เวลา 20 ชั่วโมง กับระยะทาง 640 กม.ของการเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทร์ สู่ ซำเหนือได้สิ้นสุดลง รถจอดอย่างสงบนิ่งที่สถานีขนส่งบนเนินสูง ณ ตำแหน่งนี้สามารถมองเห็นบ้านเรือนที่ขึ้นกันอย่างหนาแน่นบนที่ราบระหว่างหุบเขาแห่งเมืองซำเหนือได้ทั้งเมือง

คะเนความสูงของสถานีขนส่งเทียบกับตัวเมืองซำเหนือที่ตั้งอยู่ในหุบเขาแล้ว คงจะเป็นภาระหนักหนาสำหรับขาจนเกินไปหากเลือกที่จะเดินไปยังตัวเมืองที่อยู่เบื้องล่าง รถสองแถวที่จอดรอรับผู้โดยสารเพื่อไปส่งในตัวเมือง จึงเป็นทางเลือกที่ไม่ควรปฏิเสธ “อ้าย สิไปไส” (พี่จะไปไหน) คนขับรถสองแถว ว่าวลาวมาทางผม

“ไปเวียงไซย บ่ฮู้มื้อนี่สิไปทันบ่ แล้วที่ตัวเมืองซำเหนือมีรถไปเวียงไซยบ่” (ไปเวียงชัย ไม่รู้ว่าวันนี้จะไปทันไหม แล้วที่ตัวเมืองซำเหนือมีรถไปเวียงชัยไหม) ผมว่าวลาวกลับไป

“ไปทัน เวียงไซยอยู่บ่ไกล แต่ที่ตัวเมืองบ่มีรถไป อ้ายสิต้องไปขึ้นรถที่ขนส่งนาทอง อยู่นอกตัวเมืองไปสิหลายกิโลเติบ” (ไปทัน เวียงชัยอยู่ไม่ไกล แต่ที่ตัวเมืองไม่มีรถไป พี่ต้องไปขึ้นรถที่ขนส่งนาทอง อยู่นอกตัวเมืองหลายกิโลเมตร)

“แล้วคิดค่าโดยสารเท่าได๋” (แล้วคิดค่าโดยสารเท่าไหร่)

“ถ้าไปลงที่ตัวเมืองคิด 10,000 กีบ แต่ถ้าไปถึงนาทองข่อยคิดอ้าย 20,000 กีบ” (ถ้าไปลงที่ตัวเมืองคิด 10,000 กีบ แต่ถ้าไปถึงนาทองฉันคิดพี่ 20,000 กีบ)

“แพงหลายเด้อ ลดได้บ่” (แพงจังเลย ลดหน่อยได้ไหม)

“อ้ายบ่มีหมู่ไปน่ำบ่ ซอยค่าโดยสารกัน 2 – 3 คนบ่แพงดอก” (พี่ไม่มีเพื่อนไปด้วยหรือ หารค่าโดยสารกัน 2 – 3 คนไม่แพงหรอก)

“บ่มีดอก อ้ายมาผู้เดียว ลดให้อ้ายหน่อยเด้อ” (ไม่มีหรอก พี่มาคนเดียว ลดให้พี่หน่อยแล้วกัน)

“เอ้า เป็นคนลาวคือกัน คิดอ้าย 15,000 กีบพอเด้อ” (เอ้า เป็นคนลาวเหมือนกัน คิดพี่ 15,000 กีบก็ได้)

เพียงแค่วันที่ 2 ของการเดินทาง ผมก็กลายเป็นคนลาวเสียแล้ว ซึ่งไม่รู้เพราะการว่าวลาว หรือ หน้าตา แต่ที่แน่ๆมาเที่ยวลาวแต่ละครั้ง หรือแม้แต่มาคนเดียวในครั้งนี้ สิ่งที่ผมได้รับคือความรู้สึกสบายใจ เพราะผู้คนที่นี่มีความใสซื่อไม่ต่างจากชาวอีสานบ้านเรา

