เมื่อเอ่ยถึงจังหวัด "อ่างทอง" หลายคนอาจนึกสงสัยว่า เอ๊ะ.. อ่างทองเนี่ย อยู่พิกัดไหนของประเทศไทยกันนะ? หรือไม่ก็อาจจะรู้จักอ่างทองเพียงฉาบฉวย ประมาณว่านึกถึงอ่างทองจะนึกถึงวัดม่วง ซึ่งผมเองก็อยู่ในกลุ่มหลัง ผมรู้จักอ่างทองเพียงแค่วัดม่วง วัดไชโยวรวิหาร วัดต้นสน และวัดขุนอินทประมูลเท่านั้นจริงๆ ครับ

จนเมื่อผมได้เห็นหนังสือเล่มนี้ เปิดดูรูปทีละแผ่น อ่านรายละเอียดทีละหน้า เฮ้ย !! อ่างทองนี่มีอะไรมากกว่าที่คิดจริงๆ จุดนี้แหล่ะครับที่ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจ อยากจะทำความรู้จักอ่างทองให้มากขึ้นกว่าเดิม เมื่ออ่านหนังสือจบ ผมไม่รอช้า ไม่ต้องวางแผนล่วงหน้ากันหลายอาทิตย์ เพียงแค่รอวันหยุดเท่านั้น ออกเดินทางตามที่ตั้งใจ เพื่อไปสัมผัสความเป็น "อ่างทอง" อย่างเจาะลึกทุกซอกทุกมุม

ย้ำอีกครั้งว่า หากใครมาชวนคุณไปเที่ยว อ่างทอง ขอว่าอย่าเพิ่งร้อง ยี้... เพราะคิดว่าอ่างทองไม่มีอะไรที่น่าสนใจ ลองอ่านรีวิวนี้ให้จบก่อนนะครับ แล้วคุณค่อยเลือกว่าจะร้อง ยี้... หรือร้อง ว๊าว... ดี

ก่อนอื่นเรามารู้จัก "อ่างทอง" กันสักนิดครับ อ่างทองเป็นจังหวัดหนึ่งในทุ่งราบภาคกลาง มีพื้นที่ติดจังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยาและสุพรรณบุรี มีคำขวัญประจำจังหวัดคือ "พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ วีรไทยใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน" ครับ

ผมมาเปิดทริปที่วัดบ้านพราน เขตพื้นที่ อ.แสวงหา อำเภอทางเหนือสุดของอ่างทองครับ

วัดบ้านพรานสร้างมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีใครรู้ แต่จากที่เล่าบอกต่อกันมา ผู้ที่สร้างวัดนี้คือนายพาน นางเงิน (สามีและภรรยา) และนายกระปุกทอง ผู้เป็นบุตร สร้างขึ้นในสมัยยุคละโว้ตอนปลาย หลังจากที่สร้างวัดนี้ขึ้นมาประมาณ 100 กว่าปี วัดนี้ก็ถูกทิ้งร้างโดยไม่รู้สาเหตุ ร้างไปกว่า 200 ปี จนนายพรานได้มาสร้างบ้านอยู่ใกล้ๆ บริเวณวัดบ้านพรานจนเป็นหมู่บ้าน จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นมาใหม่ครับ

ที่วัดนี้มีจุดเด่นอะไร ทำไมผมถึงเลือกมา ขอตอบเลยว่าเพราะวัดนี้มีความไม่เหมือนใคร วิหารนั้นไซร้ตกแต่งด้วยเบญจรงค์ โดยที่ผนังด้านนอกทั้งสี่ของวิหาร ถูกปูด้วยกระเบื้องลวดลายไทยๆ สีฟ้า หน้าบันรวมถึงซุ้มประตูหน้าต่าง ตกแต่งด้วยกระเบื้องดินเผา มองดูงดงามมากๆ ฐานของวิหารโค้งเหมือนเรือสำเภา โดยรอบวิหารสังเกตเห็นโถเบญจรงค์ที่นำมาประดับอยู่ทั้งสี่ด้าน ผมมีโอกาสได้สนทนากับพระผู้ดูแลวัดแห่งนี้ ท่านเล่าให้ฟังว่าภายในโถเบญจรงค์จะเป็นที่บรรจุอัฐิแทนการบรรจุไว้ในโกศ เป็นกุศโลบายให้คนรุ่นหลังๆ หันมาดูแลโถเบญจรงค์ที่บรรจุอัฐิ รวมถึงดูแล ทำนุบำรุงวัดไปในตัวครับ

ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อของหลวงพ่อไกรทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอ่างทองมากว่า 900 ปี ตั้งแต่ยุคละโว้ องค์พระสร้างขึ้นด้วยหินทราย ชื่อหลวงพ่อไกรทอง "ไกร" หมายถึง จีวร สังฆาฏิ สบงของหลวงพ่อไกรทอง ตามคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า วันดีคืนดี เวลาเที่ยงคืน "ไกร" จะลุกเป็นทองสว่างไสวโชติช่วง บอกนิมิตอันดีต่อผู้พบเห็นครับ

ภายในวิหารมีจุดให้ญาติโยมได้ร่วมทำบุญตามกำลังศรัทธาเพื่อซื้อกระเบื้องที่จะนำไปประดับไว้ที่หน้าบันครับ

ด้านข้างของวิหารเบญจรงค์ จะมีต้นไม้ใหญ่ที่เติบโตมาคู่กัน 2 ต้น พระท่านให้ผมแหงนดูที่กิ่งของต้นไม้สองต้นนั้น กิ่งของทั้งสองต้นมันเชื่อมกันจนเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้วครับ

ด้านหลังของวิหารเบญจรงค์เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ ที่มีสีสันจัดจ้านด้วยสีเหลือง หน้าบันพระอุโบสถตกแต่งด้วยไม้สักแกะสลักอย่างสวยงาม

ภายในเป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธาน และรูปหล่อของอดีตเจ้าอาวาส รวมถึงพระบรมสารีริกธาตุที่สมเด็จพระญาณสั งวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงประทานให้ในวโรกาสเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปีครับ

ผมรู้สึกว่าวัดนี้เป็นวัดจริงๆ ที่นี่ไม่เห็นร้านดอกไม้ ไม่เห็นตู้รับบริจาคมากมายเหมือนวัดอื่นๆ ใครใคร่จะนำดอกไม้มาบูชาพระก็ต้องหามาเอง แต่ทางวัดจะจัดเตรียมธูปเทียนไว้ให้ครับ

