หากคุณมีวันหยุดเพียง 1 วัน คุณจะไปเที่ยวที่ไหน ? ... ติ๊ก.. ต่อก.. ติ๊ก.. ต่อก...

ถ้ายังนึกไม่ออก ผมมีจังหวัดหนึ่งมานำเสนอ จังหวัดนี้อยู่ไม่ไกลจาก กทม. สามารถไปเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับได้ ไปเที่ยวแล้ว ยังอิ่มบุญ อิ่มใจด้วย จังหวัดที่ผมพูดถึงนั่นคือ จ.พระนครศรีอยุธยา นั่นเองครับ

แล้ว จ.พระนครศรีอยุธยา มีอะไรให้เที่ยวบ้างละ คงต้องขอบอกเลยว่าสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของอยุธยาจะเน้นไปทางประวัติศาสตร์และพระพุทธศาสนาเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่อยุธยามีวัดกว่า 500 แห่ง นี่ยังไม่นับรวมวัดร้างนะครับ ทริปนี้ผมเลยจะพาไปไหว้พระกัน แต่วัดที่ผมเลือกไปนั้นขอใส่ลูกชิ้นเพิ่ม (พิเศษ) นิดหนึ่ง นั่นคือ ตะเวนไหว้พระนอนครับ

สำหรับโปรแกรมคร่าวๆ ที่ผมวางแผนไว้คือเริ่มจากวัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร วัดสามวิหาร วัดธรรมิกราช วัดหน้าพระเมรุ วัดโลกยสุธาราม วัดตึก วัดพนมยงค์ วัดนักบุญยอแซฟ วัดพุทไธสวรรย์ วัดบางปลาหมอ วัดพิกุลโสคันธ์ ปราสาทนครหลวง วัดไม้รวก และมาปิดท้ายด้วยวัดสะตือครับ

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคำว่าพระนอนกันก่อนดีกว่าครับ "พระนอน" หรือ "พระไสยาสน์" ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะสร้างในรูปแบบ "ปางโปรดอสุรินทราหู" คือองค์พระพุทธรูปจะอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระหัตถ์ซ้ายแนบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียร พระเขนย (หมอน)รองรับ และพระบาททั้งสองข้างวางทับเสมอกันครับ

ปล. ด้านท้ายรีวิวของแต่ละวัด ผมจะใส่จำนวนดาวไว้ ถ้าวัดไหนมีความน่าสนใจมาก ผมจะให้ 5 ดาว ถ้าวัดไหนมีความน่าสนใจเพียงเล็กน้อย ผมจะใส่ 1 ดาว จำนวนดาวจะบอกถึงความน่าสนใจภายในวัดเท่านั้น จะไม่รวมถึงประวัติความเป็นมา/ความศักดิ์สิทธิ์/ความนิยมของนักท่องเที่ยวที่มีต่อวัดนั้นๆ แต่อย่างใด จำนวนดาวที่ให้นี้ มาจากความรู้สึกของผมล้วนๆ นะครับ

สำหรับวัดแรกที่ผมปักหมุดไว้ คือวัดใหญ่ชัยมงคลครับ การเดินทางมาวัดใหญ่ก็ไม่ยากเลย จากถนนสายเอเชีย เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองอยุธยา ตรงมาเรื่อยๆ จนถึงเจดีย์วัดสามปลื้ม ให้เลี้ยวซ้าย ขับตรงมาเรื่อยๆ จะเห็นวัดอยู่ทางซ้ายมือครับ

ผมมาถึงวัดใหญ่ฯ ตั้งแต่ 07.30 น. นักท่องเที่ยวยังมาไม่เยอะ เลยมีเวลาเดินสำรวจแต่ละจุดได้นานพอสมควร

วัดใหญ่ชัยมงคลสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น สมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง พระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา จุดที่น่าสนใจในวัดมี 4 จุด คือ วิหารพระพุทธไสยาสน์, พระอุโบสถ, เจดีย์ชัยมงคล และพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

จากลานจอดรถ เดินมานิดหน่อยจะพบประตูทางเข้า เมื่อผ่านประตูทางเข้ามาแล้ว ด้านซ้ายมือจะพบวิหารพระนอน ผมเลยแวะไหว้ขอพรเป็นจุดแรกครับ

ถึงแม้วิหารพระนอนจะเหลือเพียงซากปรักหักพัง แต่ก็ยังพอมองเห็นภาพวิหารอยู่ได้บ้าง เสากลมที่หลงเหลืออยู่เพียง 2 ต้น ยังปรากฏร่องรอยของบัวหัวเสาที่ประดับอยู่บนยอดเสา ผนังวิหารทางด้านเศียร และด้านหลังขององค์พระนอนยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์กว่าผนังวิหารด้านหน้า

ภายในวิหารประดิษฐานพระนอน ซึ่งสร้างขึ้นในแผ่นดินของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเพื่อใช้เป็นที่สักการบูชา และปฏิบัติพระกรรมฐาน พระนอนองค์นี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2508 องค์พระเป็นปูนสีขาว เล่ากันว่าใครได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องการอภัยทาน เมตตามหานิยมครับ

เดินถัดจากวิหารพระนอนมานิดหน่อย จะพบพระอุโบสถเก่าที่ยังคงรูปแบบเค้าโครงแบบเดิม อุโบสถแห่งนี้เป็นที่ปฏิบัติกรรมฐาน รวมถึงการประกอบพิธีกรรมต่างๆ และยังเคยใช้เป็นสถานนัดพบของเหล่าขุนนาง ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปมากมาย จุดนี้เองจะเป็นจุดที่ญาติโยมได้มาจุดธูปเทียนบูชา ด้านหลังขององค์พระพุทธรูปเป็นประตูทางเข้าโบสถ์ ด้านในโบสถ์ประดิษฐานพระองค์ประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ปั้นด้วยหินทรายตลอดทั้งองค์ จีวรถูกลงรักปิดทองประดับแก้ว ผมคงได้ชื่นชมความงดงามแต่เพียงภายนอก เพราะผมมาถึงวัดเช้ามากๆ พระท่านยังสวดมนต์อยู่ในวิหารกันอยู่เลยครับ

ส่วนด้านหลังของพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของเจดีย์ชัยมงคล เจดีย์ที่สูงที่สุดในอยุธยา องค์เจดีย์มีลักษณะทรงระฆังคว่ำสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงรบชนะมังกะยอชวา พระมหาอุปราชของหงสาวดีครับ

