
ที่สนามบิน Turkey – Ataturk เราแลกเงินลีรา (Lira) ติดตัวพอให้สามารถเดินทางถึงย่านจัตุรัสสุลต่านอาห์เมต เพราะแม้ที่นี่จะมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าการแลกตามร้านแลกเงินข้างนอกก็จริง แต่ต้องเสียภาษี ทำให้สุดท้ายแล้วได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำกว่า


จากสนามบินเรา 6 คนเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองอิสตันบูล (Istanbul) โดยใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ Metro ไปสุดสายที่สถานี Aksaray จากนั้นต่อรถราง หรือ Tram ไปอีก 5 สถานีก็ถึงจุดหมายที่ย่านจัตุรัสสุลต่านอาห์เมต (Sultan Ahmet Square) โดยผ่านย่านเก่าแก่ของเมืองอิสตันบูลที่มากไปด้วยโบราณสถาน ตลาดและผู้คน จนสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับสัมผัสแรกของเมืองนี้ยิ่งนัก


จากสถานี Sultan Ahmet เราเดินหลงทิศหลงทางอยู่สักพัก แต่ในที่สุดก็จับหลักได้ โดยอาศัยตำแหน่งของมัสยิดสุลต่านอาห์เมตกับวิหารเซนต์โซเฟีย ที่ตั้งหันหน้าประชันกัน ทำให้รู้ว่าเวลานี้เรายืนอยู่ในตำแหน่งไหนของแผนที่


จากนั้นก็ไม่ยากแล้วที่จะเดินลากกระเป๋าเดินทางไปยัง Istanbul Hostel อันเป็นที่พักของเราที่ทำการจองไว้ล่วงหน้าตั้งแต่อยู่เมืองไทย โดยตั้งอยู่บนถนนด้านข้างของมัสยิดสุลต่านอาห์เมต ชนิดเดินออกจากที่พักแค่ไม่ถึง 5 นาทีก็ได้เห็นความยิ่งใหญ่อลังการของมัสยิดสุลต่านอาห์เมตตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า


จัตุรัสสุลต่านอาห์เมต (Sultan Ahmet Square)
การเดินทาง : Tram สาย T1 ลงสถานี Sultan Ahmet
วันเวลาเปิดให้เข้าชม : ทุกวัน ทุกเวลา
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม


เพราะตำแหน่งที่ตั้งของอิสตันบูลที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชีย อีกทั้งยังโอบล้อมด้วยทะเลทั้ง 3 ด้าน คือ ทะเลดำ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และทะเลอีเจียน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีเยี่มทั้งด้านทหารและการค้า ทำให้อิสตันบูลผ่านการเป็นเมืองหลวงของ 3 อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โรมันตะวันออก ไบแซนไทน์ และออตโตมัน ภายในเขตเมืองเก่าจึงมากไปด้วยเหล่าโบราณสถานที่งดงามไปด้วยสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัย เราจึงต้องใช้เวลาในการท่องเที่ยวครั้งนี้ให้คุ้มค่ามากที่สุดเพื่อจะได้ชมความงามของเหล่าโบราณสถานเหล่านั้นได้อย่างครบถ้วน


วันนี้มีเวลาอีกหลายชั่วโมงกว่าพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า เราจึงไม่รอช้าที่จะชวนกันไปชมโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอิสตันบูล นั่นคือ มัสยิดสุลต่านอาห์เมต แต่เพราะเวลาที่เรามาเยือนคือเวลาช่วง 16.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่มัสยิดนี้ไม่อนุญาติให้นักท่องเที่ยวหรือคนนอกศาสนาอิสลามเข้า เพราะเป็นช่วงเวลาในการทำละมาดของชาวมุสลิม ไม่เป็นไรไว้พรุ่งนี้เราค่อยมาสัมผัสความยิ่งใหญ่ของมัสยิดแห่งนี้ก็ได้

ด้านหน้ามัสยิดสุลต่านอาห์เมตเป็นลานกว้าง มีชื่อว่า จัตุรัสสุลต่านอาห์เมต หรือชื่อในอดีตคือ ฮิปโปโดรม (Hippodrome) เป็นภาษาโรมันแปลว่า การวิ่ง โดยเป็นจัตุรัสที่ตั้งอยู่กลางเมืองเพื่อใช้เป็นสนามประลองทั้งฝีมือในการควบรถม้าอันเป็นพาหนะสำคัญในศึกสงครามในยุคสมัยนั้น การต่อสู้กับสัตว์ร้าย และยังใช้เป็นสถานที่จัดงานสำคัญต่างๆ แต่เดิมมีที่นั่งสำหรับชมการแข่งขันโดยรอบ ซึ่งจุผู้เข้าชมได้มากถึง 100,000 คน แต่แน่เสียดายที่สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนปัจจุบันเหลือเพียงเสา 3 ต้นที่เป็นตัวแทนของอดีต