ด้านหลังของ โบสถ์เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศรีบ้านพรานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ภายในมีวัตถุโบราณมากมายที่กรมศิลปากรถวายให้กับวัด ผมเข้าไปดูแล้วยังแอบนึกเสียวๆ แทนทางวัดอยู่เหมือนกัน เพราะอาคารพิพิธภัณฑ์มันดูไม่มีความปลอดภัยต่อทรัพย์สินที่ตีมูลค่าไม่ได้ได้เลย อาคารเป็นปูนที่มีผนังเป็นกระจกอยู่เกือบทุกด้าน ไม่มีเหล็กดัดกันขโมย มีเพียงกุญแจล๊อกประตูแค่อย่างเดียว

จากอำเภอแสวงหา ผมมาต่อที่อำเภอไชโย โดยจุดหมายแรกอยู่ที่วัดไชโยวรวิหารครับ

วัดไชโยวรวิหาร หรืออีกชื่อหนึ่ง วัดเกษไชโย เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อไรไม่มีหลักฐานแน่ชัด ในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ได้มาสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ (หลวงพ่อโต) องค์พระเป็นปูนขาวไม่ปิดทอง ขนาดใหญ่ไว้กลางแจ้ง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ มานมัสการและโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้น แต่แรงสั่นสะเทือนระหว่างการลงฐานรากพระวิหารทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร และพระราชทานนามว่า พระมหาพุทธพิมพ์ มีการจัดงานฉลองซึ่งนับเป็นงานใหญ่ที่สุดของจังหวัดอ่างทองในสมัยนั้น

สัดส่วนขององค์หลวงพ่อโตดูผอมสูง พระพักตร์เรียวยาว ซึ่งผิดแปลกจากองค์พระทั่วๆ ไปที่ผมเคยเห็นมา พระพักตร์ของพระทั่วไปที่ผมเห็นจะดูอวบอิ่ม ถึงแม้สัดส่วนขององค์หลวงพ่อโตจะดูแปลกแต่ก็ถือว่างดงามไปอีกแบบ ด้วยลักษณะที่องค์หลวงพ่อโตสูงใหญ่ จึงทำให้วิหารที่สร้างครอบองค์พระสูงใหญ่ตามไปด้วย เมื่อเราเลี้ยวรถเข้ามาในบริเวณวัดจะมองเห็นวิหารได้อย่างชัดเจนเลยครับ

ติดกับพระวิหารหลวงพ่อโต จะมีพระอุโบสถซึ่งก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงาม ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตารามด้วย ขอแนะนำเลยว่าหากใครมานมัสการองค์หลวงพ่อโต อย่าลืมเข้ามาชมจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถด้วยนะครับ

อีกหนึ่งจุดที่ไม่ควรพลาดคือวิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรมรังสี ซึ่งตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาเลย ด้านในวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี แห่งวัดระฆังโฆสิตารามองค์ใหญ่มากๆ ครับ


ด้านข้างของลานจอดรถจะเป็นตลาดเล็กๆ ที่มีทั้งอาหารและของฝากมากมาย แต่ที่แนะนำว่าไม่ควรพลาดคือขนมกง ซึ่งจะมี 2 ไส้ ให้เลือกซื้อหา คือไส้งาดำ และไส้ถั่ว ผมมาที่วัดนี้เมื่อไรก็จะไม่พลาดที่จะซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับไปครับ

อ้อ ลืมบอกไปว่า วัดเกษไชโย คือหนึ่งในคำขวัญเมืองอ่างทองครับ

จากอำเภอไชโย ไปต่อกันที่อำเภอโพธิ์ทอง จุดหมายแรกในเขตอำเภอโพธิ์ทองอยู่ที่วัดขุนอินทประมูลครับ

เมื่อเลี้ยวรถเข้ามาในบริเวณวัดขุนอินทประมูลจะพบกับพระนอนองค์ใหญ่ 1 ใน 2 พระนอน ที่อยู่ในคำขวัญเมืองอ่างทอง ตั้งอยู่กลางแจ้งเลยครับ

วัดขุนอินทประมูลสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานว่าเป็นวัดขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับซากอิฐแนวเขตเดิม ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่มีชื่อว่า พระศรีเมืองทอง ความยาววัดจากปลายพระเมาลีถึงปลายพระบาทได้ 50 เมตร (25 วา) เป็นองค์พระนอนที่ยาวเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากพระนอนวัดบางพลีใหญ่กลาง จ.สมุทรปราการ เพียง 3 เมตรเท่านั้น เดิมพระศรีเมืองทองประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เหลือแต่องค์พระและซากเสาวิหารตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อยๆ ปี

ผมเคยมาที่วัดแห่งนี้รวม 3 ครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันพิเศษก็ว่าได้ เพราะครั้งนี้องค์พระห่มจีวรสีทองอร่าม ยิ่งทำให้องค์พระดูงดงามยิ่งนัก

หากมาสักการะพระศรีเมืองทองแล้ว ให้ไปสัมผัสที่ฝ่าพระบาทของพระศรีเมืองทอง ว่ากันว่าท่านจะประทานพรให้มีอายุยืนยาวครับ

ด้านข้างของพระศรีเมืองทอง จะพบซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาวตั้งอยู่บนเนินเตี้ยๆ ซึ่งวิหารเหลือเพียงฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป และเริ่มจะมีรากของต้นโพธิ์ขึ้นปกคลุม

ติดกับโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว จะเห็นศาลาเอนกประสงค์เล็กๆ ซึ่งเป็นที่จำหน่ายดอกไม้ บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของรูปปั้นขุนอินทประมูล รวมถึงโครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดพบในเขตวิหาร มีลักษณะนอนคว่ำหน้า มัดมือมัดเท้าไพล่อยู่ด้านหลัง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกของขุนอินทประมูลครับ

ด้านหลังของพระศรีเมืองทอง เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถร้อยล้าน ผมว่าอุโบสถแห่งนี้น่าจะทันสมัยที่สุดในประเทศไทยแล้วครับ

อุโบสถแห่งนี้มี 2 ชั้น โดยที่ชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้าง และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรครับ

