ฤดูหนาวมาถึงทั้งที จะปล่อยให้ผ่านเลยไปก็ใช่เรื่อง ว่าแล้วก็วางแผนเที่ยวเหนือวนไปซิครับ ภารกิจคร่าวๆ คือ ชมแสงแรกของวัน ตะเวนล่าหมอก และที่พิเศษยิ่งกว่าคือการชมดอกนางพญาเสือโคร่ง ซึ่งปีหนึ่งจะมีให้เห็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น โดยสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ จะอยู่ในจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และจะมีของแถมที่จังหวัดลำปาง ลำพูนด้วยครับ
ผมออกเดินทางกันช่วงบ่ายๆ แวะพักค้างคืนที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง โดยวางแผนไว้ว่าจะไปชมแสงแรกที่วัดพระธาตุดอยพระฌาน ซึ่งการมาที่วัดพระธาตุครั้งนี้ เป็นการมาครั้งที่ 2 หลังจากที่ครั้งแรกเจอหมอกฟุ้งกระจายจนมองอะไรแทบไม่เห็นเลยครับ
แต่เดิมบนยอดดอยพระฌานมีเพียงซากอิฐปรักหักพังมานานหลายชั่วอายุคน จนปี พ.ศ.2445 ได้มีการสร้างองค์พระธาตุขึ้นบนยอดดอยพระฌานขึ้น ชาวบ้านในละแวกนั้นก็ให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นก็มีการบูรณะองค์พระธาตุมาอย่างต่อเนื่อง จวบจนปี พ.ศ.2551 ได้มีการสำรวจบนดอยพระฌาน ซึ่งพบองค์พระธาตุสีขาว ยอดพระธาตุบุแผ่นทองจังโก้ มีบ่อน้ำและศาลาบำเพ็ญกุศลหลังเล็ก 2 หลัง และในปี พ.ศ.2552 จึงได้มีการบูรณะก่อสร้างวัดพระธาตุดอยพระฌานครั้งใหญ่ จนมีศิลปะที่งดงามดังที่เห็นในปัจจุบัน
ด้านบนของพระธาตุดอยพระฌานมีที่จอดรถเพียงเล็กน้อย ในช่วงวันธรรมดา ที่ไม่ใช่วันหยุดต่อเนื่องยาวๆ นักท่องเที่ยวสามารถขับรถขึ้นมาด้านบนดอยพระฌานได้เลย เส้นทางขึ้นเขา แคบแต่ไม่ถึงกับชันมาก แต่ถ้าแจ๊คพอตมาในช่วงวันที่นักท่องเที่ยวเยอะ หรือวันหยุดยาว อาจจะต้องจอดรถไว้ที่ลานจอดรถด้านล่าง จากนั้นต้องนั่งรถสองแถวของชาวบ้านขึ้นไปยังยอดดอยครับ
จากลานจอดรถ เมื่อเดินเข้ามา ด้านซ้ายมือจะเป็นศาลาพระเจ้าห้าพระองค์ ส่วนด้านขวาจะเป็นศาลาเฉลิมพระเกียรติ ส่วนตรงกลางเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุดอยพระฌาน พระธาตุสีขาว ปลียอดและฉัตรสีทองที่มีมาแต่ดั้งแต่เดิมนั่นเองครับ
ถัดจากองค์พระธาตุ จะเป็นด้านหลังวิหารพระพุทธเจ้าองค์ปฐมที่มีประติมากรรมปูนปั้นต้นโพธิ์สีทอง เห็นแล้วนึกถึงวิหารของวัดเชียงทอง แห่งหลวงพระบางเลยครับ
ด้านหน้าของพระวิหารพระพุทธเจ้าองค์ปฐม มีบันไดนาคที่ทอดตัวขึ้นไปยังพระวิหาร ตัววิหารสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ด้านในประดิษฐาน “สมเด็จพระพุทธสิกขีทศพลญาณ พิชิตมารวิกรม ปฐมสัมมาสัมโพธิญาณ ศรีพระฌานบรรพต” ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้วสีทองอร่าม เสียดายที่ผมมาทั้ง 2 ครั้ง วิหารปิดครับ ผมเลยอดชมความงดงามด้านใน เห็นว่าด้านในประดับด้วยงานแกะสลักปิดทองอย่างสวยงาม
หากยืนตรงประตูวิหาร แล้วหันหลังให้กับพระวิหาร เมื่อมองออกไปจะพบกับชิ้นงานแกะสลักเหนือบานประตู เป็นรูปพญานาค ดูวิจิตรงดงามมากครับ
เพื่อนๆ หลายคนอาจจะเคยผ่านตากับลานตรงนี้มาบ้างแล้ว เพราะลานตรงนี้เคยเป็นฉากหนึ่งในโฆษณาของรีเจนซี่ครับ
นักท่องเที่ยวนิยมมาชมแสงแรกและทะเลหมอกบริเวณลานนาคครับ ในวันที่อากาศเป็นใจ เราจะได้เห็นทะเลหมอกฟูๆ ลอยอยู่โดยรอบดอยพระฌาน พร้อมกับพระอาทิตย์ดวงโตค่อยๆ โผล่พ้นทะเลหมอก สาดแสงสีทองย้อมสายหมอกให้กลายเป็นสีทอง เป็นภาพที่ประทับใจเป็นอย่างมาก ไม่เสียเที่ยวเลยจริงๆ ที่ผมตัดสินใจมาล้างตาอีกครั้ง หลังจากที่ผิดหวังไม่ได้เห็นทะเลหมอกในครั้งแรก
อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อขึ้นมาบนยอดดอยพระฌาน คือการมาสักการะพระไดบุทสึ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ขนาดหน้าตัก 14 เมตร เนื้อทองแดง ประดิษฐานอยู่บนเนินเขาที่ติดกับดอยพระฌาน โดยทางวัดได้ตกแต่งหลายสิ่งอย่าง ให้อารมณ์เหมือนได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นเลยครับ
สำหรับใครที่ต้องการจะขึ้นมาชมแสงแรกที่นี่ แนะนำให้ขึ้นมาถึงยอดดอยพระฌานตั้งแต่เวลา 06.00 น. เลยครับ วัดปิดทุกวันพุธนะครับ วางแผนกันดีๆ
จากวัดพระธาตุดอยพระฌาน ไปต่อกันที่อำเภอเกาะคา เพื่อไปนมัสการพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีครับ
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดไม้ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทยเลยครับ งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่โดยเริ่มสร้างในปีฉลูและแล้วเสร็จในปีฉลูด้วยเช่นกัน ทำให้วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีฉลู
เมื่อก้าวข้ามผ่านซุ้มประตูโขง จะพบวิหารหลวงขนาดใหญ่ เป็นวิหารจั่วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก ภายในมีซุ้มปราสาททองอันเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจครับ
ด้านหลังของวิหารหลวงเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุ องค์พระธาตุเป็นทรงกลมแบบล้านนา ภายนอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำมีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่างๆ มีฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระอัฐิธาตุจากพระนลาฎ (หน้าผาก) ข้างขวา พระศอ (คอ) ด้านหน้าและด้านหลัง
ด้านข้างองค์พระธาตุเป็นที่ตั้งของวิหารพระพุทธ ซึ่งเก่าแก่มาก คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนพุทธศิลป์แบบศิลปะเชียงแสน หน้าบันเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะและส่วนสัดที่งดงามมากครับ
ภายในวิหารแห่งนี้เรายังสามารถชมปรากฏการณ์เงาพระธาตุกลับหัวได้อย่างชัดเจนด้วยครับ
ผมเชื่อว่าใครที่เป็นสายละคร ที่เกิดในยุค 90 คงรู้จักวัดแห่งนี้ดี เพราะที่นี่เคยใช้เป็นฉากในละคร “เพลิงพระนาง” นำแสดงโดยคุณชไมพร จตุรภุช ที่โด่งดังทั่วบ้านทั่วเมืองในขณะนั้น ผมเองก็รู้จักวัดพระธาตุลำปางหลวงครั้งแรกจากการดูละครเพลิงพระนาง นั่นแหล่ะครับ
ใครที่กลัวว่ามาลำปางแล้วจะไม่ถึงลำปาง เพราะไม่ได้นั่งรถม้า บอกเลยว่า ที่หน้าวัดพระธาตุลำปางหลวงมีรถม้าไว้บริการมากมาย ใครพอมีเวลาก็สามารถนั่งรถม้าชมเมืองได้ แต่ถ้าใครมีเวลาไม่มากนัก อาจจะแค่ถ่ายรูปคู่กับรถม้า ก็ถือว่ามาถึงลำปางแล้วครับ
อีกหนึ่งวัดสำคัญที่อยู่ไม่ไกลจากวัดพระธาตุลำปางหลวงมากนัก นั่นคือวัดเสลารัตนปัพพะตาราม หรือชาวลำปางนิยมเรียกกันว่า วัดไหล่หิน ครับ
วัดไหล่หินเป็นอีกหนึ่งวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาตั้งแต่ช้านาน แม้จะไม่มีการระบุชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากการค้นพบคัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่ที่สุดของวัด ได้ระบุเอาไว้ว่าวัดไหล่หินอาจสร้างในปี พ.ศ.2014 ครับ
ด้านหน้ามีซุ้มประตูโขง ซุ้มทรงปราสาทสกุลช่างลำปาง ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นหลายลาย เช่น ลายบัวคอเสื้อ ลายประจำยาม ลายบัวเชิงล่าง บริเวณชั้นหลังคาตกแต่งปูนปั้นด้วยลายพญานาค หงส์ และพันธุ์พฤกษา ที่ด้านข้างของซุ้มประตูมีรูปกินรีประดับอยู่ทั้งสองด้าน หน้าบันเป็นลายปูนปั้นแบบนูนต่ำ ตกแต่งด้วยภาพเขียนสี มีการประดับชั้นหลังคาด้วยรูปสัตว์ที่ทำด้วยดินเผาเคลือบ จึงทำให้ซุ้มประตูโขงของวัดไหล่หินแปลกแตกต่างจากซุ้มประตูโขงของวัดอื่นๆ ครับ
แผนผังการสร้างวัดไหล่หิน จำลองมาจากภูมิจักรวาล โดยมีวิหารโถง เปรียบเสมือนชมพูทวีป ด้านหลังวิหารโถงประดิษฐานองค์เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ และมีลานทราย ซึ่งเปรียบเสมือนมหานทีสีทันดรครับ
วิหารโถง สร้างขึ้นตามศิลปะแบบล้านนา โดยช่างเชียงตุง มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ที่หน้าบันวิหารเป็นไม้แกะสลักมีลวดลายที่วิจิตรบรรจงมากๆ ภายในประดิษฐานองค์พระประธาน ตกแต่งด้วยภาพเขียนสีฝุ่นบนแผ่นไม้ โดยที่บริเวณด้านบนของโครงสร้างหลังคา จะเป็นภาพพระพุทธรูปประทับยืน และยังมีภาพลายคำ ซึ่งเป็นภาพที่ทำด้วยเทคนิคการพิมพ์เป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา ลายเครือเถา ลายช่อดอกไม้ ลายดอกบัวและกลีบบัว นอกจากนั้นยังมีภาพบุคลเช่นภาพพระพุทธเจ้า ภาพเทวดา นางฟ้า และสัตว์อีกหลากหลายชนิดเลยครับ
นับเป็นอีกหนึ่งวัดที่มีความเก่าแก่และน่าสนใจมากๆ หากใครมีเวลา ลองแวะมาเที่ยวชมกันนะครับ อยู่ไม่ไกลจากวัดพระธาตุลำปางหลวงครับ
จากลำปาง ผมมุ่งหน้าสู่ลำพูน เพื่อที่จะไปสักการะพระธาตุประจำปีเกิดอีกหนึ่งพระธาตุครับ ระหว่างทางเลยขอแวะเติมพลังกันก่อน โดยผมมาฝากท้องที่สวนไผ่นายยิ้มครับ
สวนไผ่นายยิ้มอยู่ในอำเภอเมืองลำพูน การเดินทางมายังสวนไผ่อาจจะดูลึกลับซับซ้อนบ้างเล็กน้อย แต่พอเข้ามาถึงร้านแล้วรับรู้ถึงความสดชื่นเลยครับ เพราะร่มครึ้มด้วยทิวไผ่มากมาย แถมยังมีร่องน้ำระหว่างแนวไผ่ เพิ่มความร่มรื่นเข้าไปอีก สวนไผ่นายยิ้มเปิดให้บริการตั้งแต่ 10.00 – 18.00 น.
