ไคฟง อดีตราชธานี ที่ความดีไม่ถูกลบเลือน

คนไทยส่วนใหญ่รู้จักเมืองไคฟง (Kaifeng) อันเป็นที่ตั้งของศาลไคฟงจากเรื่องเปาบุ้นจิ้น แต่นั้นเป็นเพียงแค่หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ในการเป็นเมืองหลวง เพราะไคฟงนอกจากจะเป็น 1 ใน 7 เมืองหลวงในอดีตของจีนแล้ว ด้วยตำแหน่งที่ตั้งบนที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโห หรือแม่น้ำเหลืองอันอุดมสมบูรณ์ ทำให้เมืองไคฟงแห่งนี้เคยเป็นเมืองหลวงถึง 7 ครั้งใน 7 ราชวงศ์ ตั้งแต่ปีพ.ศ.68 เริ่มจากราชวงศ์เว่ย ต่อด้วยราชวงศ์จิน ราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์โซว สมัย 5 ราชวงศ์ ราชวงศ์ซ่งเหนือ โดยเป็นเมืองหลวงอย่างต่อเนื่องบ้าง สลับให้เมืองอื่นเป็นเมืองหลวงบ้าง จนเป็นเมืองหลวงครั้งสุดท้ายในปีพ.ศ.1777 ในสมัยราชวงศ์หมิง หลังจากนั้นเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองเป็นมณฑล เมืองไคฟงจึงมีฐานะเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน (Henan) ตั้งแต่ปีพ.ศ.1911 – 2187 แต่หลังจากนั้นจวบจนปัจจุบันด้วยเหตุผลของการค้าและการคมนาคม เมืองหลวงของมณฑลเหอหนานจึงเปลี่ยนเป็นเมืองเซิงโซว (Zhengzhou) โดยไคฟงยังคงสังกัดมณฑลเหอหนานเช่นเดิม

ตั๋วรถไฟที่ผมเดินทางจากอู่ฮั่นมายังไคฟงเป็นตั๋วแบบนอน ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ผมได้ที่นอนชั้นบนสุด แม้ต้องปีนป่าย แต่ก็รู้สึกเป็นส่วนตัวมากกว่า หลังจากพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน ผมก็หลับยาวจนเจ้าหน้าที่ประจำตู้มาปลุกเพื่อให้ผมเตรียมพร้อมสำหรับการลงสถานีเมืองไคฟงในเวลาตี 1

ไคฟงในเวลาดึกนั้นเงียบสงัด มีผู้โดยสารเพียงไม่กี่คนลงที่เมืองนี้ การเดินทางเพียงคนเดียวประกอบกับบรรยากาศที่ปกคลุมไปด้วยความมืดทำให้หัวใจเริ่มแกว่งๆ แต่ก็ไม่ถึงกับรู้สึกหวาดกลัวแต่อย่างใด มองซ้ายมองขวาเห็นแต่ความมืดจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะแบกเป้เดินหาที่พักในเวลาเช่นนี้ เมื่อมองไปหน้าสถานีเห็นมีโรงแรมเปิดให้บริการ ผมจึงไม่ลังเลที่จะพาตัวเองไปเปิดห้องพักเพื่อจะได้หลับนอนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่นอนเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง เมื่อเช้าวันใหม่เริ่มขึ้น ผมก็ไม่รอช้าที่จะก้าวออกไปสัมผัสเรื่องราวในเงาอดีตของเมืองไคฟง ผ่านเหล่าสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายต่อหลายแห่ง แม้ว่าสถานที่เหล่านั้นจะเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ แทนของเดิมที่ทรุดโทรมลงตามกาลเวลาก็ตาม

ds7sqou8t4yj

โรงแรมหน้าสถานีรถไฟที่ผมพักอยู่ทางทิศใต้ของกำแพงเมืองไคฟง จุดหมายแรกของผมในวันนี้คือสถานที่ที่ไกลที่สุดในเขตตัวเมืองเก่า นั่นคือเจดีย์เหล็กซึ่งอยู่ทิศเหนือของกำแพงเมือง เจ้าของร้านซาลาเปาข้างโรงแรมที่ผมฝากท้องสำหรับมื้อเช้า บอกว่ารถเมล์สาย 1 ที่มีป้ายจอดรถอยู่หน้าสถานีรถไฟจะพาผมไปยังจุดหมาย แต่หลังจากที่รถเมล์สาย 1 พาผมผ่านกำแพงเมืองเข้าสู่เขตเมืองเก่าไคฟงได้ไม่นาน แทนที่จะลงยังจุดหมายที่วางแผนไว้ ผมก็ห้ามใจตัวเองไม่ไหวจนต้องลงจากรถเมล์เมื่อเห็นพลับพลามังกร ตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ใจกลางเมือง

