หากพูดถึงวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่าแล้วล่ะก็... คนรุ่นใหม่อาจนึกภาพและจินตนาการไม่ออกว่าก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามา ผู้คนในสมัยนั้นใช้ชีวิตกันอย่างไร วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปเที่ยวชมพร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนรุ่นก่อนกันที่ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ถ้าพร้อมแล้วเราเข้าไปเที่ยวชมกันดีกว่าค่ะ ^^

พอเข้ามาถึงหน้าพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศร่มรื่นที่เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เขียวขจีปลูกโดยรอบ แต่ก่อนจะเข้าไปชมด้านใน อย่าลืมวัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และลงชื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์กันด้วยนะคะ ซึ่งระหว่างนี้จะมีอาสาสมัครเจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์แจกแผ่นพับและบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมากับแนะนำอาคารจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์อย่างคร่าว ๆ ค่ะ

“พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์และความตั้งใจของ “อาจารย์วราพร สุรวดี” ผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งแต่เดิมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นบ้านของอาจารย์วราพรที่ได้รับมรดกตกทอดจาก “นางสอาง สุรวดี (ตันบุญเล็ก)” มารดาของท่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ท่านได้ยกบ้านหลังนี้ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก” เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบางกอกฐานะปานกลางในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 - 2500 ค่ะ

ภายในพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกแบ่งพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น 4 อาคารด้วยกัน คือ “อาคารหลังที่ 1” เป็นอาคารที่ครอบครัวสุรวดีเคยใช้อาศัยเมื่อในอดีต, “อาคารหลังที่ 2” เป็นคลินิกและเรือนพักของคุณหมอฟรานซิส คริสเตียน ชาวอินเดีย, “อาคารหลังที่ 3” จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้และเอกสารต่าง ๆ ที่น่าสนใจในสมัยก่อน รวมถึงนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเขตบางรักและชุมชนใกล้เคียง และ “อาคารหลังที่ 4” เป็นสำนักงานห้องสมุดของอาจารย์วราพรค่ะ

หลังจากลงชื่อและทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกกันอย่างคร่าว ๆ แล้ว เดินผ่านสวนหน้าบ้านเพื่อเข้ามาชม “อาคารหลังที่ 1” ที่เป็นอาคารหลักกันก่อนเลย แต่ก่อนจะเข้าไปชมข้างในอาคาร อย่าลืมถอดรองเท้ากันด้วยนะคะ ^^

“อาคารหลังที่ 1” เป็นบ้านพักอาศัยของครอบครัวสุรวดีเคยอาศัยอยู่เมื่อในอดีต ซึ่ง “นางสอาง สุรวดี (ตันบุญเล็ก)” คุณแม่ของอาจารย์วราพร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2480 มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาติตะวันตกและเป็นที่นิยมในสมัยนั้น คือ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าวสีแดง ส่วนผนังอาคารสร้างด้วยไม้ ทาสีเลียนแบบผนังก่ออิฐถือปูน ต่อมาในปี พ.ศ.2505 ก็ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกในภายหลัง เมื่อเข้าไปข้างในก็จะมีลักษณะเหมือนบ้านของชนชั้นกลางทั่วไปในสมัยนั้นค่ะ

ถอดรองเท้าแล้วขึ้นบันไดขั้นเล็ก ๆ มาประมาณ 3 - 4 ขั้นก็จะเห็น “ระเบียงหน้าบ้าน” ที่เป็นพื้นที่หน้าบ้านสำหรับนั่งเล่นกินลมชมวิวหรือบรรยากาศสวนบริเวณรอบ ๆ บ้าน โดยเฉพาะช่วงเช้า ๆ กับช่วงเย็น ๆ ค่ะ

เมื่อเข้ามาใน “โถงกลางบ้านชั้นล่าง” เป็นทางที่จะเข้าไปในห้องต่าง ๆ ซึ่งมีสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ตั้งอยู่ประปราย เพื่อไม่ให้บ้านโล่งจนเกินไปค่ะ

