รถสองแถวพาเราขึ้นเหนือไปตามทางลาดยางสายเล็กๆ ลัดเลาะไปตามหมู่บ้านที่โอบขนานด้วยเขาหินปูนรูปทรงแปลกตา เขาหินปูนเหล่านี้มีถ้ำซ้อนเร้นอยู่ภายในนับร้อยๆถ้ำ จึงเหมาะต่อการเป็นที่หลบซ่อนและหลบภัยจากการถูกโจมตีทางอากาศ ทำให้ส่วนหนึ่งของถ้ำเหล่านี้ได้ถูกดัดแปลงเป็นศูนย์บัญชาการของขบวนการปลดปล่อยชาติลาว ภายใต้การนำของท่านไกสร พมวิหาร และเหล่าผู้นำอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นท่านหนูฮัก ท่านสุภานุวงศ์ ท่านคำไตสีพันดอน ซึ่งเรากำลังไปเยือนถ้ำหรือศูนย์บัญชาการของผู้นำเหล่านั้น

จากตัวเมืองเวียงชัย ที่มีทิวทัศน์งดงามอันเกิดจากอ่างเก็บน้ำกลางเมืองขนาดใหญ่ที่สะท้อนเงาของทิวเขาหินปูนซึ่งโอบล้อม คน 3 คนจาก 3 ประเทศที่มาพบกันเพราะการเดินทางคนเดียว เลือกใช้สองขาเดินจากตัวเมืองสู่บรรดาถ้ำต่างๆที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกล แต่ก่อนจะถึงถ้ำเหล่านั้น ที่ปากทางมีเจดีย์สีขาวขนาดใหญ่บรรจุอัฐิของประชาชนผู้เสียชีวิตในสมัยสงครามอินโดจีน พร้อมจารึกอักษรลาวว่า “ชาติจารึกบุญคุณ” นั่นคงเป็นความทรงจำอันเจ็บปวดของผู้สูญเสีย และเป็นบทเรียนราคาแพงของผู้รุกราน

เพราะความขัดแย้งทางความคิดในระบอบการปกครอง จึงทำให้คนยึดถือแต่อัตตา จนหลงลืมไปว่าแท้จริงแล้วเราต่างเป็นคนที่เกิดและต้องอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน

ด้วยเหตุที่แต่ละถ้ำนั้นมืดและมีทางเดินซับซ้อน การเที่ยวชมถ้ำต่างๆจึงจำเป็นต้องเข้าไปแจ้งความประสงค์พร้อมชำระค่าธรรมเนียมที่ศูนย์บริการที่ตั้งอยู่ก่อนถึงทางเข้าถ้ำ โดยจะมีเจ้าหน้าที่บริการพาเราไปเที่ยวชมและบอกเล่าเรื่องราวแห่งอดีตอันบอบช้ำจากไฟแห่งสงครามที่ยังคงทิ้งร่องรอยและเรื่องราวแห่งอดีตไว้ในถ้ำต่างๆ ในเวลานี้ผมนึกในใจว่าดีนะที่ได้เจอโทมัสกับคริสโตเฟอร์ มิเช่นนั้นผมคงต้องแบกความเกรงใจไว้ตลอดการชมถ้ำ เพราะเจ้าหน้าที่ต้องสละเวลาพาผมเข้าชมถ้ำเพียงคนเดียว เป็นเวลานานหลายชั่วโมง อีกทั้งค่าเข้าชมถ้ำของผมซึ่งเป็นประชาชนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเหมือนกัน ยังถูกกว่าค่าเข้าชมของชาติอื่นถึง 4 เท่า!

เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้ำต่างๆในเวียงชัยมีร่วม 500 ถ้ำ เกือบทุกถ้ำถูกใช้เป็นศูนย์บัญชาการ หรือไม่ก็เป็นที่พักของผู้นำและเหล่าทหารในสมัยสงครามอินโดจีน แต่ถ้ำที่เปิดให้เที่ยวชมมี 7 ถ้ำ แม้จะแค่ 7 ถ้ำ แต่หากคิดจะเที่ยวชมให้ครบ คืนนี้อาจต้องนอนชื่นชมธรรมชาติของเหล่าเทือกเขาหินปูนที่เวียงชัย เพราะคงพลาดรถกลับซำเหนือเที่ยวสุดท้าย

ถ้ำแรกที่เจ้าหน้าที่พาเที่ยวชมถือเป็นถ้ำที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ นั่นคือ ถ้ำของท่านไกสร พมวิหาร หัวหน้าขบวนการปลดปล่อยชาติลาว ภายหลังจากสงครามอินโดจีนยุติลง ท่านจึงได้รับตำแหน่งเป็นประธานประเทศ

ภายในถ้ำของท่านไกสรนั้นกว้างขวางโดยมีการเจาะอุโมงค์ทางเดินเชื่อมต่อไปยังห้องต่างๆ ซึ่งมีมากมายหลายห้อง ไม่ว่าจะเป็น ห้องบัญชาการ ห้องประชุม ห้องหนังสือ ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร หรือแม้กระทั้งห้องนอน เรียกว่ายกทั้งที่ทำงานและบ้านมาอยู่ในถ้ำแห่งนี้ เป็นเวลานับ 10 ปี หากแต่บ้านหรือที่ทำงานนี้มีห้องพิเศษที่บ้านหรือที่ทำงานทั่วไปไม่มี นั่นคือ ห้องฉุกเฉิน ที่ใช้หลบภัยในคราวมีการทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศ โดยมีการก่อกำแพงหนาทุกด้านคล้ายๆกับหลุมหลบภัย และมีการเครื่องระบายอากาศอยู่ภายใน เป็นเครื่องแบบใช้มือหมุน โดยทุกวันนี้ยังสามารถใช้งานได้อยู่

แล้วอุโมงค์ทางเดินก็พาเรามาถึงห้องบัญชาการ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่สุด ภายในมีเพียงโต๊ะไม้ยาว 2 ตัววางขวางกันเป็นรูปตัวที พร้อมป้ายชื่อและรูปของผู้ที่เคยเป็นเจ้าของวางในตำแหน่งของที่นั่งผู้นำแต่ละคน แน่นอนว่าตำแหน่งหัวโต๊ะเป็นที่นั่งของท่านไกสร แม้วันนี้ห้องบัญชาการและห้องต่างๆภายในถ้ำจะยุติการใช้งาน แต่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆยังคงเก็บงำอดีตให้คนรุ่นหลังได้มาเรียนรู้ถึงเรื่องราวแห่งการต่อสู้ ความรักชาติ และความสูญเสียจากสงคราม ซึ่งไม่มีผู้ใดอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็ยังคงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอดีตจวบจนปัจจุบัน

จากถ้ำท่านไกสร เราไปกันต่อที่ถ้ำท่านสุภานุวงศ์ซึ่งอยู่ห่างไปไม่ไกล ภายในถ้ำแบ่งเป็นห้องต่างๆไม่ต่างจากถ้ำของท่านไกสร หากแต่ตำแหน่งของปากทางเข้าถ้ำอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นไป จึงสามารถมองเห็นตัวเมืองเวียงชัยได้ในมุมสูง ซึ่งน่าจะเหมาะต่อการเป็นที่สังเกตการณ์การลาดตระเวนทางอากาศได้ดียิ่ง

เนื่องจากเรามีเวลาจำกัดเพราะเกรงว่าอาจจะพลาดรถเที่ยวสุดท้ายกลับซำเหนือ เจ้าหน้าที่จึงตัดการชมถ้ำเล็กถ้ำน้อยโดยพาเราเดินอ้อมไปอีกฟากหนึ่งของเมืองเวียงชัยเพื่อไปชมถ้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งในสมัยสงครามถ้ำแห่งนี้เคยมีประชาชนชาวลาวใช้เป็นที่หลบภัยถึง 2,000 คน นั่นคือถ้ำของท่านคำไตสีพันดอน ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในสมัยนั้น

