ทริปเที่ยวชมจังหวัดสุโขทัยเป็นทริปที่เราใฝ่ฝันมานานมากว่าครั้งหนึ่งเราจะต้องมาเที่ยวจังหวัดแห่งนี้ให้ได้ เนื่องจากเราชื่นชอบในการเที่ยวชมเมืองเก่า ๆ ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย ประกอบกับต้องการตามรอยละครเรื่อง “ขุนเดช” ที่เคยออกอากาศทางช่อง 7 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือในปี พ.ศ.2555 ซึ่งละครเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเรื่อง “ขุนเดช” ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “จิระเดช ไวยโกสิทธิ์” ผู้พิทักษ์โบราณวัตถุ-โบราณสถานและมีคุณูปการแก่วงการประวัติศาสตร์และโบราณคดี จนนำเรื่องราวและบุคลิกของท่านมาปั้นแต่งกลายเป็นตัวละครให้โลดแล่นทั้งในแวดวงวรรณกรรม, ละครโทรทัศน์ และละครเวที เรียกได้ว่าละครเรื่องนี้เป็นละครที่เราประทับใจมากที่สุดจนต้องตามรอยเลยทีเดียว อารัมภบทมาเยอะแล้ว เรามาเที่ยวไปพร้อม ๆ กันดีกว่าจ้า!


วันแรก


ก่อนที่เราจะเดินทางไปยังจังหวัดสุโขทัย ก็แวะชมนกที่ “สวนนกชัยนาท” ที่จังหวัดชัยนาทกันก่อน ซึ่งสวนนกชัยนาทเป็นแหล่งเรียนรู้และจัดแสดงพันธุ์นกนานาชนิดที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท โดยภายในสวนนกแห่งนี้มีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โตมาก ที่สำคัญยังมีกรงนกขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียที่จำลองบรรยากาศใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด แต่ด้วยความที่เรามีเวลาไม่มากนักจึงเดินชมนกแค่บริเวณรอบ ๆ สวนหย่อมค่ะ

หลังจากชมนกต่าง ๆ ที่สวนนกชัยนาทเสร็จแล้วก็เดินทางต่อไปยังจังหวัดสุโขทัย เพื่อเช็กอินโรงแรมที่พักก่อนไปกินอาหารเย็นบริเวณใกล้โรงแรมที่พัก และกลับมาอาบน้ำ-นอน ด้วยที่ว่าพรุ่งนี้เช้าจะได้ทำบุญตักบาตรบริเวณสะพานบุญของวัดตระพังทองค่ะ


วันที่ 2


รุ่งเช้า เราตื่นตี 5 เพื่อรีบมาทำบุญตักบาตรให้ทันช่วง 6 โมงเช้าที่สะพานบุญของวัดตระพังทอง เป็นการสร้างสิริมงคลให้กับตนเองค่ะ

สะพานบุญแห่งนี้เป็นสะพานไม้ที่ทอดยาวข้ามผืนน้ำในตระพังหรือสระน้ำขนาดใหญ่ เพื่อไปยังเกาะกลางของวัดตระพังทอง ซึ่งในช่วงเช้าของทุก ๆ วันจะมีการทำบุญตักบาตรตลอดแนวสะพานแห่งนี้ สำหรับนักท่องเที่ยวคนไหนที่ต้องการทำบุญตักบาตร เราขอแนะนำให้ไปถึงบริเวณสะพานประมาณ 6 โมงเช้าค่ะ

จากนั้นก็เดินทางไปเที่ยวชม “วัดศรีชุม” กันต่อ ซึ่งวัดศรีชุมเป็นวัดไทยสุด Unseen ของจังหวัดสุโขทัยที่เวลามาเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยแล้วจะต้องห้ามพลาดเลยทีเดียว เพราะมี “พระพุทธอวจนะ” หรือ “พระพุทธรูปพูดได้” ที่เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ตั้งประดิษฐานอยู่ภายในมณฑป และเหตุที่ถือว่าเป็นพระพุทธรูปพูดได้ก็เนื่องจากบริเวณด้านหลังของพระพุทธอวจนะมีอุโมงค์ลับให้ขึ้นไปด้วยนั่นเอง โดยมีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้กุศโลบายด้วยการให้คนขึ้นไปพูดด้านหลังพระพุทธรูปเพื่อปลุกขวัญและสร้างกำลังใจให้แก่ทหารก่อนไปออกรบ นอกจากนั้นวัดแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาอีกด้วยค่ะ

