ตามคำเรียกร้องของผม ว่าก่อนหน้านี้วางแผนว่าจะพักที่บ้านจ๊ะไหน ซึ่งเป็นชุมชมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะ แต่ด้วยอิทธิพลของโครงการเราเที่ยวด้วยกันจึงเบนเข็มมาพักที่อันดาเลย์ บีชรีสอร์ท น้องการ์ตูนจึงขี่ซาเล้งพาเราทะลุผ่ากลางชุมชนบ้านจ๊ะไหน ที่กลางชุมชนเป็นเพียงถนนแคบๆปูด้วยอิฐตัวหนอน หากมีซาเล้งสวนมาก็คงต้องหลบกันให้วุ่น สองฟากถนนเรียงรายไปด้วยบ้านเรือนที่ตั้งกันอย่างหนาแน่น ส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดอาชีพประมง แต่บ้างส่วนก็ดัดแปลงเป็นโฮมสเตย์ หรือไม่ก็ร้านอาหารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

ที่หมู่บ้านจ๊ะไหนมีสิงก่อสร้างสำคัญนั่นคือสะพานหลีกภัย ที่ทอดยาวร่วมกิโลเมตรไปกลางทะเล นอกจากใช้เป็นที่จอดเรือประมงตลอดแนวสะพานแล้ว สุดปลายสะพานยังเป็นที่ตั้งของหอสูง 5 ชั้น เพื่อใช้ศึกษาและดูชีวิตของสัตว์ทะเล โดยสัตว์ทะเลสำคัญจนเป็นสัญลักษณ์ของเกาะลิบง รวมถึงของ จ.ตรัง ก็คือ พะยูน เพราะบริเวณรอบเกาะลิบงอุดมไปด้วยหญ้าทะเล อันเป็นอาหารของพวกเขา

น้องการ์ตูนขี่ซาเล้งหลบหลีกกับซาเล้งที่วิ่งสวนมาอย่างฉิวฉียด เพราะความกว้างของสะพานนั้นสร้างแบบพอดิบพอดีกับซาเล้งวิ่งสบายๆได้แค่เพียง 1 คัน หากมีซาเล้งสวนมาก็จอดหลบ จนผมคิดว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อจากสะพานหลีกภัย ซึ่งตั้งชื่อตามนามสกุลอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีบ้านเกิดที่ จ.ตรัง เป็นชื่อสะพานหลีกทางน่าจะเหมาะกว่า

ในอดีตการชมปลาพะยูนนั้นมี 2 วิธี คือการเดินขึ้นไปชมบนเขา แม้ปัจจุบันยังอนุญาตให้ขึ้นได้ แต่น้องการ์ตูนไม่พาไปโดยบอกว่าอันตราย และแท่งก็เห็นดีเห็นงามด้วยเพราะการเดินขึ้นเขาคงเหนื่อยกว่าก็เดินขึ้นหอคอยเยอะ อีกทางคือการนั่งเรือไปกลางทะเล ซึ่งเป็นการรบกวนพะยูน แถมยังต้องเสียค่าเรืออีก 500 บาทซึ่งไม่การันตีด้วยว่าจะได้เห็นพะยูนไหม เมื่อมีการสร้างสะพานหลีกภัยพร้อมหอคอยเพื่อชมปลาพะยูนจึงนิยมชมที่หอคอยแห่งนี้

บอกตรงๆเลยว่าไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เจอพะยูน เพราะช่วงที่เรามาไม่ใช่ช่วงที่พะยูนจะว่ายมาใกล้ฝั่ง แต่อย่างไรก็ตามตาก็เฝ้ามองออกไปไกลยังท้องทะเลที่กว้างใหญ่ เพื่อมองการพริ้วไหวของผิวน้ำ เผื่อจะได้เห็นพะยูนสักตัว แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามที่ไม่ได้คาดหวัง นั่นคือเราไม่เห็นพะยูนสักตัว

แต่การขึ้นมาบนหอคอยแห่งนี้ก็ทำให้ได้เห็นท้องทะเลที่กว้างไกล และเมื่อมองกลับไปยังฝั่งก็ยังได้เห็นชุมชนชาวประมองของหมู่บ้านจ๊ะไหน ที่ตั้งอยู่ริมทะเลโดยมีแนวเขาสูงอยู่เบื้องหลัง และเห็นมัสยิดสีชมพู ซึ่งเป็นมัสยิดประจำหมู่บ้าน มองดูสวยงามจากระยะไกล จนผมต้องขอให้น้องการ์ตูนพาไปชมก่อนที่ซาเล้งจะพาเรากลับรีสอร์ท

