เราโบกมือล่ำลาเมื่อรถสองแถวพามาส่งยังตัวเมืองซำเหนือ โทมัสกับคริสโตเฟอร์แยกไปยังที่พักที่จองไว้ จึงเป็นเวลาที่ผมต้องเดินหาที่พัก ผมเลือกที่พักประเภทเกสท์เฮ้าส์ หรือที่คนลาวเรียกว่า เฮือนพัก (เรือนพัก) ซึ่งมีให้เลือกหลายแห่ง
“สะบายดี” (สวัสดี) ผู้สาวลูกเจ้าของเรือนพักเอ่ยทักทาย
“สะบายดี มีห้องพักบ่” (สวัสดี มีห้องพักไหม)
“มี คืนละ 50,000 กีบ” ผู้สาวบอกราคาห้องพักพร้อมด้วยรอยยิ้ม
“อ้ายมาผู้เดียว บ่มีผู้ใดซอยค่าห้องพัก ลดให้อ้ายได้บ่” (พี่มาคนเดียว ไม่มีใครช่วยหารค่าห้องพัก ลดให้พี่ได้ไหม)
“ลดได้ ข่อยสิคิดอ้าย 40,000 กีบ” (ลดได้ ฉันคิดพี่ 40,000 กีบ)
“ลดอีกได้บ่” (ลดอีกได้ไหม)
“40,000 กีบ นี้สุดๆแล้ว ลดมากกว่านี้บ่ได้” (40,000 กีบ นี้สุดๆแล้ว ลดมากกว่านี้ไม่ได้)
แม้ว่าราคาจะสูงกว่าการมีเพื่อนร่วมทางมาหารค่าห้องสักนิด แต่ราคานี้ก็ถือว่าถูกมากๆสำหรับห้องพักที่แสนสะอาดสะอ้าน อีกทั้งยังอยู่ใกล้ตลาดเพียงแค่อีกฟากหนึ่งของฝั่งถนน
หลังจากหาเรือนพักในการหลับนอนในค่ำคืนนี้เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาออกเดินอีกครั้ง จุดหมายของผมอยู่ห่างจากตัวเมืองไปราว 2 กม. ที่วัดโพธิ์ชัยนาราม (โพไซยะนาราม) ซึ่งถือเป็นวัดสำคัญของซำเหนือ
ความสำคัญของวัดนี้ไม่ได้อยู่ที่ความเก่าแก่ของตัววัด แต่อยู่ที่ความเก่าแก่ของพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายในสิมหรืออุโบสถ นั่นคือ พระเจ้าองค์ตื้อ พระพุทธรูปโบราณปางมารวิชัยซึ่งครั้งหนึ่งเคยประดิษฐานอยู่ที่เมืองโส่ย เมืองเก่าที่เคยเป็นหนึ่งในเมืองทั้งหกของหัวพันทั้งห้าทั้งหกในอดีต แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมืองโส่ยได้กลายเป็นเมืองร้าง ชาวบ้านจึงพากันอัญเชิญพระเจ้าองค์ตื้อมาประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัยนาราม จนกลายเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งนอกจากพระเจ้าองค์ตื้อแล้ว ภายในสิมยังมีภาพวาดสีสดแสดงวิถีชีวิต ประเพณีงานบุญของชาวซำเหนือให้ได้ชม
หลังจากที่ผมออกมาจากวัด ความหนาวเย็นของของอากาศก็เริ่มแผ่ตัวมากขึ้นกว่าเดิม ดูเหมือนเหล่าร้านค้าและผู้คนในเมืองซำเหนือนั้นเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ เมืองซำเหนือในเวลานี้จึงปกคลุมด้วยความมืด จะมีความสว่างก็แต่เพียงแก้วหลักเมือง ลูกแก้วขนาดใหญ่ที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวซำเหนือ ส่องแสงสว่างสุกใสบนยอดอนุสาวรีย์รูปทรงแปลกตา ณ ตำแหน่งจุดศูนย์กลางเมือง
สายหมอกและความหนาวเย็นยังแผ่ปกคลุมตัวเมืองซำเหนือ แม้ว่าพระอาทิตย์จะขึ้นแล้วก็ตาม
ผมเดินออกจากเรือนพักโดยมีจุดหมายในการเที่ยวชมตลาดเช้า ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนแห่งวิถีชีวิตของผู้คน ตลาดเช้าของเมืองซำเหนือตั้งอยู่ริมสายน้ำซำ คำว่า “ซำ” เป็นคำไทเก่า มีความหมายว่า “น้ำซับ” ซึ่งทุกวันนี้ สายน้ำซำยังคงทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดสายหลัก ไหลอย่างสงบเย็นหล่อเลี้ยงผู้คนในแขวงหัวพัน ตั้งแต่ซำเหนือยันซำใต้
นอกจากสะพานคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ทอดข้ามสายน้ำซำซึ่งเวียดนามประเทศเพื่อนบ้านที่ร่วมชะตากรรมสมัยสงครามอินโดจีนสร้างให้แล้ว สะพานสลิงดั่งเดิมอันเล็กๆยังคงทำหน้าที่นำพาผู้คนจากสองฝั่งสายน้ำข้ามไปมาหากัน และเช้าวันนี้ผมก็เป็นหนึ่งในจำนวนคนเหล่านั้นที่จะเดินข้ามสายน้ำซำไปสัมผัสวิถีชีวิตอันมีสีสันในยามเช้า