มื้อนี้ผมได้ปลาทับทิมคั่วเกลือ
หมูกรอบนายยิ้ม เมนูแนะนำของทางร้าน / กุ้งราดซอสมะขาม
แกงหน่อนายยิ้ม เมนูนี้นัวดีครับ เป็นแกงที่ใส่ซี่โครงหมู ชะอม ผักแค หอมแดง กระเทียม พริก และน้ำปลาร้าครับ
รสชาติอาหารโดยรวมถือว่าโอเคครับ
ในพื้นที่เดียวกัน ยังมีคาเฟ่เล็กๆ ชื่อ Bamboo Garden ด้วย แทรกตัวอยู่ในแนวสวนไผ่ บรรยากาศน่านั่งเลยทีเดียวครับ
พื้นที่นั่งในร้านมีทั้งแบบโต๊ะห้อยขา แบบเป็นซุ้มกระต๊อบ หรือถ้าใครต้องการฟินไปมากกว่านั้น สามารถนั่งบนแคร่แล้วห้อยขาแช่น้ำก็ได้นะครับ นอกจากนี้ทางร้ายยังปล่อยกระต่ายให้ออกมาวิ่งเล่นโชว์ตัวด้วยครับ
อิ่มท้องแล้ว เดินทางกันต่ออีกราว 6 กม. ก็มาถึงวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนานนับพันกว่าปีครับ
เดิมทีวัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นพระราชวังของพระเจ้าอทิตยราช กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย องค์ที่ 33 ต่อจากพระนางจามเทวี ปฐมบรมกษัตริย์ของเมืองหริภุญชัย ในกาลต่อมาพระเจ้าอทิตยราชได้ถวายราชวังของพระองค์ให้เป็นสังฆารามไว้กับทางพระพุทธศาสนาและได้มีการสร้างวัดขึ้นในปี พ.ศ.1651 ครับ
พระธาตุหริภุญชัยเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีระกา เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา หุ้มด้วยทองจังโกสีทอง ดูงดงามอร่ามตาเป็นอย่างยิ่ง องค์พระธาตุบรรจุพระเกศบรมธาตุ บรรจุในโกศทองคำ ประดิษฐานในพระเจดีย์ ว่ากันว่าองค์พระธาตุนี้เป็นต้นแบบของพระธาตุเจดีย์อื่นๆ เช่น พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุแช่แห้ง ด้วยครับ
เคียงคู่กับองค์พระธาตุเป็นที่ตั้งของวิหารหลวง ซึ่งภายในประดิษฐานพระมหามุนีศรีหริภุญชัย พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สีทองอร่าม นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูนครับ
และในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี จังหวัดลำพูนจะจัดเทศกาลโคมแสนดวงลำพูน ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย ถือเป็นส่วนหนึ่งของประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน การถวายโคมแสนดวงจัดทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุหริภุญชัย โดยในงานจะมีการประดับประดาด้วยโคมไฟหลากสี และในช่วงกลางคืนจะมีการเปิดไฟอย่างสว่างไสว ชาวล้านนาเชื่อว่า การทำโคม เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าที่ประทับบนสรวงสวรรค์ และแสงประทีปจากโคมจะช่วยส่องประกายให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข นับเป็นภาพที่งดงามจับใจจริงๆ โดยในปีที่ผ่านมา ผมเองก็มีโอกาสได้มาร่วมเทศกาลนี้ด้วย เลยขอนำภาพมาให้ชมกันครับ
จากวัดพระธาตุหริภุญชัย ไปต่อกันที่วัดจามเทวี วัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี มาตั้งแต่สมัยล้านนาครับ
จากหลักฐานทางศิลาจารึกเชื่อว่า วัดนี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้ามหันตยศ และ พระเจ้าอนันตยศ พระราชโอรสของพระนางจามเทวี เพื่อถวายพระเพลิงให้แก่พระมารดา และสร้างเจดีย์เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทอง ที่มีชื่อว่า สุวรรณจังโกฏิ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระเจดีย์จามเทวี สร้างขึ้นตามแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านจะมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรในซุ้มพระทั้งสี่ด้าน ด้านละ 15 องค์ รวม 60 องค์ ภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ต่อมายอดพระเจดีย์ได้หักหายไป ชาวบ้านจึงเรียกกู่กุดพระเจดีย์ครับ
ติดกับพระเจดีย์เป็นที่ตั้งของวิหารวัดกู่กุด ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นพระประธานของวิหารครับ
นอกจากพระเจดีย์สุวรรณจังโกฎิ ยังมีรัตนเจดีย์ หรือเจดีย์แปดเหลี่ยม ตัวฐานเป็นทรงแปดเหลี่ยมสองชั้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวถลารับองค์เรือนธาตุ ส่วนเรือนธาตุก็เป็นทรงแปดเหลี่ยมทรงสูง แต่ละด้านมีพระพุทธรูปประทับยืนประดิษฐานรวมทั้งหมด 3 องค์ครับ
วัดจามเทวีนับเป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญที่ไม่ควรพลาด หากมาเที่ยวที่จังหวัดลำพูนครับ
จากลำพูนผมตีตั๋วยาวมุ่งหน้าสู่เชียงราย โดยปักหมุดที่ภูชี้ฟ้า โฮมสเตย์ บ้านออย ซึ่งเป็นที่พักของผมในคืนนี้ ผมมาถึงก็เกือบจะหมดแสงแล้วครับ
ด้านหน้ามีที่จอดรถให้พร้อม รวมถึงพื้นที่ห้องอาหารครับ
มีระเบียงให้ชมวิว วิวที่มองออกไปก็ตามภาพเลยครับ
ห้องพักที่นี่มี 4 ขนาด แบ่งเป็น บ้าน 2 คนราคา1,500 บาท, 4 คน ราคา 2,500 บาท, 6 คน ราคา 4,000 บาท และ 10 คน ราคา 6,000 บาท โดยราคาดังกล่าวรวมอาหารเย็นและอาหารเช้าแล้วครับ
ภาพภายในห้องแบบ 2 คนครับ
มื้อเย็นบริการอาหารชุดครับ มีไก่ทอด กะหล่ำปลีทอดน้ำปลา ไข่เจียว ต้มยำปลาทับทิม รสชาติอร่อยดีทีเดียวครับ
คืนนี้ขอนอนเก็บแรงไว้ก่อน เพราะเหนื่อยมาทั้งวัน แถมพรุ่งนี้ต้องรีบตื่นแต่เช้ามืด โดยพรุ่งนี้ผมมีแผนจะไปชมแสงแรกพร้อมกับทะเลหมอกบนยอดภูชี้ฟ้าครับ
05.00 น. ผมมีนัดกับรถของทางรีสอร์ทเพื่อจะไปยังจุดเริ่มต้นเดินเท้าขึ้นไปบนยอดภูชี้ฟ้า ที่พักอยู่ห่างจากภูชี้ฟ้าประมาณ 3 กม. ถนนเป็นถนนลาดยางอย่างดี แต่เส้นทางค่อนข้างแคบและสูงชัน ผมเลยตัดสินใจใช้บริการของทางที่พัก โดยมีค่าบริการรถรับ-ส่งคนละ 80 บาทครับ
ลานจอดรถบริเวณจุดเริ่มต้นเดินเท้ามีร้านค้ามากมาย ขายอุปกรณ์กันหนาว เครื่องดื่มร้อน อาหารรองท้อง ซึ่งเปิดบริการกันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง จากจุดจอดรถเราต้องเดินเท้าขึ้นเขาไปประมาณ 760 เมตร ใครที่จะขึ้นไปชมแสงแรก แนะนำให้เตรียมไฟฉายไปให้พร้อมนะครับ เพราะระหว่างเส้นทางไม่มีไฟทางครับ
ถามว่าเดินขึ้นเหนื่อยไหม หากใครที่ออกกำลังกายมาบ้าง ตอบเลยว่าไม่เหนื่อยครับ ค่อยๆ เดิน แป๊บๆ ก็ถึงแล้ว เสื้อกันหนาวที่ใส่มา ตอนนี้แทบหมดความจำเป็นแล้ว เพราะเหงื่อเริ่มซึมแผ่นหลัง
หากใครต้องการถ่ายภาพให้เห็นยอดภูชี้ฟ้าติดในภาพด้วย แนะนำว่าไม่ต้องเดินจนถึงยอดนะครับ ก่อนจะถึงยอดภูชี้ฟ้า หาก สังเกตด้านขวามือ จะเห็นทางเดินลงไปยังเนินเล็กๆ จุดทางแยกนี้จะถ่ายภาพยอดภูชี้ฟ้าได้แบบเต็มๆ หรือถ้าใครอยากได้มุมสวยๆ ก็ให้เดินลงไปตามทางเดิน เพื่อไปยืนถ่ายตรงเนินเล็กๆ ครับ แต่ต้องระวังหน่อยเพราะเส้นทางเป็นขั้นบันไดเล็กๆ ที่สูงและชัน ส่วนถ้าใครเดินขึ้นไปถึงยอดภูชี้ฟ้า จะถ่ายได้แค่บรรยากาศโดยรอบของภูชี้ฟ้า ซึ่งภาพที่ถ่ายออกมาจะดูไม่ออกเลยว่า ถ่ายมาจากภูชี้ฟ้า (เพราะมองไม่เห็นพระเอก นั่นคือภูชี้ฟ้า)
ผมนั่งรถเวลาอยู่สักพัก แสงแรกก็เริ่มเผยโฉมให้เห็น โชคดีมากๆ วันนี้ฟ้าระเบิดครับ ช่วงเวลานั้นก็กดชัตเตอร์แบบรัวๆ นานๆ จะได้เห็นแสงระเบิดแบบนี้
ช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้นเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวทุกคนต่างรอคอย ยามที่พระอาทิตย์โผล่พ้นเส้นขอบฟ้าเหนือทะเลหมอก พระอาทิตย์ก็ทอแสงสีทองสาดส่องลงมายังทะเลหมอก เป็นช่วงเวลาที่สะกดผมให้ตกอยู่ในภวังค์ ใครที่จะมาชมแสงแรกต้องพกดวงมาเยอะๆ นะครับ แสงไม่ได้สวยเหมือนกันทุกวัน วันไหนที่โชคร้าย ก็จะเจอหมอกฟุ้งๆ ฟุ้งจนบังภูชี้ฟ้าหายไปทั้งภูเลย ใครมาเที่ยวภูชี้ฟ้าแล้ว แนะนำให้ขึ้นมาชมแสงแรกของวันครับ ยอมตื่นเช้าหน่อย แต่รับรองว่าถ้าได้เห็นแบบที่ผมเห็น รับรองว่าคุ้มค่าตื่นแน่นอน ในส่วนตัวผม ภูชี้ฟ้ามีเสน่ห์ที่สุดในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นนี่แหล่ะครับ เพราะเราจะได้เห็นแสงแรกของวัน รวมถึงทะเลหมอกสวยๆ ด้วย
