“คนผู้หนึ่งเสพสุขอยู่ทุกวี่ทุกวัน ยังไม่ทราบว่านี่คือความสุข
มักไขว่คว้าหาสิ่งที่ไกลถึงขอบฟ้า หาทราบไม่ว่า สิ่งที่ล้ำค่าอยู่ข้างกาย”
จอมใจจอมยุทธ์ กิมย้ง
ทริปนี้ CrossCutting Journey ออกเดินทางมาที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน
เพื่อมาทำความรู้จักสถานที่ซึ่งเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจีน
เนื่องจากปักกิ่งเป็นเมืองโบราณของจีน และเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ของ 4 ราชวงศ์ ทั้งราชวงศ์จิน หยวน หมิง ชิง
ก่อนเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐประชาชนในปัจจุบัน
ปักกิ่งจึงได้สะสมวัฒนธรรม และบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ อันเป็นประวัติศาสตร์หลายพันปี
ของประชาชาติจีนเอาไว้มากมาย ..........
จากสนามบินพวกเราเดินทางไปที่พักย่านตงสื่อ หูทง
ซึ่งอยู่ในเขตตะวันออกของกรุงปักกิ่ง
เนื่องจากทริปนี้มีเวลาไม่มาก พอเก็บกระเป๋าเสร็จ
พวกเราก็ออกไปสำรวจเมืองกันเลย
จากฝั่งตะวันออก พวกเราจะข้ามไปฝั่งตะวันตก
ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งของพระราชวังแห่งประวัติศาสตร์ของชาวจีน …
แต่เดี๋ยวก่อนครับ ยังไม่ใช่พระราชวังต้องห้ามนะครับ
จุดหมายของพวกเราในวันนี้ คือ หยวนหมิงหยวน และ อวี้เหอหยวน
สองพระราชวังฤดูร้อนของราชวงศ์ชิงครับ
พวกเรานั่งรถไฟใต้ดินมาลงที่สถานี อู่ต้าโกว
แล้วแวะหาอาหารเช้ากับกาแฟเติมพลังกันก่อน
ตรงข้ามสถานีฯ มีร้านชื่อ The Bridge Cafe ดูน่านั่งดี
เดี๋ยวลองเข้าไปชิมกันเลย …
ท้องอิ่มแล้ว ก็ถึงเวลาเดินเที่ยว
บริเวณใกล้ๆ มีมหาวิทยาลัยชื่อดังของจีนตั้งอยู่ คือ มหาวิทยาลัยชิงหวา
มหาวิทยาลัยชิงหวาก่อตั้งขึ้น ในบริเวณสวนของราชวงศ์ชิง ในปี ค.ศ. 1911
ซึ่งเป็นช่วงที่มีความวุ่นวายและความขัดแย้งกับมหาอำนาจต่างชาติ
ส่งผลให้เกิดกบฏนักมวยที่ต่อต้านอิทธิพลจากต่างประเทศในประเทศจีน
ภายหลังการปราบปรามกลุ่มกบฎแล้ว ราชวงศ์ชิงได้จ่ายเงินชดเชยให้กลุ่มสมาชิกพันธมิตร
และสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาเงินชดเชยนี้ได้กลายเป็นทุนก่อตั้งมหาวิทยาลัยชิงหวา
ชิงหวา เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดหนึ่งในสองแห่งของจีน
มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนสองคน ได้แก่ หู จิ่นเทา และ สี จิ้นผิง
และในปี 2019 มหาวิทยาลัยชิงหวา ก็ขึ้นแท่นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของเอเชีย แซงหน้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
ตามการจัดอันดับของนิตยสารไทม์ส ไฮเออร์ เอดูเคชัน (Times Higher Education) นิตยสารการศึกษาชื่อดังจากอังกฤษ
จากชิงหวา พวกเราโบกรถแท็กซี่เดินทางตรงไปที่พระราชวังฤดูร้อนหลังเดิมของราชวงศ์ชิง
ที่มีชื่อจีนว่า “หยวนหมิงหยวน” ตั้งอยู่บริเวณชานกรุงปักกิ่ง
ห่างจากพระราชวังต้องห้ามไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร
ในบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน
“เป็นพระราชวังที่ได้รวบรวมสรรพสิ่งอันรื่นรมย์ที่สุดของธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน
กลายเป็นที่สุดของทุกสิ่งที่ทำให้ผู้คนตราตรึง”
วิลเลียม แชมเบอรส์ สถาปนิกหลวงแห่งอังกฤษ
หยวนหมิงหยวน เป็นตัวแทนบันทึกประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราว
ทั้งความรุ่งเรืองและการล่มสลายของแผ่นดินจีนให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ได้อย่างดี
*** ชมบันทึกการเดินทางในรูปแบบวีดีโอได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้ครับ
หยวนหมิงหยวนมีเนื้อที่ใหญ่กว่าพระราชวังต้องห้าม 8.5 เท่า พระตำหนักส่วนใหญ่สร้างด้วยหิน
ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก จากการออกแบบของ จูเซปเป้ คาสติกลิโอเน่
และ มิเชล เบนัวต์ สถาปนิกคณะเยซูอิตชาวอิตาลี
จนถูกขนานนามว่า “สวนแห่งสวนทั้งหมื่น”
อาจมีคำถามว่า เมื่อมีพระราชวังต้องห้ามที่ยิ่งใหญ่แล้ว
ใยจึงต้องสร้างหยวนหมิงหยวนให้ยิ่งใหญ่อลังการเช่นอีกด้วย?
