หากพูดถึง “บางลำพู” หลายคนมักนึกถึงชุมชนเก่า ๆ ที่นอกจากจะเป็นแหล่งรวมงานช่างฝีมือประณีตงดงามอย่างเครื่องทอง เครื่องถมแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าเก่าแก่ในสมัยก่อนตั้งแต่รุ่นพ่อแม่อีกด้วย วันนี้เราจะพาทุกคนมาย้อนรอยเพื่อชมวิถีชีวิตผู้คนในย่านบางลำพูผ่าน “พิพิธบางลำพู” กันค่ะ ถ้าพร้อมแล้วเราไปเที่ยวชมกันเลยดีกว่าจ้า!

“พิพิธบางลำพู” เป็นพิพิธภัณฑ์รูปแบบสมัยใหม่ที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังจัดตั้งขึ้นและดูแล ตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุ ริมคลองบางลำพู ใกล้กับป้อมพระสุเมรุ ซึ่งพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์แต่เดิมนั้นเป็นบ้านของ “พระยานรนาถภักดีศรีรัษฎากร” อธิบดีกรมคลังในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ต่อมาภายหลังพื้นที่นี้ถูกปรับใช้เป็นหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถานที่เก็บสินค้า, จำหน่ายตำรา, โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช และโรงพิมพ์คุรุสภา โดยภายในจัดแสดงเกี่ยวกับภารกิจของกรมธนารักษ์ รวมถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญต่าง ๆ ของชุมชนในย่านบางลำพูตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันค่ะ

ก่อนจะเข้าข้างในพิพิธบางลำพู เราแวะถ่ายรูปบริเวณด้านหน้าและรอบ ๆ พิพิธภัณฑ์กันสักหน่อย ซึ่งบรรยากาศโดยรอบร่มรื่นไปด้วยต้นไม้สีเขียวนานาพันธุ์ เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชุมชนในย่านบางลำพูและประชาชนทั่วไป โดยที่นี่มีพื้นที่จัดแสดงสองส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรกเป็นอาคารคอนกรีตสูง 2 ชั้น สร้างตามแบบอาคารตะวันตก (แบบบาวเฮาส์) รูปทรงตัว L ด้วยฝีมือคนไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๗ ส่วนที่สองเป็นอาคารไม้โถงสูง ตั้งอยู่ริมคลองบางลำพู สร้างด้วยไม้สักและไม้ตะแบกค่ะ

เมื่อเข้าไปในตัวอาคารคอนกรีตแล้ว บริเวณพื้นที่ชั้นล่างนั้นตรงกลางเป็นห้องโถงต้อนรับ ฝั่งซ้ายมือเป็นมุมจำหน่ายเหรียญกษาปณ์และของสะสม / ของที่ระลึกต่าง ๆ ส่วนฝั่งขวาเป็นนิทรรศการหมุนเวียน และนิทรรศการป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้ได้ชมกันตามอัธยาศัย แต่ก่อนที่จะเข้าชมภายในพิพิธบางลำพู เจ้าหน้าที่จะให้ลงชื่อและเสียค่าเข้าชมประมาณ 30 บาท (สามารถจ่ายได้ทั้งเงินสดและสแกนผ่าน QR Code) ซึ่งวิทยากรจะพาเข้าชมเป็นรอบ รอบละทุกครึ่งชั่วโมง ในจำนวนไม่เกิน 15 คนต่อรอบ หากเป็นวันอังคารถึงวันศุกร์จะเริ่มเข้าชมรอบแรกตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไปจนถึงรอบสุดท้ายในเวลา 15.00 น. ทั้งหมด 14 รอบเข้าชม ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์จะเริ่มเข้าชมรอบแรกตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรอบสุดท้าย โดยการเดินเข้าชมแต่ละรอบนั้นใช้ระยะเวลาทั้งหมด 1 ชั่วโมงค่ะ