ฮิปโปโดรมนี้เป็นหนึ่งในสถานที่แห่งอดีตเพียงไม่กี่แห่งที่หลงเหลือมาจากอาณาจักรโรมันเมื่อกว่า 1,800 ปีก่อน ล่วงถึงสมัยอาณาจักรไบแซนไทน์ ที่ผู้ครองนครสืบเชื้อสายมาจากอาณาจักรโรมัน สถานที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญเฉกเช่นเดิม แต่มาในสมัยออตโตมัน สถานที่แห่งนี้ถูกลดความสำคัญลง เพราะชาวเติร์กไม่ได้ชื่นชอบการแข่งรถม้าแบบชาวโรมัน จึงมีการเปลี่ยนชื่อสถานที่แห่งนี้จากฮิปโปโดรม เป็นจัตุรัสสุลต่านอาห์เมต และลดพื้นที่ให้เหลือน้อยลงกว่าเดิม

แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร สถานที่แห่งนี้ก็ยังคงมีความสำคัญในฐานะจัตุรัสใจกลางเมืองที่ห้อมล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายต่อหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดสุลต่านอาห์เมต วิหารเซนต์โซเฟีย พระราชวังทอปกะปิ ทำให้จัตุรัสแห่งนี้ไม่เคยหลับใหลจากผู้คน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว จึงเป็นแหล่งรวมที่พัก แหล่งกินดื่ม ร้านอาหารรสเยี่ยมโดยเฉพาะอาหารสไตส์เตอร์กีส ที่มีคาบับแบบต่างๆเป็นตัวชูโรง นอกจากนี้ยังมากไปด้วยเอเจนซี่ทัวร์ทั้งแบบเปิดร้าน และแบบเดินขายทัวร์ เรียกได้ว่าหากอยากไปสถานที่ไหนในประเทศตุรกี สามารถหาซื้อทัวร์ได้จากที่นี่


เราพยายามมองหาเสาโบราณ 3 เสา อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจัตุรัสสุลต่านอาห์เมต แต่ก็เห็นเพียง 2 เสา คือ เสาโอเบลิสก์ แห่งกษัตริย์เธโอโดเชียส (Obelisk of Theodosius) เสานี้มีความสูงราว 20 เมตร เป็นแท่งสี่เหลี่ยมยอดแหลม ทั้งสี่ด้านของเสามีจารึกอักษรอียิปต์โบราณ บอกเล่าเรื่องราวการทำสงครามและชัยชนะของฟาโรห์ตุทโมซีสที่ 3 แน่นอนว่าเสานี้ถูกสร้างขึ้นในดินแดนอียิปต์ตั้งแต่เมื่อ 3,500 ปีก่อน แม้เวลาจะผ่านมานับพันๆปี แต่ลายเส้นของอักษรอียิปต์โบราณที่สลักอยู่บนนั้นก็ยังคมกริบจนน่าทึ่งถึงฝีมือของช่างยุคโบราณที่ไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยเหมือนยุคปัจจุบัน

สาเหตุที่ทำให้เสาต้นนี้ถูกย้ายที่อยู่เป็นเพราะ กษัตริย์เธโอโดเชียส แห่งอาณาจักรโรมันสามารถตีอียิปต์ได้ จึงมีการลำเลียงเสานี้มายังเมืองอิสตัสบูล หรือชื่อในสมัยนั้นคือ คอนสแตนติโนเปิล เมื่อราวปีค.ศ.390 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในชัยชนะของอาณาจักรโรมันที่มีเหนืออียิปต์ โดยแต่เดิมเสานี้มีความสูงถึง 60 เมตร จึงน่าทึ่งในความสามารถของชาวอียิปต์โบราณที่สามารถสร้างและยกเสาที่สูงใหญ่ขนาดนี้ให้ตั้งได้ แต่เพื่อสะดวกต่อการขนย้ายจึงมีการตัดเสานี้ออกเป็น 3 ท่อนเท่าๆกัน ใช้เวลาขนย้ายทางทะเลนานถึง 30 วัน น่าเสียดายที่ระหว่างการขนย้าย เสา 2 ท่อนได้จมหายไปในทะเล จึงเหลือเพียงแค่หนึ่งท่อนให้คนยุคปัจจุบันได้เห็น คิดๆไปแล้วชวนให้เสียดาย เพราะหากไม่มีธรรมเนียมประเพณีที่ผู้ชนะต้องยึดเอาสิ่งของสำคัญหรือที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณของผู้แพ้มาครองแล้ว เราคงได้เห็นเสาโอเบลิสก์ตั้งโดดเด่นด้วยความสูงมากถึง 60 เมตร ในแผ่นดินอันเป็นที่กำเนิด

