เมืองอีสานเฮานี้มีของดีหลายอย่าง เอกลักษณ์ค่าล้ำงามล้นเกิ่งกว่าไผ ผ้าไหมลายแพรใช้แต่พ่อใหญ่เดิมดา แต่คุณย่าคุณยายเพิ่นพากันเฮ็ดใช้ เทิงเลี้ยงไหมโตม้อนเก็บใบมอญมาเกียแบ่ง คอยเบิ่งเช้าเบิ่งแลงเอาใจใส่บ่น้อยคอยเพียรสร้างอยู่บ่เซา ประโยชน์มีหลายล้นใช้นุ่งห่มกายา เทิงเป็นของสมมาคุณใช้ตุ้มอุ่นยามหนาวได้ ผ้าของไทยเฮานี้มีคุณหลายตั้วแม่ใหญ่ ผ้าไหมร้อยแก่นสารสินธุ์ก็หากได้สิจาเว่าสุท่านฟังแท้แหล่ว
.
ผ้าไหมงามล้นคนกะเอาใจใส่ ทอเป็นแพรผืนไหมให้เฮาใช้อยู่ซุวัน งามเลิศล้ำวิธีทำบรรจงไว้ เอกลักษณ์ผืนใด๋ ปานอินแต้มแต่งลง
.
ร้อยเอ็ดงามเหลือล้น ลายสาเกตุนครงาม นาคน้อยตามลายขิด ลายขอกะงามล้น จนคนได้กล่าวย่อง ลายบักจับงามล่ำ ผ้าสโร่งงามล้ำ เมืองเกินร้อยค่อยส่งเสริม
.
ขอนแก่นนี้ลายมัดหมี่ผืนไหม ชื่อเสียงโด่งดังไกล ลายกงกะงามแท้ ลายนกเชิงเทียนพร้อม เทิ่งหมู่ลายปลาซิว เบิ่งเป็นทิวเป็นแถว ตาสะออนเมืองขอนนี้
.
สารคามก้ำเมืองตักศิลาหนอ สร้อยดอกหมากลายทอแต่ โบราณเดิมเค้า ลายโคมเก้ามัดหมี่ซิ่นไหม เป็นลายงามวิลัยเมืองสารคามเอ่ย
.
กาฬสินธุ์ก้ำเมืองดินดำ น้ำชุ่ม ผู้ไทซุมพี่น้อง กะทอผ้าแพรไหม แพรวาได้เป็นดั่งราชินีผ้าไหม ลายวิจิตรของผู้ไทเอกลักษณ์เมืองน้ำดำ
.
ให้พ่อแม่พี่น้องช่วยกันสืบสาน ให้ได้เป็นตำนานผ้าไหมของเฮานี้ อนุรักษ์เอาไว้ผ้าร้อยแก่นสารสินธุ์ ให้อยู่คู่แผ่นดินเมืองอีสานของเฮาเอย
01. วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง)
ไม่ต้องไปถึงอินโดก็เจอบุโรพุทโธได้ที่ร้อยเอ็ด เพราะเจดีย์วัดป่ากุงเป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างจากหินทรายธรรมชาติหรือเจดีย์หินแห่งแรกในประเทศไทย
ซึ่งสร้างโดยได้รับแรงบันดาลใจจากบุโรพุทโธ ในประเทศอินโดนีเซีย
พิกัด : https://goo.gl/maps/XxoH37BZ8w8aKVp7A
02. วัดป่าโนนสวรรค์
อีกหนึ่งวัดของร้อยเอ็ดที่มีการตกแต่งที่แปลกตารูปแบบศิลปะดูคล้ายกับศิลปะทางขอมและอินเดีย ทางเข้าวัดประดับด้วยหม้อดินของชาวบ้านมากมาย
จุดเด่นของวัดนี้คือ เจดีย์ประธานสูง 7 ชั้น ทางเข้าจะเป็นปากหนุมาน เจดีย์แต่ละชั้นจะมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ ซุ้มประตูวัดมีเต่ายักษ์ 2 ตัว มีความแปลกตาสวยงามแต่ก็แฝงไปด้วยหลักธรรมต่างๆ
พิกัด : https://goo.gl/maps/3dvKJ6xtwYxFH1ob7
03. พระมหาเจดีย์ชัยมงคล
มหาเจดีย์ที่รูปทรงเป็นเอกลักษณ์ใช้ศิลปกรรมร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสานเป็นการผสม กันระหว่างพระปฐมเจดีย์ และพระธาตุพนม สร้างโดยเกจิอาจารย์ชื่อดัง
อยู่บริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม
พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ออกแบบโดยกรมศิลปากรเป็นสีขาวตกแต่งลวดลายด้วยสีทอง
รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง 8 ทิศ
สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ กว้าง 101 เมตร ยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตรตามชื่อจังหวัดร้อยเอ็ด
แต่หากรวมยอดที่ใช้ทองคำหนัก 4,750 บาท หรือประมาณ 60 กิโลกรัมจะมีความสูงเป็น 109เ มตร
พิกัด : https://goo.gl/maps/HyRVAvH5RHJxpzgz8
04. เจดีย์มหามงคลบัว
สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ของพระธรรมวิสุทธิมงคล หลวงตามหาบัวญาณ สัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด สำหรับเผยแพร่ธรรมะและปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสศรัทธาในหลวงตามหาบัว นับเป็นแลนด์มาร์คอีกหนึ่งแห่งของเมืองร้อยเอ็ดที่ใครมาจะต้องแวะมาสักการะบูชา
พิกัด : https://goo.gl/maps/jty3Q9AH5bbQXjxJ8
05. สิมคู่ วัดสระเกตุ
เป็นอุโบสถเก่าแก่ ตั้งอยู่วัดสระเกตุ บ้านน้ำคำ ตำบลน้ำคำ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยวัดสระเกตุตามประวัติของกรมศิลปากรที่ได้บูรณะปฏิสังขรเขียนไว้ว่า วัดสระเกตุสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงที่เป็นกลุ่มชนวัฒนธรรมไท-ลาว เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณเมืองท่งหรือเมืองทุง หรืออำเภอสุวรรณภูมิในปัจจุบัน
พิกัด : https://goo.gl/maps/vCbrhSW13NZKeNsq6
06.น้ำตกถ้ำโสดา
ใกล้ ๆ อ่างเก็บน้ำห้วยพุงใหญ่จะมีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของร้อยเอ็ดนั่นก็คือ น้ำตกถ้ำโสดา ที่เป็นทั้งแหล่งปฏิบัติธรรมประดิษฐานพระพุทธรูปศากยมุนีโคดมไว้สักการะบูชา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์
มีหินก้อนใหญ่เบอเร่อวางสลับซับซ้อนกันรวมทั้งผาหิน และมีน้ำไหลลงมาเป็นม่านน้ำตก สวยงามมาก เสียดายช่วงที่นวลมาเป็นช่วงต้นฝนที่ยังไม่ค่อยมีน้ำ
พิกัด : https://goo.gl/maps/sbuH4AtbrgEaZgjJ8
07.Street Art Roi-Et
เพิ่มความชิคคูลด้วยการมาต่ออีกหนึ่งแลนด์มาร์คของจังหวัดร้อยเอ็ด
สตรีทอาร์ตบนกำแพงที่ยาวที่สุดในอีสาน ที่มีความยาาวกว่า 200 เมตร
โดดเด่นด้วยลวดลายกราฟฟิตี้สวย ๆ เก๋ ๆ เหมาะกับการแชะภาพอวดโลกให้ได้เห็นถึงความมีสไตล์ของนวล โดยภาพวาดบนผนังเหล่านี้ได้รับการรังสรรค์จากกลุ่มศิลปินเกือบ 50 ชีวิตจากทั่วภูมิภาคของไทยเลยทีเดียว
พิกัด : https://goo.gl/maps/Pi1rtPSU1k4teo5v9
08. อ่างเก็บน้ำห้วยพุงใหญ่
มาเริ่มออกนอกเมืองกันบ้างดีกว่า จากในเมืองนวลขับออกมาทางเส้นที่จะไปมุกดาหาร
เพื่อเก็บจุดเช็คอินรอบนอกเมืองก่อน ส่วนที่แรกที่นวลลองแวะไป อันนี้นอกแพลนมาก ๆ ที่จริงปักหมุดไปน้ำตกถ้ำโสดาแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของร้อยเอ็ดแต่ก็อดใจไม่ไหวที่จะแวะไปอ่างเก็บน้ำก่อน กลายเป็นว่า เห้ยยยย ได้มุมถ่ายรูปที่ใช้ได้เลย
พิกัด : https://goo.gl/maps/AS7znD97kWbRTUk17
09.ผากิ่วลม (สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
วิวแบบนี้ก็มีเหรอ นวลขับรถเข้าไปแบบสุ่ม ๆ ในสวนพฤกษศาสตร์ฯ เห็นป้ายผากิ่วลมก็เลยขับเข้าไป ที่ไหนได้ นี่มันที่ลับชัด ๆ ที่นี่มาตั้งแคมป์ได้นะ วิวฝั่งตรงข้ามจะเป็นจังหวัดมุกดาหาร เพราะตรงนี้คือชายแดนรอยต่อระหว่างร้อยเอ็ดและมุกดาหารแล้ว
เออ มุมนี้มันสวยงามอลังการ
พิกัด : https://goo.gl/maps/hRFotVJAMFxovRpH7
10.ทุ่งกุลา (เลิก) ร้องไห้
ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นที่ราบที่มีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน หากเปรียบกับกรุงเทพฯ มีขนาดใหญ่กว่าถึง 2 เท่า ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และยโสธร
ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อกันมาแสนนาน หรืออาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงบนสถานที่แห่งนี้ว่าชนเผ่ากุลามาจากเมืองเมาะตะมะ ดินแดนของชาวมอญ พวกเขามีอาชีพค้าขายสินค้าประเภทสีย้อมผ้า เครื่องทองเหลืองต่าง ๆ กุลา ได้เดินทางผ่านทุ่งแห่งนี้หลายวัน ไม่พบผู้คน ไม่พบหมู่บ้าน ไม่พบแหล่งน้ำ ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา มีแต่หญ้าขึ้นสูงเต็มไปหมด ส่วนดินก็เป็นดินทรายยากลำบากแก่การเดินทาง จะขอความช่วยเหลือจากใครก็ไม่ได้ ถึงเวลาค่ำคืน ทั้งหิว ทั้งเหนื่อย สายตัวแทบขาด ร่างกายขาดน้ำ ทั้งหมดจึงได้แต่นอนร้องไห้จนมีชาวพื้นเมืองผ่านมาพบเข้าจึงช่วยเหลือหาบหามไปปฐมพยายบาลในหมู่บ้าน ผู้รอดตายจึงเล่าเหตุการณ์ว่า ทนความยากลำบากไม่ไหวทุกคนเลยเอาแต่นอนร้องไห้ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อทุ่งแห่งนี้ว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้”
