หากพูดถึง “ชีวิตและเรื่องราวทางการแพทย์” หลายคนมักนึกถึงมหาวิทยาลัยมหิดล หรือโรงพยาบาลศิริราช แต่จริง ๆ แล้ว เราสามารถมาเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้จากการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ วันนี้เราจะพาทุกคนมาย้อนรอยเรื่องราวประวัติศาสตร์และสัมผัสวิถีชีวิตนักศึกษาแพทย์ให้ได้เรียนรู้กันที่ “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” แบบไม่ต้องสอบเข้าเป็นแพทย์เลยแม้แต่น้อย ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเที่ยวชมกันได้ดีกว่าค่ะ! ^^

“พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” เป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่ตั้งอยู่ทางด้านหลังของโรงพยาบาลศิริราช ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถนั่งเรือข้ามฟากท่าช้างและท่าพระจันทร์ ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาลงที่ท่าน้ำวังหลังได้ หรือจะนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่ารถไฟได้เช่นกัน ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับวิทยาการทางการแพทย์ เช่น ประวัติโรงพยาบาลศิริราช, ประวัติการแพทย์แผนไทย และประวัติพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน นอกจากนั้นยังแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณคลองบางกอกน้อย-วังหลัง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงปัจจุบัน, การสร้างทางรถไฟสายใต้ และวิถีชุมชนบางกอกน้อย โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใช้อาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) มาจัดสร้างขึ้นใหม่แบ่งเป็น 3 อาคารด้วยกัน คือ อาคารพิพิธภัณฑ์ 1 มี 2 ชั้น, อาคารพิพิธภัณฑ์ 2 มี 2 ชั้น (แต่เป็นพื้นที่จัดแสดงและร้านอาหารที่ชั้น 2) และ อาคารพิพิธภัณฑ์ 3 มีชั้นเดียวค่ะ

ด้วยความที่เรามาแต่เช้าก่อนเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เพื่อจะได้ถ่ายรูปแบบไม่ติดคน จึงเดินถ่ายรูปบรรยากาศโดยรอบพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นท่ารถไฟ, อาคารหลักของพิพิธภัณฑ์, ลานพลับพลาที่เป็นศาลาทรงไทยแบบจตุรมุข และรถไฟแบบหัวรถจักรโบราณค่ะ

ท่ารถไฟเป็นท่าเรือขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางด้านหลังของโรงพยาบาลศิริราช และใกล้กับอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเราสามารถมายืน/นั่งรอเรือข้ามฟาก หรือเรือด่วนเจ้าพระยาได้ โดยบริเวณรอบ ๆ ท่ารถไฟจะเป็นทางเดินไปยังโรงพยาบาลศิริราชที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้เหมาะสำหรับมาเดินกินลมชมวิวในยามเช้าและยามเย็นค่ะ

อาคารหลักของพิพิธภัณฑ์ดัดแปลงโครงสร้างจากสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) ที่ปรับปรุงให้มีความสวยงาม แต่ยังคงสถาปัตยกรรมเดิมไว้ มีลักษณะเป็นอาคารสีเหลืองนวลสลับกับอิฐสีส้มและมีหอนาฬิกาสูงตั้งอยู่ด้านข้างค่ะ

ทางด้านขวาของอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นลานพลับพลาที่มีลักษณะศาลาทรงไทยแบบจตุรมุขตั้งอย่างโดดเด่นสวยงามสง่าอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในศาลาเป็นที่ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงอุ้มพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ค่ะ

ใกล้กับหอนาฬิกาของอาคารพิพิธภัณฑ์มีรถไฟแบบหัวรถจักรโบราณให้ได้ชมหรือถ่ายรูปเท่านั้น ห้ามปีนขึ้นไปบนรถไฟเด็ดขาดค่ะ

