พูดถึงผี คงไม่มีใครอยากพบอยากเจอ แต่วันนี้ สะพายกล้องท่องเที่ยว ขอพาเพื่อนๆไปตามล่าหาผีกันที่ ด่านซ้าย จ.เลย พูดถึงตรงนี้หลายคนคงนึกออกแล้วว่าผีอะไร ใช่แล้วครับ "ผีตาโขน" นี่เอง
พูดถึงผีตาโขน สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เลยคือ หน้ากากผีอันยาวๆ สีสันสดใสสวยงาม แล้วแต่คนสร้างจะใส่จินตนาการลงไป
หน้ากากผีตาโชนนั้น ทำมาจาก "หวด" ซึ้งเป็นชื่อเรียกของภาชนะที่ใช้นึ่งข้าวเหนียว เมื่อสวมใส่ลงไปแล้ว ด้านบนจะแลดูคล้ายๆกับหมวก
ส่วนของใบหน้านั้น ทำมาจากโคนก้านมะพร้าว โดยนำมาตัดให้เป็นรูปหน้ากาก และเจาะออกเป็นช่องตา
ส่วนจมูกนั้น ทำมาจากไม้เนื้ออ่อน โดยจะแกะสลักลวดลายให้เป็นรูปต่างๆตามจินตนาการของผู้สร้าง โดยส่วนใหญ่จะทำเป็นจมูกอันโตๆยาวงุ้มออกมา
ส่วนเขานั้นทำมาจากปลีมะพร้าวแห้ง ชิ้นส่วนต่างๆที่ว่ามาจะถูกนำมาเย็บติดเข้าด้วยกัน และจะเย็บเศษผ้าติดไว้บริเวณด้านหลังเพื่อให้คลุมส่วนคอของผู้ใส่ไปจนถึงไหล่
ส่วนของเสื้อผ้านั้น จะนำเศษผ้ามาเย็บติดกัน แต่ที่ขาดไม่ได้คือ หมากกะแหล่ง"หรือกระดิ่ง แขวนผูกไว้ที่เอว
ส่วนสุดท้ายคือ ดาบ หรือ ง้าม ทำจากไม้เนื้ออ่อน โดยจะนิยมทำเป็นรูปร่างของอวัยวะเพศชาย
ประเพณีผีตาโขน เป็นประเพณีที่โด่งดัง โดยจัดขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งมักจัดมากกว่าสามวันในบางช่วงระหว่างเดือนมีนาคม และกรกฎาคม โดยจัดขึ้นในวันที่ได้รับเลือกให้จัดขึ้นในแต่ละปีโดยคนทรงประจำเมือง โดยผู้คนที่เข้ามาร่วมการละเล่นมีทั้งเด็ก และผู้ใหญ่
ประเพณีผีตาโขนจะมีการจัดงานกันทั้งสิ้น 3 วัน
- วันแรกจะเรียกว่า วันรวม (วันโฮม) เริ่มพิธีตอนเช้า 04.00-05.00 น. คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าขันแปด(พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อ นิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพมาก และมักเนรมิตกายอยู่ในมหาสมุทร เพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้ เกิดความสุข สวัสดี เมื่อถึงแล้วผู้อันเชิญต้องกล่าวพระคาถาและให้อีกคนลงไปในน้ำ งมก้อนหินใต้น้ำขึ้นมาถาม ว่า "ใช่พระอุปคุตต์หรือไม่" ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งตอบว่า "ไม่ใช่" พอก้อนหินก้อนที่ 3 ให้ตอบว่า "ใช่ นั่นแหละ พระอุปคุตต์ที่แท้จริง" เมื่อได้พระอุปคุตต์มาแล้ว ก็นำใส่พาน แล้วนำขบวนกลับที่หอพระอุปคุตต์ ทำการ ทักขิณาวัฏ 3 รอบ มีการยิงปืนและจุดประทัดซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับหรือ อยู่ตามที่ต่างๆก็จะมา ร่วม ขบวนด้วยความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับเสียงหมากกระแร่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้ดัง เสียงดัง
