หากพูดถึง “เยาวราช” หลายคนมักนึกถึงชุมชนชาวจีนที่ย้ายเข้ามาตั้งรกราก เพื่อพำนักอาศัยและทำมาหากินในแผ่นดินไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ด้วยความที่เยาวราชเป็นแหล่งรวมธุรกิจการค้า ไม่ว่าจะเป็นภัตตาคาร/ร้านอาหาร, ร้านทอง, ธนาคาร และห้างร้านต่าง ๆ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของกรุงเทพฯ จึงได้รับการขนานนามจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติว่าเป็น “ไชน่าทาวน์แห่งกรุงเทพมหานคร” นั่นเอง วันนี้เราเลยจะพาทุกคนมาย้อนรอยเรื่องราวความเป็นมาและสัมผัสวิถีชีวิตแบบจำลองของชาวจีนในเยาวราชให้ได้เรียนรู้กันที่ “ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช” ถ้าพร้อมเที่ยวชมแล้ว ตามกันมาเลยค่า! ^^
“ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช”เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของพระมหามณฑป วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ซึ่งศูนย์ประวัติศาสตร์แห่งนี้จัดแสดงนิทรรศการขนาดย่อมเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนที่ได้หอบเสื่อผืนหมอนใบนั่งเรือสำเภาย้ายเข้ามาลงหลักปักฐานในชุมชนเยาวราชบนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 ห้องด้วยกันตามช่วงเวลา/ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ห้องที่ 1 เติบใหญ่ใต้ร่มพระบารมี, ห้องที่ 2 กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325 - 2394), ห้องที่ 3 เส้นทางสู่ยุคทอง (พ.ศ.2394 - 2500), ห้องที่ 4 ตำนานชีวิต Hall of Fame, ห้องที่ 5 พระบารมีปกเกล้าฯ และห้องที่ 6 เยาวราชวันนี้ค่ะ
เมื่อเดินทางมาถึง “ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช” แล้วอย่าลืมลงชื่อลงทะเบียนที่เคาน์เตอร์เพื่อเข้าชมฟรีนะคะ (คนไทยเข้าชมฟรี) ส่วนใครที่เป็นมัคคุเทศก์หรือพาเพื่อนชาวต่างชาติมาเที่ยวชมจะเสียค่าเข้าชมคนละ 100 บาท แต่หากต้องการกราบไหว้องค์พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ “หลวงพ่อทองคำ” ที่ชั้น 3 ด้วย จะเสียค่าเข้าชมเป็นบัตรรวมคนละ 140 บาท คือค่าเข้าชมนิทรรศการภายในศูนย์ประวัติศาสตร์ 100 บาท กับค่ากราบไหว้หลวงพ่อทองคำอีก 40 บาท หลังจากลงทะเบียนแล้วก็เข้าชม “ห้องที่ 1 เติบใหญ่ใต้ร่มพระบารมี” กันค่ะ
“ห้องที่ 1 เติบใหญ่ใต้ร่มพระบารมี” เป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวของชาวจีนหรือผู้คนในชุมชนเยาวราชที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งห้องนี้จะแบ่งออกเป็น 2 โซนคือ โซนแรกเป็นห้องฉายวีดิทัศน์ผ่านภาพฉายการสนทนาระหว่างอากงและหลานชาย เพื่อทำความรู้จักเบื้องต้นกับชุมชนชาวจีนในย่านสำเพ็งและเยาวราช โดยฉายเป็นรอบ ๆ ทั้งหมด 8 รอบ ใช้เวลารอบละ 1 ชั่วโมง ส่วนอีกโซนเป็นแผ่นป้ายบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของชุมชนเยาวราช รวมถึงตัวอย่างสินค้าส่งออกของไทยที่ค้าสำเภากับประเทศจีนค่ะ
