หากพูดถึงสถานที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้ง คนส่วนใหญ่มักรู้จักพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง มาดามทุสโซ กรุงเทพฯ ที่จัดแสดงบริเวณชั้น 4 และชั้น 5 ของสยามดิสคัฟเวอรีเซ็นเตอร์ แต่จริง ๆ แล้วยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งให้ประชาชนได้เข้ามาชมเหมือนกัน นั่นก็คือ “พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง” จังหวัดนครปฐม วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปชมกันว่าประติมากรรมหุ่นขี้ผึ้งที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์จะมีบุคคลใดบ้างแล้วเสมือนจริงมากน้อยแค่ไหน ถ้าพร้อมแล้วเราไปชมกันเลยดีกว่าค่ะ ^^

“พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย” ตั้งอยู่ริมถนนบรมราชชนนี (ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) กิโลเมตรที่ 31 ในตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งอาจารย์ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์เป็นผู้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นร่วมกับกลุ่มศิลปินไทยผู้สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสของบุคคลสำคัญและจำลองเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่มีความทนทาน ประณีตงดงาม เสมือนคนจริงมากที่สุด รวมทั้งสื่อความรู้สึกที่นุ่มนวลมากกว่าขี้ผึ้ง โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม เผยแพร่ และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของไทย ภายในพิพิธภัณฑ์มีอาคารจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งทั้งหมด 2 ชั้นด้วยกัน คือชั้นล่างเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรทั้งหมด 7 ห้อง และชั้นบนจัดเป็นห้องแสดงนิทรรศการหมุนเวียนตามความเหมาะสมค่ะ

หลังจากทราบเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติโดยย่อและพื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทยกันแล้ว เราเข้ามาชมชั้นล่างกันก่อนดีกว่า เมื่อเข้ามาข้างในก็จะเป็นห้องที่จัดแสดง “ชุดมุมหนึ่งของชีวิต” จำนวน 2 ห้องด้วยกัน ซึ่งชุดมุมหนึ่งของชีวิตเป็นการแสดงหุ่นขี้ผึ้งชุดต่าง ๆ ในอิริยาบถที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น ชุดครอบครัวไทย, สนใจในข่าว, เลขาน่ารัก, ชุดหมากรุกไทย และเหนื่อยนักพักก่อนค่ะ

ชุด “ครอบครัวไทย” เป็นหุ่นคุณยายที่ถือตะบันหมากกับคุณแม่ที่ถือผ้าเช็ดหน้านั่งอยู่บนม้านั่ง และมีลูกชายกำลังยืนออดอ้อนคุณแม่ค่ะ

ชุด “สนใจในข่าว” เป็นหุ่นคุณลุงที่กำลังนั่งอ่านข่าวสารบ้านเมืองในหนังสือพิมพ์อย่างตั้งใจบนเก้าอี้ห้องรับแขกค่ะ

ชุด “เลขาน่ารัก” เป็นหุ่นเลขาสาวสวยกำลังนั่งก้มหน้าก้มตาทำบัญชีรายงานเพื่อส่งให้เจ้านายค่ะ ใครมาถึงห้องนี้แล้วอย่าไปรบกวนเธอนะคะ เธอตั้งใจทำงานอยู่ ดูสิ ไม่เงยหน้าขึ้นมามองเลย 5555

ชุด “หมากรุกไทย” เป็นหุ่นคุณลุงสองคนกำลังนั่งเล่นหมากรุกไทยกันอยู่ ซึ่งคุณลุงเสื้อเชิ้ตสีขาวคิดหนักว่าจะเดินหมากตัวไหนดี ส่วนคุณลุงที่คีบบุหรี่และถือไม้ขีดไฟยิ้มแบบเหยาะ ๆ โดยมีคุณลุงคนที่ยืนเป็นกรรมการตัดสินแพ้-ชนะค่ะ ว่าแต่ทำไมคุณลุงคิดนานจัง ไม่เดินหมากสักที 😅😅😅