หลังจากดื่มด่ำกับบรรยากาศที่อยู่ตรงหน้าจนเต็มอิ่มแล้ว ผมมุ่งหน้ากลับไปยังที่พัก เพื่อตุนมื้อเช้า เตรียมออกเดินทางกันต่อ โดยทางที่พักได้เตรียมข้าวต้มหมูไว้ให้เรียบร้อย ข้าวต้มอัดแน่นด้วยหมู เพิ่มสีสันด้วย เห็ดหอม แครอทและผักชี รสชาติอร่อยเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีขนมปังและเครื่องดื่มร้อนอย่างกาแฟ และโกโก้ครับ
หลังอิ่มท้อง เดินทางกันต่อโดยมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองเชียงราย โดยผมปักหมุดที่งานเทศกาลเชียงรายดอกไม้งาม ครั้งที่ 19 ที่จัดขึ้นบริเวณ สวนตุงและโคม เทศบาลนครเชียงราย โดยงานจัดในช่วงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 - 29 มกราคม 2566 ครับ
บริเวณหน้างาน มีตุ๊กตาชาวเขาขนาดใหญ่ น่ารักมากมาย
การเช้าชมงานเทศกาลเชียงรายดอกไม้งาม ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ครับ
คอนเซปของงานในครั้งนี้ คือ “ทิวลิปบานใจกลางนครเชียงราย” โดยทิวลิปที่นำมาจัดแสดง มีทั้งสีแดง เหลือง สีขาวปลายชมพู สวยงามมากๆ ครับ
นอกจากดอกทิวลิปแล้ว ยังมีดอกไม้เมืองหนาวนานาพันธุ์ รวมถึงประติมากรรมดอกไม้รูปทรงต่างๆ มากมายครับ
หากใครสนใจอยากชมดอกทิวลิปบานใจกลางเมืองเชียงรายแบบนี้ ปีหน้าคงต้องคอยติดตามข่าวสารของจังหวัดเชียงรายไว้ดีๆ นะครับ เพราะงานเทศกาลจะจัดปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
ผมออกเดินทางต่อสู่วัดร่องเสือเต้น วัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยศิลปะที่สวยงามแปลกตาครับ
วัดร่องเสือเต้น เป็นวัดที่สร้างขึ้นด้วยศิลปะไทยประยุกต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆ โดยใช้เฉดสีเป็นสีน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทอง จากการรังสรรค์ของ สล่านก ศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของ อ.เฉลิมชัยครับ
เริ่มที่ด้านหน้าวัดมีซุ้มประตูที่สร้างเป็นพญานาคท้าวมุจลินทร์และปู่ศรีสุทโธ ดูน่าเกรงขามมากๆ ครับ
พระวิหาร เปรียบเสมือนทิพยสถาน คือเป็นการสรรเสริญพระพุทธเจ้าทั้งในรูปแบบประติมากรรมและจิตรกรรม ตัววิหารใช้โทนสีฟ้าขับกับลวดลายปูนปั้นสีทอง ดูงดงามตระการตามากๆ สีฟ้าแสดงถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าที่ขจรขจายไปทั่วโลก ด้านหน้าวิหารมีประติมากรรมบันไดพญานาคที่เน้นลักษณะโครงสร้างที่เข้มแข็ง มีเขี้ยวเล็กแหลมคมดูน่าเกรงขาม แต่มีความอ่อนช้อยและมีลวดลายแตกต่างไปจากประติมากรรมทั่วๆ ไป ครับ
ภายในวิหารมีผลงานจิตรกรรมเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ โดยใช้เฉดสีฟ้า และเขียนลวดลายที่อ่อนช้อยด้วยสีขาวและสีทอง มีพระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ ซึ่งมีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคล เจ้าในความเป็นราชา เป็นที่พึ่งในสามโลก” เป็นพระประธานสีขาวมุข หน้าตักกว้าง 5 เมตร โดยใต้ฐานของพระประธานมีพระรอดลำพูน จำนวน 88,000 องค์และแก้วแหวนเงินทองหลายสิ่งถูกฝังอยู่ บริเวณพระเศียรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วยครับ
จิตรกรรมฝาผนังในวิหารบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติที่มีความอ่อนช้อยของลายเส้น
ด้านหลังของวิหารมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติสีขาวประดิษฐานอยู่
ด้านหน้าวิหาร ทำเป็นวงเวียนเล็กๆ จัดสร้างประติมากรรมเป็นพระอุปคุต พระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ครับ
ใกล้กันเป็นประติมากรรมพระพุทธธรรมจักร องค์ที่ 74 ครับ
วัดร่องเสือเต้น นับเป็นอีกหนึ่งวัดดังของจังหวัดเชียงราย ที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตา หาดูได้ยาก บอกเลยครับว่า ถ้ามาเที่ยวเชียงรายแล้วไม่ควรพลาดมาเที่ยวชมวัดร่องเสือเต้นด้วยประการทั้งปวง
จากวัดร่องเสือเต้น ผมมุ่งหน้าสู่อำเภอแม่จัน โดยตั้งใจว่าจะไปชมบรรยากาศของไร่ชาครับ ที่เชียงรายมีไร่ชาดังๆ ให้ชม 2 จุด คือ ไร่ชาบนดอยแม่สลอง ซึ่งการเดินทางอาจจะยากสักนิด เพราะเส้นทางค่อนข้างสูงชัน ส่วนอีกหนึ่งจุด เข้าถึงค่อนข้างสะดวก แถมยังมีคาเฟ่ให้นั่งชมบรรยากาศไร่ชาแบบใกล้ชิด และไร่ชาที่ผมกำลังกล่าวถึงคือไร่ชาฉุยฟงครับ
ไร่ชาฉุยฟงเป็นแหล่งปลูกชาชั้นดีของ บริษัท ฉุยฟงที จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตใบชารายใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงราย ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสกับไร่ชาแบบสุดลูกหูลูกตาอย่างใกล้ชิด ชาที่นี่จะปลูกบนลูกเนินเตี้ยๆ หลายลูก ดูสวยงามเลยทีเดียวครับ
นอกจากจะมีชาให้ดูแล้ว ที่นี่ยังมีคาเฟ่ให้นักท่องเที่ยวได้อิ่มอร่อยกับเครื่องดื่มและของว่างอย่างเค้กที่มีส่วนผสมของใบชาหลากหลายเมนู คาเฟ่จะเป็นแบบ Open air ให้นักท่องเที่ยวได้จิบเครื่องดื่มและของว่างไปพร้อมๆ กับชมบรรยากาศของไร่ชาได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีร้านขายของฝากประเภทใบชาต่างๆ ให้เลือกช้อปกลับไปฝากคนที่บ้านด้วยครับ
ไร่ชาฉุยฟง เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 น.-17.30 น.ครับ
จากไร่ชาฉุยฟง ผมมุ่งหน้าสู่ผาฮี้ โดยระหว่างทางจะผ่านดอยช้างมูบ เลยขอแวะไปยืดเส้นยืดสาย ชมวิวทิวทัศน์กันสักนิด ก่อนที่จะเข้าที่พักครับ
ดอยช้างมูบเป็นที่ตั้งของฐานปฏิบัติการดอยช้างมูบ ซึ่งอยู่บนแนวสันเขาแบ่งเขตแดนระหว่างไทยและเมียนมา โดยฐานปฏิบัติการฯ ได้อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวโดยจัดทำระเบียงสำหรับชมวิว จากจุดชมวิวนี้เราสามารถมองเห็นวิวภูเขาในฝั่งของเมียนมาได้แบบสุดลูกหูลูกตาเลยครับ
จากฐานปฏิบัติการฯ เราเดินทางกันต่อสู่ผาฮี้ ระหว่างทางจะผ่านด่านทหาร ซึ่งทางทหารจะขอตรวจบัตรประชาชน และขอถ่ายภาพเราคู่กับบัตรประชาชนด้วย ผมว่าก็คงทำเป็นพิธีครับ เพราะทหารจะให้ทุกคนในรถถือบัตรประชาชนไว้แนบกับใบหน้า จากนั้นทหารจะใช้กล้องจากโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพของทุกคนในรถเพียงแชะเดียว ผมแอบนึกในใจ ถ่ายแบบนี้แล้วจะเห็นรายละเอียดของแต่ละคนได้อย่างไร 555
ขับรถจากด่านออกมาไม่นาน ก็มาถึงบ้านผาฮี้แล้วครับ คืนนี้ผมจองที่พักที่ ฮักผาฮี้ โฮมสเตย์ เอาไว้ ถนนในหมู่บ้านผาฮี้ค่อนข้างแคบและสูงชัน หากขับรถไม่ชำนาญ อาจเกิดอุบัติเหตุได้ แนะนำว่าให้จอดรถไว้ที่ลานจอดรถของหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ใกล้กับป้ายบ้านผาฮี้ จากนั้นให้โทรศัพท์แจ้งให้ที่พักนำรถมาขนสัมภาระและนำเข้าที่พักจะดีกว่าครับ
ฮักผาฮี้ โฮมสเตย์ อยู่ห่างจากลานจอดรถประมาณ 100 เมตรครับ จริงๆ แล้ว ตรงหน้าที่พักก็มีที่จอดรถได้ประมาณ 5-6 คัน ถ้าใครชำนาญในการขับรถขึ้น-ลง เขา สามารถนำรถมาจอดที่หน้าที่พักได้เลยครับ
ห้องพักที่นี่มี 5 ห้อง (นอนได้ 2 คน มี 4 ห้อง และนอนได้ 3 คนมี 1 ห้อง) ราคาห้องพักช่วงที่ผมไป นอน 2 คน ราคา 2,600 บาท นอน 3 คน (เตียวเดี่ยว 6 ฟุต+3.5 ฟุต) ราคา 3,600 บาท ราคานี้รวมอาหาร 2 มื้อครับ
ห้องพักถือว่าดีเลยทีเดียว ในห้องที่พัก 2 คน จะมีเตียงเดี่ยว 6 ฟุต มีชุดโซฟาให้นั่งเล่นด้วย ห้องพักไม่มีทีวี ไม่มีเครื่องปรับอากาศนะครับ มีเพียงพัดลมตั้งพื้น แต่อากาศที่นี่ผมว่าคงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ขนาดพัดลมยังไม่ได้เปิดใช้เลยครับ