หลังจากชมห้องที่ 1 เติบใหญ่ใต้ร่มพระบารมีครบทั้ง 2 โซนแล้วก็เดินทะลุใต้ท้องเรือสำเภาหัวแดงที่สร้างและจำลองบรรยากาศได้เสมือนจริง เพื่อไปยัง “ห้องที่ 2 กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325 - 2394)” ซึ่งเหตุที่เรียกว่า “เรือสำเภาหัวแดง” ก็เพราะว่าเป็นเรือสำเภาจีนที่ทาสีแดงบริเวณหัวเรือนั่นเอง โดยเรือลำนี้นอกจากจะบรรทุกสินค้าต่าง ๆ แล้วยังนำพาชาวจีนจำนวนมากมาหางานทำในประเทศไทยอีกด้วยค่ะ
“ห้องที่ 2 กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2325 - 2394)” เป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามาอาศัยและค้าขายบนผืนแผ่นดินไทยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1-3), การเดินทางด้วยเรือสำเภาฝ่าทั้งพายุ/คลื่นลมมรสุมกลางท้องทะเลและโรคภัยไข้เจ็บ/ความอดอยากอาหารหรือน้ำที่อาจเกิดขึ้นก่อนจะเทียบท่าเรือสำเพ็ง โดยมีภาพวาดผนังและหุ่นจำลองวิถีชีวิตของชาวจีนในยุคนั้น เช่น ศาลเจ้า, หาบก๋วยเตี๋ยว, ร้านเครื่องทองเหลือง, ร้านขายของชำ, ร้านขายถ้วยชามกระเบื้อง, ร้านข้าวต้ม และร้านโคมไฟค่ะ
“ท่าเทียบเรือสำเพ็ง” เป็นท่าเทียบเรือที่อยู่ใกล้พระนครมากที่สุด ซึ่งจะมีเรือสินค้ามาจอดเปิดตลาดอย่างคึกคักบนดาดฟ้า โดยสินค้าส่วนหนึ่งจะถูกลำเลียงไปยังร้านค้าต่าง ๆ ในสำเพ็งที่เป็นย่านการค้า/ตลาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ในยุคนั้น อีกทั้งบริเวณโดยรอบของสำเพ็งยังมีบ้านเรือนและเรือนแพตั้งอยู่เรียงรายตามริมแม่น้ำค่ะ
“ศาลเจ้า” นอกจากจะเป็นที่สถิตของเทพเจ้าประจำชุมชนแล้วยังเป็นที่พึ่งทางใจของชาวจีนอีกด้วย ซึ่งในสำเพ็งจะมีศาลเจ้าสำคัญแห่งหนึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำนั่นคือ “ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากงหรือศาลเจ้าเก่า” โดยชาวจีนแต้จิ๋วเคารพนับถือ “ปุนเถ้ากง” ว่าเป็นเทพเจ้าผู้ใหญ่ที่คอยปกป้องคุ้มครองผู้คนในชุมชนและดลบันดาลให้รอดพ้นอุปสรรคต่าง ๆ, พบเจอแต่ความสำเร็จ และค้าขายเจริญรุ่งเรือง จึงมักนิยมมากราบไหว้ขอพรค่ะ
“หาบก๋วยเตี๋ยว” เป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่ผู้ขายหาบอุปกรณ์เดินเร่ขายไปตามที่ต่าง ๆ ในยุคนั้นลูกค้าจะต้องนำชามมาใส่ก๋วยเตี๋ยวเอง ซึ่งก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารเส้นที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าใส่เครื่องประกอบต่าง ๆ ลงไปและราดน้ำซุปใส่ชาม โดยคนจีนแต้จิ๋วนำมาเผยแพร่จนเป็นที่นิยมในเมืองไทยค่ะ
“ร้านเครื่องทองเหลือง” เป็นร้านขายของใช้แบบไทยที่ทำจากทองเหลือง เช่น ขันน้ำ, พานรอง, ทัพพี, โตก, เชิงเทียน และเครื่องเชี่ยนหมาก ซึ่งคนไทยนิยมมีของใช้เหล่านี้ไว้ใช้ประจำบ้าน ด้วยความที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตแต่ไม่ถนัดการค้า คนจีนจึงทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อ โดยเปิดร้านขายอยู่ที่สำเพ็งค่ะ
“ร้านขายของชำ” เป็นร้านขายสินค้าหลากชนิดที่มีทั้งของกินและของใช้ต่าง ๆ ซึ่งในอดีตนั้นสินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากเมืองจีนที่นำมาขายให้กับลูกค้าชาวจีนเป็นหลัก เช่น อาหารแห้ง, ของหมักดอง, ผลไม้สด, เครื่องไหว้เจ้า, โคมกระดาษ และตะเกียง ต่อมาสินค้าหลายอย่างได้แพร่หลายไปสู่คนไทยด้วยค่ะ
