“เราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า การทำให้คนไทยรู้ว่าปัตตานียังเป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยอยู่”


ประโยคหนึ่งที่ผมจำได้แม่นขณะฟังพี่แป๊ะเล่าที่มาที่ไปของโครงการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านทรายขาว จังหวัดปัตตานี ผมนิ่งอึ้ง จุกอก รู้สึกได้ถึงการตัดพ้ออยู่ลึกๆ ซ่อนอยู่ในความมุ่งมั่นนั้น

ถ้าเอ่ยปากถึงสามจังหวัดสุดปลายด้ามขวานไทย ยากจะห้ามไม่ให้คนจำนวนหนึ่งนึกถึงเหตุการณ์ความไม่สงบที่เรื้อรังมานาน จนหลายคนคิดไปเองว่า ที่นี่ไม่ปลอดภัย ปัตตานีเป็นหนึ่งในนั้น

เข็มทิศการเดินทางของคนเหล่านี้จึงไม่เคยชี้นำให้ความสนใจพื้นที่นี้


- 1 -

หลังจากรวบรวมสมาชิกทริปครบตามจำนวน เริ่มจากสถานีรถไฟและปิดท้ายที่สนามบินหาดใหญ่ ขบวนรถตู้สามคันมุ่งหน้าสู่ปัตตานี ช่วงเส้นทางที่สวยที่สุดเริ่มจากเทพ สะกอม ถนนเลียบชายทะเลยาว มีหมู่บ้านประมงประปราย ผ่านทุ่งโล่งกว้างๆ บ้าง แค่ชั่วโมงนิดๆ เราก็ถึงจุดหมาย

ถ้าตัดภาพความรุนแรงที่เคยผ่านหูผ่านตาจากสื่อออกไป ตัวเมืองปัตตานีตรงหน้าผมตอนนี้ เงียบ สงบ ปริมาณรถรามีปริมาณตามขนาดเมือง ผู้คนใช้ชีวิตตามธรรมดาประจำวัน แม่น้ำปัตตานีสีขุ่นไหลเนิบช้าผ่านกลางเมือง เรือประมงจอดเรียงรายริมแม่น้ำ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมประมง สะพานข้ามแม่น้ำทำหน้าที่เชื่อมเมืองเข้าด้วยกัน ทั้งฝั่งหน่วยงานราชการและฝั่งชุมชนเก่าสมัยการค้าขายเจริญรุ่งเรือง

ผมคุ้นเคยกับความเป็นอยู่ของคนที่นี่ ตั้งแต่ใช้ชีวิตสมัยเป็นนักศึกษา สังคมพหุวัฒนธรรมคือสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของเมืองนี้ ที่นี่จึงเป็นที่รวมของโบราณสถานและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหลายศาสนาเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ศาลเจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว มัสยิดกรือเซะและสุสานเจ้าเมือง เส้นทางท่องเที่ยววันแรกจึงเป็นการทำความรู้จักปัตตานีผ่านประวัติศาสตร์ของสถานที่ จริงจังหน่อย แต่น่าสนใจ รับรู้ได้ถึงการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพและเข้าใจกัน วัดช้างให้เป็นโปรแกรมสุดท้ายให้เรารู้จักกัน ก่อนจะเข้าชุมชน

ถ้าเปรียบกับการอ่านหนังสือ วันนี้ผมอ่านจบแค่คำนำเปิดเรื่อง




-2-

เราใช้เวลาเดินทางไม่เกินครึ่งชั่วโมงจากตัวเมืองไปหมู่บ้านทรายขาว ชุมชนท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่อุดมด้วยเสน่ห์ไม่แพ้ที่อื่น แค่แยกจากถนนสายหลักเข้ามาไม่กี่ร้อยเมตร ผมแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่ามีหมู่บ้านซ่อนอยู่ ระหว่างบ้านแต่ละหลัง มีถนนเส้นเล็กๆ ที่แทบไม่มีพื้นที่ให้รถสวนเป็นทางสัญจร บ้านไม้โบราณอายุเป็นร้อยปีหลายหลังเรียกร้องความสนใจไม่ให้ผมมองผ่าน ยิ่งทำให้รับรู้ถึงความเก่าแก่ของหมู่บ้านและน่าค้นหา หากไล่สายตาไกลออกไปหน่อย ทิวเขาสันกาลาคีรีทอดตัวยาวเป็นฉากหลังเพิ่มความสวยงามชุมชนเข้าไปอีก

หลังจากฟังเรื่องราวของหมู่บ้านพอหอมปากหอมคอ เราแยกย้ายตามเจ้าของบ้านไปพักผ่อน อาหารเย็นพื้นบ้านถูกเตรียมพร้อมขึ้นโต๊ะให้เราลิ้มลอง ขนมจีนน้ำยาเรียกน้ำย่อย ตามด้วยแกงส้มปลา แกงกะทิฟักทอง แกล้มด้วยน้ำพริกผักสดรอบๆ บ้าน เด็ดสุดคือสะตอสด อาหารง่ายๆ รสชาติไม่ธรรมดาทำให้เรากลายเป็นคนเจริญอาหารได้อย่างไม่ยากเย็น


-3-

05.15

มือถึอส่งเสียงปลุกตามคำสั่ง อากาศเย็นสบาย ผมรีบจัดแจงธุระส่วนตัวก่อนเวลานัดแนะ รถจิ๊ปสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมาจอดรอเราอยู่หน้าบ้านแล้ว รถสี่คันพาพวกเรายี่สิบชีวิตต้านความชันไปยังจุดชมวิวพระใหญ่เพื่อชมทะเลหมอก เนื่องจากสภาพอากาศขาดความชุ่มชื้นเพราะฝนขาดช่วงมาหลายวัน ทะเลหมอกเลยไม่ปรากฎตัวให้เราถ่ายรูป