ทุกห้องมีระเบียงส่วนตัว สามารถออกมานั่งชมวิวดอยนางนอนกันแบบพาโนรามาเลยครับ
ด้านบนของห้องพักจะเป็นห้องอาหารแบบ in door และจะมีระเบียงสำหรับให้นั่งทานอาหารแบบ Out door ครับ วิวที่มองออกไปจะเป็นวิวเดียวกับบริเวณระเบียงของห้องพักครับ
มื้อค่ำ จะมีอาหารให้เลือก 2 แบบ แบบแรกเป็นเซตหมูจุ่ม ในภาพสำหรับทาน 2 คน ปริมาณอิ่มกำลังดี สำหรับผม รสชาติของน้ำจิ้มอาจจะยังไม่ค่อยจัดจ้านสักเท่าไร เนื่องจากผมเป็นคนทานอาหารรสจัด แต่ทางที่พักได้เตรียมพริกและกระเทียมไว้ให้ แถมยังหาน้ำจิ้มซีฟู้ดมาเสริมให้ผมอีกด้วยครับ
หรือถ้าใครไม่อยากทานหมูจุ่ม จะลองชิมอาหารชนเผ่าก็ได้ครับ โดยปกติชุดหนึ่งจะมี 6 เมนู ประกอบด้วย หมูสามชั้นคั่วรากชู (แต่ผมเปลี่ยนเป็นไก่คั่วรากชู) ยำยอดผักกาด ไข่เจียวใบหอมชู ชุดน้ำพริกถั่ว ปลานึ่งทรงเครื่อง ต้มจืดไก่ฟักหอม พอดีพ่อครัวเห็นคณะของผมมีอิสลามด้วย 1 คน เลยแถมปลาชุบแป้งทอดให้อีก 1 จาน เซ็ตนี้ทาน 3 คนครับ
ทานมื้อค่ำไป ชมวิวไป บรรยากาศดีมากๆ อยู่บ้าน ไม่เคยได้เห็นดาวเยอะขนาดนี้ เลยนั่งชมดาวอยู่พักใหญ่ (เสียดายที่ถ่ายออกมา มองไม่เห็นดาว)
หลังมื้อค่ำ ผมออกไปเดินชมบรรยากาศในบ้านผาฮี้ต่อครับ ชาวบ้านที่นี่น่ารักเชียวครับ ผมเดินผ่านก็เรียกผมทานมื้อค่ำด้วย เท่าที่สังเกตมา บ้านส่วนใหญ่จะถูกดัดแปลงให้เป็นที่พักประเภทโฮมสเตย์กันเยอะมาก ดังนั้น ควรจำชื่อที่พักของเราให้ดี เพราะชื่อที่พักที่นี่จะคล้ายๆ กัน คือจะมีคำว่า “ผาฮี้” อยู่ในชื่อของโฮมสเตย์แทบทั้งนั้น
เช้านี้ไม่ต้องลำบากลำบนเดินเท้าขึ้นเขาเพื่อรอชมแสงแรก เพราะเพียงแค่เปิดเปลือกตาขึ้นมา ก็จะเห็นแสงแรกปรากฏอยู่ข้างเตียงแล้วครับ ประเด็นคือ อย่านอนหลับเพลินจนแสงอาทิตย์ส่องแยงตาเท่านั้นเองครับ
ผมลองเดินขึ้นมาชั้นบนของห้องพัก บริเวณลานที่ทานมื้อค่ำเมื่อคืน เผื่อจะได้วิวมุมที่แปลกตาขึ้น ก็ได้ป้ายชื่อโฮมสเตย์พร้อมแสงเช้าสวยๆ สายหมอกบางๆ มาครับ ผมเห็นในภาพของทางโฮมสเตย์ ช่วงที่หมอกปังๆ หมอกหนาๆ จะลอยมาถึงตรงระเบียงที่ทานข้าวเลยครับ
กาแฟดริปรวมอยู่ในราคาของห้องพัก ชงได้จริง จิบได้จริง แต่คณะผมทำกันไม่เป็น เลยเอามาเป็นพร้อพถ่ายรูป ท้ายสุดก็ต้องไปสั่งกาแฟจากทางโฮมสเตย์ดื่มแทน ดีที่เจ้าของไม่คิดเงินเพิ่มครับ
นอกจากกาแฟดริปที่อยู่ในค่าห้องแล้ว มื้อเช้ายังมีข้าวต้มและไข่ลวกให้ด้วยครับ ข้าวต้มยังรสชาติจืดไปสำหรับผม แต่สำหรับคนอื่นอาจจะอร่อยก็ได้ครับ สำหรับใครที่ยังไม่อิ่ม ทางโฮมสเตย์มีปาท่องโก๋และขนมจีบไว้บริการด้วย โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมครับ
ถ้าได้มานั่งทานมื้อเช้าในบรรยากาศแบบนี้ในทุกๆ วัน คงจะวิเศษมากๆ เลยครับ
หมู่บ้านเล็กๆ ที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขา
สำหรับการเข้าพักที่ ฮักผาฮี้ โฮมสเตย์ โดยรวมถือว่าโอเคเลยครับ ห้องพักดี บรรยากาศดี บริการดี เจ้าของคุยเก่งและต้อนรับเป็นอย่างดี หากใครกำลังมองหาที่พักที่ผาฮี้ ผมแนะนำที่นี่เลยครับ
ที่บ้านผาฮี้ จะปิดหมู่บ้านตั้งแต่ 1 มีนาคม – 30 พฤษภาคม ของทุกปีนะครับ
เมื่ออิ่มท้องแล้ว คงต้องเดินทางกันต่อ จุดหมายแรกของวันนี้ขอไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงรายกันก่อน ที่วัดพระธาตุดอยตุงครับ
วัดพระธาตุดอยตุง หรือวัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง) ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางราว 2,000 เมตรเลยครับ เส้นทางที่จะมายังวัดพระธาตุดอยตุงค่อนข้างสูงและชัน สิ่งที่เป็นจุดเด่นของวัดพระธาตุดอยตุง นั่นก็คือ องค์พระธาตุดอยตุง ซึ่งมีลักษณะเป็นเจดีย์สีทองอร่าม 2 องค์คู่กัน ในรูปแบบทรงปราสาทยอดทรงระฆังกลมขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม กรุด้วยกระเบื้องดินเผา เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีกุน ปีกุนในคติล้านนานั้น สัญลักษณ์คือช้าง (กุญชร) ไม่ใช่หมู ดังที่หลายๆ คนเข้าใจกัน
ตำนานของพระธาตุดอยตุงกล่าวไว้ว่า ที่นี่คือเจดีย์แห่งแรกในอาณาจักรล้านนา อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ที่ได้อัญเชิญมาจากอินเดีย ต่อมาในสมัยพญามังราย พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ พญามังรายจึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม นับจากนั้นมา พระธาตุดอยตุงจึงได้มีเจดีย์สององค์ จวบจนปัจจุบันครับ
พระอุโบสถของวัดพระธาตุดอยตุงครับ
จุดหมายต่อไป ผมปักหมุดที่พระตำหนักดอยตุง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพระธาตุดอยตุง แต่เนื่องจากผมมีเวลาไม่มากนัก เลยเลือกเข้าชมเฉพาะสวนแม่ฟ้าหลวงเท่านั้น
สวนแม่ฟ้าหลวง เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาว ที่มีพื้นที่กว่า 10 ไร่ มีดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์นับ 100 ชนิด รวมถึงไม้มงคลต่างๆ ไม้ยืนต้น ซุ้มไม้เลื้อยต่างๆ ผมมาเที่ยวสวนแม่ฟ้าหลวงครั้งสุดท้ายก็น่าจะเกือบ 15 ปี++ แล้ว มาครั้งนี้สวนแม่ฟ้าหลวงก็ยังคงสวยสดใสอยู่เหมือนเดิม ถึงแม้โครงสร้างหลักๆ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่พืชพรรณไม้ต่างๆ มีความแตกต่างไปจากเดิมครับ สิ่งที่แปลกตาขึ้นมาหนึ่งสิ่ง นั่นคือ “โตยักษ์” สัตว์มงคลตามความเชื่อของชาวไทใหญ่ เป็นสัตว์แห่งความโชคดีในตำนาน ที่ถูกสร้างสรรค์มาเป็นประติมากรรมชิ้นใหม่สำหรับผมครับ
ผมขอยกให้พื้นที่ส่วนนี้เป็นไฮไลต์ของสวนแม่ฟ้าหลวงครับ ซึ่งจะสามารถมองเห็นพระตำหนักสมเด็จย่าได้ด้วย
ประติมากรรม “ความต่อเนื่อง” ผลงานของศิลปินมีเซียม ยิปอินซอย เป็นประติมากรรมที่เป็นรูปเด็กต่อตัวกัน 5 ชั้น ส่วนชื่อ “ความต่อเนื่อง” เป็นชื่อที่สมเด็จย่าประทานให้ อันตรงกับพระราชดำริของพระองค์ท่านที่ว่า “ทำงานอะไรก็ตามจะสำเร็จได้ ต้องมีความต่อเนื่อง” โดยประติมากรรมชิ้นดังกล่าวจะตั้งอยู่ใจกลางสวนแม่ฟ้าหลวงครับ
มุมนี้จะมองเห็นพระตำหนักสมเด็จย่าได้อย่างชัดเจนครับ
สวนแม่ฟ้าหลวงเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00 – 18.00 น. โดยมีค่าธรรมเนียมเข้าชมคนละ 90 บาท
จากสวนแม่ฟ้าหลวง ไปต่อที่วัดห้วยปลากั้ง อีกหนึ่งวัดสวยของจังหวัดเชียงราย บริเวณวัดกว้างขวางมากๆ มีลานจอดรถขนาดใหญ่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้มากมาย
สิ่งที่โดดเด่นของวัดห้วยปลากั้ง มี 3 จุด ตั้งอยู่ติดๆ กันเลยครับ โดยผมขอเริ่มที่ องค์เจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กับความสูงถึง 79 เมตร หรือเทียบเท่ากับตึก 25 ชั้น ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินเขาลูกเล็กๆ โดยมีรูปปั้นมังกรขนาดใหญ่สีขาวทอดตัวขึ้นไปยังองค์เจ้าแม่กวนอิม ดูอ่อนช้อย สวยงาม และน่าเกรงขามทีเดียว
ภายในองค์เจ้าแม่กวนอิม สามารถขึ้นไปชมทิวทัศน์มุมสูงของวัดห้วยปลากั้งได้ โดยมีบันไดให้เดินขึ้นไป แต่ปัจจุบันไม่อนุญาตให้เดินขึ้นแล้ว แต่จะมีลิฟต์ไว้บริการนำขึ้นไปยังชั้น 25 โดยมีค่าบริการขึ้น-ลง คนละ 20 บาท เมื่อขึ้นไปถึงชั้น 25 แล้ว จะพบประติมากรรมบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าแม่กวนอิมครับ
วิวที่มองออกไปจากจุดชมวิวบนชั้น 25 ในองค์เจ้าแม่กวนอิมครับ
เชื่อกันว่าหากใครมาขอพรในเรื่องสุขภาพ การงาน การเงิน จะได้พรนั้นกลับไป