ชุด “เหนื่อยนักพักก่อน” เป็นหุ่นผู้ชายสองคนกำลังนั่งหลับอยู่บนเก้าอี้ คนหนึ่งนั่งหลับแบบคอตกขณะเปิดหนังสือค้างไว้ ส่วนอีกคนนั่งหลับแบบพิงพนักเก้าอี้และแหงนหน้าอ้าปากค่ะ ดูท่าน่าจะเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวันแน่ ๆ

พอเข้าชมหุ่นขี้ผึ้งชุดมุมหนึ่งของชีวิตแล้วก็เดินไปชม “ชุดพระอริยสงฆ์” จำนวน 4 ห้องกันต่อ ซึ่งชุดพระอริยสงฆ์เป็นการแสดงหุ่นขี้ผึ้งพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากทั่วประเทศทั้งหมด 17 รูป อย่างภาพด้านบนนี้เป็นหุ่นพระอริยสงฆ์ทั้ง 3 รูปนั่งหันหน้าเข้าหากัน คือ “พระครูภาวนารังสี (หลวงพ่อเปลื้อง)” เจ้าอาวาสวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ฝั่งซ้าย), “พระธรรมญาณมุนี (หลวงพ่อทองย้อย)” เจ้าอาวาสวัดกวิศการาม จังหวัดลพบุรี (ตรงกลาง) และ “หลวงพ่อกวย ชุตินธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดชัยนาท (ฝั่งขวา) ค่ะ

ถัดมาเป็นพระอริยสงฆ์ 2 รูปนั่งบนเก้าอี้หวายข้าง ๆ กัน และมีโต๊ะวางชุดน้ำชาวางกั้นอยู่ตรงกลาง โดยฝั่งซ้ายมือเป็น “โพธิญาณเถระ (หลวงปู่ชา สุภัทโท)” ท่านได้สร้างวัดป่านานาชาติขึ้นและทำให้ชาวต่างชาติรู้ซึ้งในพระพุทธศาสนาจนเข้ามาอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์เป็นจำนวนมาก ส่วนฝั่งขวามือเป็น “หลวงปู่ขาว อนาลโย” พระวิปัสสนาสายพระอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และได้สร้างแผ่นดินแห่งธรรมะให้กับชาวจังหวัดหนองบัวลำภูค่ะ

“สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)” เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ท่านเคยเป็นพระพี่เลี้ยงและครูสอนหนังสือขอมแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (เจ้าฟ้ามงกุฎ) เมื่อขณะทรงผนวชเป็นสามเณร ในปัจจุบันท่านถือเป็นพระอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งที่มีพุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือมากที่สุดค่ะ

“ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์)” เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน ซึ่งชาวกะเหรี่ยงในอำเภอลี้ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก โดยท่านเป็นพระนักพัฒนาผู้นำชาวเขาชาวกะเหรี่ยงให้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และดำรงชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ

ถัดมาอีกนิด ฝั่งซ้ายมือเป็น “หลวงจีนคณาณัตจีนพรต (ท่านไต้ซือเย็นบุญ)” เกิดในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน แต่มาบวชเป็นสามเณรในประเทศไทย แล้วไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่เมืองจีน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2490 ก็กลับเข้ามาจำพรรษาในไทย ท่านได้ปฏิบัติภารกิจของสงฆ์ด้วยพรหมวิหาร 4 จนถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2526 ส่วนฝั่งขวาเป็น “พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (ท่านไต้ซือเย็นเชี้ยว)” เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) ที่เยาวราช กรุงเทพฯ ต่อมาท่านได้ก่อตั้งวัดบรมราชากาญจนาภิเษก (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) ที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งพระอริยสงฆ์ทั้งสองรูปนี้สังกัดนิกายมหายานค่ะ

ส่วนภาพนี้เป็นพระอริยสงฆ์ 3 รูปนั่งเรียงกันจากซ้ายไปขวา ได้แก่ “พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด)” อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ, “พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ)” อดีตเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ และ “พระสุพรหมยานเถระ (ครูบาพรหมจักร)” ผู้บูรณะวัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูนที่ร้างมานานเกือบพันปีให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่งค่ะ

