เมื่อประมาณปี 2007 ผมได้มีโอกาสไปเที่ยววัดร่องขุ่น เชียงราย และประทับใจในความสวยงามของวัดแห่งนี้ ฝันอยากจะไปถ่ายรูปอีกทีให้ได้ เพราะครั้งแรกที่ไปยังถ่ายรูปไม่เป็น ประกอบกับวัดยังสร้างไม่เรียบร้อยดีนัก จนมาวันนี้ได้มีโอกาสไปเยือนอีกครั้งสมใจ ติดอยู่นิดนึงคือ มีเวลาถ่ายรูปแค่ครึ่งชั่วโมง 55555 สำหรับคนที่สงสัยว่าผมไปกี่โมง ทำไมดูไม่มีคนเลย ขอบอกว่าไปช่วง 4โมงเย็น คนเยอะครับไม่ใช่ไม่เยอะ แต่ผมรอจังหวะกดชัตเตอร์ตอนที่ไม่มีคน เอาล่ะ เกริ่มมาพอสมควรแล้ว ไปเที่ยววัดร่องขุ่นด้วยกันครับ

วัดร่องขุ่น เป็นวัดที่สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินของจังหวัดเชียงราย เพื่อมุ่งสร้างงานพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองและประกาศความยิ่งใหญ่ต่อคนทั้งโลกเพื่อถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติในนาม "White Temple" ระยะเวลาในการสร้างนั้นไม่มีกำหนดจนกว่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งได้วางแผนทุกอย่างไว้หมดแล้วทั้งลูกศิษย์ที่สานต่อและทุนทรัพย์

วัดร่องขุ่น เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2540 โดยท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรชั้นแนวหน้าของไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างมาจาก3 สิ่งต่อไปนี้คือ

1. ชาติ : ด้วยความรักบ้านเมือง รักงานศิลป์ จึงหวังสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน

2. ศาสนา : ธรรมะได้เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์เฉลิมชัยจากจิตที่ร้อนกลายเป็นเย็น จึงขออุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนา

3. พระมหากษัตริย์ : จากการเข้าเฝ้าฯ ถวายงานพระองค์ท่านหลายครั้ง ทำให้อาจารย์เฉลิมชัยรักพระองค์ท่านมาก จากการพบเห็นพระอัจฉริยะภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ท่าน จนบังเกิดความตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ดังนั้นอาจารย์จึงได้สร้างงานพุทธศิลป์ถวายเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลพระองค์ท่าน โดยปรารถนาจะสร้างวัดให้เหมือนเมืองสวรรค์ที่มนุษย์สัมผัสได้ บนพื้นที่เดิมของวัด 3 ไร่ และอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้บริจาคทรัพย์สินส่วนตัว และคุณวันชัย วิชญชาคร เป็นผู้บริจาคที่ดินประมาณ 7 ไร่เศษ รวมเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาอื่นๆ จนถึงปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 12 ไร่ และมีพระกิตติพงษ์ กัลยาโณ รักษาการเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน

ลักษณะเด่นของวัด

คือพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วยสีขาวเป็นพื้น ประดับด้วยกระจกแวววาววิจิตรงดงามแปลกตา บนปูนปั้นเป็นลายไทย โดยเฉพาะภาพพระพุทธองค์หลังพระประธานซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่งดงามมาก เหนืออุโบสถที่ประดับด้วยสัตว์ในเทพนิยาย เป็นรูปกึ่งช้างกึ่งวิหคเชิดงวงชูงา ดูงดงามแปลกตาน่าสนใจมาก ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถก็เป็นฝีมือภาพเขียนของอาจารย์เอง

ความหมายของอุโบสถ

สีขาวของโบสถ์แทนพระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า กระจกขาวหมายถึง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่เปล่งประกายไปทั่วโลกมนุษย์และจักรวาล

สะพาน หมายถึง การเดินข้ามวัฏสงสารมุ่งสู่พุทธภูมิ ก่อนขึ้นสะพานครึ่งวงกลมเล็กหมายถึง โลกมนุษย์ วงใหญ่ที่มีเขี้ยวเป็นปากของพญามาร หรือพระราหู หมายถึง กิเลสในใจแทนขุมนรกคือทุกข์ ผู้ใดจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระพุทธภูมิต้องตั้งจิตปลดปล่อยกิเลสตัณหาของตนเองทิ้งลงไปในปากพญามาร เพื่อเป็นการชำระจิตเราให้ผ่องใสถึงจะเดินผ่านขึ้นไป บนสันของสะพานจะประกอบไปด้วยอสูรอมกัน 16 ตัว ข้างละ 8 ตัว อุปกิเลส 16 จากนั้นก็จะถึงกึ่งกลางสะพาน หมายถึง เขาพระสุเมระ เป็นที่อยู่ของเทวดา ด้านล่างเป็นสระน้ำ หมายถึง สันดรมหาสมุทร มีสวรรค์ตั้งอยู่ 6 ชั้นด้วยกัน ผ่านสวรรค์ 6 เดินลงไปสู่แผ่นดินของพรหม 16 ชั้น แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 16 ดอก รอบอุโบสถ ดอกที่ใหญ่สุด 4 ดอก ตรงทางขึ้นด้านข้างโบสถ์ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ ประกอบด้วยพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เป็นสงฆ์สาวกที่เราควรกราบไหว้บูชา