เมื่อเดินเข้ามาในตัวอาคารบริเวณ “โถงต้อนรับ” ที่ตกแต่งภายในให้ยังคงสภาพเดิมของสถานีรถไฟเดิมไว้ คือ มีเคาน์เตอร์ขายบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์คล้ายเคาน์เตอร์ขายตั๋วโดยสารที่สถานีรถไฟ และมีเก้าอี้สีน้ำตาลสุดคลาสสิกที่เห็นตามสถานีรถไฟ ทำให้รู้สึกเหมือนย้อนบรรยากาศการเดินทางโดยรถไฟยังไงยังงั้นเลยค่ะ

หลังจากซื้อบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์แล้ว เราก็เริ่มเดินชมโดยเริ่มจากอาคาร 1 ที่ “ห้องศิริราชขัตติยพิมาน” ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ พระราชดำรัส พระราชเสาวนีย์ และพระดำรัส ในพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณต่อโรงพยาบาลศิริราชและการแพทย์ของประเทศไทยมาอย่างยาวนานค่ะ

ถัดมาอีกห้องคือ “ห้องสถานพิมุขมงคลเขต” ซึ่งเป็นห้องจัดแสดง/ถ่ายทอดพระราชประวัติของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือกรมพระราชวังหลังผ่านจิตรกรรมไทยแบบประเพณี, จัดแสดงหุ่นละครในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระศรีเมือง” ในตู้ไม้ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของห้อง, ภาพตัวละครเอกในวรรณคดีเรื่อง “ไซ่ฮั่น”, บุษบกทองอร่ามที่ประดิษฐานพระนิรันตรายตั้งอยู่กลางห้อง และภาพจิตรกรรม “อนุรักษ์เทเวศร์กิตติประกาศ” ที่เป็นจุดเด่นของห้องนี้ค่ะ

หุ่นละครในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระศรีเมือง” ในตู้ไม้ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของห้อง ซึ่งแบ่งเป็นตู้ละ 3 ช่อง (ตอน) ได้แก่ตอน พระศรีเมืองเรียนวิชา, หงส์ทองอาสาหาคู่ให้พระศรีเมือง, พระศรีเมืองพบนางสุวรรณเกสร, ท้าวพินทุทัตให้พระธิดาเสี่ยงคู่, อภิเษกพระศรีเมือง และพระศรีเมืองรบกับพระยาจันทวงศา โดยแต่ละช่องจะมีเนื้อหาบรรยายอยู่ด้านล่างค่ะ

ภาพตัวละครเอกบนฉากกั้นในวรรณคดีเรื่อง “ไซ่ฮั่น” มองภายนอกแบบผิวเผินอาจคิดว่าเป็นภาพพิมพ์ แต่จริง ๆ แล้วเป็นผลงานภาพปักผ้าของ “คุณหลัวลี่เซียง” ศิลปินแห่งชาติของจีน ที่ต้องใช้เวลาถึง 1 ปีเลยทีเดียวค่ะ

ภาพจิตรกรรม “อนุรักษ์เทเวศร์กิตติประกาศ” เป็นภาพจิตรกรรมไทยขนาดใหญ่ 2 x 8 เมตร ที่บอกเล่าถึงพระราชประวัติของ “กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข” ซึ่งชื่อภาพจิตกรรมมาจากคำว่า “อนุรักษ์เทเวศร์” เป็นพระนามของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์” ครั้งเมื่อทำความดีความชอบในสงครามเก้าทัพ ส่วนคำว่า “กิตติ” หมายถึง คำเล่าลือ, คำสรรเสริญ และ “ประกาศ” หมายความว่า ป่าวร้อง, แจ้งให้ทราบ โดยภาพจิตรกรรมภาพนี้มีความพิเศษอยู่ตรงที่เล่าพระราชประวัติของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขผ่านแสงสี พร้อมการขับขานด้วยทำนองเสนาะอย่างไพเราะค่ะ

