หลงรัก "ภูกระดึง"
ใช่ค่ะ ไปแล้วนอกจากจะรักเลย ที่นี่ยังชวนหลงใหล เหมาะสำหรับสายลุยๆ สายเดินเขา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่แนะนำว่าสักครั้งต้องได้ไป แพลนของเราไม่มีอะไรมาก เป็นความตั้งใจที่ปีที่แล้ววางแผนไปแบบเร่งด่วน ไม่ได้เตรียมตัวมาก เลยทำให้การไปรอบนั้นไปไม่ครบทุกจุด เพราะเกิดอาการปวดขา เดินไม่ไหว ปีนี้เลยตั้งใจจะไปอีกรอบ และตั้งใจจะไปให้ได้เยอะที่สุด ก็เลยเริ่มต้นวางแผนกัน และก็ได้แนวร่วมมา 3 คน บอกได้เลยว่าทริปภูกระดึงหาเพื่อนไปยากมาก ย้ำ!! ยากมาก ชวนไลน์กลุ่มไหนก็จะเงียบๆ 555

การเที่ยวภูกระดึงแนะนำ 3 วัน 2 คืน กำลังดี หรือ 4 วัน 3 คืนก็ได้แบบชิวหน่อย ถ้า 2 วันถือว่าน้อยไป ไม่คุ้มกับการเดินขึ้นไป

แพลนเที่ยวฉบับ 3 วัน 2 คืน #ดึงกันไปภูกระดึง

วันแรก: เดินขึ้นภูกระดึง ตอน 07.00 น. (ใช้เวลาแล้วแต่ว่าเดินช้าเดินเร็ว โดยประมาณมีตั้งแต่ 3 - 6 ชั่วโมง) - หลังแป - ศูนย์บริการวังกวาง - น้ำตกวังกวาง - น้ำตกเพ็ญพบใหม่ (ต้นเมเปิ้ลอยู่ที่นี่ 1 ต้น) - น้ำตกเพ็ญพบ - กลับเต้นท์นอน

สำหรับคนที่เริ่มต้นเดินทางจากกรุงเทพ ก็จองรถ บขส. ออนไลน์ได้เลย จอง กรุงเทพฯ - เลย ให้ลงจุดจอดผานกเค้า เราจองกับรอบดึก (22.00 น.) เพื่อจะไปถึงช่วงเช้ามืดของวันรุ่งขึ้นนอนกันยาวๆ ไปถึงที่ผานกเค้า จ.เลย รถของ บ. Sunbus จะไปจอดหน้าโรงเรียนผานกเค้า ถ้าจะไปร้านเจ้กิม ต้องเดินย้อนขึ้นมาอีกหน่อย รถบัสถึงตอนตี 4 เกือบ ตี 5 ก็ไปล้างหน้า แปรงฟัน เปลี่ยนเสื้อผ้า ทานข้าวเช้า พร้อมออกเดินทางขึ้นภูกระดึง โดนจุดนี้ต้องนั่งรถสองแถวไปที่อุทยานฯ

ก็ระหว่างรอรถสองแถวก็ถ่ายรูปเล่นที่ผานกเค้า เห็นเด่นชัดเลย

รถสองแถวนั่งได้ประมาณ 10 คน

พอไปถึงตรงที่ทำการของอุทยานฯ ก็เตรียมตัวไปจองที่กางเต้นท์ เช่าเต้นท์ คนก็จะแน่นๆ หน่อย ถ้าไปกันหลายคนแนะนำให้แบ่งให้อีกคนนำกระเป๋าไปส่งให้ลูกหาบด้านใน เพื่อจัดคิวขนสัมภาระขึ้น หรือถ้าใครสะดวกถือขึ้นไปเองไม่ว่ากัน

จุดรับ - ส่งสัมภาระ คิดน้ำหนักเป็นกิโลกรัม กระเป๋าจะถูกจัดคิวให้ลูกคาบนำขึ้นไปบนยอดภูกระดึง ก็จะถึงช่วงค่ำๆ เลย