รถสองแถวพาผมสู่ตัวเมืองซำเหนือ แม้มองจากบนเนิน ตัวเมืองมีความหนาแน่นมากพอดู แต่เมื่อสัมผัสจริงๆ เมืองหลวงแห่งแขวงหัวพันนี้ไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิด เพียงแค่ไม่กี่นาทีผมก็ผ่านตัวเมืองมาอยู่ที่สถานีขนส่งนาทอง จุดศูนย์กลางของการเดินทางไปยังเมืองต่างๆของแขวงหัวพัน

เพราะเหตุที่สมัยอดีต ดินแดนนี้มีเมืองประกอบกัน 5 เมือง คือ เมืองซำเหนือ เมืองซำใต้ เมืองโสย เมืองเหยิม เมืองเชียงคอ และภายหลังมีเพิ่มอีก 1 เมือง คือ เมืองซอน จึงเป็นที่มาของชื่อหัวพันทั้งห้าทั้งหก แต่สำหรับเมืองเวียงชัยที่ผมกำลังจะไปนั้นเป็นเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ โดยแต่เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆชื่อว่า บ้านนาไก่ หากแต่มีความสำคัญเพราะเป็นฐานที่ตั้งของขบวนการปลดปล่อยชาติลาว ทำให้ทางการลาวถือว่าเมืองนี้เป็นจุดกำเนิดของประเทศลาวในปัจจุบัน จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น เวียงชัย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของชนชาติลาวในสงครามอินโดจีน เมื่อปีพ.ศ.2518

หลังจากเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่ จึงได้ความว่ารถสองแถวไปเมืองเวียงชัยเที่ยวต่อไปจะออกในเวลาเที่ยง แต่ในเวลานี้การร้องของท้องทวีความรุนแรงมากขึ้นเพราะเป็นเวลาใกล้เที่ยงแต่อาหารมื้อเช้ายังไม่ตกถึงท้องเลย จึงเดินไปยังร้านค้าที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ทุกร้านขายอาหารลาวขนานแท้ แม้ดูแล้วไม่แน่ใจในความสะอาด แต่เพราะทนเสียงร้องของท้องไม่ไหวจึงซื้อข้าวเหนียวมากินคู่กับหมกไก่ แม้ยังเกรงๆในเรื่องความสะอาด แต่เมื่อได้ลิ้มลองหมกไก่เข้าไปแค่เพียงคำเดียว ผมก็บอกได้อย่างเต็มปากเลยว่า “แซบหลาย”

ในระหว่างที่กำลังเปิบข้าวเหนียวกับหมกไก่อย่างเอร็ดอร่อย รถสองแถวคันน้อยก็มาจอดอยู่ตรงหน้า โดยนำพาฝรั่งผมทองมาด้วย 2 คน คงเพราะสถานีขนส่งนาทองนี้มีผู้โดยสารอยู่บางตา ผมจึงเป็นเป้าหมายในการเดินมาถามข้อมูลของฝรั่ง 2 คนนั้น ซึ่งกลายเป็นว่าทั้งสองคนต่างมีจุดหมายเดียวกับผม นั่นคือเดินทางไปยังถ้ำของเหล่าผู้นำขบวนการปลดปล่อยชาติลาว ที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามอินโดจีน ในเมืองเวียงชัยเช่นเดียวกับผม การเดินทางเพียงคนเดียว จึงเปลี่ยนเป็นการเดินทางพร้อมเพื่อนร่วมทางที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

ทีแรกผมเข้าใจว่าฝรั่ง 2 คนนี้เดินทางมาด้วยกัน แต่เมื่อได้ซักถามจึงได้ทราบว่าแต่ละคนล้วนเดินทางคนเดียว โดยโทมัส มาจากประเทศสาธารณรัฐเช็ค ส่วนคริสโตเฟอร์มาจากเดนมาร์ค แต่เผอิญมาเจอกันที่ตัวเมืองซำเหนือ แม้มีที่มาต่างกัน แต่เมื่อมีจุดหมายเดียวกันจึงสมัครใจเดินทางมาด้วยกัน การเดินทางเพียงคนเดียว จึงหาเพื่อนร่วมทางไม่ยากอย่างที่คิด

 

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 20.07 น.

ความคิดเห็น