“ร้านขายถ้วยชามกระเบื้อง” เป็นร้านขายถ้วยชามเนื้อกระเบื้องเคลือบ ซึ่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ถือได้ว่าเป็นสินค้านำเข้าจากเมืองจีน มีทั้งแบบสั่งทำเป็นพิเศษสำหรับชนชั้นสูงและแบบนำมาขายคนทั่วไป นอกจากนั้นยังมีสินค้าราคาแพงประเภทอื่น ๆ อย่างผ้าแพรและเครื่องแก้วมาวางขายอีกด้วยค่ะ
“จุ๋ยก้วย” เป็นขนมถ้วยจีนโบราณที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าแล้วใส่ลงในถ้วยนำไปนึ่งจนสุก โรยหน้าด้วยกระเทียมกับหัวไชโป๊วสับละเอียดและปรุงรสด้วยซีอิ๊วดำ ซึ่งจุ๋ยก้วยถือเป็นของกินเล่นที่นิยมของชาวจีนเนื่องจากอิ่มท้องและราคาถูก ปัจจุบันหากินได้ยากมากค่ะ
“ร้านข้าวต้ม” เป็นร้านขายข้าวต้มที่มีทั้งแบบหาบเร่และแบบตั้งเพิงขาย ซึ่งคนจีนมักกินข้าวต้มเป็นอาหารหลัก เมื่อมีคนจีนเข้ามาทำงานในเมืองไทยจำนวนมากจึงเกิดร้านขายข้าวต้มและกับข้าวง่าย ๆ ราคาถูก สำหรับคนจีนที่มีรายได้น้อยมักเน้นกินข้าวมาก ๆ เพื่อให้อิ่มท้องแต่กินกับข้าวเพียงเล็กน้อย ต่อมาในยุคหลังคนไทยมักเรียกร้านข้าวต้มนี้ว่า “ร้านข้าวต้มกุ๊ย” ที่มีขายอยู่ทั่วไปค่ะ
“ร้านโคมไฟ” เป็นร้านขายโคมไฟกระดาษที่มีทั้งแบบใช้ตามบ้านเรือนและแบบใช้ในพิธีต่าง ๆ ของชาวจีน ซึ่งในชุมชนจีนจะมีคนสานโคมขายเป็นอาชีพ อีกทั้งยังรวมไปถึงการเขียนตัวอักษรลงบนโคม โดยโคมสำหรับแขวนหน้าร้านค้ามักเขียนชื่อร้านเป็นตัวอักษรสีแดง ส่วนโคมที่ใช้ในงานศพจะเขียนตัวอักษรสีน้ำเงินค่ะ
เมื่อเดินชมหุ่นจำลองของร้านค้าต่าง ๆ และวิถีชีวิตของชาวจีนย่านสำเพ็งในสมัยนั้นจนครบแล้วก็เข้าไปชม “ห้องที่ 3 เส้นทางสู่ยุคทอง (พ.ศ.2394 - 2500)” กันต่อ แต่ระหว่างทางเดินไปยังห้องถัดไปจะเป็นห้องจัดแสดงแผ่นป้ายความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ เช่น เรือกลไฟ, ชาวจีนในเมืองไทยยุคก้าวสู่สมัยใหม่ และสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกับประเทศจีนตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลที่ ๙ ค่ะ
“ห้องที่ 3 เส้นทางสู่ยุคทอง (พ.ศ.2394 - 2500)” เป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวพัฒนาการของชุมชนจีนจากตลาดสำเพ็งสู่ความเป็นย่านธุรกิจสมัยใหม่บนถนนเยาวราช โดยห้องนี้แบ่งออกเป็น 2 โซนด้วยกันคือ โซนสำนักงานบริษัทค้าข้าวที่จำลองบรรยากาศได้เสมือนจริง กับโซนโมเดลขนาดใหญ่ที่จำลองถนนเยาวราชทั้งเส้นและร้านค้าบ้านเรือนต่าง ๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2500 ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคทองหรือยุคเฟื่องฟูทางด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และการบันเทิงเลยทีเดียวค่ะ
“สำนักงานบริษัทค้าข้าว” เป็นห้องที่จำลองบรรยากาศภายในบริษัทส่งออกข้าวไทยได้เสมือนจริง มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการตรวจคุณภาพข้าวตั้งอยู่บนโต๊ะและชั้นวางให้ได้ชม เช่น ถาดฉ่ำข้าว, ขวดโหลเก็บตัวอย่างข้าวที่ส่งออกไปต่างประเทศแล้วเพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ, ห่อตัวอย่างข้าวจากหยง (นายหน้าค้าข้าว) ที่เขียนบอกชนิดข้าวและชื่อโรงสี, ตะแกรงร่อนข้าวเพื่อแยกขนาดเมล็ดข้าว, ชามสังกะสีใส่ตัวอย่างข้าว เป็นต้น ซึ่งธุรกิจค้าข้าวถือเป็นธุรกิจที่สำคัญอันเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ และความเจริญรุ่งเรืองของย่านเยาวราชนั่นเองค่ะ
