เห็นหัวข้อบทความนี้แล้วอย่าเพิ่งรีบกดปิดนะคะ เพราะวันนี้เราจะพาทุกคนไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งย่านเกาะรัตนโกสินทร์ บนถนนราชดำเนิน นามว่า “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้นอกจากจะพาทุกคนเรียนรู้เรื่องราวความเป็นไทยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ศิลปะ และวัฒนธรรมแขนงอื่น ๆ อย่างมากมายแล้ว พิพิธภัณฑ์นี้ยังนำเสนอเรื่องราวด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่าพิพิธภัณฑ์แห่งไหนในโลก รับรองได้ว่าเมื่อเพื่อน ๆ ได้เที่ยวชมที่นี่แล้ว ต้องอยากกลับมาเที่ยวชมที่นี่อีกอย่างแน่นอนค่ะ เราเองก็มาประมาณ 3-4 รอบก็ยังอยากมาอีกเลย แม้แต่ตอนที่เขียนบทความนี้ก็ยังอยากมาอีกเลยค่ะ ^^

Credit by: https://www.facebook.com/Nitasrattanakosin

ก่อนจะเข้าไปชมนิทรรศการข้างในก็ต้องเสียค่าบัตรเข้าชมค่ะเพียงคนละ 100 บาทเท่านั้น ส่วนเด็กที่มีส่วนสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร, นักเรียน / นักศึกษาที่ศึกษาไม่เกินระดับปริญญาตรี, ผู้สูงอายุชาวไทยตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป, พระภิกษุ สามเณร และผู้พิการ สามารถเข้าชมฟรีค่ะ ซึ่งที่นี่จะแบ่งเส้นทางการชมออกเป็น 2 เส้นทาง คือเส้นทางที่ 1 กับเส้นทางที่ 2 โดยใช้เวลาเส้นทางละ 2 ชั่วโมง แต่ถ้าจะให้ดี เราขอแนะนำให้ชมทั้ง 2 เส้นทาง ใช้เวลาทั้งหมด 4 ชั่วโมง จะคุ้มกว่าค่ะ และถ้าหากใครมีสัมภาระและต้องการฝากของไว้ สามารถนำไปฝากที่ตู้ล็อกเกอร์ได้ฟรี เพียงแค่นำบัตรประชาชนไปแลกกับกุญแจตรงเคาน์เตอร์ฝั่งตรงข้ามค่ะ ^^

ส่วนเราเที่ยวชมทั้ง 2 เส้นทางเลยค่ะ ซึ่งเราจะเที่ยวชมเส้นทางที่ 1 ก่อนแล้วค่อยชมเส้นทางที่ 2 ต่อ ว่าแล้วตามเรามาเส้นทางที่ 1 กันเลยค่า... ^^


เส้นทางที่ 1

ก่อนจะเข้ามาชมห้องแรกที่ชื่อว่า “ดื่มด่ำย่านชุมชน” ก็จะเห็นภาพเขียนขนาดใหญ่ที่เป็นภาพเขียนแห่งประวัติศาสตร์ครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพ่อหลวงค่ะ

เมื่อเข้ามาชมห้อง “ดื่มด่ำย่านชุมชน” ก็จะพบว่าห้องนี้เป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียงบนเกาะรัตนโกสินทร์ว่าแต่ละชุมชนนั้นมีภูมิปัญญาท้องถิ่นและจุดเด่นของงานหัตถศิลป์ในเรื่องใดกันบ้างค่ะ ไม่ว่าจะเป็น...

ทองคำเปลวที่เห็นในรูปนี้เป็นอาชีพของคนในชุมชนแยกคอกวัว ตั้งแต่ถนนตีทองจนถึงสี่แยกคอกวัว ซึ่งแต่ก่อนนั้นเรียกกันว่า “บ้านช่างทอง” เนื่องจากเป็นย่านที่ช่างทองหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 อาศัยอยู่รวมกันและประกอบอาชีพตีทองคำเปลว แต่เมื่อมีถนนตัดผ่านบริเวณนี้จึงเปลี่ยนมาใช้เป็นถนนตีทองค่ะ ปัจจุบันอาชีพนี้ใกล้สูญลงในย่านนี้ เพราะหาผู้สืบทอดได้ยาก บวกกับเป็นงานที่ทั้งหนักและเหนื่อย แถมยังต้องใช้ความประณีต ละเอียด และอดทนค่อนข้างมากนั่นเองค่ะ