เดินถัดมาทางนี้ก็จะเป็นพระอริยสงฆ์ทั้ง 3 รูปนั่งเรียงกันจากซ้ายไปขวาเช่นกัน ได้แก่ “พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ)” อดีตเจ้าอาวาสวัดพิกุลทองและเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี, “หลวงพ่อเกษม เขมโก” เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั้งในจังหวัดลำปางและชาวไทยทั่วประเทศ และ “พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ (หลวงปู่เทสก์)” ผู้สร้างศาสนสถานเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาหลายแห่งในถิ่นแถบอีสานค่ะ

“พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข)” เป็นทั้งอดีตเจ้าอาวาสวัดปากคลองมะขามเฒ่า และอดีตเจ้าคณะอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท รวมไปถึงท่านยังเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์อีกด้วยค่ะ

“หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” เป็นพระบุรพาจารย์ของคณะพระกรรมฐาน (สายพระป่า/สายวัดป่า) ทั่วประเทศ ซึ่งหลวงปู่มั่นท่านฝักใฝ่ในการบำเพ็ญเพียรภาวนาธรรมจนปรากฏ ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยจำนวนมากต่างเคารพนับถือศรัทธาค่ะ

“ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย” เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างและบูรณะพุทธศาสนสถานหลายแห่งทั่วภาคเหนือของไทยจนได้รับการขนานนามว่า “ตนบุญแห่งล้านนา” นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้นำแห่งศรัทธาจากผู้ที่เลื่อมใสท่านกว่า 5,000 คนมาสร้างถนนสายครูบาศรีวิชัยสู่พระธาตุดอยสุเทพระยะทาง 11 กิโลเมตรได้สำเร็จในเวลาเพียง 5 เดือน 25 วันค่ะ

“หลวงปู่ทวด” นอกจากท่านจะเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ท่านยังเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดช้างให้ จังหวัดปัตตานีอีกด้วย ซึ่งกิตติศัพท์ที่เลื่องลือของท่านก็คือ “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ค่ะ

หลังจากชมห้องพระอริยสงฆ์จนครบทุกห้องแล้ว เดินเข้ามาอีกห้องก็จะเป็นห้องว่าง ๆ มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพ่อแม่แห่งแผ่นดินในรัชกาลที่ 9 ติดไว้ด้วยกัน ส่วนฝาผนังห้องติดภาพถ่ายต่าง ๆ ของพ่อหลวงไว้หลายรูป ยิ่งดูรูปยิ่งคิดถึงพระองค์ท่านจริง ๆ ค่ะ

เดินออกมาก็จะเป็นหุ่น “ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” ที่กำลังนั่งโอบสุนัขคู่ใจแสนรักของท่านทั้ง 2 ตัว (เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายภาพหุ่นไว้) กับห้องฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวประวัติและเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ส่วนมุมห้องถัดจากหน้าจอวีดิทัศน์เป็นพระบรมรูปของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งวางไว้อยู่ค่ะ

Credit by: Facebook Fanpage “พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย Thai Human Imagery Museum”

จากนั้นก็เดินเข้ามาชมห้องจัดแสดง “ชุดประวัติศาสตร์” ที่เป็นพระบรมรูปของอดีตพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สมเด็จพระพี่นางฯ) แต่ห้องนี้ทางพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพเองนะคะ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพให้เท่านั้น โดยใช้กล้องของทางพิพิธภัณฑ์และจำหน่ายภาพให้แก่นักท่องเที่ยว เนื่องจากเคยมีนักท่องเที่ยวทำกิริยาไม่สุภาพขณะถ่ายภาพ ส่วนภาพที่เห็นอยู่ทางด้านบนนี้เป็นภาพที่เราขออนุญาตจากทางแอดมินของ Facebook Fanpage ไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ

