ที่นี่ก็ดีนะ...ปราสาทหินพนมรุ้ง

          เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่อ ปราสาทหินพนมรุ้ง และได้เคยเห็นความงดงามผ่านจอทีวีมาก็หลายครั้ง เราเองก็คือหนึ่งในผู้ชมที่เห็นความสวยงามผ่านจอทีวี จนวันหนึ่งได้มีโอกาสไปสัมผัสความสวยงามด้วยตาของตัวเอง โดยไม่มีจอทีวีกั้นกลาง ทำให้รู้ว่าของจริงสวยและยิ่งใหญ่กว่าในทีวีมากเหลือเกิน

          สิ่งแรกที่สัมผัสได้เมื่อขับรถเข้าไปยังเขตอุทยานฯ คือเราต้องขับรถขึ้นเขา เพราะปราสาทหินพนมรุ้งตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทมากกว่า 9 แสนปีมาแล้ว (ทำให้รู้ว่าประเทศไทยเคยเป็นดินแดนภูเขาไฟด้วยนะ) 

ค่าเข้าชม >> ชาวไทย 20 บาท , ชาวต่างชาติ 100 บาท

เวลาเปิด-ปิด >> เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น.

          ก่อนเข้าชมด้านใน ขออ่านประวัติซักหน่อย จะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นก็ซื้อผ่านประตูเข้าไปด้านในกันเลยจ้า (ควรแต่งกายให้เรียบร้อย ใส่กางเกงขายาวหรือกระโปรงคลุมเข่า เสื้อมีแขนนะคะทุกคน) แต่หากใครแต่งกายมาไม่พร้อมด้านหน้าทางเข้า ก็มีผ้านุ่งและผ้าคลุมไหล่ไว้คอยบริการด้วยค่ะ

          ถัดจากประตูทางเข้า มองไปก็จะเห็นบันไดขึ้นเนินไป เหมือนเป็นกำแพงกั้นไว้ จากจุดนี้ก็ยังมองไม่เห็นตัวปราสาท วันที่ไปนั้นฟ้าใสมาก

          เมื่อเดินมาถึงด้านบนสุดของบันได ภาพแรกที่เห็นถึงกับต้องร้องว้าว จากตรงนี้จะมองเห็นยอดปราสาทอยู่ไกลๆ ของเนินเขายอดถัดไป

          ทางเดินไปสู่ปราสาทประธาน ทั้ง 2 ข้างกอบด้วยเสาจำนวนข้างละ 35 ต้น เรียกว่า "เสานางเรียง"

          ทางเดินจะทอดตัวตรงมายัง "สะพานนาคราช" เป็นพื้นยกสูงรูปทรงกากบาท ราวสะพานเป็นพญานาค 5 เศียร (ห้ามนั่งบนสะพานนาคราชนะคะ มาเที่ยวแล้วต้องปฏิบัติตามกฏและข้อห้ามด้วยความเคร่งครัด)

          มองย้อนกลับไปด้านหลัง

          ถัดไปจะเป็นบันไดขึ้นไปสู่ตัวปราสาท มีบันไดทั้งหมด 52 ขั้น ทั้งสองข้างมีเสาหินเจาะรูด้านบน สันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับปักธงหรือโคมไฟในงานพิธีกรรมต่างๆ

         ทำไมเราถึงรู้ข้อมูลเยอะขนาดนี้ เรียนโบราณคดีมาหรือไง??? ตอบเลยว่าป่าวจ้า อ่านจากป้ายเอาทั้งนั้น 555 ทุกๆจุดที่เราเดินผ่าน จะมีป้ายบอกข้อมูลไว้แทบทุกจุดเลยค่ะ มาเที่ยวโบราณสถาน การอ่านป้ายข้อมูลที่ให้ความรู้เป็นสิ่งสำคัญนะ จะทำให้เราเข้าใจในสถานที่นั้นๆ เพิ่มมากขึ้น มากกว่าความสวยงามเพียงอย่างเดียว

        มองขึ้นไปเหมือนกำลังเดินขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์

           ขึ้นมายังลานด้านบน ก็จะพบตัวปราสาท ตั้งตระหง่าน อย่างที่เคยเห็นผ่านตาตามสื่อต่างๆ สวยและยิ่งใหญ่สมคำร่ำรือจริงๆ

