หลังจากใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ทั้งสองเมืองมาหลายวัน วันนี้พวกเราขอออกไปนอกเมือง เปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง เราจะเดินทางไปยังเมือง Sergiev Posad (Сергиев Посад) ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิหาร Trinity Lavra of St. Sergius (Тро́ице-Се́ргиева Ла́вра) ที่ได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลก (Unesco World Heritage) ซึ่งโดยปกตินักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับจากมอสโคว์ เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลมาก แถมการเดินทางสะดวก เนื่องจากมีรถไฟออกจากมอสโคว์ทุกๆ 30 นาที ดังนั้น เราก็เลยขอไปเที่ยวแบบที่คนอื่นเขาแนะนำเอาไว้บ้างค่ะ เพราะเขาว่าสถานที่ไม่ควรพลาด
เราออกเดินทางจากบ้านโดยไปขึ้นรถไฟใต้ดินสาย 5 จากสถานี Belorusskaya (Белору́сская) เพื่อไปลงยังสถานี Komsomolskaya (Комсомо́льская) เนื่องจากเราจะต้องไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟ Yaroslavsky (Ярославский вокзал) ซึ่งจะเป็นชุมทางของรถไฟที่จะวิ่งออกจากมอสโคว์ไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศเหนือของเมือง
สถานี Belorusskaya (Белору́сская)
บรรยากาศภายในรถไฟใต้ดิน
ภายในสถานี Komsomolskaya (Комсомо́льская)
ขึ้นสู่ด้านบนกันค่ะ
เดินไปยังสถานีรถไฟ Yaroslavsky (Ярославский вокзал) กัน
สังเกตง่ายๆ ค่ะ คือสถานีที่หลังคาสีเขียวๆ มีเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วมากมายหลายช่องเลย ปัญหาคือเมื่อไปถึงไม่รู้ว่าจะซื้อที่ช่องไหน แต่ก็ไม่ยากสำหรับเราผู้ไม่รู้ภาษารัสเซีย ยื่นหน้าเข้าไปสักช่องหนึ่งแล้วก็ส่งภาษาไปหรือจะจดใส่กระดาษเป็นภาษารัสเซียแล้วยื่นไปให้เขาอ่านก็ได้ เพียงเท่านี้เขาก็จะบอกราคามา เราก็ชำระเงินไป พวกเราซื้อแค่ขาเดียวค่ะ ใครจะซื้อตั๋วไป-กลับเลยก็ได้ค่ะ
เลือกเข้าไปติดต่อซื้อตั๋วสักช่องหนึ่งค่ะ
สำหรับเราจ่ายเงินเรียบร้อย เขาออกตั๋วมาให้ หน้าตาตั๋วเหมือนใบเสร็จอะไรสักอย่าง เล็กๆ ชวนให้หายเสียจริงๆ ข้อความจะเป็นภาษารัสเซียทั้งหมดและมีบาร์โค้ดบนตั๋วสำหรับการสแกนเข้าสู่ชานชาลาค่ะ เอาละทีนี้ เราจะต้องไปชานชาลาไหนกันล่ะ ไม่ใช่ปัญหาอีกนั่นล่ะ สแกนบาร์โค้ดเพื่อผ่านเข้าไปในชานชาลาก่อน
หน้าตาของตั๋วที่เราจะได้มา ส่วนล่างเอาไว้สแกนเพื่อผ่านเข้าชานชาลาค่ะ
