Road Trip ที่นราธิวาส เป็นการรวมทริป 3 ครั้งที่ลงมานราธิวาส แยกสุคิรินกับตากใบออกไป ทริปเริ่มต้นจากปัตตานีอีกครั้ง เรามารบกวนเจ้าถิ่นให้พาเที่ยวแบบที่เจ้าถิ่นอยากนำเสนอ

เริ่มต้นทริปด้วยการพาเรามาที่น้ำตกปาโจ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอยี่งอ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอระแงะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และอำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีพันธุ์ไม้ที่มีค่านานาชนิด โดยเฉพาะปาล์มบังสูรย์และใบไม้สีทอง มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกต่าง ๆ โดยเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 95






ลงมาจากน้ำตกก็สั่งชา พร้อมกับหยิบนาซิดาแซที่ซื้อมาจากปัตตานีมากินด้วย


ออกจากอุทยานแห่งชาติยูโด-สุไหงปาดีก็มุ่งหน้ามาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อำเภอแว้ง หลายคนคงสับสนว่ายะลาเรียก? นราธิวาสเรียก? เราก็สับสนจะตอนนี้กระจ่างแล้ว และได้ไปทั้ง 2 ฝั่งแล้วด้วย

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เป็นผืนป่าที่ประกอบไปด้วยผืนป่าสองผืน คือ ป่าฮาลา ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และ ป่าบาลา ในพื้นที่อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส แม้ป่าทั้งสองผืนนี้จะไม่ได้ติดเป็นป่าผืนเดียวกัน แต่ทว่าในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าร่วมกัน

โดยคำว่า "บาลา" มาจากคำว่า "บาละห์" ที่แปลว่า "หลุด" หรือ "ปล่อย" มีที่มาจากช้างเชือกหนึ่งที่หนีเข้าป่าฝั่งอำเภอแว้ง และคำว่า "ฮาลา" หมายถึง "อพยพ" หมายถึง ผู้คนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากตัวเมืองปัตตานีในอดีต จนมาอาศัยอยู่เป็นชุมชนรอบ ๆ ชายป่า โดยผู้คนที่อยู่ในอำเภอแว้งจะเรียกว่า "บาลา-ฮาลา" แต่คนที่อาศัยในอำเภอเบตงจะเรียกว่า "ฮาลา-บาลา"








เดินเข้าป่าจนรอบเส้นทางศึกษาธรรมชาติแล้วก็ไปน้ำตกสิรินธร แต่ขึ้นไปเล่นกลางป่าด้านบนกันเลย มากับเจ้าถิ่นก็มีมุมลับๆ เสมอ น้ำใสและเย็นมาก



เราก็ลงแช่น้ำเย็นๆ ฟินกับเสียงธรรมชาติรอบตัวมากๆ หลงรักที่นี่แล้ว



ได้เวลาไปมัสยิด 300 ปีกันแล้ว

มัสยิด 300 ปี (มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น หรือมัสยิดตะโละมาเนาะ) มัสยิดเก่าแก่แห่งหมู่บ้านตะโละมาเนาะที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนด้วยมือ ทั้งนี้ ตามประวัติกล่าวว่านายวันฮูเซ็น อัส-ซานาวี ผู้อพยพมาจากบ้านสะนอยานยา จังหวัดปัตตานี เป็นผู้สร้างมัสยิดแห่งนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2167 โดยแรกสร้างนั้นเป็นหลังคามุงใบลาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินเผา ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านตะโละมาเนาะยังคงใช้มัสยิดนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีศาสนกิจอยู่เป็นประจำ

สิ่งที่น่าชมที่สุดของมัสยิด 300 ปีคือลักษณะสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากมัสยิดทั่วไป กล่าวคือ เป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง ใช้ไม้สลักแทนตะปู รูปทรงของอาคารเป็นแบบไทยพื้นเมืองประยุกต์เข้ากับศิลปะจีน และมลายูที่ได้รับการออกแบบมาอย่างลงตัว ส่วนเด่นที่สุดของอาคาร คือ เหนือหลังคาจะมีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่ง ส่วนหออาซานซึ่งมีลักษณะเป็นเก๋งจีน ก็ตั้งอยู่บนหลังคาส่วนหลังฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นแล้วเจาะหน้าต่าง ส่วนช่องลมแกะเป็นลวดลาย ใบไม้ ดอกไม้สลับลายจีน

โดยทั่วไปเข้าชมได้บริเวณภายนอกเท่านั้น หากต้องการเข้าชมภายในต้องได้รับอนุญาตจากโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้าน

ที่ตั้ง : บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ ห่างจากจังหวัดนราธิวาส ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 จากนั้นแยกที่บ้านบือราแง

ด้วยความโชคดีที่เราได้รับอนุญาตให้เข้ามาด้านในได้ เราขออนุญาตในการถ่ายภาพแล้วด้วย การเข้ามัสยิด 300 ปีจะมีระเบียบปิดอยู่ทางเข้า ข้อที่สำคัญที่สุด คือ ผู้นับถือศาสนาอื่นต้องขออนุญาตก่อนทุกครั้ง และต้องเคารพสถานที่ เป็นมัสยิดที่งดงามมากจริงๆ ชุมชนโดยรอบมัสยิดก็น่ารัก








ออกมาจากมัสยิดก็เจอดอกไม้ริมทางที่สวย


มัสยิดที่ตกแต่งด้วยถุงพลาสติกและฟิวเจอร์บอร์ด กระดาษ ผ้า เชือกฟาง สวยเก๋มาก


ขับผ่านวงเวียนนกเงือกสัญลักษณ์ของตัวอำเภอแว้ง


และปิดท้าย Road trip ที่ตัวสุไหงโกลก


ด้านหนึ่งของสถานีรถไฟสุไหงโกลกจะเต็มไปด้วยร้านตัดผม เป็นเมืองที่สนุกอีกเมือง รอบหน้าคงต้องมาพักที่นี่สักคืน ก่อนกลับปัตตานีก็แวะจิบกาแฟที่ร้านฮงฮวด กาแฟร้านนี้ทุกเมนูจะใส่อบเชย ถ้าไม่ชอบบอกเขาเลยว่าไม่ใส่ เราโอเคก็เลยกินได้





ติดตามทริปเดินทางอื่นๆ ได้ที่:

เพจ: ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

IG: prapat / ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว



ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

 วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 08.10 น.

ความคิดเห็น