ติดประตูทางเข้าก็จะมีโต๊ะกระจกเพื่อตั้งวางหรือแขวนสิ่งของประเภทหมวก ร่ม ไม้เท้า รวมทั้งตรวจดูความเรียบร้อยของเสื้อผ้าหน้าผมก่อนออกจากบ้านค่ะ

ถัดเข้ามาอีกเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงในสมัยก่อนกับตู้เก็บแผ่นเสียงของ “คุณหมอฟรานซีส คริสเตียน” คุณหมอชาวอินเดียจบศัลยแพทย์จากประเทศอังกฤษที่เป็นสามีคนแรกของคุณแม่ท่านอาจารย์ค่ะ

ส่วนฝั่งตรงข้ามโต๊ะกระจกกับข้างบันไดฝั่งห้องหนังสือเป็นตู้ไม้ประดับมุกที่มีวัตถุโบราณของไทยกับของจีน และถัดเข้ามาจนสุดโถงกลางติดกับประตูหลังบ้านเป็นนาฬิกาคุณปู่แบบตั้งพื้นค่ะ

เดินเข้ามาทางฝั่งซ้ายมือคือ “ห้องรับแขก” เป็นห้องที่นอกจากจะใช้รับรองแขกผู้มาเยือนในโอกาสต่าง ๆ แล้วยังใช้เป็นห้องเล่นเปียโนของคุณแม่ท่านอาจารย์วราพรด้วย ซึ่งท่านมักจะเล่นเปียโนให้ลูก ๆ ร่วมร้องเพลงกันในยามว่างเสมอ ๆ นอกจากในห้องรับแขกจะมีเปียโนคู่ใจของคุณแม่ท่านอาจารย์แล้ว ยังมีตู้เก็บเครื่องแก้วเจียระไนต่าง ๆ อีกด้วยค่ะ

เปียโนในห้องรับแขกที่เห็นอยู่นี้เป็นเปียโนมือสองที่คุณตาของอาจารย์ซื้อมาให้คุณแม่ของอาจารย์เล่น ซึ่งแป้นกดของเปียโนในสมัยก่อนนิยมทำจากงาช้าง โดยคนสมัยก่อนเชื่อกันว่าหากผู้ที่เจ็บป่วยไข้ได้มานั่งเล่นเปียโนจากแป้นงาช้างจะช่วยให้หายป่วยได้เร็วขึ้น เพราะงาช้างมีคุณสมบัติที่สามารถช่วยดูดพิษไข้ออกไปได้นั่นเองค่ะ

ห้องถัดมาเป็น “ห้องอาหาร” เป็นห้องที่เกิดขึ้นจากการต่อเติมบ้านชั้นบนเพิ่มเติม เพื่อทำห้องนอนให้กับ “อาจารย์วนิดา สุรวดี” พี่สาวคนที่ 3 ของอาจารย์วราพร ซึ่งห้องนี้นอกจากใช้เป็นห้องอาหารแล้วส่วนหนึ่งยังใช้สำหรับตั้งโทรทัศน์และตู้เย็นในสมัยก่อนอีกด้วยค่ะ

ภายในห้องอาหารก็จะมีโต๊ะอาหารขนาด 6 - 8 ที่นั่ง บนโต๊ะจัดแสดงพวงเครื่องปรุง, จานใส่, ของว่าง และชุด Dinner Set แบบตะวันตกไว้ รวมทั้งยังมีภาชนะลายครามแบบจีนและเครื่องเคลือบสีเขียวไข่การูปแบบต่าง ๆ จากตอนใต้ของประเทศอิรักค่ะ