หลังจากลงชื่อและเสียค่าเข้าชมแล้ว ระหว่างรอวิทยากรพาเข้าไปชม เราก็แวะเข้าไปเดินชมนิทรรศการหมุนเวียนและนิทรรศการป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนิทรรศการหมุนเวียนก็จะเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงชั่วคราวหรือกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับกรมธนารักษ์และชุมชนบางลำพูที่น่าสนใจมาต่อยอดหรือเปิดประเด็นใหม่ ๆ ตามวาระโอกาสต่าง ๆ อย่างช่วงที่เราไปครั้งล่าสุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “งานเทศกาลเสน่ห์บางลำพู: ตระเวนเที่ยว ตะลอนชิม” บอกเล่าเรื่องราวหรือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในย่านบางลำพู เช่น พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์, ป้อมพระสุเมรุ, สวนสันติชัยปราการ, วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น ส่วนนิทรรศการป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ที่บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ผ่านภาพและสิ่งจำลองร่องรอยต่าง ๆ ให้ได้เห็นกันเป็นตัวอย่างทั้งแนวกำแพงพระนคร, ประตูเมือง และป้อมปราการค่ะ

พอถึงรอบเวลาที่วิทยากรพาเข้าชม เราก็เดินมาตรงโถงต้อนรับเพื่อให้วิทยากรตรวจตั๋วและพาขึ้นบันไดไปชมห้องแรก โชคดีมากที่รอบเวลาเข้าชมนั้นมีแค่เราคนเดียวเลยได้ถ่ายรูปเต็มที่แบบไม่ติดคน อิอิ ^^ ซึ่งห้องแรกที่เราไปชมนั้นก็จะเป็นห้องจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพิพิธบางลำพูว่าที่นี่เคยเป็น “โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” โรงเรียนที่เปิดสอนวิชาช่างพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2489 โรงเรียนก็ได้ยุติการเรียนการสอน และเปลี่ยนมาเป็น “โรงพิมพ์คุรุสภา” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อว่า “โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ”) เวลาผ่านไปโรงพิมพ์คุรุสภาก็ได้ย้ายที่ทำการไปตรงเขตลาดพร้าวและส่งคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์เมื่อปี พ.ศ. 2538 กรมธนารักษ์จึงพัฒนาและปรับปรุงอาคารจนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้และห้องสมุดชุมชนในนาม “พิพิธบางลำพู” ค่ะ

นอกจากในห้องนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาให้ได้อ่านแล้วยังมีภาพถ่ายเก่า ๆ ในอดีต, โมเดลจำลองของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช, ตำราแบบเรียนในสมัยก่อน และตัวอย่างแป้นพิมพ์แบบตัวเรียง (Letterpress) ซึ่งการพิมพ์แบบตัวเรียงนั้นเป็นวิธีการพิมพ์เก่าแก่ที่สอนอยู่ในโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช มีลักษณะเป็นการกดลงบนกระดาษเพื่อให้เกิดรอยกดหรือรอยนูน ทำให้หมึกพิมพ์ไม่มีความสม่ำเสมอกัน ส่วนมากมักนิยมใช้ในการพิมพ์การ์ด, บัตรเชิญ หรือนามบัตร โดยการพิมพ์ด้วยวิธีนี้จะมีข้อเสียตรงที่ใช้เวลาในการเตรียมพิมพ์ค่อนข้างนานค่ะ

หลังจากชมประวัติความเป็นมาของพิพิธบางลำพูแล้วก็เดินเข้ามาชม “นิทรรศการกรมธนารักษ์” โดยเริ่มจากห้อง “ธรรมภิบาลอารักษ์พันธกิจกรมธนารักษ์” ด้วยการชมวีดิทัศน์เกี่ยวกับภารกิจและหน้าที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งกรมธนารักษ์เป็นกรมในสังกัดของกระทรวงการคลังมีภารกิจและหน้าที่ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทย เช่น การผลิตเหรียญกษาปณ์และบริหารเงินตรา, การดูแลและจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของรัฐ, การบริหารที่ราชพัสดุ รวมถึงการประเมินราคาทรัพย์สินค่ะ