เดินถัดมาอีกห้องจะเป็นโซนจัดแสดงโมเดลขนาดใหญ่ที่จำลองถนนเยาวราชทั้งเส้นตั้งอยู่ตรงกลางห้อง ส่วนบริเวณผนังโดยรอบจะเป็นตู้กระจกที่จัดแสดงโมเดลจำลองร้านค้าและบ้านเรือนต่าง ๆ บนถนนเส้นนี้ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถวสมัยใหม่ทั้งสองข้างถนนให้เช่าที่สำหรับทำการค้าขายและเปิดโอกาสให้ชาวจีนได้เริ่มต้นกิจการของตนเองจนเกิดเป็นย่านธุรกิจการค้าแห่งใหม่ โดยถนนเยาวราชจะมีทั้งตลาด, ร้านอาหาร/ภัตตาคาร, โรงงิ้ว, ร้านโพยก๊วน, วัดจีน, ร้านจันอับ, ร้านทอง, โรงเรียนจีน, ร้านหนังสือพิมพ์จีน, โรงพยาบาลเพื่อคนยากไร้, ศาลเจ้า, โรงภาพยนตร์, โรงน้ำชา และย่านร้านนาฬิกาค่ะ
“ตลาด” เป็นแหล่งรวมที่คัดสรรแต่วัตถุดิบชั้นดีมาประกอบอาหาร ซึ่งย่านเยาวราชในซอยอิสรานุภาพจะมีตลาดทั้งหมด 3 แห่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน ทำให้สามารถเดินซื้อของได้ในคราวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดเก่าที่ขายของสด, ตลาดกรมภูธเรศที่ขายผักสด และตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ยที่ขายของแห้ง โดยบริเวณริมถนนในย่านนี้มีทั้งร้านกุนเชียง, ร้านหมูแผ่นหมูหย็อง, ร้านขนมจันอับ, ร้านซีอิ๊วง่วนเชียง, ร้านซีอิ๊วก้วงห่างเส็ง (ตราแมลงปอ) และร้านง่วนสูน (พริกไทยตรามือที่ 1) แม้ว่าสินค้าในตลาดเหล่านี้จะมีราคาแพงกว่าตลาดแห่งอื่น ๆ แต่ก็เป็นที่นิยมของลูกค้า เพราะเชื่อใจได้ว่าล้วนเป็นของดีมีคุณภาพทั้งนั้นค่ะ
“ภัตตาคาร” นั้นนอกจากจะเป็นร้านอาหารที่มีอาหารรสอร่อยแล้วยังเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ทางสังคมที่สำคัญของชาวจีนอีกด้วย เนื่องจากตามธรรมเนียมจีนที่มักนิยมเริ่มต้นพูดคุยเรื่องสำคัญต่าง ๆ บนโต๊ะอาหาร เช่น การเจรจาทางธุรกิจ, การไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง, การนัดดูตัวหนุ่มสาวเพื่อหมั้นหมาย จนถึงเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงแต่งงาน ซึ่งในย่านเยาวราชมีภัตตาคารชั้นนำหลายแห่งตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่คนกรุงเทพฯ เริ่มนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านนั่นเอง โดย “ห้อยเทียนเหลา” หรือ “หยาดฟ้าภัตตาคาร” ตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2477 บนถนนเสือป่า เป็นอาคาร 3 ชั้นโอ่อ่าใหญ่โต มีห้องโถงจัดเลี้ยงบนชั้น 3 และสถานที่เต้นรำพร้อมวงดนตรีบนดาดฟ้า ภัตตาคารแห่งนี้ถือว่าเป็นภัตตาคารหรูหราในตำนานย่านเยาวราชและยังเป็นสถานลีลาศแห่งแรกในเมืองไทยด้วยค่ะ