หลังจากชมชั้นล่างจนครบทุกห้องแล้วก็เดินขึ้นบันไดมาชั้นบน ซึ่งชั้นบนจัดเป็นห้องแสดงนิทรรศการหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสชุดต่าง ๆ หมุนเวียนตามความเหมาะสม โดยเริ่มจาก “ชุดครูเพลงไทย” อย่างภาพนี้เป็นหุ่น “ครูจวงจันทร์ จันทร์คณา” หรือ “พรานบูรพ์” อยู่ในท่านั่งแต่งเพลงบนพื้นเวทีแสดง มือข้างหนึ่งถือไวโอลินสำหรับสีฟังทำนอง อีกข้างหนึ่งถือดินสอดำสำหรับแต่งเนื้องเพลง โดยท่านเป็นบรมครูนักแต่งเพลงไทยและเป็นผู้ปฏิรูปเพลงไทยในด้านรูปแบบคนแรกของไทยให้มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น อาจกล่าวว่าท่านเป็นผู้ริเริ่มเพลงไทยสากลเลยก็ว่าได้ มีผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ ละครร้องเรื่อง “จันทร์เจ้าขา” และ “โรสิตา” ค่ะ

“ครูเอื้อ สุนทรสนาน” เป็นหัวหน้าวงดนตรีคนแรกของกรมโฆษณาการและได้แต่งเพลงเผยแพร่ออกอากาศ จนได้รับความนิยมหรือเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในนาม “สุนทราภรณ์” ซึ่งที่มาของชื่อวง “สุนทราภรณ์” มาจากนามสกุลของครูเอื้อไปบวกกับชื่อของคนรัก (สุนทร + อาภรณ์ = สุนทราภรณ์) นั่นเอง โดยท่านได้แต่งเพลงหลากหลายประเภทด้วยกัน เช่น เพลงถวายพระพร, เพลงปลุกใจ, เพลงสดุดี, เพลงรำวง, เพลงรัก, เพลงชมธรรมชาติ และเพลงอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 2,000 เพลงค่ะ

“ครูไพบูลย์ บุตรขัน” นอกจากท่านจะเป็นนักเขียนบทละครแล้วยังเป็นนักแต่งเพลงอีกด้วย ซึ่งผลงานเพลงที่ท่านแต่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เช่น เพลงมนต์รักลูกทุ่ง, เพลงกลิ่นโคลนสาบควาย, เพลงค่าน้ำนม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ทำให้ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งเพลงลูกทุ่ง” หรือ “ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย” ค่ะ

ชมชุดครูเพลงไทยครบทั้ง 3 ท่านกันไปแล้วมาชม “ชุดบุคคลสำคัญของโลก” กันต่อ อย่างภาพบนนี้เป็นหุ่น “มหาตมา คานธี” ซึ่งท่านเป็นนักการเมืองชาวอินเดียที่ได้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศจากการปกครองของอังกฤษด้วยวิธีการ “อหิงสา” ในการแก้ปัญหาระหว่างมวลมนุษย์ ทำให้ท่านได้รับการขนานนามไปทั่วโลกว่า “มหาตมา” ที่แปลว่า “ผู้มีจิตใจสูงส่ง” หรือเรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่าท่านเป็น “บิดาแห่งประชาชาติอินเดีย” นั่นเองค่ะ

“อับราฮัม ลินคอล์น” เป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งท่านเป็นรัฐบุรุษทางการเมืองที่ต่อสู้เพื่อล้มเลิกระบบค้าทาสและยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมานานถึง 4 ปีระหว่างฝ่ายเหนือที่เชิดชูนโยบายเลิกระบบทาส กับฝ่ายใต้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ จนทำให้ท่านได้รับการยกย่องสรรเสริญมากที่สุดคนหนึ่งของโลกว่าเป็น “ประธานาธิบดีผู้ปลดปล่อยทาสของสหรัฐอเมริกา” ค่ะ

“เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล” เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษถึง 2 สมัยด้วยกันคือ สมัยแรกระหว่างปี ค.ศ.1940-1945 และสมัยที่สองระหว่างปี ค.ศ. 1951-1955 ซึ่งท่านมีสมรรถภาพและความเป็นผู้นำที่หาได้ยาก รวมทั้งมีความสามารถในฐานะนักพูด โดยท่านทำให้ประเทศอังกฤษได้รับชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 จนได้รับสมญานามว่าเป็น “นายกรัฐมนตรีวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งประเทศอังกฤษ” นอกจากนั้นเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลยังเป็นนักเขียนที่ฝากผลงานเขียนเรื่องต่าง ๆ และได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมอีกด้วยค่ะ