ตามที่ผมเกริ่นไปในตอนต้นว่า อุโบสถแห่งนี้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทยนั้น ก็เพราะที่นี่มีทั้งลิฟต์และบันไดเลื่อน นอกจากนั้นยังติดแอร์ด้วยครับ

เมื่อบันไดเลื่อนค่อยๆ พาผมเลื่อนตัวขึ้นมาบนชั้นที่ 2 ผมเองต้องสะดุดตากับจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นรูปเหล่าเทวดาและนางฟ้าที่ดูอินเทรนมากๆ ไม่ว่าจะสวมเสื้อผ้าที่ดูทันสมัย ในมือถือ iPad / iPhoneรวมถึงเล่นกีต้าร์ด้วย

บริเวณชั้นสองเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามงคลจินดาพลบพิธ ที่มีพระพักตร์อิ่มเอิบ ด้านหน้ามีต้นโพธิ์เงิน โพธิ์ทอง ชั้นนี้ตกแต่งออกโทนสีน้ำตาล ดูงดงามมากครับ

ด้านข้างของพระพุทธมหามงคลจินดาพลบพิธจะพบหุ่นขี้ผึ้งของเกจิชื่อดังในเมืองไทยหลายองค์เลยครับ

และที่สะดุดตาผมเห็นจะเป็นจิตกรรมฝาผนังด้านฝั่งตรงข้ามองค์พระ ที่เป็นภาพมุมกว้างของวัดแห่งนี้พร้อมด้วยญาติโยมนับร้อยนับพันคน หากสังเกตดีๆ ญาติโยมแต่ละคนจะมีรูปวาดที่เหมือนจริง ดูแล้วคล้ายกับภาพถ่ายเลยครับ

และอีกหนึ่งจุดสำคัญในวัดนี้เห็นจะเป็นรูปหล่อขนาดใหญ่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถครับ

จากวัดขุนอินทประมูล ผมไปต่อที่วัดท่าอิฐ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดขุนอินทประมูลมากนัก

วัดท่าอิฐ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ.2304 เข้าใจว่าบริเวณที่ตั้งเดิมเป็นที่ปั้นเผาอิฐที่นำไปก่อสร้างวัดขุนอินทประมูล และเมื่อได้สร้างวัดขึ้นจึงขนานนามว่าวัดท่าอิฐครับ

ในวัดท่าอิฐมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหลวงพ่อขาว พระพุทธรูปที่สร้างในสมัยอยุธยา และอีกองค์คือหลวงพ่อเพ็ชร ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถ ตอนที่ผมไปทางวัดกำลังบูรณะพระอุโบสถใหม่ทั้งหมด จึงได้นำจีวรมาห่อหุ้มหลวงพ่อเพ็ชรเอาไว้ครับ

แต่สิ่งที่สะดุดตาผมตั้งแต่เลี้ยวรถเข้ามาในบริเวณวัดเห็นจะเป็นพระธาตุเจดีย์ศรีโพธิ์ทอง ตั้งสูงเด่นเป็นสง่าฉาบด้วยสีทองอร่าม สว่างมลังเมลือง เจดีย์นี้สร้างเมื่อ พ.ศ.2535 มีลักษณะเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม มีองค์ระฆังและปล้องไฉน 32 ปล้อง กว้าง 40 เมตร สูง 73 เมตร รูปแบบศิลปะแบบลังกา-อยุธยา และรัตนโกสินทร์

ภายในเจดีย์ศรีโพธิ์ทอง บริเวณชั้นล่างมีพระพุทธรูปตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบ

เจดีย์ศรีโพธิ์ทองมีทั้งหมด 10 ชั้น แต่ละชั้นจะมีพระพุทธรูปอยู่ตรงกลางเจดีย์ ขอเตือนผู้ที่จะขึ้นไปชั้นบนสุดว่า ค่อยๆ เดินขึ้นไปเรื่อยๆ นะครับ เพราะถ้าหากรีบเดินจะเหนื่อยมากๆ ผมเองเดินขึ้นไปคนเดียวเพราะเพื่อนๆ ร่วมทริปขอรออยู่ที่ชั้นล่าง ด้วยอาการที่กลัวว่าเพื่อนๆ จะรอนาน เลยรีบจ้ำอย่างรวดเร็ว เดินขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณชั้น 6 เริ่มเกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว รู้สึกว่าชีพจรที่ขมับจะเต้นรุนแรงมาก ประกอบกับอากาศที่ร้อน ทำให้เหงื่อท่วมกาย คล้ายจะเป็นลม นึกในใจว่าถ้าหากเป็นลมล้มพับไปจะมีใครช่วยได้ทันไหม จึงค่อยๆ นั่งพักให้หายเหนื่อย ในใจก็คิดว่าจะเดินขึ้นต่อไปหรือจะเปลี่ยนใจเดินลงดี แต่มานึกอีกที เสียแรงมาขนาดนี้แล้ว คงไม่ยอมเหนื่อยฟรีแน่ๆ เลยกัดฟันเดินขึ้นไปให้สุด จะได้รู้ด้วยว่าด้านบนมีอะไร และจะได้ชมวิวมุมสูงด้วย

ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระศอของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราไม่สามารถมองเห็นพระบรมสารีริกธาตุได้ เนื่องจากทางวัดได้สร้างเป็นเจดีย์องค์เล็กๆ ครอบไว้ ด้านบนสุดไม่สามารถชมวิวมุมสูงได้นะครับ แต่จะสามารถชมวิวภายนอกได้ตั้งแต่ชั้น 9 ลงมา สำหรับวิวด้านนอก สามารถมองเห็นวัดขุนอินทประมูล รวมถึงหลวงพ่อใหญ่แห่งวัดม่วงได้ด้วยครับ

จากอำเภอโพธิ์ทอง ขยับต่อมายังอำเภอเมือง จุดหมายแรกในอำเภอเมืองคือวัดสังกระต่ายครับ