หลังจากชม “ห้องสถานพิมุขมงคลเขต” แล้วเดินต่อไปเพื่อชมห้อง “โบราณราชศัสตรา” แต่ระหว่างทางก็จะมีจัดแสดงวัตถุอย่างฐานป้อมพระราชวังหลังและเครื่องถ้วยโบราณให้ได้ชมกัน รวมไปถึงป้ายความรู้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เช่น แผนที่กรุงธนบุรี-บางกอก, วังหลัง, พระราชวังหลังในสมัยรัตนโกสินทร์, ต้นราชสกุลวังหลัง เป็นต้น

เดินมาถึง “ห้องโบราณราชศัสตรา” แล้ว ต้องเก็บโทรศัพท์มือถือหรือกล้องถ่ายรูปนะคะ เพราะทางพิพิธภัณฑ์ห้ามถ่ายรูปศาสตราวุธภายในห้องนี้ โดยจะมีป้ายห้ามถ่ายรูปตั้งไว้บริเวณทางเดินก่อนเข้าห้องค่ะ ซึ่งห้องนี้เป็นห้องที่จัดแสดงศาสตราวุธหรืออาวุธโบราณต่าง ๆ หลากชนิดหลายสายพันธุ์อันทรงคุณค่ายิ่ง เนื่องจากทางคณะแพทย์ศาสตร์ได้รับมอบจากราชสกุล “เสนีวงศ์” (ราชสกุลที่สืบเชื้อสายจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข) สำหรับใครที่ชื่นชอบของเก่าที่มีสภาพสมบูรณ์หรือต้องการชื่นชมความงดงามของศาสตราวุธ ต้องมาสัมผัสด้วยตนเองเท่านั้นค่ะ

ชมศาสตราวุธแล้วก็เดินต่อไปยัง “ห้องคมนาคมบรรหาร” แต่ก่อนที่จะเข้าไปในห้องนี้ จะมีมุมจัดแสดง “โรงต้มฝิ่นหลวง” แบบจำลองตั้งอยู่หน้าห้อง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางนโยบายเกี่ยวกับฝิ่นให้รัดกุมยิ่งขึ้นด้วยการตั้งโรงต้มฝิ่นหลวงและเจ้าภาษีฝิ่น เพื่อผูกขาดการจัดการซื้อขายฝิ่นทั่วราชอาณาจักร ทำให้สามารถควบคุมการสูบฝิ่นให้อยู่ในกำกับของรัฐค่ะ

ชม “โรงต้มฝิ่นหลวง” แล้วก็ถึงเวลาเดินเข้าไปใน “ห้องคมนาคมบรรหาร” ซึ่งเป็นห้องชมภาพยนตร์ระบบสี่มิติสุดระทึกใจที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการสร้างสถานีรถไฟธนบุรี, พื้นที่บางกอกน้อย, ฉากหรือเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจุดเด่นของห้องนี้อยู่ตรงที่จำลองบรรยากาศให้เสมือนจริง ทั้งแสง สี เสียง และเอฟเฟกต์ต่าง ๆ อย่างเช่น ฉากทิ้งระเบิดในสงครามก็เหมือนมีระเบิดลงตรงหน้า รับรองว่าทั้งสนุก ตื่นเต้น และได้รับความรู้ไปพร้อม ๆ กันอย่างแน่นอนค่ะ

ชมภาพยนตร์สี่มิติใน “ห้องคมนาคมบรรหาร” แล้วก็เดินขึ้นบันไดไปชั้น 2 ใน “ห้องศิริราชบุราณปวัตติ์” ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโรงพยาบาลศิริราช ไล่เรียงมาตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ที่จำลองบรรยากาศให้เหมือนเราเป็นนักศึกษาแพทย์จริง ๆ โดยจุดเด่นของห้องนี้คือจัดแสดงโซนจำลองห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์แบบต่าง ๆ เช่น ห้องผ่าตัด, ห้องเรียนอาจารย์ใหญ่, ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก (ห้อง OPD), ห้องตรวจตา, ห้องสมุด เป็นต้น เหล่านี้เองที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่เกิดขึ้นทั้งหมดตลอดระยะเวลาการดำรงอยู่ของโรงพยาบาลศิริราชค่ะ