เมื่อเดินไปชมเสาโอเบลิสก์ใกล้ๆพบว่า เสานี้ตั้งอยู่บนฐานหินอ่อนซึ่งอยู่ลึกลงไป โดยกษัตริย์เธโอโดเซียสสั่งให้สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อใช้เป็นที่รองรับเสาโอเบลิสก์ โดยรอบฐานนี้สลักเป็นภาพของพระองค์ พร้อมด้วยเหล่าพระโอรส กำลังพระราชทานรางวัลแก่นักรบ โดยมีเหล่าทหารและพลเมืองพากันมาร่วมแสดงความยินดีกับชัยชนะในครั้งนั้น

แม้เสาโอเบลิสก์จะมีความสวยงามจากภาพสลักอักษรอียิปต์โบราณ แต่สำหรับเสาโบราณที่มีความสูงที่สุดในจัตุรัสสุลต่านอาห์เมต คือ เสาคอนสแตนติน(Constantine) ตั้งโดดเด่นด้วยความสูงถึง 32 เมตร สร้างขึ้นในปีค.ศ.940 ในยุคไบแซนไทน์ เดิมเสานี้หุ้มด้วยบรอนซ์ แต่ในช่วงสงครามครูเสดได้ถูกหลอมเอาบรอนซ์ไปจนหมด จึงเหลือเพียงโครงสร้างภายในที่ทำจากปูนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามที่ฐานของเสายังคงปรากฏร่องรอยการจารึกอักษรโรมันโบราณที่รูปแบบตัวอักษรนั้นแทบไม่ต่างจากอักษรอังกฤษที่เราใช้กันในยุคปัจจุบัน

แม้มองไม่เห็นในระยะไกล แต่ในระหว่างที่เราเดินชมเสาคอนสแตนติน ก็เห็นเสาต้นที่ 3 แห่งจัตุรัสสุลต่านอาห์เมต นั่นคือ เสายิลานลิสุตัน (Yilanlisutun) หรือรู้จักกันในนาม เสางู (Serpentine) เนื่องด้วยมีลักษณะเป็นงู 3 ตัวพันกันเป็นเกลียว เสาต้นนี้ทำจากบรอนซ์ สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อ 479 ปีก่อนคริสตกาล จึงเป็นเสาที่มีความเก่าแก่ที่สุดในบรรดาเสาทั้ง 3 แห่งจัตุรัสสุลต่านอาห์เมต เดิมตั้งอยู่ที่วิหารเทพเจ้าอพอลโล เมืองเดลฟี ประเทศกรีซ หรืออาณาจักรกรีกโบราณ สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของกรีกที่มีเหนือเปอร์เซีย

จากบันทึกในประวัติศาสตร์ระบุว่าเสานี้มีความสูงราว 8 เมตร แต่ด้วยกาลเวลาที่ผ่านเลยไปนับพันๆปี ทำให้เสานี้เหลือความสูงเพียง 5 เมตร อีกทั้งความสูงของฐานยังต่ำกว่าความสูงของพื้นในยุคปัจจุบันเกือบ 3 เมตร ทำให้เสานี้โผล่พ้นพื้นมาให้เห็นเพียงแค่ราว 2 เมตรเท่านั้น หากมองจากระยะไกลจึงแทบไม่เห็นเสานี้ เพราะจะถูกเสาเสาโอเบลิสก์กับเสาคอนสแตนตินที่ตั้งขนาบและสูงใหญ่กว่าบังจนมิด

3 เสาในจัตุรัสสุลต่าอาห์เมตจึงเป็นตัวแทนผ่านกาลเวลาของแต่ละยุคสมัย ที่คนยุคปัจจุบันสามารถเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์อันเกียงไกรของดินแดนแห่งนี้

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันจันทร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 10.34 น.