วัดสังกระต่าย เดิมชื่อ วัดสามกระต่าย สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา ประมาณ 400-500 ปีมาแล้ว สมัยนั้นมี พระภิกษุสงฆ์มาจำพรรษาอยู่นาน ต่อมาพระภิกษุสงฆ์เกิดทะเลาะวิวาทกันขึ้นและทะเลาะกันเรื่อยมา ชาวบ้านเชื่อกันว่าสาเหตุน่าจะมาจากเรื่องของเจ้าที่ที่สิงสถิตในบริเวณวัดแรงมาก จึงทำให้พระสงฆ์ไม่สามัคคีกัน ต้องแยกย้ายกันไปคนละที่คนละทาง จนในที่สุดชาวบ้านเริ่มเสื่อมศรัทธาไม่เข้ามาทำบุญ พระสงฆ์ไม่มีจำวัด กลายเป็นวัดร้าง ทำให้วัดสังกระต่ายเหลือเพียงโบสถ์ร้างที่ถูกปกคลุมไปด้วยต้นโพธิ์อย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ผนังโบสถ์อยู่ในสภาพที่เก่าแก่ ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ถึงแม้จะมีรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ แต่ตัวโบสถ์ก็ยังอยู่ได้โดยไม่พังทลายลงมา เพราะได้รากต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ทั้ง 4 ต้นที่ขึ้นปกคลุมอยู่โดยรอบได้ชอนไชยึดผนังโบสถ์ไว้ทั้งหลังอย่างแน่นหนา ภายในโบสถ์มีทั้งหมด 3 ห้องครับ

ห้องแรกเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อแก่น ด้านหลังขององค์พระยังเห็นรากของต้นโพธิ์ขดพันกันไปมาอยู่เต็มไปหมดครับ

ห้องที่สองเป็นที่ประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ 1 องค์ คือ หลวงพ่อวันดี และอีก 2 องค์มีขนาดย่อมลงมา คือหลวงพ่อศรี และหลวงพ่อสุขครับ

ห้องสุดท้ายเป็นห้องว่างเปล่าครับ

ถึงโบสถ์แห่งนี้จะไม่มีหลังคา แต่ยังให้ความรู้สึกที่ร่มรื่นจากร่มเงาของต้นโพธิ์ที่ปกคลุม จนเปรียบเสมือนหลังคาไปแล้ว วัดสังกระต่ายอาจดูคล้ายๆ กับโบสถ์วัดบางกุ้ง จ.สมุทรสงคราม แต่ผมว่าโบสถ์หลังนี้ดูจะใหญ่กว่าและเก่ากว่ามากครับ

ณ จุดนี้ ผมอยากจะวิงวอนนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามที่ทางวัดแจ้งไว้ คืออย่าปีนหน้าต่าง เพราะจะทำให้โบราณสถานแห่งนี้เกิดความเสียหายนะครับ กราบบ

จากวัดสังกระต่าย เราไปกันต่อที่วัดต้นสนครับ

สันนิษฐานว่าวัดต้นสนสร้างตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเหตุเพราะตอนที่ได้ถอนโบสถ์เก่าออกนั้น พระเณรได้ขุดลูกนิมิตเก่าขึ้นมา ปรากฏว่าในหลุมลูกนิมิตกลางโบสถ์มีแต่เบี้ยจั่น ซึ่งเป็นเบี้ยที่ใช้กันในสมัยนั้น อีกทั้งยังพบโลหะเป็นแผ่นก็ผุเป็นสนิมจนไม่รู้ว่าเป็นแผ่นอะไร

จุดเด่นของวัดต้นสนอยู่ภายในวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีนามว่า สมเด็จพระนะวะโลกุตตะระธมมะบดีศรีเมืองทอง หรือเรียกสั้นๆ ว่า สมเด็จพระศรีเมืองทอง ซึ่งหล่อด้วยโลหะลงรักปิดทองทั้งองค์ มีขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 1 ศอก 19 นิ้ว นับว่าเป็นพระโลหะหล่อที่ใหญ่ที่สุดในโลกประเภททองเหลืองทั้งองค์ครับ

ภายในวิหารมีการใช้สีน้ำเงินและสีทองเข้ามาตกแต่งเป็นลวดลายจิตรกรรมที่อยู่บนเสาวิหาร ทำให้ดูงดงามไปอีกแบบ พื้นที่ด้านหน้าขององค์สมเด็จพระศรีเมืองทองเต็มไปด้วยตู้วัตถุมงคลมากมาย สามารถเลือกเช่าบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวได้ครับ

ออกจากวัดต้นสน เราแวะสักการะศาลหลักเมืองอ่างทองเพื่อเป็นสิริมงคลกันต่อครับ

ศาลหลักเมืองอ่างทองอยู่ฝั่งตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารจัตุรมุข ศาลหลักเมืองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่สถิตย์ของเทพารักษ์พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง จะปกปักรักษาและปัดเป่าภัยพิบัติต่างๆ เพื่อให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองและประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขครับ

การสร้างศาลหลักเมืองจะมีพิธีการตัดไม้มงคลเพื่อนำมาเป็นศาลหลักเมือง มีการบวงสรวงก่อนตัดไม้มงคลโดยโหรหลวงจากสำนักพระราชวัง สำหรับศาลหลักเมืองของจังหวัดอ่างทองเป็นศาลหลักเมืองแห่งที่ 2 ต่อจากศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง สวยงามมากๆ ครับ

หากใครมาสักการะศาลหลักเมืองแล้วเกิดหิวขึ้นมา ฝั่งตรงข้ามศาลหลักเมืองจะมีร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีกอยู่ร้านหนึ่ง อร่อยมากๆ ครับ

ร้านก๋วยเตี๋ยวจะเป็นอาคารพานิชย์ 2 คูหา หาไม่ยากเพราะอยู่ริมถนน ฝั่งตรงข้ามกับศาลหลักเมืองครับ

ผมโดนใจอย่างมากกับก๋วยเตี๋ยวต้มยำครับ รสชาติจี๊ดจ๊าดแบบไม่ต้องปรุงเลย สนนราคาชามละ 20 บาทครับ

อีกเมนูที่ไม่ควรพลาดคล้ายๆ กับเกาเหลาตีนไก่ครับ อร่อยมากๆ อีกเช่นกัน น้ำเกาเหลารสชาติเดียวกับก๋วยเตี๋ยว แต่ที่เด็ดคือความเปื่อยของตีนไก่ เรียกได้ว่าดูดเนื้อตีนไก่จนไม่มีเนื้อติดกระดูกเลยครับ สนนราคาถ้วยละ 35 บาทครับ