“โรงงิ้ว” เป็นสถานที่จัดแสดงงิ้วที่ถือเป็นศิลปะการแสดงอันเก่าแก่ของชาวจีน ส่วนมากมักสร้างโรงงิ้วขึ้นแบบชั่วคราวตามสถานที่ที่ไปแสดงในงานบุญใหญ่ ๆ ซึ่งในยุคเฟื่องฟูของแหล่งบันเทิงมีโรงงิ้วถาวรที่สร้างอย่างใหญ่โตแบบโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นหลายโรงตั้งอยู่ใกล้ ๆ กันตามสองฝั่งถนนย่านเยาวราช ได้แก่ โรงงิ้วตงเง็กที่เป็นโรงงิ้วยอดนิยม, โรงงิ้วอิไล้, โรงงิ้วตงเจี่ย, โรงงิ้วบ่วยเจี่ย, โรงงิ้วไซฮ้อ และโรงงิ้วตงเจี่ยสุง โดยโรงงิ้วที่เยาวราชส่วนใหญ่เป็นงิ้วแต้จิ๋วมักนิยมแสดงเรื่องในประวัติศาสตร์ที่มีคติสอนใจ เปิดการแสดงงิ้วเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 รอบ รอบละ 3 ชั่วโมงครึ่ง คือรอบกลางวันตั้งแต่เวลา 12.30 - 16.00 น. กับรอบกลางคืนตั้งแต่เวลา 12.30 - 16.00 น. ในการแสดงงิ้วแต่ละเรื่อง/ตอนจะแสดงอยู่ประมาณ 10 วัน อาจเพิ่มหรือลดวันตามจำนวนผู้ชม เมื่อเริ่มแสดงแต่ละเรื่องจะต้องมีงิ้วชุดเบิกโรงที่เรียกว่า “ป่วงเซียง” เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนแสดงงิ้วเรื่อง และเมื่อชมงิ้วจนจบเรื่องจะมีรถ ถือได้ว่าโรงงิ้วเป็นแหล่งความบันเทิงและการถ่ายทอดความรู้/คติธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือค่ะ
“ร้านโพยก๊วน” เป็นร้านให้บริการธุรกรรมทางการเงินนอกระบบของชาวจีน ซึ่งชาวจีนที่เดินทางมาทำงานในเมืองไทยมักจะส่ง “โพยก๊วน” หรือจดหมายพร้อมเงินกลับบ้านเพื่อส่งเสียเงินหาเลี้ยงครอบครัวที่ประเทศจีน ทำให้มีร้านโพยก๊วนจำนวนมากในย่านเยาวราช โดยแต่ละร้านจะให้บริการส่งเฉพาะถิ่นและตู้แยกโพยก๊วนตามแซ่เพื่อนำส่งถึงบ้านของผู้รับ ที่ร้านจะมีกระดาษใบเล็กให้ผู้ส่งเขียนข้อความถึงญาติพี่น้องและบอกจำนวนเงินที่ส่ง นอกจากนั้นทางร้านยังมีบริการอื่น ๆ อีก อาทิเช่น เขียนตามคำบอกสำหรับลูกค้าที่เขียนหนังสือไม่เป็น, ให้กู้ยืมเงินสำหรับลูกค้าที่ไม่มีเงินส่งกลับบ้าน, บริการไปรับเงินถึงบ้านสำหรับลูกค้าที่ฐานะดี เป็นต้น ถือได้ว่าร้านโพยก๊วนเป็นสายสัมพันธ์หรือสื่อความผูกพันของชาวจีนที่มีต่อบ้านเกิดค่ะ
“วัดจีน” เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวจีน ซึ่งแต่เดิมชุมชนจีนในเมืองไทยมีเพียงศาลเจ้าจีนเท่านั้นตามความเชื่อผสมผสานกันระหว่างลัทธิขงจื๊อ, ลัทธิเต๋า และศาสนาพุทธ แต่ไม่มีวัดและพระสงฆ์ ทำให้ชาวจีนต้องประกอบพิธีทางศาสนาในวัดญวนหรือวัดไทยแทน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีพระสงฆ์จากจีนเข้ามาและก่อตั้งวัดจีนแห่งแรกด้วยความศรัทธาจากชาวจีนทุกกลุ่มชื่อว่า “วัดเล่งเน่ยยี่” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดมังกรกมลาวาส” และพระราชทานสมณศักดิ์แก่เจ้าอาวาสรูปแรก ถือเป็นจุดกำเนิดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทยเลยทีเดียว โดยบริเวณลานหน้าวัดเล่งเน่ยยี่จะหนาแน่นคึกคักด้วยแผงร้านค้าขายของประเภทเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ สำหรับผู้คนที่มาไหว้พระไหว้เจ้า ทำบุญสะเดาะเคราะห์ แก้ปีชงในแต่ละปี เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต ตลอดจนเสี่ยงทายโชคชะตา นอกจากนั้นยังมีของกินของใช้ให้ซื้อกลับบ้านอีกด้วยค่ะ