พลับพลามังกร (Dragon Pavilion) หรือชื่อจีนคือ ลองติง (Long Ting) ที่ตั้งอยู่กลางอ้อมกอดของทะเลสาบแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ตั้งแต่ปีพ.ศ.1503 เพื่อใช้เป็นจุดศูนย์กลางของพระราชวัง แต่สุดท้ายก็ถูกทำลายลงจากไฟสงคราม พลับพลาที่เห็นในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่แต่ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม โดยมีลักษณะเป็นเก๋งจีนขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานที่ซ้อนกันหลายระดับ จนมีความสูงรวม 27 เมตร

osizxf9ox9ka

ก่อนเข้าไปในเขตพลับพลา ผมเดินเล่นเพื่อชมบ้านเรือนโดยรอบ เดินไปให้รู้สึกเหมือนเป็นตัวละครในหนังจีนกำลังภายใน เพราะแม้อาคารเหล่านี้จะเพิ่งสร้างขึ้นแต่ก็สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณ จึงให้บรรยากาศย้อนยุคได้ดียิ่ง

ดูเหมือนวันนี้ผมจะมาเช้าไปสักนิด เพราะหลังจากซื้อบัตรและผ่านเข้าไปภายในเขตพลับพลา ก็มีนักแสดงแต่งชุดโบราณหลายคนยืนอยู่บริเวณทางเข้า แล้วสักพักพวกเขาก็เรียงแถวออกไปร่ายรำเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมภายใน ครั้นผมจะออกไปยืนดูบ้าง เจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาต โดยบอกว่าหากจะออกไป กลับเข้ามาก็ต้องซื้อบัตรใหม่ ผมจึงทำได้แค่ยืนดูจากภายใน จึงเห็นแค่เพียงด้านหลังของนักแสดง ซึ่งมีทั้งเหล่านางรำ เหล่าขุนนาง และที่ขาดไม่ได้คือ ผู้สวมบทเป็นท่านเปาบุ้นจิ้น หน้าเข้ม ที่มาพร้อมกับสัญลักษณ์เฉพาะตัว คือรูปพระจันทร์เสี้ยวที่กลางหน้าผาก

z5uth3kmant2

หลังการแสดงจบ ผมเดินไปตามทางเดินที่ทอดยาวตัดกลางทะเลสาบสู่ปลายทางที่พลับพลามังกร ทะเลสาบทั้ง 2 ฝั่งนี้ตั้งชื่อตามชื่อตระกูลขุนนางที่มีชื่อเสียงสูงสุด 2 ตระกูลในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ คือ ทะเลสาบตระกูลหยางทางทิศตะวันตก กับทะเลสาบตระกูลพันทางทิศตะวันออก ด้วยทางเดินที่ทอดยาวและโอบขนานด้วยทะเลสาบขนาดใหญ่เช่นนี้ จึงเสริมส่งให้พลับพลามังกรที่สร้างอยู่บนฐานสูง ยิ่งดูเด่นสง่าในทุกมุมมอง

wpkaoltwqxo9

แม้วันนี้เราจะไม่มีโอกาสได้เห็นร่องรอยของเมืองไคฟงในอดีตว่าใหญ่โตเพียงใด แต่ที่ประตูทางเข้าด้านในพลับพลา มีแบบจำลองแสดงสภาพเมืองไคฟงในอดีตสมัยที่เป็นราชธานีของแผ่นดินมังกรไว้ให้คนยุคปัจจุบันได้จินตนาการ ภายในเมืองนั้นมากไปด้วยเหล่าพระราชวัง วัดวาอารามและบ้านเรือนแน่นเต็มทุกพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่าแผ่นดินมังกรในยุคอดีตนั้นมากไปด้วยผู้คนและมีความเจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ยุคปัจจุบัน