จ่ายค่าเข้าอุทยานฯ ฝากสัมภาระ ได้เต้นท์แล้วก็พร้อมเดินทางขึ้นภูกระดึงกัน

ก่อนจะขึ้นจะมีเจ้าหน้าที่แจ้งให้ทุกคนแสดงบัตรประชาชน และกรอกข้อมูลว่าขึ้นกี่โมง แล้วขากลับก็ต้องมากรอกว่าลงมาถึงกี่โมง เพื่อเช็คเรื่องความปลอดภัย ที่แนะนำก่อนจะขึ้นไปให้หาจุดนี้ก่อน "ไม้ช่วยชีวิต" ถ้ามีไม้นี้ชีวิตจะดีขึ้นเยอะเลย ให้รักษาไว้ให้ดีๆ ตลอดการเดินทาง

เดินทางไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ความสนุกเริ่มต้นขึ้น

ผ่านจุดลงทะเบียนปุ๊ปก็จะเจอทางขึ้นเลยจ้าาาาา ไม่มีการซ้อมเดินทางเรียบเลย ไต่ไปเรื่อยๆ รองเท้าแนะนำที่ใส่สบายที่สุด ยึดเกาะแน่นที่สุด ด่านแรกที่เจอคือ ซำแฮก โอ้โห!!! แฮกของจริง ชัน เหนื่อย เรียกเหงื่อได้เลย

ทางจะไปโหดและเดินหนักๆ อีกทีตรงซำสุดท้ายก่อนที่จะถึงหลังแป


ลูกหาบ คือ อีกหนึ่งเสน่ห์ของการเดินทางที่ภูกระดึง พี่ลูกหาบแต่ละคนจะมีลำโพงฟังเพลงส่วนตัว เราก็ถือโอกาสเดินไป ฟังเพลงกับพี่ๆ เค้าไป และมีทั้งผู้ใหญ่ ผู้หญิง และเด็กมาเป็นลูกหาบ ระหว่างการเดินทางในแต่ละซำก็จะมีร้านค้าให้บริการ แวะพักได้เป็นระยะๆ

แผนที่นี้รับได้ตรงจุดบริการนักท่องเที่ยว ถือเป็นแผนที่สำหรับการท่องเที่ยวอย่างดีเลย

เดินกันขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างทางก็จะได้เจอมิตรภาพที่งดงามของผู้ร่วมทาง เพราะทุกคนจะคอยให้กำลังใจกันเสมอ "อีกนิดเดียวจะถึงแล้ว" พอเดินขึ้นไปถึงหลังแป จะต้องเดินต่อไปที่จุดกางเต้นท์อีก 3.8 กม. เป็นทางเดินง่ายๆ แต่ขาก็ระดมไปแล้ว แวะพักถ่ายรูปที่นี่ได้ จะมีป้าย "ผู้พิชิตภูกระดึง" ที่นี่

ถึงแล้ว จุดกางเต้นท์ "ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว" จุดนี้จะต้องไปรับเต้นท์ ถุงนอน ผ้าห่ม และมีบริการชาร์ทแบตมือถือ Power Bank แต่ระบบไฟจะเป็นเครื่องปั่นไฟ ก็รอนานหน่อย และเจ้าหน้าที่จะไม่ได้อยู่ให้บริการตลอดทั้งคืน ไฟจะถูกดับลง ตอนกลางคืนอากาศค่อนข้างหนาวก็ไม่ค่อยมีใครออกมานอกเต้นท์แล้วค่ะ (ช่วงเดือนธันวาคม)