พระพุทธรูปที่เห็นอยู่นี้เป็นเครื่องสังฆภัณฑ์หรือสิ่งของเครื่องใช้สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ชุมชนย่านถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่บริเวณประตูผีไปจนถึงเสาชิงช้า หน้าวัดสุทัศน์ ทำและจำหน่ายตั้งเรียงรายอยู่ริมถนนค่ะ

สายรัดประคดหรือแถบผ้าทอคาดเอวที่ใช้สำหรับคาดสบงของพระภิกษุสงฆ์และสามเณรเป็นสิ่งที่คนในชุมชนบ้านสายถนนมหาไชยผลิตขึ้นโดยใช้ไหมเทียม ปัจจุบันเหลือเพียงชื่อชุมชนบ้านสายให้ระลึกถึงเท่านั้น เนื่องจากคนที่ทำสายรัดประคดคนสุดท้ายได้เสียชีวิตไปนานแล้วค่ะ

น้ำอบไทยเป็นภูมิปัญญาไทยที่ใช้ดอกไม้นานาชนิดมาปรุงเป็นเครื่องหอม เพื่อนำมาใช้ปะพรมในชีวิตประจำวันและใช้ในพิธีต่าง ๆ หลากหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นพิธีสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ หรือเล่นสาดน้ำสงกรานต์ เป็นต้น

ดินสอพองมีแหล่งผลิตอยู่ในชุมชนย่านถนนดินสอ ใกล้กับบริเวณโบสถ์พราหมณ์หรือเสาชิงช้าค่ะ ซึ่งดินสอพองนั้น คนสมัยก่อนมักใช้เป็นเครื่องประทินผิว โดยนำมาละลายกับน้ำหรือน้ำหอมประพรมตามร่างกาย หรือใช้เป็นยาแก้พิษ ผดผื่นคันตามผิวหนัง นอกจากนั้นแล้วยังนำมาทำความสะอาดเครื่องประดับประเภทเครื่องเงิน นาก หรือทองเหลืองได้อีกด้วยค่ะ

จากนั้นก็เข้าไปชมวิดีทัศน์ระบบสี่มิติเกี่ยวกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ที่ห้อง “รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์” ซึ่งวิดีทัศน์นั้นชัดเจนทั้งภาพ เสียง และสัมผัสได้อย่างสมจริงค่ะ จากนั้นก็เข้าไปในห้อง “เกียรติยศแผ่นดินสยาม” กันต่อ เพื่อชมโมเดลจำลองสมบูรณ์แบบของพระบรมมหาราชวัง

พอเห็นโมเดลจำลองของพระบรมมหาราชวัง บอกเลยว่าสวยงามและยิ่งใหญ่มาก ๆ ตื่นตาตื่นใจสุด ๆ เลยค่ะ นอกจากนั้นรอบ ๆ ห้องยังอธิบายถึงเรื่องราวและความหมายทางสถาปัตยกรรมชั้นสูงที่แสดงถึงเกียรติยศแห่งแผ่นดินและเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ เช่น เครื่องยอด, หน้าบัน, บัลลังก์, พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นต้น อีกด้วยค่ะ

ซุ้มพระบัญชร หรือซุ้มหน้าต่าง เป็นซุ้มที่ทวยเทพคอยป้องกันรักษาพระที่นั่งค่ะ โดยมีรูปแบบซุ้มแตกต่างกัน เช่น ซุ้มทรงมณฑป, ซุ้มบันแถลง และซุ้มแบบตะวันตก เป็นต้น

บานพระทวาร หรือบานประตู มีภาพทวารบาล หรือเทวดาผู้รักษาประตูวาดตกแต่งอย่างสวยงามประณีตค่ะ

หน้าบัน มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วของหลังคาที่ปรากฏบนพระที่นั่งองค์สำคัญของแต่ละรัชกาล ซึ่งประดับด้วยสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพระมหากษัตริย์ เช่น รูปนารายณ์ทรงครุฑ, รูปพระอินทร์, รูปเทวดาประจำทิศ, รูปตราแผ่นดิน เป็นต้น

ลัดเลาะเข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นในกันต่อค่ะ ซึ่งเขตพระราชฐานชั้นในนี้เป็นเขตต้องห้ามสำหรับผู้ชาย และมีโขลนที่เทียบกับตำรวจหญิง ซึ่งทำหน้าที่รักษาการณ์บริเวณประตูเข้า-ออกและดูแลความสงบเรียบร้อยตามถนนต่าง ๆ ภายในวัง โดยมีสมเด็จพระราชินีหรือพระบรมวงศ์ฝ่ายในทรงดูแลและบังคับบัญชาหน่วยงานนี้นั่นเองค่ะ

