ซีหนิง บนเส้นทางสายชิงไห่ – ทิเบต
ราว 2 ทุ่ม พวกเราแบกเป้เดินขึ้นรถไฟเพื่อเดินทางไปยังซีหนิง (XiNing) เมืองหลวงของมณฑลชิงไห่ (Qinghai) ด้วยกฎระเบียบที่ไม่สามารถแบกเป้ไปทิเบตด้วยตัวเองได้ ต้องผ่านบริษัททัวร์เท่านั้น เราจึงติดต่อบริษัททัวร์ที่ลาซาเพื่อจัดเตรียมทุกอย่างให้เรา ทั้ง permit ประเภทต่างๆ รถสำหรับการเดินทางในทิเบต ตั้งแต่ลาซาจนถึงเอเวอร์เบสท์แคมป์ ที่พักในแต่ละเมือง รวมถึงตั๋วรถไฟด้วย โดยขบวนรถไฟที่เรากำลังจะเดินทางนี้ เป็นขบวนรถไฟสายชิงไห่ – ทิเบต ซึ่งจริงๆแล้วมีรถไฟสายยาวที่วิ่งตรงแบบไม่ต้องต่อขบวนจากปักกิ่ง ผ่านซีอาน ซีหนิง ไปยังลาซา แต่เนื่องจากรถไฟสายนี้ได้รับความนิยมทั้งจากชาวจีนและนักท่องโลกต่างชาติที่จะใช้บริการเดินทางสู่ทิเบต เพราะค่อยๆไต่ความสูงขึ้นไปจึงลดความเสี่ยงจากการแพ้ความกดอากาศ อีกทั้งสองข้างทางนั้นพาดผ่านทัศนียภาพของขุนเขาที่สวยงาม โดยเฉพาะแนวเทือกเขาคุนลุ้นที่ทอดยาว ตั๋วรถไฟจึงหายากแสนเข็น ต้องจองล่วงหน้าเป็นแรมเดือน นี่ขนาดเราให้บริษัททัวร์ท้องถิ่นจองให้ยังไม่ได้ตั๋วแบบวิ่งตรงจากซีอานสู่ลาซา จึงต้องเดินทางแบบ 2 ขยัก คือ ซีอาน – ซีหนิง และ ซีหนิง – ลาซา แต่หากมองในแง่ดี ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้พักพร้อมสัมผัสเมืองซีหนิงในช่วงที่เปลี่ยนขบวนรถไฟ เพราะการเดินทางจากซีอานสู่ลาซาด้วยรถไฟนั้นยาวนานร่วม 2 วัน 2 คืน
รถไฟขบวนนี้เป็นแบบตู้นอน แต่ละตู้จะแบ่งย่อยออกเป็นบล๊อคๆราว 10 บล็อกตามแนวยาว แต่ละบล็อคจะมีเตียง 3 ชั้นอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง เราจัดแจงไปยังเตียงนอนหมายเลขที่ระบุบนตั๋ว โดยผู้ที่อยู่ชั้น 3 นั้นต้องปีนป่ายกันพอควร เราจึงมีการสลับตั๋วกันเพื่อให้เหมาะสมกับสรีระและอายุของแต่ละคน แน่นอนว่าสาวๆเลือกที่จะนอนเตียงล่าง ในขณะที่ชายหนุ่มเป็นผู้เสียสละที่ต้องปีนป่ายไปนอนเตียงบนที่สูงเกือบติดหลังคารถไฟ จึงไม่สามารถที่จะนั่งตัวตรงได้ ต้องนอนหรือไม่ก็ต้องนั่งก้มศีรษะเท่านั้น จึงไม่สะดวกนักสำหรับการใช้เป็นที่นั่งในเวลากลางวัน แต่สำหรับกลางคืนเช่นนี้ จากประสบการณ์ที่เดินทางด้วยรถไฟในประเทศจีนมาหลายครั้ง การนอนเตียงชั้น 3 นั้นถือเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะจะอยู่ในความเงียบสงบ ต่างจากผู้ที่นอนเตียงล่างหรือชั้น 2 ที่อาจได้รับการปลุกให้ตื่นโดยไม่เจตนาจากผู้นอนเตียงที่สูงกว่าในการปีนป่ายขึ้นลงเพื่อเข้าห้องน้ำในเวลาดึก
ก่อนที่แต่ละคนจะกล่าวราตรีสวัสดิ์ต่อกัน เพื่อนบางคนกินยาแก้แพ้ความกดอากาศดักไว้ เพราะแม้ช่วงแรกของการเดินทางยังไปไม่ถึงทิเบตดินแดนหลังคาโลกที่มีความสูงโดยเฉลี่ยกว่า 5 พันเมตรก็ตาม แต่การเดินทางจากซีอานไปยังซีหนิงก็พาดผ่านแนวเทือกเขาชินหลิง (Qinling) ที่มีความสูงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันสักเท่าไหร่