ก่อนขึ้นบันได ครึ่งวงกลม หมายถึง โลกุตตรปัญญา บันไดทางขึ้น 3 ขั้น แทนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านแล้วจึงขึ้นไปสู่แผ่นดินของอรูปพรหม 4 แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 4 ดอก และ บานประตู 4 บาน บานสุดท้ายเป็นกระจกสามเหลี่ยมแทนความว่าง (ความหลุดพ้น) แล้วจึงจะก้าวข้ามธรณีประตูเข้าสู่พุทธภูมิภายในประกอบด้วยภาพเขียนโทนสีทองทั้งหมด ผนัง 4 ด้าน เพดาน และพื้นล้วนเป็นภาพเขียนที่แสดงถึงการหลุดพ้นจากกิเลสมาร มุ่งเข้าสู่โลกุตรธรรม

ส่วนบนของหลังคาโบสถ์ ได้นำหลักธรรมอันสำคัญยิ่งของการปฏิบัติจิต 3 ข้อ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นำไปสู่ความว่าง (ความหลุดพ้น)

ช่อฟ้าเอก หมายถึง ศีล ประกอบด้วยสัตว์ 4 ชนิดผสมกัน แทน ดิน น้ำ ลม ไฟ ช้าง หมายถึง ดิน, นาค หมายถึง น้ำ, ปีกหงส์ หมายถึง ลม และหน้าอก หมายถึง ไฟ ขึ้นไปปกปักรักษาพระศาสนา บนหลัง ช่อฟ้าเอกแทนด้วยพระธาตุ หมายถึง ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ข้อ และ 84,4000 พระธรรมขันธ์

ช่อฟ้าชั้นที่ 2 (บน) หมายถึง สมาธิ แทนด้วยสัตว์ 2 ชิด คือ พญานาคกับหงส์ เขี้ยวพญานาค หมายถึง ความชั่วในตัวมนุษย์ หงส์ หมายถึง ความดีงาม ศีลเป็นตัวฆ่าความชั่ว (กิเลส) เมื่อใจเราชนะกิเลสได้ก็เกิดสมาธิ มีสติกำหนดรู้เกิดปัญญา

ช่อฟ้าชั้นที่ 3 (สูงสุด) หมายถึง ปัญญา แทนด้วยหงส์ปากครุฑ หมอบราบนิ่งสงบไม่ปรารถนาใดๆ มุ่งสู่การดับสิ้นซึ่งอาสวะกิเลสภายใน

ด้านหลังหางช่อฟ้าชั้นที่ 3 มีลวดลาย 7 ชิ้น หมายถึงโพชฌงค์ 7 ลาย 8 ชิ้นรองรับฉัตร หมายถึง มรรค 8 ฉัตรหมายถึงพระนิพพานลวดลายบนเชิงชายด้านข้างของหลังคาชั้นบนสุดแทนด้วยสังโยชน์ 10 เสา 4 มุม ด้านข้างโบสถ์ คือ ตุง (ธง) กระด้าง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าตามคติล้านนา

ด้านในของพระอุโบสถจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ พร้อมด้วยฉากเป็นภาพเขียนขนาดใหญ่ของ อ.เฉลิมชัย ด้านในพระอุโบสถห้ามถ่ายรูป ผมยืนอยู่นอกอุโบสถแล้วใช้เลนส์ zoom ถ่ายเข้าไป

วัดใหญ่โต สวยงามขนาดนีเ ลองฟังบทสัมภาษณ์ของอ.เฉลิมชัยผู้สร้างวัดนี้ดูครับ

ผมใฝ่ฝันที่จะสร้างวัด (อุโบสถ) สักหลังก่อนตาย สาเหตุเพราะผมเป็นชาวพุทธแท้ ผมเป็นจิตรกร หลังจากที่ผมได้ทำบุญครั้งใหญ่ ปี ๒๕๒๗ ด้วยการเดินทางไปเขียนจิตรกรรมฝาผนังถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดพุทธปทีป ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา ๔ ปี ผมหมดเงินที่เคยสะสมมา ผมเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