จริงๆแล้วหมู่บ้านจ๊ะไหน นั้นอยู่ใกล้กับท่าเรือบ้านพร้าว การให้น้องการ์ตูนพากลับมาที่รีสอร์ทเพื่อทานอาหารกลางวันและเอาเป้จึงเป็นการเดินทางย้อนไปย้อนมา แต่ด้วยระยะทางถนนบนเกาะที่ยาวสุดก็แค่ 8 กม. อีกทั้งรีสอร์ที่เราพักนั้นอยู่ไม่ไกลจากบ้านพ่อของเธอ เธอจึงยินดี โดยนัดหมายให้น้องการ์ตูนมารับในเวลาเที่ยง เพื่อที่เราจะได้จัดการกับอาหารกลางวันให้เรียบร้อยก่อน

แม้หลายสื่อจะแนะนำว่าให้กินอาหารทะเลที่บ้านจ๊ะไหน โดยเฉพาะปูนั้นถูกสุดๆ แต่เพื่อใช้สิทธิ์เงิน 600 บาทที่ได้รับต่อวันจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เที่ยงนี้เราจึงเลือกฝากท้องกับห้องอาหารของรีสอร์ท แล้วกลายเป็นว่าเราสองคนเลือกเมนูเดียวกัน นั้นคือข้าวผัดสับปะรด ที่ยกสับปะรดมาเสริฟทั้งลูก โดยมีข้าวผัดใส่กุ้งพร้อมด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์และลูกเกด ทั้งอร่อยและอิ่ม แถมได้กินเนื้อสับปะรดอีก

น้องการ์ตูนพาเรากลับไปยังท่าเรือบ้านพร้าว ก่อนลาจากกันเธอบอกว่า อย่างไงก็แวะมาเที่ยวเกาะลิบงอีกนะ พี่มีไลน์หนูแล้ว ถ้าจะมาก็ไลน์มาบอกก่อนนะ เธอจะได้อยู่เพื่อพาเราเที่ยวเกาะแห่งความสุขนี้อีก

ท่าเรือบ้านพร้าวในเวลานี้เงียบเหงานัก นอกจากเราสองคนแล้วมีเพียงพี่สาวร่างอ้วนที่นั่งเก็บค่าโดยสารเท่านั้น เราจ่ายค่าเรือไปคนละ 40 บาท ระหว่างรอผู้โดยสารที่จะมาเพิ่ม พี่สาวคนเก็บค่าโดยสารก็คอยถามว่าจะเหมาเรือเลยไหม แค่ลำละ 520 บาทเอง จะได้ไม่ต้องรอ แต่เราก็ปฏิเสธแล้วก็นั่งรอด้วยความหวังว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่ม เพราะเรือจะออกก็ต่อเมื่อมีผู้โดยสาร 13 คนขึ้นไปเท่านั้น เวลาผ่านไป 20 นาทีก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีใครย่างกายเข้ามาในท่าเรือแห่งนี้ เราจึงตัดสินใจเหมาเรือเพื่อที่บ่ายนี้เราจะได้มีเวลาพอที่จะไปเที่ยวตัวเมืองกันตรัง ซึ่งน่าจะเป็นการคุ้มค่ามากกว่าการปล่อยเวลาให้ผ่านไปเช่นนี้

หลังจากจ่ายเงินเพิ่มให้กับพี่สาวคนเก็บค่าโดยสาร คนเรือก็สตาร์ทเครื่องพาเรือแล่นทยานฝ่าเกลียวคลื่นจากท่าเรือบ้านพร้าวสู่ท่าเรือหาดยาว เป็นการเดินทางที่ Exclusive มากๆเพราะนั่งกันแค่ 2 คน เราจึงผลัดกันไปถ่ายรูปที่หัวเรือกันอย่างเท่ ซึ่งหากมาพร้อมผู้โดยสารเต็มเรือคงไม่สามารถทำเช่นนี้ได้

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 13.56 น.

ความคิดเห็น