จากนั้นก็เอาตั๋วไปยื่นถามเจ้าหน้าที่ข้างในว่าเราจะต้องไปกับขบวนไหน เจ้าหน้าที่เขาก็ดีค่ะตอบมาทันที แต่เราฟังไม่ออกเลย เพราะเขาตอบมาเป็นภาษารัสเซียพร้อมชี้ไม้ชี้มือไป เหมือนเธอคงจะพอเดาได้ว่าเราไม่เข้าใจ จึงทำมือเหมือนจะบอกว่า ชานชาลาที่ 8 ถ้าเราเดามือเธอไม่ผิด
พวกเรามองหน้ากัน เพราะจับความได้ว่า ชานชาลาที่ 8 ดังนั้น จึงพากันกึ่งเดินกึ่งวิ่งไปยังชานชาลาที่ 8 เพราะไม่แน่ใจว่าจะออกในอีกกี่นาทีและใช่ขบวนที่เจ้าหน้าที่บอกมาหรือเปล่า จึงเอาตั๋วไปยื่นถามชายหนุ่มที่ยืนอยู่ในขบวนอีก เขาพยักหน้าว่าใช่ ดังนั้น ก็โล่งใจว่าไม่ผิดขบวนแน่แล้ว
หน้าตารถไฟชั้นสามค่ะ คล้ายบ้านเราเลย
แต่จริงๆ ก็คือ สถานีที่เราจะลงเป็นสถานีกลางทาง รถไฟชานเมืองหรือรถไฟชั้นสามแบบนี้ทุกขบวนที่ผ่านสถานีนี้เราขึ้นได้หมดค่ะ แล้วแต่ว่าขบวนไหนออกก่อน ที่เขาให้เราขึ้นขบวนนี้ก็เพราะขบวนนี้ออกเร็วที่สุดก็เท่านั้นเอง ดังนั้น หน้าที่เรานับจากนี้คือต้องฟังสถานีที่จะลงให้ดีๆ เพราะไม่ใช่สถานีปลายทาง แต่อุปสรรคยังไม่หมดไป เมื่อขึ้นมาแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีที่นั่งว่างเอาเลย เราต้องเดินสำรวจไปทีละโบกี้ระหว่างรถเริ่มเคลื่อนตัวออก และสุดท้ายก็ต้องไปเบียดนั่งกับคนอื่นๆ เพราะแน่นเกือบทุกโบกี้เลย
บางเก้าอี้ต้องนั่งเบียดสามคนค่ะ
หลังจากที่นั่งได้ และรถไฟก็เริ่มออกเดินทางแล้วประมาณ 10 นาที หรือเริ่มออกนอกเขตเมือง วิวข้างทางเริ่มเปลี่ยนไป บ้านข้างทางเริ่มไม่เป็นตึก เริ่มเป็นหลังๆ มีทุ่งหญ้าโล่งๆ กว้างๆ ให้ได้เห็นมากขึ้น แต่ระหว่างที่หนูเล็กกำลังสดชื่นรื่นรมย์กับวิถีชาวชนบทข้างทางที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น อารมณ์แบบรถไฟชั้นสามก็ถูกกระชากกลับมาด้วยเสียงของคนที่มายืนบริเวณประตูระหว่างโบกี้ที่มาขายสินค้าต่างๆ คนเหล่านี้ไม่ใช่พนักงานรถไฟที่มาเดินขายอาหารเครื่องดื่ม แต่เป็นชาวบ้านที่นำข้างของสารพัดชนิดมาเสนอขายบนรถไฟ ไม่ใช่แค่อาหาร แบบข้างเหนียวเนื้อ ไก่ย่าง มะม่วง ถั่วต้มแบบบ้านเรา แต่มีหมดทุกประเภทค่ะ ตั้งแต่เสื้อผ้า ผ้าพันคอ ปลั๊กไฟ แผ่นปิดแก้หม้อรั่ว เสื้อผ้าเด็ก อุปรณ์ทำสวน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ของตกแต่งบ้าน ฝอยขัดหม้อ เป้ใส่คอมพิวเตอร์ ฯลฯ มีทั้งตะโกนขายธรรมดาๆ และมีทั้งแบบมาสาธิตวิธีการใช้ให้เห็นชัดเจน พูดโฆษณาเป็นภาษารัสเซียเสียงดังฟังชัด บางรายติดไมค์มาด้วยเพื่อให้ได้ยินทั่วถึง
จุดที่มาขายของคือบริเวณหน้าประตู ไม่กล้าเก็บภาพขณะกำลังเสนอขาย กลัวเขาว่าเอา