   ปี ๒๕๓๑ ผมกลับไปที่บ้านเกิดของผม เพื่อกราบหลวงพ่อและถวายรูปพิมพ์ผลงานวัดพุทธปทีปให้ท่าน วัดบ้านผมทรุดโทรมมาก หลวงพ่อสมภารสุขภาพไม่ดีและชราภาพมาก อุโบสถหลังเล็กๆ ที่ผมเคยจำความได้ เคยเห็นพ่อผมกับเพื่อน ๆ ท่านในหมู่บ้าน ชักไม้ด้วยช้างมาร่วมกันสร้างวัด ผมเคยเห็นหลวงพ่อ ตายาย พ่อแม่ และพี่น้องชาวบ้านเดินทางไปอาราธนาหลวงพ่อศิลาดำใส่เกวียนออกมาจากป่า

   ผมเข้าไปในโบสถ์ที่ใชัสังฆกรรมไม่ได้ด้วยเหตุเพราะชำรุดมาก และกลายเป็นที่อยู่ของค้างคาวฝูงใหญ่ ผมตั้งอธิษฐานจิต ถ้าชีวิตผมพร้อมเมื่อไหร่ ผมจะกลับมาสร้างโบสถ์ใหม่ให้ได้ เวลา ๑๐ ปี ผ่านไปด้วยกุศลจิต ชีวิตผมและครอบครัวประสบความสำเร็จทุกอย่างพร้อมแล้ว

   ผมกลับไปบ้านเกิดดำเนินการร่วมกับหลวงพ่อสมภาร เริ่มร่างรูปอุโบสถหลังใหม่ตามจิตนาการของท่าน เพื่อให้ท่านได้มีส่วนร่วม ดังนั้น โครงสร้างลักษณะสถาปัตยกรรมในปีแรกจึงเป็นแบบตามใจหลวงพ่อสมภาร


ใน ๒ ปีต่อมา ผมได้มาเริ่มต่อเติมเพิ่มสถาปัตยกรรมให้สง่าแปลกตาขึ้น โดยเพิ่มบันไดด้านข้างขึ้น ประดับเปลวพระรัศมี ทั้ง ๔ แบบ และขุดสระสร้างสะพานข้ามเข้าสู่อุโบสถ พร้อมกับงานตกแต่งในเรื่องของลวดลายปูนปั้นประดับกระจกภายนอก เขียนแบบและหาช่างพื้นบ้านและแม่บ้านในหมู่บ้านมาฝึกสอนปั้นและประดับกระจกทั้งหมด ๑๐ คน

   ผมได้เริ่มงานมาถึงบัดนี้ ปี ๒๕๔๓ ๓ ปีแล้วครับ คาดว่า จะใช้เวลาอีก ๗ ปี ถึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ทั้งลวดลายปูนปั้นภายนอกและจิตรกรรมฝาผนังภายใน ผมต้องหาเงินปีละประมาณล้านถึงสองล้านบาทเพื่อสร้างสรรค์ผลงานชิ้นสุดท้ายของชีวิตผมให้ดีที่สุด เท่าที่ฝีมือและสติปัญญาผมมีอยู่

   วัดร่องขุ่นจะเป็นศิลป์สมบัติของคนไทยทุกคนและสุดท้ายวัดร่องขุ่นอาจเป็นศิลป์สมบัติอีกแห่งหนึ่ง ที่มีคุณค่าแก่โลกมนุษย์ในอนาคตก็ได้ แต่ทุกสิ่งไม่สำคัญเท่ากับบุญกุศลที่ผมและท่านผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านอุทิศถวายเพื่อเป็นทิพยสถานและพระนิพพานเป็นที่สุด

ด้านข้างของโบสถ์ จะมีบ่อน้ำอธิษฐานจิตอยู่ ให้เข้าไปอธิษฐานครับ

อาคารสีทองหลังนี้คือห้องน้ำที่สวยงามที่สุดในโลก ขนาดห้องน้ำยังมีการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม

ซุ้มทางเข้าสีขาว

ป้ายห้ามสูบบุหรี่สีแดงจัดจ้าน อลังการดีแท้ครับ

ประชาชนคนไทยต้องหาโอกาสสักครั้งเพื่อมาชมวัดร่องขุ่น งานพุทธศิลป์ที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ให้ได้

ติดตามผลงานได้ที่

http://www.facebook.com/voravuds

https://www.facebook.com/Trave...



Voravud Santiraveewan

 วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 09.13 น.

ความคิดเห็น