นี่ก้อใกล้จะเข้าหน้าหนาวแล้ว เพื่อนๆส่วนใหญ่ก้อนิยมขึ้นเหนือเพิ่อไปเที่ยวกัน วันนี้เราก้อจะขึ้นเหนือเหมือนกัน แต่ไม่ได้ไปขึ้นดอยที่ไหนนะครับ เราจะไปเที่ยววัดๆนึงในพะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งใน Unseen Thailand ซะด้วย วัดนี้จะมีอะไรที่น่าตื่นเต้นรออยู่ มาชมกันครับ

อ้อ รอบนี้มีอัด VDO พิเศษมาให้เพื่อนๆดูกันด้วยครับ ลองกดเข้าไปได้เลย รับรองว่าสวยงามมากๆ แต่แนะนำให้อ่านเนื้อหาให้หมดก่อนแล้วค่อยมาดู จะได้อรรถรสมากกว่านะครับ

วัดนันตาราม ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ ๑๓ บ้านทุ่งบานเย็น ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา เป็นวัดที่สร้างด้วยศิลปะแบบไทยใหญ่ ตัววัดสร้างจากไม้สักทั้งหลัง โดยมีการตกแต่งลวดลายในส่วนต่างๆอย่างสวยงาม

หลังคาของวัดนันตารามถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่ง เพราะจะมีลักษณะเป็นหลังคาหลายๆชั้น ซ้อนกัน โดยแต่ละชั้นก้อจะลดหลั่นกันไปอย่างสวยงาม

ด้วยสีของกระเบื้องมุงหลัง และสีของไม้ภายในตัวโบสถ์ ที่เป็นสีออกเข้มๆ ทมึนๆ ทำให้วัดนันตารามดูขลัง และศักดิ์สิทธิ์มากๆ โดยเฉพาะเมื่อเข้ามาในโบสถ์ที่เงียบสงบ พอผมเดินเข้าไปแล้วรู้สึกได้เลยว่า จิตใจสงบลงเยอะเลย

องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้สักทองลงรักปิดทอง ทรงเครื่องแบบไทยใหญ่ ประดิษฐานบนฐานไม้ที่ฉลุลวดลายอย่างสวยงาม โดยข้าง องค์พระประธาน มีพระพุทธรูปหินขาว และพระพุทธปฏิมาประธาน ไม้สักทองที่ต่างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องแบบไทยใหญ่อย่าง สมส่วนสวยงามประดิษฐานอยู่

สิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในวิหารก็คือ "ธรรมาสน์" สีทองเหลืองอร่ามฉลุลวดลายอ่อนช้อยสวยงาม ที่ทำจำลองมาจากราชบัลลังก์ ของพม่าตั้งโดดเด่นอยู่

ที่ตั้งวัดนันตารามในปัจจุบันแต่เดิมเป็นวัดร้างมาก่อน ชาวบ้านถือว่าเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ มีผู้พบเห็นลำแสงประหลาดลอยขึ้นเหนือบริเวณดังกล่าวในคืนวันเพ็ญบ่อยๆ และยังมีต้นโพธิ์เก่าแก่ต้นหนึ่งเด่นเป็นสง่าอีกด้วย จึงไม่มีใครบุกรุกหรือครอบครองแต่อย่างใด

ที่บริเวณนี้อยู่ติดกับบ้านพ่อเฒ่าอุบล และพ่อหม่องโพธิ์ขิ่น เมื่อมีพระภิกษุชาวไทยใหญ่เดินทางมาเยี่ยม จึงได้ปลูกเรือนพักชั่วคราวให้เป็นที่พำนักสงฆ์เหล่านั้น นานวันเข้าก็กลายเป็นที่รู้จักทั่วไปว่าเป็นที่พำนักสงฆ์ชาวไทยใหญ่

พ.ศ. ๒๔๕๐ พ่อหม่องโพธิ์ขิ่น ได้นำชาวบ้านทำการแผ้วถาง พัฒนาให้มีบริเวณกว้างยิ่งขึ้น รวมเนื้อที่ ๓ ไร่เศษ

พ.ศ. ๒๔๕๑ พ่อหม่องโพธิ์ขิ่น ได้นิมนต์อูว์วัณณะ พระภิกษุชาวไทยใหญ่ซึ่งเดินทางมาจากเมืองตองจี รัฐฉาน ประเทศพม่า ให้จำพรรษาและได้สร้างวิหารไม้มุงด้วยหญ้าคา บริเวณใกล้ๆกับต้นโพธิ์ จึงเรียกชื่อโดยทั่วไปว่าวัดจองคา(วิหารมุงด้วยหญ่าคา)

