้าลอยตลอดไม่ลงดิน ต้องปักใหม่ และปักให้ความห่างเท่าๆกัน มันไม่ง่ายเลย ทุลักทุเลอยู่หลายชั่วโมงกว่าจะเสร็จแปลงนึง ประสบการณ์แบบ Local Experience ครั้งหนึ่งในชีวิตของเราและเพื่อนเลยค่ะ


แปลงนี้กล้าเต็มแปลง (ชาวบ้านทำไว้)


ชาวคณะเดินบนคันนาไปยังแปลงนาที่ว่าง ต้องถอดรองเท้าเดินเพราะพื้นลื่นมาก


ฝนตกก็ไม่หวั่นค่ะ ลองดำนาสักครั้งในชีวิต แล้วจะรู้ว่าข้าวไม่ได้เกิดมาเป็นเม็ดให้เรากินง่ายๆเลย



- อาหารการกิน -

> อาหารการกินมีบริการพร้อมที่พัก <

แต่ละบ้านก็จะจัดสรรแตกต่างกันไป ที่บ้านมาฉิโพจะมาเสิร์ฟแบบเป็นปิ่นโต ประกอบไปด้วย
น้ำพริกกระเหรี่ยงปลากระป๋อง ไข่เจียว และผักที่ปลูกข้างบนออร์แกนิกและปลอดสารแบบ 100% ค่ะ

ทริป 2 วัน 1 คืน บ้านพักจะบริการอาหาร 2 มื้อคือ มื้อเย็นในวันแรก และมื้อเช้าในวันที่สอง


อาหารการกินบ้านมาฉิโพ อยู่ง่าย กินง่าย


"การเป็นอาสาครั้งนี้ เป็นการทำอาสาที่เหนื่อยที่สุดค่ะ
แต่ความเหนื่อยทำให้เราเรียนรู้ เข้าใจ และเห็นคุณค่าของข้าวจริงๆ
ไม่ใช่แค่ข้าวมีวิตามิน
หรือมีสารอาหาร เป็นแหล่งพลังงานชั้นดี
แต่การที่กว่าจะมาเป็นข้าวที่อยู่บนจานเรา มันมีขั้นตอน และพิธีกรรม
การปลูกข้าวเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่ต้องเรียนรู้ฝึกฝน
และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เกิดเป็น "วัฒนธรรมข้าว" ทั่วทุกภาคของเมืองไทย"


ขอจบการรีวิวแต่เพียงเท่านี้ค่ะ" ขอบคุณนะคะที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ ^^


ขอจบการรีวิวด้วยภาพ แสงสุดท้ายที่บ้านป่าบงเปียง

You travel (Around the world)

 วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 11.37 น.

ความคิดเห็น