11.บึงพลาญชัย
แดดร่มลมตกแล้ว ถ้ามาร้อยเอ็ดทั้งทีไม่มาเยือนสัญลักษณ์ประจำจังหวัดและไหว้ศาลหลักเมืองที่บึงพลาญชัยหน่อยก็คงจะโดนเยาะได้ว่ามาไม่ถึง บึงพลาญชัยนี่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโดยว่ากันว่า เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรกได้ระดมกำลังพลมาช่วยกันขุดบึงนี้เพื่อสร้างเป้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในพื้นที่
ที่นี่ตกแต่งเป็นสวนไม้ดอกขนาดใหญ่ มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ร่มรื่น และในบึงน้ำมีปลาชนิดต่าง ๆ หลายพันธุ์ มีเรือเป็ดไว้ให้นวลได้ถีบเล่น ช่วงเย็นๆ นี่ได้ฟีลมากๆ ถ้ามีแฟนก็ควรมากับแฟน ถ้าไม่มีก็มาถีบเรือเป็ดรับแสงเย็นคนเดียววัดสกีลความโสดแบบสตรองกันไปเล้ย
พิกัด : https://goo.gl/maps/Js8PYqMGfLfe8LYE9
12.ผ้าไหมลายสาเกต
สาเกตนคร เป็นชื่อในอดีตของเมืองร้อยเอ็ดซึ่ง ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสานมานานกว่า 200 ปี ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรืองมากในยุคนั้นมีผู้คนเข้ามาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่มาก มีประตูเข้าเมือง 11 ประตู และมีเมืองขึ้น 11 เมือง ที่สำคัญมีลุ่มแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย เช่น แม่น้ำชี แม่น้ำยัง ลำน้ำเสียว ลำน้ำพลับเพลา ลำน้ำเตา และแม่น้ำมูลยังครอบคลุมพื้นที่ทางตอนใต้ของจังหวัดอีกด้วย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นดินของเมืองร้อยเอ็ด มีความชุ่มชื่น อุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการเพาะปลูกหรือการกสิกรรม อาชีพประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริม มีการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษในอดีตจนถึงปัจจุบัน กลุ่มชนที่อยู่ในเมืองร้อยเอ็ด ประกอบด้วยชน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มไทยอีสาน กลุ่มไทย-ลาว กลุ่มไทยเขมร กลุ่มไทย-ส่วย และ กลุ่มภูไท
ผ้าไหมที่พบในจังหวัดร้อยเอ็ดส่วนมากเป็น ผ้าซิ่น (ผ้าถุงผู้หญิง) ผ้าโสร่ง (ผ้านุ่งผู้ชาย) สไบ ผ้าพื้น ผ้าขาวม้า และ ผ้าปูม เป็นต้น ผ้าซิ่น หรือผ้าถุง เป็นเครื่องแต่งกายผู้หญิง ผ้าซิ่นไหมส่วนมากจะสวมใส่ในโอกาสสำคัญหรือในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีบุญผะเหวด บุญกฐิน งานสมรส เป็นต้น โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ถือเป็นเครื่องแต่งกายที่มีลวดลายอันสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น โดยในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดพบหลายลายที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ โดยลายมัดหมี่ที่ทอสืบทอดมามีหลายลายด้วยกัน เช่น ลายขอ ลายบักจับ ลายนาคน้อย ลายคอง ลายโคมห้า ลายโคมเจ็ด ลายโคมเก้า เป็นต้นซึ่งแต่ละลายเป็นลายผ้าไหมมัดหมี่โบราณของท้องถิ่นที่แยกกันอยู่ในผ้าแต่ละผืน
13. บ้านโบราณดีgallery
ออกมาจากสนามบินร้อยเอ็ดเพียง 3 นาทีก็จะถึงสถานที่แรกที่นวลจะพามาเช็คอิน
ที่จะต้องเรคคอมเมนที่นี่ไว้ลำดับต้น ๆ เลยเพราะว่านวลมีความประทับจิตประทับใจกับสตอรี่และความน่ารักเอามาก ๆ เพราะคาเฟ่กึ่งร้านอาหารที่นี่ดัดแปลงมาจากบ้านที่ตกทอดภายในครอบครัว ทุกคนในครอบครัวช่วยกันทำ ทุกเมนู ทุกการจัดวาง ทุกการบริการล้วนสัมผัสได้ถึงความน่ารักและจริงใจใสซื่อ
พิกัด : https://goo.gl/maps/aodaBmNZtvpatNq39
14. Afternoonwalk
คาเฟ่ ร้านขนมที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงของร้อยเอ็ด ทั้งมุมถ่ายรูป ความโล่งโปร่งสบาย รวมถึงเครื่องดื่ม ขนม น้ำแข็งไส(บิงซู) ก็มีความเป็นเอกลักษณ์ทั้งสิ้น
เห้ย นวลว่าถ้ามาที่นี่ จะได้รูปดีๆ กลับไปเยอะเลย
พิกัด : https://goo.gl/maps/PLnDEShnyxYU1HNXA
15. Skipper Garden
ร้านกาแฟในสวนที่ดูธรรมดาแต่โคตรไม่ธรรมดา มีมุมให้นั่งชิว ให้ถ่ายรูปเยอะมาก
ทั้งความกว้างขวางในบริเวณร้าน ที่ตกแต่งด้วยโต๊ะ เก้าอี้ไม้ ของเล่นต่าง ๆ และเปลผ้าหลากสี ทำให้ดุละลานตาไปหมด ในร้านมีทั้งเมนูเครื่องดื่ม กาแฟ เค้ก ขนมไทย รวมไปถึงอาหารแบบอิ่มท้องอย่างสเต๊ก และพาสต้าต่าง ๆ
พิกัด : https://goo.gl/maps/joWthQKU73Pf8186A
16. แอ๋วไข่กระทะ
แม้ว่าการนอนหลับเต็มอิ่ม ที่นอนนุ่มสบาย อากาศยามเช้าจะสดใสแค่ไหน แต่ร่างกายนวลจะเติมพลังเต็มที่พร้อมเที่ยวไม่ได้ถ้าไม่มีมื้อเช้าแสนอร่อยลงกระเพาะ
ในเมื่อนวลมาร้อยเอ็ดทั้งที นวลก็ต้องมาบุกร้านอาหารเช้าที่เปิดมายาวนานนับ 10 ปีอย่างที่นี่เลย “แอ๋ว ไข่กระทะ” มีหลากหลายเมนูอร่อยให้สายกินอย่างนวลได้ลิ้มลอง
ทั้งโจ๊กร้อน ๆ ไข่กระทะน่ารัก ๆ ไข่ลวกเพิ่มพลัง หรือขนมปังใส่ไส้ และยังมีเมนูเครื่องดื่มที่เหมาะกับยามเช้าทั้งชา กาแฟ น้ำส้มคั้นสด และอื่น ๆ อีกเพียบ
พิกัด : https://goo.gl/maps/AYa7C421rr7SRnic8
17. เตี๋ยวไก่-โพนทอง
ตอนแรกเห็นในรูปก็แบบ อะไรกันนี่ กินเตี๋ยวบนรถบัสเนี่ยนะ เท่ห์จังวะ ต้องมาลองหน่อยแล้ว แต่นั่นแหละ ร้านรถบัสสุดเท่ห์นี้เค้าเปิดขายกันตอนเกือบๆ 4 โมงเย็นแน่ะ ถ้าจะมาก็รอแดดร่มลมตกสักนิดแล้วค่อยพุ่งตัวมา แล้วจะบอกว่า ราคาถูกมากกกกก 20 บาท ผักฟรี น้ำฟรี แถมรสชาติยังโคตรดี
พิกัด : https://goo.gl/maps/xjrmYJN5iG71K8iF9
18. มีกินฟาร์ม
"มีกินฟาร์ม" หรือ "สวนเกษตรมีกิน" เป็นทั้งบ้านสวน และสวนเกษตรเล็ก ๆ บนพื้นที่ 4 ไร่ ของพี่ "พี่ปู จงรัก จารุพันธุ์งาม" ที่ปลูกพืชไม้น้อยใหญ่หลากหลาย มีทุ่งนา แปลงผัก แปลงดอกไม้นานาพันธุ์ มีน้องเป็ด น้องไก่ไข่ และน้องควาย
พี่ปู และครอบครับทำเกษตรอินทรีย์ บนพื้นฐานของความพอเพียง ตามรอยพ่อหลวง ร.9 ที่ตอนนี้ทางมีกินฟาร์ม บังได้เปิดบ้านสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้เราได้มาสัมผัสความสวยงามบนความพอดี
มีกินฟาร์ม (Mekin Farm) ตั้งอยู่ที่ ต. จระเข้ อ. หนองเรือ จ. ขอนแก่น ด้วยแนวคิด “Living with ME like my KIN” ไม่ว่านักท่องเที่ยวจะใช้เวลากับมีกินฟาร์มมากน้อยแค่ไหน เราจะดูแลคุณเหมือนญาติพี่น้องมาเยี่ยมเยือน ให้เราได้สัมผัสความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ที่มีสวน ทุ่งนา และบรรยากาศธรรมชาติอันแสนสงบ
ฟาร์มสเตย์ อบอุ่น เรียบง่าย ที่อยากให้ทุกคนได้มาลองสัมผัสกับประสบการณ์การใช้ชีวิตเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ และทดลองเป็นเกษตรกรสักครั้ง
โปรโมชั่นวันนี้ ห้องพักคืนละ 1,500 บาท รวมอาหารเย็น และอาหารเช้า (สำหรับ 2 ท่าน) พร้อมกิจกรรมชมสวน จิบชาหรือน้ำสมูทตี้ปั่นสด ๆ
#คาเฟ่ ทางมีกินฟาร์ม มีบริการอาหารอีสานบ้าน ๆ รสชาติเหมือนกับข้าวฝีมือแม่ และสลัดผักออร์แกนิกส์สดๆ รวมถึงเครื่องดื่มที่ครีเอทจากวัตถุดิบในสวนเป็นหลัก แต่คอกาแฟ เราก็มีกาแฟให้บริการนะคะ
#workshop สำหรับเด็ก ๆ โรงเรียน หรือองค์กร เพื่อมาเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ การทำอาหาร งานหัตถกรรมจากเครือข่ายชุมชนหรืออาร์ทติสรุ่นใหม่
teambuilding/green meeting บริการสำหรับแขกที่มาเป็นหมู่คณะ ต้องการทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้ หรือสร้างความสามัคคีในองค์กร หรือจัดประชุมในบรรยากาศบ้านสวน
หรือจัด "reception dinning" มื้อพิเศษสำหรับแขกคนพิเศษ ทางสวนก็มีบริการนะครับ