ชมวัดศรีชุมที่อยู่ด้านนอกของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยกันไปแล้ว เราก็เข้าไปด้านในของอุทยานฯ กันค่ะ แต่เพราะวันที่เราไปเที่ยวชมนั้นเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ ๑๐ จึงได้เข้าชมฟรีนั่นเอง ด้วยความที่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมีพื้นที่กว้างขวางมาก จึงนั่งรถรางเข้าเที่ยวชม ซึ่งรถรางจะมีจุดจอดรถทั้งหมด 10 จุดด้วยกัน โดยเราสามารถขึ้นลงตามจุดที่กำหนดได้จนถึงปลายทาง

ตอนเช้าเรานั่งรถรางเพื่อชมบรรยากาศและสถานที่สำคัญ ๆ บริเวณรอบ ๆ อุทยานสักรอบหนึ่ง ก่อนลงตรงจุดจอดรถในบริเวณ “พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ที่ตั้งอยู่ริมถนนจรดวิถีถ่องทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ซึ่งพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2518 เพื่อใช้ประดิษฐานพระบรมรูปของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ สูง 3 เมตร ประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชนและมีพานวางพระขรรค์ ไว้ข้าง ๆ บนพระแท่นด้านซ้าย พระพักตร์ของพระบรมรูปถ่ายทอดความรู้สึกที่แสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัยที่เมตตากรุณา ยุติธรรม และเฉียบขาดในการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของพระองค์ค่ะ

เยื้อง ๆ ไปทางด้านหลังของพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวามีภาพแผ่นจารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ในสมัยนั้นตามที่อ้างถึงในจารึกสุโขทัยอีกด้วยค่ะ

นอกจากนั้นบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ทางด้านหน้ายังมี “กระดิ่งพ่อขุน” ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2529 ซึ่งจำลองแบบตามกระดิ่งที่ขุดได้จากฐานพระเจดีย์กลางเมืองสุโขทัย เพื่อน้อมถวายเป็นราชสักการะและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความรักอันศักดิ์สิทธิ์และความยุติธรรมต่อไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน โดยกระดิ่งพ่อขุนถือว่าเป็นกระดิ่งแห่งความสุขและมีความหมายว่าเมืองไทยจะร่มเย็นเป็นสุขตลอดไปค่ะ

เดินมาเรื่อย ๆ ก็มาถึง “วัดชนะสงคราม” ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุและใกล้กับโบราณสถาน “หลักเมือง” ซึ่งภายในวัดมีเจดีย์ประธานที่เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ขนาบข้างด้วยเจดีย์ทรงวิมานทั้งสององค์ โดยเจดีย์ทรงวิมานเป็นเจดีย์รายที่มีหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ตามด้วยโบสถ์ วิหาร และเจดีย์รายต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีสระบัวรายล้อมวัดอีกด้วยค่ะ

รูปนี้ที่พี่ถ่าย ^^

เดินมาอีกนิดก็ถึง “วัดมหาธาตุ” ที่ตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัย มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งวัดมหาธาตุเป็นวัดใหญ่ที่สำคัญมากที่สุด เปรียบได้กับวัดหลวงประจำเมืองสุโขทัยเลยทีเดียว สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนต้น โดยภายในวัดมีโบราณสถานมากมาย ประกอบด้วยเจดีย์ประธาน, วิหาร, มณฑป, อุโบสถหรือโบสถ์ และเจดีย์รายจำนวนมากถึง 200 องค์ค่ะ

เจดีย์ประธานของวัดมหาธาตุนั้นสันนิษฐานว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีลักษณะเป็น “เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์” หรือ “ทรงดอกบัวตูม” ที่เป็นรูปแบบเจดีย์อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปะสุโขทัย ล้อมรอบด้วยเจดีย์บริวารจำนวน 8 องค์บนฐานเดียวกัน ได้แก่ เจดีย์ประจำด้าน (ทิศ) ทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมและมีลวดลายปูนปั้นแบบศิลปะลังกา ส่วนเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพุกาม-หริภุญไชย-ล้านนา สันนิษฐานว่าภายในเป็นที่บรรจุอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไทค่ะ

เมื่อเดินมาทางด้านเหนือและด้านใต้ของเจดีย์ประธานมี “พระอัฎฐารศ” ที่เป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่สูง 18 ศอกประดิษฐานภายในมณฑปขนาบอยู่ทั้งสองข้างค่ะ

ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ค่ะ นอกจากนั้นยังมี “วิหารพระศรีศากยมุนี” หรือ “วิหารหลวง” เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นภายในวัดมหาธาตุที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน ซึ่งวิหารหลวงนั้นก่อด้วยศิลาแลง ภายในเป็นที่ประดิษฐานของ “พระศรีศากยมุนี” พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่มีพระพักตร์อมยิ้ม พระวรกายอวบอิ่ม ดูอิ่มบุญเปี่ยมศรัทธา ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในไทย แต่ปัจจุบันได้มีการอัญเชิญย้ายไปประดิษฐานที่ “วัดสุทัศน์เทพวราราม” ในกรุงเทพฯ แทนค่ะ

ด้วยความที่ช่วงเช้ามีเวลาไม่มากนักจึงเข้าชมสถานที่สำคัญในอุทยานฯ เพียงไม่กี่แห่ง เนื่องจากต้องแวะไปกินอาหารเช้าที่ร้านก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยเจ๊แฮ และเดินทางต่อไปยัง “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย” ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำละคร “ขุนเดช” อีกแห่งหนึ่งค่ะ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ในตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งภายในอุทยานประวัติศาสตร์มีโบราณสถานและโบราณวัตถุทั้งหมด 215 แห่ง แต่สำรวจค้นพบแล้ว 204 แห่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยได้รับการยกย่องจากองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก เช่นเดียวกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยภายในพื้นที่มีโบราณสถานที่สำคัญ เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง, วัดช้างล้อม, วัดนางพญา, วัดเจดีย์เจ็ดแถว, วัดเขาพนมเพลิง, พิพิธภัณฑ์วัดชมชื่น และเตาสังคโลกค่ะ

เมื่อเดินทางมาถึงแล้ว เราก็เดินเข้ามาข้างในเพื่อนั่งรถรางชมบรรยากาศและโบราณสถานที่สำคัญ ๆ ภายในอุทยานฯ ค่ะ หรือถ้าต้องการขี่จักรยานเที่ยวชมอุทยานฯ เองก็สามารถเช่าขี่ได้เลย โดยวัดแห่งแรกที่เข้าชมก็คือ “วัดช้างล้อม” ค่ะ

“วัดช้างล้อม” เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยหรือราว ๆ พุทธศตวรรษที่ 19 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ.1828 ใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 9 ปี โดยวัดช้างล้อมมีเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานประทักษิณสูง ส่วนรอบ ๆ ฐานประทักษิณมีรูปปั้นช้างทั้งหมด 39 เชือกประดับอยู่โดยรอบ และบนฐานทักษิณมีซุ้มจระนำ (ซุ้มท้ายโบสถ์ / ท้ายวิหาร) ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 20 ซุ้มค่ะ

ชมวัดช้างล้อมแล้วก็เดินมาฝั่งตรงข้ามเพื่อชม “วัดเจดีย์เจ็ดแถว” ค่ะ ซึ่งวัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นวัดที่สวยงามกว่าวัดแห่งอื่นในจังหวัดสุโขทัยเลยทีเดียว เนื่องจากมีเจดีย์รูปแบบต่าง ๆ กันมากมายที่เป็นทั้งศิลปะแบบสุโขทัยแท้กับศิลปะแบบศรีวิชัยผสมสุโขทัย โดยภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ “เจดีย์ประธาน” เป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมอยู่ด้านหลังพระวิหาร และมีเจดีย์รายทรงต่าง ๆ มากถึง 33 องค์วางตัวอย่างมีระเบียบแบบแผนตามคติจักรวาลล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วอีกชั้นหนึ่ง นอกกำแพงมีโบสถ์และบ่อน้ำ ทางด้านหลังของเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือ ฐานเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้น มีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า เหล่าเทวดา และกษัตริย์ ส่วนซุ้มจระนำด้านหลังของเรือนธาตุทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ทั้งนี้สาเหตุที่เรียกว่า “วัดเจดีย์เจ็ดแถว” เพราะได้ค้นพบเจดีย์จำนวนหลายแถวภายในวัด และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้อาจเป็นสุสานหลวงหรือสถานที่บรรจุพระอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์สุโขทัยอีกด้วยค่ะ

สถาปัตยกรรมเจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวนั้น ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะของลังกาและพุกาม ซึ่งเจดีย์ต่าง ๆ ภายในวัดจะแบ่งลักษณะออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ “เจดีย์ทรงดอกบัวตูม” ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัย, “เจดีย์ทรงปราสาท” เป็นเจดีย์ที่มีเรือนชั้นหรือชั้นหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป และ “เจดีย์ทรงระฆัง” ที่มักมีวงแหวนหรือลวดบัวประดับอยู่ใต้องค์ระฆังค่ะ