เมื่อชมวีดิทัศน์เสร็จแล้วก็เข้าไปในห้อง “เบิกโรงกษาปณ์ ตามรอยเงินตรา” เพื่อชมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ ซึ่งภายในห้องมีทั้งบอร์ดเนื้อหา, บอร์ดสาธิตกระบวนการผลิตเหรียญกษาปณ์ผ่านมาสคอตอย่าง “นกวายุภักษ์”, แม่แบบเหรียญที่ระลึก และตู้ขายตั๋วแบบจำลอง โดยเหรียญกษาปณ์มีทั้งแบบเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน, เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่าง ๆ สามารถใช้จ่ายได้ตามกฎหมาย และเหรียญที่ระลึกผลิตขึ้นในวาระที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ และประวัติศาสตร์ชาติไทย แต่ไม่มีราคาหน้าเหรียญ จึงไม่สามารถใช้จ่ายหรือชำระหนี้ได้ค่ะ

จากนั้นเราก็ไปชมห้อง “ทรัพย์แห่งความภูมิใจ อนุรักษ์ไว้เพื่อแผ่นดิน” ซึ่งภายในห้องจัดแสดงเนื้อหาและวัสดุอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการเก็บและอนุรักษ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน โดยวัสดุที่ใช้สำหรับการเก็บและอนุรักษ์ ได้แก่ ครีมและน้ำยาทำความสะอาด, สีเฟล็กซ์, กาววิทยาศาสตร์, ชัน, เครื่องมือตัดเย็บผ้า, คำแสด, เลื่อม, กระจกสี, เครื่องมือกรีด-ตัดกระจก และทองคำเปลว นอกจากนั้นยังมีเครื่องมือการอนุรักษ์เหรียญและเงินตราโบราณที่นำมาจัดแสดงอีกด้วยค่ะ

ชมเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดเก็บและอนุรักษ์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินกันแล้วก็ไปชมห้องถัดไป นั่นก็คือห้อง “เพื่อราษฎร์และที่ราชพัสดุและประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์” ซึ่งจัดแสดงเนื้อหาและเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารที่ราชพัสดุและการประเมินราคาทรัพย์สิน โดยภายในห้องมีทั้งโมเดลจำลองสถานที่ต่าง ๆ ของเขตคลองเตยและเขตวัฒนา, แผนที่และอุปกรณ์ประเมินราคาทรัพย์สิน และภาพถ่ายต่าง ๆ ค่ะ

พอชมนิทรรศการ “นิทรรศการกรมธนารักษ์” ครบแล้วก็เดินไปชม “นิทรรศการชุมชนบางลำพู” ในอาคารไม้กันต่อ โดยวิทยากรจะพาเราเดินออกจากอาคารคอนกรีตลงทางลาดเชื่อมไปยังอาคารไม้ที่อยู่ติดกับคลองบางลำพู เมื่อเข้าไปข้างในก็จะมีพื้นที่จัดแสดงเป็นห้อง ๆ เริ่มจากห้องแรก “สีสันบางลำพู” ก่อนเลย ซึ่งเราจะได้ชมวีดิทัศน์บอกเล่าถึงบางลำพูที่คนทั่วไปรู้จักอย่างแหล่งของกินอร่อย, สวนสาธารณะของชาวพระนคร และแหล่งบันเทิงยามค่ำคืน จากนั้นก็เดินทะลุประตูอัตโนมัติไปยังห้อง “เบาะแสจากริมคลอง” เพื่อชมหนังสั้นฉายผ่านผนังและพื้นผิวน้ำที่จำลองเป็นคลองบางลำพูให้เห็นผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวไทย มอญ ลาว เขมร แขกตานี และจีนมาอาศัยอยู่รวมกันในบางลำพูตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ อารยธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพล ก็ได้มีการสร้างถนนหนทางและผู้คนเริ่มหันมาใช้การคมนาคมทางบกมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในย่านบางลำพูเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยค่ะ