“ร้านจันอับ” เป็นร้านขายขนมหวานแบบแห้งหลากหลายชนิดของชาวจีน สำหรับกินกับน้ำชา เช่น ข้าวพอง, ถั่วตัด, งาตัด, ถั่วลิสงเคลือบ และฟักเชื่อม เป็นต้น ซึ่งขนมจันอับเป็นทั้งของกินเล่นในชีวิตประจำวัน, ใช้รับรองแขก, เป็นของไหว้เจ้า และเป็นเครื่องประกอบในงานมงคลทุกงานตามคติของชาวจีนที่เชื่อว่าความหวานเป็นสัญลักษณ์ของความสุข อีกทั้งจันอับยังหมายถึงความเจริญงอกงามเพราะทำจากเมล็ดธัญพืชหลายอย่างที่งอกได้ง่าย โดยในย่านเยาวราชมีร้านจันอับอยู่หลายร้านเป็นกิจการในครอบครัวที่ถ่ายทอดสูตรการทำขนมจากรุ่นสู่รุ่น ร้านเหล่านี้นอกจากมีขนมจันอับหลายอย่างแล้วยังมีขนมเปี๊ยะกับสิงโตน้ำตาลที่ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกด้วยค่ะ
“ร้านทอง” เป็นร้านขายทองคำที่มีทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณหลากหลายรูปแบบ เช่น สร้อยคอ, สร้อยข้อมือ, แหวน, กำไล, ต่างหู เป็นต้น ซึ่งชาวจีนมักนิยมเก็บออมเงินส่วนหนึ่งซื้อทองสะสมไว้เป็นทรัพย์สินสำหรับสร้างเนื้อสร้างตัวหรือสร้างฐานะในอนาคต ทำให้มีร้านทองเกิดขึ้นหลายร้านในย่านชุมชนจีนที่เยาวราชและพัฒนาเติบโตขึ้นจนกลายเป็นร้านทองแถวหน้าที่ถือกันว่าเป็นแหล่งจำหน่ายทองคำคุณภาพสูงสุดของประเทศ โดยในช่วงวันตรุษจีนจะมีผู้คนมาซื้อทองกันมากตั้งแต่เช้ามืดจนถึงดึก ร้านทองบางร้านจะนำงิ้วมาร้องหรือวงดนตรีจีนมาร้องบรรเลง เพื่อสร้างความคึกคักและดึงดูดใจลูกค้าค่ะ
“โรงเรียนจีน” เป็นสถานศึกษาที่สอนภาษาและวัฒนธรรมจีนให้กับลูกหลาน ซึ่งโรงเรียนจีนแห่งแรกในเมืองไทยตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2451 ที่ใช้หลักสูตรของประเทศจีน ต่อมาชาวจีนแต่ละกลุ่มภาษาก็ตั้งโรงเรียนจีนที่ใช้ภาษาจีนในการเรียนการสอนขึ้นหลายแห่ง จนกระทั่งในปี พ.ศ.2464 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนและพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ ส่งผลให้โรงเรียนจีนต้องเปลี่ยนมาสอนภาษาไทยเป็นหลัก โดยย่านเยาวราชมีโรงเรียนจีนชั้นนำแห่งหนึ่งชื่อ “โรงเรียนเผยอิง” ตั้งอยู่ภายในบริเวณศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง (ศาลเจ้าเก่า) สร้างขึ้นด้วยเงินบริจาคของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนแต้จิ๋ว เปิดสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2463 และเจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบันค่ะ
“ร้านหนังสือพิมพ์จีน” เป็นร้านขายหนังสือพิมพ์จีนรายวันที่วางขายบนแผงอยู่หลายฉบับ ซึ่งหนังสือพิมพ์จีนเหล่านี้นอกจากจะนำเสนอข้อมูลข่าวสารทั่วไปให้ชาวจีนในเมืองไทยได้เข้าถึงและทันโลกทันเหตุการณ์แล้วยังเป็นสื่อเผยแพร่ความคิดทางการเมืองที่ต่างปลุกกระแสชาตินิยมให้เกิดขึ้นในหมู่คนจีนอีกด้วย โดยสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ของหนังสือพิมพ์จีนที่ตั้งอยู่ในย่านเยาวราชได้ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่สื่อจึงนำหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่มาติดบนกำแพงทุกวันเรียกว่า “หนังสือพิมพ์กำแพง” เพื่อให้ผู้สนใจมาอ่านได้โดยไม่ต้องซื้อค่ะ