ส่วนด้านหลังโต๊ะอาหารเป็นตู้เก็บจานชาม หากสังเกตดี ๆ จะเห็นรอยร้าวของกระจก ซึ่งในสมัยก่อน กระจกค่อนข้างมีราคาแพง ทำให้เปลี่ยนได้ไม่บ่อยเท่าสมัยนี้ ดังนั้นเมื่อกระจกร้าว คนในสมัยนั้นจะซ่อมแซมด้วยการนำเหรียญที่มีรูตรงกลางสองเหรียญมาประกบกันระหว่างกระจกที่ร้าวแล้วใช้ลวดร้อยยึดตามแนวกระจกให้ติดไว้ด้วยกันค่ะ

โทรทัศน์ขาวดำเครื่องนี้เป็นเครื่องเก่าที่คุณแม่ของอาจารย์ซื้อมาให้ดูหลังถูกรบเร้าจากลูกบ้าน แต่เดิมตั้งโทรทัศน์ไว้ที่หน้าประตู โดยผู้ใหญ่นั่งดูบนม้านั่งยาวพิงลูกกรงนอกชาน ส่วนเด็ก ๆ นั่งดูบนพื้นค่ะ

ถัดมาอีกฝั่งหนึ่งเป็น “ห้องหนังสือ” ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีห้องนี้เคยเป็นห้องนอนของคุณยายเล็ก น้องสาวคนเล็กของคุณยายท่านอาจารย์ที่มาอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่เมื่อคุณยายเล็กเสียชีวิตลงในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณน้าลีที่เป็นญาติผู้น้องของคุณแม่ท่านอาจารย์และคุณเรณู น้องสาวคนสุดท้องของอาจารย์ที่แต่เดิมนอนอยู่โถงหน้าห้องจึงได้ย้ายเข้ามาในห้องนี้แทน ปัจจุบันใช้เป็นห้องเก็บหนังสือของคุณหมอฟรานซีส คริสเตียนค่ะ

ภายในห้องหนังสือก็จะมีทั้งตู้เก็บหนังสือของคุณหมอฟรานซีส คริสเตียน, ตู้เก็บหนังสือวรรณกรรมยอดนิยมในสมัยนั้น, สิ่งของเครื่องใช้เกี่ยวกับการเรียนอย่างโต๊ะ-เก้าอี้ กระเป๋าหนังสือ สมุด แบบเรียนในสมัยก่อน รวมทั้งภาพถ่ายวิวัฒนาการเครื่องแต่งกายของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ค่ะ

ห้องถัดมาเป็น “ห้องสุขา” ตั้งอยู่ใต้บันได สามารถเดินทะลุจากห้องหนังสือได้ ซึ่งในห้องสุขาสมัยที่ยังไม่มีน้ำประปากับส้วมชักโครกก็จะใช้โถสังกะสีเคลือบชนิดเททิ้งตั้งบนขาตั้งเหล็กและมีแป้นรองนั่งไม้แบบฝาเปิด-ปิดได้ เมื่อถ่ายเสร็จแล้วจะมีคนขับรถม้ามาเก็บตามบ้านเพื่อนำไปเททิ้งและล้างจนสะอาดแล้วนำกลับมาตั้งใหม่ค่ะ

หลังจากชมชั้นล่างจนครบทุกห้องแล้วขึ้นบันไดไปเดินชมชั้น 2 กันต่อค่ะ

เมื่อขึ้นมาถึงชานพักบันไดก็จะเห็นประตูรั้วเล็ก ๆ กั้นสำหรับเปิด-ปิดและป้องกันการพลัดตกบันไดค่ะ

พอเดินขึ้นบันไดมาถึง “โถงกลางชั้นบน” ก็จะเห็นสิ่งของจัดแสดงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแท่นที่วางพัดกับแผนที่จราจรในงานรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2496, จักรเย็บผ้าแบบใช้มือ ปัจจุบันเหลือเพียงแป้น กงล้อ และเก้าอี้, เครื่องอัดกลีบผ้าสไบ, โต๊ะวางสุขภัณฑ์, เครื่องอัดผ้านุ่ง และเตียงเด็กในสมัยก่อนที่มีแผงกันตกค่ะ