ลัดเลาะข้าม “สะพานนรรัตน์สถาน” สะพานเหล็กโค้งจำลองเพื่อเข้าสู่ห้อง “พระนครเซ็นเตอร์” ซึ่งภายในห้องก็จะมีรถรางจอดรถผู้โดยสาร, ร้านค้าจำลองต่าง ๆ และวิถีชีวิตของผู้คนย่านบางลำพูในอดีต แต่พอเดินมาถึงบริเวณเชิงสะพาน เราก็ต้องสะดุดกับเด็กหญิงตัวน้อยแต่งตัวมอซอคนหนึ่งที่กำลังยืนส่องแอบดูอะไรสักอย่างผ่านรูรั้วสังกะสี ด้วยความอยากรู้เลยแอบส่องดูบ้างถึงได้รู้ว่าน้องเขาส่องดูลิเกนั่นเอง ซึ่งในสมัยนั้นหากเด็กคนไหนไม่มีเงินมากพอจะซื้อตั๋วเข้าไปชมลิเกข้างในก็จะใช้วิธีดูผ่านรูแบบนี้ เพียงแค่นี้ก็สนุกตามประสาเด็กในวัยนั้นแล้วค่ะ

หลังจากนั้นเราก็เดินเข้าไปชมร้านค้าจำลองต่าง ๆ บริเวณรอบพระนครเซ็นเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น “โรงหนังบุศยพรรณ” โรงภาพยนตร์ฉายหนังบู๊แอ็คชั่น, “โรงลิเกหอมหวล” ลิเกชื่อดังในสมัยนั้น เปิดแสดงที่วิกเก่าตลาดยอด และ “ห้าง ต.เง็กชวน” ร้านขายแผ่นเสียงค่ะ

ชมร้านค้าจำลองบริเวณรอบพระนครเซ็นเตอร์ก็เดินไปยังถนนสิบสามห้างที่อยู่ใกล้ ๆ กันต่อ ซึ่งถนนสิบสามห้างนั้นก็จะจำลองร้านค้าเก่าแก่ในย่านบางลำพูมาจัดแสดงให้ชมกัน อย่างเช่น “ร้านกาแฟนันทิยา” ที่ใช้เป็นสภากาแฟสำหรับพบปะพูดคุยกันของผู้คนในย่านบางลำพู ข้างบนมีห้องพักให้บริการ, “ร้านรองเท้าแก้วฟ้า” ร้านรองเท้าเครื่องหนังยอดนิยมในอดีต, “ภัตตาคารอั้นเฮียงเหลา” ภัตตาคารชื่อดังในอดีตย่านบางลำพู มีเมนูเด็ดขึ้นชื่อหลากหลายเมนู, “ห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งฮั่วเส็ง” ห้างเล็ก ๆ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องขายอุปกรณ์และงานฝีมือประเภทเย็บปักถักร้อยอยู่คู่บางลำพูมาตั้งแต่ช่วงเฟื่องฟูจนถึงปัจจุบัน และ “ร้านเสื้อนพรัตน์” ร้านตัดเย็บชุดนักเรียนและเสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อเชิ้ตค่ะ

เดินต่อไปอีกก็เข้าสู่โซน “ย่ำตรอกบอกเรื่องเล่า” ซึ่งโซนนี้เป็นการแนะนำชุมชนต่าง ๆ ในย่านบางลำพูที่คนภายนอกอาจไม่เคยทราบว่าแต่ละชุมชนมีของดีและจุดเด่นอะไรกันบ้าง ได้แก่ “ศิลปะการแทงหยวกกล้วย” ในชุมชนวัดใหม่อมตรส, “การทำข้าวต้มน้ำวุ้น” กับ “การทำ/ค้าขายใบลาน” ในชุมชนวัดสามพระยา, “การปักชุดโขน / ชุดละคร” ในชุมชนตรอกเขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้, “ดุริยประณีต” บ้านดนตรีไทยในชุมชนวัดสังเวชวิศยาราม, “เครื่องถมไทย” ในชุมชนบ้านพานถม, “งานตีทองคำเปลว” กับ “ร้านขายธงชาติ” ในชุมชนบวรรังสี และ “ช่างทองหลวง” ในชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ เป็นต้น