- วันที่สอง เป็นพิธีแห่พระเวส ในขบวนประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ พระสงฆ์ 4 รูป นั่งบนแคร่หามตามด้วย เจ้าพ่อกวน นั่งอยู่บนกระบอกบั้งไฟ ท้ายขบวนเป็นเจ้าแม่นางเทียม กับบริวาร ชาวบ้าน และเหล่าผีตาโขน เดินตาม เสด็จไปรอบเมือง ก่อนตะวันตกดิน สำหรับคนที่เล่นเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออก ให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนปีหน้าฟ้าใหม่ แล้วค่อยทำเล่นกันใหม่
- วันที่สาม เป็นการรวมเอางานบุญประเพณีประจำเดือนต่างๆของปีมารวมกันจัดในงานบุญหลวง ประชาชนจะมานั่ง ฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิตแก่ชีวิต
กล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดา ผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสอง พระองค์ กลับ เมือง "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" จนกลายมาเป็น "ผีตาโขน" อย่างในปัจจุบัน
และสำหรับในปีนี้ ได้มีผีตาโขนบางตัว มีความคิดสร้างสรรค์แบบสุดๆ ตกแต่งหน้ากากให้โดดเด่นเหนือกว่าชาวบ้าน ซึ่งผมเก็บภาพมาได้ 3 ตัวที่ชอบๆครับ โดยตัวแรกจัดเป็นรูปช้าง 4 งา อลังการดีจริงๆ
ตัวที่สอง หน้ากากเอาไม้มาติดเป็นลวดลายอลังการมาก ส่วนง้ามนั้น ทำเป็นรูปเหมือนคฑา แล้วทำผีตาโขนตัวเล็กๆไปติดไว้ น่ารักดี
ส่วนตัวนี้ In Trend มากครับ ผีตาโขน Transformer คนชื่นชอบและถ่ายรูปกันเยอะมาก เห็น share กันแว๊บๆใน facebook ด้วย ปีหน้าขอผีตาโขนกันดั้มบ้างนะ
ในระหว่างพิธีปีนี้ มีการแสดงโชว์กระโดดร่มด้วย โดนนักโดดร่มบางคนบังคับร่มให้ลงมา landing ตรงถนนหน้าเวทีคนดูได้อย่างแม่นยำมาก นับถือฝีมือเลยจริงๆ เพราะคนเยอะมากๆ
และสิ่งที่มีกันทุกปี หากใครได้เดินไปด้านหลังๆของขบวนแห่ นั่นคือกลุ่มผีขี้โคลนครับ
โดยชาวบ้านจะถอดเสื้อออก และนำโคลนมาทาทั่วไปทั้งตัวครับ เข้าไปถ่ายรูปต้องระวังหน่อย เดี๋ยวจะได้โคลนติดมาเป็นหย่อมๆเหมือนผม (ฮา)
กางเกงบางคนก้อไม่ได้ตกแต่งอะไร บางคนเอาพวกใบตองมาแขวนไว้เหมือนชาวป่า ที่คอจะห้อยลูกประคำอันโตไว้ ส่วนมือก้อจะถือกระบองติดตัว
ระหว่างที่เดิน ผีขี้โคลนบางคนก้อจะเอาไม้กระบองทุบพื้นเป็นจังหวะตามเพลง ดูจากสีหน้าชาวบ้านที่มาร่วมประเพณีแล้ว ดูมีความสุขมากๆ
ประเพณีผีตาโขน เป็นประเพณีที่ขอบอกเลยครับ ว่าควรจะหาโอกาสไปชมสักครั้งหนึ่ง เพื่อนๆจะได้ชมผีตาโขนหลายสไตล์ หลากสีสัน พร้อมกับได้สัมผัสประเพณีวิถีชาวบ้านที่ยังคงสืบทอดต่อมาเรื่อยๆทุกปี สำหรับผมครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว ประเพณีการละเล่นก้อยังคงอนุรักษ์ไว้เหมือนเดิมทุกอย่าง จะต่างกันก้อแค่คนเยอะกว่าเดิมมากๆ ใครที่จะไปแนะนำให้ไปถึงด่านซ้ายแต่เช้าครับ จะได้เดินเล่นถ่ายรูปสบายๆ เพราะใกล้ๆเที่ยงคนจะเยอะมากๆครับ
ติดตามกันต่อได้ที่
https://www.facebook.com/voravuds
Voravud Santiraveewan
วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 09.23 น.