ชมชุดบุคคลสำคัญของโลกทั้ง 3 ท่านกันไปแล้ว เดินถัดมาอีกห้องก็จะเป็นชุด “การละเล่นของไทย” ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้สร้างสรรค์ผลงานหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการละเล่นของไทยออกเป็น 5 ชุดด้วยกัน คือ รีรีข้าวสาร, จ้ำจี้, แมงมุม, ขี่ช้างชนกัน และหัวล้านชนกันค่ะ

อย่างภาพนี้เป็นการเล่น “รีรีข้าวสาร” ที่ผู้เล่น 2 คนยืนหันหน้าเข้าหากันและประสานมือกันเป็นซุ้มประตู ส่วนคนอื่นเกาะไหล่หรือเอวต่อกันตามลำดับ โดยหัวแถวจะพาลอดใต้ซุ้มประตูพร้อมร้องเพลงประกอบการเล่น เมื่อจบเพลงผู้เป็นประตูจะกระตุกแขนลงกั้นคนสุดท้ายไว้และถูกคัดออกจากแถว จากนั้นจึงเริ่มต้นเล่นใหม่ไปเรื่อย ๆ จนหมดคนค่ะ

ถัดมาอีกเป็นการเล่น “แมงมุม” ซึ่งผู้เล่นจะวางมือข้างหนึ่งไว้บนพื้น ส่วนมืออีกข้างหนึ่งจะใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้หยิบหลังมือข้างที่วางไว้ ส่วนคนอื่น ๆ ก็หยิบกันต่อซ้อนขึ้นไปเรื่อย ๆ จากนั้นผู้เล่นทุกคนจะช่วยกันร้องเพลง “แมงมุมขยุ้มหลังคา แมวกินปลา หมากัดกระพุ้งก้น” โดยขณะร้องเพลงก็ทำมือโหย่งขึ้น-ลงตามทำนองเพลง พอร้องจบเพลงให้ปล่อยมือทั้งหมดอย่างเร็วแล้วเริ่มเล่นใหม่ หรือบางเวอร์ชันจะจบแบบให้วางมือซ้อนกันแล้วตีมือด้านล่างไปเรื่อย ๆ จนหมดค่ะ

เดินถัดมาอีกก็จะเป็นการเล่น “จ้ำจี้” ซึ่งผู้เล่นจะต้องนั่งล้อมกันเป็นวงกลมและวางคว่ำมือทั้งสองลงบนพื้น และมีคนหนึ่งเป็นคนจี้ โดยใช้นิ้วชี้จิ้มนิ้วของผู้เล่นไล่ไปทีละนิ้วให้ครบรอบวงพร้อมกับร้องเพลงประกอบการเล่นไปด้วยว่า “จ้ำจี้มะเขือเปราะ กะเทาะหน้าแว่น พายเรืออกแอ่น กระแท่นต้นกุ่ม สาวสาวหนุ่มหนุ่ม อาบน้ำท่าไหน อาบน้ำท่าวัด เอาแป้งที่ไหนผัด เอากระจกที่ไหนส่อง เยี่ยมเยี่ยมมองมอง นกขุนทองร้องฮู้” เมื่อร้องเพลงจบแล้ว จิ้มอยู่ที่นิ้วใด คนนั้นต้องพับนิ้วนั้นเข้าไป แล้วคนจี้ก็เริ่มเล่นใหม่ไปเรื่อย ๆ ใครพับนิ้วหมดคนแรกจะเป็นผู้แพ้ค่ะ

ส่วนข้าง ๆ กันจะเป็นการเล่น “ขี่ช้างชนกัน” ซึ่งเป็นการละเล่นที่ต้องใช้ความแข็งแรงและพละกำลังอยู่พอสมควร โดยผู้เล่นจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ในแต่ละฝ่ายจะให้คนตัวใหญ่เป็นช้างอยู่ด้านล่างแล้วให้คนตัวเล็กที่มีน้ำหนักเบาขึ้นขี่หลังและใช้เท้าทั้งสองข้างยื่นไปข้างหน้า จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็วิ่งเข้าชนกันเหมือนการชนช้าง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้มลงไปที่พื้นก่อนถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ ส่วนมากเด็กผู้ชายจะชื่นชอบการละเล่นชนิดนี้กันค่ะ