อาจเป็นเพราะฮ่องเต้ราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นชนเผ่าแมนจูที่รักการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ
ย่อมอึดอัดกับพระราชวังที่มีสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงอำนาจและความยิ่งใหญ่
ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยที่ให้ความสบายใจนัก หยวนหมิงหยวนจึงาทำหน้าที่เป็นพระราชวังที่ฮ่องเต้ทรงอาศัยอยู่จริง
แต่ทุกสิ่งที่รุ่งเรือง ย่อมมีวันล่มสลาย …
ในช่วงปลายของสงครามฝิ่นครั้งที่สอง เมื่อปี ค.ศ. 1860
กองทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศสเข้าบุกกรุงปักกิ่ง แล้วยึดพระราชวังในอุทยานหยวนหมิงหยวน
ซึ่งเป็นที่ประทับของจักรพรรดิเสียนเฟิง ในกลางดึกของคืนวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1860
ต่อมาในวันที่ 18 ตุลาคม ลอร์ดเจมส์ บรูซ แห่งเอลกิน ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษ
ได้สั่งการให้กองทหารอังกฤษจำนวน 3,500 คน
บุกเข้าเผาทำลายและปล้นชิงสิ่งล้ำค่าออกจากพระราชวัง ...
ไฟลุกโชนอยู่สามวันสามคืน พระราชวังอันวิจิตรที่ใช้เวลาสร้างมาหลายทศวรรษ
ส่วนใหญ่จึงกลายเป็นเถ้าถ่าน…
ในยุคปัจจุบัน ทางการจีนเคยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างพระราชวังหยวนหมิงหยวนขึ้นมาใหม่
แต่ในที่สุด ก็ได้ตัดสินใจอนุรักษ์ซากปรักหักพังไว้ในสภาพเดิม
เพื่อใช้ซากโบราณสถานบอกเล่าประวัติศาสตร์ให้กับคนในชาติว่าครั้งหนึ่ง
ชนชาติจีนเคยถูกย่ำยีเมื่อบ้านเมืองอ่อนแอ
เพียงแค่เศษซากก็ทำให้ผู้ที่ได้มาเยือน จินตนาการถึงวังอันงดงามและวันอันน่าหดหู่ได้
กลายเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่บาดลึกในจิตใจ
และย้ำเตือนถึงความเจ็บปวดทุกครั้งที่ได้เห็น
“อยู่มาวันหนึ่ง สองโจรได้บุกเข้าไปในพระราชวังฤดูร้อน
คนหนึ่งปล้น อีกคนหนึ่งเผา…
แล้วพวกเขาก็ควงแขนกันหัวเราะร่ากลับมายังยุโรป
พวกเราเรียกตัวเองว่าเป็นผู้มีอารยธรรม
และพวกเขาคือพวกป่าเถื่อน
แต่นี่หรือ คือสิ่งที่อารยชน ทำกับคนเถื่อน?”
“One day two bandits entered the Summer Palace.
One plundered, the other burned.
And back they came to Europe, arm in arm, laughing away.
We call ourselves civilised and them barbarians.
This is what civilization has done to the barbarians.”
Victor Hugo
..........
