เคยไหม... เวลานั่งดูทีวี พอเห็นโฆษณาที่มีวิวสวยๆ แล้วอยากจะตามรอย

ผมเนี่ย... เป็นบ่อยมาก และทริปนี้ก็เหมือนกัน เกิดจากการดูโฆษณาบรั่นดีไทยยี่ห้อหนึ่ง ที่พยายามนำเสนอสถานที่สวยๆ ขนบธรรมเนียมประเพณีงามๆ มาถ่ายทอดให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิใจ ผมว่าเพื่อนๆ คงจะเคยผ่านตากันมาบ้าง กับโฆษณาชิ้นนี้

สถานที่สวยๆ และประเพณีงามๆ ที่ถ่ายทอดออกมาให้คนไทยได้เห็นภายใน 1 นาที ผมเดาว่า น่าจะมี 4 สถานที่ หนึ่งสถานที่ที่เห็นเป็นบึงกว้างๆ ด้านหลังเป็นทิวเขา ยังไม่รู้ว่าคือที่ไหน ตอนแรกคิดว่าเป็นวัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) แต่ดูแล้วไม่น่าใช่ เพราะภายในวัดมีแค่สระน้ำเล็กๆ ส่วนอีก 3 สถานที่ ผมฟันธงได้เลยว่า นั่นคือ 1. หินสามวาฬ จังหวัดบึงกาฬ 2. ปราสาทรวงข้าว และ 3.พระธาตุยาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ครับ

ที่หินสามวาฬ สามารถชมได้ตลอดทั้งปี ส่วนปราสาทรวงข้าว จะมีปีละ 1 ครั้ง ที่วัดเศวตวันวนาราม สำหรับพระธาตุยาคู ก็สามารถไปสักการะได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าจะมาช่วงที่มีทะเลธุงเช่นเดียวกับที่เห็นในโฆษณา ต้องมาในช่วงมาฆบูชาและช่วงวิสาขบูชา มาผิดช่วง อดเห็นนะจ๊ะ

ทริปนี้ผมเลยเลือกวางแผนเดินทางช่วงมาฆบูชา เพราะจะได้เห็นทั้งปราสาทรวงข้าว และทะเลธุง โดยผมเลือกปักหมุดหลักๆ ที่จังหวัดบึงกาฬ และกาฬสินธุ์ ส่วนระหว่างเส้นทาง หากสามารถแวะเที่ยวที่ไหนได้ก็จะแวะเที่ยวไปเรื่อยๆ ครับ

ผมออกเดินทางจากลพบุรีตั้งแต่ตี 3 มารอที่จุดนัดพบที่ สระบุรี ส่วนพี่เพอะ และน้องบรูส ออกเดินทางมาจากหาดใหญ่ พอลงเครื่องปุ๊บก็ขับรถต่อจากกรุงเทพ มาแวะรับผมที่สระบุรี จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่วัดเจติยาคีรีวิหารเป็นที่แรก ระหว่างทางก็มาแวะนอนพักที่ปั๊มน้ำมันสักชั่วโมง จากนั้นตีรถยาวและไปแวะฝากท้องมื้อเที่ยงที่ไก่ย่างเขาสวนกวาง แล้วก็ตรงดิ่งสู่วัดเจติยาคีรีวิหารเลย นี่ขนาดไม่ได้แวะเที่ยวอะไรเลย ยังมาถึงจุดหมายแรกเวลา 16.00 น.

วัดเจติยาคีรีวิหาร ตั้งอยู่ในตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2483 โดยพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ท่านได้มาบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ภูวัว อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย คืนหนึ่งได้เกิดนิมิตขึ้น เห็นปราสาท 2 หลังที่มีลักษณะสวยงามอยู่ทางด้านภูทอกน้อย พระอาจารย์จึงได้เดินทางมาพิสูจน์ตามที่เกิดนิมิต แล้วก็ได้พบลักษณะภูมิประเทศที่สวยงาม ร่มรื่น เหมาะที่จะปฏิบัติธรรม ท่านจึงได้สำรวจและปักกรดอยู่ที่ถ้ำบนภูทอก กับพระครูศริธรรมวัฒน์ ต่อมาชาวบ้านเห็นพระอาจารย์จวนธุดงค์มาอยู่ที่ภูทอก จึงพร้อมใจกันอาราธนาให้สร้างวัดขึ้นที่ภูทอกครับ ปัจจุบันวัดแห่งนี้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ครับ

พระเอกของวัดนี้คือ ภูทอก ภูเขาลูกย่อมๆ ที่มีหน้าผาสูงชัน มีบันไดเรียงขึ้นตามชั้นต่างๆ 7 ชั้น จากฐานถึงยอด สูงประมาณ 460 เมตร เห็นว่าฐานชั้นที่ 6 หากวัดโดยรอบได้ความยาวถึง 800 เมตร หรือลู่วิ่งในสนามกีฬา 2 สนาม เอามาผูกต่อกันเลยครับ

ใครอยากจะขึ้นไปไหว้พระหรือชมวิวด้านบน ต้องอาศัยกำลังขาของแต่ละคนครับ ทางเดินส่วนใหญ่จะเป็นบันไดไม้ ช่วงแรกๆ ทั้งสูง ทั้งชัน แต่ระหว่างชั้นจะเป็นทางเดินไม้ในแนวราบครับ

ทางขึ้นทั้งสูงทั้งชัน ก็ว่าเสียวแล้ว เดินบนสะพานทางราบที่เลาะไปตามหน้าผา ก็เสียวไม่แพ้กัน ต้องนับถือฝีมือผู้สร้างสะพานลอยฟ้าจริงๆ ครับ