มีกินฟาร์มแอนด์ทราเวล เป็น Connector พาคนเที่ยวขอนแก่นในมุมมองใหม่ๆ ทั้งชุมชนชนบทขอนแก่น ชุมชนศิลปะในเมือง ร้านเท่ๆ เก๋ๆ เราก็มีบริการ หรือให้คำแนะนำได้นะคะ
เพื่อนๆ สนใจบริการไหน จะแวะมาทานอาหาร มานอนบ้าน พาลูกมาทำกิจกรรม ฯลฯ สอบถามกันเข้ามาได้เลยนะครรับ
ติดต่อ
มีกินฟาร์ม MEKIN FARM
โทร 061-6959926
Line id: mekinfarm
19.งามวิไลผ้าไหมมัดหมี่
“ชนบท” เป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน มีการตั้งเป็นเมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2326 โดยกวนเมืองแสน สมุหกลาโหมแห่งเมืองสุวรรณภูมิ พาสมัครพรรคพวกอพยพหนีออกจากเมือง สุวรรณภูมิ แคว้นจำปาสัก ในประเทศลาว มาตั้งเมืองที่บ้านหนองกองแก้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2335 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหนองกองแก้วขึ้นเป็นเมือง พระราชทานนามว่า “ชลบถพิบูลย์” ซึ่งแปลว่าทางน้ำหรือเมืองที่มีน้ำล้อมรอบ และตั้งท้าวคำพาวเป็นเจ้าเมือง ตำแหน่งพระจันตะประเทศ จากนั้นได้มีการจัดเขตการปกครองและเมืองชนบทได้ถูกยุบรวมหลายครั้ง จากอำเภอเป็นตำบล ขึ้นกับอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2509 ทางราชการจึงได้ตั้งเมืองชนบทขึ้นเป็นอำเภออีกครั้งหนึ่ง ในชื่อ “ชนบท” จนถึงปัจจุบัน
ผ้าที่ทอด้วยมือที่มีชื่อเสียงที่สุดของอำเภอชนบท ได้แก่ “ผ้าไหมมัดหมี่” โดยมีขั้นตอนเริ่มจากการคัดเลือกเส้นไหม การออกแบบลายหมี่ การให้สี การทอเป็นผืนผ้า ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ผ้าไหมชนบทมีจุดเด่นคือ มีความสวยงาม ลวดลายละเอียดแตกต่างจากที่อื่น
เอกลักษณ์ของผ้าไหมชนบท คือ “ลาย”และ “เทคนิคการทอผ้า” ลายเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาและถือว่าเป็นลายต้นแบบและเป็นลายเก่าแก่ของผ้าเมืองขอนแก่น คือ ลายหมี่กง ลายขันหมากเบ็ง ลายขอพระเทพหรือลายเชิงเทียน โดยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะเป็นการทอผ้าแบบ 3 ตะกอ ทำให้เนื้อผ้าแน่น สม่ำเสมอ มีลักษณะสีและลวดลายของผ้าด้านหนึ่งสีทึบกว่าอีกด้าน สีที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมคือ สีม่วง สีแดง สีเขียว สีเม็ดมะขาม
ขอบพระคุณภาพจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
20. พระธาตุขามแก่น
พระธาตุขามแก่น ประดิษฐานอยู่ที่วัดเจติยภูมิ บ้านขาม หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น เป็นเจดีย์ที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ลักษณะเป็นเจดีย์ยอดฉัตรทองคำสูง 19 เมตร มีลักษณะประกอบด้วยฐานบัวคว่ำสองชั้น ลักษณะโค้งขึ้นไปเป็นบัลลังค์ต่อด้วยเรือนธาตุและยอดธาตุ ซึ่งย่อมุมกลีบมะเฟือง จากนั้นจึงเป็นสวนปลียอดและฉัตร
พิกัด : https://goo.gl/maps/1oksCtUm5khpNeYG7
21. พระมหาธาตุแก่นนคร
วัดพระธาตุหนองแวง ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง ภายในวัดหนองแวงเมืองเก่าซึ่งเป็นพระอารามหลวงมีพระมหาธาตุแก่นนครหรือ พระธาตุเก้าชั้นฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 50 เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสาน ตากแห วัดพระธาตุหนองแวงเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น.
พิกัด : https://goo.gl/maps/r9DfbihH7MbozsPr9
22. วัดพระบาทภูพานคำ
วัดพระพุทธบาทภูพานคำ ตั้งอยู่บริเวณไหล่เขาภูพานคำ อ.อุบลรัตน์ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และหลวงพ่อพระใหญ่ พระพุทธอุตรมหามงคลอุบลรัตน์ องค์สีขาว ชาวบ้านจึงนิยมเรียกกันว่า หลวงพ่อขาว หรือหลวงพ่อภูพานคำ ประดิษฐานอยู่บนฐานดอกบัวสีชมพู ความสูงขององค์พระ 14 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2514
พิกัด : https://goo.gl/maps/fByu159HTh2SooPc6
23. เขื่อนอุบลรัตน์
เขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งอยู่ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว เขื่อนอุบลรัตน์เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นถัดจากเขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทยต่อจากเขื่อนภูมิพล สร้างปิดกั้นแม่น้ำพอง ตรงบริเวณที่เรียกว่า "พองหนีบ" ตำบลโคกสูง อำเภอน้ำพอง (ปัจจุบันเป็นอำเภออุบลรัตน์) จังหวัดขอนแก่น อยู่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 50 กิโลเมตร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2509 โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (ฐานันดรศักดิ์ในขณะนั้น) ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 ทรงพระราชทานชื่อเขื่อนนี้ว่า “เขื่อนอุบลรัตน์”
พิกัด : https://goo.gl/maps/b2jJFqfPsfrmrpMf9
24. ศาลหลักเมืองขอนแก่น
"ศาลหลักเมืองขอนแก่น" หรือ "ศาลเทพารักษ์หลักเมือง" ถูกเรียกสั้นๆว่า "อินทร์ตา" ซึ่งเกิดจากการสร้างที่รวมเอาวัฒนธรรมจีนและไทยรวมกัน โดยคนจีนเรียกว่า "ศาลหลักเมืองกง" ส่วนคนไทยเรียกว่า "ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง" ศาลเทพารักษ์หลักเมือง ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาสุขใจ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเมืองที่มักจะมาสักการะที่ศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นประจำ บรรยากาศภายในศาลหลักเมืองมีความร่มรื่น และสะอาดตา การออกแบบสถาปัตยกรรมศาลหลักเมืองขอนแก่น ตัวอาคารจะตั้งอยู่ ณ บริเวณจุดเดิม ลักษณะตัวอาคารมีศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ทรวดทรวงและส่วนประกอบงานศิลป์เป็นการอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมที่สำคัญของท้องถิ่นอีสาน ขนาดและรูปทรงเป็นเป็นอาคารโถงจัตุรมุข กว้างขวางโอ่โถงกว่าของเดิมมาก
พิกัด : https://goo.gl/maps/iNkv2EU2NCtLmQkw8
25. ถนนคนเดินขอนแก่น
ถนนคนเดินขอนแก่น ซึ่จะมีขึ้นทุก ๆ วันเสาร์ ตั้งแต่ช่วงเย็น ๆ ค่ำ ๆ ไปจนไม่มีคนเดิน สี่ทุ่มหรือเที่ยงคืน บริเวณหน้าศาลากลางถนนหน้าเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งจะปิดถนนยาวเลยตั้งแต่หน้าสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นไปจนถึงหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ภายในตลาดมีทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ของใช้ ของตกแต่ง งานศิลปะ สินค้าแฮนด์เมด ผ้าทอ และอีกมากมาย รวมทั้งจัดโต๊ะนั่งทานอาหารไว้ให้ด้วย สามารถเดินไปซื้ออาหารแล้วมานั่งทานได้ มีโต๊ะนั่งอยู่มากพอสมควร
พิกัด : https://goo.gl/maps/BgA5Qun6UjjjKnSs7
26. วัดธาตุ
วัดพระธาตุ (วัดธาตุ) เป็นวัดเก่าแก่ ในขอนแก่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ. 2332 เป็นวัดประจำตระกูลของเจ้าเมืองขอนแก่นผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นภายในวัด คือ องค์พระธาตุ ที่สวยงาม โดดเด่น ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ วัดธาตุ นั่นเอง
พิกัด : https://goo.gl/maps/dEjAbbgabJHfwDeu6
27. วัดไชยศรี
ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น เป็นวัดเก่าแก่มีอายุร้อยกว่าปี จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ เทพเทวดา มนุษย์และสัตว์ในวรรณดคีต่างๆ
พิกัด : https://goo.gl/maps/Q1tiqAfkDsK1fFp29
28. วัดทุ่งเศรษฐี