นั่งดูไปแล้วก็เพลินดี ทำให้ไม่ง่วงนอนดีเหมือนกัน สักพักใหญ่ๆ มีพนักงานมาเดินตรวจตั๋วโดยใช้การสแกนบาร์โค้ดบนตั๋ว ซึ่งถ้าใครไม่มีตั๋วก็สามารถจ่ายเงินตรงนั้นได้เลย แค่บอกว่าจะไปลงที่ไหน แสดงว่าจริงๆ แล้วอาจจะไม่ต้องซื้อตั๋วก็ได้ ขึ้นรถแล้วมาจ่ายบนรถก็ได้ แต่เราเอาชัวร์ดีกว่า ดังนั้น ข้อควรจำคือ เก็บตั๋วไว้ให้พนักงานรถไฟตรวจด้วยค่ะ ไม่ใช่ขึ้นมาแล้วก็ทิ้งขว้าง ไม่เช่นนั้นอาจต้องซื้อตั๋วใหม่
Sergiev Posad เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างจากเมืองมอสโคว์ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 70 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง มีความหมายที่แปลได้ว่า เป็นสถานที่ตั้งถิ่นฐานของท่าน Sergius (Sergius’ Settlement) และความเป็นมาก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เมืองนี้พัฒนาขึ้นมาจากความมุ่งมั่นและอุตสาหะของนักบุญท่านนี้ เมืองนี้เปรียบเสมือนเมืองโบราณ เป็นที่ตั้งของศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุด ในคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 เป็นที่แสวงบุญที่ศักดิ์สิทธ์ของประเทศ เป็นวิทยาลัยสอนศิลปะ สอนการร้องเพลงทางศาสนา สอนการวาดภาพไอคอน เป็นวิทยาลัยสงฆ์ที่มีบาทหลวง 400 รูป และนักศึกษา 100 คน ในช่วงปี ค.ศ. 1930-1991 ช่วงที่เปลี่ยนการปกครองเป็นสหภาพโซเวียตใช้ชื่อเมืองนี้ว่า Zagorsk
ประวัติแรกเริ่ม คือ ในปี ค.ศ. 1354 นักบุญ Sergiev Posad หรือ Sergius แห่ง Radonezh เดินทางมาแสวงบุญจนถึงเมืองนี้ และเลือกสถานที่นี้เพราะว่าสงบ นักบุญ Sergiev ได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุสามารถรักษาคนไข้ให้หายได้ด้วยญาณสมาธิ อีกทั้งในยามทหารจะออกศึก ถ้ามาขอพรก็จะชนะศึก ทำให้เป็นที่ศรัทธาอย่างมาก
หลังจากจับเวลาจากนาฬิกาข้อมือ เดาๆ ว่าเวลาประมาณนี้คือราว 1.30 ชั่วโมง ดังนั้น น่าจะใกล้ถึงแล้ว และเท่าที่ลองนับจำนวนสถานีที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็นสถานีถัดไป แต่จะว่าไปสถานีนี้มีคนลงค่อนข้างเยอะค่ะ นักท่องเที่ยวก็ค่อนข้างมากคาดว่าน่าจะมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน ดังนั้น เมื่อรถไฟจอดเทียบชานชาลา เราก็ลงที่สถานีเป้าหมายนี้กัน
ถึงสถานี Sergiev Posad แล้วก็ออกจากสถานีกัน
จากตัวสถานี เราใช้วิธีทำแผนที่นำทางไปสู่มหาวิหาร Trinity Lavra of St. Sergius ซึ่งก็ไม่ยากอะไรค่ะ เดินตรงออกไปก่อน เมื่อเจอแยกก็เลี้ยวขวา