พ.ศ. ๒๔๖๗ แม่นางจ๋ามเฮิง บริจาคที่นา ประมาณ ๕ ไร่เศษ ให้กับวัดจองคา รวมเป็นเนื้อที่ ๘ ไร่ ๑ งาน ๗๒ ตารางวา (ตามโฉนดเลขที่ ๒๗ เลขที่ดิน ๕ หน้าสำรวจ ๒๗ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๑๔)

พ.ศ.๒๔๖๘ พ่อเฒ่านันตา(อู๋)วงค์อนันต์ ได้เป็นเจ้าภาพสร้างวิหารไม้สักหลังใหม่(หลังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้)

พ.ศ.๒๔๗๖ ได้อันเชิญพระพุทธรูปไม้สักทอง พระประธานวิหารวัดจองเหม่ถ่า อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งเป้นวัดของชาวไทยใหญ่ที่ถูกทิ้งร้าง มาประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารหลังใหม่ และในระหว่างวันที่ ๑-๑๕ มีนาคม ๒๔๗๗ ได้จัดงานฉลองวัดเป็นครั้งแรก และเปลี่ยนชื่อวัดจองคา เป็นวัดนันตาราม เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พ่อเฒ่านันตา(อู๋)และตระกูลวงศ์อนันต์

พ่อเฒ่านันตา(อู๋)วงศ์อนันต์ ผู้สร้างวัดนันตาราม (จองเหนือ)

..ตระกูลวงศ์อนันต์ของพ่อเฒ่านันตา(อู๋) เป็นตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่ง พ่อเฒ่านันตา(อู๋)วงศ์อนันต์ เป็นชาวชนเผ่าปะโอ เกิดที่เมืองจี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไทยใหญ่(บริเวณรัฐฉาน สาธารณรัฐเมียนม่าร์ในปัจจุบัน) พ่อเฒ่านันตา(อู๋) แต่เดิมเป็นพ่อค้าสามรถพูดได้หลายภาษา อพยพมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่(บ้านวัวลาย) มักนำผ้าใหม อัญมณีและเครื่องประดับ มาขายให้ชาวเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน จนเป็นที่รู้จักของบรรดาผู้ครองนครสมัยนั้นเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเจ้าผู้ครองนครน่าน(ไม่ทราบพระนาม) ได้ยกหลานสาวพระมเหสีองค์หนึ่ง(ไม่ทราบนาม)ให้เป็นภริยา (ต่อมาลูกหลานได้เรียกนามท่านว่า แม่เฒ่าก่ำ) โดยมอบหมายให้เป็นผู้แทนดูแลผลประโยชน์จากการทำไม้ กับบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าร์ ในเขตพื้นที่เชียงม่วน ปง ดอกคำใต้ จุน เชียงคำ เทิง และเชียงของ(กิจการทำไม้ขายให้กับฝรั่งเศล) จึงได้อพยพครองครัวมาอยู่ที่เชียงคำ และมีศรัทธาอย่างแรงกล้าจึงได้สร้างวัดนันตารามที่เห็นในปัจจุบันนี้ขึ้นมาไว้ใน พระศาสนานี้…

ก่อนจะกลับ อย่าลืมเข้าไปในวิหารเล็กๆข้างๆทางเข้านะครับ ข้างในประดิษฐานรูปจำลองของเจ้าแม่กวนอิมพันกรอยู่ โดยในแต่กรจะมีรูปทหารสีทองอร่ามยืนอยู่ ลองเข้าไปดูใกล้ๆครับ รูปจำลองของเจ้าแม่กวนอิมนี้ สวยงาม วิจิตรตระการตามากๆครับ ผมเคลิ้มมองอยู่ตั้งนาน

ใครแวะไปเที่ยวจังหวัดพะเยา อย่าลืมผ่านเข้าไปไหว้พระเยี่ยมชมนะครับ วัดนี้ถือว่ามีศิลปะที่โดดเด่นไม่เหมือนวัดไหนๆเลย แล้วเจอกันใหม่ครับ



-----------------------------------------------------------------------
ติดตามกันต่อได้ที่
https://www.facebook.com/TravelofSalaryMan/
https://www.facebook.com/voravuds

Voravud Santiraveewan

 วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 09.57 น.

ความคิดเห็น