ตั้งอยู่ใน ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มี “มหาเจดีย์รัตนะ” หรือ “มหาเจดีย์ศรีไตรโลกธาตุ” ได้ถูกสร้างโดยความริเริ่มของหลวงตาอ๋อยหรือที่รู้จักกันในนาม “หลวงตาย่ามแดง” ท่านได้ชักชวนลูกหลานศิษยานุศิษย์ร่วมกันสร้างมหารัตนเจดีย์ฯแห่งนี้บนที่ดินแปลงหนึ่งของท่าน ความโดดเด่นของมหาเจดีย์ ที่รูปแบบการก่อสร้างที่สะท้อนถึงความเชื่อต่างๆ เป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างองค์เจดีย์สำคัญทั้งสามโลก คือ เจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นครเจดีย์ในนาคพิภพ และมหารัตนเจดีย์ศรีไตรโลกธาตุบนโลกมนุษย์ มาเยือนที่นี่แค่เพียงที่เดียวก็เหมือนกับว่าได้มาสักการะองค์เจดีย์ถึง 3 โลกเลยทีเดียว
พิกัด : https://goo.gl/maps/9gvdieoeqs8qKPM99
29. บึงแก่นนคร
บึงแก่นนคร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลกลางเมืองขอนแก่น เป็นบึงขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 603 ไร่ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ “เจ้าเพียงเมืองแพน” ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่นแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่นิยมมาพักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมนันทนาการของชาวเมืองเพราะมีบรรยากาศสบายๆ พื้นที่โดยรอบมีการปรับปรุงตกแต่งให้เป็นสวนสุขภาพ ประดับประดาด้วยประติมากรรมรูปต่างๆ ดูเพลินตาเพลินใจ สะพานข้ามบึงแก่นนคร สวนสาธารณะบึงแก่นนครจุดแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ของเมืองขอนแก่น เป็นสะพานข้ามบึงน้ำจึดที่สวยไม่แพ้ที่ใดในโลก ทัศนียภาพของสะพานข้ามบึงแก่นนคร จะมีลู่วิ่งและจุดชมวิวกลางน้ำ เพื่อใช้อำนวยความสะดวกแก่ผู้มาออกกำลังกาย และใช้เป็นสถานที่พักผ่อนของชาวขอนแก่นและนักท่องเที่ยว โดยทางเทศบาลนครขอนแก่นต้องการพัฒนาสวนสาธารณะบึงแก่นนครให้เป็นแลนด์มาร์คสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ยัง มีสนามเด็กเล่นและร้านอาหารเปิดบริการหลายประเภท เหมาะมากสำหรับการพาครอบครัวไปเปลี่ยนบรรยากาศ
พิกัด : https://goo.gl/maps/dZpvpNuCDfLgyQp36
30. วัดสระทองบ้านบัว
ตั้งอยู่ที่บ้านบัว ตำบลกุดเค้า จังหวัดขอนแก่นที่นี่มี “สิม” หรือ “โบสถ์” เป็นอาคารทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่แสดงลักษณะเด่นชัดของพื้นถิ่นอีสาน มีการแต้มสีภาพภายนอกอาคารประดับแว่นแก้ว ฐานชุกชี ภายในประดิษฐานพระประธานศิลาทรายรูปแบบอีสาน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าภายในสิมไม่เกินครั้งละ 5 คน เป็นสิมแห่งเดียวที่ประดับงานปูนปั้นและรักษางานดั้งเดิมได้อย่างดี ในขณะที่สิมแห่งอื่นๆ จะประดับผนังด้วยฮูบแต้ม (รูปวาด)
พิกัด : https://goo.gl/maps/AMTxJQ4tQmVeyzta7
31. วัดบ้านลาน วัดมัชฌิมวิทยาราม
เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งที่มีสิม (โบสถ์) แบบสถาปัตยกรรมอีสาน มีภาพวาดฝาผนังฝีมือชาวบ้านคอนข้างดี ใช้สีฝุน สีเหลือง เขียว ดำ ขาว คราม สีสวยงาม ละเอียดอ่อนกว่าภาพที่สิมอื่น ๆ ทีพบในท้องถิ่นนี้ เป็น ภาพวาด (ฮูปแต้ม) จากเมืองในวรรณกรรมพื้นบัานอีสาน ส่วนมากเป็นเรืองพระเวสสันดรชาดก และเรื่องราวมักกะลีผล ผนังด้านในไม่มีภาพเขียน
พิกัด : https://goo.gl/maps/MuRzWMtD7zbMVjwb7
32. วัดสระบัวแก้ว
ฮูปแต้มบนผนังสิม วัดสระบัวแก้ว บ้านวังคูณ ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เป็นภาพเขียนจิตรกรรมบนฝาผนังที่ปรากฏอยู่ภายนอกสิมทั้ง 4 ด้าน พร้อมทั้งตัวอักษรกำกับไว้เป็นฝีมือการวาดของกลุ่มศิลปินพื้นบ้านจากอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม มี จารย์น้อย จารย์กึ จารย์กองมา และจารย์พรหมมา ได้วาดภาพที่ชาวอีสานเรียกว่าฮูปแต้มสีธรรมชาติ ประเภทขมิ้น ครั่ง ชาตรี ดินสอพอง ไขมันสัตว์ เป็นต้น มาคลุกเคล้าผสมกันแล้วบรรจงแต้มบนฝาผนัง สิม หรือโบสถ์ ซึ่งมีความเชื่อว่าจะได้กุศลยิ่ง
พิกัด : https://goo.gl/maps/ikSrzY4uipLkoXDo7
33. กู่เปือยน้อย
หรือ พระธาตุกู่ทอง ถึงแม้จะเป็นปราสาทหินที่มีขนาดไม่ใหญ่เท่ากับปราสาทหินพิมายหรืออีกหลายแห่งที่พบทางอีสานตอนใต้แต่ก็นับเป็นปราสาทเขมรที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง
พิกัด : https://goo.gl/maps/itTtBkMKWn3h25iy5
34. วัดป่าแสงอรุณ
สิมอีสาน วัดป่าแสงอรุณ ตั้งอยู่บ้านเลิงเปือย ตำบลพระลับ คำว่า “สิม” เป็นภาษาอีสาน หมายถึง “พระอุโบสถ” สิมอีสานวัดป่าแสงอรุณตั้งอยู่กลางวัด รอบล้อมไปด้วยต้นไม้ร่มรื่น เป็นสิมที่มีสถาปัตยกรรมแบบอีสานตอนบนผสมผสานกับสถาปัตยกรรมส่วนกลาง สิมมีความกว้าง 15 เมตร ความยาว 35 เมตร สูงจากพื้นดินเดิม 62 เมตร มีเสา 52 ต้น หน้าต่าง 14 บาน และประตู 3 บาน หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดปลาแบบโบราณ และมีหอระฆัง 4 หอ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ภายในสิมประดิษฐานพระประธาน คือ “พระพุทธรังสิโยภาสสุขพิพัฒน์” เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร (ปางมารวิชัย) องค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง 69 นิ้ว สูง 2 เมตรเศษ บนผนังด้านนอกหลังสิมอีสานเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง เบื้องล่างขององค์พระเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พิกัด : https://goo.gl/maps/sqvwXRLcJyVGa3e79
35. พุทธมณฑลอีสาน
พุทธมณฑลอีสาน ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สร้างขึ้นติดกับถนนวงแหวนทางเลี่ยงเมืองขอนแก่น เป็นพระพุทธรูปปางลีลา (พระพุทธรูปปางเดียวกันกับพุทธมณฑลนครปฐมและพุทธมณฑลที่อื่นๆ ทุกจังหวัด) เวลาขับรถผ่านถนนสายเลี่ยงเมือง (ถ้ามาจากน้ำพองเลี้ยวซ้าย) จะมองเห็นพระพุทธรูปองค์นี้เด่นตระหง่านอยู่ด้านซ้ายมือ หลายคนถ้าไม่มีธุระเร่งรีบไปไหนก็คงจะอดแวะเข้าไปไม่ได้ ยิ่งตอนนี้มีคนปั่นจักรยานมากขึ้นเรื่อยๆ ถนนเลี่ยงเมืองก็เลยเป็นเส้นทางการปั่นที่มีนักปั่นมาใช้กันเยอะและจะมาแวะที่พุทธมณฑลอีสานเป็นประจำ
พิกัด : https://goo.gl/maps/L8KUPsU5YNsxHQhj8
36. หมี่สอดสารคาม
จากคำบอกเล่า ผ่านกระบวนการวิจัย และพัฒนาสืบค้น พบว่า เทคนิคสอด(เกาะล้วง)ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน พบเทคนิคนี้ที่จังหวัดมหาสารคามแห่งเดียว และมีมาแต่โบราณ ด้วยระยะเวลา 40ปี ไม่มีการทอทำให้เทคนิคสอดได้หายไป หลงเหลือหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ว่ามีจริง คือ ผ้าเก่าโบราณ และฮูปแต้มโบราณอายุ 200 ปี จากข้อมูลดั้งกล่าว ทำให้ได้เกิดโครงการฟื้นฟูหมี่สอดสารคามขึ้น โดย กลุ่ม ผาสารทแก้วเวียงคำ
การเดินทางไปมหาสารคามครั้งนี้ จะเป็นการย้อนอดีตเส้นทางแห่งการรื้อฟื้นอดีตหมี่สอดสารคาม ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ่านวิถีชีวิต และความเชื่อของชาวมหาสารคาม
จากจิตกรรมงานศิลป์ สู่ผืนผ้าทอมือ
ความศรัทธาได้บรรจงแต่งแต้มผ่านศิลปะ ได้รวบรวมถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรม ลงไปในฮูปแต้ม ทำให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และอนุมานได้ว่า เครื่องแต่งกายของชาวเมืองมีความพิเศษ มากกว่าที่พบในปัจจุบัน นั้นคือ การค้นพบเทคนิค สอด นอกเหนือจากการอนุมานจากภาพจินตกรรมฮูปแต้มแล้ว ยังได้พบผ้าหทอคัมภีร์ และคำบอกเล่าถึงกระบวนการการสร้างลวดลาย 40ปีที่หายไป กลับคืนมามีชีวิตอีกครั้ง หมี่สอดสารคาม
เอกลักษณ์การทอผ้าที่สำคัญของหมี่สอดสารคามคือ เทคนิคสอกหรือเกาะล้วง เทคนิคขิด และเทคนิคมัดหมี่ ผสมผสานกันให้เกิดลวดลาย และสีสันที่งดงามแปลกตา