ในขณะที่ขบวนรถไฟค่อยๆไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เสียงกึกกักของล้อรถไฟที่เสียดสีกับรางเหล็กก็กลายเป็นเสียงดนตรีขับกล่อมให้เราหลับใหล ในเวลาที่ท้องฟ้าห่มคลุมด้วยความมืด
เช้าวันใหม่แสงอาทิตย์ปลุกให้พวกเราลุกขึ้นจากเตียงนอน ผู้โดยสารหลายคนจับจองที่นั่งริมหน้าต่างเพื่อชมทัศนียภาพยามเช้าที่แสงแดดอ่อนละมุนได้โอบไล้ทุ่งหญ้าให้กลายเป็นสีทองอร่าม และพลิ้วไหวไปตามสายลม ก่อน 8 นาฬิการถไฟจอดสนิทที่ชานชลาสถานีซีหนิง เราแบกเป้เดินไปยังที่พักผู้โดยสารภายในสถานี ที่นี่เรามีนัดกับสาวสวยซึ่งเป็นคนของบริษัททัวร์ที่เราติดต่อไว้ เธอมารอเราเพื่อนำตั๋วรถไฟจากซีหนิงไปลาซาให้แก่พวกเรา โดยรถไฟจะออกเวลาบ่าย 3 เราจึงพอมีเวลาที่จะไปเที่ยวชมเมืองซีหนิง จึงขอให้เธอช่วยพาไปยังใจกลางเมือง ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้เป็นหน้าที่ของเธอที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะเพียงแค่ส่งตั๋วรถไฟให้ถึงมือเราก็ถือว่าจบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแล้ว แต่เพราะความมีน้ำใจ เธอจึงพาเราไปขึ้นรถเมล์สาย 2 บริเวณหน้าสถานีรถไฟเพื่อเดินทางไปยังตัวเมืองซีหนิงตามที่เราร้องขอ
แม้ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของมณฑลชิงไห่จะเต็มไปด้วยขุนเขา แต่ตัวเมืองซีหนิงอันเป็นเมืองหลวงซึ่งตั้งอยู่บนระดับความสูงถึง 2,291 เมตรจากระดับน้ำทะเลแห่งนี้ก็มากไปด้วยตึกรามบ้านช่อง โดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองซึ่งเป็นเขตการค้านั้นมีตึกสูงหลายแห่งที่เป็นเหมือนเงาสะท้อนความเจริญทางธุรกิจของเมืองนี้ แต่ความเจริญนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วข้ามคืน หากแต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อน ในฐานะเมืองโอเอซีสท่ามกลางทะเลทรายโกบี ของเส้นทางสายไหมฝั่งใต้
ในระหว่างการเดินทางเข้าเมือง เราจึงได้รู้ว่าสาวสวยที่นำตั๋วรถไฟมาให้เรานี้ แท้จริงแล้วเธอไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัททัวร์ แต่เป็นอาจารย์ในชั้นมัธยมศึกษา จึงพอสื่อสารภาษาอังกฤษได้ วันหยุดเช่นนี้เธอจึงหารายได้พิเศษในการรับจ้างนำตั๋วรถไฟมาส่งให้กับนักท่องเที่ยว
เมื่อถึงตั๋วเมือง เธอพาเราเดินชมตัวเมืองสักพัก พร้อมแนะนำสถานที่น่าใจซึ่งส่วนใหญ่เป็นห้างสรรพสินค้า จากนั้นจึงขอตัวกลับ เราแต่ละคนจึงออกเดินหาอาหารเช้าแบบท้องถิ่นตามความสนใจที่ต่างกัน โดยผมได้โรตีใส่ไส้กรอกแบบจีนร้อนๆเป็นอาหารเช้า ซึ่งช่วยขับความหนาวจากอากาศยามเช้าได้ดีทีเดียว หลังจากอิ่มท้องแล้ว เพื่อนส่วนใหญ่เลือกที่จะหาที่นั่งแบบชิลล์เฮ้าท์ที่ร้านกาแฟในห้างสรรพสินค้า ส่วนผมพร้อมเพื่อนใหม่อีก 2- 3 คน แยกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะซีหนิง ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก
ช่วงที่เรามานี้ ดอกซากุระเริ่มผลิบาน สวนสาธารณะแห่งนี้จึงถูกสีชมพูสดของดอกซากุระแต่งแต้มจนดูสดใส จากนั้นจึงเดินไปลานคนเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายไม่กว้างนักที่ไหลผ่านกลางเมือง นอกจากลานกลางแจ้งที่เหมาะกับการทำกิจกรรมของคนจำนวนมากแล้ว ยังมีลานกว้างในร่มที่ในเวลานี้อากงอาม่านับสิบๆคู่กำลังมีความสุขและสนุกไปกับการเต้นลีลาส จนชวนให้คนต่างถิ่นอย่างเราได้หยุดพักสองขา เพื่อใช้สองตามองดูใบหน้าที่เปื้อนยิ้มและลีลาของพวกเขา
เราข้ามไปอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ บริเวณนี้เป็นสวนสาธารณะที่ทอดยาวไปตามการไหลของสายน้ำ บรรยากาศภายในสวนยังคงเป็นภาพที่คุ้นตา นั่นคือชาวจีนจำนวนมากกำลังก้มหน้าก้มตาเล่นไพ่นกกระจอกโดยไม่สนใจความเป็นไปของสรรพสิ่งรอบข้าง นอกจากนี้โดยรอบมีรูปปั้นของบุคคลสำคัญในประเทศจีนหลายคน หนึ่งในนั้นมีรูปพระจันทร์เสี้ยวบนหน้าผาก นั่นคือท่านเปาบุ้นจิ้นนั่นเอง นี่เดินทางออกมาจากเมืองไคฟงตั้งหลายวันแล้ว ท่านยังตามมาส่งผมถึงที่ซีหนิงด้วยเหรอ
จากสวนสาธารณะซีหนิง เราเดินเข้าไปในตลาดที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนและสารพันอาหารอันตระการตา ผลไม้สดๆวางขายเต็มตลาด โดยเฉพาะลูกท้อสีแดงกร่ำนั้นดูน่าทานยิ่งนัก นอกจากนี้ยังมากไปด้วยร้านจำหน่ายสมุนไพรจีน และร้านอาหารประเภทสารพัดเนื้อสัตว์และผักเสียบไม้ย่าง เราจึงชักชวนกันเข้าไปลอง คนละไม้สองไม้พอให้ได้ลิ้มรสอาหารแบบซีหนิง ที่อร่อยดีมิใช่น้อย นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าลิ้มลองและดูจะขายดิบขายดีกว่าร้านอื่น นั้นคือ นมแพะบรรจุขวด ทีแรกก็เกรงๆอยู่ว่าจะเหม็นคาวไหม แต่เมื่อลองดื่มแล้วรสชาติดีไม่มีกลิ่นคาวอย่างที่คิด
เรานั่งรถเมล์สาย 2 กลับไปยังสถานีรถไฟซีหนิง ซึ่งเพื่อนกลุ่มใหญ่กลับมาถึงก่อนหน้านี้แล้ว การขึ้นรถไฟจากซีหนิงเพื่อเดินทางเข้าทิเบตนั้นเริ่มมีการตรวจที่เข้มขึ้นจากเจ้าหน้าที่ เพราะไม่ใช่แค่มีตั๋วรถไฟก็สามารถขึ้นได้ อย่างที่บอกไว้ว่าชาวต่างชาติทุกคนที่ต้องการเดินทางเข้าทิเบตต้องเดินทางผ่านบริษัททัวร์ที่รัฐบาลจีนรับรองเท่านั้น ฉะนั้นจึงมีการตรวจสอบชื่อที่ปรากฏบนตั๋วรถไฟ, ชื่อที่ปรากฏบนพาสปอร์ต และชื่อที่บริษัททัวร์แจ้งมาล่วงหน้าให้กับการรถไฟว่าตรงกันหรือไม่
บ่าย 3 โมง ขบวนรถไฟค่อยๆเคลื่อนตัวออกจากชานชลา การเดินทางบนเส้นทางรถไฟสายชิงไห่ – ทิเบต อันเป็นเส้นทางรถไฟที่สูงที่สุดในโลกกำลังจะเริ่มต้นขึ้น
เส้นทางรถไฟสายนี้มีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลกว่า 4,000 เมตร จึงเป็นทางรถไฟที่สูงที่สุดในโลก โดยมีความยาวรวมทั้งสิ้นกว่า 1,956 กิโลเมตร ด้วยความลำบากในการสร้างทางรถไฟบนที่สูงที่นอกจากอากาศจะหนาวเย็นสุดขั้วแล้ว พื้นที่หลายแห่งยังมีน้ำแข็งปกคลุมตลอดทั้งปี อีกทั้งพื้นดินค่อนข้างเปราะบาง การก่อสร้างจึงแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ จากซีหนิงสู่โกลมุด (Golmud) เมืองสุดท้ายของมณฑลชิงไห่ ก่อนที่จะเข้าเขตเทือกเขาคุนลุ้น ที่แบ่งแยกดินแดนทิเบตออกจากแผ่นดินจีนตอนกลาง เส้นทางช่วงแรกเปิดใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2527 ในขณะที่เส้นทางช่วงที่ 2 จากโกลมุด ไปยังลาซาเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2549