ห้องเรียนอาจารย์ใหญ่หรือห้องเรียนกายวิภาคศาสตร์จะมีร่างอาจารย์ใหญ่ที่นอนอุทิศร่างบนโต๊ะปฏิบัติการ, โครงกระดูก และกระดานดำ ซึ่ง “อาจารย์ใหญ่” เป็นบุคคลที่บริจาคร่างกายของตนเองเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้เรียนก่อนจะเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยในอนาคต ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนกายวิภาคศาสตร์หรือร่างกายมนุษย์เลยทีเดียว โดยใต้โต๊ะของร่างอาจารย์ใหญ่นั้น หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ามีถังรองน้ำมันจากตัวอาจารย์ใหญ่ หลังจากนักศึกษาแพทย์เรียนเสร็จจะนำถังเหล่านี้ไปทิ้งและทำความสะอาดต่อไปค่ะ

ไฮไลท์ของห้องนี้ที่ไม่ควรพลาดเลยคือ “โซนห้องผ่าตัด” ซึ่งโซนนี้จำลองการผ่าตัดแบบย้อนยุคที่ผู้เข้าชมจะได้สวมบทบาทเป็นคุณหมอผ่าตัดหรือคุณหมอดมยา และฝึกการทำงานเป็นทีมเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์เครื่องมือการผ่าตัดเหมือนกับที่ใช้ในห้องผ่าตัดให้ได้ชมกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นมีด, ใบมีด, กรรไกร, เครื่องดึงถ่าง, ที่คีบ และผ้าก๊อซ

“โซนจักษุวิทยา” เป็นการจำลองบรรยากาศห้องตรวจโรคตาในอดีต จัดแสดงเครื่องมือของจักษุแพทย์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค รวมถึงวัตถุจัดแสดงที่หาชมยาก เช่น เลนส์ของต้อกระจกจากผู้ป่วยนับพันราย และเครื่องมือผ่าตัดดวงตาของศิริราชในอดีตค่ะ

“ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอก (ห้อง OPD)” เป็นห้องที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคจากอาการป่วยเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่การรักษาต่อไป ซึ่งโซนนี้จำลองหุ่นให้ได้ฟังเสียงหัวใจและดูรอยโรคภายในช่องคอแบบต่าง ๆ กันค่ะ

พอได้ชม “ห้องศิริราชบุราณปวัตติ์” ในโซนจำลองห้องต่าง ๆ แต่ละโซนแล้วทำให้รู้ว่ากว่านักศึกษาแพทย์จะเรียนจบมาเป็นแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วยนั้นไม่ง่ายเลยจริง ๆ ด้วยความที่ใช้เวลาในการเรียนนานกว่า 6 ปี และต้องสอบใบประกอบอาชีพแพทย์อีก จึงต้องใช้ความขยัน ความอดทน และความพยายามอย่างมากเลยทีเดียวค่ะ

หลังจากชมการแพทย์ในเชิงวิทยาศาสตร์กันไปแล้ว เดินเข้าชม “ห้องสยามรัฐเวชศาสตร์” กันต่อ ซึ่งห้องนี้จัดแสดงเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์และการแพทย์แผนไทย เช่น ร่างกายมนุษย์กับการรักษาโรค, การมีสุขภาพดีด้วยหลักธรรมานามัย, การใช้ยาสมุนไพรไทย และการนวดแผนไทย เป็นต้น โดยคำว่า “สยามรัฐ” หมายถึงประเทศไทย ส่วนคำว่า “เวชศาสตร์” หมายถึง วิชาว่าด้วยการรักษาโรคโดยการใช้ยา หรือชื่อตำรารักษาโรคแผนโบราณค่ะ

