ภาพนักปีนเขาท่าทางทะมัดทะแมงสายห้อยระโยงระยางอุปกรณ์ครบครันยืนเด่นอยู่บนยอดเขา
คงไม่ทำให้ผมแปลกใจอะไร
หากแต่ภาพเบื้องหน้าในตอนนี้คือภาพของพระภิกษุรูปหนึ่งยืนอยู่บนก้อนหินที่มีขนาดเล็กพอแค่วางเท้า
เหนือหน้าผาสูงชันชนิดแทบจะตั้งฉากกับพื้นโลก โดยปราศจากอุปกรณ์ใดๆ ในการช่วยปีนเขา
จะมีก็เพียงจีวรกับเท้าเปล่าๆ เท่านั้น!
ผมกำลังทึ่ง!
ขณะยืนอ่านเกร็ดประวัติของพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ภายในเจดีย์พิพิธภัณฑ์วัดเจติยาคิรีวิหาร
หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดภูทอก" ตั้งอยู่ในเขตอำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ
แม้ท่านมรณภาพไปนานมากแล้วแต่เรื่องราวความน่าอัศจรรย์และความเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านยังเป็นที่กล่าวขานจนถึงทุกวันนี้
โดยเฉพาะผลงานสิ่งก่อสร้างระดับ Unseen In Thailand ที่ขนาดวิศวกรฝรั่งยังยอมแพ้!
ภูเขาหินทรายสีแดงลูกโดดตั้งเด่นตระหง่านอยู่เบื้องหลังเจดีย์พิพิธภัณฑ์ มองดูเผินๆ เป็นเพียงภูเขาทั่วๆ ไป
หากแต่ลองซูมสายตาเข้าไปใกล้ๆก็จะเห็นสะพานไม้เล็กๆ ถูกสร้างเวียนขึ้นไปอยู่รอบเขาทำเป็นชั้นๆ รวมทั้งหมด 7 ชั้น
สะพานทางเดินไม้รอบภูทอกถูกเนรมิตขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 โดยพระอาจารย์จวนได้อาศัยแรงศรัทธาของพระเณรและชาวบ้าน
ฟันฝ่าอุปสรรคและเสียงคัดค้านต่างๆ รวมใช้ระยะเวลาก่อสร้างยาวนานถึง 5 ปี
ช่างเป็นอะไรที่น่าอัศจรรย์และเป็นเหตุให้ผมต้องเดินทางห่างบ้านมาไกลถึงเพียงนี้!
ระหว่างที่ผมค่อยๆ ก้าวขึ้นไปตามบันไดไม้ชั้นที่ 1-2
ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าก่อนหน้าการสร้างสะพานทางเดินขึ้นภูทอก พระอาจารย์จวนห่มจีวรปีนขึ้นเขาสูงชันแบบนี้มาด้วยเท้าเปล่าๆได้อย่างไร
เพราะขนาดชุดพร้อม ทางเดินพร้อม ผมยังรู้สึกว่าเดินลำบากเลย
ต้องคอยระมัดระวังทุกฝีก้าว ไม่อย่างนั้นมีพลาดพลั้งกลิ้งตกลงไปแน่!
กว่าจะตะกายขึ้นมาถึงชั้นที่ 3 ก็เล่นเอาผมลิ้นห้อยแล้ว แต่ทัศนียภาพอันงดงามก็ทำเอาลืมร้อนลืมเหนื่อยไปเลย
เพราะสะพานจะพาวนชมทิวทัศน์ของภูเขารอบด้าน มองลงไปเบื้องล่างเห็นผืนป่าเขียวขจีสุดลูกหูลูกตา
เส้นทางบนภูทอกไม่ถึงกับวกวน แค่เวียนวนอยู่รอบเขา
หากมีใครมาเอ่ยถามว่าขึ้นลงไปชั้นนี้ชั้นนั้นทางไหน ผมคงตอบไม่ถูก
คงบอกได้แค่ว่าเดินไปเรื่อยๆ ตามทางเดี๋ยวสะพานไม้นี้จะพาวนจนเจอบันไดเอง
เหมือนกับที่เราเดินตามรอยเท้าของครูบาอาจารย์ เดินตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซักวันเส้นทางสายนี้จะพาเราขึ้นไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดีงามของชีวิตเอง
ยิ่งสูงยิ่งเสียว!