นอกจากนี้เส้นทางรถไฟสายนี้ยังสร้างทับเส้นทางการค้ายุคโบราณ นั่นคือเส้นทางสายไหมตอนใต้ ซึ่งนอกจากเป็นเส้นทางการค้าแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่นำศาสนาพุทธจากชมพูทวีปมายังดินแดนทิเบต และเราก็กำลังเดินทางไปบนเส้นทางสายนั้น
ระยะทางการเดินทางแบบข้ามคืนข้ามวันเช่นนี้ ทำให้ภายในรถไฟมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน ไม่ว่าจะเป็นที่นอนพร้อมผ้านวมผืนใหญ่ ห้องน้ำที่สะอาดพอใช้ น้ำร้อนที่ชาวจีนนิยมกดมาชงชา หรือไม่ก็ใส่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และที่พิเศษมากกว่าขบวนรถไฟทั่วไป คือช่องจ่ายออกซิเจนพร้อมสายต่อเพื่อช่วยหายใจ เพราะเส้นทางสายชิงไห่ – ทิเบตนี้เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างเสี่ยงในการเกิดโรคแพ้ความกดอากาศ เนื่องจากเส้นทางจะไต่ความสูงชันไปยังระดับความสูงที่มากกว่า 5 พันเมตร
ช่วงแรกของการเดินทางพาดผ่านไปตามภูมิประเทศที่แสนแห้งแล้ง อาจเป็นเพราะช่วงที่เราเดินทางเป็นช่วงปลายฤดูหนาว ทำให้มองไปทางไหนก็เห็นเพียงพื้นดินกับทุ่งหญ้าสีทอง ท่ามกลางการโอบล้อมของภูเขาลูกน้อยใหญ่ที่เริ่มปรากฏกายให้เห็น
เวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง รางเหล็กคู่ขนานพาขบวนรถไฟลัดเลาะผ่านแนวขอบของทะเลสาบชิงไห่ ที่ผิวน้ำเรียบใสอย่างกับกระจก ริมทะเลสาบเป็นทุ่งหญ้าแห้ง ที่มีฝูงจามรี และฝูงแกะมาเลาะเล็มกินหญ้าแห้งเหล่านั้น
ทะเลสาบชิงไห่ ตั้งอยู่ ณ ความสูง 3,200 เมตร เหนือจากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่กว้างถึง 4,500 ตารางกิโลเมตร ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่ขนาดนี้ จึงเป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และการที่น้ำในทะเลสาบเป็นน้ำเค็มทั้งๆที่ตั้งอยู่ในแผ่นดินเกือบจะกึ่งกลางทวีปเอเชียเป็นเพราะ น้ำทะเลถูกยกตัวให้สูงขึ้นจากการปะทะกันของอนุทวีปอินเดียกับทวีปเอเชียเมื่อหลายล้านปีก่อน แรงจากการปะทะนี้เองที่ทำให้เกิดการบีบอัดของเปลือกโลก จนเกิดเทือกเขาหิมาลัย อันเป็นที่ตั้งของดินแดนหลังคาโลกทิเบตที่เรากำลังจะไปถึง
จากการนั่งชมวิวริมหน้าต่าง เมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าเพื่อนๆจึงเปลี่ยนมานั่งจับกลุ่มคุยกัน แต่คุยกันได้ไม่นานนัก ผมก็ขอตัวไปพักผ่อน เพื่อเก็บแรงไว้ลุยในทิเบต แต่ไม่รู้เพราะอะไร คนที่นอนหลับง่ายเช่นผมกลับนอนไม่หลับ แถมยังรู้สึกปวดหัวอย่างรุนแรง เหมือนหมอนที่หนุนกำลังบีบรัดหัวผมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในเวลานั้นผมไม่รู้เลยว่า ผมกำลังถูกความต่างของความดันอากาศที่เกิดจากการไต่ระดับความสูงเล่นงานเข้าให้แล้ว