เราไม่ได้มีอาหารเช้าที่บ้าน ร้านน้ำชาที่ขายทั้งชา กาแฟ โรตี ขนมจีน ข้าวยำ คือที่รวมตัวของชาวบ้าน เรื่องราคาไม่ต้องพูดถึง จานหลักแค่ 10-20 บาท เครื่องดื่มแค่ 5-10 บาท ทุกอย่างคือการใช้ชีวิตที่แสนเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่มีเสน่ห์

วันนี้เราทำความรู้จักชุมชนด้วยรถจี๊ปพาหนะเฉพาะถิ่น ผ่านสวนยาง สวนปาล์ม สวนป่าและสวนผลไม้ รู้จักการทำทุเรียนพรีเมี่ยมที่เป็นหน้าเป็นตาของทรายขาว

หลังมื้อเที่ยง เราไปเดินย่อยกันที่น้ำตกทรายขาว เล่นน้ำเพิ่มความสดชื่นสู้อากาศร้อนยามบ่าย กลับจากน้ำตก มีกิจกรรมร่วมกันของแต่ละบ้าน ทำและทานอาหารเย็นร่วมกัน

บ้านเรามียำตะลิงปลิง หมี่กินกับแกงใบชะพลูทานเล่น มีข้าวสวย สะตอและหัวปลีเผากินกับน้ำพริกเป็นจานหลัก จบด้วยขนมโคเป็นของหวาน

ตอนค่ำเรามีกิจกรรมเสริมด้วยการไปชมมัสยิดกลางปัตตานี แวะร้านชาชัก ชิมโรตี ชีวิตของคนที่นี่ยังดำเนินไปตามปกติ ร้านน้ำชาโรตีดูคึกคักมากที่สุด

สิ่งที่เห็นช่างต่างกับสิ่งที่ผมเคยรับรู้ก่อนหน้านี้


-4-

ไก่ที่นี่ขยัน ยังไม่ทันได้เอนหลังหลับก็ขันปลุกเสียแล้ว ตั้งแต่ตอนเที่ยงคืน

เช้าสุดท้ายไม่ต้องตื่นเช้า แต่นาฬิกาชีวิตผมยังคุ้นชินกับการตื่นตอนตีห้ากว่าๆ อากาศยังสดใสเช่นเดิม อาหารเช้าของเราเหมือนเมื่อวาน มีพิเศษกว่าตรงที่ไปกินร่วมกันกับเจ้าของบ้าน เราได้รู้จักร้านอื่น ได้พูดคุย ทำความรู้จักกับป้าๆ เรียนรู้วัฒนธรรมการกินที่ต่างจากคนในเมือง

ระหว่างวิถีเมืองกับวิถีชนบท ผมได้อรรถชนการกินอาหารเช้าต่างกัน

วันนี้เราใกล้ชิดกับวิถึชาวบ้านมากขึ้น เยี่ยมชมกลุ่มแปรรูปส้มแขก เสียดายไม่ได้ร่วมลงมือทำ ได้แค่พูดคุยกัน เพราะทางกลุ่มต้องรีบไปออกงานที่กรุงเทพ ชมกลุ่มผ้าทอมัดหมี่จวนตานี ถ้าไม่มาที่นี่ ผมคงไม่รู้ว่าชื่อเสียงของฝีมือกลุ่มนี้มีมากขนาดไหน ดูการทำกล้วยเส้นซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตท้องถิ่นและเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มมีงานทำ ตลอดจนได้รับสวัสดิการที่คุ้มค่า

วัดทรายขาวและมัสยิดโบราณนัจมุดดีน คือ หลักฐานที่สำคัญเฉลยที่มาว่าทำไมไทยพุทธกับไทยอิสลามที่นี่จึงรักใคร่กลมเกลียวกัน เสมือนเป็นพี่น้อง เจ้าอาวาสและโต๊ะอิหม่ามได้ช่วยกันสร้างมัสยิด ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับโบสถ์ในศาสนาพุทธเมื่อประมาณสามร้อยปีก่อน


เหตุการณ์นี้ยิ่งเสริมให้ผมนึกถึงคำบอกเล่าตั้งแต่วันแรกว่า คนที่นี่แม้จะต่างศาสนา แต่พูดภาษาเดียวกัน นั่นคือ ภาษาทรายขาว

หลังจากแลกเปลี่ยน เสนอแนะความคิดเห็นเกี่ยวกับโปรแกรมท่องเที่ยวทั้งสามวันที่ผ่านมา ถึงเวลาต้องกล่าวลาชุมชน ผมเชื่อว่าที่นี่ต้องให้อะไรให้พวกเรามากกว่าคำว่า ท่องเที่ยว


-5-

สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดก็แค่อยากให้ใครก็ได้ที่ผ่านมาทางข้อเขียนนี้ได้รับรู้ และหวังให้สีแดงที่ระบายอยู่บนแผนที่สามจังหวัดเจือจางจนหายไปในที่สุด

รถของพวกเราค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากหมู่บ้าน ผ่านรอยต่อปัตตานีกับสงขลา แต่ประโยคนี้ยังติดหัวอยู่

“เราไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า การทำให้คนไทยรู้ว่าปัตตานียังเป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยอยู่”

เรื่องบางเรื่องคงต้องใช้เวลาและความพยายามสูง แต่ถ้าเราช่วยกัน

ผมเชื่อว่าไม่นาน

------

ขอบคุณ

การท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านทรายขาว ปัตตานี ติดต่อ คุณชนินทร์ เศียรอินทร์ โทรศัพท์ 089-7379553, 081-0946016

ขอบคุณ สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน : CBT-I


traveltrap

 วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เวลา 14.28 น.

ความคิดเห็น