เดินมาอีกหน่อยก็จะเป็นห้อง “ที่นี่บางลำพู” ซึ่งภายในห้องจัดแสดงแผนที่ถนนและสถานที่ต่าง ๆ ในย่านบางลำพู, บอร์ดไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญของย่านบางลำพูในยุคกรุงรัตนโกสินทร์แต่ละรัชกาล และบอร์ดจัดแสดงเนื้อหา “ถิ่นคนดีศรีบางลำพู” ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือสร้างคุณูปการมากมายให้แก่สังคมค่ะ

จากนั้นเดินไปชมห้อง “ถอดรหัสลับ ขุมทรัพย์บางลำพู” เพื่อชมต้นลำพูจำลองใหญ่ที่นอกจากจะมีกิ่งหนึ่งเป็นกิ่งจากต้นลำพูของจริงแล้ว ยังติดไฟกะพริบราวกับมีหิ่งห้อยที่ส่องแสงวิบวับมาเกาะบนต้นลำพูนี้ด้วยค่ะ

พอชมต้นลำพูจำลองใหญ่แล้วก่อนจะลงบันไดชั้นล่าง เราก็เดินผ่านห้อง “มิ่งขวัญบางลำพู” จึงได้แวะกราบไหว้ “พระพุทธบางลำพูประชานาถ” ที่ประดิษฐานอยู่ภายในห้อง ซึ่งแต่เดิมนั้นตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหารและมีประเพณีแห่องค์พระรอบ ๆ ย่านบางลำพูในทุก ๆ ปี ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างพิพิธบางลำพูขึ้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกจึงรับสั่งให้ย้ายมาประดิษฐานไว้ที่นี่อย่างถาวร เพื่อให้ชาวบางลำพูและผู้เยี่ยมชมได้มากราบสักการะสืบต่อไป โดยพระพุทธบางลำพูประชานาถนี้มีลักษณะพุทธศิลป์แบบอินเดียค่ะ

หลังจากไหว้พระพุทธบางลำพูประชานาถแล้วเป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจในการเที่ยวชมพิพิธบางลำพู ถือได้ว่าการมาเที่ยวชมที่นี่ในครั้งนี้เป็นครั้งที่เราประทับใจ เพราะมีเราคนเดียวที่เดินชมในรอบนั้น ถ่ายรูปแบบสบายใจไม่ติดคน 5555 สำหรับใครที่คิดไม่ออกว่าวันหยุดจะไปเที่ยวที่ไหนดีล่ะก็... ลองแวะมาเที่ยวชมที่นี่กันได้เลยนะคะ เพราะนอกจากจะเที่ยวชมได้อย่างเพลิน ๆ แล้วยังได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับบางลำพูในแง่มุมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ ^^

📍 ปักหมุดได้ที่: ถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

🚘 GPS: https://goo.gl/maps/UKKQkT15PUHtEaZR6

Email: [email protected], [email protected]

🌍 เว็บไซต์: http://banglamphumuseum.treasury.go.th/index.php

📞 โทร: 0-2281-9828, 0-2281-0345 ถึง 51 ต่อ 1223 และ 1224

👍 Facebook Fanpage: พิพิธบางลำพู

💸 เสียค่าเข้าชม: ผู้ใหญ่ราคา 30 บาท/คน, เด็กอายุ 10 - 18 ปีราคา 10 บาท/คน (ชาวไทยและชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชมราคาเดียวกัน) ยกเว้น เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี, ผู้สูงอายุชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, นักบวชทุกศาสนา, ผู้พิการทุกประเภท และบุคคลหรือหมู่คณะที่ขออนุญาตเข้าชมเป็นกรณีพิเศษ เข้าชมฟรี!

เปิด: วันอังคาร - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. (รอบเข้าชมรอบสุดท้าย เวลา 15.00 น.) / วันเสาร์ - อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 18.00 น. (รอบเข้าชมรอบสุดท้าย เวลา 16.00 น.) เปิดรอบให้เข้าชมเป็นรอบ ๆ รอบละครึ่งชั่วโมง (หยุดทุกวันจันทร์, วันปีใหม่ และวันสงกรานต์)

อลิชา ธาดาธนวินท์

Windy_love_Travel หญิงสาวผู้รักการท่องเที่ยว

 วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เวลา 17.17 น.

ความคิดเห็น