เทศกาล มหาสงกรานต์ แห่นางดาน เมืองนครศรีธรรมราช ประจำปี 2559

ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่แบบเก่าของไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 – 15 เมษายน ของทุกปี

ในปีนี้ I am Devil ยัยตัวร้าย ได้ร่วมงาน เทศกาล มหาสงกรานต์ แห่นางดาน เมืองนครศรีธรรมราช ประจำปี 2559 ได้ชมพิธีอลังการนางดาน ตำนานเมืองนครฯ เป็นปีแรกเลยค่ะ

I am Devil ยัยตัวร้าย จะพาทุกท่าน ชมแห่นางดาน ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทย เป็นประเพณีที่เก่าแก่ของศาสนาพราหมณ์ ตามมากันเลยค่ะ

ประเพณีแห่นางดาน

เป็นประเพณีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวาย หรือประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 3 องค์ มารอรับเสด็จพระอิศวร ทีจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ในช่วงเดือนยี่ของทุกปี เชื่อกันว่าเป็นการประสาทพรให้มีความสุขสบาย คุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัย

เทพที่อัญเชิญรับเสด็จประกอบด้วย

  • พระอาทิตย์ พระจันทร์
  • พระแม่คงคา
  • พระแม่ธรณี

เทพดังกล่าวนี้ จารึก หรือแกะสลักลงบนแผ่นไม้ ชาวนครศรีธรรมราช เรียกไม้สลักดังกล่าวนี้ว่า “นางกระดาน”หรือ “นางดาน” เมื่อถึงวันพิธีจะอัญเชิญนางกระดานทั้ง 3 นี้มายังเสาชิงช้าในหออิศวร เพื่อรอรับพระอิศวรที่จะเสด็จเยี่ยมโลกมายังเสาชิงช้า

สำหรับพิธีแห่นางดานของนครศรีธรรมราช เคยใช้ฐานพระสยม เป็นจุดเริ่มต้นขบวนแห่ไปประกอบพิธี ณ หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ ในเวลาพลบค่ำ ตั้งแต่วันขึ้น 7 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เพื่อต้อนรับพระอิศวร และวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 5 ค่ำ เพื่อรับพระนารายณ์

ส่วนพิธีพราหมณ์ “แห่นางดาน” ของนครศรีธรรมราชที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่งนี้ คือ วันที่ 14 เมษายน มิใช่วันตามประเพณีพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนยี่ เทศบาลนครศรีธรรมราช ได้นำมาผนวกไว้กับวันสงการนต์ ซึ่งถือเป็นวันขึนปีใหม่ไทย เพื่อรำลึกถึงประเพณีคู่บ้านคู่เมืองที่ดี มีคุณค่าต่อบ้านเมือง

ความหมายของนางกระดานแผ่นที่ 1

นามว่า “พระอาทิตย์ พระจันทร์”

พระอาทิตย์ หรือพระสุริยา เป็นผู้สร้างกลางวัน เป็นผู้ให้แสงสว่าง และความร้อนแก่โลกมนุษย์ และดาวเคราะห์อื่นๆ ด้วยการชักรถม้าเคลื่อนไปในจักรวาลไม่มีวันหยุด ให้พลังานแก่สรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง ก่อให้เกิดวัฏจักรแห่งดินฟ้า อากาศ เป็นฤดูกาล ถือเป็นเทพที่มีคุณูปการต่อการอยู่รอดของสรรพสัตว์

พระจันทร์ หรือ “รัชนีกร” เป็นเทพผู้สร้างกลางคืน เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ และงดงามอ่อนละมุน ถือเป็นเทพผู้อำนวยให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายได้พักผ่อน และผสมพันธุ์สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ความหมายของนางดานกระดานแผ่นที่ 2

นามว่า “พระธรณี”

พระธรณี เทพองค์นี้ มีหน้าที่รองรับน้ำหนักของสรรพสิ่ง และพยุงสิ่งทั้งหลาย สิ่งที่พระอิศวรสร้างไว้ในจักรวาลให้ดำรงอยู่เป็นเสมือนพ่อแม่ของเทพทั้งหลาย รองรับทุกอย่างโดยไม่รังเกียจ เป็นเทพผู้สะสมคุณงามความดีทั้งปวง เมื่อครั้งที่พระพรหมสร้างโลก และขอให้พระอิศวรไปรักษาโลก พระอิศวรทรงห่วงใยว่าโลกไม่แข็งแรง จึงมีการทดสอบโดยหยั่งพระบาทลงมา ซึ่งหากหยั่งทั้งสองพระบาทเกรงว่าโลกจะแตก จึงหยั่งพระบาทมาเพียงข้างเดียว และในการนี้พระธรณีได้เข้ามาทำหน้าที่รองรับพระบาทของพระอิศวรเอาไว้