ห้องนี้เดิมทีเป็น “ห้องนอนคุณยาย (คุณอิน ตันบุนเต็ก)” ของอาจารย์วราพร ต่อมาคุณยายป่วยหนักจึงย้ายลงมาพักรักษาตัวในห้องรับแขกชั้นล่าง และเมื่อคุณยายเสียชีวิตลง อาจารย์วราพรจึงย้ายมาอยู่ในห้องนี้แทนค่ะ

ภายในห้องนี้ประกอบเตียงไม้โบราณแบบฝรั่งมีเสามุ้ง, โต๊ะเครื่องแป้งพร้อมตลับเครื่องแก้วสำหรับใส่เครื่องสำอางกับขวดน้ำหอมแบบต่าง ๆ, ตู้เซฟแบบมีบานประตูล็อกสำหรับใส่เงิน, พระพุทธรูปบูชาสมัยอยุธยาตอนปลายกับสมัยรัตนโกสินทร์, พระเครื่องและเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ด้วยค่ะ

เตียงนอนที่เห็นอยู่นี้เป็นเตียงไม้โบราณแบบฝรั่งสี่เสาและมุ้งด้วยผ้ามุ้งตาเม็ดพริกไทย ซึ่งถือเป็นผ้ามุ้งชนิดดีที่สุด เนื่องจากมีลักษณะโปร่งบาง ทำให้ถ่ายเทอากาศได้ดี ปัจจุบันหาซื้อผ้าชนิดนี้ไม่ได้แล้วค่ะ

พระเครื่องและเครื่องรางของขลังต่าง ๆ นี้สะสมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษของอาจารย์วราพร ซึ่งในสมัยก่อนจะตั้งอยู่ในห้องพระค่ะ

ถัดมาอีกห้องหนึ่งเป็น “ห้องบรรพบุรุษ” แต่เดิมเคยเป็นห้องนอนของ “คุณสมถวิล สุรวดี” กับ “คุณอมรา สุรวดี มาลากร” พี่สาวคนโตและพี่สาวคนที่สองของอาจารย์วราพร ต่อมาเมื่อคุณแม่ของอาจารย์เสียชีวิตลง จึงได้ปรับปรุงห้องนี้ให้เป็นห้องสำหรับที่ตั้งอัฐิของบรรพบุรุษ หลังจากอาจารย์วราพรเสียชีวิตในปี พ.ศ.2560 ก็ได้นำอัฐิของท่านมาตั้งไว้ที่ห้องนี้ด้วย เพื่อกราบไหว้บูชาและใช้ประกอบพิธีเซ่นไหว้ในเทศกาลสำคัญ ๆ ค่ะ

นอกจากห้องบรรพบุรุษจะมีอัฐิของบรรพบุรุษ รวมถึงอัฐิของอาจารย์วราพรแล้ว ยังมีสิ่งของเครื่องใช้อย่างเครื่องเบญจรงค์เก่าแก่ที่เคยเป็นของรักของหวงของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น “ชามกระเบื้องเบญจรงค์ลายเทพนม” ที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์, โถปริก กระเบื้องเบญจรงค์ยอดทอง (เงินชุบ) และ “โถปริก แก้วหล่อสีเขียวยอดทอง (กำมะลอ)” ที่มีอายุในราวสมัยรัชกาลที่ 5 (ระหว่างปี พ.ศ.2401 - 2453) ค่ะ

ถัดมาเป็น “ห้องนอนใหญ่” เป็นห้องที่คุณแม่ท่านอาจารย์ต่อเติมขึ้นมาใหม่ เพื่อทำเป็นห้องนอนให้แก่ “อาจารย์วนิดา สุรวดี” พี่สาวคนที่ 3 ของอาจารย์วราพร หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากประเทศสหรัฐอเมริกาและกำลังจะเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งภายในห้องประกอบด้วยเตียงนอนพร้อมโต๊ะข้างเตียงที่นิยมกันในสมัยนั้น, ตู้เสื้อผ้าบานประตูโค้งแบบยุโรปร่วมสมัย และโต๊ะเครื่องแป้งแบบมีกระจกรูปไข่ค่ะ