โดยรอบขององค์เจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปมากมาย

ด้านบนเจดีย์ เป็นห้องโถงทรงกลม มีองค์พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่โดยรอบ ตรงกลางเจดีย์มีหลุมลึกขนาดใหญ่ ผมไม่มีข้อมูลว่าหลุมดังกล่าวมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร

จากด้านบนเจดีย์ มองเห็นพระอุโบสถ และองค์พระพุทธรูปที่ตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบ

ทางวัดมีกฎสำหรับผู้ที่สะพายเป้อยู่หนึ่งข้อ คือไม่ให้สะพายเป้ไว้ด้านหลัง แต่ต้องนำเป้มาสะพายไว้ด้านหน้า ผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎนั้นเช่นกันเนื่องจากต้องสะพายเป้กล้อง จึงทำให้เวลาที่เดินขึ้น-ลงที่สูงต้องระวัง เพราะผมไม่สามารถมองต่ำๆ เพื่อดูเส้นทางในช่วงจังหวะที่จะก้าวเท้าได้เนื่องจากเป้บังจนมองไม่เห็น ระหว่างที่เดินขึ้นมาด้านบนเจดีย์ สังเกตเห็นขั้นบันได (ในระดับสายตา) ที่ก่อด้วยอิฐมอญสึกกร่อนเป็นอย่างมาก โดยบริเวณตรงกลางของอิฐมอญแต่ละก้อนจะสึกกร่อนจนเป็นหลุมตรงกลางเลยครับ

ในส่วนพื้นที่ที่ก่อสร้างใหม่ที่เป็นพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งนี้ผมไม่ได้แวะเข้าไปชมเลย เนื่องจากผมเคยไปชมมาแล้วครั้งหนึ่ง และครั้งนี้ไม่อยากเสียเวลาในแต่ละจุดมาก เพราะเกรงว่ายิ่งสาย แดดจะยิ่งร้อน และมีอีกหลายวัดที่ผมต้องไปตามที่ตั้งใจไว้ สำหรับวัดใหญ่ชัยมงคล ผมขอให้ 5 ดาว เนื่องจากมีอะไรให้ได้ชมหลายอย่างครับ

มาวัดใหญ่ฯ ทั้งที ขอมาชิมก๋วยเตี๋ยววัดใหญ่ฯ ซะหน่อยครับ เพราะได้ยินชื่อเสียงมานานแล้ว

ตัวร้านอยู่ด้านข้างวัดใหญ่ฯ อยู่ติดถนนเลยครับ

เมนูเด็ด คงจะเป็นก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นครับ

ก๋วยเตี๋ยวเรือก็มี ผมว่ารสชาติทั้งก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นและก๋วยเตี๋ยวเรือยังไม่โดน ไม่เด็ดสมดังคำร่ำลือเลย รสชาติปรุงแล้วไม่รู้จะออกไปทางไหนเลยครับ (รสชาติตามลิ้นผมนะครับ)

หมูสะเต๊ะก็มี รสชาติกลางๆ ครับ

อีกสิ่งที่ทางร้านนำเสนอคือเต้าหู้ทอด เมนูนี้ผมไม่ได้ชิม แต่พี่ที่ไปด้วยบอกว่าเต้าหู้อร่อย แต่น้ำจิ้มยังไม่ผ่านครับ

ไม่ไกลจากวัดใหญ่ชัยมงคลเป็นที่ตั้งของวัดพนัญเชิง ที่วัดพนัญเชิงไม่มีพระนอนหรอกครับ แต่ทุกครั้งที่ผมมาเที่ยวอยุธยา ผมจะไม่ลืมแวะมาสักการะหลวงพ่อโต ที่มีความงดงามเป็นอย่างมาก และครั้งนี้ก็เช่นกันที่ผมได้แวะมาขอพรจากท่าน

วัดพนัญเชิงสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก คำว่า "พนัญเชิง" เพี้ยนมาจากคำว่า "พแนงเชิง" ซึ่งแปลว่า นั่งขัดสมาธิ วัดพนัญเชิงจึงมีความหมายว่าวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย นั่นก็คือหลวงพ่อโตนั่นเองครับ

เมื่อเลี้ยวรถเข้ามาในบริเวณวัด จะเห็นลานจอดรถที่กว้างมากๆ รอบๆ ที่จอดรถเป็นร้านขายของฝากมากมาย ผมเองไม่ได้สนใจอะไร เลยมุ่งหน้าสู่วิหารขนาดใหญ่ ซึ่งภายในวิหารนั้นเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโตครับ

หลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก เป็นพระปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 7 วา 10 นิ้ว สูงตลอดรัศมี 9 วา 2 ศอก ถือเป็นพระโบราณคู่บ้านคู่เมืองกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่แรกสร้างกรุง ตามคำร่ำลือของชาวกรุงเก่าเล่าว่า เมื่อใกล้จะเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า พระองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกทั้งสองข้างจรดพระนาภี (ท้อง) เลยครับ

หลวงพ่อโตไม่ได้เป็นที่ศรัทธาเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่คนจีนเองก็ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมากเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยว่าที่วัดแห่งนี้จะมีผู้คนมากราบไหว้กันแบบล้นหลามเลยทีเดียว

ภายในวิหารหลวงพ่อโตมีความงดงามเป็นอย่างมาก องค์หลวงพ่อโตเปล่งประกายทองมลังเมลือง บวกกับวิหารที่เป็นสีแดงและมีการลงลวดลายด้วยสีทอง ช่างงดงามเป็นอย่างมากจริงๆ องค์หลวงพ่อโตนี้ ถือเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอยุธยาครับ

ด้านข้างของวิหาร จะเป็นศาลของเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยาครับ

ติดกับศาลเจ้าแม่กวนอิม เป็นที่ตั้งของตำหนักเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ดูเล็กๆ แบบนี้ มี 2 ชั้นนะครับ

เมื่อเข้าไปด้านใน ด้านขวามือจะมีห้องเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเทพเจ้า 108 พระองค์ (จูอุ่ยฮกซิ้ง) ครับ

และตรงกลางของตำหนักเป็นที่ประดิษฐานองค์จำลองเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ชาวจีนเรียกว่า "จู๊แซเนี้ย" รูปปั้นดูสวยงามมากๆ ครับ