สอด คือการสร้างลวดลาย ตามภาษาถิ่นอีสานเดิม โดยใช้มือของช่างทอกำหนดและรังสรรค์ลวดลาย มีตะกอเพียง2ตะกอ ไม่มีเขาตะกอลาย ซึ่งลวดลายแต่ละลวดลายนั้นเกิดจากจินตนาการของช่างทอ ที่พบเจอในวิถีความเป็นอยู่ เช่น ปลาสิวปลาสร้อย ใบไผ่ แมงกะเบี้ย โคม ดอกแก้ว และอีกหลาย ๆ ซึ่งลายเหล่านี้มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ นี้ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือแค่เครื่องนุ่งห่ม แต่นี้คือมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาบรรพบุรุษเมืองมหาสารคาม นี้คืองานศิลปะที่ไม่สามารถประเมินค่าได้
การสร้างลวดลายด้วยการสองมือไม่มีการยกเขาตะกอ ต้องใช้ความแม่นยำและความชำนาญ กว่าจะได้เป็นผืน ต้องใช้เวลาร่วมเดือน ยังไม่ร่วมการเลี้ยงไหมสาวไหม ลอกกาว ตีเกลียว ย้อมสี ค้นเครือ สืบหูก ปั่นหลอด รวม ๆ แล้ว ประมาณ 3-4 เดือน คุณค่าไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่คุณค่าอยู่ทีชิ้นงานที่มากกว่าผืนผ้า แต่สิ่งนี้คือ มรดกทางวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหาย เหมือนเมื่อ40ปีที่แล้ว...
นี้ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือแค่เครื่องนุ่งห่ม
แต่นี้คือมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาบรรพบุรุษเมืองมหาสารคาม นี้คืองานศิลปะที่ไม่สามารถประเมินค่าได้
37. สะพานไม้แกดำ
สะพานไม้แกดำ อีกหนึ่งสะพานไม้เก่าแก่ในบรรยากาศแบบท้องทุ่ง สัมผัสของกลิ่นไอแห่งความเป็นชาวบ้านกับสะพานที่ทอดตัวยาวท่ามกลางหนองน้ำแกดำไกลสุดตากว่า 500 เมตร (ข้อมูลจาก Thailand Tourism Directory) ท่ามกลางบึงบัวและพืชน้ำสีเขียว และความหลากหลายทางธรรมชาติ เป็นสะพานไม้เก่า อายุราวกว่า 50 ปี ที่ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางข้ามอ่างเก็บน้ำหนองแกดำ โดยเชื่อมระหว่างบ้านหัวขัวกับหมู่บ้านแกดำ แต่ก่อนสะพานไม้นี่ทรุดโทรมมาก ชาวอำเภอแกดำพร้อมด้วยกำลังทหาร ช่วยกันซ่อมแซมสะพานไม้ โดยหวังให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา
พิกัด : https://goo.gl/maps/tJPGWs8nNzBabZFR8
38. สิมวัดบ้านยาง
จิตรกรรมฝาผนังหรือฮูปแต้มที่สิมวัดบ้านยาง แสดงถึงมรดกทางศิลปกรรมอันทรงคุณค่าของชาวอีสาน ภาพสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในอดีต ผนังด้านนอกเขียนภาพเรื่องพระเวสสันดรชาดก พระมาลัย วรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องอรพิมพ์-ปาจิตต์ เพื่อให้ผู้มาชมภาพได้เข้าใจเรื่องราวช่างเขียนได้เขียนคำอธิบายเรื่องราวแทรกไว้เป็นตอน ๆ ด้วย รูปแบบการเขียนภาพเป็นแบบพื้นบ้านอีสาน มีการเขียนสลับกันไปทุกผนังโดยไม่เรียงลำดับเรื่องราวตามวรรณกรรม
ความโดดเด่นของฮูปแต้มที่นี่คือ ความอิสระในการสร้างงานของช่าง ที่แสดงความเป็นตัวของตัวเอง ทั้งลายเส้นและการใช้สี รวมถึงได้สอดแทรกภาพวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คนในยุคนั้นผ่านตัวกาก ซึ่งเป็นตัวละครชาวบ้านในภาพ ทั้งขบวนแห่ในประเพณีต่าง ๆ สถาปัตยกรรม การดำรงชีวิต การแต่งกาย รวมทั้งภาพประกอบที่แสดงข้าวของเครื่องใช้อันเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้าน หากต้องการศึกษาประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตในอดีต ผนังสิมแห่งนี้เป็นดั่งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในอดีตผ่านภาพเขียนฮูปแต้มที่งดงาม
นอกจากฮูปแต้มที่งดงามแล้ว ยังเชื่อว่าภาพของสตรีที่นุ่งซิ่นนั้นเป็นผ้านุ่งที่ชื่อว่า “หมี่สอดสารคาม” ที่หายไปจากมหาสารคามกว่า 40 ปี แล้ววันนี้ได้มีการฟื้นฟูการทอผ้าหมี่สอดสารคามขึ้นอีกครั้ง นวลจะพาไปชมความงดงามกันครับ
พิกัด : https://goo.gl/maps/nkS87vVtpiVF1tmq9
39. วัดป่าวังน้ำเย็น
วัดสวยงามขนาดใหญ่บนพื้นที่กว้างขวางกว่า 30 ไร่ ที่ ต.เกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคาม สร้างขึ้นโดย พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ ผู้เป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ พระภิกษุผู้เป็นที่เคารพรักของชาวอีสาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็นวัดอย่างถูกต้องเมื่อปี พ.ศ. 2555
ความโดดเด่นของวัดป่าวังน้ำเย็นคือเจดีย์ศรีมหาสารคาม องค์ใหญ่สีทองงดงาม มองเห็นสวยเด่นแต่ไกล รวมถึงศาลาการเปรียญไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศซึ่งใช้เสาไม้ถึง 112 ต้น ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องที่สร้างจากทองคำบริสุทธิ์ 3 องค์ น้ำหนักกว่า 12 กิโลกรัม ซึ่งวัดจะนำออกแห่รอบเมืองในงานทอดกฐินเป็นประจำทุกปี
ปัจจุบันวัดแห่งนี้นอกจากเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ยังมีชื่อเสียงมากขึ้นด้านการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา จนกลายเป็นจุดหมายห้ามพลาดของจังหวัด ที่นักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถแวะเวียนเยี่ยมชมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ครับ
พิกัด : https://goo.gl/maps/JCYfcVYBHj3tMmLw9
40. หลวงปู่ใหญ่ วัดพุทธประดิษฐ์
เชื้อสายดั้งเดิมของชาวไทยอีสาน และชาวเมืองมหาสารคาม รกรากมาจากล้านช้างซึ่งมีกรุงศรีสัตนาคณหุต หรือเวียงจันทน์ เป็นราชธานี เริ่มมีการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ที่เมืองสุวรรณภูมิ หรืออำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน จากนั้นก็อพยพแยกย้ายกันไปหาพื้นที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ในเขตเมืองมหาสารคามปัจจุบัน และบางพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น และส่วนอื่น ๆ ในภาคอีสาน ในการอพยพเข้ามาสมัยนั้นก็จะมีบรรดาช่างที่มีฝีมือเข้ามาด้วยภายหลังการตั้งชุมชนเป็นหมู่บ้านที่มั่นคงแล้ว ก็มีการสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน และสร้างพระประธานประดิษฐานไว้ในอุโบสถอายุการสร้างอุโบสถ และอายุการสร้างพระประธานจึงใกล้เคียงกัน สำหรับหลวงพ่อใหญ่ ที่วัดพุทธประดิษฐ์ องค์นี้เช่นกัน จากพุทธศิลปะบ่งชี้ว่าเป็นการสร้างโดยช่างพื้นเมืองอิทธิพลศิลปะลาว ดูจากพระพักตร์ ใบหู และยอดเศียร อายุการสร้างไม่น่าจะ อยู่ช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธรูปลักษณะนี้จะพบเห็นอยู่หลายแห่งในภาคอีสาน และทั่วไปในประเทศลาว หลวงปู่ใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ สร้างด้วยศิลาแลง อยู่ในวิหารวัดพุทธประดิษฐ์ หรือวัดใหญ่บ้านโพน ตำบลโพนทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวบ้านโพน และบ้านใกล้เคียงมาช้านาน
พิกัด : https://goo.gl/maps/KLqYYGujNV7B2uqT9
41. พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม
เป็นแหล่งเรียนรู้ความเป็นมาของจังหวัดมหาสารคาม การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคามเน้นการเล่าเรื่องวิถีชีวิตของผู้คนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามโดยมีแก่นของเรื่องที่นำเสนอ เป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตชาวเมืองมหาสารคาม คือ “เมืองซ้อนชนบท” สามารถแบ่งมิติทางประวัติศาสตร์ในการนำเสนอเป็น 5 ยุค ดังนี้
– ยุคก่อนตั้งเมืองมหาสารคาม
– ยุคเจ้าเมืองท้องถิ่น
– ยุคปกครองโดยข้าราชการ
– ยุคขยายตัวทางการศึกษา
– ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม ฯ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการจัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนเป็นหลัก ดังนั้นวัตถุสะสมจึงเป็นวัตถุซึ่งจัดแสดงประกอบอยู่ในนิทรรศการเป็นหลัก โดยอาจจำแนกประเภทวัตถุสะสมออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำเนินชีวิต เช่น เครื่องมือทำนา เครื่องมือจับปลา เป็นต้น 2. อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ของเจ้าเมืองมหาสารคาม
3. อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ของเทศบาลเมืองมหาสารคาม
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม ฯ เน้นการเล่าเรื่องวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งแสดงออกถึงตัวตนหรืออัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตเมืองมหาสารคาม อันได้แก่ “เมืองซ้อนชนบท ” ให้ผู้เยี่ยมชมได้รู้จัก เข้าใจในวิถีแห่งเมืองมหาสารคามแล้ว พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม ฯ ยังได้ตั้งคำถาม แก่ผู้เยี่ยมชมว่า ความเป็น “ เมืองซ้อนชนบท ” ดังกล่าวจะเป็นบทเรียนสำหรับการพัฒนาเมืองมหาสารคามในอนาคตได้อย่างไร
พิกัด : https://goo.gl/maps/f4AGPrJkbWPZtG6w8
42. วนอุทยานโกสัมพี
เดิมพื้นที่วนอุทยานโกสัมพี มีเนื้อที่ทั้งหมด 125 ไร่ เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์(ดอนมเหศักดิ์) ตั้งอยู่บ้านคุ้มกลาง ตำบลหัวขวาง ในเขตเทศบาลเมืองโกสุมพิสัย อำเภอโกสุมพิสัย อยู่ติดแม่น้ำชี และมีองค์หลวงพ่อมิ่งเมือง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองของชาวโกสุมพิสัย ตั้งอยู่หน้าทางเข้าของวนอุทยานโกสัมพี กราบไหว้บูชา นอกจากนี้ยังมีดอนปู่ตา พื้นที่มีสภาพเป็นป่าไม้เบญจพรรณ ต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นขึ้นเป็นจำนวนมากและมีฝูงลิงแสมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 800 ตัว
แต่เดิมป่าแห่งนี้จัดเป็นป่าวัฒนธรรม หรือป่าที่คนอีสานเรียกว่า “ป่าดอนปู่ตา” ระบบนิเวศของป่าแห่งนี้เป็นพื้นทีชุ่มน้ำคือบริเวณป่าที่มีน้ำท่วมไม่นานที่คนอีสานเรียกว่า ”ป่าบุงป่าทาม” ประกอบด้วยทรัพยากรป่าไม้และสภาพนิเวศวิทยาค่อนข้างสมบูรณ์ อยู่ติดบริเวณริมฝั่งแม่น้ำชี
พิกัด : https://goo.gl/maps/QjQkUPSVCztQkeCT8
43. เสื่อกกบ้านแพง
สินค้าเลื่องชื่อ ฝีมือกลุ่มสตรีแม่บ้าน อ.โกสุมพิสัย ภูมิปัญญาหัตถกรรมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ
เสื่อหรือภาษาอีสานเรียกว่าสาด เป็นหัตถกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาที่สืบทอดมาครั้นบรรพบุรุษ โดยนำเอา ”ต้นกก” หรือชาวอีสานเรียกว่า “ต้นผือ” ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในท้องถิ่นมาทอขึ้นเพื่อรองนั่งหรือปูรองนอนในครัวเรือน นอกจากนี้ชาวอีสานยังทอสาดเพื่อใช้เป็นสิ่งของแลกเปลี่ยนหรือเป็นของกำนัลตอบแทนระหว่างกัน และยังใช้เป็นสิ่งของประกอบการทำบุญสุนทานในงานมงคลต่าง ๆ อาทิ งานบวช งานแต่งงาน งานบุญทอดกฐินหรือแม้แต่งานบุญทอดผ้าป่า
ปัจจุบันเสื่อกกพัฒนารูปแบบการใช้สอยตามยุคสมัย สามารถนำมาทอแล้วนำมาแปรรูปเป็นวัสดุใช้สอยได้หลายอย่าง เช่น ที่รองแก้ว เบาะรองนั่ง กระเป๋า ตะกร้า กล่องทิชชู หมวก เป็นต้น ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน หลังว่างเว้นจากการทำไร่ทำนาได้เป็นอย่างดี
พิกัด : https://goo.gl/maps/Wj3uY3Ak9kDsSuf39
44. พุทธมณฑลแห่งอีสาน
เป็นเขตที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เพราะบริเวณนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน โบราณวัตถุต่าง ๆ ที่สำคัญยิ่งก็คือการขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมัยทวาราวดี
เจดีย์พระธาตุนาดูน มีลักษณะประยุกต์จากสถูปจำลองที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กับลักษณะศิลปากร แบบทวารวดีออกแบบและดำเนินการสร้างโดยกรมศิลปากร
พิกัด : https://goo.gl/maps/neGR4xcRkwDXopdj8
45. หมอลำหุ่น "คณะเด็กเทวดา"
หมอลำหุ่น "คณะเด็กเทวดา" ของเด็ก ๆ ที่บ้านหนองโนใต้ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ที่ครูเซียง ร่วมกับชาวบ้านที่นั้นสร้างสรรค์มากว่าสิบปี จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของวงการศิลปะการแสดง ถูกรับเชิญไปแสดงในงานละครหุ่นระดับนานาชาติแล้วหลายครั้ง หุ่นเหล่านี้ถูกสร้างจากกระติบข้าว และเศษผ้าขาวม้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวอีสาน การแสดงก็ใช้ทำนองหมอลำในการร้องและดำเนินเรื่อง เรื่องราวที่จัดแสดงก็เป็นเรื่องราวของคติธรรม หุ่นชุดนี้เป็นหุ่นจากเรื่อง "สังข์สินไชย" โดยถอดแบบมาจากฮูปแต้มภายในสิมบ้านดงบัง อ.นาดูนนั้นเองครับ
หุ่นกระติบข้าว ถือกำเนิดขึ้นที่จังหวัดมหาสารคามเป็นที่แรกของโลก ปัจจุบันมีการเผยแพร่ไปแล้วหลายจังหวัด ถึงเวลาแล้วที่ชาวมหาสารคามจะบอกให้ทุกคนรู้ว่า นี้คืออัตลักษณ์ใหม่ของจังหวัดมหาสารคาม ร่วมช่วยกันนะครับ
46. สิมวัดป่าเลไลย์
เดิมเป็นสำนักสงฆ์ ต่อมาราษฎรได้ช่วยกันสร้างเป็นวัดขึ้นเรียกว่า วัดบ้านหนองพอก สิมหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อครั้งพระอธิการเหยว เป็นเจ้าอาวาส ผู้ดำริให้สร้างคือ พระครูจันทรศรีรัตนคุณ เจ้าคณะอำเภอนาดูนในขณะนั้น ส่วนฮูปแต้มผนังนั้นเขียนโดย นายสิงห์ ชาวบ้านคลองจอก เป็นช่างคนเดียวกันที่เขียนไว้ ณ วัดโพธาราม บ้านดงบัง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดป่าเลไลย์”
จุดเด่นของสิมหลังนี้อยู่ที่ฮูปแต้ม ซึ่งมีทั้งด้านนอก และด้านใน นับเป็นงานศิลปกรรมพื้นบ้านที่สวยงามมากทั้งทางองค์ประกอบ และรายละเอียด เขียนด้วยสีฝุ่นที่มีวรรณเย็น สีส่วนใหญ่ใช้สีคราม ฮูปแต้มผนังด้านในเป็นเรื่องพุทธประวัติ พระมาลัย และพระอดีตพุทธะ ด้านนอกเป็นเรื่องรามเกียรติ์ และเวสสันดรชาดก ลักษณะพิเศษของฮูปแต้ม ในสิมหลังนี้จะไม่เหมือนกับสิมที่อื่น ๆ เพราะยังเขียนไม่เสร็จ เหตุเพราะช่างแต้มได้ย้ายบ้านไปอยู่แห่งอื่น ทำให้เห็นวิธีการเขียนแต่ละขั้นตอนได้ชัดเจน กล่าวคือ ส่วนใหญ่จะลงพื้นด้วยสีน้ำตาลอ่อนแล้วร่างภาพเขียนสีภาพอาคาร ต้นไม้ ลำน้ำ ภาพสัตว์ และภาพบุคคล เป็นขั้นสุดท้าย แล้วตัดเส้นกับรายละเอียดอย่างประณีต คุณค่าทางวัฒนธรรมพื้นบ้านของศิลปกรรมชิ้นนี้ที่สำคัญยิ่ง คือ ช่างแต้มได้เขียนสอดแทรกภาพการทอผ้า การสรงน้ำพระ(ฮดสง) การทำบุญตักบาตรและการละเล่นต่าง ๆ ของชาวอีสานไว้
พิกัด : https://goo.gl/maps/1YT86Qch82KVTdoq9
47. มันแกวบรบือ
หากจะกลับกรุงเทพฯ อย่าลืมแวะซื้อมันแกวบรบือนะครับ แต่บางช่วงที่มันแกวยังไม่ออก ก็ยังมีแตงโมหวาน ๆ ให้เลือกเป็นของฝากนะครับ
48. สายไหมใจกลางอีสาน มัดหมี่สร้อยดอกหมาก
ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมากเป็นลายผ้าโบราณลายดั้งเดิมของท้องถิ่นอีสาน เป็นลายเก่าแก่ของบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านในแถบภาคอีสานโดยเฉพาะ จังหวัดมหาสารคามได้ทอใช้กันมากและจังหวัดมหาสารคามได้กำหนดให้เป็น“ลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัด”