สาวชาววังกำลังปักผ้า ซึ่งสาวชาววังจะสวมชุดสีผ้านุ่งและสีผ้าห่มตามสีประจำวันทั้ง 7 วันได้แก่ วันจันทร์สวมชุดสีเหลือง, วันอังคารสวมชุดสีชมพู, วันพุธสวมชุดสีเขียว เป็นต้น นอกจากนั้นยังทำความสะอาดและเก็บรักษาเสื้อผ้าให้เรียบเป็นมันเงา ทำจีบที่คมสวย และมีกลิ่นหอมกำจายไปไกลชนิดที่เรียกว่า “หอมติดกระดาน” ค่ะ

สาวชาววังกำลังแกะสลักผักและผลไม้เพื่อตกแต่งอาหารให้ประณีต มีสีสัน และน่ารับประทานมากยิ่งขึ้นค่ะ

อาหารว่างทานเล่นทั้งคาวหวานในขวดโหลที่สาวชาววังทำคราวละมาก ๆ เพื่อเก็บไว้พร้อมรับประทานเสมอค่ะ

สาวชาววังกำลังประดิษฐ์ดอกไม้เพื่อประดับตกแต่งสถานที่หรือเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการเรียงร้อยดอกไม้เล็ก ๆ มารวมกันด้วยเส้นด้ายและประดิษฐ์เป็นรูปแบบต่าง ๆ อย่างประณีตงดงาม เช่น พวงมาลัย, เครื่องแขวน, พุ่มกรวย และตาข่าย เป็นต้น ส่วนมากงานประดิษฐ์ดอกไม้มักใช้ในการประกอบพระราชพิธี และพิธีมงคลอื่น ๆ อย่างงานแต่งงาน, งานโกนจุก หรืองานบวช สืบมาจนถึงปัจจุบันค่ะ

เครื่องแขวนเป็นงานประดิษฐ์ดอกไม้รูปแบบหนึ่งที่สาวชาววังร้อยเรียงขึ้นอย่างสวยงาม เพื่อประดับตกแต่งสถานที่ค่ะ

ถัดมาก็เข้าชมห้อง “เรืองนามมหรสพศิลป์” กันต่อค่ะ ซึ่งห้องนี้ก็จะเป็นห้องชมวิดีทัศน์ในมุมมอง 360 องศา พร้อมจัดแสดงถึงเรื่องราวเกี่ยวกับมหรสพและศิลปะการแสดงต่าง ๆ ของไทยอย่างหนังใหญ่, โขน, หุ่นละครเล็ก และหุ่นกระบอกใหญ่ พร้อมทั้งเพลิดเพลินไปกับหุ่นเคลื่อนไหวแบบแอนิเมชันลายไทย, ตัวละครและเรื่องราวของวรรณคดีไทยเรื่อง “รามเกียรติ์” และการเรียนรู้ภาษาโขนที่ทุกกิริยาแฝงไปด้วยความหมายและความละเอียดอ่อนค่ะ

แต่ก่อนที่จะเข้าห้อง “เยี่ยมยลถิ่นกรุง” เพื่อเที่ยวชมสถานที่ยอดนิยมย่านต่าง ๆ บนเกาะรัตนโกสินทร์ ก็ถ่ายรูปเพื่อทำเป็นแอนิเมชันเกี่ยวกับการท่องเที่ยวสุดน่ารักด้วยกล้องถ่ายรูปรุ่นเก่ากันก่อนค่ะ รับรองว่าเมื่อเข้าไปชมแล้วต้องกรี๊ดว่า “มีเราด้วย ๆ” อย่างแน่นอน ^^

เข้าชม “ห้องลือระบิลพระราชพิธี” ซึ่งเป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชพิธีต่าง ๆ ทั้งอดีตและปัจจุบัน รวมไปถึงพระราชพิธีที่รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ค่ะ เช่น พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, พระราชพิธีรับและสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญในรัชกาลที่ 9 และพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพระยุหยาตราทางชลมารค เป็นต้น

ต่อด้วยห้องสุดท้ายในเส้นทางที่ 1 คือห้อง “สง่าศรีสถาปัตยกรรม” ซึ่งกล่าวถึงเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของทั้งวัด วัง และบ้านสมัยต่าง ๆ ในยุครัตนโกสินทร์ ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยค่ะ

จำลองวิถีชีวิตของคนไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนมีโรงเรียน บิดามารดาหรือผู้ปกครองมักส่งเด็กชายที่เติบโตพอจะดูแลได้ไปเล่าเรียนฝึกเขียนอ่านกับพระสงฆ์ตามวัด หรืออาจถึงขั้นบวชเป็นสามเณรและพระสงฆ์ เรียกว่าเป็นการสั่งสอนทั้งความรู้และคุณธรรมไปพร้อมกัน เนื่องจากพระสงฆ์อยู่ในฐานะแบบอย่างที่ดีของสังคม