บนชั้นที่สอง ก็ประดิษฐานองค์จำลองเจ้าแม่สร้อยดอกหมากด้วยเช่นกัน แต่เท่าที่ดูองค์จำลองนี้น่าจะเก่ากว่าองค์จำลองชั้นล่างครับ

ลวดลายบนบานประตู สวยงามมากๆ ครับ

ด้านข้างของตำหนักเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก มีสำเภาจีนที่แกะสลักจากหยก สวยงามมากครับ

สำหรับวัดพนัญเชิง ผมขอให้ 5 ดาว เนื่องจากองค์หลวงพ่อโตงดงาม อร่ามเรืองรอง และยังมีตำหนักเจ้าแม่สร้อยดอกหมากให้สักการะอีกด้วยครับ

จุดหมายต่อไปอยู่ที่วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร ภาษาเขียนจะอ่านว่า เสนา-สนาราม แต่ภาษาที่ชาวอยุธยาเรียกคือ วัด เส-นาสน์ ครับ

วัดเสนาสนาราม เป็นวัดโบราณ สร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดเสื่อ สำหรับจุดที่น่าสนใจอยู่ในวิหารพระอินทร์แปลงหลังนี้ครับ

วิหารด้านนอกยังดูใหม่อยู่เลยครับ แต่พอก้าวเท้าเข้ามาด้านในวิหาร ขอบอกเลยว่าเหมือนได้ย้อนยุคกลับไปยังสมัยโบราณเลย ด้วยความเก่าขององค์พระอินทร์แปลง พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์และลวดลายจิตกรรมฝาผนังซึ่งเขียนไว้ตั้งแต่สมัย ร.4 ครับ

ด้านหลังพระอินทร์แปลงมีห้องเล็กๆ ภายในห้องประดิษฐานพระพุทธรูปรวมถึงพระประจำวันเกิดครับ

ด้านหลังของวิหารพระอินทร์แปลงเป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ครับ

วิหารพระพุทธไสยาสน์สร้างขวางกับแนวพระอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระนอนศิลปะแบบอยุธยา ประกอบด้วยศิลาเป็นท่อนๆ นำมาเรียงต่อกันแล้วสลักเป็นองค์พระ เล่ากันว่าใครได้มาสักการะ ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและประสบความโชคดีครับ

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน นั่นคือพระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าทรงพยาบาลพระภิกษุอาพาธ นามว่าหลวงพ่อพระอุปถัมภ์ เล่ากันว่าใครได้มาสักการะ ถือว่าจะสัมฤทธิ์ผลทุกประการ โดยเฉพาะเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ขอลูก ขอให้มีผู้อุปถัมภ์ มีผู้ให้ความเมตตา มีความเจริญในตำแหน่งหน้าที่การงานครับ

ภายในวิหารพระนอนแห่งนี้ก็มีจิตรกรรมฝาผนังที่ไม่ได้มีลวดลายอยู่แค่ผนังวิหารเท่านั้น แต่ตรงประตูก็มีการวาดลวดลายด้วยเช่นกัน ผมไม่แน่ใจว่าเป็นลวดลายที่เขียนขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณหรือไม่ เพราะยังดูค่อนข้างใหม่ แต่ลวดลายบางจุดก็เกิดการร่อนของจิตกรรมฝาผนังเหมือนกันครับ

อีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดชมเมื่อมาที่วัดแห่งนี้ นั่นคือพระอุโบสถครับ

ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระสัมพุทธมุนี ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เพดานและท้องคานทับหลังเสาเขียนลายทองรูปดาวล้อมเดือนในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมไม้สิบสอง พื้นสีแดง ส่วนขื่อและตัวไม้เครื่องบนอื่นๆ เขียนลายทองพื้นสีคราม งดงามมากครับ

ที่ฝาผนังมีจิตกรรมฝาผนังที่เขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่น มีรองพื้น มีทัศนียวิสัย เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่องพระราชพิธี 12 เดือนครับ

ภาพหมู่มวลเทพชุมนุมลอยท่ามกลางหมู่เมฆสีขาวเป็นกลุ่มๆ หันหน้าไปทางพระประธานครับ

แต่ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นภาพนี้ เป็นภาพที่ ร.4 ผู้ทรงสถาปนาวัดแห่งนี้ทรงส่องกล้องดูสุริยุปราคาอยู่ครับ

สำหรับวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ผมให้ 5 ดาว เนื่องจากมีจุดที่น่าสนใจหลายอย่าง ทั้งในส่วนของวิหารพระอินทร์แปลง, วิหารพระพุทธไสยาสน์, พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าทรงพยาบาลพระภิกษุอาพาธ ซึ่งผมเพิ่งจะเคยปางนี้เป็นครั้งแรกที่วัดนี้ รวมถึงความงดงามของจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถครับ

จากวัดเสนาสนาราม ไปต่อกันที่วัดสามวิหาร ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนักครับ

สันนิษฐานว่าวัดสามวิหารสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เดิมชื่อว่า "วัดสามพิหาร" ต่อมาภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดสามวิหาร" เนื่องจากเดิมนั้นมี 3 วิหาร คือวิหารพระนอน วิหารพระนั่ง และวิหารพระยืน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 วิหาร คือวิหารพระนอนและวิหารพระนั่งเท่านั้น ส่วนวิหารพระยืนได้ปรักหักพังไปตามกาลเวลา

จุดที่น่าสนใจจุดแรกของวัดสามวิหารคือพระอุโบสถครับ

บริเวณพระอุโบสถจะเห็นใบเสมาหินสลักขนาดใหญ่ 17 ใบ ตั้งเรียงรายอยู่โดยรอบ โดยใบหนึ่งที่อยู่หน้าพระอุโบสถพบรอยลูกกระสุนปืนใหญ่นารายณ์สังหารของพระยารามยิงใส่จนเป็นหลุม มองเห็นได้ชัดเจนเลยครับ

ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทอง พระพุทธสุวรรณนิมิตซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3.6 เมตรครับ

ด้านหน้าพระอุโบสถมองเห็นเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา สูงประมาณ 40 เมตรครับ

ติดกับพระอุโบสถ มองเห็นศาลาทรงสูง ภายในศาลาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนิมิตพิชิตมาร มีนามว่าหลวงพ่อขาว เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4.6 เมตรครับ

และด้านในสุด ติดกับศาลาทรงสูง มองเห็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ครับ