ผมก้าวเดินอย่างช้าๆไปตามขั้นของบันไดมังกร สู่ท้องพระโรงของฮ่องเต้ที่ตั้งอยู่เบื้องบน ภายในเป็นที่ตั้งของบัลลังก์มังกรที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับของฮ่องเต้ในเวลาออกว่าราชการ แม้สิ่งที่เห็นจะเป็นของจำลอง แต่บรรยากาศโดยรอบก็ชวนให้จินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ของฮ่องเต้ในยุคอดีต และเชื่อว่าครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ ท่านเปาบุ้นจิ้นก็คงเคยเข้าเฝ้าฮ่องเต้ ณ ท้องพระโรงแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ด้านตะวันตกของพลับพลามังกรมีทางเดินเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้านตระกูลหยาง (Yang’s Mansion) หากใครเป็นแฟนหนังจีนแบบย้อนยุค คงจะยังจำเรื่องขุนศึกตระกูลหยางกันได้ เรื่องนี้เขียนโดยชาวมองโกลในสมัยราชวงศ์หยวน เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่องราวเกิดขึ้นในสมัยฮ่องเต้ซ่งไทจง ซึ่งเป็นฮ่องเต้รัชกาลที่ 2 ของราชวงศ์ซ่งเหนือ คนในตระกูลหยางเป็นขุนนางที่มีความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมืองต่อเนื่องกันถึง 3 รุ่น ทุกคนในตระกูลยอมสละชีวิตเพื่อชาติ ไม่เฉพาะแต่ลูกหลานที่เป็นผู้ชาย หากแต่ผู้หญิงก็มีใจหาญกล้าที่จะยอมสละชีพด้วยเช่นกัน จนสุดท้ายตระกูลหยางทุกคนต้องจบชีวิตลงกลางสนามรบ จนกลายมาเป็นเรื่องเล่าขานที่แสดงถึงความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง ที่ชาวจีนยังจดจำและเล่าสืบต่อกันจนถึงยุคปัจจุบันอย่างไม่เคยจางหาย

p3nkyo5lbnoj

หมู่บ้านตระกูลหยางในอดีตเป็นเช่นใด คงต้องจินตนาการตามผู้กำกับหนัง แต่หมู่บ้านตระกูลหยางในวันนี้ถูกตกแต่งให้เป็นสวนสวย มีทั้งน้ำพุ น้ำตก และมากไปด้วยไม้ดอก โดยเฉพาะดอกทิวลิปหลากสีสันที่เบ่งบานอร่ามเต็มพื้นที่ จากความสวยงามของดอกไม้ที่ปลูกอยู่ภายนอก มาถึงความเข้มข้นในการต่อสู้ของเหล่าขุนศึกตระกูลหยางที่จำลองการต่อสู้ในสนามรบให้ชม นักแสดงนับสิบนับร้อยคนนั้นต่างใช้ชุดนักรบโบราณ พร้อมการต่อสู้ด้วยดาบ อีกทั้งยังมีการต่อสู้บนม้าศึกที่สมจริงจนสะกดผู้ดูให้เหมือนอยู่ในสมรภูมิจริงๆ จบการแสดงหากใครยังอินกับการต่อสู้แบบถวายชีวิตเพื่อชาติ ก็สามารถเข้าไปชมภายในอาคารต่างๆที่จัดแสดงรูปปั้นของเหล่าขุนศึกตระกูลหยางที่อยู่ในชุดเกาะแบบเต็มยศ พร้อมสรรพาวุธต่างๆที่ใช้ในศึกสงครามได้อย่างใกล้ชิด

7uip1jkwa7n9

ผมใช้บริการรถเมล์หมายเลข 1 อีกครั้ง โดยครั้งนี้นั่งไปสุดสายที่เจดีย์เหล็ก (Iron Pagoda) ตั้งอยู่บริเวณประตูเมืองทางทิศเหนือ สร้างขึ้นใหม่ตามรูปแบบประตูเมืองโบราณที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุดในเมืองไคฟง

ikbfwj21das2

เจดีย์เหล็กที่ตั้งสูงตระหง่านนี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.1637 ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ แม้จะเกิดสงครามขึ้นหลายครั้ง เกิดน้ำท่วมหลายหน แต่เจดีย์ก็ยังสามารถยืนหยัดผ่านกาลเวลา จนทางการจีนจัดให้เป็นเจดีย์โบราณที่สร้างได้อย่างสวยงามที่สุดในแผ่นดินมังกร