ถัดจากองค์เจ้าแม่กวนอิม จะเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถสีขาว ที่มีลวดลายปูนปั้นทั้งหลัง ภายในประดิษฐานองค์พระประธานสีขาวและยังมีลวดลายปูนปั้นที่งดงามครับ
และจุดสุดท้าย อยู่ถัดจากพระอุโบสถสีขาว มีความโดดเด่นไม่แพ้องค์เจ้าแม่กวนอิมเลย นั่นคือ พบโชคธรรมเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงแหลม 9 ชั้น ที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและล้านนา ดูแปลกตาเลยทีเดียว ตัวหลังคามีสีแดง ด้านหน้าองค์เจดีย์มีรูปปั้นมังกรคู่คอยปกปักษ์อยู่หน้าเจดีย์ ล้อมรอบด้วยเจดีย์องค์เล็กๆ 12 องค์ ภายในองค์เจดีย์ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมปางประทับยืนขนาดใหญ่สูงราวตึก 2 ชั้น ที่แกะสลักจากไม้จันทร์หอมที่นำมาจากประเทศจีน อินเดีย และพม่าครับ
จากวัดห้วยปลากั้ง ผมเดินทางต่อสู่วัดร่องขุ่น วัดที่ไม่แวะไม่ได้ เพราะถ้าพูดถึงวัดในจังหวัดเชียงราย ต้องนึกถึงวัดร่องขุ่นเป็นลำดับแรกครับ
วัดร่องขุ่น ออกแบบและก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ โดยสร้างขึ้นจากความมุ่งมั่นที่จะรังสรรค์งานศิลปะที่งดงามออกสู่สายตาชาวโลก การออกแบบสถาปัตยกรรมของอาจารย์เฉลิมชัย ได้นำเอาวัฒนธรรมของล้านนาเข้ามาผสมผสานได้อย่างงดงามลงตัว อุโบสถสีขาวที่มีลวดลายปูนปั้นอ่อนช้อย บวกกับการประดับประดาด้วยกระจกสีเงินแวววาว โดยมีสระน้ำเล็กๆ อยู่เบื้องหน้า ยามต้องแสงแดดจะเกิดเงาสะท้อนน้ำ ดูงดงามเป็นอย่างมากครับ
การสร้างแต่ละสิ่งอย่างล้วนมีความหมาย ซึ่งกลั่นกรองมาจากความคิดของอาจารย์อย่างลึกซึ้ง โดยก่อนที่เราจะเข้าสู่อุโบสถที่ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่วัด เราจะต้องเดินข้ามสะพาน ซึ่งมีความหมายว่า การเดินข้ามวัฎสงสารมุ่งสู่พุทธภูมิ ครึ่งวงกลมเล็กหมายถึงโลกมนุษย์ วงใหญ่ที่มีเขี้ยวเป็นปากของพญามารหรือพระราหู ซึ่งหมายถึงกิเลสในใจแทนขุมนรกคือทุกข์ ผู้ที่จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพุทธภูมิจะต้องตั้งจิต ปลดปล่อยกิเลส ตัณหาของตนเองลงไปในปากพญามาร เพื่อชำระจิตให้ผ่องแผ้วบริสุทธิ์ก่อนที่จะเดินผ่านขึ้นไป โดยมีพระราหูอยู่เบื้องซ้าย พญามัจจุราอยู่เบื้องขวาครับ
ส่วนสระน้ำที่อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ ไม่ได้มีไว้เพื่อความสวยงามนะครับ สระน้ำมีความหมายถึงสีทันดรมหาสมุทร มีสวรรค์ตั้งอยู่ด้วยกัน 6 ชั้น ผ่านสวรรค์ 6 เดินลงไปสู่พรหม 16 ชั้น แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 16 ดอกรอบพระอุโบสถครับ
สำหรับอุโบสถ ถูกเนรมิตให้เหมือนสรวงสวรรค์ วิมานบนดินที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้ อุโบสถเปรียบเสมือนบ้านของพระพุทธเจ้า สีขาวแทนพระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า กระจกขาวหมายถึงพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่เปล่งประกายไปทั่วโลกมนุษย์และจักรวาลครับ
วัดร่องขุ่นเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30 – 18.00 น. โดยคนไทยเข้าชมได้ฟรี เป็นวัดที่เมื่อมาเชียงราย ต้องห้ามพลาดมาเที่ยวชมด้วยประการทั้งปวงครับ
จากวัดร่องขุ่น ผมมุ่งหน้าสู่ Jadae House บนดอยช้าง ซึ่งเป็นที่พักของผมในคืนนี้ครับ
คืนนี้ผมจองห้องพักแบบ Standard ไว้ ในราคา 2,200 บาท ราคาห้องรวมอาหารเช้าแล้วครับ
ห้องพักมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าอยู่ตรงกลาง เมื่อเปิดประตูเข้ามา ด้านซ้ายจะเป็นห้องนอน ด้านขวาจะเป็นพื้นที่ห้องน้ำ โดยมีประตูบานเลื่อนเป็นตัวแบ่งพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนอย่างชัดเจน
ในพื้นที่ห้องนอนตกแต่งแบบง่ายๆ เตียงขนาด Queen size มีตู้เย็น กาต้มน้ำร้อน และไดร์เป่าผม แต่ไม่มีทีวีให้ครับ นอกจากนี้ยังมีมาม่าคัพและขนมปังเลเยอร์เค้กเอลเซ่ ให้อย่างละ 2 ชุด ผนังห้องข้างหนึ่งเป็นกระจกบานใหญ่ ที่สามารถชมวิวด้านนอกได้แบบเต็มๆ แต่วิวเป็นพื้นที่ว่างเปล่า และมองเห็นถนน นี่ถ้าเป็นวิวที่เห็นเป็นทะเลภูเขา คงจะดีไม่น้อย สิ่งที่ขัดใจเอามากๆ คือ ทั้งห้องมีปลั๊กไฟให้เพียง 2 ช่องเท่านั้น แถมอยู่ตรงหลังตู้เย็นอีกด้วย
สำหรับพื้นที่ในส่วนของห้องน้ำ จะแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ อ่างอาบน้ำ ที่มีผนังข้างหนึ่งเป็นกระจกบานใหญ่ มองเห็นวิวเดียวกันกับห้องนอน อีกส่วนเป็นโถสุขภัณฑ์ ซึ่งจะอยู่ด้านในสุด อีกส่วนคือพื้นที่อาบน้ำแบบ Rain Shower ครับ
ดูห้องพักแล้ว ไปดูพื้นที่ในส่วนอื่นบ้าง เริ่มที่ IRONDark Café ตัวคาเฟ่ออกแบบในโทนสีดำ พื้นที่ค่อนข้างกว้างขวาง ผนังกรุด้วยกระจกรอบด้าน ทำให้มองเห็นวิวภูเขาได้แบบสวยงามเต็มตา นอกจากนี้ยังมองเห็นหมู่บ้านดอยช้างด้วยครับ
ช่วงเวลาที่เป็นไฮไลต์ของที่นี่ ขอยกให้ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์กำลังตกดินครับ โดยเราสามารถมานั่งรอชมพระอาทิตย์ตกดินบริเวณระเบียงชมวิว ซึ่งเป็นพื้นที่ห้องอาหารในส่วน Out door ที่ติดกับส่วนคาเฟ่ โดยทางรีสอร์ทได้จัดเตรียมเบาะโฟมให้นั่งเล่น แถมยังมีเก้าอี้ที่ทำจากโครงเหล็กวงกลมสีดำ หมุนได้แบบ 360 องศา โดยมุมนี้เนื้อหอมมากๆ เพราะมีเพียง 1 ตัวเท่านั้น ช่วงเย็นนี่แทบจะเป็นการเล่นเก้าอี้ดนตรีเลยครับ เพราะมุมนี้ถ่ายภาพออกมาสวยมาก
ค่ำนี้ผมฝากท้องไว้กับห้องอาหารของทางรีสอร์ท โดยได้ กุ้งผัดซอสมะขาม เมนูนี้ 95 บาท
ข้าวไข่เจียวหอมชู+ข้าวอัญชัน เมนูนี้ 80 บาท
สปาเก็ตตี้ขี้เมาทะเล เมนูนี้ 149 บาท
หลังมื้อค่ำ แยกกันพักผ่อนครับ ไหนๆ ก็จองห้องแบบมีอ่างอาบน้ำแล้ว แถมทางรีสอร์ทมี Bubble Bath ให้ด้วย เลยขอจัดสักหน่อย น้ำอุ่นๆ ท่ามกลางอากาศเย็นๆ เวลาแช่แล้วสบายตัวมากๆ ครับ หลังอาบน้ำเสร็จก็ตั้งใจจะรีบพักผ่อน แต่..กว่าผมจะข่มตาหลับได้ ต้องรอจนกว่าห้องข้างบนเขาหลับนอนกัน เพราะห้องพักไม่เก็บเสียงเอาซะเลย ห้องข้างบนก็ไม่รู้ขยันอะไรนักหนา ลากโน่นนี่นั่นทั้งคืน
สำหรับอาหารเช้ามีให้เลือก 2 เมนู คือ ข้าวต้มสูตรชนเผ่า หรือ ABF และมีน้ำส้มให้ 1 แก้วครับ ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมทางรีสอร์ทถึงได้เตรียมมาม่าคัพไว้ให้ที่ห้อง 555
หลังมื้อเช้า ผมมุ่งหน้าสู่ Akha Farmville ฟาร์มแกะที่ดูธรรมดาแต่บอกเลยว่าไม่ธรรมดาอย่างที่คิด การเข้าชม Akha Farmville มีค่าบริการคนละ 100 บาท โดยหางบัตรสามารถนำไปแลกเครื่องดื่มได้ 1 แก้วครับ
Akha Farmville ตั้งอยู่ตรงจุดชมวิว กม.5+475 บนดอยช้างเลยครับ กินพื้นที่กว่า 30 ไร่ ผมเคยไปดูฟาร์มแกะที่นิวซีแลนด์มาแล้ว บอกได้เลยว่า ที่ Akha Farmville บรรยากาศดีกว่าที่นิวซีแลนด์อีกครับ เพราะบรรยากาศของ Akha Farmville อยู่ในอ้อมกอดของขุนเขา หากมาในช่วงที่อากาศเหมาะๆ บริเวณรอบๆ ฟาร์มจะมีทะเลหมอกปุยๆ มาลอยแข่งกับขนปุยๆ ของน้องแกะที่นี่ด้วยครับ แกะที่นี่สายพันธุ์คอร์ริเดลล์ มีความคุ้นเคยกับคนมากๆ คือเราสามารถเข้าไปกอดและเซลฟี่กับน้องแกะได้แบบใกล้ชิด น้องขนฟู นุ่ม และดูสะอาดตา นอกจากน้องแกะแล้ว ยังมีสุนัขต้อนแกะ สายพันธ์สตรองอาย 2 ตัว ที่จะคอยปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงน้องแกะอย่างแข็งขันตามคำสั่งของผู้เลี้ยงครับ
สำหรับใครที่อยากจะถ่ายรูปสวยๆ คู่กับน้องแกะ แนะนำว่าต้องเอาอาหารมาหลอกล่อครับ โดยทางฟาร์มได้จัดเตรียมอาหารเม็ด และแครอทเอาไว้จำหน่าย ในราคาถาดละ 30 บาท
ช่วงที่ฟาร์มแกะสวยที่สุด ผมว่าเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว เพราะจะมีทะเลหมอกฟูๆ มาคลอเคลียแบบใกล้แค่เอื้อม แถมทุ่งหญ้าก็จะดูเขียวขจีเลยครับ