คนไทยในอดีตมักล้อมหน้ากินข้าวพร้อมหน้ากันภายในครอบครัวจากสำรับเดียวกัน ซึ่งจะใช้นิ้วมือเปิบอาหารใส่ปาก เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีช้อนส้อมค่ะ โดยกับข้าวส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบท้องถิ่นหรือตามฤดูกาลที่หาได้ทั่วไปค่ะ

เสร็จสิ้นการชมเส้นทางที่ 1 แล้ว เรามาชมเส้นทางที่ 2 กันต่อ รับรองว่าสนุกและเพลิดเพลินไม่แพ้กันเลยค่ะ ว่าแล้วก็ตามกันมาเลย ^^


เส้นทางที่ 2

แม้ว่าเส้นทางที่ 2 จะมีแค่ห้องจัดแสดงเพียง 2 ห้อง แต่ก็สนุกและไม่น่าเบื่อเลยค่ะ มาชมห้องแรกที่ชื่อว่า “เรืองรุ่งวิถีไทย” กันก่อนดีกว่าว่าจัดแสดงเกี่ยวกับอะไร

เมื่อเข้าไปชมห้องเรืองรุ่งวิถีไทย สิ่งแรกที่เราจะเห็นก็คือโมเดลจำลองเรือนไทยที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยในทุกช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การบวช การแต่งงาน และการตาย

จากนั้นมาล่องเรือชมวิถีชีวิตของผู้คนริมสายน้ำกันค่ะ ซึ่งเรือที่ใช้ล่องเป็นเรือไม้ค่อย ๆ เคลื่อนไปข้างหน้าแบบลอยโคลงเคลงไปมาเสมือนว่าลอยอยู่กลางแม่น้ำจริง ๆ และระหว่างที่ล่องเรือก็จะมีเพลงฉ่อยหรือแหล่บรรยายบรรยากาศริมสองฝั่งแม่น้ำ พร้อมทั้งมีภาพเคลื่อนไหวสองมิติริมสองฝั่งแม่น้ำที่ฉายทางเทคโนโลยีโปรเจคเตอร์ ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของคนในสมัยนั้นค่ะ

ล่องเรือชมวิถีชีวิตผู้คนริมฝั่งแม่น้ำกันแล้ว นั่งรถรางชมวิถีชีวิตผู้คนบนสองฝั่งของถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นถนนสายแรกของไทยกันต่อค่ะ ^^

แวะชมห้างขายของฝรั่งกันค่ะ ซึ่งห้างขายของฝรั่งเป็นห้างร้านที่ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนค้าขายบริเวณตึกแถวริมถนน โดยสินค้าฝรั่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นของแปลกใหม่ของคนไทยในสมัยนั้น เช่น สบู่, ยาสีฟัน, น้ำหอม เป็นต้น

ถัดมาเป็นสยามอารยะ ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงภาพบ้านเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านยุคพัฒนามาเป็นยุคอารยะ นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ติดต่อค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตก รวมไปถึงคณะมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ทำให้สภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตของคนไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปนั่นเองค่ะ

เขยิบมาอีกนิดก็จะเป็นร้านขายยา ซึ่งคนไทยสมัยก่อนนั้นจะใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืชและสัตว์ รวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ มาทำเป็นยารักษาโรค แต่เมื่อการแพทย์แผนตะวันตกเริ่มเข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยมากขึ้น แพทย์แผนไทยจึงพัฒนาและปรับปรุงวิธีการรักษาให้ได้รับมาตรฐานสากล เพื่อไม่ให้ถูกกลืนหายไปกับการเปลี่ยนแปลงจากชาติตะวันตกค่ะ

เดินมาอีกหน่อยก็เป็นแบงก์สยามกัมมาจล ซึ่งแบงก์สยามกัมมาจลตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยในช่วงแรกเริ่มนั้นเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กใช้ชื่อว่า “บุคคลัภย์” ที่เลียนเสียงคำในภาษาอังกฤษว่า “Book Club” มีหน้าที่รับฝากเงิน ต่อมาเมื่อคนทั่วไปรู้จักและยอมรับระบบธนาคารพาณิชย์มากขึ้นจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “แบงก์สยามกัมมาจล” และหลังจากเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยก็ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบันนั่นเองค่ะ