สะพานไม้เริ่มโลดโผนขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับความสูง ประกอบกับเจ้าไม้กระดานแต่ละแผ่นดูมันไม่ค่อยเสถียร
เหยียบแต่ละทีก็อ่อนยวบลงไปตามน้ำหนักซึ่งไม่รู้ว่ามันจะหักโพละลงตรงก้าวไหน
แล้วข้างล่างก็ไม่มีอะไรรองรับ นอกจากพื้นดินก้นเหว!
แต่ในทางกลับกันยิ่งสูงก็ยิ่งสวย!
เผลอแป๊บเดียวผมก็พาตัวเองขึ้นมายืนรับลมอยู่บนชั้นที่ 6 ซึ่งเป็นชั้นที่มีทิวทัศน์สวยงามที่สุด
นี่อาจเป็นสิ่งตอบแทนความพากเพียรของมนุษย์ตัวน้อยที่กำลังแสวงหาความสุขทางโลก
แต่หากมองให้ลึกลงไป ภูทอกกำลังบอกอะไร
บันไดที่ทอดยาวขึ้นมาอาจเปรียบเสมือนเส้นทางที่น้อมนำสัตบุรุษให้พ้นโลกแห่งโลกียะไปสู่โลกแห่งการหลุดพ้น
โดยต้องอาศัยความเพียรเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย
ต้องอาศัยสติและสมาธิในแต่ละย่างก้าวเพื่อไม่ให้พลาดพลั้งตกลงไป
สุดท้ายต้องมีศีลและปัญญาในการนำพาชีวิตไปให้ถูกทาง
ตอนนี้ผมรู้คำตอบของภาพพระอาจารย์จวนที่ติดอยู่ในเจดีย์พิพิธภัณฑ์แล้วละครับ
เส้นทางของไอฟายน้อยสู่ภูทอก
แนะนำว่าจากกรุงเทพฯไปแวะนอนที่ตัวเมืองบึงกาฬก่อนแล้วค่อยขึ้นภูทอกตอนเช้าๆ โดยจากกรุงเทพฯใช้เส้นทางถนนมิตรภาพยิงยาวถึงจังหวัดหนองคายระยะทางประมาณ 620 กิโลเมตร
จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 212 วิ่งตรงจากหนองคายเข้าตัวเมืองบึงกาฬอีก 135 กิโลเมตร ถนนเป็นสี่เลนตั้งแต่กรุงเทพฯไปจนถึง อ.โพนพิสัย
เส้นจากหนองคายไปบึงกาฬรถไม่เยอะขับสบาย รวมใช้เวลาขับรถจากกรุงเทพฯถึงบึงกาฬประมาณ 10 ชั่วโมง
(แนะนำให้แวะเที่ยวไล่จังหวัดมาจะชิลล์กว่าขับรวดเดียว แวะนอนอุดรฯหรือหนองคายก่อนซักคืน เช้าค่อยเลาะเที่ยวเลียบริมโขงมาเรื่อยๆ บ่ายตามเก็บตัวเมืองบึงกาฬแล้วนอนค้างซักคืน เช้าเตรียมลุยขึ้นภูทอก)
จากตัวเมืองบึงกาฬผมเลือกใช้ทางหลวงหมายเลข 222 วิ่งไปทางตัวอำเภอศรีวิไล ประมาณ 26 กิโลเมตร
ก่อนเลี้ยวซ้ายตรงตัวอำเภอเข้าทางหลวงหมายเลข 2005 วิ่งไปตามป้ายบอกทางอีกประมาณ 20 กิโลเมตร
วัดเจติยาคิรีวิหารหรือวัดภูทอกตั้งอยู่ซ้ายมือ
การเตรียมตัวขึ้นภูทอกสภาพร่างกายต้องแข็งแรง
แนะนำให้เดินขึ้นเช้าๆ จะได้ไม่ร้อน ใช้เวลาในการเที่ยวชมประมาณ 2-3 ชั่วโมง
เนื่องจากเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมควรเคารพสถานที่ทั้งเรื่องการแต่งกายและงดส่งเสียงดัง
ติดตามบทความอื่นๆ ของไอฟายน้อยได้ที่ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=ifind
I-FINDNOI
วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2559 เวลา 09.37 น.