Akha Farmville เปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยวันจันทร์-พฤหัส เปิดตั้งแต่ 07.30 น.-17.30 น. ส่วนวันศุกร์-อาทิตย์ เปิดตั้งแต่ 07.30 น.-18.00 น. ครับ
จาก Akha Farmville ผมตีตั๋วยาวมุ่งหน้าสู่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยปักหมุดที่วัดหลวงขุนวินครับ
ถ้าพูดถึงเชียงใหม่ หลายคนคงนึกถึงศิลปวัฒนธรรม วัดวาอารามที่งดงาม เฉพาะในคูเมืองเชียงใหม่ มีวัดที่น่าสนใจนับสิบๆ วัด รอบนี้ผมมีโอกาสได้มาสัมผัสกับวัดเล็กๆ ที่อยู่ในอ้อมกอดของขุนเขาในอำเภอแม่วาง นั่นคือวัดหลวงขุนวิน วัดที่ดูภายนอกอาจจะดูไม่เก่าแก่อะไร แต่ถ้าสืบประวัติกันจริงๆ วัดแห่งนี้มีอายุยาวนานกว่า 700 ปีเลยครับ วัดแห่งนี้เคยถูกทิ้งให้เป็นวัดร้าง และได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ในรูปโฉมปัจจุบันครับ
เพียงแค่ก้าวเท้าเข้าสู่พื้นที่ของวัด ก็ต้องมาสะดุดตากับบันไดพญานาคที่สร้างจากงานปูนปั้นสีขาว ที่ดูน่าเกรงขาม ขั้นบันไดออกแบบให้คล้ายเกล็ดของพญานาค ครับ
สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของวัดหลวงขุนวิน คงต้องยกให้อุโบสถสองหลัง ที่สร้างขึ้นจากไม้ทั้งหลัง พร้อมลวดลายแกะสลักที่อ่อนช้อย ตามสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทย หลังแรกเป็นอุโบสถพระนอน ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปไม้ปางปรินิพพาน ที่แกะสลักอย่างงดงาม
อีกหลังเป็นอุโบสถพระยืน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปไม้ปางจงกรมแก้ว ความสูง 9 เมตร แกะสลักมาจากต้นไม้ใหญ่เพียงต้นเดียว
นอกจากอุโบสถ 2 หลังแล้ว ยังมีอาคารไม้เก่าแก่และเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมไปถึงพระพุทธรูปไม้แกะสลักอีกมากมายให้ได้เที่ยวชมท่ามกลางผืนป่าใหญ่
ใครที่จะมาชมความงดงามของวัดหลวงขุนวิน แนะนำให้ใช้รถ 4WD นะครับ เพราะช่วง 5 กิโลเมตรสุดท้าย ถนนค่อนข้างสมบุกสมบันเลยทีเดียว แต่ถ้าใครสงสารรถ สามารถติดต่อเหมารถรับ-ส่งได้ ในราคาเที่ยวละ 600 บาท (นั่งได้ไม่เกิน 8 คน) โดยขาขึ้นให้บริการตั้งแต่เวลา 08.30 – 15.00 น. สำหรับขาลง มีบริการทุก 1 ชั่วโมง โดยรอบสุดท้าย เวลา 15.30 น. สามารถติดต่อสอบถามได้ที่คุณจรัล 093-2851395 ครับ
จากวัดหลวงขุนวิน ผมมุ่งหน้าสู่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่หน่วยย่อยแม่จอนหลวง หรือแม่จอนหลวง ซึ่งจะเป็นที่พักของผมในคืนนี้ ระหว่างทางขอแวะจิบเครื่องดื่มเย็นๆ ที่ “กาแฟกับช้าง” กันก่อนครับ
โดยร้านกาแฟกับช้างเป็นร้านขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม ที่เราสามารถนั่งชิลๆ จิบเครื่องดื่มไปพร้อมๆ กับดูช้างไปด้วย ซึ่งน้องๆ ก็จะอยู่ในรั้วตรงที่เรานั่งจิบเครื่องดื่มนั่นเองครับ ช่วงที่ผมไปมีช้างอยู่ 3 เชือก เราสามารถซื้ออาหารเลี้ยงน้องๆ ได้ด้วย ในราคาชุดละ 30 บาท โดยจะมีควาญช้างคอยดูแลความปลอดภัยให้กับเราในขณะที่ให้อาหารน้องช้างด้วยครับ
สำหรับคืนนี้ ผมจองห้องพักที่แม่จอนหลวงไว้ครับ โดยห้องพักที่ได้อยู่ริมหน้าผาเลย ซึ่งเราสามารถชมพระอาทิตย์ตกดินและทะเลหมอกตอนเช้าได้จากระเบียงหน้าห้องพักเลยครับ (ผมลืมถ่ายบรรยากาศในห้องพักมาให้ชมครับ)
ภายในแม่จอนหลวงมีการตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับ นอกจากนี้ยังมีไม้ผลเมืองหนาวให้ได้ชมกันด้วย ช่วงที่ผมไปมีผลผลิตสตรอว์เบอร์รี่ และ แมคคาเดเมียด้วยครับ
ช่วงที่พระอาทิตย์ตก สามารถชมได้จากหน้าระเบียงห้องเลยครับ
ช่วงเย็นก็มาฝากท้องที่ร้านค้าสวัสดิการของแม่จอนหลวง รสชาติอาหารอร่อยใช้ได้เลยครับ
เช้านี้ เปิดห้องพักมาก็พบกับทะเลหมอก ถึงแม้หมอกจะมาไม่เต็มที่ แต่ก็ยังโชคดีที่ได้เห็นทะเลหมอกครับ
มื้อเช้าผมฝากท้องไว้ที่เดิม โดยได้ข้าวต้มเบญจรงค์ บอกเลยว่าดีงามมากๆ หากบอกว่าตั้งแต่กินข้าวต้มมาที่นี่อร่อยสุด ก็อาจจะดูเวอร์ไป เอาเป็นว่า เป็นข้าวต้มที่ผมปลื้มมากๆ ครับ ข้าวต้มใส่ธัญพืช 5 สี ประกอบด้วย แครอท ข้าวโพด เห็ดหอม เม็ดถั่วลันเตา หัวไชเท้า แถมหมูปั้นก้อนมาแบบไม่หวงเลยครับ รวมๆ แล้ว ปริมาณของเครื่องที่กล่าวมาข้างต้นจะมากกว่าปริมาณของข้าวขาวซะอีกครับ
หลังอาหารเช้า ผมมุ่งหน้าสู่ศูนย์เกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแม่จอนหลวงมากนัก
ไฮไลท์ของการมาเที่ยวขุนวางในช่วงเดือนมกราคม (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพความหนาวเย็นของอากาศ) จะเป็นช่วงที่ดอกนางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่ง ทำให้พื้นที่ภายในขุนวางเต็มไปด้วยสีชมพูของดอกนางพญาเสือโคร่งครับ
จากทางเข้า เราต้องเดินเท้าอีกประมาณ 300 เมตร เพื่อไปยังจุดที่เป็นไฮไลท์ นั่นคือ อุโมงค์นางพญาเสือโคร่ง จุดที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องมา ผมเองมาหลังจากที่ดอกนางพญาเสือโคร่งบานเลยช่วงพีคไปแล้วประมาณ 3-4 วัน ใบอ่อนเริ่มแทงยอด ดอกเริ่มร่วงโรย แต่บอกเลยว่า ความสวยงามของอุโมงค์แห่งนี้ก็ยังสวยสะพรั่งสีชมพู ดูแล้วสดชื่นหัวใจจริงๆ นอกจากนี้ ยังมีดอกนางพญาเสือโคร่งสีขาว ให้ได้ชมกันอีกด้วย ดอกสีขาวก็สวยงามแปลกตาไม่น้อยหน้าสีชมพูเลยครับ
สำหรับปีหน้า ใครต้องการมาชมความสวยงามของอุโมงค์นางพญาเสือโคร่งแห่งนี้ แนะนำเลยว่า ช่วงกลางเดือนธันวาคมเป็นต้นไป ให้คอยติดตามหน้าเพจของเกษตรหลวงขุนวางอย่างใกล้ชิด เพราะทางเพจจะพยากรณ์ และรายงานการบานของดอกนางพญาเสือโคร่งให้ได้รับทราบกันเป็นระยะๆ ครับ
หลังจากชมความสวยงามของอุโมงค์นางพญาเสือโคร่งกันแล้ว ก่อนขึ้นรถไปเที่ยวต่อ ขอแวะกระจายรายได้ให้กับชาวเขาสักหน่อย โดยบริเวณลานจอดรถ จะมีร้านรวงของชาวเขาเอาผลิตผลมาจำหน่ายมากมายเลยครับ
จากขุนวาง ผมเดินทางต่อสู่ โปโป&ปิงปิง คาเฟ่เล็กๆ สไตล์ญี่ปุ่น ที่อยู่ระหว่างเส้นทางขุนวาง-ดอยอินทนนท์ ถึงแม้จะเป็นคาเฟ่เล็กๆ แต่ขอบอกเลยว่า มุมถ่ายรูปเยอะมากๆ ครับ นอกจากจะเป็นคาเฟ่แล้ว ด้านข้างยังทำเป็นโฮมสเตย์สไตล์ญี่ปุ่นอีกด้วยครับ
การเข้าชมที่นี่มีค่าบำรุงสถานที่คนละ 20 บาท โดยหางบัตรสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดอาหารและเครื่องดื่มได้
จากโปโป&ปิงปิง นั่งรถต่ออีกเล็กน้อย ก็ถึงจุดหมายต่อไป นั่นคือ ผาซากุระขุนวาง ซึ่งช่วงเวลาที่ผมไปนั้น ด้านหน้าของผาซากุระบริเวณที่จอดรถ เป็นจุดที่ดอกนางพญาเสือโคร่งกำลังบานสะพรั่งเลย ดอกฟูฟ่องมากกว่าอุโมงค์นางพญาเสือโคร่งที่ขุนวางอีกครับ เห็นบรรยากาศสีชมพูด้านหน้าผาซากุระแล้ว แอบนึกเสียดายมากๆ ที่ผมมาถึงขุนวางช้าไปเพียงไม่กี่วัน
เลยจากผาซากุระไปเล็กน้อย ยังมีอีกหนึ่งจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่ง นั่นคือ สะพานซากุระ (ขุนวาง) ซึ่ง ณ ตอนนั้น ใบอ่อนทยอยแทงยอด แทนดอกที่ร่วงโรยไปจนเขียวเกือบหมดทุกต้นแล้ว ผมจึงข้ามสะพานซากุระไป แต่ไปแวะที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์แทนครับ
ดอกนางพญาเสือโคร่งที่ศูนย์ฯ รองเท้านารี บางต้น ยังคงฟูฟ่อง มีนกหลากสีสันบินมาดูดน้ำหวาน เพิ่มความมีเสน่ห์ให้กับการชมดอกนางพญาเสือโคร่งขึ้นอีกเยอะเลยครับ
จุดที่เป็นไฮไลท์ของการชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่ศูนย์ฯ รองเท้านารี อยู่บริเวณริมบึงน้ำเล็กๆ แห่งนี้ เพราะจะแวดล้อมไปด้วยต้นนางพญาเสือโคร่ง สิ่งที่ทำให้บึงน้ำแห่งนี้พิเศษกว่ามุมอื่นๆ คือ เราจะเห็นเงาสะท้อนของดอกนางพญาเสือโคร่งในน้ำ เพิ่มความเป็นสีชมพูขึ้นไปอีกครับ