แม้จะมีชื่อว่าเจดีย์เหล็ก แต่ความเป็นจริงเจดีย์องค์นี้ไม่มีเหล็กสักชิ้นเป็นองค์ประกอบ สำหรับสาเหตุที่ได้ชื่อเช่นนี้เป็นเพราะอิฐสีเข้มที่ใช้ก่อสร้างนั้นเมื่อมองดูจากระยะไกลจะให้ความรู้สึกเหมือนสร้างจากเหล็ก จนกลายเป็นที่มาของชื่อเจดีย์ เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ เจดีย์ที่มีความสูงถึง 55 เมตรนี้ แบ่งเป็นชั้นๆรวมทั้งสิ้น 13 ชั้น และงดงามไปด้วยลวดลายพระพุทธรูปองค์เล็กๆอยู่เต็มพื้นที่ฐานเจดีย์

0cux1yycnfi3

หากมาเจดีย์เหล็กแล้วชมแต่เจดีย์อาจทำให้พลาดของดี เพราะสำหรับผมแล้ว ของดีของสถานที่แห่งนี้อยู่ที่วิหารขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์มากกว่า วิหารหลังนี้มีความโดดเด่นตั้งแต่ภายนอก โดยเฉพาะที่หลังคา เพราะนอกจากจะสะท้อนความเก่าแก่ออกมาได้อย่างเด่นชัดแล้ว ยังมากไปด้วยลวดลายและการลงสีอย่างสวยงาม อีกทั้งภายในวิหารยังประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณขนาดใหญ่ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนท่านกำลังทอดสายตามองเราตลอดเวลา ที่สำคัญคือพระพุทธรูปองค์นี้สร้างจากหินทั้งก้อน จึงน่าทึ่งในความสามารถของช่างสมัยเก่าที่ไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยเหมือนปัจจุบัน แต่สามารถสร้างงานพุทธศิลป์ที่งดงามและอลังการได้ขนาดนี้ นอกจากนี้ผนังโดยรอบยังงดงามไปด้วยภาพวาดที่แสดงถึงการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในแผ่นดินจีน และเหล่านางฟ้าที่ออกมาร่ายรำ บรรเลงดนตรี ด้วยศิลปะการวาดที่อ่อนช้อยงดงามยิ่ง

eon3cir1iz9r

ผมใช้บริการรถเมล์สาย 1 อีกครั้ง โดยนั่งย้อนกลับมายังใจกลางเมืองเก่า ที่มากไปด้วยร้านค้าและผู้คน กระแสของธุรกิจปกคลุมย่านนี้จนไม่เหลือกลิ่นหอมของเงาอดีต แต่ท่ามกลางการค้าที่แสนคึกคัก ยังมีมุมที่เงียบสงบของวัดหยวนฉิน (Yan Qin) ซ่อนตัวอยู่ วัดแห่งนี้เป็นวัดในลัทธิเต๋า ภายในมีเจดีย์ที่มีการตกแต่งริ้วลายและสีสันที่สดกว่าเจดีย์ทั่วไป อีกทั้งฐานเจดีย์ยังมีห้องใต้ดิน ดูลึกลับชวนให้เข้าไปค้นหา ผมจึงไม่รอช้าที่จะเดินลงไปตามขั้นบันได ภายในนั้นเป็นที่ตั้งของรูปปั้นของอาจารย์ในลัทธิเต๋าตั้งอยู่ให้ผู้ศรัทธามากราบไหว้ ท่ามกลางความเงียบสงบ

rbxh74isqnit

จากวัดหยวนฉินผมเดินไปตามถนนซือยู (Ziyou) ถนนสายธุรกิจของไคฟง สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านค้าทั้งเสื้อผ้า และอาหาร แต่ผมกลับสนใจร้านรถเข็นริมทาง เพราะอาหารที่คนขายกำลังทำอยู่นี้ ดูจากรูปร่างภายนอก ประกอบกับกระบวนการทำแล้ว ไม่ต่างจากโรตีบ้านเรานัก แต่ไส้ที่ใส่นี้สิน่าสนใจ เพราะเป็นไส้สารพัดผัก ทั้งไช้เท้า กุยฉ่าย จึงลองซื้อมากินเป็นอาหารกลางวันให้กับตัวเอง นั้นคือความสุขและความอร่อยแบบง่ายๆริมถนนที่ผมคุ้นเคย

ujhvqhr2f9n0

บนถนนซือยูเป็นที่ตั้งของวัดต้าเซียงกัว (Daxiangguo) วัดนี้สร้างตั้งแต่ปีพ.ศ.1098 จึงเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในไคฟงที่ยังคงสืบอายุมาจนถึงปัจจุบัน วัดแห่งนี้มีเนื้อที่ค่อนข้างมาก ภายในมีวิหารหลายหลังตั้งเรียงราย ส่วนใหญ่ถูกสร้างเพิ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงเมื่อราว 300 ปีที่ผ่านมา ทั้งวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ วิหารพระพุทธเจ้าในอนาคต และวิหารพระศากยมุนี พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