แต่เดิมชาวบ้านแถบจังหวัดมหาสารคามทอผ้าลายโบราณ ตามแบบบรรพบุรุษอยู่หลายลายด้วยกัน แต่ภายหลังลายเก่าแก่เหล่านี้ก็เริ่มสูญหายไปจากชีวิตการทอผ้าของชาวบ้าน เนื่องจากความยากในการทอ ลายสร้อยดอกหมากก็เป็นลายผ้าโบราณลายหนึ่งที่เกือบจะสูญหายไปจากท้องถิ่น ด้วยความที่ลายผ้ามีความละเอียดมาก ผู้ทอต้องมีความรู้ในเรื่องของลาย และมีฝีมือทั้งในการมัดและ การทอ ถ้าไม่มีความชำนาญ การย้อมสีอาจไม่สม่ำเสมอทำให้ลายผ้าผิดเพี้ยนไป นอกจากนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการทอมาก จึงเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านไม่นิยมทอผ้าลาย “สร้อยดอกหมาก” จนกระทั่งทางจังหวัดมหาสารคาม ได้จัดให้มีการประกวดผ้าไหมประจำจังหวัดขึ้น ปรากฏว่าผ้าไหมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้น คือ ลายสร้อยดอกหมาก เพราะมีความสวยงามและวิจิตรบรรจงมาก จึงได้เลือกผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากเป็นผ้าไหมประจำจังหวัด พร้อมกับสนับสนุนให้ชาวบ้าน ทอผ้าลายนี้ให้มากขึ้น ทำให้ขณะนี้กลุ่มทอผ้าไหมทุกอำเภอของจังหวัดมหาสารคาม ต่างก็หันมาผลิตผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากกันมากขึ้น
“ ลายสร้อยดอกหมาก” เป็นชื่อลายตามคำเรียกของคนโบราณ ปัจจุบันชาวบ้านอาจเรียกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ลายเกล็ดปลา หรือลายโคมเก้า เกิดจากการนำเอาลายโคมห้ามามัดซ้อนกับลายโคมเก้าและทำการโอบหมี่แลเงาเพื่อให้ลายแน่นขึ้นละเอียดขึ้น ทำให้มีคุณสมบัติพิเศษเป็นจุดเด่นคือเป็นลายเล็กที่มีความละเอียดอย่างยิ่ง เมื่อนำมาประยุกต์สีสันต์ลงไปในการมัดย้อมแต่ละครั้งจะทำให้มองดูสวยงามระยิบระยับจับตามีคุณค่ามากขึ้น
การทอผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก เส้นไหมที่ใช้จะต้องเส้นเล็กมีความสม่ำเสมอ การทอผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก ใช้เวลาในการทอมากและขึ้นอยู่กับความละเอียดของลาย เฉพาะการมัดหมี่ใช้ระยะเวลาเวลานาน 4 – 5 วัน ยิ่งลายละเอียดก็ต้องขยายลำหมี่ให้มากขึ้นเป็น 49 ลำ หรือเป็น 73 ลำ ดอกก็จะมีขนาดเล็กลงไป ส่วนขั้นตอนการทอก็ใช้เวลาพอสมควร การมัดตีโครงหมี่ลายสร้อยดอกหมาก เป็นการมัดหมี่ขั้นตอนแรกของลายสร้อยดอกหมาก ก่อนที่จะนำไปย้อมสีและโอบเป็นลายสร้อยดอกหมากที่สมบูรณ์
ขอบพระคุณภาพจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
49. วัดวังคำ
เป็นวัดที่เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณ ช่วงปี 2539 อาคาร และงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสุดยอดสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง สถาปัตยกรรมที่โด่นเด่นของยุคนี้ ที่ทุกคนจำได้ดีก็จะเป็นวัดเชียงทอง ในเมืองหลวงพระบาง ที่ถือว่าเป็นสุดยอด พอได้มาเห็นวัดวังคำ ก็ต้องบอกว่าสวยมาก
พิกัด : https://goo.gl/maps/4Nn3oByrMHviuJmr8
50. พิพิธภัณฑ์สิรินธร หรือ อุทยานโลกไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว
เรื่องราวของการค้นพบ โครงกระดูกไดโนเสาร์ ที่เก่าแก่กว่า 150 ล้านปี ที่มีความสมบูรณ์ และมากที่สุดในประเทศไทย
พิพิทธภัณฑ์ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าว วัดป่าสักกะวัน อ.สหัสขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบซากโครงกระดูกของไดโนเสาร์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร
พิกัด : https://goo.gl/maps/hfojY6pwnNzGf4vF9
51. พระธาตุยาคู
เป็นพระสถูปสมัยทวารดี สร้างเมื่อประมาณ 1000 ปีมาก่อน เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง ( เมืองโบราณ สมัยขอม ปัจจุบันเหลือแต่ซากอิฐปูนดิน ) เนื่องด้วยเป็นสถานที่แห่งเดียวในเมืองฟ้าแดดที่ไม่ถูกทำลายโดยเมืองเชียงโสมซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม
คำว่า "ยาคู" เพียนมาจากภาษาอีสาน "ญาคู" หมายถึง พระสงฆ์ ผู้ใหญ่ในวัด พระธาตุห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปตามเส้นทางหลวงสาย 214 ระยะทาง 19 กิโลเมตร
พิกัด : https://goo.gl/maps/jk1ByYjNEALtfo9q8
52. หลวงพ่อองค์ดำ พระพุทธสัมฤทธิ์นิโรคันตราย
ในสมัยร.1ได้มีการกวาดต้อนชาวภูไทจากลาวมา ญาคูกิวซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ ได้นำทองแดงและทองคำที่ได้มาจากประเทศลาวเพื่อประกอบพิธีหล่อองค์พระพุทธรูป มีพุทธลักษณะเป็น ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 41 เซนติเมตร โดยมีช่างจากล้านนาโบราณที่เชี่ยวชาญมาช่วยในการหล่อ เมื่อหล่อองค์พระพุทธรูปเสร็จปรากฏว่าทองแดงที่ใช้เป็นส่วนประกอบของพระพุทธรูปนั้นทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิ-เดชั่นเกิดเป็นสนิมสีดำเกาะทั่วพระพุทธรูป เมื่อขัดสนิมออกแล้วก็จะเห็นสีของทองแดงแต่เมื่อเวลาผ่านไปก็กลับมาเป็นสีดำเช่นเดิม ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า "หลวงพ่อองค์ดำ" ประดิษฐานอยู่ที่วัดนาขาม ก่อนที่จะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดกลางแห่งนี้ และในวันสงกรานต์ของทุกๆปีจะมีการอัญเชิญหลวงพ่อองค์ดำแห่ไปรอบเมืองเพื่อขอฝน ซึ่งชาวบ้านเรียกอีกชื่อนึงก็คือ "หลวงพ่อชุ่มเย็น"
พิกัด : https://goo.gl/maps/yhfNqLQHTmerPadM8
53. ประเพณีบุญบายศรีสู่ขวัญข้าวคูณลาน
หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวของทุกปี ( เดือนกุมภาพันธ์ ) ชาวนาจะนำข้าวมาประกอบพิธี
สร้างเป็นปราสาท เพื่อระลึกถึงบุญคุณของพระแม่โพสพ ที่วัดเศวตวันวนาราม
ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวกาฬสินธุ์
54. วนอุทยานภูแฝก
ตั้งอยู่ที่ตำบลแล่นช้าง ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงห้วยฝา เป็นแหล่งพบรอยเท้าไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยถูกค้นพบบนพลาญหินที่เป็นทางน้ำของห้วยน้ำยัง มีลักษณะเป็นรอยเท้าฝังอยู่ในผิวหน้าของชั้นหินทรายที่แกร่งของหมวดหินพระวิหาร ซึ่งตามลำดับชั้นหินจะวางตัวอยู่ใต้ชั้นหินของหมวดหินเสาขัว และเป็นชั้นหินที่พบกระดูกไดโนเสาร์มากที่สุดของประเทศไทย นอกจากนี้ภายในวนอุทยานภูแฝกยังปรากฏรอยเท้าสัตว์โบราณอีกเป็นจำนวนมากบนลานหิน ทั้งยังมีบ่อน้ำแร่ ซึ่งอยู่บริเวณด้างล่างของภูแฝก มีน้ำแร่ไหลตลอดทั้งปี รวมถึงยังมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติและชมทิวทัศน์อันสวยงามอีกด้วย
พิกัด : https://goo.gl/maps/fdvR7KWQk7fAT6RA7
55. แพรวา บ้านโพน
ผ้าไหมแพรวา ได้รับการกล่าวขานว่า “แพรวา ราชินีแห่งไหม” แพรวาหรือผ้าแพรวาเป็นผ้าทอมือ ผ้าพื้นเมืองหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีสีสันและลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท นิยมทอด้วยไหมทั้งผืน โดยปกติแล้ว หญิงสาวชาวภูไททอผ้าแพรวาไว้สำหรับห่มเป็นสไบคลุมไหล่ หรือโพกศีรษะ จึงมักใช้ในโอกาสที่เป็นงานบุญ งานมงคล หรืองานประเพณีต่างๆ
กลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็น “สหกรณ์ทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน” ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาของสมาชิกใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคำม่วง อำเภอสมเด็จ อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอสามชัย เพื่อจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่ศิลปาชีพบ้านโพน
พิกัด : https://goo.gl/maps/yjEhV8VbusuFMqMo6
56. สวนปันบุญ
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่9 แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาและวิถีเกษตรอินทรีย์ของกาฬสินธุ์ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้มาเรียนรู้