บนสะพานลอยฟ้า สามารถชมวิวได้โดยรอบเลยครับ อย่างจุดนี้มองเห็นเจดีย์พระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ เจดีย์คอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยหินอ่อน ที่สูงกว่า 31 เมตร และที่สำคัญเจดีย์องค์นี้มียอดเป็นทองคำแท้ทั้งหมดด้วยนะครับ

หากเดินขึ้นไปด้านบนแล้ว แนะนำว่าควรจะเดินหามุมนี้ให้เจอนะครับ ให้อารมณ์คล้ายๆ พระธาตุอินทร์แขวนที่พม่าเลยครับ

ผมใช้เวลาในการเดินขึ้น ลง และถ่ายภาพ รวมๆ แล้วประมาณชั่วโมงครึ่ง เวลาตอนนั้นก็เกือบจะ 17.30 น. เห็นทีต้องรีบออกเดินทางกันต่อครับ เพราะคืนนี้ผมจองที่พักไว้ที่บ้านพักริมดอย ในอำเภอบุ่งคล้า (ตามรอยรีวิวของท่านอื่นๆ) ซึ่งห่างจากภูทอกประมาณ 45 นาทีครับ

บ้านพักริมดอย ตกแต่งร่มรื่นดีครับ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงเลย เสียดายที่ผมมาถึง ฟ้าก็มืดเสียแล้ว เลยมองบรรยากาศริมโขงได้ไม่ชัดนัก สำหรับห้องพักที่ผมจอง พักได้ 2 คน ในราคา 500 บาท ผมว่าเตียงอาจจะเล็กไปสักนิดสำหรับการนอนสองคน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น ดูผ่านศึกมามากพอสมควร เอาเป็นว่าถ้าใครอยากจะมานอนเงียบๆ ในบรรยากาศบ้านๆ ริมโขง ที่นี่ตอบโจทย์ครับ แถวๆ ที่พักค่อนข้างเงียบ ร้านอาหารอาจจะมีไม่มากนัก ค่ำนี้ผมไปฝากท้องที่ร้านครัวริมโขง รสชาติอาหารใช้ได้เลยครับ ราคาไม่แพง แนะนำปลารากกล้วยทอด ลาบปลาโจก มื้อนี้แบบว่าหิวมาก กับข้าวมารีบจ้วง จนลืมถ่ายภาพมาฝากเลยครับ 555

สำหรับใครที่ชอบความเจริญหน่อย ผมแนะนำให้เข้าพักในตัวเมืองบึงกาฬเลยครับ ที่พักมีให้เลือกมากกว่า ใหม่กว่า แถมมีร้านอาหารให้เลือกหลายร้านด้วยครับ

เสียงโทรศัพท์ปลุกดังขึ้นตอน 04.30 น. รีบกดหยุดปลุกในทันที แถมแอบนอนต่ออีกนิดหน่อย แต่นึกขึ้นมาได้ว่าเราดั้นด้นมากว่า 7 ชั่วโมง เพื่อช่วงเวลาต่อจากนี้ เลยรีบสะบัดความสะลึมสะลือออกจากตัวในทันที

05.00 น. ล้อหมุนอีกครั้ง จับ GPS มุ่งหน้าสู่ป่าสงวนแห่งชาติภูสิงห์ ราว 30 นาที พี่เพอะก็พาผมมาอยู่หน้าที่ทำการแล้วครับ

เพื่อไม่เป็นการรอช้า ผมรีบลงทะเบียน พร้อมติดต่อรถเพื่อจะขึ้นไปยังด้านบนภูสิงห์ รวมถึงติดต่อขอบินโดรน เจ้าหน้าที่จะขอดูใบขึ้นทะเบียนโดรน และถ่ายภาพใบลงทะเบียนเก็บไว้เป็นหลักฐาน

สำหรับรถที่จะพาขึ้นไปด้านบน จะเป็นรถปิคอัพ รถ 1 คัน สามารถนั่งได้ 10 คน ราคาเหมาคันละ 500 บาท ก่อนขึ้นไปด้านบน ผมตุนเสบียงลงท้องจนอิ่มแปร้เลยครับ ด้านหน้าที่ทำการ มีร้านอาหารหลายอย่าง ทั้งข้าวจี่ หมูปิ้ง แหนมย่าง กาแฟ ปลาท่องโก๋ เปิดให้บริกาตั้งแต่เช้ามืดเลยครับ

ก่อนเดินทางมาถึงหินสามวาฬ ผมก็แอบกังวัลอยู่นะครับว่าจะติดต่อรถขึ้นด้านบนในเวลา 05.30 น. ได้อย่างไร เพราะกลัวว่าจะไม่มีรถพาขึ้น แล้วจะเสียเวลาที่จะต้องตื่นนอนแต่เช้า แต่พอไปถึงที่จริงๆ กลับไม่เป็นเหมือนที่กังวลเลย รถเหมาจอดรอนักท่องเที่ยวอยู่เป็นขบวนแล้ว ผมถามคนขับรถว่า แล้ววันธรรมดา จะมีรถเหมาพาขึ้นหินสามวาฬแต่เช้าไหม คนขับบอกว่า จะมีรถมารอตั้งแต่เช้ามืดของทุกๆ วันอยู่แล้วครับ