ถัดไปคือการเล่น “หัวล้านชนกัน” ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่นิยมกันในหมู่ชายหัวล้านในเทศกาลงานรื่นเริงทั่วไป โดยประลองกำลังด้วยการใช้ร่างกายส่วนบนอย่างศีรษะและหัวไหล่ ชน ดัน หรืองัดคู่ต่อสู้ เพื่อให้อีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและถูกดันออกนอกพื้นที่ที่กั้นไว้ ฝ่ายไหนถูกดันออกนอกพื้นที่ก่อนจะเป็นฝ่ายแพ้ หากสังเกตหุ่นดี ๆ จะเห็นว่าหุ่นแต่ละตัวจะมีศีรษะล้านแตกต่างกันไปตามลักษณะทั้ง 7 ชนิดได้แก่ ทุ่งหมาหลง, ดงช้างข้าม, ง่ามเทโพ, ชะโดตีแปลง, แร้งกระพือปีก, ฉีกฟาดหาง และราชคลึงเคราค่ะ

ชมชุดการละเล่นของไทยทั้ง 5 ชุดกันไปแล้ว เดินถัดมาอีกห้องก็จะเป็นห้องจัดแสดง “ชุดวรรณคดีไทย” ในนิทรรศการ “พระอภัยมณีของสุนทรภู่” ซึ่งพระอภัยมณีเป็นผลงานเขียนชิ้นเอกของสุนทรภู่ที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็น “สุดยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน” โดยสุนทรภู่ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากองค์การยูเนสโกให้เป็น “กวีเอกของโลก” เมื่อปี พ.ศ.2529 ในวาระครบรอบ 200 ปีเกิดของท่านค่ะ

ชมหุ่นสุนทรภู่และหุ่นตัวละครในวรรณคดีชิ้นเอกเรื่อง “พระอภัยมณี” แล้ว ถัดมาก็จะเป็นหุ่น “ขงจื๊อ” ซึ่งขงจื๊อเป็นนักคิดและนักปรัชญาสังคมที่มีชื่อเสียงของจีน โดยหลักปรัชญาของท่านที่เน้นเรื่องเกี่ยวกับความรู้, คุณธรรม, ศีลธรรม, จริยธรรม, ศาสนา, ความซื่อสัตย์, ความเมตตากรุณา, ความสัมพันธ์ในสังคมที่ถูกต้องเหมาะสม และความยุติธรรมกับความบริสุทธิ์ใจหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้วิธีการสอนสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นปรัชญาหลักสำหรับประเทศจีนมาอย่างยาวนานนับพันปี ปัจจุบันองค์การยูเนสโกยกย่องให้ขงจื๊อเป็น 1 ใน 10 บุคคลที่มีชื่อเสียงด้านวัฒนธรรมของโลกค่ะ

จากนั้นเดินเข้าไปอีกห้องหนึ่งก็จะเป็นชุด “นิทรรศการสมเด็จพระปิยมหาราชกับการเลิกทาส” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญคือ “การเลิกทาส” ที่เป็นการยกเลิกระบบคนชั้นสูงกดขี่ราษฎรให้ทำงานรับใช้หรือส่งทรัพย์สินให้ เพื่อต้องการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยชาติ โดยพระองค์ท่านทรงใช้พระปรีชาสามารถในการเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศใช้ “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.124 (พ.ศ. 2448)” ถือได้ว่าการเลิกระบบทาสและระบบไพร่ในสยามประเทศ นับแต่นั้นเป็นต้นมา วันที่ 1 เมษายน จึงเป็นที่รู้จักกันใน “วันเลิกทาส” และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านนี้เอง ทำให้พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ค่ะ

ทาสในประเทศไทยแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน อย่างในภาพนี้เป็นหุ่นทาส “ชุดบ่อนเบี้ย” ซึ่งทาสประเภทนี้เกิดจากการที่ราษฎรขายตัวเองเป็นทาส เนื่องจากติดการพนัน หรือเล่นพนันจนเสียเงินมากมาย ทำให้ไม่มีเงินพอใช้เจ้าหนี้ได้ บางคนอาจถึงกับขายภรรยาและลูกของตนเองเพื่อชดใช้หนี้สินนั่นเองค่ะ