ความหมายของนางกระดานแผ่นที่ 3

นามว่า “พระคงคา”

พระคงคา เทพองค์นี้เป็นธิดาองค์แรกของ พระหิมวัต กับ นางเมนกา พระสวามีของพระคงคา คือ พระอิศวร พระคงคา เป็นเทพผู้อำนวยความชุ่มฉ่ำ สมบูรณ์ ให้แก่สรรพสิ่ง แต่เดิมอยู่บนสวรค์ เพิ่งจะลงมาสู่โลกมนุษย์ในครั้งที่ท้าวภศีรถสำเร็จการพิธีอัญเชิญให้ลงมาชำระอัฐิโอรสท้าวสัคระที่ถูกท้าวกบิลบันดาลด้วยฤทธิ์เป็นเพลิงไหม้ตาย จึงจำเป็นต้องใช้น้ำจากพระคงคาบนสวรรค์มาชำระอัฐิ จึงจะหมดบาปไปบังเกิดในสวรรค์ได้อีก

“แห่นางดาน” จะเริ่มพิธีบวงสรวงพระอิศวร ณ ฐานพระสยม บริเวณตลาดท่าชี

ฐานพระสยม

ตั้งอยู่ถนนหลังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ระหว่างถนนท่าชี กับวัดสวนป่า

พระสยม หรือ พระสยมภูวนาถ ก็คือ พระอิศวร นั้นเอง ฐานพระสยม เป็นโบราณสถานศาสนาพราหมณ์ที่มีความสำคัญ และเก่าแก่มากแห่งหนึ่งของเมืองนคร มีโบราณวัตถุที่ฐานพระสยม คือ “ศิวลิงค์” และ “โยนิโทรณะ”

ศิวลิงค์

ศิวลิงค์ หรือ ลิงค์ หมายถึง เครื่องหมาย สัญลักษณ์ เพศ องคชาต การอนุมาน คัพภะ ที่ก่อเกิดลูกหลานชั่วนิรันดร์ เป็นสัญลักษณ์ของ พระอิศวร

โยนิโทรณะ

โยนิโทรณะ (ฐานศิวลึงค์) เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตรงกลางมีรู ปัจจุบันชาวบ้านได้ทำฐานขึ้นมาเพื่อรองรับไม่ให้โยนิตั้งอยู่บนพื้นดิน

เมื่อทำพิธีบวงสรวงพระอิศวร ณ ฐานพระสยม เป็นที่เรียบร้อย ขบวนแห่นางดาน เคลื่อนที่ไปสวนศรีธรรมาโศกราช

ขบวนแห่ นางดานกระดานแผ่นที่ 1 นามว่า “พระอาทิตย์ พระจันทร์”

ขบวนแห่ นางดานกระดานแผ่นที่ 2 นามว่า “พระธรณี”

ขบวนแห่ นางดานกระดานแผ่นที่ 3 นามว่า “พระคงคา”

ตามด้วยขบวนต่างๆ

ขบวนแห่นางดาน เคลื่อนที่มายังสวนศรีธรรมาโศกราช

พิธีเปิด นางดานอลังการตำนานเมืองนครฯ

ชมการแสดง แสง เสียง สื่อผสม ระบำทั้ง 4 ภาค จากวิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช

ชุดการแสดง อลังการนางดาน ตำนานเมืองนครฯ

เริ่มแสดง แสง เสียง สื่อผสม อลังการนางดาน ตำนานเมืองนครฯ

อัญเชิญ สามเทพเจ้าสูงสุดแห่งศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ประกอบด้วย

พระหรหม (ผู้สร้าง)

พระวิษณุ (ผู้ดูแล)

พระศิวะ (ผู้ทำลาย)

การแสดง สามเทพเจ้าสูงสุดแห่งศาสนาพราหมณ์

องค์ประกอบที่สำคัญของพิธีต้อนรับ พระอิศวร หรือ ตรียัมพวาย มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ

  • พระยายืนชิงช้า
  • นาลิวันโล้ชิงช้า
  • โลกบาลรำเสนงสาดน้ำเทพมนต์
  • การเชิญเทวรูป