ภายในวิหารประดิษฐานพระนอน พระพุทธรูปปูนปั้นแบบสุโขทัย อายุกว่า 600 ปี ยาว 21 เมตร ว่ากันว่าถ้าใครได้สักการะ ถือว่าจะได้ความเมตตามหานิยมครับ

สำหรับวัดสามวิหาร ผมให้ 3 ดาวครับ

จากวัดสามวิหาร ไปต่อกันที่วัดธรรมิกราช เดิมชื่อวัดมุขราช วัดแห่งนี้สร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเดียวกับวัดพนัญเชิงวรวิหาร ต่อมามีการสร้างพระวิหาร ซึ่งตามประวัติกล่าวว่าสร้างโดยพระมเหสีในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เนื่องจากทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากพระราชธิดาทรงหายจากอาการประชวรแล้ว จะสร้างวิหารพระพุทธไสยาสน์ถวายครับ

จากลานจอดรถเมื่อเดินเข้าไปในบริเวณวัด ด้านซ้ายมือจะเห็นวิหารพระพุทธไสยาสน์อยู่ด้านซ้ายมือ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรรมิกราชมหาลาภอุดม ก่ออิฐถือปูน มีความยาวประมาณ 12 เมตร กลางฝ่าพระบาททำตามคติมหาปุริสลักษณะ โดยทำเป็นรูปจักรปูนปั้นนูนออกมาจากฝ่าพระบาทตามความงามของคติช่าง ว่ากันว่าถ้าใครได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เมตตามหานิยม สุขภาพแข็งแรงครับ

ด้านขวามือเป็นที่ประดิษฐานเศียรพระพุทธรูปสำริด ลักษณะศิลปะสมัยอู่ทอง ตามที่ผมหาข้อมูลมา เศียรพระพุทธรูปนี้ยังไม่ทราบว่ามาจากไหน สร้างเมื่อไร ประทับนั่งหรือประทับยืน และเป็นเศียรพระพุทธรูปที่อยู่ในวัดธรรมิกราชแห่งนี้หรือไม่ ซึ่งยังไม่มีใครสามารถหาคำตอบเหล่านี้ได้ครับ

เจดีย์ทรงกลมที่มีปูนปั้นเป็นรูปสิงห์ล้อมรอบ หาดูได้ยากแล้วในเมืองไทย สิงห์ที่นี่นับได้ 20 ตัว บางตัวก็ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ บางตัวก็หักพังไปตามกาลเวลาที่ผ่านมากว่า 900 ปี ประติมากรรมสิงห์ปูนปั้นแบบนี้มีอีกแห่งหนึ่งที่วัดแม่นางปลื้มครับ เราจะเห็นประติมากรรมแนวๆ นี้ได้ทางภาคเหนือ เช่นสุโขทัย กำแพงเพชร แต่ลักษณะจะเป็นช้างล้อมครับ

ใกล้ๆ กับเจดีย์ทรงกลมเป็นวิหารหลวงขนาดใหญ่ โครงสร้างของวิหารไม่มีโครงเหล็ก แต่ยังมีความมั่นคงแข็งแรงมาก มีการใช้ปูนเปลือกหอยและประสานด้วยน้ำตาลอ้อย วิหารแห่งนี้เคยประดิษฐานพระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ แต่ถูกพม่าเผาทำลายเหลือเพียงพระเศียร ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาครับ

ด้านข้างของวิหารเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสีขาวบริสุทธิ์ปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นครับ

สำหรับวัดธรรมิกราช ผมให้ 4 ดาวครับ

จากนั้นไปต่อกันที่วัดหน้าพระเมรุ วัดนี้ไม่มีพระนอนนะครับ แต่เหตุที่ผมแวะมาที่วัดนี้เพราะความงดงามของพระประธานนั่นเองครับ

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดหน้าพระเมรุไม่ถูกเผาทำลาย เหตุเพราะพม่าใช้วัดนี้เป็นฐานบัญชาการ วัดแห่งนี้ยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดอยุธยาครับ

จุดที่น่าสนใจในวัดนี้คือพระอุโบสถ แต่เดิมภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนสีโบราณ แต่ภายหลังถูกฉาบด้วยปูนเลียบขาวจากการบูรณะ ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ภายนอกฉาบด้วยปูนลงลักปิดทองปางมารวิชัยทรงเครื่องพระมหากษัตราธิราชสมัยกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งที่มีพระลักษณะงดงามมาก แนะนำว่าไม่ควรพลาดที่จะมาสักการะนะครับ

ติดกับพระอุโบสถเป็นพระวิหารสรรเพชญ์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยทวารวดี พระนามว่า คันธารราฐ เป็นพระพุทธรูปศิลา (ศิลาเขียว) ประทับนั่งห้อยพระบาท ซึ่งย้ายมาจากวัดมหาธาตุในเกาะเมือง ภายในวิหารมีลายเขียนซึ่งดูเก่าแก่มากครับ

พระวิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธลีลา อายุกว่า 800 ปี สมัยลพบุรีครับ

วิหารหลวงพ่อขาวตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ มีอายุ 500 กว่าปีครับ

ด้านหน้าของวิหารหลวงพ่อขาวมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นเศียรพระถูกต้นโพธิ์ปกคลุมคล้ายๆ กับวัดมหาธาตุ แต่เศียรพระที่วัดนี้ดูจะใหม่กว่าที่วัดมหาธาตุครับ

สำหรับวัดหน้าพระเมรุ ผมให้ 5 ดาวครับ เนื่องจากความงดงามของพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ และ พระคันธารราฐ ซึ่งเราจะหาดูพระ 2 ปางนี้ได้ยากแล้ว ถือว่าคุ้มสุดๆ เลยครับ

ไปต่อกันที่วัดโลกยสุธาราม ระหว่างทางผ่านวัดวรเชษฐาราม เลยแวะสักการะกันสักนิดหน่อยครับ

วัดวรเชษฐารามเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ตามพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่าวัดแห่งนี้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพของพระนเรศวรมหาราช ภายในกำแพงวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงลังกาแบบสุโขทัย พระวิหารจำนวน 3 หลัง พระอุโบสถ และพระเจดีย์ย่อมุมขนาดเล็ก 2 องค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เชื่อกันว่าน่าจะมีการบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ภายในเจดีย์องค์ใดองค์หนึ่งภายในวัดนี้ครับ สำหรับวัดวรเชษฐาราม ผมให้ 2 ดาวครับ

