วันนี้เราจะพาไปสัมผัสแดนอีสาน บอกเลยว่าเสน่ห์ของที่นี่ไม่ธรรมดา มีทั้งโบราณสถาน แหล่งวัฒนธรรม 

ที่เด็ดไปกว่านั้นคือ ชุมชนที่เราจะไปเป็นชุมชนที่มีคณะหมอลำที่มากที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย 

แค่ได้ยินแบบนี้เราก็ไม่รอช้าที่จะมาสัมผัสวิถีชีวิต มาม่วนกับความมันของเรื่องหมอลำ 

และศิลปะพื้นบ้านที่ไม่มีใครเหมือน ที่นี่คือ ชนเผ่าภูไท “ชุมชนบ้านปลาค้าว” จ.อำนาจเจริญ 

ที่นี่อยู่ห่างจากตัวเมืองอำนาจเจริญไม่ถึง 10 กิโล ซึ่งจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหลายส่วน หนึ่งในนั้น คือ ธกส. ร่วมสนับสนุนเกี่ยวกับด้านเงินลงทุน

และส่งเสริมด้านการจัดการชุมชน รวมไปถึงการถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนในชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนใน

การอนุรักษ์เอกลักษณ์พื้นถิ่นคู่ชุมชน นี่แหละนะที่เขาเรียกว่าเป็นมากกว่าธนาคาร

ก่อนอื่นที่เราจะเข้าหมู่บ้านไปสัมผัสวิถีชีวิต และแหล่งวัฒนธรรมอันเลื่องชื่อนั้น ขอมาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็น

ความเชื่อ และเป็นที่เคารพนับถือของชาวชุมชนบ้านปลาค้าว นั่นคือ "ตูบปู่ตา" เป็นที่ที่ชาวบ้านปลาค้าว 

และหมู่บ้านใกล้เคียง เชื่อว่าคนในชุมชนจะทำอะไรต้องบอกกล่าวให้ทราบ เหมือนเราจะไปไหนทำอะไรเราก็ต้องบอกกล่าวผู้ใหญ่

เสร็จจากไหว้ตูบปู่ตาแล้ว เราจะพาไป "บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งอยู่ในวัดฉิมพลี และที่วัดฉิมพลีแห่งนี้ยังมี "โปงไม้โบราณ" หรือระฆังไม้ ที่มีอายุประมาณ 150 – 200 ปี ที่เรียกได้ว่าหาชมกันได้อยาก แต่ยังใช้งานได้อยู่ แต่จะใช้งานก็ต่อเมื่อ มีเรื่องสำคัญหรือฉุกเฉิน ซึ่งเสียงที่ตีระฆังไม้จะดังกังวาลไปทั่วหมู่บ้านเผื่อเรียกชาวบ้านมาชุมนุมกันที่วัดแห่งนี้

อีกหนึ่งสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยวสายบุญไม่ควรพลาดคือ "วัดศรีโพธิ์ชัย" เพราะนอกจะมีโบราณสถานที่สำคัญแล้ววัดแห่งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนกับวัดที่มีความผูกพันธ์กันมาอย่างยาวนาน และยังมีวิหารที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่ศรีโพธิ์ชัย พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำนาจเจริญ

และนี้ก็คือ "วิหารญวณ" โบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในวัดศรีโพธิ์ชัย เป็นศิลปะผสมผสานของ 3 ชาติ ไทย ลาว เวียดนาม ร่วมกันสร้างวิหารแห่งนี้ ได้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2470 

ด้านในยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่ศรีโพธิ์ชัย ที่มีอายุเก่าแก่ กว่า 200 ปี พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของ จ.อำนาจเจริญ

นอกจากจะมีพระพุทธรูปโบราณแล้ว ยังมีของโบราณอีกหลายชิ้น อย่าง "ตู้พระไตรปิฎกโฮงฮดแบบไม้โบราณ" ซึ่งในใบลานเทศภาษาขอมโบราณ และห่อด้วยผ้าไหมโบราณอยู่ เรียกได้ว่าที่แห่งนี้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอีกที่หนึ่งเลยทีเดียว

นอกจากวิหารจะเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ และสวยงามของชุมชนแล้วภายในวัดยังมี “ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช” พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เก็บรวบรวมของใช้โบราณ และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงโครงสร้างเก่าของวัด วิหารญวณที่เคยสร้างด้วยไม้ ซึ่งประตูไม้ก็ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย

วัตถุโบราณจากการบูรณะวิหารญวณ

จากที่กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ชมชนแล้ว ก็ไม่รอช้า ที่จะไปดูไฮไลท์เด็ดของชุมชนแห่งนี้ นั้นก็คือ "หมอลำ" ซึ่งที่นี่มีคณะหมอลำมากที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 20 คณะ มีการอนุรักษ์ศิลปะหมอลำ และพัฒนาหลายรูปแบบนำไปแสดงในงานต่างๆ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วประเทศไทย ซึ่งใครที่ไปเยี่ยมชมหมู่บ้านแห่งนี้ต้องได้ชมการร้อง การรำ ไม่เช่นนั้นะถือว่ามาไม่ถึงนะจ๊ะ

นอกจากที่นี่จะมีการอนุรักษ์ศิลปะหมอลำแล้ว ยังมีอีกผลิตภัณฑ์โดดเด่นมากของชุมชนก็คือ "กลุ่มทอผ้า" โดยมีลายดอกสะแบงที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เพราะสะแบงเป็นไม้ยืนต้นที่มีอยู่มากในชุมชน ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่ตามไร่นาซึ่งลักษณะของผลจะคล้ายๆ กับลูกยาง

ซึ่งเมื่อก่อนได้นำมาร้อยเป็นมาลัยประดับในงานบุญต่างๆ จนมาพัฒนาเป็นลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์เป็นลายที่น่ารักมากๆ ชายผ้าด้านล่างเป็นลายหมอแคนกับหมอลำ และมีดอกสะแบง เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นมีความละเอียดของลายผ้า และสีสันสดใส น่าจับจองเป็นเจ้าของกันเลยทีเดียว นอกจากศิลปะพื้นบ้าน และโบราณสถานแล้วนั้น

ชุมชนแห่งนี้ ยังมีแหล่งสร้างรายได้ในครัวเรือนนั้น คือ "การทำธูป" ซึ่งได้ส่งจำหน่ายทั้งใน และต่างประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีบ้านพักโฮมสเตย์ไว้คอยบริการต้อนรับนักท่องเที่ยวซึ่งบ้านพักส่วนใหญ่จะเป็นบ้านไม้แบบโบราณ ดูแล้วทั้งน่ารัก และน่านอนอีกด้วย โฮมสเตย์แบบบ้านๆ ที่มีไว้บริการนักทักเที่ยวที่มาเยื่อนกว่า 20 หลัง บอกเลยค่ะว่านอนสบาย

เราขอมาดูของจริงกันซะหน่อย ว่าต้น และดอกสะแบง ที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี้เป็นแบบไหน พอได้มาเห็นแล้ว สวยสะดุดตามากๆ เลยค่ะ เพราะมีขึ้นเป็นจำนวนมากอยู่กลางทุ่งนา ดอกก็มีสีสันสดใส

การมาได้เที่ยวในชุมชนบ้านปลาค้าว ครั้งนี้สมแล้วที่ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านหมอลำ เพราะไม่ว่าจะไปทางไหน ไปทำอะไร เราก็มักจะได้ยินเสียงแคน เสียงกลอง และเสียงร้องกลอนหมอลำ เหมือนเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตของคนที่นี่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสุขที่แทรกซึมในตัวศิลปินทุกคน ความสุขที่สะท้อนออกมาให้เห็นถึงความภูมิใจ และพร้อมที่จะถ่ายทอดให้กับคนทั่วไปได้เห็นถึงเสน่ห์ และความสวยงามของวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เรียกว่า หมอลำ ชุมชนนี้มีครบรสชาติเหมือนกับคำที่ ได้กล่าวไว้ว่า "มัดหมี่ดอกสะแบง เบิ่งแยงหมอลำ เรียนรู้หัตถกรรม วัฒนธรรมบ้านปลาค้าว" มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ อย่างชัดเจน และนี้ก็เป็นเรื่องราวที่ได้มาสัมผัสกับวิถีชีวิตแบบบ้านๆ เสน่ห์อิสาน เรื่องราววิถีชีวิต กับชุมชนบ้านปลาค้าว จังหวัดอำนาจเจริญ

ไม่เพียงที่นี่เรายังมีอีกหลายชุมชนให้ติดตาม ยังมีที่ไหนอีกบ้าง คลิกเลย >>> ชุมชนท่องเที่ยว

ติดต่อชุมชน : บ้านปลาค้าว อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
กลุ่มโฮมสเตย์บ้านปลาค้าว โทร. 081-878-7833
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง บ้านปลาค้าว โทร. 087-262-2796

จะไปป่ะล่ะ : Ja pai pa la

 วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลา 21.44 น.

ความคิดเห็น