ขบวนแห่นางดาน เคลื่อนเข้ามาในปะรำพิธี

อัญเชิญ นางดาน ประจำเสา เพื่อต้อนรับพระอิศวร

อัญเชิญ นางดานกระดานแผ่นที่ 1 นามว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์

อัญเชิญ นางดานกระดานแผ่นที่ 2 นามว่า พระธรณี

อัญเชิญ นางดานกระดานแผ่นที่ 3 นามว่า พระคงคา

พระยายืนชิงช้า

ซึ่งรับสมมุติว่าเป็นพระอิศวรนั้น เป็นประธาน ในพิธีพราหมณ์ จะนำกระดานชิงช้าซึ่งสมมุติว่าจะไปแขวนมารับพระยา แล้วนำพระยาไปที่โรงปะรำพิธี เวลานั่งในปะรำพิธี จะต้องนั่งยกเท้าขวาพาดเข่า ซ้ายเท้าซ้ายยันพื้นทำเหมือนพระอิศวรที่เสด็จ ลงมาและหย่อนเท้าลงมาข้างเดียว เพราะเกรงว่าถ้าหย่อนเท้าลงมาทั้งสองข้างโลกจะแตก

การโล้ชิงช้า

เป็นไปตามคตินิยม ที่ว่า เมื่อตอนที่พระอิศวรเสด็จลงมารักษาโลก ได้ให้พญานาคยื้อยุดระหว่าง เขาทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ทดสอบดูว่าภูเขาจะโยกคลอนหรือไม่ เพื่อทดสอบว่า ดินอ่อนหรือไม่ ปรากฏว่าภูเขาไม่โยก แสดงว่าแผ่นดินโลกแข็งแรงดี

เสาชิงช้า ทั้งสองข้างนั้นคือ ขุนเขาสองฝั่งมหาสมุทร

การรำเสนงสาดน้ำเทพมนต์

จากการทดสอบภูเขาไม่โยก พญานาค ทั้งหลาย ก็โสมนัสยินดี ลงสู่สาครใหญ่เล่นน้ำเฉลิมฉลองกันเป็นการใหญ่

ขันสาคร คือ มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ซึ่งพญานาคพากันเล่นน้ำ รำเสนงสาดน้ำกัน

นาลิวัน ซึ่งสวมหัวนาค หมายถึง พญานาค

การแสดง แสง เสียง สื่อผสม อลังการนางดาน ตำนานเมืองนครฯ ได้จบลงอย่างอลังการ

วันที่ 14 เมษายน ชาวนครศรีธรรมราช เรียกว่า “วันว่าง” เชื่อกันว่าเจ้าเมืองยังสถิตย์อยู่บนสวรรค์ ในวันนี้ไม่มีเจ้าเมืองประจำเมืองคุ้มครองรักษา ประชาชนจะร่วมทำบุญแล้วนำอาหาร และเครื่องบูชาไปเคารพผู้อาวุโส และพระสงฆ์ โดยถือโอกาสนี้ขอพรรดน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล วันนี้จะมีการละเล่นพื้นบ้านเพื่อนบ้าน เพื่อความรื่นเริง และสนุกสนาน ทางเทศบาลนครศรีธรรมราช ร่วมกับ ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราชฟื้นฟูประเพณี แห่นางดาน ซึ่งเป็นประเพณีทางศาสนาพารหมณ์ ได้ผนวกมาร่วมอยู่ในงานเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้ความรู้ในเรื่องประเพณีที่เก่าแก่ของศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาเจริญรุ่งเรืองในครศรีธรรมราช อีกทั้งสร้างความตระหนักว่านครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่

ขอขอบพระคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศูนย์อำนวยการภาคใต้ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช ที่เชิญ I am Devil ยัยตัวร้าย และสื่อมวลชนทุกท่าน มาร่วม “เทศกาล มหาสงกรานต์ แห่นางดาน เมืองนครศรีธรรมราช ประจำปี 2559”

และขอขอบคุณข้อมูล แห่งนางดาน จาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช

สามารถติดตามข่าวสารการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมาชได้ที่ >>>>> TAT Nakhon Si Thammarat : ททท.นครศรีธรรมราช

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมรีวิวค่ะ สามารถพูดคุยกันได้ที่

Face Book : ยัยตัวร้าย สะพายกล้อง / Bloggertrip

IG : @bloggertripth

ความคิดเห็น