ด้านหลังของวัดวรเชษฐาราม มองเห็นพระนอนแห่งวัดโลกยสุธารามครับ

ปัจจุบันวัดโลกยสุธารามหลงเหลือแค่เพียงเค้าโครงของสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ มองเห็นฐานรากของพระวิหารขนาดใหญ่ถึง 9 ห้อง พระประธานขนาดใหญ่ที่เหลือเพียงฐานด้านหลังพระอุโบสถ และยังมีพระปรางค์องค์ใหญ่สูง 30 เมตรและแนวกำแพงแก้วล้อมรอบเขตพุทธาวาส สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น แต่ต่อมาถูกเผาผลาญด้วยไฟแห่งสงครามครับ

แต่สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในสภาพสมบูรณ์เห็นจะเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง นอกระเบียงคดด้านหลังของวัด องค์พระก่ออิฐถือปูน มีความโดดเด่นตรงที่พระเศียรทำเป็นดอกบัวซ้อนกันรองรับไว้แทนพระเขนย (หมอน) พระบาทซ้อนกันเป็นมุมฉาก องค์พระมีความยาว 42 เมตร สูง 8 เมตร นิ้วพระบาทมีความยาวเท่ากัน ว่ากันว่าถ้าใครได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เมตตามหานิยมครับ

ฝั่งตรงข้ามขององค์พระ ทางจังหวัดได้จัดเป็นลานจอดรถ รวมถึงร้านค้าขายของฝากของอยุธยา ไหว้พระเสร็จแล้วสามารถหาชอปปิ้งสินค้าไปฝากคนทางบ้านได้ด้วยนะครับ

สำหรับวัดโลกยสุธารามผมให้ 3 ดาวครับ

จากนั้นเดินทางกันต่อ มุ่งหน้าสู่วัดตึก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดโลกยสุธารามเลยครับ

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่โบสถ์มหาอุตม์ ซึ่งมีทางเข้าออกเพียงด้านเดียวและไม่มีหน้าต่าง ด้านนอกมีรูปเหมือนพระบูรพาจารย์และพระสังกัจจายน์ ด้านในมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานบนฐานชุกชีที่ทรงเครื่องงดงาม รายล้อมด้วยพระพุทธรูปปางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปางประทานพร ปางห้ามสมุทร ปางมารวิชัยครับ

ตำหนักพระเจ้าเสือ ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ พระมหากษัตริย์องค์ที่ 29 แห่งกรุงศรีอยุธยาครับ

ด้านหน้าของตำหนักเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้าปางปรินิพพานครับ

สำหรับวัดตึกผมให้ 3 ดาวครับ

ไปกันต่อที่วัดพนมยงค์ หรือวัดแม่นมยงค์ วัดนี้เป็นนามของแม่นมของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นสวนหลวงของแม่นมยงค์ซึ่งเป็นคนดี สัตย์ซื่อ ขยันต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและปฏิบัติงานจนสำเร็จทุกเรื่อง จึงเป็นที่โปรดปรานขององค์พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อแม่นางนมยงค์หมดอายุขัย พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นจึงพระราชทานสวนหลวงเป็นที่ธรณีสงฆ์ และให้สร้างวัดขึ้นที่นั่นโดยให้พ้องชื่อแม่นมยงค์ เพื่อบุญกุศลจะได้ตกแก่แม่นมยงค์ครับ

ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจคือพระอุโบสถทรงเรือสำเภาขนาดกระทัดรัดทรวดทรงงดงามตามแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก แต่เป็นภาพเขียนสีในยุคใหม่นะครับ ไม่ใช่ของเก่า

และอีกจุดหนึ่งคือวิหารพระนอนองค์ใหญ่ พุทธลักษณะละม้ายไปทางสุโขทัย เพราพระสกท่านคล้ายก้นหอยขม ทำด้วยปูนปั้น ว่ากันว่าถ้าใครได้มาสักการะถือว่าจะได้เรื่องโชคลาภและหายจากการเจ็บป่วยครับ

สำหรับวัดพนมยงค์ผมให้ 2 ดาวครับ

ไปเที่ยวกันมาเยอะแล้ว เบรกหาอะไรทานกันก่อนดีกว่า มื้อนี้ขอแนะนำก๋วยเตี๋ยวผักหวานหน้าวัดสุวรรณดาราราม สามารถขับรถไปจอดไว้ที่ลานจอดรถของวัดได้เลยครับ

ภายในร้านมีพื้นที่ทั้งแบบห้องปรับอากาศ และแบบ open air มาร้อนๆ แบบนี้คงไม่ต้องคิดครับ ขอเป็นห้องแอร์จะดีกว่า

มาร้านก๋วยเตี๋ยวผักหวาน ก็คงต้องสั่งก๋วยเตี๋ยวผักหวานซิครับ ก๋วยเตี๋ยวที่นี่จะเป็นก๋วยเตี๋ยวไก่ และ ก๋วยเตี๋ยวทะเลครับ เมนูแรกขอเป็นก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีกผักหวาน รสชาติอร่อยแบบไม่ต้องปรุงครับ

ต่อด้วยก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งมะนาว รสชาติเข้มข้นแบบไม่ต้องปรุงเช่นกันครับ

แนะนำว่าไม่ควรพลาดสั่งเห็ดทอดด้วยนะ อร่อยเชียวแหล่ะ อาหารทานเล่นระหว่างรอก๋วยเตี๋ยวครับ

ผัดไทกุ้งสดใส่ผักหวาน ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่ชอบทานก๋วยเตี๋ยวน้ำนะครับ

ปิดท้ายด้วยยำผักหวาน ทางร้านจะนำผักหวานมาชุบแป้งทอด เสิร์ฟแยกน้ำยำ น้ำยำจะมีกุ้งและปลาหมึก รสชาติเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดครับ

มาร้านนี้ต้องทำใจสักนิดนะครับ อาหารอาจจะช้าสักหน่อยเพราะลูกค้าแน่นร้านมากๆ ครับ

อิ่มท้องแล้วเราไปเที่ยวกันต่อ จุดหมายต่อไปของผมอยู่ที่วัดพุทไธศวรรย์ ระหว่างทางเห็นป้ายวัดนักบุญยอแซฟ เลยขอแวะเข้าไปชมสักหน่อยครับ

วัดนักบุญยอแซฟสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงแม้จะดูไม่ใหม่เหมือนโบสถ์คริสต์ที่จันทบุรี ,ราชบุรี แต่ผมว่าในความเก่ามันมีมนต์เสน่ห์มากๆ ครับ ตัวอาคารทาด้วยสีเหลือง ตามขอบหน้าต่างทาด้วยสีขาว ตัดกับทองฟ้าสีคราม มันดูงดงามมากเลยทีเดียว

ภายในโบสถ์งดงามไม่แพ้ภายนอกเลยครับ

บริเวณด้านพระแท่นทั้งสองข้างเป็นที่บรรจุศพของพระสังฆราชปีแอร์ ลอมแบรต์ เดอ ลาม็อต และพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ครับ (ศพของทั้งสองท่านอยู่บริเวณพระแท่นใต้กระจกสี)

สำหรับวัดนักบุญยอแซฟผมให้ 3 ดาวครับ

เราใช้เวลาอยู่ที่นี่ไม่นานนักก็ออกเดินทางกันต่อสู่วัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันครับ

วัดพุทไธศวรรย์เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงวัดหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามตำนานกล่าวว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นในบริเวณพลับพลาที่ประทับเมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดนี้เป็นอีกหนึ่งวัดที่ไม่ถูกพม่าเผาทำลาย อาจเนื่องมาจากวัดนี้อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาครับ

เมื่อเข้ามาในวัดแห่งนี้ให้ความรู้สึกเหมือนพื้นที่วัดจะแบ่งเป็น 2 โซน โซนแรกเป็นโซนที่มีการบูรณะใหม่ และอีกโซนเป็นโซนที่มีโบราณสถานครับ

โซนที่มีการบูรณะใหม่จะอยู่ด้านหน้า จุดที่น่าสนใจจุดแรกคือพระอนุสาวรีย์กษัตริย์ 5 พระองค์ บริเวณนี้ท่านเจ้าอาวาสสร้างขึ้นเพื่อให้คนรุ่นหลังได้กราบไหว้สักการบูชา รำลึกถึงพระคุณของพระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้สร้างวัดพุทไธศวรรย์ (พระเจ้าอู่ทอง), พระมหากษัตริย์ผู้กู้ชาติ (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช), พระอนุชา (สมเด็จพระเอกาทศรถ), สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครับ

ด้านหลังของอนุสาวรีย์กษัตริย์ 5 พระองค์ จะพบศาลาการเปรียญซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นปูนปั้นทาด้วยสีดำ พระพักตร์รูปไข่ ศิลปะอู่ทองหรืออยุธยาตอนต้น เชื่อว่าสร้างควบคู่พร้อมกับการสร้างพระอุโบสถ ว่ากันว่าหากได้มาสักการะ จะหายเจ็บหายไข้ และช่วยดลบันดาลให้คนที่อยากมีบุตรได้บุตรสมดังปรารถนาครับ

ใกล้ๆ กับศาลาการเปรียญ เป็นที่ตั้งของตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นตำหนักที่ประทับของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ฐานอาคารมีลักษณะโค้งแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย ช่องหน้าต่างชั้นล่างโค้งยอดแหลมแบบตะวันตก ชั้นบนมีภาพจิตกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติชาดก ไตรภูมิ และภาพตำนานสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ไปนมัสการพระพุทธบาทที่ลังกาทวีป ปัจจุบันภาพจิตรกรรมค่อนข้างเลือนหายไปเยอะแล้วครับ

เดินถัดมาอีกนิดเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ พระอุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะแล้ว ภายนอกล้อมรอบด้วยเสมาหินชนวนคู่ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานปูนปั้นรูปบัวกลุ่ม ส่วนล่างเป็นฐานสิงห์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาทั้งสามองค์ครับ

สำหรับโซนโบราณสถาน สามารถมองเห็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่ รวมถึงเจดีย์ราย ได้จากภายนอกครับ

เมื่อเดินเข้ามาในเขตโบราณสถาน บริเวณรอบปรางค์ประธานล้อมรอบด้วยระเบียงคต ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นตลอดแนวครับ

ปรางค์ประธาน ออกแบบตามศิลปะขอม ตั้งอยู่กึ่งกลางของเขตพุทธาวาส บริเวณข้างปรางค์ประธานมีมณฑป 2 หลัง คือ มณฑปพระปลัดซ้ายและขวาครับ

ภายในมณฑปพระปลัดประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ผมว่าให้อารมณ์เหมือนวิหารมนูหะ แห่งเมืองพุกามในพม่าเลยครับ เหมือนตรงไหนนั่นเหรอ ผมว่าเหมือนตรงที่ในวิหารมนูหะจะมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ใหญ่จนคับวิหาร จนชาวพม่าเรียกขานกันว่า "พระอึดอัด" ซึ่งพระพุทธรูปภายในมณฑปพระปลัดนี้เองก็ใหญ่เต็มวิหารเช่นกัน เพียงแต่จะมีขนาดเล็กกว่าพระอึดอัดอยู่พอสมควร

ภายนอกระเบียงคต มองเห็นเจดีย์รายองค์ใหญ่ครับ

มองย้อนกลับไปเห็นปรางค์ประธานครับ

ด้านข้างปรางค์ประธานเป็นที่ตั้งของพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ผนังของวิหารบางส่วนได้ชำรุดไป ส่วนโครงหลังคาไม่มีหลงเหลือให้เห็นแล้วครับ ภายในวิหารประดิษฐานพระนอนศิลปะอยุธยาตอนต้น มีพุทธลักษณะพิเศษแตกต่างจากพระนอนที่วัดอื่นๆ คือ มีการวางพระบาทเหลื่อม อันเป็นลักษณะเบื้องต้นของการคลี่คลายพุทธลักษณะให้คล้ายคนธรรมดา พระพาหาและพระกรที่พับวางราบด้านหน้าในลักษณะหงายพระหัตถ์เพื่อรองรับพระเศียรนั้นเป็นรูปแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี อู่ทอง แตกต่างจากพระนอนในอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่พบในเขตเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งมักจะตั้งพระกรขึ้นและหงายพระหัตถ์รองรับพระเศียรบนพระเขนย ว่ากันว่าถ้าใครได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องเมตตามหานิยม ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานครับ

สำหรับวัดพุทไธศวรรย์ผมให้ 4 ดาวครับ

จากวัดพุทไธศวรรย์ ผมมุ่งหน้าสู่วัดบางปลาหมอ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางบาลครับ

วัดบางปลาหมอเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 กลายเป็นวัดร้างไป ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลวงปู่สุ่น เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดในยุครัตนโกสินทร์ได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ ถวายนามว่า "พระไสยาสน์มงคลสรรเพชญ" แต่เดิมพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำน้อย ถึงหน้าน้ำก็มักจะถูกน้ำท่วมเกือบทุกปี จนกระทั่งหลวงพ่อวัดปากน้ำวัดภาษีเจริญ ได้มาเห็นสภาพ ท่านจึงเป็นผู้นำชาวบ้านให้ช่วยกันชะลอพระนอนจากริมแม่น้ำขึ้นมายังที่ประดิษฐานปัจจุบัน


การย้ายครั้งนั้นองค์พระไสยาสน์เกิดเสียหาย ทำให้ได้ทราบว่าโครงสร้างภายในทำด้วยโอ่งจำนวนหลายสิบใบนำมาเรียงกัน เมื่อเคลื่อนย้ายโอ่งจึงแตกรักษาไว้ได้เพียงพระเศียร และพระกร ส่วนอื่นต้องก่ออิฐถือปูนขึ้นรูปใหม่ แล้วบุด้วยทองเหลืองเช่นที่เห็นทุกวันนี้ ว่ากันว่า ถ้าได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องความโชคดีเป็นสิริมงคล ทำการค้าร่ำรวยครับ

ขอบอกก่อนเลยว่า เมื่อผมขับรถเข้ามาถึงวัดนี้แอบนึกหวั่นใจอยู่เล็กน้อย เพราะสภาพวัดค่อนข้างร่มครึ้มเสียจนน่ากลัว ดูเหมือนวัดไม่ค่อยได้รับการดูแลรักษาสักเท่าไร อีกทั้งยังมีวัยรุ่นที่ดูท่าทางไม่ค่อยน่าไว้วางใจจับกลุ่มอยู่ นับเป็นวัดแรกที่ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยจะปลอดภัยสักเท่าไร แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่มีอะไรก็ได้นะครับ มันเป็นเพียงความรู้สึกที่ผมได้สัมผัสมาเท่านั้น

สำหรับวัดบางปลาหมอ ผมขอให้ 1 ดาวครับ เนื่องจากจุดที่น่าสนใจเห็นจะมีพระนอนเพียงจุดเดียว อีกทั้งบรรยากาศรอบๆ วัดดูไม่ค่อยปลอดภัยครับ

จากวัดบางปลาหมอ ผมไปต่อที่วัดพิกุลโสคันธ์ ซึ่งอยู่ในอำเภอบางบาลเช่นเดียวกันครับ

วัดพิกุลโสคันธ์ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา เล่ากันว่าวัดพิกุลไม่เคยเป็นวัดร้างเลย แม้สมัยที่กรุงศรีอยุธยาแตกก็ตาม วัดแห่งนี้เฟื่องฟูในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก

ตอนที่ผมไป พระอุโบสถปิดแล้ว แต่ด้านหลังอุโบสถมีวิหารเล็กๆ ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่หลายองค์ครับ

ส่วนด้านข้างของพระอุโบสถจะเป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์ครับ

หลวงพ่อปั้น เจ้าอาวาสในสมัยนั้น ท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก ท่านได้สร้างพระพุทธไสยาสน์องค์นี้เมื่อ พ.ศ. 2453 และถวายพระนามว่า พระโสคันธ์ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า หลวงพ่อโส เป็นพระนอนขนาดใหญ่ มีความยาว 20 วา กว้าง 4 วา สูง 4 วา ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด 3 ปี แล้วเสร็จในปี 2456 ชาวบ้านเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ ว่ากันว่า ถ้าได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องความโชคดีและประสบผลสำเร็จสมหวังในเรื่องต่าง ๆ ครับ

สำหรับวัดพิกุลโสคันธ์ ผมให้ 2 ดาวครับ

จากอำเภอบางบาล จุดหมายต่อไปของผมอยู่ที่อำเภอท่าเรือ แต่ระหว่างทางขอแวะเที่ยวชมปราสาทนครหลวง ที่อำเภอนครหลวงซะหน่อย เพราะผมได้ยินชื่อปราสาทนครหลวงมานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้แวะสักที

ปราสาทนครหลวง อยู่ในพื้นที่ของวัดนครหลวงโดยมีถนนเป็นเส้นแบ่งพื้นที่ระหว่างวัดนครหลวงและปราสาทนครหลวง นักท่องเที่ยวสามารถนำรถไปจอดไว้ภายในวัดนครหลวงได้ครับ

จากวัดนครหลวง เมื่อเดินข้ามถนนมายังปราสาทนครหลวงแล้ว ให้ความรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับเข้าไปในอดีต สิ่งแวดล้อมรอบตัวมันดูเหมือนขาดการดูแล แถมบรรยากาศมันช่างเงียบมากๆ มากเสียจนรู้สึกวังเวง เมื่อเดินได้เข้าไปสักพักด้านซ้ายมือจะพบวิหารเล็กๆ ตั้งอยู่บนเนินดิน มองเห็นได้อย่างเด่นชัด วิหารที่เห็นคือวิหารพระจันทร์ลอย

ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปหลายองค์ รวมถึงศิลาโกลนเป็นวงกลม ที่มีชื่อเรียกว่า "พระจันทร์ลอย" มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร หนา 30 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าสร้างเป็นพระธรรมจักร แต่ยังสร้างไม่เสร็จ ตามคำบอกเล่าว่าลอยมาจากทางเหนือของแม่น้ำป่าสักถึงวัดนครหลวง อาจารย์วัดเทพจันทร์ได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดเทพจันทร์ ต่อมาพระครูวิหารกิจจานุการ ได้สร้างพระวิหารขึ้นและนำพระจันทร์ลอยมาประดิษฐานไว้ที่วัดนครหลวง ตั้งแต่ พ.ศ.2442 มาจนถึงทุกวันนี้

จากวิหารพระจันทร์ลอย เดินต่อไปอีกนิดหนึ่ง ทางขวามือจะเป็นพระอุโบสถ แต่วันที่ผมไปพระอุโบสถปิด จึงได้ชมแต่เพียงด้านนอกครับ