จากพระราชวังหยวนหมิงหยวน บริเวณใกล้เคียงกันในเขตไห่เตี้ยน
พวกเราเดินทางต่อไปเพื่อเยี่ยมชมพระราชวังฤดูร้อนอีกแห่งหนึ่ง
หรือชื่อจีนเรียกว่า อี๋เหอหยวน …
ย้อนหลังไปราว 800 ปีก่อน ในสมัยราชวงศ์จินและสมัยราชวงศ์หยวน
ตอนนั้นบริเวณแห่งนี้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของฮ่องเต้และราชวงศ์
ต่อมาถึงสมัยราชวงศ์หมิง ได้มีการสร้างสวนและวัดเพิ่มขึ้นอีก
สถานที่แห่งนี้จึงได้กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ที่ขึ้นชื่อลือชาด้วยทิวทัศน์สวยงามและเป็นธรรมชาติ
ในสมัยราชวงศ์ชิง ช่วงปีค.ศ. 1749 จักรพรรดิเฉียนหลงทรงมีดำริให้ทำการขุดลอกคูคลอง
เพื่อปรับปรุงสิ่งก่อสร้างบริเวณภูเขา และทะเลสาบขึ้นตามแนวคิดในการสร้างอุทยานครั้งใหญ่
โดยมีการขุดขยายทะเลสาบให้มีพื้นผิวน้ำกว้างขึ้น และเอาดินที่ขุดจากทะเลสาบไปถมเป็นภูเขา
เพื่อเทิดพระเกียรติพระมารดาของพระองค์
เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา
อุทยานแห่งราชสำนักขนาดใหญ่แห่งนี้มีชื่อว่า "ชิงอี๋หยวน"
แต่ "ชิงอี๋หยวน" ถูกทหารพันธมิตรต่างชาติที่รุกรานจีนเผาทำลายถึงสองครั้ง
ในปีค.ศ. 1860 และค.ศ. 1900
พระนางซูสีไทเฮาจึงได้นำงบประมาณสำหรับสร้างกองทัพเรือมาทำการซ่อมแซม
โดยไม่สนใจสภาพความมั่นคง และผลกระทบต่อประเทศชาติ
หลังซ่อมแซมเสร็จจึงเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งนี้เป็น "อี๋เหอหยวน"
จากนั้นจึงกลายเป็น "พระราชวังฤดูร้อน"
และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจส่วนพระองค์ของพระนางซูสีไทเฮา
จุดสำคัญในพระราชวังฤดูร้อน คือ ระเบียงยาวรูปโค้งเลียบไปตามริมทะเลสาบ
มีชื่อภาษาจีนว่า ฉางหลาง ได้รับการบันทึกให้เป็นระเบียงประดับภาพเขียนที่ยาวที่สุดในโลก
ซึ่งภาพเขียนจะเกี่ยวกับทิวทัศน์ บ้านเมือง และผู้คน
แต่ละภาพจะไม่ซ้ำกันและมีจำนวนมากอยู่ในกรอบรูปครึ่งวงกลมแบบจีน
ต่อมา "สวนแห่งราชสำนัก"แห่งนี้ได้ปิดฉากลงตามการล่มสลายของราชวงศ์ชิง
และได้มีการประกาศเป็นสวนสาธารณะเมื่อปีค.ศ. 1924
โดยอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปเที่ยวชมได้อย่างเสรี
ในปี 1998 อี๋เหอหยวน ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
ของ Unesco World Heritage
โดยยูเนสโกให้คำอธิบายถึงอี๋เหอหยวนว่าเป็น
"การแสดงออกที่โดดเด่นทางศิลปะสร้างสรรค์ของการออกแบบสวนภูมิทัศน์แบบจีน
ซึ่งผสมผสานการทำงานของมนุษย์และธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน"
อีกทั้งเป็นแม่แบบของปรัชญาและการฝึกฝนศิลปะของจีน
เป็นที่รวบรวมสัญลักษณ์อันแข็งแกร่งของหนึ่งในอารยธรรมสำคัญของโลก
หลังจากเดินเล่นชมทั้งสองพระราชวังกันจนเหนื่อยอ่อน
พวกเราก็เดินทางกลับไปย่านที่พัก
แต่ก่อนถึงที่พัก พวกเราแวะหาอาหารเย็นกินกันแถวถนนหวังฝู่จิ๊ง
ร้านอาหารที่เราจะขอใช้บริการวันนี้
คือ ไฮ่ติเหลา ร้านชาบูหม้อไฟชื่อดังจากจีน เผ็ดลิ้น อิ่มท้อง
กลับไปนอนสบายละครับ คืนนี้...
ฝากชมบันทึกการเดินทางท่องเที่ยวพระราชวังฤดูร้อน
กรุงปักกิ่ง ในรูปแบบวีดีโอด้วยนะครับ
ผมชื่นชอบท่องเที่ยวแนวประวัติศาสตร์ครับ
เลยอยากทำวีดีโอท่องเที่ยวเก็บบันทึกไว้
รวมถึงบทความและภาพถ่ายด้วยครับผม 🙏😊
Ekk CrossCutting ในที่ซึ่งรู้สึกดี
วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 11.07 น.