ถนนที่ขึ้นไปยังหินสามวาฬ ค่อนข้างแคบและเป็นหลุมเป็นบ่อมากๆ บางช่วงก็สูงชัน นั่งรถหัวสั่นหัวคลอน ฝุ่นตลบ ประมาณครึ่งชั่วโมง คนขับก็พามาจอดที่ลานจอดรถด้านบน จากนั้นเดินเท้าต่ออีกประมาณ 200 เมตร ก็ถึงหินสามวาฬแล้วครับ ผมว่าผมมาเช้าแล้ว แต่ยังเช้าไม่ทันนักท่องเที่ยวอีก 2 กลุ่ม ที่มานั่งรอชมแสงแรกอยู่ก่อนแล้ว

ไม่นานนัก สิ่งที่ธรรมชาติมอบให้กับคนที่ตื่นเช้า (แบบผมในวันนี้) ก็ปรากฏขึ้น แสงทไวไลท์ถูกระบายทั่วท้องฟ้า แสงอุ่นๆ เริ่มสาดแสง พร้อมกับสายลมเย็นๆ ที่พัดมาปะทะกาย อาทิตย์ดวงโตโผล่มาทักทายที่เส้นขอบฟ้า สายหมอกบางๆ ที่กำลัง คลอเคลียยอดไม้ ถูกย้อมด้วยแสงอาทิตย์จนเป็นสีทอง มองเห็นแบบสุดสายตา การได้มานั่งชมโค้งแม่น้ำโขงที่มองเห็นอยู่ลิบๆ ที่ด้านหลังเป็นทิวเขาของฝั่งลาว มันช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขจริงๆ ผมไม่ได้อยู่ในอ้อมกอดธรรมชาติแบบนี้มานานมากแล้ว เลยขอนั่งซึมซับกับบรรยากาศแบบนี้อยู่นานร่วมชั่วโมง ไม่อยากให้ช่วงเวลาดีๆ แบบนี้ผ่านไปเลย บอกได้คำเดียวเลยว่า คุ้มค่าตื่นจริงๆ

คงไม่ต้องอธิบายกันมากนะครับว่าทำไมจุดนี้ถึงได้ชื่อว่าหินสามวาฬ เพราะเมื่อมองมุมสูงแล้วจะเห็นหินก้อนมหึมา รูปร่างเรียวยาว ที่เขาว่ากันว่ามีอายุกว่า 75 ล้านปี วางเรียงตัวกัน 3 ก้อน ดูไม่ต่างอะไรกับครอบครัวปลาวาฬ พ่อ แม่ ลูก ที่ออกว่ายน้ำเคียงคู่กันไปอย่างอบอุ่น

เพื่อนๆ คนใดที่วางแผนมาเที่ยวหินสามวาฬ ผมแนะนำเลยครับว่า “ควรจะ” ขึ้นมาชมแสงเช้า รับรองเลยว่าไม่ผิดหวังแน่นอน แต่ถ้าจะให้ดี ถ้ามาช่วงปลายฝนต้นหนาวแล้วละก็ เจ้าหน้าที่บอกว่ามีโอกาสเจอทะเลหมอกแบบเป็นก้อนๆ ด้วยนะครับ

เวลาแห่งความสุขผ่านไปเร็วมาก แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าผมอยู่ตรงหินสามวาฬชั่วโมงกว่าๆ มองดูเวลาแล้ว คงต้องรีบไปยังจุดอื่นแล้ว เพราะวันนี้ผมต้องเดินทางข้ามจังหวัด แถมยังต้องเที่ยวตามรายทางอีกด้วย

จากหินสามวาฬ คนขับรถพาย้อนกลับลงด้านล่าง ระหว่างทางลงผ่านกำแพงหินขนาดมหึมา ซึ่งกำแพงธรรมชาตินี้ถูกตั้งชื่อว่า กำแพงหินภูสิงห์ ครับ

อีกจุดหนึ่งที่คนขับจอดให้เราแวะถ่ายภาพ นั่นคือหินรูปช้าง คือไม่ต้องบอกว่าหินนี้ชื่อหินช้าง ผมว่ากว่าร้อยละ 80 ก็คงเดากันถูกอย่างแน่นอนครับ

ถัดจากหินช้าง เป็นประตูภูสิงห์ครับ ลักษณะเป็นหินใหญ่สองก้อนตั้งขนาบข้างกัน มีช่องคล้ายประตูหินขนาดใหญ่ จุดนี้หินด้านขวาผมจินตนาการเหมือนใบหน้าที่ปรากฏอยู่ที่นครธม ประเทศกัมพูชาครับ

และมาปิดท้ายโปรแกรมที่จุดชมวิวส้างร้อยบ่อ อ่านชื่อแล้วอาจจะฟังดูแปลกๆ คำว่า ส้าง หมายถึงหลุมหรือบ่อ ถึงแม้ว่าจุดชมวิวแห่งนี้จะเป็นลานหินขนาดเล็กริมหน้าผา แต่มันไม่ธรรมดาเหมือนลานหินทั่วไป เพราะลานหินแห่งนี้เต็มไปด้วยหลุมบ่อใหญ่เล็กเต็มไปหมด ส่วนหลุมบ่อจะใหญ่ขนาดไหน ลองเทียบกับตัวคนดูเอาเองนะครับ

อย่างที่บอกในตอนแรกนะครับ ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องอาหารการกิน เพราะบริเวณด้านหน้าที่ทำการมีร้านอาหารให้เลือกพอสมควรเลยครับ

การท่องเที่ยวที่ป่าสงวนแห่งชาติภูสิงห์ สามารถเที่ยวชมได้ทุกฤดู หากมีข้อสงสัย สามารถโทรสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ที่ 082-5177847 ครับ สำหรับภารกิจเที่ยวตามรอยโฆษณาบรั่นดีไทยในจุดหมายที่ 1 เสร็จสิ้นด้วยความประทับใจครับ