เตียงนอนที่เห็นอยู่นี้แต่เดิมเป็นของ “คุณบุญภูมิ สุรวดี” คุณพ่อของอาจารย์ ซึ่งบนหัวเตียงมีช่องติดกระจก ด้านหลังเปิด-ปิดได้ จริง ๆ มีเสาอะลูมิเนียมสี่เสารวมกับไม้เพดานมุ้ง แต่ว่าถอดเก็บได้ค่ะ

ถัดมาเป็น “ห้องนอนคุณแม่” เป็นห้องนอนที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาห้องนอนทั้งหมดของบ้านหลังนี้ แต่ปัจจุบันใช้เป็นเพียงห้องแต่งตัวแบบยุโรปของคุณพ่อ (คุณบุญภูมิ สุรวดี) กับคุณแม่เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมขนเครื่องนอนมานอนที่โถงหน้าห้องเป็นประจำ เนื่องจากมีอากาศเย็นกว่า โดยภายในห้องประกอบด้วยตู้บานกระจกแบบเปิด-ปิด, โต๊ะเครื่องแป้งแบบมีบานกระจกพับได้, ราวไม้สำหรับตากหรือแขวนเสื้อผ้า และตู้เก็บเครื่องจานชามค่ะ

โต๊ะเครื่องแป้งที่เห็นอยู่นี้ทำจากไม้สักล้วนมี 8 ขา นอกจากบานกระจกตรงกลางแล้วยังมีบานกระจกด้านข้างแบบพับได้ทั้งซ้าย-ขวาอีกด้วย ซึ่งคุณหมอฟรานซีสซื้อให้เป็นของขวัญวันแต่งงานคุณแม่ของอาจารย์ โดยเวลาที่ไปงานใหญ่ ๆ คุณแม่ของอาจารย์จะให้ลูก ๆ ทุกคนมาแต่งตัวและตรวจความเรียบร้อยที่โต๊ะเครื่องแป้งนี้ค่ะ

โต๊ะวางสุขภัณฑ์ตัวนี้เป็นไม้สัก ปูพื้นโต๊ะด้วยแผ่นหินอ่อน มีชั้นวางของ, ราวแขวนผ้าเช็ดมือ, ลิ้นชักและตู้เปิด-ปิดได้ด้วย โดยคุณหมอฟรานซีสใช้เป็นโต๊ะเครื่องสำอาง ต่อมาใช้เป็นที่เก็บเอกสารของคุณพ่อ, ที่เก็บของของคุณแม่ และพวกฟิล์มต่าง ๆ ค่ะ

ส่วนห้องน้ำชั้นบนนี้เป็นห้องที่ทะลุถึงกันระหว่างห้องนอนของ “อาจารย์วนิดา สุรวดี” พี่สาวของอาจารย์วราพร กับ “ห้องแต่งตัวแบบยุโรป” ซึ่งห้องน้ำเป็นแบบชักโครกสมัยที่มีน้ำประปาแล้ว แต่ฝาชักโครกยังเป็นแบบไม้ สำหรับห้องน้ำชั้นล่างกับห้องน้ำชั้นบนเป็นห้องน้ำเก่าที่อนุรักษ์ไว้สำหรับเข้าชมเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้โดยเด็ดขาด หากต้องการใช้ห้องน้ำ แนะนำว่าให้ไปใช้ห้องน้ำที่หลังเรือนได้เลยค่ะ