8scj3fw0icix

ในปัจจุบันวัดต้าเซียงกัว มีฐานะเป็นศูนย์กลางของวัดนานาชาติ วิหารหลังในสุดจึงมีพระพุทธรูปที่จำลองมาจากพระพุทธรูปสำคัญของชาติต่างๆประดิษฐานเรียงราย แน่นอนว่าต้องมีพระแก้วมรกตจำลองของชาติไทยประดิษฐานอยู่ในนั้น

นอกจากควันธูปที่โชยพัดไปตามสายลมแล้ว เหล่าพุทธศาสนิกชนชาวจีนที่มานมัสการยังนิยมซื้อผ้าสีแดงที่มีคำอธิษฐานหลายแบบให้เลือก โดยนำไปแขวนไว้หน้าวิหาร ด้วยความหวังว่า ยามที่สายลมพัดมา เหล่าคำอธิษฐานจะโบกพัดไปตามสายลม แล้วลอยล่องไปจนถึงสรวงสวรรค์ ให้เหล่าทวยเทพบนนั้นได้รับรู้

ptyekij843gr

นอกจากทะเลสาบตระกูลหยางกับทะเลสาบตระกูลพันที่พลับพลามังกรแล้ว ในเขตกำแพงเมืองไคฟงยังมีอีกหนึ่งทะเลสาบที่กว้างใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นคือทะเลสาบตะวันตก

ในเวลาเย็นเช่นนี้ การเดินลัดเลาะไปตามทะเลสาบตะวันตก ที่รอบทะเลสาบถูกสร้างเป็นสวนสาธารณะขนาดย่อมนั้น สร้างความสุขใจให้กับผมมากทีเดียว อีกทั้งการเดินทอดน่องอย่างช้าๆนี่เอง ทำให้ผมสังเกตว่าเมืองไคฟงนี้ ชาวจีนยังคงใช้รถจักรยานกันค่อนข้างมาก แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนมาเป็นจักรยานไฟฟ้าแล้วก็ตาม และที่นี่ยังมีบริการสามล้อถีบ ที่หน้าตาไม่ต่างจากสามล้อถีบในบ้านเรา ซึ่งปัจจุบันจะมีก็แต่ในต่างจังหวัดบางแห่งเท่านั้นที่ยังสามารถพบเห็นได้อยู่ แต่สำหรับที่ไคฟงแล้ว สามารถพบเห็นสามล้อถีบได้ทั่วไป

ณ ตำแหน่งริมทะเลสาบตะวันตกเป็นที่ตั้งอนุสรณ์เปาบุ้นจิ้น (Lord Bao Memorial) ได้ยินชื่อนี้แล้วคนไทยหลายคน รวมถึงผมก็คงอยากรู้ว่าภายในสถานที่แห่งนี้จะมีศาลไคฟงหน้าตาและบรรยากาศเหมือนเช่นศาลไคฟงในภาพยนตร์จีนที่นำมาฉายในบ้านเราหรือเปล่า

45axbnhdj53a

ก่อนจะเข้าไปชมภายใน ขอเล่าประวัติสักนิดว่า ชื่อ เปาบุ้นจิ้น เป็นเหมือนฉายาที่คนทั่วไปเรียกท่าน แต่แท้จริงแล้วท่านมีชื่อเดิมว่า เปาเจิงเทียน มีอายุอยู่ในช่วงปีพ.ศ.1542 – 1605 ตรงกับสมัยฮ่องเต้เจินจง กับฮ่องเต้เหรินจง แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ เดิมท่านเป็นชาวเมืองเหอเฟย (Hefei) ปัจจุบันเมืองแห่งนี้มีฐานะเป็นเมืองหลวงของมณฑลอันฮุย (An Hui) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองไคฟงมากนัก ท่านเกิดในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง เมื่ออายุ 19 ปีก็เข้าสอบเป็นขุนนาง จากตำแหน่งเล็กๆ ด้วยความขยันหมั่นเพียรจึงค่อยๆไต่เต้าจนได้เป็นเจ้าเมืองไคฟง ซึ่งเป็นเมืองหลวงในสมัยนั้น