ปิดทริปบึงกาฬ ผมตีรถยาวกว่า 4 ชั่วโมง นั่งรถข้ามจังหวัดผ่านเข้าเขตสกลนคร และกาฬสินธุ์ ระหว่างทางเลยขอแวะเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกาฬสินธุ์กันหน่อย

วัดวังคำอยู่ใน อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ผมจับ GPS ไปยังวัดวังคำ แต่พอมาถึงในตัวอำเภอเขาวง เห็นป้ายบอกทางไปยังวัดวังคำ พี่เพอะเลยหักพวงมาลัยไปตามป้ายบอกทาง ไม่เชื่อตามคำบอกทางของสิริ วิ่งไป สิริก็บอกให้ยูเทิร์นกลับอยู่นั่นแหล่ะ ทีนี้ชักไม่มั่นใจ สิริว่าไง เอ้า!! ว่าตามกัน พี่เพอะหันหัวรถกลับตามคำของสิริ แต่พอย่อดูเส้นทางจากหน้าจอโทรศัพท์ เอ๊ะ เส้นทางที่ผมกำลังไป มันก็ไปถึงวัดวังคำเหมือนกัน แถมตำแหน่งที่อยู่ในตอนนั้นก็ใกล้กว่าเส้นทางที่สิริให้ยูเทิร์นกลับซะด้วย ก็เลยต้องหันหัวรถกลับอีกที ไปตามป้ายบอกทางเหมือนเดิม

งมหาเส้นทางกันอยู่ครู่ใหญ่ ในที่สุดผมก็มาถึงวัดวังคำจนได้ เมื่อเดินผ่านเข้าประตูวัดมา ก็จะมีศาลาเล็กๆ อยู่ตรงทางเข้า และมีชาวบ้านมาคอยยืนบอกให้คนที่มาเที่ยวชมภายในวัดเปลี่ยนมาใส่ชุดพื้นเมืองแบบชาวภูไท ซึ่งเป็นชุดประจำถิ่นที่ผ่านการทอและตัดเย็บด้วยฝีมือชาวบ้าน โดยศิษยานุศิษย์วัดได้จัดเตรียมไว้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ

เดิมทีเดียว ผมคิดว่าใครอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน ใครไม่อยากเปลี่ยนก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่ครับ ยังไงใครที่จะเข้าไปด้านในก็จะต้องเปลี่ยนเป็นชุดภูไท ผมชักลังเลว่าจะเข้าไปด้านในหรือไม่เข้าดี เพราะเกรงว่าจะกินเวลาในสถานที่ท่องเที่ยวจุดต่อไป แต่ไหนๆ ก็มาถึงที่แล้ว เลยจัดแจงเปลี่ยนชุดกลายเป็นหนุ่มภูไทไปโดยปริยายครับ

วัดวังคำ เป็นวัดในหมู่บ้านเล็กๆ ของ ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2539 เริ่มจากกุฏิ ศาลาหลังคามุงหญ้าคาเล็กๆ แต่ด้วยพลังศรัทธาของญาติโยมในละแวกนั้น ได้ช่วยกันพัฒนามาเรื่อยๆ โดยนำเอาศิลปะล้านช้างที่มี “วัดเชียงทอง” แห่งหลวงพระบาง มาเป็นต้นแบบในการสร้าง โดยสร้างย่อส่วนลงมาเล็กน้อย ลักษณะหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น กลางหลังคาเป็นฉัตร 5 ชั้น 9 ยอด หน้าบันประดับตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ประตูสลักลงรักปิดทองเป็นรูปเทวดา ด้านหลังโบสถ์สลักรูปต้นโพธิ์ ส่วนยอดสลักรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับยืน ประดับกระจกสี ถึงแม้ว่าวัดวังคำจะจำลองสถาปัตยกรรมของวัดเชียงทองมา แต่ผมว่าวัดวังคำ ก็งดงามไม่แพ้ วัดเชียงทอง เลยครับ

ไม่ต้องไปไกลถึงหลวงพระบาง ก็มีมุมสวยๆ ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้เหมือนกันครับ

ไปดูภายในโบสถ์กันบ้าง ด้านนอกโบสถ์ว่าสวยแล้ว ด้านในก็งดงามไม่แพ้กัน

ด้านในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางสดุ้งมาร ซึ่งมองเข้าไปในตอนแรกเห็นเพียง 1 องค์ แต่เมื่อผมเดินชมจิตรกรรมฝาผนังด้านใน แล้วหันกลับมาทางพระประธาน ถึงได้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ในโบสถ์มีพระประธานถึง 2 องค์

โดยรอบโบสถ์จะมีระเบียงคต ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยหลายองค์ด้วยครับ

นี่ถ้าผมไม่เข้ามาชมด้านในวัดคงจะเสียดายไปอีกนานเลย เพราะด้านในงดงามมาก ใครที่ผ่านไปผ่านมาแถว อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ แนะนำเลยว่าไม่ควรพลาดครับ

จาก อำเภอเขาวง ไปต่อที่ อำเภอนาคู ผมมุ่งหน้าสู่วนอุทยานภูแฝก ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงห้วยฝา เพื่อจะไปตามล่าหารอยตีนไดโนเสาร์ ซึ่งวนอุทยานภูแฝกมีความสำคัญทางธรณีวิทยาด้วยการเป็นจุดพบรอยตีนไดโนเสาร์ขนาดใหญ่และชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทยครับ

