เรามีโอกาสร่วมทริปวิถีถิ่นไทยทรงดำ - ไทยพวน (สุพรรณบุรี-กาญจนบุรี-ราชบุรี) ทริปนี้เป็นทริปฟรีที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายโดย อพท.7 ดำเนินการจัดทริปโดยสยามร้าย ทราเวล ทริปเดินทางระหว่างวันที่ 18 - 20 กันยายน 2563 

ป.ล.1 รูปเยอะมากๆ ต้องขออภัย 

ป.ล.2 รูปทั้งหมดจากกล้องมือถือ

ป.ล.3 ถ่ายรูปติดใครมาต้องขออภัยด้วยครับ

 ***หากมีข้อมูลผิดอะไรในกระทู้นี้ ขอความกรุณาแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องด้วยครับ***


ทริปนี้ออกเดินทางด้วยรถตู้ ทางสยามร้ายจัดให้นั่งคันละ 6 คน ผู้ร่วมทริปทั้งหมด 18 คน จุดแรกของทริปจะไปที่เขาพระ พอมาถึงก็มีพิธีสู่ขวัญแบบชาวไทยพวน บ้านเขาพระ ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

เราผู้ชายคนเดียวในทริปนี้ก็เข้าไปผูกคนสุดท้าย

คุณยาย: "หนุ่มมีเมียหรือยัง?"

เรา: "ยังครับ"

คุณยาย: (หยิบด้ายผูกข้อมือ 2 เส้น พร้อมสวดกับคุณตา) "กลับไปขอเมียได้เลยนะ"

รู้จักชาวไทยพวนกันสักนิด

ไทยพวน คือ กลุ่มคนไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวพวนในเมืองพวน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมืองพวนในปัจจุบันตั้งอยู่ที่เขตเชียงของ ทางตะวันออกของหลวงพระบาง ทิศเหนือของเวียงจันทน์ติดกับประเทศเวียดนาม ชนกลุ่มนี้ถ้าอยู่ในลาว เรียกว่า “ลาวพวน” เมื่อยู่ในประเทศไทยเรียกว่า “ไทยพวน”

หลังจากเสร็จพิธีสู่ขวัญก็ขึ้นชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเขาพระ ด้านบนก็จะมีสิ่งของต่าง ๆ ของชาวไทยพวนที่นี่ ส่วนหนึ่งได้มาจากการบริจาค ส่วนหนึ่งได้มีจากการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนมา และตัวพิพิธภัณฑ์ก็มีส่วนหนึ่งที่ให้ผู้เยี่ยมชมได้มีส่วนร่วมด้วย

ห้องไฮไลต์ของที่นี่คือห้องที่แสดงการลอยกระทงสวรรค์ เพราะที่ชุมชมไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงใช้วิธีลอยกระทงแบบนี้

จากนั้นไปทำกิจกรรมที่บ้านเวฬุวัน เป็นกิจกรรมกวนกาละแมจากต้นตำนานดิน ได้ชิมชาจากตำนานดินและเกสรผึ้งที่ชาวบ้านเลี้ยงกันเอง

ตำนานดิน หรือ อบเชยเถา มีลักษณะเป็นพันธุ์ไม้เถาเลื้อย ที่ขึ้นในพื้นที่ชุมชนบ้านเขาพระ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จากข้อสังเกตเป็นพืชที่เติบโตในสภาพอากาศแห้งแล้ง เป็นพืชทนแดด ซึ่งภูมิปัญญาของคนบ้านเขาพระ คือจะนำมาใส่ในกาละแม โดยจะนำรากมาสับละเอียดและใส่ลงไปในกาละแมในขณะที่กวน ทำให้กาละแมบ้านเขาพระมีกลิ่นหอม อร่อยจนเป็นเอกลักษณ์

มื้อเที่ยงเป็นอาหารพื้นถิ่นชาวไทยพวน บ้านเขาพระ ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

พออิ่มก็ออกมาสักการะพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ หรือพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผา วัดเขาทำเทียม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เวลามีน้อยไม่ได้มีโอกาสเข้าชมในถ้ำ

จากนั้นเดินทางต่อไปยังบ้านดอน ที่นี่เป็นชุมชนไทยทรงดำ

“ไทยทรงดำ  ลาวโซ่ง หรือ ไทยโซ่ง” หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มหนึ่งที่พูดภาษาไทย   คนไทยเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ลาว หรือ ลาวโซ่ง เพราะอพยพจากเมืองเดียนเบียนฟู  อยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ผ่านมายังประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นิยมแต่งกายด้วยสีดำ จึงเรียก ไทยทรงดำ ตามลักษณะเครื่องแต่งกาย ถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณ แคว้นสิบสองจุไทย อยู่ทางตอนเหนือประเทศเวียดนาม ส่วนคำว่า “โซ่ง” ที่เรียกกันสันนิษฐานเป็นคำที่มาจากคำว่า “ซ่วง หรือ ทรง” แปลว่า กางเกง ไทดำถูกกวาดต้อนและอพยพมาในประเทศไทยสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

มาถึงก็เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของไทยทรงดำ บ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เรียนรู้และ workshop การเย็บลายของทรงทรงดำ

จากนั้นก็มาเรียนรู้ภาษาไทดำ ฝึกการเขียนชื่อ-นามสกุลตัวเองลงบนถุงผ้า

กิจกรรมสุดท้ายของที่บ้านดอนเป็นกิจกรรมเย็บดอกหมอน เย็บกระดุมเมล็ดผักบุ้งลงบนถุงผ้า เราไม่ค่อยถนัดงานเย็บนัก ขอใช้ทางลัดด้วยการติดเข็มกลัดแล้วกัน