หลังจากชมอาคารหลังที่ 1 แล้วก็เดินออกมาทางประตูด้านหลัง ผ่านศาลาริมน้ำ ซึ่งภายในศาลาจำหน่ายกระถางต้นกระบองเพชรเพียงกระถางละ 10 บาทเท่านั้น ใครที่ชอบต้นกระบองเพชร สามารถซื้อได้เลยนะคะ

ระหว่างทางเดินไปชมอาคารหลังที่ 2 ก็จะผ่านบ่อน้ำและสวนหลังบ้าน บอกเลยว่าบรรยากาศร่มรื่นสุด ๆ ค่ะ ^^

“อาคารหลังที่ 2” เป็นทั้งคลินิกและเรือนพักของคุณหมอฟรานซีส คริสเตียน ศัลยแพทย์ชาวอินเดียที่จบจากประเทศอังกฤษ ซึ่งบ้านหลังนี้แต่เดิมสร้างในปี พ.ศ. 2472 ที่ทุ่งมหาเมฆ ซอยงามดูพลี เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับอาคารหลังแรก โดยชั้นล่างจะเป็นคลินิกรักษาคนไข้ ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอน แต่ทว่าสร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จ คุณหมอฟรานซีสก็ล้มป่วยลงและเสียชีวิตไปก่อน จึงปล่อยเป็นบ้านเช่า จนกระทั่งคุณแม่ได้ยกที่ดินให้อาจารย์วราพร อาจารย์ท่านเลยปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ เมื่อจะทำบ้านบริเวณตรอกสะพานยาวเป็นพิพิธภัณฑ์นั้นขาดเงินที่นำมาปรับปรุง จึงขายที่ดินและรื้อถอนบ้านไว้มาสร้างใหม่ที่นี่แทนโดยย่อส่วนให้พอดีกับพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อใช้เป็นอาคารแสดงประวัติและอนุสรณ์สถานรำลึกถึงคุณหมอด้วยค่ะ

บริเวณชั้น 1 เป็นคลินิกที่คุณหมอฟรานซีส คริสเตียนรักษาคนไข้ ซึ่งมีโต๊ะ-ที่นั่งสำหรับให้ผู้ป่วยนั่งรอคิว, ตู้สำหรับโชว์ของตกแต่ง, รูปภาพติดผนัง นอกจากนั้นใต้ถุนบันไดยังมีห้องน้ำสำหรับให้ผู้ป่วยเข้าไปใช้ได้กับห้องเก็บของค่ะ

บริเวณชานพักบันไดระหว่างขึ้นไปชั้น 2 มีตู้กระจกสำหรับจัดแสดงเครื่องมือทางการแพทย์ของคุณหมอฟรานซีสตั้งอยู่ด้วยค่ะ

พอเดินขึ้นบันไดไปชั้น 2 มีรูปปั้นคุณหมอฟรานซีสที่หล่อขึ้นมาใหม่จากหุ่นปูนปลาสเตอร์ที่มีอยู่เดิมด้วยฝีมือของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) ชาวอิตาลี ซึ่งเป็นบิดาแห่งวงการศิลปะและเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรค่ะ

เดินไปฝั่งซ้ายจะเป็นห้องตรวจคนไข้ของคุณหมอฟรานซีส ซึ่งภายในห้องนี้จะมีเครื่องมือทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ใช้กันในสมัยนั้นค่ะ

ส่วนอีกฟากหนึ่งเป็นห้องนอนของคุณหมอฟรานซีส ซึ่งภายในห้องประกอบด้วยเตียงไม้สี่เสา, เก้าอี้อาร์มแชร์, โต๊ะที่จัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ ของคุณหมอ, โต๊ะทำงาน, โต๊ะเครื่องแป้ง, ตู้เสื้อผ้า, ราวไม้สำหรับตากหรือแขวนเสื้อผ้า และโต๊ะวางโคมไฟค่ะ