เส้นทางที่เข้ามายังวนอุทยานภูแฝก มันก็จะเปลี่ยวๆ หน่อย แทบไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมเลย สองข้างทางผ่านป่ายูคาลิปตัส ป่าเต็งรัง ช่วงที่ผมมาค่อนข้างแล้งพอสมควร ขับรถเข้ามาเรื่อยๆ จะพบกับลานจอดรถบริเวณหน้าที่ทำการ จากนั้นลงทะเบียนเพื่อเข้าชม โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการเข้าชมครับ

ใกล้ๆ ลานจอดรถ มีไม้กลายเป็นหิน อายุของหินประมาณ 150 ล้านปีเลยทีเดียวครับ

จากลานจอดรถ เดินเข้าไปเพียง 200 เมตร ก็จะถึงรอยตีนไดโนเสาร์แล้วครับ

รอยตีนไดโนเสาร์ ถูกค้นพบเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2539 โดยเด็กหญิงกัลยามาศ สิงห์นาคลอง และเด็กหญิงพัชรี ไวแสน เด็กทั้งสองมาเล่นน้ำพักผ่อนกับครอบครัว แล้วได้พบรอยตีนประหลาดกลางลานหินซึ่งเป็นทางน้ำของห้วยน้ำยัง เชิงเขาภูแฝก หลังจากนั้นได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่นักธรณีวิทยาเดินทางไปสำรวจครับ

รอยตีนไดโนเสาร์ที่พบเป็นรอยตีนไดโนเสาร์สายพันธุ์ คาโนชอร์ ชนิดกินเนื้อเป็นอาหาร ขนาดลำตัว จากหัวจรดหางยาวประมาณ 7-8 เมตร ค้นพบทั้งหมด 21 รอย ชัดเจน 7 รอย ขนาดของรอยตีน ขนาดใหญ่กว้าง 38-48 ซม. ยาว 42-45 ซม. ขนาดเล็กกว้าง 30-32 ซม. ยาว 36-38 ซม. สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณนี้ในอดีตกว่า 140 ล้านปีมาแล้ว น่าจะมีสภาพเป็นหาดทราย ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาเป็นลำดับ จนช่วยให้คงสภาพรอยตีนไว้ได้จนถึงปัจจุบัน ช่วงที่ผมไปเป็นช่วงฤดูแล้ง ทำให้น้ำในลำห้วยแห้ง จึงสามารถมองเห็นรอยตีนได้อย่างชัดเจนครับ

ใช้เวลาเที่ยวที่ภูแฝกประมาณครึ่งชั่วโมง ก็ต้องรีบออกเดินทางสู่จุดหมายต่อไป นั่นคือ พิพิธภัณฑ์สิรินธร ในเขตอำเภอสหัสขันธ์ ซึ่งจะปิดในเวลา 16.30 น.ครับ

จากภูแฝก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ก็มาถึงยังพิพิธภัณฑ์สิรินธรครับ

พิพิธภัณฑ์สิรินธรเป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของเมืองไทย ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงซากกระดูกไดโนเสาร์ และแสดงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในมุมมองต่างๆ ครับ

พิพิธภัณฑ์สิรินธร เดิมเป็นศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ในปี พ.ศ.2537 ได้พบโครงกระดูกของไดโนเสาร์กินพืช ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ในบริเวณที่เป็นหลุมขุดค้นปัจจุบัน ต่อมาช่วงปลายปี 2537 เริ่มมีการขุดค้นอย่างเป็นระบบ และพบว่าภูกุ้มข้าวเป็นแหล่งพบโครงกระดูกไดโนเสาร์กินพืชที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย มีการค้นพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาดต่างๆ เป็นกระดูกชนิดกินพืชมากกว่า 7 ตัว จำนวนกระดูกมากกว่า 700 ชิ้น และที่เป็นไฮไลท์คือ พบชิ้นส่วนของหัวกะโหลก ฟัน กราม และโครงกระดูกที่เรียงรายต่อกัน เกือบจะสมบูรณ์ทั้งตัวอยู่ด้วย ต่อมาในปี 2538 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทอดพระเนตรซากกระดูกไดโนเสาร์ พร้อมทรงจัดตั้งโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวขึ้น ในปี 2539 กรมทรัพยากรธรณีได้สร้างอาคารวิจัยขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ทำการอนุรักษ์ ศึกษาวิจัยและเก็บรวบรวมซากดึกดำบรรพ์ที่สำรวจพบในประเทศไทย และในปี 2550 ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ในภาพศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว หรือพิพิธภัณฑ์สิรินธรภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนๆ ครับ

โซนนี้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อราว 3,400 ล้านปีก่อน เป็นช่วงที่ดาวเคราะห์ร้อนจัดและปั่นป่วน เนื่องจากภูเขาไฟระเบิดและพุ่งชนของอุกกาบาต โลกค่อยๆ เย็นตัวลง ทั้งบรรยากาศและน้ำ ช่วยนำทางไปสู่พัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

โซนนี้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์โดยเฉพาะ เช่นลักษณะของไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่างๆ การกินอาหาร การล่าเหยื่อ

โครงกระดูกที่นำมาจัดแสดง มีทั้งโครงกระดูกจริงและโครงกระดูกจำลอง ส่วนซากฟอสซิลต่างๆ ที่อยู่ในตู้ คาดว่าน่าจะเป็นของจริงครับ