จากศาลหลักเมืองอ่างทอง ผมยังคงวนเวียนอยู่ในเขตอำเภอเมืองกันต่อ จุดหมายต่อไปอยู่ที่วัดจันทรังษีครับ

วัดจันทรังษี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2446 ภายในวัดมีวิหารจัตุรมุข มียอดบุษบกกลาง 5 ชั้น สูง 48 เมตร กว้าง 24 เมตร ยาว 33 เมตร มี สถาปัตยกรรมอันวิจิตรงดงามที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาใน จังหวัดอ่างทอง ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ (หลวงพ่อสด จันทสโร) ซึ่งหล่อด้วยโลหะองค์ใหญ่ มีขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร 9 นิ้ว สูง 9 เมตร 9 นิ้ว หนัก 45 ตันครับ

ว่ากันว่าหากได้มากราบขอพรองค์หลวงพ่อสดแล้ว ให้มาสัมผัสลูกแก้วที่ฐานพระ ท่านจะประทานพรให้เรื่องสุขภาพแข็งแรง สดใส หน้าตางดงามครับ

ภายในวัดจันทรังษี ยังมีอีกหนึ่งจุดที่ไม่ควรพลาด นั่นคือศาลเจ้าแม่กวนอิม โดยเป็นเจ้าแม่กวนอิมที่ทำจากไม้ทั้งสิ้น และที่สำคัญไม่ได้มีแค่องค์เดียว แต่มีถึง 4 องค์ ยืนหันหลังชนกันครับ

และสถานที่สุดท้ายในเขตอำเภอเมืองที่ผมแวะชม นั่นคือวัดจำปาหล่อครับ

วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุหลายร้อยปีเช่นกัน เคยเป็นที่พักของกองทัพพระนเรศวร ผมไม่มีรายละเอียดของวัดนี้เลย แต่ที่ผมเลือกมาวัดนี้เพียงเพราะต้องการจะมาสักการะพระปางป่าลิไลยก์ ซึ่งจะคล้ายๆ กับพระปางป่าลิไลยก์ที่วัดสี่ร้อย ซึ่งผมจะไปเที่ยวด้วยเช่นกัน ภายในวัดมีโบสถ์มหาอุต แต่ตอนที่ผมไปโบสถ์ปิด เลยไม่สามารถเข้าไปชมได้ นอกจากนี้ยังมีองค์เจดีย์เก่าให้เห็นอยู่บ้างครับ

จากอำเภอเมือง ผมไปต่อที่อำเภอวิเศษชัยชาญ โดยแวะเที่ยวที่วัดม่วงเป็นแห่งแรก

เดิมวัดม่วงเป็นวัดร้างที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาเมื่อครั้งพม่ายกทัพมาตีไทยและได้จุดไฟเผาเสียหายมาก คงเหลือไว้เพียงพระพุทธรูปหินศิลาแลงเนื้อหินสีขาว อยู่เพียงครึ่งองค์โผล่อยู่เหนือเนินดิน องค์พระนี้มีนามว่า "ขาว" ต่อมาหลวงพ่อเกษม อาจารสุโภได้หล่อปั้นด้วยเนื้อปูนหุ้มให้เต็มองค์ จากนั้นท่านก็บูรณะวัดม่วงขึ้นใหม่

เมื่อเข้ามาด้านในวัด ด้านขวามือจะพบกับอุโบสถ ที่ฐานของอุโบสถสร้างเป็นดอกบัว ดูสวยงามแปลกตามาก บริเวณโดยรอบอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆพระประจำวัน และรูปหล่อพระเกจิอยู่โดยรอบของกลีบดอกบัว สำหรับด้านในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานพระพุทธชินราชพร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย-ขวาพร้อมภาพเขียนพระพุทธประวัติสีสันสดใสอยู่โดยรอบอุโบสถครับ

ถัดจากอุโบสถเป็นที่ตั้งของพระวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล ตัววิหารเป็นศิลปะผสมแบบไทย-จีน มีพญานาคสีทองและสีเงินเลื้อยอยู่ที่ราวบันได ภายในวิหารแก้วประดับด้วยแก้วชิ้นเล็กๆ จำนวนมาก ดูไม่ต่างจากวิหาร 100 เมตรที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานีเลย แต่วิหารที่นี่จะเล็กกว่าที่วิหาร 100 เมตรมาก ในวิหารเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเงิน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่สร้างด้วยเนื้อเงินแท้องค์แรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อของเกจิอาจารย์ชื่อดังจากทั่วประเทศตั้งอยู่โดยรอบ

ด้านซ้ายมือของพระวิหารแก้วเป็นที่ตั้งของวิหารเจ้าแม่กวนอิมปางพันมือที่ดูงดงามมากๆ ครับ

ส่วนด้านขวามือเป็นพื้นที่ที่จำลองแดนนรก เพื่อคอยเตือนใจญาติโยมไม่ให้ทำผิดศีลธรรมหรือทำความชั่ว จากดินแดนนรกนี้เอง สามารถเดินทะลุไปยังพื้นที่ทางด้านหลังวัด เพื่อจะไปยังหลวงพ่อโต หนึ่งในคำขวัญของจังหวัดอ่างทอง และเป็นพระพุทธรูปองค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ

พระพุทธมหานวมินทรศากยมุณี ศรีวิเศษชัยชาญ เป็นพระพุทธรูปที่มีข้อมูลว่าใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดหน้าตักกว้าง 63 เมตร สูง 95 เมตร ใช้เวลาก่อสร้างกว่า 18 ปี ด้วยมูลค่าก่อสร้าง 50 ล้านบาท ว่ากันว่าถ้าได้ไปสัมผัสที่ปลายพระหัตถ์พระพุทธเจ้าองค์ใหญ่แล้ว ท่านจะประทานพรให้ตำแหน่งหน้าที่การงาน กิจการเจริญรุ่งเรืองเป็นใหญ่เป็นโตครับ

อยากจะแนะนำสำหรับผู้ที่จะมากราบไหว้ขอพรจากหลวงพ่อใหญ่ว่า ช่วงเวลาที่เหมาะคือช่วงเช้าๆ และช่วงเย็นๆ ครับ เนื่องจากบริเวณที่จะขึ้นไปสักการะหลวงพ่อใหญ่นั้น ปูกระเบื้อง เวลาที่จะขึ้นไปขอพร เราจะต้องเดินเท้าเปล่าขึ้นไปยังด้านบน หากไปช่วงที่แดดจัด จะทำให้กระเบื้องดูดความร้อน เวลาเดินจะร้อนเท้ามากๆต้องอาศัยวิชาเต้นบัลเลย์โดดตัวลอยไปทีละก้าวสองก้าวเพื่อขึ้นไปสักการะหลวงพ่อใหญ่แทนการเดินครับ