สารภาพเลยว่า ผมเคยมาที่ศูนย์ฯ รองเท้านารี 2 รอบแล้ว แต่ไม่เคยได้เข้าไปชมดอกกล้วยไม้รองเท้านารี ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้สักครั้งเดียว เพราะผมมัวแต่หลงระเริงกับสีชมพูของดอกนางพญาเสือโคร่งจนลืมความเป็นเจ้าของบ้านไปเลย มารอบนี้เลยขอเข้าไปสำรวจศูนย์ฯ กันสักเล็กน้อยครับ
ด้านในของศูนย์ฯ รองเท้านารี จะมีเรือนเพาะชำสำหรับปลูกกล้วยไม้รองเท้านารีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น รองเท้านารีอินทนนท์ รองเท้านารีคางกบ รองเท้านารีเหลือปราจีน ฯลฯ
การเข้าชมศูนย์ฯ รองเท้านารี สามารถเข้าชมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ครับ
จากศูนย์ฯ รองเท้านารี เดินทางกันต่อ ระหว่างทางมองเห็นน้ำตกสิริภูมิอยู่ข้างทาง เลยแวะเก็บภาพกันสักเล็กน้อย
จากนั้นผมแวะชมความสวยงามของน้ำตกวชิรธาร ซึ่งจะเรียกว่าเป็นน้ำตกข้างทางก็คงไม่ผิดนัก เพราะเลี้ยวเข้ามาจากถนนใหญ่ประมาณ 600 เมตรเท่านั้น เส้นทางที่แยกออกมาจากถนนใหญ่ค่อนข้างแคบ ควรขับด้วยความระมัดระวัง
น้ำตกวชิรธารเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่เข้าถึงได้ง่าย เดินจากลานจอดรถประมาณ 5 นาทีก็ถึงตัวน้ำตกแล้วครับ เดิมน้ำตกวชิรธารชื่อน้ำตกตาดฆ้องโยง เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ 1 ชั้น มีความสูงประมาณ 70 เมตร ยามที่ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงมาจากหน้าผา ตรงดิ่งสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง จะเกิดละอองน้ำฟุ้งกระจายไปทั่ว เมื่อละอองน้ำต้องกับแสงอาทิตย์จะเกิดเป็นสายรุ้งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนครับ
ลงจากดอยอินทนนท์ ผมมุ่งหน้าสู่อำเภอแม่สะเรียง โดยเลือกใช้ทางหลวงหมายเลข 108 เพื่อต้องการจะแวะเที่ยวระหว่างทาง โดยจุดแรกขอแวะยืดเส้นยืดสายกันที่อุทยานแห่งชาติออบหลวงครับ
คำว่า “ออบ” เป็นภาษาท้องถิ่น แปลว่า ช่องแคบ ส่วนคำว่า “หลวง” หมายถึง ใหญ่ เมื่อผสมคำแล้ว มีความหมายถึง ช่องหินขนาดใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆ ของอุทยานแห่งชาติออบหลวง ก็ตรงตามชื่อเลยครับ นั่นคือช่องแคบเขาขาด ที่มีหน้าผาหิน ขนานไปกับลำน้ำแม่แจ่ม ทำให้เกิดหุบเขาผาลึก ลักษณะคล้ายกับหน้าผากำลังจูบกัน โดยส่วนที่แคบที่สุดกว้างเพียง 2 เมตร มีลำน้ำเชี่ยวไหลผ่าน ด้านบนของหน้าผา ทางอุทยานได้สร้างสะพานเพื่อเชื่อมช่องขาดทั้งสอง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถข้ามจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้ โดยอีกฝั่งหนึ่งของหน้าผาจะมีหลุมฝังศพของมนุษย์โบราณ โครงกระดูกของมนุษย์ในสมัยยุคสำริด รวมไปถึงภาพเขียนสีขาวที่บริเวณเพิงผาช้างครับ
สำหรับการเข้าชมออบหลวง มีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม ผู้ใหญ่คนละ 20 บาทครับ สามารถจอดรถไว้ด้านหน้าอุทยานได้ แล้วเดินออกกำลังกายกันนิดหน่อย จะได้ประหยัดค่าธรรมเนียมยานพาหนะครับ
จากออบหลวง ขับรถต่ออีกนิดหน่อย ด้านซ้ายมือก็จะพบกับสวนสนบ่อแก้ว สถานีทดลองปลูกสนภูเขาชนิดต่างๆ ที่นำพันธุ์มาจากต่างประเทศ มาทดลองปลูกเพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ มาปลูกบนป่าเสื่อมโทรมบนดอยทางภาคเหนือ โดยเริ่มปลูกกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 จำนวนหลายพันต้นเลยครับ ผมว่าจุดนี้เป็นจุดพักรถที่ดีมากๆ เพราะวิวที่อยู่เบื้องหน้าจะเป็นภาพของต้นสนที่เรียงรายเป็นระเบียบ และจะมีถนนอยู่หนึ่งเส้นทอดยาวหายไปในดงสน เป็นภาพที่สวยงามมากๆ นี่ถ้าช่วงเช้าได้หมอกบางๆ ปกคลุมในดงสนด้วยแล้ว คงเป็นภาพที่โรแมนติกมากมายแน่ การเข้าชมสวนสนบ่อแก้ว ไม่เสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใดครับ ฝั่งตรงข้ามสวนสนมีร้านกาแฟเล็กๆ ด้วย
จากสวนสนบ่อแก้ว ผมตียาวไปยัง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนครับ การมาแม่ฮ่องสอนทางเส้นทางนี้ จะไม่โหดเท่าการไปแม่ฮ่องสอนทาง อ.ปายครับ
อำเภอแม่สะเรียง ดินแดนแห่งธรรมชาติและพระธาตุสี่จอมอันเก่าแก่ ที่มีศิลปะพื้นเมืองที่แตกต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ เพราะได้รับอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจากพม่า สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหุบเขาสลับซับซ้อน มีอาณาเขตติดกับชายแดนไทยพม่า และยังเป็นเมืองผ่านไปยังอำเภออื่นๆ ของแม่ฮ่องสอน อำเภอแม่สะเรียงจึงเปรียบเสมือนประตูสู่แม่ฮ่องสอนครับ
เนื่องจากผมเลือกอำเภอแม่สะเรียงเป็นเพียงจุดพักค้างคืน แถมยังมีเวลาอยู่ในอำเภอแม่สะเรียงน้อยมาก จึงไม่สามารถไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างการล่องเรือในแม่น้ำสาละวินได้ (ผมเคยล่องเรือในแม่น้ำสาละวินมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อกว่า 15 ปีก่อน จนลืมภาพความสวยงามไปแล้ว) จึงวางแผนตะเวนไหว้พระเท่าที่เวลาจะเพียงพอเท่านั้น โดยจุดหมายแรกผมปักหมุดที่ วัดถ้ำพระ แต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นเพียงสำนักสงฆ์ มีขื่อว่า สำนักสงฆ์ถ้ำพระโบราณ (ถ้ำเหง้า) ต่อมาได้มีการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ และได้รับการจัดตั้งให้เป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2553 โดยวัดแห่งนี้เป็นวัดธรรมยุตอย่างถูกต้องแห่งแรกของอำเภอแม่สะเรียงครับ
ปัจจุบันทางวัดกำลังก่อสร้างพระอุโบสถศิลปะแบบล้านนาอยู่ ถึงแม้พระอุโบสถยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ ณ สภาพปัจจุบัน ก็เห็นถึงความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมที่ช่างรังสรรค์ปั้นแต่งได้อย่างน่าชื่นชม โดยพระอุโบสถจะมี 2 ชั้น ชั้นบนประดิษฐานพระประธานครับ
ส่วนชั้นล่างเป็นที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อทันใจหินเขียว จากหินแม่น้ำโขงครับ
วัดต่อไปคือวัดศรีบุญเรือง วัดที่มีความโดดเด่นในเรื่องความงดงาม ที่สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า ตามสถาปัตยกรรมแบบพม่าผสมไทยใหญ่ โดยเฉพาะศาลาหลังใหญ่และพระอุโบสถที่มีหลังคาฉลุด้วยไม้ตามศิลปะผสมผสานแบบกรีกรามัญ เรียงซ้อนกันลักษณะเป็นทรงปราสาทสูงครับ
สิ่งที่น่าสนใจของวัดศรีบุญเรือง อยู่ที่ศาลาหลังใหญ่ที่สร้างตามแบบศิลปะไทใหญ่ ใช้เป็นทั้งวิหาร กุฏิ และศาลาการเปรียญ
ในส่วนของพระอุโบสถ ถึงจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่พระอุโบสถหลังนี้อัดแน่นด้วยความงดงาม ภายในตกแต่งด้วยงานไม้พร้อมลวดลายฉลุที่อ่อนช้อยงดงาม มีพระพุทธรูปที่สร้างจากหยกขาวเป็นพระประธานแบบพม่า นับเป็นพระพุทธรูปหยกขาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยความสูง 6 ฟุต 9 นิ้ว ฐานกว้าง 48 นิ้ว โดยองค์พระแกะสลักจากเมืองมัณฑาเลย์ ประเทศพม่า แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดศรีบุญเรืองเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่ ร.9 ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ด้านหน้าพระประธานประดิษฐานหลวงพ่อทันใจที่มีนามว่า พระนวราชบพิตรประสิทธิ์ชัยครับ