สิ่งที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ น่าจะเป็นกระดูกส่วนต้นขาของไดโนเสาร์อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินพืชที่พบในประเทศไทย อายุประมาณ 209 ล้านปี และกระดูกไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน เป็นโครงกระดูกไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองไทย

นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้ว อีกหนึ่งจุดที่ไม่ควรพลาดชมนั่นคือหลุมขุดค้น ซึ่งจะอยู่แยกกับส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ครับ หลุมขุดค้นจะอยู่ด้านบนอาคารพิพิธภัณฑ์

สำหรับการเข้าชมพิพิธภัณฑ์และหลุมขุดค้น จะมีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม โดยผู้ใหญ่มีค่าเข้าชม 40 บาท เด็ก (อายุไม่เกิน 12 ปี) 10 บาท พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมในวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 09.30-16.30 น. ครับ

จากอำเภอสหัสขันธ์ ผมมุ่งหน้าสู่อำเภอเมือง ใช้เวลาเดินทางราว 40 นาที เพื่อมายังจุดหมายที่ 2 ของภารกิจเที่ยวตามรอยโฆษณา นั่นก็คือ วัดเศวตวันวนารามครับ

ช่วงวันมาฆบูชาของทุกๆ ปี ที่วัดเศวตวันวนาราม จะมีการจัดงานประเพณีบุญคุนลานสู่ขวัญข้าวตำบลเหนือ สืบสานตำนานพระแม่โพสพ ซึ่งจัดขึ้นตามความศรัทธาและความเชื่อต่อพระแม่โพสพ และสิ่งที่เป็นไฮไลท์ของประเพณีนี้ นั่นคือ ปราสาทรวงข้าวครับ

ปราสาทรวงข้าวสร้างขึ้นจากรวงข้าวนับล้าน ๆ รวง โดยใช้ไม้ไผ่และไม้ยูคาลิปตัสมาเป็นโครงสร้างหลัก เป็นปราสาทที่เกิดจากพลังศรัทธาและความสามัคคีของพระสงฆ์ และชาวบ้านทั้ง 12 หมู่บ้านในตำบลเหนือ ที่ร่วมกันสร้างปราสาทรวงข้าวเพื่อเป็นตัวแทนพระแม่โพสพในการประกอบพิธีบุญคุนลานสู่ขวัญข้าว หรือบุญเดือนยี่ พิธีเรียกขวัญข้าวหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อขอขมาและบูชาพระแม่โพสพ พระแม่คงคา ในอดีตพิธีบุญคุนลานสู่ขวัญข้าว ชาวบ้านจะนำข้าวมากองรวมกันแล้วประกอบพิธี แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ชาวบ้านตำบลเหนือ เริ่มนำรวงข้าวมาสร้างเป็นรูปทรงเจดีย์องค์พระธาตุพนม ก่อนพัฒนามาเป็นรูปทรงแบบปราสาทรวงข้าว ที่มีซุ้มกำแพงเข้าออก 4 ด้าน มีความกว้างด้านละ 20 เมตร ยาว 20 เมตร มีความสูงจากฐานถึงปลายปราสาท 25 เมตร ครับ

เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวหรือช่วงเดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านจะมาร่วมกันคัดเลือกรวงข้าวที่สมบูรณ์ที่สุด โดยแรงงานหญิงจะเน้นในเรื่องของการคัดเลือกวัสดุ เลือกคัดเอาใบออก เลือกใช้เฉพาะรวงข้าวที่สวยงามเต็มรวง เมล็ดข้าวต้องไม่ดำไม่ลีบ จากนั้นจะมัดรวมกันเป็นช่อ และช่วยประกอบมัดข้าวที่เลือกไว้บนโครงสร้างด้านล่าง ส่วนแรงงานชายก็จะช่วยเรื่องโครงสร้างด้านบน ปีนขึ้นบนนั่งร้านเพื่อนำมัดข้าวที่สมบูรณ์ประกอบเป็นปราสาทรวงข้าวให้งดงามอย่างที่เห็น ปราสาทรวงข้าวหลังนี้ใช้ข้าวกว่า 4 ตัน ในการประดับตัวปราสาท และใช้เวลาสร้างนานกว่า 3 เดือนเลยครับ

สำหรับข้าวที่นำมาประดับประดาเป็นตัวปราสาท ทั้งหมดเป็นข้าวเหนียว โดยเชื่อว่าหากได้ร่วมบริจาคข้าว ฤดูการทำนาปีต่อไปจะได้ผลผลิตดี และเป็นสิริมงคลแก่ชาวนาครับ

หลังจากสิ้นประเพณีบุญคุนลานสู่ขวัญข้าวแล้ว ปราสาทรวงข้าวจะตั้งแสดงไปจนถึงเดือนมีนาคม จากนั้นข้าวทั้งหมดจะถูกนำไปขายเป็นข้าวเปลือก ให้ชาวบ้านที่ยากจน ไม่มีที่นาทำกิน ในราคาถูกกว่าท้องตลาด ส่วนรายได้ทั้งหมดจะนำเข้าวัดครับ ประเพณีดีๆ แบบนี้ จัดต่อเนื่องกันมากว่า 25 ปีแล้ว โดยจัดปีละ 1 ครั้ง ใครที่อยากจะมาเห็นปราสาทรวงข้าวด้วยตาของตัวเอง คงต้องเลือกวางแผนกันให้ดีๆ ส่วนใหญ่จะจัดในช่วงวันมาฆบูชาครับ