เราได้มาเป็นหมายเลขเต้นท์ ก็ไปรับผ้าปู ผ้าห่ม ถุงนอน ขนเข้าไปในเต้นท์ ส่วนห้องน้ำที่นี่เป็นห้องน้ำรวม ไม่มีน้ำอุ่น (อาบน้ำอุ่นได้ตามร้านค้า) ห้องน้ำเพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยวเพราะมีหลายจุด แนะนำว่าถ้าไปถึงใครมีแพลนจะเช่าจักรยานวันต่อไป ให้ไปเช่าไว้เลย เพราะมีโอกาสหมด และแนะนำให้เช่าแบบล้อใหญ่ เวลาปั่นกับพื้นทรายจะได้ไม่ติดล้อมาก ปั่นสบายๆ

วันที่สอง: ปั่นจักรยานเที่ยว เริ่มต้นที่... ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (วังกวาง) - ไหว้พระที่พระพุทธเมตตา - ผาหมากดูก - ผาจำศีล - ผานาน้อย - ผาเหยียบเมฆ - สระอโนดาด - ผาแดง - น้ำตกสอเหนือ - ผาหล่มสัก - กลับที่พัก (พระอาทิตย์ตกดินก็ปั่นจักรยานกลับที่พัก เรามาดูพระอาทิตย์ตกดินที่ผาหมากดูก)

วันที่สาม: ดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น (ระยะทางประมาณ 2.3 กม. จากที่พัก) - เดินกลับอีกเส้นทาง - ไหว้พระที่ลานพระแก้ว - เก็บสัมภาระส่งลูกหาบ - ไปน้ำตกเพ็ญพบใหม่ - เดินลงจากภูกระดึงเวลา 11.10 น. ถึงข้างล่างเกือบ 4 โมงเย็น - นั่งรถสองแถวไปร้านเจ๊กิม เพื่ออาบน้ำ ทานข้าว เตรียมตัวกลับกรุงเทพ

ช่วงเย็นของแต่ละวัน เจ้าหน้าที่จะประกาศว่า ถ้าพรุ่งนี้ใครจะไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ผานกแอ่น ให้มาเจอกันที่ศููนย์บริการนักท่องเที่ยว เวลา 04.30 น. จะมีเจ้าหน้าที่พาเดินไป เจ้าหน้าที่ไม่รอนะคะ มาช้าก็อดไป เพราะทางเดินค่อนข้างมืด ให้เตรียมไฟฉายติดไปด้วย

ไปถึงก็จับจองที่นั่ง หามุมของตัวเอง ค่อยๆ ดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ฟินนนนนน มาก

ข้อควรรู้ในการไปเที่ยวภูกระดึง

  • เตรียมร่างกายไปให้พร้อม วิ่ง ออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อได้ยืดหยุ่นบ้าง จะทำให้ไม่ปวดขามาก
  • ยาประจำตัว ยาแก้ปวด (ไม่ปวดก็ต้องกินป้องกันไว้ค่ะ) ยานวด
  • ภูกระดึง จะปิดไม่ให้คนขึ้นในเวลา 14.00 น. เนื่องจากเป็นเรื่องของความปลอดภัย เพราะเจ้าหน้าที่คำนวนเวลาแล้วว่ากว่าจะขึ้นไปถึงก็เย็น ซึ่งถ้าเย็น ค่ำแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลพาขึ้นไปจนถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (วังกวาง)
  • ภูกระดึงปิดการท่องเที่ยวเป็นเวลา 4 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนมิ.ย. - ก.ย. ของทุกปี
  • เตรียมไฟฉายไปด้วย สำหรับการเดินไปเข้าห้องน้ำ หรือเดินกลับที่พักเวลาที่มืด
  • อาหารที่ภูกระดึงราคาจะสูงขึ้นไปตามระดับความสูง "ยิ่งสูงยิ่งหนาว" อิอิอิ
  • อาหารการกินมีครบหมด เตรียมตังค์ไปพอค่ะ
  • กาแฟสดก็มี เป็นเครื่องชงแบบระบบความดันน้ำ คลาสสิคดี (ตามภาพเลย)