ติดกับวัดศรีบุญเรืองเป็นที่ตั้งของวัดจองสูง วัดที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2381 เจ้าอาวาสในสมัยนั้นเป็นพระไทยใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ.2431 เมืองยวม (แม่สะเรียง) ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ และวัดแห่งนี้ก็ได้รับความเสียหายไปด้วย ชาวบ้านจึงได้รวบรวมปัจจัย ร่วมแรงร่วมใจสร้างวัดนี้ขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2439 และเรียกวัดจองสูงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สิ่งที่โดดเด่นของวัดแห่งนี้คือพระเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญสามองค์ โดยพระเจดีย์องค์ทางทิศตะวันตกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ครับ
ส่วนพระเจดีย์องค์กลางไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่เดิมเป็นพระเจดีย์ที่เก่าเหลือเพียงครึ่งองค์ และมีการพบผอบทองรูปเต่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ข้างใน ต่อมาได้มีการบูรณะพระเจดีย์ขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2499 ครับ
ส่วนเจดีย์องค์สุดท้ายเป็นเจดีย์เจ็ดยอดแบบเจดีย์ชเวดากอง เดิมเป็นวิหารแบบไทยใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐ 9 องค์ ต่อมาเกิดไฟไหม้วิหารทั้งหมด เหลือเพียงพระพุทธรูปตากแดดตากฝนอยู่ จึงได้มีการก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่เพื่อบรรจุพระพุทธรูปที่เหลือจากไฟไหม้ครั้งนั้นครับ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับวัดจองสูง ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบพม่าผสมไทยใหญ่แทบทั้งสิ้น
ถึงเวลาต้องเข้าที่พักแล้ว คืนนี้ผมเข้าพักที่ Riverhouse Resort ซึ่งอยู่ห่างจากวัดจองสูงเพียง 220 เมตรเท่านั้นเอง ภายในลอบบี้ออกแบบให้ดูสูงโปร่ง ตกแต่งด้วยงานไม้ครับ
ห้องพักกว้างขวางเลยทีเดียว เฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างเป็นงานไม้ทั้งหมด ดูคลาสสิคดี มีระเบียงให้ออกไปสูดอากาศและชมวิวแม่น้ำยวมด้วยครับ
แม้กระทั่งในห้องน้ำ ก็ยังตกแต่งด้วยงานไม้ครับ
บรรยากาศด้านหลังรีสอร์ท ฝั่งที่ติดกับแม่น้ำยวมครับ
รีสอร์ทมีสระว่ายน้ำด้วย แต่สระว่ายน้ำจะอยู่ด้านข้างของรีสอร์ท ลักษณะเหมือนจะอยู่คนละส่วนกับพื้นที่รีสอร์ท แขกต้องเดินออกมาบริเวณทางเดินริมแม่น้ำยวม แล้วจึงเดินเข้าไปยังพื้นที่ที่เป็นสระว่ายน้ำของรีสอร์ทครับ
เย็นนี้ผมฝากท้องไว้ที่ห้องอาหารของรีสอร์ท หลังมื้อค่ำต้องรีบพักผ่อน เพราะวันรุ่งขึ้นผมต้องรีบออกเดินทางกันแต่เช้า เพื่อไปปฏิบัติอีกหนึ่งภารกิจของทริปนี้ นั่นคือการตามล่าหมอกที่กลอเซโลครับ
ผมออกเดินทางราว 05.30 น. เพื่อมุ่งหน้าสู่อำเภอสบเมย ช่วงเช้ามืดยามนี้ทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดีเอาซะเลยครับ เส้นทางทั้งโค้ง บางช่วงก็ขึ้นเขา มืดก็มืด แถมยังมีหมอกปกคลุมเส้นทางอีกด้วย จึงทำได้เพียงค่อยๆ ขับไปด้วยความระมัดระวัง จนฟ้าเริ่มมีแสง การขับขี่เริ่มง่ายขึ้น แต่ผิวจราจรเริ่มไม่เอื้ออำนวยต่อการทำความเร็วแล้ว ถนนบางช่วงก็มีเศษดินถล่มมาปิดเกือบครึ่งผิวจราจร การเดินทางเพื่อขึ้นไปยังจุดชมวิวกลอเซโล แนะนำรถ 4x4 หรือรถมอเตอร์ไซด์วิบากเท่านั้น (ในช่วงหลังฤดูฝน ราวเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม รถปิคอัพธรรมดาค่อยๆ ขึ้น ก็ขึ้นได้แต่สงสารรถครับ) คนขับควรมีความชำนาญในการขับพอสมควร เพราะเส้นทางเป็นหลุมเป็นบ่อ มีฝุ่นหนา แคบ และสูงชัน สำหรับช่วงฤดูฝน เส้นทางจะโหดและอันตรายมากๆ แนะนำให้ติดต่อเหมารถชาวบ้านขึ้นไปจะดีที่สุดครับ
ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ก็มีทะเลหมอกหนาๆ มาให้เห็นแล้วครับ นี่แค่หมอกระหว่างทางยังขนาดนี้ แล้วตรงจุดชมวิว จะขนาดไหนเนี่ย...
จุดชมวิวทะเลหมอกกลอเซโล เป็นจุดชมวิวที่อยู่ในหมู่บ้านตามแนวชายแดนของไทย ที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขา ฝั่งหนึ่งเป็นประเทศไทย อีกฝั่งเป็นประเทศเมียนมา มีแม่น้ำสาละวินเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ในช่วงเช้าจะมีทะเลหมอกให้เห็นเกือบทุกวัน และทะเลหมอกจะปังมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม กลอเซโลจึงได้รับการขนานนามว่าเป็นจุดชมทะเลหมอกสองแผ่นดินครับ นอกจากจะได้ชมทะเลหมอกแล้ว หากใครมากางเต้นท์นอนด้านบน ช่วงเย็นยังสามารถชมพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าได้อีกด้วย หากใครต้องการมาสัมผัสกับกลอเซโลทั้ง 2 บรรยากาศ (ทั้งในช่วงพระอาทิตย์ตกดินและทะเลหมอกยามเช้า) สามารถมากางเต็นท์ได้ โดยมีลานกางเต็นท์บริการหลายจุด เช่น ขุนกลอเซโล, โรงเรียนบ้านกลอเซโล และจุดกางเต็นท์บ้านบุญเลอ เรื่องห้องน้ำไม่ต้องเป็นห่วง เพราะจุดกางเต็นท์มีบริการ ด้านบนไม่มีสัญญาณโทรศัพท์นะครับ แต่บางจุดมี Wifi บริการด้วย (มีค่าบริการ)
ผม “ลุงเสื้อเขียว” ตะเวนล่าทะเลหมอกตั้งแต่ภาคเหนือยันภาคใต้ บอกเลยว่า ไม่มีทะเลหมอกไหนที่จะฟินเท่ากับทะเลหมอกที่ กลอเซโล แล้วครับ หมอกฟู ลอยฟ่อง ตั้งแต่เช้าจน 11.00 น. หมอกยังเกาะตัวกันแน่นอยู่เลย เห็นแล้วต้องยอมถอดเสื้อเขียว หันมานุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว ยืนอาบลมห่มฟ้า ฟินไปกับทะเลหมอกสุดอลังที่อยู่ตรงหน้า ให้คุ้มค่ากับการเดินทางที่ลำบากลำบน ตลอดกว่า 20 กิโลเมตรที่นั่งรถหัวสั่นหัวคลอน กินฝุ่นมาตลอดทาง แถมยังต้องลุ้น เวลารถวิ่งสวนทาง เพราะเส้นทางแคบมาก ใครที่เป็นนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติ มาที่ “กลอเซโล” รับรองว่าต้องตกหลุมรักที่นี่อย่างแน่นอน
คงต้องจำใจอำลากลอเซโลแล้ว เพราะเส้นทางที่จะเดินทางกลับยังอีกยาวไกล แต่บอกเลย ถึงตัวจะจากไป แต่ใจยังอยู่ที่กลอเซโล ผมเลือกใช้เส้นทางสบเมย-ท่าสองยาง-แม่สอด ระหว่างทางเห็นป้ายจุดชมวิวแม่น้ำสองสี ก็เลยขอแวะชมให้เป็นขวัญตาซะหน่อย จากจุดจอดรถ เดินเข้าไปไม่ไกล ก็จะเห็นระเบียงชมวิว ที่มองเห็นแม่น้ำสองสีตามที่เขาโฆษณาจริงๆ ครับ
จุดชมวิวแม่น้ำสองสี เป็นจุดที่ แม่น้ำเงา (แบ่งกั้นดินแดนระหว่าง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน) กับแม่น้ำยวม ไหลมาบรรจบกัน โดยจะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมยและไหลออกสู่แม่น้ำสาละวิน โดยที่น้ำจากแม่น้ำเงาจะใสกว่าแม่น้ำยวม ส่วนน้ำที่มาจากแม่น้ำยวมจะมีสีเข้มขุ่นครับ การเข้าชมจุดชมวิวแม่น้ำสองสี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ครับ
ทริปนี้นับเป็นอีกหนึ่งทริปดีๆ ที่สร้างความประทับใจให้กับผมเป็นอย่างมาก ได้เห็นในสิ่งที่อยากเห็น หากเพื่อนๆ ท่านใดสนใจ อยากจะตามรอยทริปของผมก็สามารถนะครับ แต่อาจจะได้พบได้เห็นแตกต่างไปจากที่ผมได้เห็นบ้าง สถานที่บางแห่งในรีวิว อาจมีช่วงเวลานั้นๆ เพียงแค่ 1-2 สัปดาห์ อย่างการชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่ขุนวางหรือในหลายๆ สถานที่ตามรีวิว ถึงแม้ไม่ได้เห็นดอกนางพญาเสือโคร่ง แต่เพื่อนๆ ก็จะได้เห็นไม้ดอกและไม้ผลเมืองหนาวชนิดอื่นๆ แต่ถ้าหากว่าต้องการชมดอกนางพญาเสือโคร่งจริงๆ เพื่อนๆ อาจจะต้องคอยติดตามการพยากรณ์การบานของดอกนางพญาเสือโคร่ง รวมถึงการรายงานสถานการณ์บานของดอกนางพญาเสือโคร่งตามสื่อโซเชียลต่างๆ อย่างใกล้ชิดนะครับ ในสถานที่หนึ่งๆ จะมีความสวยงามในแต่ละช่วงฤดูที่แตกต่างกัน บอกเลยว่า 365 วัน มหัศจรรย์เที่ยวเมืองไทยได้ทุกวัน ขอให้เพื่อนๆ มีความสุขกับการเดินทางนะครับ
ปล.เข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ
ลุงเสื้อเขียว
วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 16.35 น.