“โรงพยาบาลเพื่อคนยากไร้” เป็นสถานพยาบาลที่ช่วยเหลือดูแลหรือให้การรักษาพยาบาลแก่เพื่อนร่วมชาติผู้ยากไร้แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งพ่อค้าชาวจีนผู้มั่งคั่งจากทุกกลุ่มภาษาร่วมกันก่อตั้งโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ (เทียนฮั้วอุยอี่) ขึ้นในย่านเยาวราชและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลนี้ในปี พ.ศ.2448 พร้อมทั้งพระราชทานเงินสมทบเพื่อเป็นทุนดำเนินการ โดยโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิให้การรักษาพยาบาลตามแบบจีนที่ชาวจีนคุ้นเคย คือการต้มยาจีนตามใบสั่งยาให้ผู้ป่วยนำกลับไปกินที่บ้าน อีกทั้งยังจัดให้มีแพทย์จีนจากทุกกลุ่มภาษาเพื่อสื่อสารกับคนไข้ทุกกลุ่มได้อย่างสะดวก ปัจจุบันโรงพยาบาลแห่งนี้ยังคงดำเนินงานตามอุดมการณ์ดั้งเดิมค่ะ
“ศาลเจ้า” เป็นสถานที่ที่นอกจากจะมีเทพเจ้าสถิตอยู่เพื่อให้ชาวจีนได้สักการบูชาด้วยความศรัทธาแล้วยังก่อให้เกิดงานสาธารณกุศลต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งในย่านเยาวราชมี “ศาลเจ้าไต้ฮงกง” ที่เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ตั้งอยู่บนถนนพลับพลาไชยและภายในประดิษฐานรูปสลักจำลอง “ไต้ฮง” พระมหาเถระผู้มากด้วยเมตตากรุณาในสมัยราชวงศ์ซ้อง ที่สำคัญศาลเจ้าแห่งนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของ “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” อันเกิดจาก “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” ที่พ่อค้าจีนได้ร่วมใจกันก่อตั้งขึ้นเพื่อเก็บศพไร้ญาติ โดยศาลเจ้าจะมีงานบุญใหญ่ประจำปีอย่างงานทิ้งกระจาดที่เป็นงานทำบุญให้ดวงวิญญาณและแจกทานให้คนยากไร้ค่ะ
หลังจากชมห้องที่ 3 ทั้ง 2 โซนที่แบ่งเป็นโซนสำนักงานบริษัทค้าข้าวและโซนโมเดลจำลองของถนนเยาวราชจนละเอียดครบถ้วนแล้วก็เดินทะลุซุ้มโค้งไปยัง “ห้องที่ 4 ตำนานชีวิต Hall of Fame” กันต่อค่ะ
“ห้องที่ 4 ตำนานชีวิต Hall of Fame” เป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานชีวิตของกลุ่มบุคคลสำคัญในย่านเยาวราชที่เป็นทั้งแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้อนุชนรุ่นหลังอย่างเรา ๆ ได้ศึกษาและนำมาปฏิบัติตามค่ะ ซึ่งบุคคลสำคัญในย่านเยาวราชได้แก่ พระศรีทรงยศ (เจ้าสัวเนียม), พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน), อึ้งเหมี่ยวเหงียน (เจ้าสัวล่ำซำ), พระอนุวัฒน์ราชนิยม (แต้ตี่ย้ง หรือ ยี่กอฮง), เซียวฮุดเส็ง, หลวงสิทธิสุโรปกรณ์ (ไหล่คือไต่ หรือ หลงจู้บั๊ก), เหียกวงเอี่ยม, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, หลวงภักดีภัทรากร (กอฮุยเจี๊ยะ), ตันจินเก่ง (จิตติน ตันธุวนิตย์), ตันซิวเม้ง, ชิน โสภณพนิช (ตั้งเพี้ยกชิ้ง), อุเทน เตชะไพบูลย์ (แต้โหงวเล้า) และเทียม โชควัฒนา (ลี้เฮงเทียม)
เดินอ่านตำนานชีวิตของบุคคลสำคัญย่านเยาวราชแบบบคร่าว ๆ บนแผ่นป้ายความรู้และยืนชมวีดิทัศน์แล้วก็เดินต่อไปยัง “ห้องที่ 5 พระบารมีปกเกล้าฯ” ค่ะ
“ห้องที่ 5 พระบารมีปกเกล้าฯ” เป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวผ่านวีดิทัศน์และภาพถ่ายในเหตุการณ์ต่าง ๆ สุดประทับใจ ซึ่งแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 9 ต่อชุมชนเยาวราช รวมไปถึงพระราชกรณียกิจที่เชื่อมประสานความสัมพันธ์ไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นค่ะ