เวลาล่วงมาบ่ายโมงกว่าแล้ว ผมเลยขอแวะเติมพลังกันที่ร้านนิรมิต ซึ่งตั้งอยู่ในตลาดวิเศษชัยชาญกันก่อนครับ

ร้านนิรมิตเป็นร้านอาหารไทย ที่มีบรรยากาศร่มรื่น มีทั้งในส่วน indoor และ outdoor ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อยครับ มาช่วงบ่ายแบบนี้ผมขอเลือกเข้าไปนั่งในห้องแอร์ดีกว่าครับ

มื้อบ่ายนี้เริ่มด้วยทอดมันปลากราย เนื้อทอดมันเหนียวนุ่มดีครับ

ตามมาด้วยปลากะพงทอด เสิร์ฟพร้อมน้ำราด 2 แบบ แบบแรกรสชาติอมเค็มอมหวาน อีกแบบเป็นน้ำยำเปรี้ยวๆ พร้อมมะม่วงซอยครับ

ผัดคะน้าปลาเค็ม รูปร่างหน้าตาแบบไม่เคยเห็นที่ไหนจากที่ลองชิมแล้วจินตนาการถึงวิธีการทำเหมือนกับการเอาปลาเค็มมาผัดกับหมูสับ (คล้ายๆ กับเมนูหมูผัดหนำเลี๊ยบ) แล้วนำมาราดบนผัดคะน้า รสชาติพอได้ครับ

ปลาเนื้ออ่อนผัดพริกขิง อันนี้ก็หน้าตาแปลกครับ ปกติเวลาสั่งผัดพริกขิง ที่ผมเคยเจอส่วนใหญ่จะเป็นการนำเอาปลาดุกมาสับฝอยแล้วนำไปทอดคลุกเคล้ากับเครื่องแกง แต่ที่นี่นำปลาเนื้ออ่อนมาผัดกับพริกแกงพร้อมด้วยผักบุ้ง แปลกไปอีกแบบครับ

ต้มยำปลาคัง ผมว่ารสชาติยังไม่ค่อยจี๊ดจ๊าดสักเท่าไร

และเมนูที่ทางร้านแนะนำคือแกงเรียง รสชาติโอเคอยู่ครับ

นอกจากร้านนี้จะขายอาหารแล้ว ด้านหน้าร้านยังมีขนมไทยจำหน่ายเป็นของฝากด้วยครับ

หลังอิ่มท้องแล้ว เดินทางกันต่ออีกนิดหน่อย เพื่อไปยังวัดนางในธัมมิการาม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากร้านนิรมิตครับ

วัดนางในธัมมิการามเป็นวัดประจำตำบลศาลเจ้าโรงทอง จุดเด่นอยู่ที่หอบูรพาจารย์ ซึ่งเป็นสถานที่อันเป็นที่รวมแห่งความเป็นสิริมงคลทั้งของที่วัดนางในและวัดต่างๆ ในจังหวัดอ่างทอง หอบูรพาจารย์นี้ ดั้งเดิมเป็นกุฏิหลังเก่าทรงปั้นหยา ซึ่งหลวงพ่อนุ่ม และหลวงพ่อชม อดีตเจ้าอาวาสองค์สำคัญของวัดนางในท่านใช้จำพรรษามาหลายสิบปี เมื่อกาลเวลาผ่านไป สิ่งของต่างๆ ก็ทรุดโทรม จนกุฏิหลังเก่าที่ครูบาอาจารย์ท่านเคยจำพรรษาไม่สามารถจะบูรณะซ่อมแซมได้ ทางท่านเจ้าอาวาส คือ พระมหาวีระ วีรญาโณ จึงได้คิดสร้างหอบูรพาจารย์ขึ้น เพื่อเชิดชูบารมีหลวงพ่อนุ่ม ธัมมาราโม และหลวงพ่อชม ธัมมธีโร

หอบูรพาจารย์หลังนี้เป็นทรงปั้นหยา ตามสถาปัตยกรรมของกุฏิหลังเดิมที่รื้อถอนออกไป ด้านในเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อ หลวงพ่อนุ่มขนาดเท่าองค์จริง, อัฐิธาตุ และฟันขององค์หลวงพ่อ และยังเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อชมขนาดเท่าองค์จริง นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารของหลวงพ่อนุ่มและหลวงพ่อชมด้วยครับ

สังเกตที่บริเวณฐานรูปหล่อหลวงพ่อนุ่มดูนะครับ จะเห็นน้ำอัดลมอยู่เยอะพอสมควร ชาวบ้านที่เคยมาบนบานศาลกล่าว แล้วได้ตามใจหวังจะนำน้ำอัดลมมาแก้บน โดยน้ำอัดลมก็จะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เห็นว่าบางรายนำมาแก้บนนับหมื่นขวดเลยทีเดียว สำหรับน้ำอัดลมที่ญาติโยมนำมาแก้บน ทางวัดจะนำไปร่วมตามงานบุญ ตามพิธีการต่างๆ รวมถึงไปช่วยกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ตามโรงเรียนและเทศกาลต่างๆ อยู่เป็นประจำครับ

ฝั่งตรงข้ามวัดนางในธัมมิการามจะเป็นตลาดศาลเจ้าโรงทอง (ตลาดร้อยปี) ครับ

ตลาดศาลเจ้าโรงทองเป็นตลาดเก่าเล็กๆ ที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2550 จากสมเด็จพระเทพฯ ภายในชุมชนตลาดศาลเจ้าจะเป็นชุมชนชาวจีนเสียเป็นส่วนใหญ่ มีการปลูกสร้างอาคารเป็นเรือนแถวครับ

ตลาดแห่งนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อรอรับนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นตลาดที่คนอ่างทองได้เข้ามาซื้อหาจับจ่ายเหมือนกัน ร้านรวงมีตั้งแต่ร้านขายของใช้ในครัวเรือนหรือใช้ในชีวิตประจำวัน