บนเส้นทางไปถ้ำของท่านคำไตสีพันดอน เราผ่านอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กลางเมือง ที่เหล่าเด็กน้อยกำลังเล่นน้ำกันอย่างมีความสุขบนแผ่นดินซึ่งครั้งหนึ่งเคยลุกเป็นไฟจากภัยสงคราม นอกจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้แล้ว ภายในเมืองเวียงชัยยังมีสระน้ำเล็กๆอีกหลายแห่งที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเมือง โดยกำเนิดของสระน้ำเหล่านี้คือระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาถล่มเมือง

การเข้าสู่ถ้ำของท่านคำไตสีพันดอนจะต้องเดินลงไปในอุโมงค์ที่ทอดตัวลึกลงไปเบื้องล่าง ถ้ำนี้มีความพิเศษกว่าถ้ำอื่นเพราะเมื่อทางเดินสิ้นสุดลง โถงกว้างขนาดใหญ่ก็ปรากฏให้ได้เห็น ซึ่งนอกจากเป็นศูนย์บัญชาการและที่พักของท่านคำไตสีพันดอนแล้ว โถงกว้างภายในถ้ำนี้ยังถูกใช้เป็นที่จัดการแสดงดนตรีและฉายหนังให้กับประชาชนชาวลาวที่ใช้ชีวิตหลบซ้อนอยู่ภายในถ้ำให้ได้รับความบันเทิงเล็กๆน้อยๆในห้วงเวลาที่แทบหมดสิ้นซึ่งความหวังแห่งชีวิต

ด้วยความเป็นห่วงเกรงว่าเราจะพลาดรถเที่ยวสุดท้ายที่จะออกเวลาบ่ายสาม เจ้าหน้าที่จึงโทรไปบอกคนขับรถว่ามีผู้โดยสารอีก 3 คนกำลังเดินทางไปขึ้นรถให้รอด้วย ซึ่งดูจากเวลาแล้วเราคงต้องเร่งฝีเท้าจนเกือบถึงขั้นวิ่งเพื่อไปให้ทันรถเที่ยวดังกล่าว แต่เอาเข้าจริงๆ เรากลับต้องรออีกร่วมชั่วโมงเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารยังไม่มากพอที่จะออกรถ

เวลาหนึ่งชั่วโมงแห่งการรอคอยนั้นไม่ได้หมดไปอย่างสูญเปล่า เพราะคิวรถนั้นอยู่หน้าตลาดซึ่งมีผลไม้สดๆให้เลือกซื้อหา แต่โทมัสกับคริสโตเฟอร์ต้องการลิ้มลองข้าวเหนียวส้มตำมากกว่า ผมจึงต้องกลายเป็นล่ามจำเป็น เพื่อให้เพื่อนร่วมทางที่เพิ่งรู้จักกันได้ลิ้มลองอาหารลาวตามที่ต้องการ

สองนักท่องโลกชาวตะวันตกกินส้มตำไปเหงื่อไหลไป แต่ในใจคงบอกว่า “แซบหลาย” แล้วการเดินทางร่วมกันก็ต้องสิ้นสุดลงเมื่อรถสองแถวพาเรากลับสู่เมืองซำเหนือ หากแต่การเดินทางของแต่ละคนยังไม่จบสิ้น วันพรุ่งนี้โทมัสจะเดินทางไปยังหลวงพระบาง คริสโตเฟอร์จะไปด่านนาแมว เพื่อเข้าสู่ประเทศเวียดนาม ส่วนผมเลือกที่จะเดินทางย้อนกลับไปยังเมืองโพนสะหวัน ในแขวงเชียงขวางเพื่อเที่ยวชมปริศนาแห่งทุ่งไหหิน การเดินทางคนเดียวจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะแต่ละคนย่อมมีเส้นทางเป็นของตัวเอง

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.47 น.

ความคิดเห็น