ห้อง “สยามรัฐเวชศาสตร์” ในโซนแรกคือโซน “มหัศจรรย์ร่างกายมนุษย์” ซึ่งเป็นโซนไขรหัสการแพทย์ที่บอกเล่าความจริงเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ในมุมมองของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนตะวันตก และถอดรหัสความรู้สู่การมีสุขภาพดีด้วยหลักธรรมานามัยที่กล่าวถึงจิตตานามัย (การดูแลให้เกิดอนามัยของจิต), กายานามัย (การดูแลให้เกิดอนามัยของกาย) และชีวิตานามัย (การดูแลการใช้ชีวิตหรือการดำเนินชีวิตตามหลักอนามัย) ค่ะ

โซนถัดมาคือ “การแพทย์แผนไทย” ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสมุนไพรไทยหลายร้อยชนิดและอุปกรณ์/เครื่องมือที่ใช้ในการทำยา เพื่อนำมารักษาโรคต่าง ๆ ผ่านการจัดแสดงในรูปแบบของการจำลองบรรยากาศร้านขายยาโบราณอย่าง “ร้านโอสถวัฒนา” ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของห้องสยามรัฐเวชศาสตร์เลยทีเดียว นอกจากนั้นยังมีโถยาไทยชนิดต่าง ๆ ตั้งเรียงรายในตู้กระจกใสอยู่เต็มไปหมด และจำลองห้องอยู่ไฟหลังคลอดลูกที่เป็นการฟื้นฟูสุขภาพผู้หญิงหลังคลอดลูก โดยการอยู่ไฟนั้นจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น, กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต, ขับน้ำคาวปลา, กระชับหน้าท้อง และป้องกันการอับชื้นและบรรเทาอาการอักเสบของแผลฝีเย็บ ปัจจุบันอาจมีการอยู่ไฟให้เห็นบ้างประปราย เนื่องจากมีการรับแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามาใช้ค่ะ

ชมห้อง “สยามรัฐเวชศาสตร์” แล้วก็เดินเชื่อมต่อไปยังชั้น 2 ของอาคาร 2 ที่ห้อง “พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ศิริราช” ซึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวงการศัลยศาสตร์ไทยที่มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี และจัดแสดงความรู้ในทุกสาขาของศัลยศาสตร์ที่ผู้ชมจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในห้องผ่าตัดค่ะ เช่น สาขาศัลยศาสตร์ทั่วไป, สาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ, สาขาวิชาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม, สาขาประสาทศัลยศาสตร์, สาขาศัลยศาสตร์ตกแต่ง, สาขาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก, สาขากุมารศัลยศาสตร์, สาขาศัลยศาสตร์หลอดเลือด, สาขาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ และสาขาศัลยศาสตร์ฉุกเฉินและการบริบาลผู้ป่วยนอก เป็นต้น

ถัดมาอีกห้องเป็นร้านคาเฟ่ Tiny Elephant Coffee” ที่ขายหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ, เครื่องดื่ม, ขนมเค้ก และไอศกรีมรสต่าง ๆ ซึ่งกาแฟของร้านนี้มีความพิเศษอยู่ตรงที่ทางร้านจะใช้เมล็ดกาแฟจากยอดดอยทางภาคเหนือ สำหรับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิริราชสามารถใช้ตั๋วเข้าชมเป็นคูปองส่วนลด 10% อีกด้วยค่ะ

จากนั้นเดินลงบันไดเพื่อไปยังอาคาร 3 ชื่อ “นิวาสศิรินาเวศ” กันต่อ ซึ่งอาคารนี้เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวที่แบ่งออกเป็น 2 โซนด้วยกันคือ โซนเรือโบราณ และโซนวิถีชีวิตชาวบางกอกน้อย โดยจุดเด่นของอาคารนี้คือ “เรือไม้โบราณลำใหญ่” ที่ขุดพบแถวพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ค่ะ