นอกจากผัก ผลไม้สดๆแบบที่มีในเมืองไทยแล้ว ที่ตลาดเช้ายังมีอาหารหน้าตาแปลกๆอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนตุ่ย แม้จะดูคล้ายขนมไข่เต่า แต่มีขนาดใหญ่กว่าราว 5 เท่า อีกทั้งยังมีไส้ถั่วอยู่ข้างใน หากกินหลังจากขึ้นจากกระทะร้อนๆจะกรอบอร่อยดีแท้
แต่หากจะลิ้มลองขนมที่กินแล้วอิ่ม ก็มีข้าวต้มมัดชิ้นโตมากๆ จนอดรู้สึกไม่ได้ว่าของกินที่นี่ล้วนมีขนาดใหญ่โตกว่าเมืองไทยไปเสียทุกอย่าง หรือจะลองกินข้าวหลามก็เข้าที แม้จะไม่มีไส้สังขยาแบบบ้านเรา แต่ทีนี่ก็มีข้าวหลามหน้ามะพร้าวขูด ที่รสชาติหวานมันอร่อยยิ่งนัก
แต่ที่แปลกตาที่สุดคงจะไม่พ้น “ไค” หรือสาหร่ายแม่น้ำสีเขียวเข้ม ซึ่งวางขายในราคากองละ 1,000 กีบ หรือ 4 บาทเท่านั้น ป้าผู้ขายบอกว่า สามารถนำไปทำอาหารได้โดยการนำไปต้ม และกินเป็นซุปร้อนๆ ดูเข้าทีเหมือนกัน แต่เกรงว่าหากซื้อไป กว่าจะกลับถึงเมืองไทย เจ้าไคสดเหล่านี้อาจจะกลายเป็นไคอบแห้งไปเสียก่อน
ในเวลานี้ผมกลับมายืนอยู่ที่สถานีขนส่งซำเหนืออีกครั้ง แม้จะสายแล้วแต่หมอกหนายังคงแผ่ตัวจนมองไม่เห็นตัวเมืองที่อยู่เบื้องล่าง การเดินทางกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ผมกำลังเดินทางย้อนกลับสู่เมืองโพนสะหวัน เมืองหลวงของแขวงเชียงขวาง แม้จะเป็นการเดินทางย้อนกลับในเส้นทางสายเดิม แต่ช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้ความรู้สึกบนเส้นทางแห่งขุนเขานั้นเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
ภายในรถโดยสารยังคงมากไปด้วยกระสอบที่วางอยู่เต็มทางเดิน เมื่อรถใกล้ออกกระสอบเหล่านี้ก็แปรสภาพเป็นฐานสำหรับวางเบาะนั่งเสริม สำหรับผมแล้วจึงถือว่าโชคดีที่แม้จะได้ที่นั่งตอนท้ายสุดของรถแต่ก็ยังดีกว่าการต้องนั่งชันเข่าบนเบาะเสริมเหล่านั้น
นอกจากทิวเขาสูงใหญ่ที่ปกคลุมด้วยสายหมอกแล้ว บนเส้นทางสายนี้ยังแต่งเติมด้วยบ้านเรือนที่นานๆจะมีให้เห็นสักที และแม้เส้นทางสายนี้จะเป็นทางหลวงเพียงสายเดียวที่เชื่อมระหว่างแขวงหัวพันกับเชียงขวาง แต่คงเพราะนานๆทีจึงจะมีรถยนต์ผ่านมาสักคัน ถนนสายแคบๆสายนี้จึงมักเปลี่ยนเป็นสนามเด็กเล่นของเหล่าเด็กน้อยชาวลาวสูงที่ใช้ชีวิตอยู่บนขุนเขา
สายหมอกเริ่มจางหายไปตามเวลาที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้า แต่จิตใจไม่ได้รู้สึกเกิดความเบื่อหน่าย เพราะทิวทัศน์ของขุนเขาที่เส้นทางพาดผ่านนั้นงดงามยิ่งนัก
ผู้โดยสารที่อัดแน่นบนรถ เริ่มลดจำนวนน้อยลง เมื่อรถแล่นผ่านหมู่บ้านต่างๆ โดยเฉพาะที่หัวเมือง เมืองใหญ่อีกแห่งหนึ่งในแขวงหัวพัน ซึ่งเป็นจุดจอดให้รับประทานอาหารกลางวัน โดยยังคงมีเพียงเฝอ หรือก๋วยเตี๋ยวเชื้อชาติเวียดนามที่มากไปด้วยผักสดให้รับประทาน แม้ว่าจะได้ลิ้มลองไปหลายมื้อ แต่ก็ยังคงติดใจในรสชาติของน้ำซุปที่กลมกลมและความสดของผักที่เสริฟมาเต็มกระจาดใบใหญ่
การเดินทางบนเส้นทางแห่งขุนเขาเริ่มต้นอีกครั้ง แล้วในเวลาที่พระอาทิตย์จวนเจียนจะลับขอบฟ้า เส้นทางก็เริ่มลดความสูงชันลง เวลาแห่งการเดินทางที่ผ่านไป 10 ชั่วโมงก็สิ้นสุดลงอีกครั้ง เมื่อรถจอดอย่างสงบนิ่งที่ตัวเมืองโพนสะหวัน เมืองหลวงของแขวงเชียงขวาง
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 08.54 น.