หลังจากชมวัดเจดีย์เจ็ดแถวแล้ว เราก็เดินมาชม “วัดนางพญา” ที่ตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของเมืองศรีสัชนาลัย หรือแนวเดียวกับวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ ซึ่งวัดนางพญาเป็นวัดขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 โดยภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญได้แก่ “วิหารประธาน” เป็นวิหารขนาด 7 ห้องก่อด้วยศิลาแลง ผนังทึบเจาะช่องแสงเป็นลูกกรงสี่เหลี่ยม ผิวปูนฉาบด้านนอกของวิหารประดับลายปูนปั้นที่วิจิตรงดงาม ส่วนเสาวิหารทุกด้านมีเทพนมและลวดลายต่าง ๆ ทำด้วยสังคโลกไม้เคลือบ และหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา และ “เจดีย์ประธาน” เป็นเจดีย์ทรงระฆังอยู่บนฐานประทักษิณที่แต่เดิมมีช้างปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบเช่นเดียวกับวัดช้างล้อม ส่วนบริเวณองค์ระฆังมีซุ้มจระนํายื่นออกมาทั้งสี่ทิศค่ะ

เสียดายที่ในวันที่เราไป คนค่อนข้างเยอะพอสมควร ทำให้ชมได้ไม่ครบทุกที่ โดยเฉพาะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง หากมีโอกาสจะไปเที่ยวอีกแน่นอน หลังจากเที่ยวชมวัดนางพญาเสร็จ เราก็เดินออกมานั่งรถเพื่อไปกินอาหารกลางวันที่ร้านโกเฮง ซึ่งจริง ๆ เราสั่งอาหารมาหลายอย่าง แต่ว่าถ่ายรูปมาแค่อย่างเดียวค่ะ 5555

พอกินอาหารกลางวันเสร็จก็แวะไปยังอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อขี่จักรยานชมวิว และเที่ยวชมสถานที่สำคัญรอบ ๆ อุทยานฯ ต่อจากช่วงเช้า ซึ่งบรรยากาศโดยรอบร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ที่สำคัญที่นี่ไม่อนุญาตให้นำรถส่วนตัวเข้ามาภายในอุทยานฯ ทำให้ขี่รถจักรยานได้อย่างชิลล์ ๆ สบาย ๆ ค่ะ

จริง ๆ เราขี่จักรยานเที่ยวชมและถ่ายรูปสถานที่ต่าง ๆ ภายในอุทยานฯ หลายแห่งเหมือนกัน แต่ก็จำไม่ค่อยได้ว่ามีสถานที่ไหนกันบ้าง เนื่องจากไปเที่ยวในช่วงปี พ.ศ.2561 อีกอย่างแต่ละสถานที่ก็มีความคล้ายกัน อาจทำให้บอกสถานที่ไม่ค่อยชัดเจนนัก ^^” เราขี่จักรยานชมวิวไปเรื่อย ๆ จนได้มาหยุดอยู่ที่ “วัดตระพังเงิน” ค่ะ

“วัดตระพังเงิน” เป็นวัดที่อยู่ใกล้กับวัดมหาธาตุ ข้างบริเวณสระน้ำที่ใช้เป็นขอบเขตของวัดแทนกำแพงเมือง ซึ่งภายในวัดมีโบราณสถานสำคัญประกอบด้วย “เจดีย์ประธาน” ที่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัวตูม) ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร โดยมีลักษณะเด่นกว่าวัดแห่งอื่นตรงที่บริเวณเรือนธาตุมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนประดิษฐานทั้งสี่ทิศ, “พระวิหาร” มีขนาด 7 ห้อง ก่อด้วยอิฐและบริเวณเสาก่อด้วยศิลาแลง มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยตั้งประดิษฐานอยู่ภายใน ส่วน “พระอุโบสถ” ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระวิหารบนเกาะขนาดเล็กที่ล้อมรอบด้วยน้ำของสระตระพัง อันเป็นที่ตั้งบริสุทธิ์ของเขตสังฆาวาสค่ะ

ชมวัดตระพังเงินเสร็จแล้วก็ขี่จักรยานเพื่อแวะเข้าไปชม “วัดศรีสวาย” ค่ะ

“วัดศรีสวาย” เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดมหาธาตุและอยู่ใกล้กับกำแพงเมืองสุโขทัยทางทิศใต้ มีโบราณสถานสำคัญประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ที่มีรูปแบบศิลปะลพบุรี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอม เพียงแต่ปรางค์มีลักษณะค่อนข้างเพรียวตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ มีลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน อีกทั้งได้พบทับหลังสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์, ชิ้นส่วนของเทวรูป และศิวลึงค์ ส่วนทางด้านหลังขององค์ปรางค์มีวิหาร 2 หลังที่เชื่อมต่อกัน โดยโบราณสถานทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงค่ะ

