เคยไปร่วมเทศกาลยี่เป็งที่เชียงใหม่อยู่หลายครั้ง แต่ว่าเป็นการไปเพื่อถ่ายรูปโคมลอยนับพันที่ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ไม่เคยเได้เดินดูบรรยากาศในเมืองเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วๆไปกับเค้าสักที ปีนี้ตั้งใจไปเดินเที่ยวเมืองเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลยี่เป็งโดยเฉพาะ ได้บรรยากาศมาอีกแบบนึงเลยครับ

เริ่มต้นจากการวนๆแถวๆรอบๆคูเมือง กับประตูเมืองต่างๆ มีการจุดประทีปไว้บนกำแพงเมืองอย่างสวยเลย ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของล้านนาที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ โดยคำว่า “ยี่” แปลว่า สอง ส่วน เป็ง แปลว่า เพ็ญ หรือ คืนพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งหมายถึงประเพณีในวันเพ็ญเดือนสองของชาวล้านนา

ตามประตูเชียงใหม่ทั้งสี่ด้านมีการประดับโคมสวยงาม ประตูทั้งสี่ด้านก็ได้บรรยากาศไปคนละแบบ สำหรับประตูท่าแพที่นักท่องเที่ยวนิยมนั้นมีการตกแต่งสวยงามเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้ลงไปถ่ายรูปครับ คนเยอะมาก ยังกลัวโควิดอยู่ ยังไงดูบรรยากาศได้ในคลิปนะครับ

ตำนานที่กล่าวถึงที่มาของประเพณียี่เป็งมีอยู่หลายตำนาน เช่น หนังสือตำนานโยนกและจามเทวีวงศ์ กล่าวว่า ประเพณีลอยโขมด หรือลอยไฟ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว การลอยโขมด เกิดขึ้นที่อาณาจักรหริภุญไชย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๔๙๐ มีกลุ่มคนมอญหรือเม็งที่อาศัยอยู่ในเมืองหริภุญไชยได้อพยพหนีอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในเมืองไปอยู่ที่เมืองสะเทิม ต่อมาเมื่ออหิวาตกโรคในหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว จึงเดินทางกลับหริภุญไชย เมื่อถึงวันครบรอบปีที่ได้จากพี่น้องที่เมืองสะเทิม จึงจัดดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ใส่ลงใน สะเปา ลักษณะคล้ายเรือ หรือใส่ในสะตวงหรือกระทงลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง แม่ทา เพื่อส่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่ยังอยู่เมืองหงสาวดี จึงเป็นมูลเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยโขมด หรือลอยกระทงนับแต่นั้นมาถึงปัจจุบัน

เดินรอบคูเมืองจนเหนื่อยล่ะมาจบกันที่วัดโลกโมฬี จากเดิมวัดก็สวยอยู่แล้ว แต่คราวนี้มีการตกแต่งซุ้มโคม หรือที่เรียกว่าตุง เพิ่มขึ้นมาสวยๆเลย

อ้อ งานยี่เป็งที่เชียงใหม่ไม่เหมือนวันลอยกระทงที่กรุงเทพนะครับ งานประเพณีจะมีทั้งหมด 3 วัน คือ

- วันขึ้นสิบสามค่ำ หรือ ชาวพื้นถิ่นเรียกว่า ‘วันดา’ จะเป็นวันสำหรับการซื้อของตระเตรียมสิ่งต่างๆ ไปทำบุญที่วัด

- วันขึ้นสิบสี่ค่ำ จะไปทำบุญกันที่วัด พร้อมทำกระทงใหญ่ไว้ที่วัดและนำของกินมาใส่กระทงเพื่อทำทานให้แก่คนยากจน

- วันขึ้นสิบห้าค่ำ จะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ

ดังนั้น เราจึงมาเดินเที่ยวกันต่ออีกวัน โดยเก็บตกสถานที่ที่เราผ่านแต่ไม่ได้แวะเมื่อวาน มาเริ่มกันที่วัดทรายมูลเมืองที่เมื่อวานขับรถผ่านแล้วเห็นด้านหน้ามีการตกแต่งตุงไว้เยอะและสวยงามมาก

กิจกรรมที่ชาวล้านนานิยมกระทำในประเพณียี่เป็ง คือ การจุดผางประทีปและโคมไฟบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ การปล่อยว่าว จุดบอกไฟชนิดต่างๆ วัด การไปทำบุญที่วัดในวันยี่เป็ง การฟังเทศน์ใหญ่ ที่เรียกว่า เทศมหาชาติ และการทำซุ้มประตูป่า

ชาวล้านนาจะเตรียมจัดตกแต่งประตูบ้านและประตูวัด ด้วยซุ้มประตูป่า โดยการนำต้นกล้วย ใบมะพร้าว ต้นอ้อย โคมหูกระต่าย โคมเงี้ยวหรือโคมชนิดอื่นๆ ดอกไม้ต่างๆ ฯลฯ ตกแต่งเป็นซุ้มประตูป่าอย่างงดงาม เพื่อเป็นเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรในวันยี่เป็ง ครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง ซึ่งปรากฏในเวสสันดรชาดก อันเป็นชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะประสูติเป็นพระพุทธเจ้า และเชื่อกันว่าถ้าใครตกแต่งซุ้มประตูป่าได้งดงาม อาจทำให้พระเวสสันดรเสด็จหลงเข้ามาในซุ้มประตูป่าที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ภายในบ้านของของเรา จะทำให้ได้อานิสงส์อย่างมากอีกด้วย

ในวันลอยกระทงปีนี้ ได้มีจันทรุปราคาเกิดขึ้นพอดี เลยยืนถ่ายรูปจันทรุปราคาจากคูเมืองเชียงใหม่เลย

มาจบกันที่วัดสวนดอกเป็นที่สุดท้ายครับ มีการประดับตุงตลอดทางเดินไว้เยอะแยะละลานตาไปหมด

ขอจบทริปนี้ด้วยรูปพระจันทร์เต็มดวงวันยี่เป็งครับ


ติดตามกันต่อได้ที่

https://www.facebook.com/TravelofSalaryMan/

https://www.facebook.com/voravuds

Voravud Santiraveewan

 วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 10.07 น.

ความคิดเห็น