หลังจากดื่มด่ำสีสันแห่งวิถีชีวิตในย่านเอมิโนนุจนเต็มอิ่มแล้ว เราพากันเดินข้ามสะพานกาลาตาสู่ฝั่งกาลาตา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ไม่มีแผนที่ในมือมักเข้าใจผิด คิดว่าฝั่งกาลาตาคือฝั่งทวีปเอเชีย แต่จริงๆแล้ว ฝั่งกาลาตายังเป็นฝั่งทวีปยุโรป เพียงแต่มีสายน้ำแห่งอ่าวโกลเดนฮอร์นทอดตัวขวางกั้น

ช่วงเวลาที่เดินข้าสะพานกาลาตา ผมแทบไม่รู้สึกเลยว่าสะพานแห่งนี้จะถูกสร้างเพื่อให้คน รถยนต์ และรถรางข้ามอ่าวโกลเดนฮอร์น แต่กลับรู้สึกว่าสะพานแห่งนี้เป็นเหมือนหนึ่งในจุดศูนย์กลางเมือง ที่ชาวเตอร์กีสพาลูกจูงหลาน หรือไม่ก็มากับเพื่อนฝูงเพื่อพักผ่อนกันตามมุมต่างๆของสะพาน โดยเฉพาะตลอดทางเดินบนสะพานนั้นเรียงรายไปด้วยชาวเตอร์กีสยืนถือคันเบ็ดเพื่อตกปลากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน 

บางคนได้ปลาจนเต็มถัง ในขณะที่บางคนได้ปลาแค่ไม่กี่ตัวจนถึงไม่ได้เลย แต่ก็ดูมีความสุขที่ได้ปล่อยอารมณ์ไปกับสายน้ำ หรือไม่ก็ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงระหว่างรอปลาติดเบ็ด อีกทั้งใต้สะพานยังทำเป็นร้านอาหารหลายร้าน แต่ละร้านมากไปด้วยผู้เสพความอร่อยมาใช้บริการ จนรู้สึกว่าสะพานกาลาตาแห่งนี้เป็นสะพานสารพัดประโยชน์จริงๆ

จากเชิงสะพานสู่หอคอยกาลาตานั้นไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถเดินแบบชิลล์ๆได้เลย เพราะฝั่งกาลาตานี้เป็นเนินสูง จึงต้องเดินสวนแรงโน้มถ่วงโลก จนหลังคาบ้านเรือนที่เคยอยู่สูงกว่า ค่อยๆต่ำลงจนเรามายืนมองหลังคาบ้านเรือนที่สร้างอย่างแออัดในระดับต่ำกว่าจุดที่เรายืน

ณ ตำแหน่งสูงสุดของยอดเนินย่านกาลาตาเป็นที่ตั้งของหอคอยกาลาตา ตั้งโดดเด่นด้วยความสูงถึง 66.9 เมตร จนไม่สามารถแหงนคอมองเห็นยอดหอคอยเบื้องบนได้ จนเห็นแค่เพียงผนังหอทรงกระบอกที่ก่อด้วยอิฐและหินก้อนโตแบบธรรมชาติ ที่ปราศจากการตกแต่งให้เกิดลวดลายใดๆ 

แต่สภาพที่เห็นในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากเมื่อเริ่มสร้าง เพราะครั้งแรกที่สร้างในสมัยไบแซนไทน์ เมื่อปีค.ศ.528 นั้นสร้างจากไม้ แต่โครงสร้างที่ทำจากไม้นั้นไม่สามารถต้านทานการกัดกร่อนจากวันเวลาได้ ในปีค.ศ.1348 จึงมีการรื้อโครงสร้างเดิมออกทั้งหมดแล้วเปลี่ยนเป็นอิฐและหินอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งเพราะโครงสร้างที่อับทึบเช่นนี้ นอกจากการเป็นหอสังเกตการณ์แล้ว ในช่วงการเปลี่ยนอำนาจจากอาณาจักรไบแซนไทน์ สู่อาณาจักรออตโตมัน หอคอยแห่งนี้จึงเคยถูกใช้เป็นคุกอีกด้วย

เพราะเป็นเวลาแดดร่มลมตกที่ใกล้เวลาพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า ทำให้เราใช้เวลาต่อคิวนานพอควรกว่าจะได้เข้าไปยังหอคอย ภายในนั้นมีลิฟท์พาเราขึ้นไปยอดหอคอย ซึ่งทำเป็นร้านอาหารที่สามารถนั่งทานอาหารไป ชมวิวไป จากจุดนี้มีบันไดวนให้เดินขึ้นสู่ชั้นบนสุดของหอคอย แม้หอคอยจะมีความสูง 66.9 เมตร แต่เมื่อรวมความสูงอันเกิดจากตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่บนเนินเขาแล้ว ทำให้หอคอยแห่งนี้มีความสูงมากถึง 140 เมตรจากระดับน้ำทะเล จึงเป็นจุดชมวิวอย่างดีในการชมเมืองอิสตันบูลทั้งฝั่งเมืองเก่า ย่านสุลต่านอาห์เมต ฝั่งกาลาตา รวมไปถึงฝั่งเอเชียที่มีช่องแคบบอสฟอรัสกั้นขวางสองทวีปให้แยกจากกัน 

ไม่ใช่แค่เพียงมัสยิดสุลต่านอาห์เมต แต่ไม่ว่าจะมองไปยังฝั่งไหนก็ล้วนเห็นยอดโดมและหอสูงของเหล่ามัสยิดตั้งโดดเด่นท่ามกลางบ้านเรือนที่อยู่กันอย่างหนาแน่น จึงเป็นประจักษ์พยานถึงการเป็นดินแดนแห่งศาสนาอิสลามตามชื่อเมืองอิสตันบูล ที่มีรากฐานมาจากชื่อเมืองว่า อิสลามบูล อันหมายถึงนครแห่งศาสนาอิสลามจริงๆ

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เวลา 09.31 น.

ความคิดเห็น