หลังจากชมอาคารหลังที่ 2 จนทั่วแล้วเดินไปชม “อาคารหลังที่ 3” ซึ่งอาคารหลังที่ 3 เป็นห้องแถวต่อกัน 8 ห้องที่คุณแม่ของอาจารย์สร้างไว้ให้เช่า ต่อมาเมื่ออาจารย์นำมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์จึงไม่ได้ต่อสัญญาเช่าและปรับปรุงใหม่เป็นอาคารนิทรรศการ โดยชั้นล่างจัดแสดงเอกสารต่าง ๆ ที่น่าสนใจในสมัยนั้น รวมถึงคลังเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น เครื่องครัว, เครื่องมือช่าง, เครื่องเขียน, งานหัตถกรรม เป็นต้น ส่วนชั้นบนแบ่งออกเป็น 2 โซนด้วยกัน คือ โซนด้านในที่จัดแสดงบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเขตบางรักและชุมชนใกล้เคียงในสมัยนั้น กับโซนด้านนอกที่จัดเป็นห้องสมุดรวบรวมหนังสือกับมีอักษรภาพจีนโบราณของอาจารย์วราพรค่ะ

พอเปิดประตูทางเข้า ฝั่งตรงข้ามกับประตูจะเป็นพื้นที่จัดแสดงเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่น่าสนใจในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นโทรเลข, แสตมป์, ธนบัตรต่าง ๆ, แผนที่กรุงเทพฯ, สำมะโนครัว และโฉนดที่ดินเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ค่ะ

เดินมาทางฝั่งซ้ายมือเป็นโซนโรงครัวที่มีลักษณะเป็นห้องครัวไทยโบราณ มีอุปกรณ์หลายอย่างที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยเห็นหรือรู้จัก อย่างเช่น เครื่องทำไอศกรีม, เครื่องบดหมึก, ตู้แช่เย็นโบราณ, เครื่องโม่แป้ง, กระต่ายขูดมะพร้าว, กระต่ายจีนสำหรับขูดเผือก มัน, เตาฟืน, เตาถ่าน, เตาอั้งโล่ เป็นต้น

ถังน้ำตาลกับถังเขียวเป็นเครื่องทำไอศกรีมแบบโบราณที่ใช้มือหมุน ส่วนเครื่องที่ตั้งอยู่ข้างกันเป็นเครื่องบดหมึกหรือที่รีดบดปลาหมึกปิ้ง ซึ่งมีวิธีการทำก็คือนำปลาหมึกแห้งที่ปิ้งแล้วมารีดให้เป็นแผ่นค่ะ

ส่วนตู้นี้เป็นตู้แช่เย็นโบราณ สำหรับแช่ของสดประเภทผักและเนื้อสัตว์เพื่อรักษาคุณภาพ ด้วยการนำน้ำแข็งก้อนใหญ่มาใส่ไว้ด้านล่างเพื่อให้เกิดความเย็นค่ะ

โซนนี้จะเป็นโซนจัดแสดงครก สาก และเครื่องโม่แป้งค่ะ

โซนนี้จัดแสดงหม้อ กระทะ และเตาไฟแบบต่าง ๆ ที่ใช้ในสมัยก่อน อย่างเตาฟืน เตาถ่าน และเตาอั้งโล่ค่ะ

ถัดมาอีกเป็นโซนเลี้ยงสัตว์ มีทั้งกรงนก, เล้าเลี้ยงไก่, บ้านสุนัข, บ้านแมว และเครื่องใช้ต่าง ๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงค่ะ

โซนนี้เป็นที่เก็บเครื่องมือช่างกับเครื่องมือทำสวนค่ะ

โซนนี้เป็นโซนเย็บปักถักร้อย ซึ่งคนในสมัยก่อนจะนิยมซื้อผ้ามาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าใส่เอง เพื่อความประหยัดค่ะ