เมื่อเดินต่อมาอีกสักนิด จะมองเห็นปราสาทขนาดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางพื้นที่ ความรู้สึกตอนนั้นบอกได้เลยว่าทึ่งมากๆ ไม่คิดว่าปราสาทนครหลวงที่ผมเคยได้ยินแต่ชื่อ จะมีสิ่งที่น่าสนใจขนาดนี้ครับ

ปราสาทนครหลวง สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยทรงโปรดให้ช่างไปถ่ายแบบมาจากปราสาทเมืองพระนครหลวง ประเทศกัมพูชา แต่ก็สร้างไม่แล้วเสร็จ ต่อมาราวปี พ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่น ได้สร้างวัดนครหลวงขึ้นโดยเอาปราสาทนครหลวง เข้าไปไว้ในเขตของวัดด้วย และมีการสร้างพระพุทธบาทสี่รอย ประดิษฐานไว้บนลานชั้นบนของปราสาท ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนาครับ

ปราสาทนครหลวง มีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นที่ 2 เป็นซุ้มระเบียงล้อมรอบ โดยในแต่ละด้านของซุ้มระเบียง ก็จะมีปรางค์ประจำทิศทั้งสี่มุม รวมถึงบริเวณกึ่งกลางซุ้มระเบียงก็จะมีปรางค์ด้วยเช่นกัน ภายในปรางค์เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปนั่งหันหน้าเข้าหากัน แต่บางปรางค์ก็ไม่หลงเหลือพระพุทธรูปแล้วครับ

ด้านบนสุดขององค์ปราสาทเป็นมณฑปสีเหลือง ด้านในประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย ตาปะขาวปิ่นได้สร้างขึ้นในคราวเดียวกับวัดนครหลวง รอยพระพุทธบาทมีลักษณะซ้อนกันสี่รอย ลึกลงไปในเนื้อหินครับ

โดยรอบของมณฑปก็จะมีลักษณะคล้ายระเบียงคต ประดิษฐานพระพุทธรูปมากมายครับ

ถือว่าไม่ผิดหวังเลยจริงๆ ที่ตั้งใจแวะมาชมประสาทนครหลวงแห่งนี้ครับ

สำหรับปราสาทนครหลวง ผมให้ 4 ดาวครับ

จากปราสาทนครหลวง ผมตรงเข้าสู่อำเภอท่าเรือ จุดหมายแรกคือวัดไม้รวกครับ

วัดไม้รวก หรือที่ชาวบ้านแถวนั้นรู้จักกันในชื่อ วัดรวก สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการบูรณะขึ้นอีกครั้งในรัชกาลที่ 3 ดูจากภายนอกแล้ว วัดนี้ดูเก่าแก่และขลังมากๆ ครับ

ภายในวิหารหลังเก่ามีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยครับ แต่วันที่ผมไปวิหารปิดเลยไม่ได้เข้าชมครับ

ฝั่งตรงข้ามของวิหารหลังเก่า มีพระนอนประดิษฐานอยู่ในเขตกำแพงแก้ว องค์พระมีความยาว 7 เมตร ว่ากันว่าถ้าได้มาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องความเมตตามหานิยม ความโชคดี สุขภาพแข็งแรงครับ

สำหรับวัดไม้รวก ผมให้ 2 ดาวครับ

ผมมาปิดทริปตะเวนไหว้พระ (นอน) ที่วัดสะตือ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอท่าเรือเช่นเดียวกันครับ

วัดสะตือ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมชื่อวัดท่างาม ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสะตือ เพราะมีสะตือต้นใหญ่ขึ้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตรงหน้าวัด

ภายในวัดประดิษฐาน หลวงพ่อโต พระนอนองค์ใหญ่กลางแจ้ง สร้างโดยสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี องค์พระก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน เท่าที่ผมตะเวนมา 10 กว่าวัด เห็นเลยว่ามีญาติโยมแห่มากราบไหว้บูชาองค์หลวงพ่อโตกันเป็นจำนวนมาก ผู้ที่เคยขอพรไปแล้วได้สมดังใจก็มักกลับมาแก้บนด้วยขนมจีน แล้วทำไมต้องเป็นขนมจีน เชื่อกันว่าในช่วงระหว่างที่มีการสร้างพระนอนองค์นี้ มักจะมีการทำขนมจีนเลี้ยงบรรดาคนงานนั่นเองครับ ว่ากันว่า ถ้าใครมาสักการะ ถือว่าจะได้เรื่องแคล้วคลาดจากความชั่วร้าย และขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากตน พร้อมรับเมตตามหานิยมครับ

ภายในโบสถ์มหาอุตม์ ซึ่งอยู่ติดกับองค์หลวงพ่อโต เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปมากมาย รวมถึงพระเกตุเก่าของหลวงพ่อโตด้วย ถ้าหากมาสักการะหลวงพ่อโตแล้ว อย่าลืมมาชมพระเกตุเก่าของหลวงพ่อโตให้เป็นบุญตาด้วยนะครับ

ขอบอกเลยว่าคนแวะมาไหว้หลวงพ่อโตที่วัดสะตือกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีปัญหาเรื่องที่จอดรถ แต่ด้านหน้าวัดจะมีที่จอดรถของเอกชนไว้คอยบริการ และตลอดสองข้างทางจากลานจอดรถจนถึงบริเวณวิหารของวัดเต็มไปด้วยร้านค้าที่มาออกนัด เพิ่มบรรยากาศคึกคักให้กับวัดเป็นอย่างมาก เมื่อไหว้พระเสร็จแล้ว อย่าลืมหาซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านด้วยนะครับ

สำหรับวัดสะตือ ผมให้ 3 ดาวครับ

ผมไม่รู้ว่า "บุญ" หน้าตาเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าทำบุญแล้วจะได้บุญเลยไหม สำหรับการเดินทางตามเส้นทางสายธรรมของผมในครั้งนี้ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไปตามวัดต่างๆ มากมาย แต่สิ่งที่ผมได้กลับมาหลังจากจบทริปนี้คือ ผมรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจที่ได้ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราชาวพุทธเลื่อมใสศรัทธามาช้านาน หากใครมีเวลา ลองมาเที่ยวอยุธยา มาสัมผัสดินแดนแห่งพุทธธรรม ผมเชื่อว่าทุกคนจะอิ่มบุญ อุ่นใจ เช่นเดียวกับผมอย่าง แน่นอนครับ

ปล.เข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ

ลุงเสื้อเขียว

 วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559 เวลา 22.21 น.

ความคิดเห็น