เลี้ยวขวาจากถนนหน้าสถานีมาแล้ว จะเป็นถนนเส้นนี้ค่ะ เดินตรงอย่างเดียวเลย
จากนั้นก็เดินตรงอย่างเดียวไปเรื่อยๆ จะเห็นห้างใหญ่ๆ ทางซ้ายมือและท่ารถบัสทางขวามือ ถ้าเห็นอย่างนี้แสดงว่ามาถูกทางแล้ว ก็เดินต่อไปอีก จะผ่านบ้านเรือนผู้คน
ผ่านห้างทางซ้ายมือ และท่ารถบัสทางขวามือ ก็ยังตรงต่อไปอีก
สักประเดี๋ยวเดียวก็จะเห็นกลุ่มมหาวิหาร Trinity Lavra of St. Sergius อยู่ทางซ้ายมือซึ่งเราจะต้องลงเนินไปกันค่ะ
เป้าหมายของเราอยู่ในสายตาแล้ว
เมื่อเดินลงเนินไปเราจะพบกับตลาดขายของที่ระลึกตลอดแนวหลังคาคลุมทางเดินที่จะเดินสู่มหาวิหาร มีของขายมากมาย ใครสนใจจะซื้อก็ได้ค่ะ แต่แนะนำว่าเป็นขากลับน่าจะดีกว่าจะได้ไม่ต้องหอบหิ้วระหว่างไปชมมหาวิหาร
ภาพปักสวยๆ ขายเยอะแยะเลย
ตลาดของที่ระลึก ทางเดินสู่มหาวิหาร
เมื่อผ่านจุดนี้ไปก็จะไปถึงบริเวณลานกว้างด้านบนซึ่งเป็นลานด้านหน้ามหาวิหารก่อนการเข้าชม เป็นจุดจอดรถของนักท่องเที่ยวและรถทัวร์ซึ่งวันนี้มีคนมาเข้าชมไม่น้อยเลย
ก่อนจะเข้าไปทุกคนจะต้องไปซื้อบัตรก่อน โดยบัตรจะจำหน่ายที่ Tourist Information หรือที่ตัว I นั่นเอง เดินเข้าไปด้านในที่เคาน์เตอร์ค่ะ เมื่อชำระเงินแล้วเขาจะให้ใบเสร็จรับเงิน จากนั้นนำใบเสร็จรับเงินไปแลกบัตรเข้าชมกับอีกเคาน์เตอร์หนึ่งที่อยู่เยื้องๆ กัน (ทำไมต้องทำให้ยุ่งยาก ไม่เข้าใจ) ด้านในนี้นอกจากจะจำหน่ายบัตรแล้ว ยังมีร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม และของที่ระลึกต่างๆ จำหน่ายด้วย ส่วนห้องน้ำภายในอาคารนี้จะเสียค่าเข้า ถ้าต้องการเข้าให้ไปเข้าอาคารห้องน้ำสาธารณะด้านนอกดีกว่าค่ะ ไม่เสียค่าเข้า แต่เขาก็ขอรับบริจาคตามแต่ศรัทธา
ซื้อตั๋วที่อาคารนี้ค่ะ
ได้ตั๋วมาแล้วค่ะ
Trinity Lavra of St. Sergius เป็นอาสนวิหารระดับสูงของคริสตศาสนานิกายออร์โธด็อกซ์ ตั้งตามชื่อของนักบุญ St. Sergius ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นผู้วิเศษ สามารถรักษาโรคร้ายให้หายเป็นปกติได้จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ทำให้ศาสนสถานแห่งนี้กลายเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาของชาวรัสเซีย แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์และพระราชินียังเสด็จมาประกอบพิธีทางศาสนาที่เมืองนี้เป็นประจำสำหรับชาวรัสเซียที่นับถือนิกายออร์โธด็อกซ์แล้ว ที่นี้มีความสำคัญเทียบเท่าวาติกันเลยทีเดียว นอกจากที่นี่มีความสำคัญทางศาสนายังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย เพราะเคยใช้เป็นป้อมปราการที่พักสำหรับเหล่าทหารในช่วงปี ค.ศ.1608-1610 ที่ใช้ป้องกันการรุกรานจากทหารฝั่ง Polish-Lithuanian และเคยเป็นสถานที่หลบภัยให้แก่เด็กชายผู้กลายมาเป็นผู้นำประเทศที่มีชื่อในภายหลัง นั่นคือ Peter the great อีกด้วย