จบทุกกิจกรรมของวันแรกก็เข้าที่พักกัน คืนแรกพักที่บ้านดินริมน้ำรีสอร์ต อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ออกไปกินมื้อเย็นกับวิสาหกิจชุมชนบ้านดงเย็น มาบ้านดงเย็นก็ต้องกินกบทอดกระเทียมพริกไทย

เช้าวันที่สองของทริป ตื่นมาชมบรรยากาศตอนเช้าของคลองหน้าที่พัก สดชื่นมาก กับมื้อเช้าง่ายๆ แต่อิ่มมาก

วันนี้ไปเรียนรู้วิถีชีวิตไทยทรงดำที่ศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมของตำบลดอนมะเกลือ เริ่มด้วยการมาไหว้พระที่วัดดอนมะเกลือ และร่วมสักการะหลวงปู่อนันท์ สุขกาโม ร่างท่านไม่เน่าเปื่อยตั้งแต่ 2542

จากนั้นมาที่ศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมของตำบลดอนมะเกลือ เป็นบ้านไทยทรงดำโบราณ ทรงกระดองเต่า ที่นี่จะได้เรียนรู้วัฒนธรรม ความเชื่อ การยอมผ้า ทอผ้า ชุมชนเตรียมขนมกับน้ำอัญชันให้ด้วยอร่อยมาก

ที่นี่เราได้หน้ากากผ้าทอและปีกมือแบบไทยทรงดำมาด้วย เสียดายที่ซื้อมาแค่อันเดียว

พอเสร็จจากจุดนี้เราขอซนนั่งพ่วงข้างไปทำกิจกรรมเย็บดอกเปียวลงถุงผ้า

กิจกรรมเย็บดอกเปียวเราทำไม่ได้ แต่เราเย็บถุงผ้ากับใส่เชือกรูดได้

มื้อเที่ยงชุมชนดอนมะเกลือจัดอาหารพื้นถิ่นทรงไทยดำให้

ช่วงบ่ายเดินทางต่อไปที่ชุมชนหมอสอ ตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี มาถึงก็มาชมเตาเผาอิฐโบราณ วัดหมอสอ และศาลเจ้าพ่อปิ่นแก้ว-เจ้าแม่มะลิซ้อน

ชมวิถีชีวิตริมคลองท่าสานบางปลา และวิถีการหาปลาของชาวบ้านไทยทรงดำบ้านหมอสอ เรียกว่า "การลงกำหาปลา"

ลงกำปลาเสร็จขึ้นมาตำส้มตำ ส่วนแกงกบนั้นมีสาวสายทำให้ ปลาย่างชาวบ้านทำให้

ขากลับพวกซนๆ ทั้งหลายอดขึ้นรถตู้ ต้องน่งรถอีแต๋นกลับ

ออกเดินทางจากบ้านหมอสอมาพักที่ Sans Hotel ตัวเมืองราชบุรี

มื้อเย็นเป็นร้านอาหารขึ้นชื่อของเมืองราชบุรี ร้านเจ๊ออน

พอถึงเวลาพักผ่อนเราก็ออกมาสำรวจตลาดโต้รุ่งตลาดสนามหญ้า มาชิมไอศกรีมตัวท้อปของร้านเด่นไทยไอศครีม

เช้าวันที่สามของทริป (20 กันยายน 2563) ตื่นตี 5 ออกมาซนตลาดเช้าอีกแล้ว คุณลุง รปภ.แซวว่าขยันเดินจัง

กลับโรงแรมมากินอาหารเช้า

ตามเวลานัดหมายที่ล้อจะหมุนไปชุมชนสุดท้าย ชุมชนบ้านเขาหัวจีน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี มาถึงก็ขึ้นเรือนเพื่อทำพิธีสู่ขวัญ-รับขวัญแบบไทยทรงดำ และการดูห้องบรรพบุรุษ

เราผู้ชายคนเดียวของทริปนี้ก็ไปแต่งชุดไทยทรงดำที่ชุมชนเตรียมไว้ให้

เราลองทำสอดฟันหวี บอกเลยยากมาก และเจ็บเล็บนิ้วโป้งสุดๆ

สาวๆ จะไปปั้นเกล้ากัน ส่วนเราก็เดินมาด้านหลังโรงเรียนถ่ายรูปเขาหัวจีน

กิจกรรมงานฝีมือที่นี่จะเป็นการทำหวีสับจากเส้นไหม ของเราอันล่างพอใช้ได้เหมือนกันนะ

รูปหมู่สุดท้ายในทริปนี้ ขออนุญาตทุกท่านในภาพด้วย

อาหารเที่ยงที่ชุมชนบ้านเขาหัวจีนจัดให้ก็มาเต็มที่เหมือนทุกชุมชน

จบทริปจุดเดียวกับที่นัดหมายอย่างสมบูรณ์แบบมากๆ ทริปนี้เป็นทริปฟรีที่จัดการได้ดีมาก ขอชม "สยามร้ายทราเวล" จากใจจริง และขอบคุณ อพท.7 - สยามร้ายที่ให้โอกาสนักท่องเที่ยวธรรมดาได้มีโอกาสทำกิจกรรมดีๆ แบบนี้  

ขออภัยทุกท่านที่ร่วมทริปนี้ด้วยที่ซนมากไปหน่อย สนุกกับทุกกิจกรรมมากเกินไป หลายกิจกรรมอาจสนุกันแค่ 2-3 คน แต่ก็ยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมทริปด้วย

ตะลุยเดี่ยวแบกเป้เที่ยว

 วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เวลา 01.47 น.

ความคิดเห็น