เราขี่จักรยานเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจนเหนื่อยแล้วก็ถึงเวลาอาหารเย็นพอดีก็นั่งรถไปกินอาหารเย็นใกล้กับที่พัก และเตรียมตัวนอน เพราะพรุ่งนี้เช้าต้องเตรียมตัวเดินทางกลับกรุงเทพฯ ค่ะ


วันที่ 3


รุ่งเช้าหลังจากกินอาหารเช้าเสร็จ เราก็เช็กเอาท์ออกจากที่พักเพื่อกลับกรุงเทพฯ แต่ระหว่างทางก็ผ่าน “อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” พอดี เราก็แวะเที่ยวชมอีกสักหน่อยค่ะ ไหน ๆ ก็มาถึงแล้วอ่ะเนอะ ^^

“อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ซึ่งแบ่งเขตพื้นที่อุทยานออกเป็น 2 เขตด้วยกันคือ “เขตภายในกำแพงเมือง” กับ “เขตนอกกำแพงเมือง / เขตอรัญญิก” โดยเขตภายในกำแพงเมืองมีพื้นที่ 503 ไร่ ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญได้แก่ วัดพระแก้ว, วัดพระธาตุ, เขตวังโบราณ (สระมน), ศาลพระอิศวร, กำแพงเมือง, คูเมือง และป้อมปราการต่าง ๆ ส่วนเขตนอกกำแพงเมืองตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรังขนาดย่อม มีพื้นที่ 1,611 ไร่ ประกอบด้วยโบราณสถานที่เป็นวัดขนาดใหญ่น้อยรวม 40 แห่ง แต่วัดสำคัญคือวัดพระนอน, วัดพระสี่อิริยาบถ และวัดช้างรอบ ด้วยความที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นอย่างการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้าง, รูปแบบทางศิลปกรรมเป็นของแท้ดั้งเดิมที่แสดงถึงฝีมือและความเชื่อของบรรพชนในอดีต และโบราณสถานรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณป่าธรรมชาติที่ยังคงบรรยากาศพุทธศาสนสถานเขตอรัญวาสีดังเช่นในอดีต ทำให้องค์การ UNESCO ประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2534 ค่ะ

ด้วยความที่มีเวลาเที่ยวชมค่อนข้างน้อย บวกกับเกรงว่าจะกลับบ้านดึกเกินไปเลยเดินเที่ยวชมแค่บริเวณเขตภายในกำแพงเมืองเท่านั้น ซึ่งวัดแห่งแรกที่เราเที่ยวชมก็คือ “วัดพระแก้ว” ค่ะ

“วัดพระแก้ว” เป็นพระอารามหลวงขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางเมืองเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาส ไม่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ โดยสิ่งก่อสร้างภายในวัดเรียงเป็นแนวยาวตามแกนตะวันออก-ตะวันตกขนานกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีขนาดใหญ่ บนฐานมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปประธาน ถัดมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ฐานมีสิงห์ล้อมรอบจำนวน 32 ตัว วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ และตอนท้ายสุดเป็นเจดีย์ทรงระฆังประดับช้างปูนปั้นที่ฐานโดยรอบจำนวน 32 เชือกค่ะ

หลังจากชมวัดพระแก้วแล้วก็เดินมาชม “วัดพระธาตุ” กันต่อ ซึ่งวัดพระธาตุตั้งอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของวัดพระแก้ว โดยเจดีย์ประธานภายในวัดเป็นแบบเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังสูงใหญ่ก่อด้วยอิฐ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมที่ซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้น ส่วนองค์ระฆังค่อนข้างเล็กเป็นรูปแบบเฉพาะของเมืองกำแพงเพชร ด้านหน้าเจดีย์ประธานเป็นฐานวิหารศิลาแลง และมีเจดีย์รายอยู่บริเวณด้านหน้าวิหารข้างละองค์ค่ะ

พอเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรแล้วก็นั่งรถกลับกรุงเทพฯ แต่ระหว่างทางก็แวะกินอาหารกลางวันที่ร้านอาหารในปั๊มน้ำมัน จากนั้นก็เดินทางโดยสวัสดิภาพค่ะ

สำหรับใครที่ชอบชมเมืองเก่า ๆ อย่างอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรล่ะก็... เราขอแนะนำให้มาเลยค่ะ เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์แล้วยังเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศรอบ ๆ อุทยานฯ อีกด้วยค่ะ

Windy_love_Travel หญิงสาวผู้รักการท่องเที่ยว

 วันพฤหัสที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 18.06 น.

ความคิดเห็น