วันนี้เล่นเอาหมดแรงเหมือนกัน เที่ยวตั้งแต่แสงแรก ยันแสงสุดท้าย คืนนี้ผมเข้าพักที่โรงแรมบลูเทล ในตัวเมืองกาฬสินธุ์ และมื้อค่ำนี้ไปฝากท้องที่ร้าน บ้านตาลฟ้า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักครับ

ร้านบ้านตาลพ้า อยู่ตรงข้ามเรือนจำกาฬสินธุ์ครับ บรรยากาศในร้านดีเลยทีเดียว ผมเลือกนั่งรับลมอยู่ในสวนด้านนอกร้านครับ

เมนูเรียกน้ำย่อยขอแนะนำยำตาลฟ้าเลยครับ เป็นยำไส้กรอก/ยำปลาหมึก/ยำหอยแมลงภู่ เสิร์ฟมาในจานเดียวกัน น้ำยำแซ๊บจัดจ้านดีครับ ต่อด้วยเห็ดหอมอบซีอิ้ว เนื้อแดดเดียว ตามมาด้วยกับข้าวอย่างปลาบึกผัดฉ่า ปลากะพงทอดน้ำปลา และต้มยำ โดยรวมอาหารรสชาติใช้ได้ อาหารจานใหญ่ ราคาสมเหตุสมผลครับ

เช้าวันสุดท้าย ผมออกเดินทางกันตั้งแต่ 08.00 น. เพื่อไปปฏิบัติภารกิจเที่ยวตามรอยโฆษณา โดยจุดหมายสุดท้ายของภารกิจอยู่ที่อำเภอกมลาไสย ในงานมาฆปูรมี ทวารวดีมิ่งหล้า เมืองฟ้าแดดสงยาง ครับ

งานมาฆปูรมี ทวารวดีมิ่งหล้า เมืองฟ้าแดดสงยาง จัดขึ้นที่พระธาตุยาคู หนึ่งในโบราณสถานที่พบในเขตเมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองโบราณที่มีการขุดค้นพบหลักฐานต่างๆ มากมาย พระธาตุยาคูเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพระธาตุที่บรรจุพระอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ จึงเรียกกันว่า พระธาตุยาคู (ญาคู ภาษาอีสานหมายถึง พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในวัด) องค์พระธาตุมีลักษณะทางศิลปกรรมอันโดดเด่นใน 3 ยุคสมัย คือส่วนฐานเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุมสร้างในสมัยทวารวดี ส่วนล่างองค์เจดีย์เป็นทรงแปดเหลี่ยมสร้างในสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างต่อเติมในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบองค์พระธาตุมีใบเสมาเก่าแก่ปักอยู่ตามทิศต่างๆ โดยรวมแล้ว พระธาตุยาคูยังคงสภาพเป็นโบราณสถานที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยางครับ

งานมาฆปูรมี ทวารวดีมิ่งหล้า เมืองฟ้าแดดสงยาง จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สืบสานวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ทั้งยังเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ภายในงานจะมีการประดับประดาด้วยทะเลธุงอีสานที่งดงามอลังการจำนวนกว่าพันต้น ดูแล้วอเมซิ่งจิงเกอร์เบลมากๆ ครับ

“ธุง” ในภาษาอีสาน หรือ “ตุง” ในภาษาเหนือ หรือ “ธง” ในภาษากลาง เป็นเครื่องสักการะ ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา งานบุญเฉลิมฉลองหรือขบวนแห่ต่างๆ ธุงของชาวอีสาน ทำมาจากเส้นใยฝ้าย ใยไหมพื้นบ้าน แปลงเป็นด้ายเส้นเล็กๆ หลากสีนำมาเรียงร้อยเป็นธุง ทั้งธุงบันไดสวรรค์ที่ทำเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส และธุงใยแมงมุมที่ทำเป็นรูปหกเหลี่ยม หลากสี หลายลวดลาย ไม่ว่าจะเป็นลายขิด ลายสัตว์ ลายคน ลายต้นไม้ หรือลายพระพุทธรูป นำมาติดบนเสาไม้ไผ่สูงกว่า 10 เมตร ห้อยปลายลงมา ถวายเป็นพุทธบูชาให้กับพระธาตุยาคู เชื่อกันว่าใครมาสักการะพระธาตุยาคู จะทำให้ร่มเย็นเป็นสุข สักการะพระธาตุโบราณ เบิกบานร่มเย็น อัศจรรย์บูชา พระธาตุโบราณ ชีวิตเบิกบาน สมบูรณ์พูนสุขครับ

ทะเลธุงที่เห็นในงานมาฆปูรมี ทวารวดีมิ่งหล้า เมืองฟ้าแดดสงยาง เกิดจากแรงศรัทธาของชาวบ้านทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้ลงแขกทำธุงหมู่บ้านละต้น มาถวายองค์พระธาตุยาคู โดยเชื่อกันว่าถ้าใครทำธุงแล้ว ผู้นั้นจะได้ขึ้นสวรรค์ แต่ถ้าหากจะตกนรกแล้วบอกว่าเคยทำธุงถวายพระพุทธเจ้า ธุงนั้นก็จะพันตัวพาขึ้นมาจากนรกแล้วพาขึ้นสวรรค์ นอกจากจะเป็นการทำบุญให้ตัวเองแล้ว ยังถือว่าเป็นการทำบุญให้กับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย

สำหรับใครที่ต้องการจะมาชมทะเลธุงแบบนี้ บอกเลยว่างานดีๆ จัดปีละ 2 ครั้งเท่านั้น คือช่วงมาฆบูชา และ วิสาขบูชา คงต้องเลือกมาให้ถูกช่วง ถูกเวลาด้วยนะครับ ไม่เช่นนั้นคงอดเห็นอะไรสวยๆ งามๆ แบบนี้แน่นอน