ค่าใช้จ่ายที่จะต้องเตรียมไป

  1. ค่ารถสองแถวจากร้านเจ๊กิมไปอุทยานแห่งชาติภูกระดึง 30 บ./ คน กรณีไปลงร้านเจ๊กิม ถ้าเอารถไปเองจอดที่ลานจอดของอุทยานฯ ได้เลย
  2. ค่าเข้าอุทยานฯ 40 บ./ คน (จ่ายตอนเข้า พี่คนขับรถสองแถวจะบอกให้เราเตรียมเงินไว้จ่าย)
  3. ค่าเช่าเต้นท์ 200 บ./ คืน/ เต้นท์ (นอนได้ 3 คน) มี 2 ราคา 200 บ. และ 500 บ. (เต้นท์ใหญ่)
    จองออนไลน์ได้ที่ http://nps.dnp.go.th/reservation.php จะได้ใบเสร็จที่เขียนหมายเลขเต้นท์ แล้วค่อยขึ้นไปเอาเต้นท์ด้านบน (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว)
  4. ค่าพื้นที่ 30 บ./ คน/ คืน (ต้องจ่ายค่าพื้นที่ก่อนค่อยไปจองเต้นท์)
  5. ค่าประกันสุขภาพที่อุทยานฯ 30 บ./ คน ครอบคลุม 7 วัน (ไม่บังคับ)
  6. ค่าใบติดกระเป๋า 5 บ./ ใบ (กรณีจ้างลูกหาบ)
  7. ค่าจ้างลูกหาบ 30 บ./ กก.
  8. เครื่องนอน ชุดละ 60 บ./ คืน/ คน (มีถุงนอน + แผ่นรองนอน + หมอน)
  9. ผ้าห่มนวมโตโต้ 50 บ./ คืน/ ผืน
  10. ค่าเช่าจักรยาน 410 บ./ คัน/ วัน สำหรับล้อใหญ่ (ล้อเล็ก 360 บ./ คัน/ วัน)
  11. ถ้าจะอาบน้ำอุ่นที่ร้านอาหาร 70 บ./ ครั้ง

ราคาค่าอาหาร (โดยประมาณ)

  1. แตงโมที่ซำแฮกอร่อยเด็ด ชิ้นละ 10 บ. จะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ตามความสูง สูงสุดราคา 20 บ./ ชิ้น
  2. หมูกระทะ 500 บ./ ชุด ทานได้ 3 - 4 คน
  3. น้ำดื่มขวดใหญ่ 50 บ./ ขวด (ขวดเล็ก 15 - 20 บ.)
  4. กาแฟสด ราคา 50 - 60 บ./ แก้ว
  5. อาหารตามสั่งจานเดียว ราคาประมาณ 50 - 60 บ./ จาน
  6. ไข่ปิ้ง ไข่ทรงเครื่อง ตามซำต่างๆ 3 ฟอง 20 บ.

หมูกระทะคือไฮไลท์ 555

สรุปค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,784 บ./ คน (รวมค่ารถ Sunbus ไป - กลับ + ค่ากินทุกมื้อ + ค่าที่พัก + จักรยาน)

ที่กล่าวกันว่า "สักครั้งที่ภูกระดึง" คือเรื่องจริง ความเหนื่อย ความปวดขา กับสิ่งที่ได้เห็น ได้สัมผัส ธรรมชาติที่มีให้เห็นได้ค่อนข้างสมบูรณ์เป็นความคุ้มค่าที่ต้องไปสัมผัสเองถึงจะรู้ ถามว่าจะไปภูกระดึงอีกไหม ถ้าถามตอนนั้นที่เพิ่งลงมาถึงข้างล่าง ตอบเลยว่า ม่าาาาาาย แต่พอถึงตอนนี้ มีคนชวนไป ก็อยากไปอีก ไม่รู้ซิ รักที่นั่นไปแล้วเนอะ

Tiewloeiterd

 วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 00.33 น.

ความคิดเห็น