พิกัด : https://goo.gl/maps/ZWJWf4SSknQq4PdK6
57. หาดดอกเกด แหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวกาฬสินธุ์
พิกัด : https://goo.gl/maps/QV4NN8Uuc5KhfvJc9
58. สะพานเทพสุดา เขื่อนลำปาว
เขื่อนดินขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งการประมง และการเกษตรที่สำคัญของกาฬสินธุ์
นอกจากนี้ยังเป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจ และสถานที่หลบร้อนอันดับหนึ่งของกาฬสินธุ์ ในช่วงหน้าร้อนถือว่าเป็นไฮซีซั่นของเขื่อนลำปาว เพราะจะมีร้านค้า ร้านอาหารมากมายบริเวณเขื่อน มีทั้งกิจกรรมทางน้ำต่างๆ เช่น บานาน่าโบ๊ท เขื่อนลำปาวตั้งอยู่ที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์
อยู่ห่างจากตัวเทืองกาฬสินธุ์ประมาณ 36 กิโลเมตร
พิกัด : https://goo.gl/maps/vgFeKQDGnePjwNm29
59. เฮือนกาฬสินธุ์-สวนดอนธรรม ชิมอาหารพื้นบ้านของคนกาฬสินธุ์ เมนูเด็ดก็แกงเห็ดโคน และลาบปลาตะเพียน
พิกัด : https://g.page/suandontam?share
60. cafe de' SUPAK
61. ตลาดโรงสี Ricemill market
โรงสีข้าวสมัยเมื่อ 50 ปี ก่อน ถูกแปลเปลี่ยนเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์หนึ่งเดียวของกาฬสินธุ์ มีร้านอาหารมากมายให้เลือกชิมช็อปกันตามสะดวกเลย
62. สวนไดโนเสาร์
สวนไดโนเสาร์ ถ้าอยากสัมผัสความยิ่งใหญ่ของไดโนเสาร์ราวกับย้อนยุคไปเดินอยู่ด้วยกัน ต้องแวะมาที่ สวนไดโนเสาร์ แห่งนี้ ที่นี่อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สิรินธรเพียงไม่กี่กิโลเมตร เข้ามาแล้วจะต้องทึ่งกับบรรดารูปปั้นไดโนเสาร์ที่มีทั้งรูปร่างหน้าตาและขนาดเสมือนจริงนับสิบตัว หลากหลายสายพันธุ์ ที่รู้จักกันดีก็เช่น ไทรเซราทอปส์ ซอโรพอด ทีเร็กซ์ แรปเตอร์ ฯลฯ กำลังอยู่ในท่าเดินไปด้วยกันเป็นฝูง
พิกัด : https://goo.gl/maps/UaEDWtc8JN5pY9W98
63. มูลนิธิเปรมปรีดี
ในยุคที่คนในสังคมมุ่งแต่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด หากมีบุคคลหรือองค์กรใดลุกขึ้นมาทำประโยชน์เพื่อคนในสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ก็นับว่าควรค่าแก่การยกย่องและให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง
เหมือนอย่าง “หมู่บ้านนานาชาติ เปรมปรีดี” อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้ฝึกภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันกับเจ้าของภาษา ราวกับอยู่ในต่างประเทศเลยล่ะ
64. หอศิลป์กาฬสินธุ์
พิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ (หอศิลป์) ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ (หลังเก่า) นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ของดีเมืองกาฬสินธุ์ หอศิลป์ แหล่งเรียนรู้ของดีเมืองกาฬสินธุ์ ศิลปะภาพวาดจากศิลปินชื่อดัง ศิลปินชาวกาฬสินธุ์ ภาพวาด 3 มิติ รูปปั้นงานศิลป์ ที่สื่อออกถึงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งดี ๆ ของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเปิดให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
พิกัด : https://goo.gl/maps/vT6AbdvEGGZwxqrq9
65. เฮินโฮม
มีสินค้าผ้าฝ้ายประเภทเสื้อสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษหลากหลายราคา เริ่มตั้งแต่หลักร้อย ถึงหลักหมื่น ซึ่งผ้าฝ้ายจากร้านราคาค่อนข้างสูงกว่าผ้าฝ้ายอื่นๆ เนื่องจากเป็นผ้าฝ้ายอินทรีย์ จ้างแรงงานฝีมือทอและย้อม เฉพาะฝ้ายแท้เข็นมือประเภทอินทรีย์ปลอดสารเคมีจะขายที่เมตรละ 700 บาท โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ต่างประเทศและกลุ่มออร์แกนิก ด้วยกรรมวิธีขั้นตอนทอผ้าฝ้ายจากแรงงานคนทั้งหมดและใช้วัสดุธรรมชาติ สามารถขายได้และมีผู้นิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
พิกัด : https://goo.gl/maps/g1Kw7CPqc1RYnLBH6
66. พรานกุ้งลุ่มลำปาว
นั่งเรือชมพรานล่ากุ้งกรามกราม แห่งเขื่อนลำปาว
เคยมีคนบอกว่ากิน กุ้งก้ามกราม ต้องไปอยุธยา แล้วรู้ไหมว่า ที่กาฬสินธุ์ ก็ขึ้นชื่อเรื่อง กุ้งก้ามกรามเขื่อนลำปาว ไม่แพ้อยุธยา เช่นกัน
หากคุณเป็นคนอิสาน คงไม่น่าแปลกใจนักหากได้ยินว่าจะไปกินกุ้งกาฬสินธุ์ เพราะรู้จักกันดีว่าที่ จ.กาฬสินธุ์เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม จนมีชื่อเสียงไปทั่วทั้งภาคอิสาน แต่คุณรู้ไหม ว่าถ้าหากอยากกินกุ้งแม่น้ำตัวโตๆ มันเยิ้มๆ ที่ ต. ภูสิงห์ อ. สหัสขันธ์ จ. กาฬสินธุ์ แห่งนี้ ก็มีให้คุณได้ลิ้มลองความอร่อย และบอกเลยว่า กุ้งที่นี่ตัวโต…ไม่แพ้อยุธยาเลยหละ
67. ตำกระเทย สาขากาฬสินธุ์
ร้านส้มตำแบรนด์ดังแห่งอีสาน ที่มีสาขาอยู่เกือบทุกจังหวัดในภาคอีสานแล้ว มาร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ต้องมาโดนกันนะครับ
" แม่พระผู้ทรงนำผ้าไหมไทย สู่เวทีโลก "
เมื่อปี 2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัย ที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม
ณ สถานที่แห่งนี้เอง เป็นต้นกำเนิดของพระราชดำริการพระราชทานอาชีพเสริมแก่ราษฎรและเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้าเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา "ผ้าทอไทย"
เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็น "ผ้าซิ่นไหมมัดหมี่" ที่หญิงชาวบ้านใส่มารับเสด็จด้วยความสนพระราชหฤทัย จึงโปรดเกล้าฯให้คณะเจ้าหน้าที่ออกไปติดต่อรับซื้อผ้าไหมจากชาวบ้านโดยทรงรับซื้อไว้ในราคาสูง ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจทอผ้าไหมต่อไป อันเป็นการส่งเสริมผ้าไหมมัดหมี่เป็นอาชีพเสริมดังพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 11 สิงหาคม 2547 ความตอนหนึ่งว่า
"...ข้าพเจ้าบอกเขาว่า ผ้าที่เขาใส่นี่สวยมาก ทอให้พระราชินีได้ไหม ชาวบ้านเขาก็บอกว่า พระราชินีจะเอาไปทำอะไร เพราะว่าผ้าแบบนี้ที่คนเขาจะนุ่งห่มก็มีแต่คนยากจนเท่านั้น คนใช้ที่กรุงเทพฯนั่นแหละเขาใส่กัน พระราชินีจะใส่ไปทำไม ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่า ทอให้พระราชินีจะใส่ตลอด เขาก็ได้ตกลง มีการเข้าชื่อกันว่ามีใครบ้างจะรับอาสาทอผ้าไหมมัดหมี่ถวายแบบที่เขาใส่กันลายแปลกๆ ข้าพเจ้าได้ให้เงินล่วงหน้าไว้กับคนที่จะทอผ้าให้ข้าพเจ้าทุกคน สังเกตเห็นว่าแววตาของเขาทั้งหลายมีความหวังว่าเขามีงานทำ..."
ณ วันนี้ ผ้าไหมมัดหมี่และผ้าทอพื้นบ้านต่างๆ อาทิ ผ้าแพรวา ผ้าปักชาวเขา ผ้าจก ผ้ายก ได้รับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ไม่ให้สูญหาย และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ทรงเป็น "พรีเซ็นเตอร์" ด้วยพระองค์เอง จากการที่ทรงซื้อผ้าทอมือผลงานของชาวบ้านมาตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์เพื่อทรงใช้ในโอกาสต่างๆ นับได้ว่า "ทรงนำแฟชั่น" ส่งผลให้ผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าไหมได้รับความนิยมกระทั่งทุกวันนี้
จากพระราชประสงค์ที่ทรงอยากเห็นคนไทยอยู่ดีกินดีจากอาชีพเสริมด้วยการทอผ้า วันนี้ ผ้าไหมไทยมิได้ช่วยสร้างรายได้ให้ชาวบ้านเท่านั้น หากโลกยังให้การยอมรับผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าไหมไทยซึ่งเป็นผ้าอันดับหนึ่งของโลก
น ว ล by ผู้ชายนวลๆ
วันพฤหัสที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เวลา 13.49 น.