        มาถึงแล้วต้องถ่ายภาพเก็บไว้ซะหน่อย เดี๋ยวเพื่อนไม่เชื่อ ชาวบ้านหาว่าโม้ 555

          มีสระบัว 2 สระคู่ อยู่ด้านหน้าทางเข้าปราสาท 

          "สะพานนาคราช ช่วงที่ 2" เป็นลานยกระดับมีแผนผังเป็นรูปกากบาท กลางลานสลักลายดอกบัว 8 กลีบ ราวสะพานเป็นพญานาค 5 เศียร แผ่พังพานออกไปทั้ง 4 ทิศ

    ช่องหน้าต่าง ระเบียงคต คือทางเดินที่มีหลังคาคลุมสร้างล้อมรอบสิ่งก่อสร้างประธาน มักมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม

       ซุ้มประตูทางเข้าหลัก ทางด้านทิศตะวันออก

          ภาพสลักหน้าบันซุ้มประตูทางเข้าทิศตะวันออก ชื่อว่า "โยคะทักษิณามูรติ" หมายถึงพระศิวะในภาคของมหาโยคีผู้ยิ่งใหญ่ ถือประคำในพระหัตถ์ขวา ประทับนั่งลลิตาสนะ (ห้อยพระบาท) แวดล้อมด้วยบริวาร พระองค์สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยมนต์คาถา

        เดินผ่านระเบียงคตเข้ามาด้านในจะพบกับ "ปราสาทประธาน" เป็นสถาปัตยกรรมหลักที่สำคัญที่สุด มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 องค์ปราสาทประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ ส่วนฐาน ส่วนเรือนธาตุ และส่วนยอด

ภาพมุมต่างๆ โดยรอบปราสาทประธาน

         สะพานนาคราชชั้นที่ 3

         ซุ้มประตูทางเข้าปราสาทประธาน ด้านทิศตะวันออก ถัดจากระเบียงคต

          ภาพสลักหน้าบันชื่อ "ศิวนาฏราช" คือพระศิวะทรงฟ้อนรำ ซึ่งการฟ้อนรำของพระองค์เป็นการสร้างและทำลาย หากทรงฟ้อนรำด้วยจังหวะที่พอดี โลกจะมีแต่ความสงบสุข แต่หากทรงฟ้อนรำด้วยจังหวะที่ร้อนแรง โลกจะพบกับภัยพิบัติ

          "ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธ์ุ" ตะแคงขวาเหนือพระยาอนันตนาคราช ซึ่งทอดตัวอยู่เหนือมังกรอีกต่อหนึ่ง ท่ามกลางเกษียรสมุทร

          "ปราสาทอิฐสองหลัง" สร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 มีเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทราย ศิลปะแบบเขมร

          ด้านในปราสาทมีรูปปั้น "โคนทิ" พาหนะของพระศิวะ ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าประตูวิมานบนเขาไกรลาสด้านทิศตะวันออก และทำหน้าที่เป็นพาหนะเมื่อพระศิวะเสด็จออกภายนอก

          "ปรางค์น้อย" สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ราวพุทธศตวรรษที่ 16 มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ส่วนยอดสันนิษฐานว่ายังสร้างไม่เสร็จ หน้าบันสลักภาพเล่าเรื่องพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ

     กำแพงรอบปราสาทประธาน


การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว

 สามารเลือกเดินทางได้ 2 เส้นทางออกจากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ดังนี้ (ข้อมูลจาก wikipidia)

  • เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง) เป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (สีคิ้ว-อุบลราชธานี) ไปจนถึงหมู่บ้านตะโก ประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
  • เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) เป็นระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร ถึงตัวอำเภอประโคนชัย จะเห็นทางแยกที่จะไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 21 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2075 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ทางอุทยานฯ ได้จัดทำเว็บไซต์จำลองการท่องเที่ยวแบบเสมือนจริง ดูได้จาก Link นี้

http://virtualhistoricalpark.f...

...ที่นี่ก็ดีนะ...

ที่นี่ก็ดีนะ 5365

 วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เวลา 16.18 น.

ความคิดเห็น