เมื่อมีบัตรแล้วเราก็ไปเข้าทางประตูใหญ่ที่เรียกว่า Holy Gate กันค่ะ มีเจ้าหน้าที่รอตรวจบัตรตรงจุดนี้ ส่วนอีกประตูข้างๆ คือ Dormition Gate นั้นปิด จะให้ผ่านเฉพาะรถเจ้าหน้าที่ เมื่อเข้าไปด้านในต้องยอมรับเลยค่ะว่า ภาพเขียนสีตั้งแต่ลานด้านหน้าก็ทำเอาตื่นตาตื่นใจ สวยหมดจดไปหมด
จากนั้นก็จะผ่านจุดแรกคือ St.John the Babtish Church ส่วนที่โดดเด่นสะดุดตาตั้งแต่ก่อนเข้ามาภายในอารามแห่งนี้ก็คงจะเป็น Cathedral of the Assumption เพราะตัวโบสถ์เป็นอาคารสีขาวมียอดโดมทรงหัวหอมสีฟ้าประดับด้วยลายดวงดาวสีขาวเล็กๆ ถ้าบอกใครจะไปเชื่อว่าโบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1559 โดยพระเจ้าอิวานผู้โหดร้าย (Ivan the Terrible) เพื่อฉลองชัยชนะหลังศึกสงครามระหว่างมองโกลกับรัสเซีย โดยใช้เวลาก่อสร้างถึง 26 ปี
St.John the Babtish Church
Cathedral of the Assumption
มีเครื่องดื่มและอาหารว่างจำหน่ายด้วยค่ะ
ภายใน Cathedral of the Assumption เต็มไปด้วยภาพวาดของนักบุญต่างๆ มากมายที่หนูเล็กคงไม่มีทางรู้จัก ภายในค่อนข้างเงียบสงบ แสงค่อนข้างสลัวเพราะมาจากเปลวเทียนที่จุดตามมุมต่างๆ เท่านั้น ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีแสงอื่นๆ เล็ดลอดเข้ามาเลยนอกจากแสงเทียนภายในโบสถ์ เลยยิ่งทำให้บรรยากาศดูขลัง ศักดิ์สิทธิ์และสงบมาก
ลานกว้างตรงกลางนี้คือจัตุรัสวิหาร (Sobornaya Ploschad) ซึ่งประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างมากมายนอกเหนือจาก Cathedral of the Assumption นั่นคือ ด้านหน้า Cathedral of the Assumption จะเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (Chapel over the Well) ซึ่งจะมีผู้เลื่อมใสศรัทธาและนักท่องเที่ยวเตรียมภาชนะมารองน้ำกลับไปดื่มกันทั้งนั้นเลย มีแต่พวกเราที่มากันมือเปล่า สำหรับในช่วงฤดูหนาว ที่น้ำในบ่อนี้แข็งรองน้ำไม่ได้ เขาจะให้เข้าไปกรอกน้ำได้ใน Nadkladeznaya Chapel อาคารสีโอโรส ที่ตั้งอยู่ติดกับ Cathedral of the Assumption ค่ะ
Sobornaya Ploschad
Chapel over the Well และ Sacristy อาคารสีเหลืองที่เห็น