โซนเรือโบราณเป็นโซนจัดแสดงเรือไม้โบราณที่มีความยาวถึง 24 เมตร และความยาว 5 เมตร ถูกฝังกลบมากว่า 100 ปี เมื่อแหงนหน้ามองขึ้นไปบนหลังคาจะเห็นเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นท้องเรือขนาดใหญ่ลำนี้ ซึ่งเรือลำนี้ถือเป็นเรือไม้ลำใหญ่ที่สุดของประเทศเท่าที่เคยขุดค้นได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นโบราณวัตถุขนาดใหญ่ที่ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นสมบัติของชาติและเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศไทย โดยมีชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเรือและสิ่งของในการกู้เรือ/อนุรักษ์เรือลำนี้จัดแสดง พร้อมทั้งความรู้ของเรือประเภทต่าง ๆ ค่ะ

โซนวิถีชีวิตชาวบางกอกน้อยเป็นโซนจำลองบรรยากาศ สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนบางกอกน้อยในอดีต เช่น “ตลาดน้ำ-ตลาดบก” ที่ขายสินค้าสารพันชนิด, “ชุมชนไทยมุสลิม” ที่มีฝีมือด้านงานตัดเย็บฟูกหรือที่นอนอัดนุ่น, “ร้านค้าชาวจีน” ที่ขายของชำหรือสินค้าประจำวัน, “บ้านข้าราชการ” บ้านสองชั้นที่เป็นเรือนไม้, “ศาลาโรงธรรม” ที่เป็นศูนย์กลางพบปะและทำกิจกรรมร่วมกันทั้งพิธีการทางศาสนา งานบุญ และงานพิธีต่าง ๆ, “ลานฝึกกระบี่กระบอง” แหล่งฝึกฝนอาวุธไพร่พลเพื่อเป็นกำลังทหารของชาติในยามศึกสงคราม, โรงละคร, ร้านอาหาร และหุ่นจำลอง “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)” อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตารามที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและเคารพนับถือของผู้คนในสมัยนั้นจวบจนถึงปัจจุบันค่ะ

สำหรับคนที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับการแพทย์ โดยเฉพาะน้อง ๆ ม.6 ที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยและต้องการเป็นหมอต้องไม่พลาดชม “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” เด็ดขาดเลยนะคะ เพราะนอกจากจะได้รับความรู้ทางการแพทย์อีกเพียบแล้วยังเพลิดเพลินกับสิ่งของต่าง ๆ ที่จำลองเสมือนจริงมาจัดแสดงให้ได้ชมกันอีกด้วย รับรองว่าการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่มีคำว่าน่าเบื่ออย่างแน่นอนค่ะ ^^

📍 ปักหมุดได้ที่: พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700

🚘 GPS: https://maps.app.goo.gl/rGuTWRj8vyZaXePt7

👍 Facebook: https://www.facebook.com/siriraj.museum

👍 Instagram: https://www.instagram.com/sirirajmuseum/

🌎 เว็บไซต์: http://www.sirirajmuseum.com

✉ Email: [email protected]

📞 โทร. 02-414-1464, 02-419-2601, 02-419-2618-9

💸 เสียค่าเข้าชม:

- คนไทย >> ผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ราคา 80 บาท / ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ราคา 50 บาท / เด็ก (ไม่เกิน 18 ปี) ราคา 25 บาท / เด็กสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร และผู้พิการเข้าฟรี

- ชาวต่างชาติ >> ราคา 200 บาท

🏡 เปิด: วันจันทร์, พุธ-อาทิตย์ เวลา 10.00 - 17.00 น. (หยุดวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) / ปิดจำหน่ายตั๋วเข้าชมทุกประเภท เวลา 16.00 น.

🚌 เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ: รถเมล์สาย 57 , 81 , 157 หรือ รถกะป๊อสายใต้เก่า-รพ.ศิริราช

🛥️ เดินทางโดยเรือ: เรือด่วนเจ้าพระยา ให้ลงท่ารถไฟ / เรือข้ามฟาก ท่าพระจันทร์-วังหลัง, ท่าช้าง-วังหลัง

ความคิดเห็น