เขยิบมาอีกห้องก็จะเป็นไปรษณีย์ไทย ซึ่งไปรษณีย์ไทยนี้ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อดำเนินงานด้านการสื่อสารภายในกรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อประชาชนเข้ามาใช้บริการกันมากขึ้น จึงทรงขยายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศค่ะ

เมื่อเข้ามาสู่รัฐนิยมหรือปฏิวัติวัฒนธรรมไทยในช่วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่ะ เช่น การเปลี่ยนชื่อประเทศและเชื้อชาติจาก “สยาม” เป็น “ไทย”, การแต่งเนื้อเพลงชาติไทยใหม่, การแต่งกายแบบสากล เป็นต้น

พอเข้าสู่ยุคโก๋หลังวังที่มีวัฒนธรรมแบบอเมริกันชนเข้ามา ทั้งแฟชั่นการแต่งตัว, ดนตรี, เทคโนโลยี และความบันเทิงแบบฮอลลีวูด ก็จะเริ่มมีร้านค้าต่าง ๆ อย่างร้านกาแฟ, ร้านทำผม, ร้านตัดเสื้อ, ร้านหนังสือค่ะ

หลังจากชมห้องเรืองรุ่งวิถีไทยกันไปแล้ว เราก็เข้ามายังห้อง “ดวงใจปวงประชา” เป็นห้องสุดท้ายกันค่ะ ซึ่งห้องนี้ก็จะจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 9

เงินถุงแดงเป็นเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานเป็นเงินสำรองของแผ่นดิน เพื่อนำไปใช้ในยามบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญค่ะ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มก่อตั้งการรถไฟไทยขึ้น, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ปวงชนชาวไทย และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช หรือพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานฝนหลวงแก่พสกนิกรชาวไทยในถิ่นทุรกันดารไว้ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคและบริโภคค่ะ

หลังจากชมเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทั้ง 9 รัชกาลแล้ว ทุกคนต้องซาบซึ้งและภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยอย่างแน่นอนค่ะ ^^

ถ้าหากมีเวลาว่างเหลือพอ ขอแนะนำว่าให้ขึ้นไปชมวิวทัศนียภาพในมุมสูงรอบเกาะรัตนโกสินทร์บนถนนราชดำเนินค่ะ เพราะจะได้เห็นสถาปัตยกรรมอันงดงามของสถานที่ต่าง ๆ เช่น โลหะปราสาทของวัดราชนัดดารามวรวิหาร, เจดีย์ภูเขาทองของวัดสระเกศฯ และป้อมมหากาฬ เป็นต้น


📍 ปักหมุดได้ที่: นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ 100 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

🚘 GPS: https://goo.gl/maps/6MUJjPJpaZXpmfTL6

Email: [email protected]

💻 เว็บไซต์: http://www.nitasrattanakosin.com

📞 โทร. 02-621-0044 / โทรสาร. 02-621-0043

💸 เสียค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ (ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ) 100 บาท ส่วนเด็กที่สูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร, นักเรียน / นักศึกษาระดับไม่เกินปริญญาตรี ในเครื่องแบบ หรือแสดงบัตรนักเรียน นักศึกษา, นักบวช / พระภิกษุ / สามเณร, ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) และผู้พิการ เข้าชมฟรี!

🏡 เปิด: ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. หยุดทุกวันจันทร์ (มีรอบเข้าชมทุก 20 นาที ตั้งแต่ 09.20 - 15.00 น. ทั้งหมด 18 รอบต่อวัน โดยรอบสุดท้ายคือเวลา 15.00 น. กรณีที่ชมทั้ง 2 เส้นทาง รอบสุดท้ายคือเวลา 13.00 น.)

***Note: ผู้เข้าชมสามารถเข้าชมนิทรรศการห้องอื่น ๆ ได้ตามอัธยาศัย โดยไม่จำกัดรอบและเวลาภายในวันที่ระบุไว้ในบัตรเข้าชม ยกเว้นห้องรัตนโกสินทร์เรืองโรจน์, ห้องเรืองรุ่งวิถีไทย และห้องดวงใจปวงประชา ที่สงวนสิทธิ์ให้เข้าชมเฉพาะรอบเวลาที่ระบุไว้ในบัตรเข้าชมเท่านั้นค่ะ***


สำหรับใครที่คิดไม่ออกว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดีล่ะก็... ลองแวะเข้ามาชมที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์กันได้นะคะ เพราะนอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นไทยแล้วยังสนุกเพลิดเพลินอีกด้วยค่ะ ^^

อลิชา ธาดาธนวินท์

Windy_love_Travel หญิงสาวผู้รักการท่องเที่ยว

 วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 23.39 น.

ความคิดเห็น