Mission Complete!! กลับบ้านได้

ถึงแม้ภารกิจเที่ยวตามรอยโฆษณา จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยความประทับใจ แต่...ระหว่างเส้นทางกลับ ก็แวะเที่ยวต่อได้นี่นา ผมปักหมุดต่อที่วัดประชาคมวนาราม ในอำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ดครับ

วัดประชาคมวนาราม หรือ วัดป่ากุง สร้างโดยหลวงปู่ศรี มหาวีโร ที่วัดแห่งนี้มีหินเจดีย์ หรือพระเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างจากหินทรายธรรมชาติเป็นแห่งแรกในประเทศไทย จำลองแบบการก่อสร้างมาจากบุโรพุทโธ ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในปี พ.ศ.2531 หลวงปู่ศรีได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจและเกิดความประทับใจในความยิ่งใหญ่อลังการของบุโรพุทโธ จึงได้เล่าให้คณะศิษย์ฟัง และได้เริ่มก่อสร้างพระเจดีย์แห่งนี้ในปี พ.ศ.2535 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 ครับ

มหาเจดีย์หินทรายของวัดป่ากุง มีทั้งหมด 7 ชั้น โดยชั้นที่ 1 เป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำ เล่าเรื่องราวซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมี ในชั้นที่ 2-3 เป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติพระพุทธเจ้า ชั้นที่ 4 เป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำรูปชัยมงคลคาถา ชั้นที่ 5 ผนังทรงกลมฐานรององค์เจดีย์ เป็นภาพสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ชั้นที่ 6 เป็นองค์เจดีย์ราย 8 องค์ และองค์เจดีย์ประธาน 1 องค์ และชั้นที่ 7 ยอดเจดีย์ทองคำ หนักถึง 101 บาท และภายในองค์เจดีย์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่นำมาจากประเทศอินเดียให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้กราบไว้บูชา ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลครับ

ภายในวัดร่มรื่นเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีนกยูงอยู่หลายตัวเลยครับ ใครผ่านมาผ่านไปแถวๆ อำเภอศรีสมเด็จ ลองแวะเข้าไปชมความยิ่งใหญ่ของบุโรพุทโธเมืองไทยดูนะครับ

ผมมาปิดท้ายทริปที่พระธาตุนาดูน ในอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคามครับ

พระธาตุนาดูน นับเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาคู่บ้านคู่เมืองของชาวมหาสารคาม นอกจากนี้ยังเป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นเพื่อสิริมงคลแก่ภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมกิจการ พระพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงขนานนามเรียกพระธาตุแห่งนี้ว่า พุทธมณฑลอีสาน ครับ

โดยรอบของพระธาตุนาดูนเป็นเขตที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เพราะบริเวณนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน โบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบที่นี่ ได้ถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น และที่สำคัญที่สุดคือการขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-14 ในสมัยทวาราวดีครับ

องค์พระธาตุนาดูนจำลองแบบจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานประยุกต์แบบศิลปะทวาราวดี มีความสูงจากฐานถึงยอด 50.50 เมตร องค์พระธาตุแบ่งออกเป็น 16 ชั้น ทุกๆ ปีจะมีการจัดงานนมัสการพระธาตุนาดูนในช่วงวันมาฆบูชา ซึ่งวันที่ผมไปเลยวันมาฆบูชามา 2 วัน เขาเลิกจัดงานไปแล้ว แต่ผมยังเห็นประชาชนจำนวนมากไหลหลั่งมาสักการะองค์พระธาตุอย่างไม่ขาดสาย สมแล้วที่ได้รับสมญานาม พุทธมณฑลอีสาน ครับ

หลายๆ สถานที่คงต้องมาให้ถูกช่วง ถูกเวลา ถึงจะได้เห็นอะไรที่พิเศษกว่าปกติ อย่างเช่น ปราสาทรวงข้าวในพิธีบุญคุนลานสู่ขวัญข้าว ที่วัดเศวตวันวนาราม หรือจะเป็นทะเลธุงในงานมาฆปูรมี ทวารวดีมิ่งหล้า เมืองฟ้าแดดสงยาง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะจัดในช่วงวันพระใหญ่อย่างเช่นมาฆบูชา วิสาขบูชา ถ้าหากใครมีเวลาในช่วงนี้ ผมแนะนำว่าลองวางแผนมาที่กาฬสินธุ์ดูนะครับ จะได้เห็นได้เที่ยวในมุมมองที่ไม่ธรรมดาครับ

สำหรับบึงกาฬ ถ้าอยากจะมาเที่ยวแบบให้มันคุ้มค่ากับการเดินทาง ผมแนะนำว่าให้มาเที่ยวช่วงปลายฝนต้นหนาวจะเหมาะมากๆ เพราะบึงกาฬ ไม่ได้มีดีแค่หินสามวาฬ แต่บึงกาฬยังมีน้ำตกสวยๆ อีกหลายที่เลยครับ และผมเองก็วางแผนไว้ว่า คงจะกลับมาสัมผัสความสวยงามของน้ำตกบึงกาฬด้วยตาของผมเอง รวมถึงกลับมาชมทะเลหมอกที่หินสามวาฬอีกครั้งอย่างแน่นอน

ท้ายสุดนี้ เพื่อนๆ สามารถเข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ

ลุงเสื้อเขียว

 วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563 เวลา 12.17 น.

ความคิดเห็น