ส่วนโซนนี้เป็นโซนเกี่ยวกับงานหัตถกรรมและของเล่นในสมัยนั้นค่ะ

หลังจากชมชั้นล่างแล้ว เดินขึ้นบันไดไปชมชั้นบนกันต่อ ซึ่งชั้นบนโซนด้านในจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับภาพรวมของกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาของชื่อ “บางกอก”, ประวัติความเป็นมาและลักษณะทางกายภาพของเขตบางรัก, สถานที่สำคัญและบุคคลสำคัญของเขตบางรัก, บทบาทของชุมชนตะวันตกที่มีต่อการปฏิรูปประเทศ และเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายค่ะ

ด้วยความที่ถนนเจริญกรุงเป็นถนนสายแรกของไทย ทำให้ถนนสายนี้เป็นศูนย์รวมของการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า, ด้านศาสนา, ด้านการศึกษา, ด้านการคมนาคม, ด้านสาธารณสุข และด้านการพิมพ์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีชาวต่างชาติ ทั้งชาติไทย, ชาติจีน, ฝรั่ง, และแขก จำนวนมากอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนหรือแหล่งรวมวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยค่ะ

นอกจากจะมีบอร์ดนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ในภาพรวมและเขตบางรักกับชุมชนใกล้เคียงแล้วยังมีสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาจัดแสดงอีกด้วยค่ะ เช่น อุปกรณ์สำหรับสร้างถนน, โคมไฟเก่า, วิทยุเก่า, กล้องถ่ายรูป, เตารีดแบบถ่าน, เครื่องพิมพ์ดีด, โทรศัพท์แบบหมุน เป็นต้น

ส่วนโซนด้านนอกเป็นห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือต่าง ๆ ของอาจารย์วราพร รวมทั้งภาพอักษรจีน ซึ่งก่อนจะเป็นอักษรจีนอย่างที่ใช้กันในปัจจุบันนั้นเป็นอักษรภาพค่ะ

สำหรับใครที่ชื่นชอบในการเที่ยวชมหรือเรียนรู้วิถีชีวิตของคนรุ่นก่อน ๆ ล่ะก็... สามารถแวะเข้ามาเที่ยวชมกันได้ที่ “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” นะคะ เพราะนอกจากจะเดินชมอย่างเพลิดเพลินแล้วยังได้เห็นสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่หาชมได้ยากในปัจจุบันอีกด้วยค่ะ ^^

📍 ปักหมุดได้ที่: 273 ซอยเจริญกรุง 43 (ตรงข้ามไปรษณีย์กลาง) แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500

🚘 GPS: https://goo.gl/maps/QbFfCxd5e6oUiXJk7

Email: [email protected]

📞 โทร: 02-233-7027

👍 Facebook Fanpage: พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก

💸 เสียค่าเข้าชม: ไม่เสียค่าเข้าชม

เปิด: วันอังคาร - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 16.00 น.

🚗 เดินทางโดยรถยนต์: หากมาจากทางถนนเจริญกรุง ให้เลี้ยวเข้าซอยเจริญกรุง 43 ไปประมาณ 300 เมตร ลอดใต้ทางด่วน จะเห็นพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ทางขวามือ (จอดรถที่ไปรษณีย์กลาง)

🚌 เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ: สาย 1, 36, 45, 75, 93 ลงป้ายไปรษณีย์กลางบางรัก ข้ามถนนมาฝั่งตรงข้าม เข้าซอยเจริญกรุง 43 เดินตรงมาประมาณ 300 เมตร

🚈 เดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS: ลงสถานีสะพานตากสิน เดินทางต่อด้วยรถประจำทางมาลงที่ไปรษณีย์กลางบางรัก

🚤 เดินทางโดยเรือด่วนเจ้าพระยา: ลงท่าโอเรียนเต็ล เดินไปทางถนนเจริญกรุง เลี้ยวเข้าซอยเจริญกรุง 43

Windy_love_Travel หญิงสาวผู้รักการท่องเที่ยว

 วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 18.19 น.

ความคิดเห็น