Nadkladeznaya Chapel
ด้านในของ Nadkladeznaya Chapel ซึ่งสามารถมารองน้ำได้เช่นกัน
สำหรับคนที่ไม่ได้เอาขวดน้ำมา สามารถไปซื้อที่ Bell tower อาคารสีฟ้าสูงๆ ได้ค่ะ มีขวดหลายขนาดแบกไหวกี่ขวดก็ซื้อได้เลย เมื่อเปิดเข้าไปด้านใน ที่นั่นจะเป็นร้านขายของที่ระลึกต่างๆ ด้วย ของส่วนใหญ่ราคาไม่แพงหากเทียบกับราคาที่เห็นจากร้านในเมืองที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะผู้ที่นิยมพวกของกระจุกกระจิกอย่างจี้ห้อยคอ แหวน ที่เป็นรูปไม้กางเขนแบบต่างๆ ทำได้ละเอียด ประณีต สวยงดงามมากทีเดียวค่ะ
Bell Tower
จากนั้นเราก็เดินไปยังอาคารสีเหลืองทางด้านขวา คือ Sacristy เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของมีค่าของอารามแห่งนี้ค่ะ จัดแสดงของมีค่ามากมายเลย จากนั้น ก็เดินไปยัง Trinity Cathedral อาคารสีขาวนวลยอดโดมสีทอง ใกล้ๆ กัน นี่คือโบสถ์ที่มีความสำคัญที่สุดภายในอารามแห่งนี้ Trinity Cathedral นี้มีอายุเกือบ 600 ปี สร้างขึ้นบนพื้นที่ที่เป็นสุสานของนักบุญ Sergius เราจะเห็นผู้คนหลั่งไหลเข้าไปด้านในต่อแถวยาว นั่นคือ เขาต่อแถวเพื่อเคารพศพของนักบุญ Sergius ค่ะ บางวันว่ากันว่าแถวยาวจนออกมานอกประตูโบสถ์โบสถ์เลยทีเดียว จะมีแต่เสียงสวดมนต์และแสงเทียนที่ภายใน การเข้าชมภายในโบสถ์แห่งนี้ต้องสำรวมกิริยาอย่างที่สุดและห้ามถ่ายภาพโดยเด็ดขาด
โดมสีทองทางขวาเป็นโบสถ์ที่สำคัญที่สุด นั่นคือ Trinity Cathedral
อาคารถัดไปที่พวกเราไปชมกันก็คือ Church of St. Sergius and Refectory เป็นห้องโถงที่ใช้จัดงานพิธีทางศาสนา ผนังด้านนอกของตัวอาคารมีลักษณะสีขาวสลับแดงเป็นลายตารางหมากรุก
Church of St. Sergius and Refectory
ภายในโถงตกแต่งด้วย ภาพวาดและปูนปั้น ตามกรอบหน้าต่างมีการก่อบัวรูปทรงต่างๆ แปลกตา บนเพดานมีภาพวาดทางศาสนาต่างๆ ที่งดงามมาก อาคารนี้เป็นอาคารที่สร้างทีหลังสุดในบรรดาอาคารทั้งหมด และโดยทั่วไปแล้วโบสถ์ของนิกายออร์โธด็อกซ์จะสามารถเข้าไปได้แค่บริเวณโถงด้านหน้าที่เราเดินกันอยู่นี้เท่านั้น ด้านหลังที่เรียกว่า Sanctuary ถึงแม้จะเห็นว่าประตูเปิดอยู่ก็เข้าไม่ได้ค่ะ เพราะเขาถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ อนุญาตให้เฉพาะเหล่านักบวชเท่านั้น
Sanctuary
พวกเราใช้เวลากับอารามสำคัญแห่งนี้กันค่อนวันเลยค่ะ เพราะวันนี้แดดไม่ร้อน ฝนตกพรำๆ ตลอดทั้งวัน ดีตรงที่ไม่ร้อน แต่ถ่ายรูปมาก็จะขมุกขมัวอย่างที่เห็น แต่ก็ได้ภาพสวยๆ กลับมาเป็นที่ระลึกมากมาย