ภาพนี้ก็จะเป็นหุ่นชุด “ครอบครัวทาส” ซึ่งทาสในอดีตจะต้องอยู่ในครอบครัวของเจ้านาย โดยเจ้านายสามารถทำอะไรกับทาสได้ทุกอย่าง อย่างการใช้แรงงาน, การเฆี่ยนตี หรือโบยทาสเมื่อทำผิดกฎระเบียบของเจ้านายค่ะ

ส่วนภาพนี้ก็จะเป็นหุ่นชุด “ทาสในเรือนเบี้ย” ซึ่งทาสในเรือนเบี้ยเกิดในระหว่างที่แม่เป็นทาสของเจ้านาย ไม่สามารถไถ่ถอนตนเองได้ค่ะ

ภาพนี้ก็จะเป็นชุด “ชีวิตใหม่” จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของคนไทยในสมัยก่อน (ช่วงหลังประกาศเลิกทาส) ซึ่งเวลาที่พ่อแม่ไปทำสวน ทำนาก็มักจะอุ้มหรือจูงลูกไปด้วยค่ะ

หลังจากชมทาสประเภทต่าง ๆ ของไทยไปแล้วมาชมทาสของต่างประเทศกันดีกว่า อย่างสองภาพบนที่เห็นอยู่นี้เป็นทาสของต่างประเทศ ภาพหนึ่งจะเป็นทาสที่ถูกจับกุมเพื่อลงโทษ สังเกตได้จากลูกตุ้มเหล็กที่ข้อมือ ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นทาสที่ถูกตีตรวนด้วยโซ่บริเวณข้อมือและข้อเท้ายาวเรียงกันไปค่ะ

ปัจจุบันมีหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มากกว่า 100 รูป และมีการสร้างหุ่นเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ สำหรับใครที่ชื่นชอบการชมหุ่นขี้ผึ้งในราคาไม่แพงล่ะก็... ลองแวะมาเข้าชมกันได้ที่ “พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย” จังหวัดนครปฐมกันนะคะ ^^

📍 ปักหมุดได้ที่: 43/2 หมู่ 1 ริมถนนบรมราชชนนี (ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) กิโลเมตรที่ 31 ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 73120

🚘 GPS: https://goo.gl/maps/GfDCqDfA4TZ2Bhy98

Email: [email protected]

📞 โทร: 034-332-607, 090-404-0304

👍 Facebook Fanpage: พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย Thai Human Imagery Museum

💸 เสียค่าเข้าชม:

- คนไทย >> เด็ก (สูงไม่เกิน 130 ซม.) ราคา 40 บาท / ผู้ใหญ่ ราคา 80 บาท

- ชาวต่างชาติ >> เด็ก ราคา 150 บาท / ผู้ใหญ่ ราคา 300 บาท

เปิด: วันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.30 น. / วันเสาร์ - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 18.00 น.

🚗 เดินทางโดยรถยนต์: จากสะพานพระปิ่นเกล้าใช้เส้นทางถนนบรมราชชนนี (ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) ผ่านชุมทางต่างระดับพุทธมณฑล ตรงไปข้ามสะพานแม่น้ำนครชัยศรีประมาณ 3 กิโลเมตร ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ฯ อยู่ฝั่งขวามือ

🚌 เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ: สายกรุงเทพฯ - นครปฐม (สายใหม่) ขึ้นที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่

🚐 เดินทางโดยรถตู้สาธารณะ: สายกรุงเทพฯ - นครปฐม (ท่ารถตู้จอดที่ข้างโลตัส ปิ่นเกล้า), สายกรุงเทพฯ - นครชัยศรี (ท่ารถตู้จอดที่ด้านหน้าห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า) **แจ้งให้รถจอดหน้าพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย**

Windy_love_Travel หญิงสาวผู้รักการท่องเที่ยว

 วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 14.11 น.

ความคิดเห็น