ท่านเปาเป็นเจ้าเมืองไคฟงได้ไม่ถึงปีก็เริ่มปฏิรูประบบราชการหลายอย่าง ที่โดดเด่นที่สุดคือการให้ประชาชนเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าเมืองได้โดยตรง ทำให้ท่านต้องสืบและพิพากษาคดีหลายต่อหลายคดี ด้วยความซื่อสัตย์และบุคลิกที่ตรงไปตรงมาไม่รอมชอมต่อความอยุติธรรมและการฉ้อฉล ทุกคดีที่ท่านพิพากษาจึงได้รับการตัดสินอย่างยุติธรรม จนสร้างชื่อเสียงให้แก่ท่านเป็นอันมาก

ผมเดินเข้าไปในพื้นที่อันกว้างใหญ่ของอนุสรณ์เปาบุ้นจิ้น เพราะพื้นที่บริเวณนี้ติดกับทะเลสาบตะวันตก จึงมีการจัดเป็นสวนที่สวยงามบนทางเดินริมทะเลสาบ ซึ่งเป็นการสร้างความร่มรื่นให้กับบริเวณโดยรอบได้มากทีเดียว สำหรับพื้นที่ส่วนกลางของอนุสรณ์แห่งนี้ สร้างเป็นอาคารทรงจีนผนังสีแดงหลายหลัง อาคารหลังเล็กจะจัดแสดงเรื่องราวและภาพวาดของท่านเปาบุ้นจิ้น พร้อมโมเดลจำลองเมืองไคฟงยุคอดีต สำหรับอาคารหลังใหญ่ภายในสร้างให้มีลักษณะเหมือนศาลไคฟงแบบที่เราคุ้นตาจากฉากในภาพยนตร์ โดยมีรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ของท่านเปาบุ้นจิ้นในท่านั่งบนบัลลังก์ตัดสินคดี ตั้งอยู่ในตำแหน่งตรงกลางของศาล พร้อมด้วยอุปกรณ์ประหารชีวิตผู้กระทำผิดอันเลื่องชื่อ 3 อัน คือ เครื่องประหารหัวมังกร หัวสิงห์ และหัวสุนัข และเพื่อย้ำเตือนความทรงจำถึงฉากการตัดสินคดีความอย่างยุติธรรม จึงมีการทำหุ่นขี้ผึ้งแสดงฉากสำคัญที่รู้จักกันดี นั่นคือฉากที่ท่านเปาสั่งประหารชีวิตองค์ชายรัชทายาท ซึ่งนอกจากหุ่นขี้ผึ้งท่านเปาขนาดเท่าตัวจริงแล้ว ยังมีหุ่นขี้ผึ้งของแมวหลวงจั่นเจา พร้อมเหล่าองครักษ์ที่มีสีหน้าดุดันจนเหมือนมีชีวิตจริงๆ

dopegwns3v65

ท่านเปาบุ้นจิ้นคือตัวอย่างอันดี ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ความดีนั้นไม่มีวันสูญหายไปตามกาลเวลา จากคนธรรมดา เมื่อสั่งสมความดี แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านไปร่วมพันปีก็ไม่สามารถที่จะลบเลื่อนเกียรติคุณความดีที่สร้างไว้ให้จางหาย ยิ่งเวลาผ่านไป เรื่องราวความดีที่ทำไว้ ก็เปลี่ยนจากเรื่องเล่าขาน กลายเป็นตำนานที่ใช้สั่งสอนลูกหลานสืบต่อไปอย่างมิรู้จบ

ข้อมูลการเดินทางและเข้าชม

พลับพลามังกร

รถเมล์ที่ผ่านคือ สาย 1, 15 และ 20

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.30 น. ค่าเข้าชม 50 หยวน

หมู่บ้าตระกูลหยาง

รถเมล์ที่ผ่านคือ สาย 1, 15 และ 20

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.30 น. ค่าเข้าชม 55 หยวน

เจดีย์เหล็ก

รถเมล์ที่ผ่านคือ สาย 1, 3, 6 และ 20

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.30 น. ค่าเข้าชม 40 หยวน

วัดหยวนฉิน

รถเมล์ที่ผ่านคือ สาย 5, 8, 9, 16, 19, 20 และ 23

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 – 18.00 น. ค่าเข้าชม 30 หยวน

วัดต้าเซียงกัว

รถเมล์ที่ผ่านคือ สาย 5, 8, 9, 16, 19, 20 และ 23

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 – 18.00 น. ค่าเข้าชม 45 หยวน

อนุสรณ์เปาบุ้นจิ้น

รถเมล์ที่ผ่านคือ สาย 20

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.30 น. ค่าเข้าชม 30 หยวน

ความคิดเห็น