รวมถึงร้านขายของฝากอย่างร้านทรงนิมิต ซึ่งเป็นร้านขายขนมไทยชื่อดังของเมืองอ่างทอง ทำขนมกันแบบสดๆ ใหม่ๆ เลยครับ

ไม่ไกลจากตลาดศาลเจ้าโรงทองเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อกวนอู สำหรับการเดินทางมาที่ศาลเจ้าพ่อกวนอูไม่สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดที่หน้าศาลเจ้าได้ เพราะเส้นทางที่จะเข้าไปยังศาลเจ้าเป็นเพียงถนนเส้นเล็กๆ ที่ผ่านแหล่งชุมชนเท่านั้น

ศาลเจ้าพ่อกวนอูสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทราของชุมชนชาวจีนที่อาศัยอยู่ในชุมชน เพื่อเคารพกราบไหว้ในงานเทศกาลต่างๆ ในปี 2547 ชาวตลาดศาลเจ้าโรงทองได้ทำการบูรณะซ่อมแซมอาคารศาลเจ้าพ่อกวนอูใหม่ทั้งหมด จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2550

ประตูไม้บานใหญ่นี้แหล่ะ เป็นที่ถูกอกถูกใจของเหล่าสมาชิกของผมยิ่งนัก

ภายในงดงามมากๆ ครับ

ด้านในประดิษฐานเล่าโจ้

ไต่ฮงโจวซือ

บุ่งเชียงตี้กุง

โหงวโจ้วเสี่ยงชือ

และมีพระพุทธรูปประดิษฐานรวมอยู่ด้วยครับ


ตามผนัง มีจิตกรรมที่สวยงาม บางจุดมีรูปปั้นลอยนูนออกมาผนังด้วยครับ

บริเวณหลังคาของศาล มีมังกร 2 ตัว ลวดลายละเอียดอ่อนมากครับ

มีเสาทีกงเต็งอยู่ด้านศาลเจ้าครับ หากใครมาเที่ยวที่วิเศษชัยชาญแล้วพอมีเวลาเหลือ แนะนำว่าไม่ควรพลาดมาเที่ยวชมที่นี่กันนะครับ

จุดหมายต่อไปอยู่ที่วัดเขียน วัดแห่งนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังครับ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังจะอยู่ในพระอุโบสถเก่าๆ หลังนี้ครับ พระอุโบสถจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชมความงามของจิตรกรรมฝาผนัง 2 ช่วงเวลา คือช่วงเวลา 09.00 – 10.00 น. และช่วงเวลา 13.00 – 15.30 น. ครับ

เมื่อก้าวผ่านประตูโบสถ์เข้าไป เหมือนได้ย้อนเข้าไปอยู่ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เห็นคือของเก่าทั้งหมด ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทศชาติชาดก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสกุลเมืองวิเศษชัยชาญ สมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงแม้ว่าภาพเขียนจะสึกหรอไปเยอะแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเห็นถึงความงดงามและความขลังของโบสถ์แห่งนี้เป็นอย่างมากครับ วัดนี้เป็นอีกหนึ่งวัดที่แนะนำว่าไม่ควรพลาดหากมาเที่ยวที่วิเศษชัยชาญครับ

สำหรับสถานที่สุดท้ายในอำเภอวิเศษชัยชาญที่อยากจะแนะนำนั่นคือวัดสี่ร้อยครับ ชื่อของวัดสี่ร้อยสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ขุนรองปลัดชู และชาวบ้านวิเศษชัยชาญ 400 คน ที่เสียชีวิตในสงครามระหว่างไทยและพม่าที่เมืองกุยครับ

จุดที่น่าสนใจของวัดสี่ร้อยอยู่ที่ หลวงพ่อโต หรือที่รู้จักกันดีอีกชื่อหนึ่งว่า "หลวงพ่อร้องไห้" เป็นพระพุทธรูปปางป่าลิไลย์สูง 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ เมื่อปี พ.ศ.2530 มีข่าวใหญ่ว่าหลวงพ่อวัดสี่ร้อยมีโลหิตไหลออกมาจากพระนาสิก เป็นข่าวที่โด่งดังมากในสมัยนั้น หลวงพ่อโตองค์นี้ใช้เวลาสร้าง 19 ปี และวัดสี่ร้อยนี้เองที่ผมเคยเกริ่นไว้ที่วัดจำปาหล่อ ว่ามีพระพุทธรูปปางป่าลิไลย์เช่นกัน แต่ผมว่าที่วัดสี่ร้อยดูงดงามกว่าวัดจำปาหล่อครับ

สำหรับใครที่แวะมาไหว้หลวงพ่อโตแล้ว อย่าลืมมาลอดพระเพลา (ใต้ขา) เพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวเองด้วยนะครับ

ด้านหลังขององค์หลวงพ่อโต จะมีพระอุโบสถ เดิมทีด้านในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่มากๆ แต่เนื่องจากผ่านระยะเวลามายาวนาน ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังเลือนหายไปหมด ปัจจุบันทางวัดได้ทาสีขาวไว้โดยรอบของพระอุโบสถครับ

ด้านข้างของพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของวิหาร ซึ่งดูไม่ค่อยจะเหมือนวิหารสักเท่าไร แต่ดูเหมือนศาลาเอนกประสงค์ซะมากกว่า ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ รวมถึงรอยพระพุทธบาทด้วยครับ

และด้านข้างขององค์หลวงพ่อโตเป็นที่ตั้งของเจดีย์ที่บรรจุดวงวิญญาณทหารหาญ 400 คน (กองอาทมาต) ขุนรองปลัดชู และรูปปั้นขององค์เจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่มากครับ

จากอำเภอวิเศษชัยชาญไปต่อกันที่อำเภอป่าโมก ซึ่งเป็นอำเภอสุดท้ายที่ผมได้เจาะลึกเมืองอ่างทองครับ

มาอำเภอป่าโมกก็ต้องมาวัดป่าโมกวรวิหารครับ ด้านหน้าวัดมีเจดีย์ตั้งอยู่บนเรือสำเภา ซึ่งดูคล้ายกับที่วัดยานนาวา แต่ที่นี่มีขนาดเล็กกว่าครับ

เมื่อเดินเข้ามาด้านใน จะเห็นวิหารพระนอนครับ ที่วัดแห่งนี้มีพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย องค์พระก่ออิฐถือปูนปิดทอง มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย

มีการเล่าขานกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรร่วมกันบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็เคยมาถวายสักการบูชาพระพุทธรูปองค์นี้ ก่อนที่จะยกทัพไปรบกับพระมหาอุราช และสิ่งที่เลื่องลืออีกเรื่องคือ พระนอนที่นี่พูดได้ครับ

พระพักตร์ดูอิ่มเอิบ งดงาม จนได้รับการยอมรับว่าเป็นพระพักตร์ของพระนอนที่งดงามที่สุดของไทยครับ

ใกล้ๆ วิหารพระนอน จะเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถที่ก่อสร้างตามแบบศิลปะอยุธยา โดยจะเห็นแนวเส้นโค้งคล้ายเรือสำเภาที่ด้านนอกของโบสถ์ ภายในโบสถ์ประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ พระนามจริงคือ พระศรีสรรเพชญ์นวบพิธ สันนิษฐานตามพงศาวดารเหนือน่าจะมีอายุ 500 ปีเศษ

ด้านหน้าวิหารพระนอน เป็นมณฑปพระพุทธบาท ๔ รอยครับ

พระนอนที่วัดป่าโมกวรวิหารคืออีก 1 พระนอนที่อยู่ในคำขวัญประจำจังหวัดอ่างทองครับ

เที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และพระพุทธศาสนามาก็เยอะแล้ว เราไปเที่ยวดูภูมิปัญญาท้องถิ่นกันบ้างดีกว่า เริ่มกันที่หมู่บ้านทำกลอง ตำบลเอกราช ซึ่งอยู่ในอำเภอป่าโมกนั่นเองครับ

หมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 เมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2554 ชุมชนแห่งนี้เริ่มผลิตกลองมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 โดยชาวบ้านได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบต่อกันมาสู่ลูกหลาน มีความเชี่ยวชาญในการทำกลองชนิดต่างๆ ทั้งกลองไทยและกลองนานาชาติครับ

มาที่หมู่บ้านทำกลองแล้ว แนะนำว่าให้มาที่บ้านกำนันหงษ์ฟ้า หยดย้อย เพื่อมาถ่ายรูปคู่กับกลองยาว ใหญ่ที่สุดในโลก โดยหน้ากลองกว้าง 36 นิ้ว 92 เซนติเมตร ยาว 7.6 เมตร ทำจากไม้จามจุรีต่อกัน 6 ท่อน สร้างในปี 2537 ใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปีครับ

ตลอดสองข้างทางในชุมชนจะเห็นร้านผลิตและจำหน่ายกลองเป็นระยะๆ วัตถุดิบที่ใช้ทำกลองจะเป็นไม้ฉำฉา เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่าย หากใครต้องการเข้าไปชมกรรมวิธีการทำกลองตั้งแต่เริ่มกลึงท่อนไม้เรื่อยๆ ไปจนถึงขั้นตอนการขึ้นกลองด้วยหนังวัว การฝังหมุด ก็สามารถเข้าไปชมได้ กลองที่ทำมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงกลองขนาดใหญ่ เช่น กลองทัด ราคามีตั้งแต่หลักพันยันหลักหมื่นเลยครับ

ไม่ไกลจากหมู่บ้านทำกลองมากนัก เป็นที่ตั้งของศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จครับ

ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จอยู่ภายในบริเวณวัดท่าสุทธาวาส เป็นเรือนไทยทรงสูง ศูนย์นี้เป็นโครงการที่ราชินีทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎรภายในหมู่บ้านบางเสด็จ มีการรวมกลุ่มในรูปของสหกรณ์โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ศูนย์ตุ๊กตาชาววังแห่งนี้ครับ

ภายในศูนย์จะมีการสาธิตการปั้นตุ๊กตาชาววังให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วยครับ เท่าที่ผมเห็นสมาชิกเป็นวัยผู้ใหญ่ วัยน่าจะ 40 Up เสียเป็นส่วนใหญ่ครับ

ตุ๊กตาที่ปั้นแล้วเสร็จ รอการเผาครับ

นำเข้าเตาเผา เห็นว่าเผากันเป็นวันเลยทีเดียว

หลังจากเผาเสร็จ จะนำมาลงสี และนำมาประกอบเป็นให้เป็นเรื่องราวครับ

ภายในศูนย์ฯ นอกจากจะมีการสาธิตการปั้นแล้ว ยังมีการจัดแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาชาววัง รวมถึง OTOP ของอ่างทองด้วย ตุ๊กตาชาววังที่รอการจำหน่ายจะมีทั้งแบบการละเล่นของเด็กไทย วงมโหรีปี่พาทย์ รวมถึงรูปผลไม้ไทยที่มีสีสันงดงาม ขอบอกเลยว่าราคาแต่ละชิ้นไม่แพงด้วย เหมาะกับการซื้อเป็นของฝากได้เป็นอย่างดีเลยครับ

ทั้งหมู่บ้านกลองยาวและตุ๊กตาชาววัง ก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในคำขวัญของอ่างทองด้วยเช่นกันครับ

จริงๆ แล้วที่วัดท่าสุทธาวาส ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับศูนย์ตุ๊กตาชาววังก็มีจุดเด่นเช่นเดียวกับวัดต่างๆ ที่ผมพาไปชมในตอนต้นแล้ว ภายในโบสถ์ของวัดท่าสุทธาวาสมีจิตกรรมฝาผนังเขียนถึงเรื่องราว "พระมหาชนก" โดยสมเด็จพระเทพฯ ทรงจดพู่กันเขียนภาพต้นมะม่วงด้วย แต่เนื่องจากผมมาถึงวัดค่อนข้างเย็นแล้ว ไม่ทันเวลาที่ทางวัดเปิดให้เข้าชม เลยพลาดโอกาสอันดีไปครับ

จาก 18 สถานที่ที่ผมแนะนำในรีวิวนี้ บอกได้เลยครับว่าแต่ละจุดมีไฮไลท์ของตัวเองแทบทั้งสิ้น หวังว่าถ้าเพื่อนๆ ได้อ่านรีวิวนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ เชื่อว่าต่อไปเมื่อมีใครมาชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยวอ่างทอง คงจะไม่ได้ยินเสียงร้องยี้... ออกมาอย่างแน่นอนครับ

ปล.เข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ

ความคิดเห็น