จากนั้นก็เดินกลับมาที่สถานีกัน โดยระหว่างเดินทางกลับมาที่สถานีพากันแวะห้างสรรพสินค้าข้างทางเดินดูข้าวของเพื่อสำรวจตลาดกันด้วย ก็เลยได้ของฝากติดไม้ติดมือกันมาคนละนิดละหน่อย
ร้านขายของน่ารักๆ บริเวณสถานี
เวลารถไฟขบวนถัดไปที่จะเข้ามอสโคว์มีหลายขบวน
บริเวณสถานีรถไฟ
เมื่อมาถึงสถานีก็ติดต่อที่เคาน์เตอร์ขายตั๋วบอกไปว่า “มอสควา” (Moskva) เพียงเท่านี้คนขายก็จะรู้จุดหมายปลายทางของเราค่ะ เพราะคนที่นี่เขาไม่ได้เรียก มอสโคว์แบบที่เราเรียกๆ กัน เมื่อได้ตั๋วแล้วก็ดูว่า รถไฟขบวนถัดไปที่จะไปมอสโคว์จะเข้าเทียบชานชาลาไหน เราก็ไปรอที่ชานชาลานั้น ก็เท่านั้นเอง
สังเกตว่าที่ตั๋วคราวนี้เป็น QR Code ค่ะ
รถไฟกับฝน อะไรจะมาก่อนกัน
คราวนี้เราไม่ต้องกังวลเรื่องนับสถานีว่าจะต้องนั่งไปกี่สถานีแล้ว เพราะคราวนี้นั่งไปสุดสาย โชคดีที่พอฝนเริ่มลงพรำๆ มาอีกรอบ รถไฟก็เข้าเทียบชานชาลาพอดิบพอดี คราวนี้ที่นั่งเหลือเฟือให้เลือกนั่งได้ตามใจชอบ พวกเราก็เลยแยกกันนั่งชมวิวกันไป แต่ขากลับไม่มีใครขึ้นมาขายของให้เราดูอีก น่าเสียดายบรรยากาศแบบนั้นจริงๆ นึกแล้วก็สนุกๆ ดี
นั่งเพลินๆ ราวชั่วโมงครึ่งรถไฟก็เข้าเทียบชานชาลาที่สถานีรถไฟ Yaroslavsky ซึ่งก็เป็นไปตามกำหนด ก่อนออกจากสถานีต้องเอาตั๋วที่ซื้อมาสแกนเพื่อออกจากสถานีด้วยค่ะ เพราะตอนขึ้นรถไฟที่ Sergiev Posad จะไม่มีที่สแกนตอนเข้า ดังนั้น ซื้อตั๋วแล้ว ต้องเก็บรักษามาให้ถึงสถานีมอสโคว์ด้วยค่ะ ไม่งั้นอาจจะออกไม่ได้
ถึงสถานีปลายทางแล้ว
อย่าลืมเตรียมตั๋วไปสแกนก่อนออกด้วย
เมื่อออกจากสถานีแล้ว เราไม่มีแผนไปไหนกันต่อ ดังนั้น เราจึงไปยังสถานี Komsomolskaya เพื่อนั่งรถไฟใต้ดินไปยังสถานี Mayakovskaya (Маяковская) เพื่อกลับสู่ที่พักของเราบนถนน Tverskaya กัน
สถานี Mayakovskaya (Маяковская)
ด้านหน้าสถานี Mayakovskaya ทางออกนี้ที่เราใช้บริการเป็นประจำ
รูปปั้นที่ผ่านทุกวันจนคุ้นเคย
วันนี้เราเดินทางไกล เที่ยวกันมาทั้งวัน จึงขอกลับเข้าที่พักไปทำอาหารการกินและพักผ่อนเอาแรงกันเลย ตกลงกันว่า ออมแรงไว้ไปเที่ยวพระราชวังเครมลินในวันพรุ่งนี้กันดีกว่า
เตรียมตัวให้พร้อม ไว้ไปเที่ยวพระราชวังเครมลินกับพวกเรากันต่อในตอนถัดไปค่ะ
อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือจะแวะไปทักทายกับพี่ใหญ่และหนูเล็กก็ได้นะคะ ที่ https://www.facebook.com/TravelWithPiyaiAndNoolek/
Piyai&Noolek
วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เวลา 21.22 น.