จริงๆแล้วไม่ได้มีแค่ผมที่เมื่อคืนถูกความต่างของความกดอากาศเล่นงาน จนเป็นโรคแพ้ความกดอากาศอย่างไม่ทันตั้งตัว เพราะเพื่อนร่วมทางแต่ละคนก็ถูกเล่นงานเหมือนๆกัน หลายคนจึงขอสายต่อออกซิเจนจากเจ้าหน้าที่ เพื่อต่อกับกับช่องจ่ายออกซิเจนที่อยู่บริเวณหัวเตียง จนดูเหมือนผู้ป่วยที่นอนให้ออกซิเจนอยู่ในโรงพยาบาล ยิ่งช่วงเวลาที่เดินทางข้ามเทือกเขาคุนลุ้น เส้นทางจะพาเราไต่ระดับความสูงขึ้นไปถึง 4,767 เมตร ซึ่งนั่นทำให้ช่องเสียบออกซิเจนถูกใช้บริการเต็มเกือบทุกช่อง
แม้เมื่อคืนจะย่ำแย่จากการถูกโรคแพ้ความกดอากาศเล่นงาน แต่ก็น่าแปลกที่รุ่งเช้าผมกลับรู้สึกสดชื่นอย่างประหลาด ไม่รู้เป็นเพราะทัศนียภาพยามเช้าที่ปรากฏบนหน้าต่างรถไฟหรือเปล่า เพราะเมื่อมองออกไปได้พบกับภูเขาหิมะที่สะท้อนเงาของแสงอาทิตย์ อีกทั้งภาพพื้นดินแห้งๆที่มีทุ่งหญ้าสีทองปกคลุม ก็เปลี่ยนเป็นพื้นดินที่ปกคลุมไปด้วยหิมะสีขาวโพลน จนเหมือนกับว่ารถไฟขบวนนี้กำลังพาพวกเราเดินทางจากโลกหนึ่ง มายังอีกโลกหนึ่งที่ไม่คุ้นเคยในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน
เวลาเคลื่อนตัวผ่าน ในขณะที่ความสูงก็ค่อยๆเพิ่มมากขึ้น เมื่อขบวนรถไฟกำลังผ่านทังกูลาพาส (Tanggula pass) ที่ความสูง 5,072 เมตร จุดนี้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศจีนกับประเทศทิเบตในอดีต แต่ในปัจจุบัน เมื่อรัฐบาลจีนได้กลืนทิเบตให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินมังกรแล้ว ทังกูลาพาสจึงมีความสำคัญเพียงแค่จุดสูงสุดบนเส้นทางสายชิงไห่ – ทิเบตเท่านั้น
แล้วเมื่อเราเข้าสู่แผ่นดินทิเบต ทะเลสาบชว่อน่า ก็เผยโฉมอันแสนสวยต้อนรับเรา ทะเลสาบแห่งนี้เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่สูงที่สุดในโลก โดยมีความสูงถึง 4,595 เมตรจากระดับน้ำทะเล น้ำในทะเลสาบที่เป็นสีฟ้าใส กลมกลืนกับสีของท้องฟ้าเบื้องบนนี้ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำนู่เจียง หรือแม่น้ำสาละวิน ที่ไหลลงใต้ ผ่านประเทศพม่าและไทย นอกจากนี้เส้นทางรถไฟสายนี้ยังพาเราผ่านพื้นที่อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญอีก 3 สายนั้นคือ แม่น้ำหวงเหอ แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำล้านช้างหรือที่คนไทยเรียกว่าแม่น้ำโขง แผ่นดินทิเบตจึงเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงดินแดนมังกร รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนบุกยึดทิเบต เพราะหากควบคุมต้นกำเนิดของสายน้ำได้ ทุกอย่างที่อยู่ปลายน้ำก็ไม่ยากที่จะควบคุม
เวลาเคลื่อนตัวผ่านไปเกือบ 24 ชั่วโมง ภาพที่มองผ่านหน้าต่างรถไฟ เริ่มปรากฏบ้านเรือนสไตล์ทิเบตที่สร้างอย่างเรียบง่าย ให้ได้เห็น โดยแต่ละหลังมีธงมนตราประดับประดาให้พลิ้วไหวไปตามสายลม จนเมื่อเวลา 14.40 น. ขบวนรถไฟสายชิงไห่ – ทิเบตก็จอดสงบนิ่งที่ชานชลาเมืองลาซา เมืองหลวงแห่งดินแดนหลังคาโลก ทิเบต จุดหมายที่เราวาดหวัง
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เวลา 16.18 น.