เดินชมภาพถ่ายในห้องที่ 5 แล้วก็เดินไปชม “ห้องที่ 6 ไชน่าทาวน์วันนี้” ต่อ แต่ระหว่างทางจะผ่านมุมถ่ายรูปที่มีโคมไฟกลมแบบจีนแขวนอยู่บนขื่อเพดานให้ได้โพสท่าถ่ายรูปกันค่ะ
“ห้องที่ 6 ไชน่าทาวน์วันนี้” เป็นห้องจัดแสดงภาพลักษณ์อันโดดเด่นของเยาวราชตามแง่มุมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น แหล่งรวมวัฒนธรรมประเพณีจีน, ถนนสายทองคำ, ย่านตลาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และแหล่งรวมอาหารอร่อยเลิศรส ด้วยความที่เยาวราชเป็นเสมือนเมืองเล็ก ๆ ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ซ้อนอยู่ในเมืองหลวงของไทย ทำให้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไชน่าทาวน์” ของกรุงเทพฯ และนับเป็นไชน่าทาวน์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งภายในห้องนี้จัดแสดงผ่านแผ่นป้ายความรู้ที่มีตัวอย่างสิ่งของอย่างเช่น ทองรูปพรรณ, เศษเหล็ก, ยาจีนโบราณ และสื่อผสมแบบดิจิทัลค่ะ
หลังจากชมครบจนทั่วแล้วก็แวะมาเลือกซื้อของที่ห้องจำหน่ายของที่ระลึกก่อนออกไปกินอาหารมื้อเที่ยง ซึ่งของที่ระลึกที่นำมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวนั้นมีให้เลือกซื้อมากมายค่ะ เช่น ที่ใส่ไม้จิ้มฟัน, สร้อยข้อมือ, สร้อยคอ พวงกุญแจ, แม่เหล็กติดตู้เย็น, สร้อยพระ, กระเป๋าสตางค์หนังแท้, เครื่องรางนำโชค เป็นต้น
หากใครที่แวะมากราบไหว้ขอพรที่วัดไตรมิตรฯ หรือเดินทางผ่านมาแถวหัวลำโพง, เยาวราช อย่าลืมเดินขึ้นมาเที่ยวชม “ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช” บนชั้น 2 ของพระมหามณฑป เพื่อย้อนรอยเรื่องราวประวัติความเป็นมาและสัมผัสวิถีชีวิตจำลองของชุมชนชาวจีนในย่านเยาวราชกันแบบเพลิน ๆ ได้ทุกเมื่อนะคะ
📍 ปักหมุดได้ที่: วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เลขที่ 661 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100
🚘 GPS: https://maps.app.goo.gl/ZYecCfZFrUwEK9QB9
✉ Email: [email protected]
📞 โทร: 094-466-9515
👍 Facebook Fanpage: Chinatown Museum Bangkok
💸 เสียค่าเข้าชม: คนไทยเข้าชมฟรี ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชมคนละ 140 บาท (บัตรรวม 140 บาท: ชมนิทรรศการและศูนย์ประวัติศาสตร์ราคา 100 บาท และกราบพระทองคำ 40 บาท)
⏰ เปิด: ทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. (หยุดทุกวันจันทร์)
🚗 เดินทางโดยรถยนต์: ขับรถข้ามคลองผดุงกรุงเกษมและเลี้ยวเข้าถนนมิตรภาพไทย-จีน ขับตรงมาเรื่อย ๆ วัดจะอยู่ฝั่งขวามือ ที่จอดรถค่อนข้างน้อย แนะนำว่าให้เดินทางโดยรถฟ้าใต้ดิน MRT จะสะดวกสุด
🚌 เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ: สาย 35, 507
🚇 เดินทางโดยรถไฟใต้ดิน (MRT): สายสีน้ำเงิน ลงที่สถานีหัวลำโพง ออกทางออกหมายเลข 1 ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมตรงมายังถนนมิตรภาพไทย-จีน และเดินเรื่อย ๆ มาประมาณ 200 เมตรก็จะถึงวัดไตรมิตรฯ (วัดจะอยู่ฝั่งขวามือ)
Windy_love_Travel หญิงสาวผู้รักการท่องเที่ยว
วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เวลา 18.01 น.