ช่วงนี้กระแสเมืองเฟือง ประเทศลาว กำลังมาแรง ผมเลยวางแผนที่จะไปสัมผัสกับเมืองเฟืองดูสักครั้ง เพราะกลัวว่าจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ทริปนี้ผมวางแผนการเดินทางไว้ 9 วัน เดิมจะมีสมาชิกร่วมเดินทางทั้งหมด 4 คน แต่มีเหตุสุดวิสัย เลยขอยกเลิกก่อนออกทริป 2 คน จึงเหลือเดินทางจริงเพียง 2 คนครับ ต่อมาพี่ที่ร่วมเดินทางด้วยมีธุระ ต้องกลับไทยด่วน.. ท้ายสุดเหลือผมคนเดียว เอาไงดีละ มอเตอร์ไซด์ผมก็ขี่ไม่แข็ง แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ไว้ไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอา เลยตัดสินใจลุยเดี่ยวเที่ยวลาวคนเดียวซะเลย บอกเลยว่า คิดไม่ผิดจริงๆ ที่เลือกเดินทางต่อ ได้เห็น ได้ทำ ในสิ่งที่ตั้งใจ ประทับใจจริงๆ กับทริปนี้ รีวิวนี้ผมเลยนำข้อมูลการเดินทางมาแบ่งปันให้ผู้ที่สนใจได้ใช้เป็นแนวทางในการวางแผนเที่ยวลาวของเพื่อนๆ ครับ

ทริปนี้ผมออกเดินทางโดยรถไฟ (รถด่วน) จากสถานีสระบุรี ในเวลา 10.18 น. ค่ารถไฟตู้ปรับอากาศ ราคา 459 บาท ส่วนตู้พัดลม ราคา 236 บาท (สามารถจองตั๋วรถไฟออนไลน์ได้ที่ https://www.dticket.railway.co.th/DTicketPublicWeb/home/Home ) ระหว่างการเดินทางเราจะได้เห็นวิวสวยๆ ไปตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็นช่วงทางรถไฟลอยน้ำบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และช่วงระหว่างเข้าสถานีบ้านวะตะแบก (เทพสถิต) ช่วงนี้เราจะได้เห็นทุ่งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากเลยครับ เสียดายที่ตู้ปรับอากาศเปิดกระจกไม่ได้ เวลาถ่ายภาพผ่านกระจก ภาพออกมาไม่สวยครับ

นั่งรถไฟยาวไปกว่า 7 ชั่วโมงกว่า ก็มาถึงสถานีรถไฟหนองคายครับ

เมื่อมาถึงสถานีรถไฟหนองคายแล้ว ผมเดินเท้าต่อไปยัง Park & Pool Hotel ซึ่งเป็นที่พักที่จองไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยโรงแรมอยู่ห่างจากสถานีรถไฟหนองคายประมาณ 300 เมตร ที่พักคือดีงามเลยทีเดียว พื้นที่กว้างขวาง มีสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ ตัวที่พักมีทั้งแบบเป็นตึกและเป็นหลัง ดูคลาสสิคมากๆ ครับ

ห้องที่ผมจองเป็นห้อง Standard Twin โดยจองผ่าน Agoda ในราคา 661 บาท ห้องพักค่อนข้างกว้างขวางเลยทีเดียว ที่สำคัญ ราคาดังกล่าวรวมอาหารเช้าด้วย คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปจริงๆ

ช่วงค่ำ ผมนั่งรถสกายแลปจากหน้าโรงแรมเพื่อไปหาของกินที่ถนนคนเดิน โดยเสียค่าโดยสารคนละ 50 บาทครับ ถนนคนเดินหนองคายจะจัดริมแม่น้ำโขง มีร้านค้ามากมาย ส่วนใหญ่จะเป็นของกิน ซื้อเสร็จสามารถหาโต๊ะว่างนั่งกินได้เลย

อิ่มแล้ว นั่งสกายแลปกลับที่พัก นอนหลับพักผ่อนให้เต็มอิ่ม ก่อนที่จะเริ่มต้นทริปในวันพรุ่งนี้ครับ

อาหารเช้าของโรงแรม เป็นบุฟเฟต์แบบง่ายๆ มีกับข้าวให้เลือก 3 อย่าง มีข้าวต้ม ไส้กรอก แฮม ไข่ดาว สลัด ผลไม้ แล้วยังมีไข่กระทะด้วยครับ

09.00 น. ผมนัดรถสกายแลปให้มารับที่โรงแรมเพื่อไปส่งยังด่านพรหมแดนหนองคาย ค่ารถ 50 บาทเช่นเคย ระยะทางจากโรงแรมไปยังด่านพรหมแดนหนองคาย ประมาณ 2 กม. นั่งรถสกายแลปไม่ถึง 10 นาทีครับ

ขั้นตอนการเดินทางข้ามไปยังฝั่งลาว มีดังนี้ครับ

1. เมื่อถึงด่าน ตม.ไทย เพียงแค่ยื่น Passport เจ้าหน้าที่จะปั๊ม Passport ให้โดยไม่ต้องกรอกเอกสารรายละเอียดใดๆ

2. นั่งรถบัสข้ามฝั่งไปยัง ตม.ลาว หากเดินทางในวันเวลาราชการ (08.30 น.-16.00 น.) จะเสียค่าโดยสารคนละ 30 บาท แต่ถ้าหากนอกเหนือเวลาราชการ (06.00 น.-08.30 น.,16.00 น.-22.00 น.) หรือเดินทางวัน ส อา จะเสียค่าโดยสารคนละ 35 บาท

3. เมื่อรถบัสจอดส่งถึง ตม.ลาวแล้ว เราต้องกรอกเอกสารเข้าประเทศลาว รายละเอียดไม่มีอะไรยากเย็น สามารถกรอกเองได้ กรอกเสร็จก็นำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ลาว จุดนี้มีการเรียกเก็บค่าบริการคนละ 20 บาท (ไม่รู้ว่าเป็นค่าตรวจเอกสารหรือค่าเหยียบแผ่นดิน) เมื่อรับ Passport กลับมาแล้ว แนะนำให้เช็คว่าเจ้าหน้าที่ได้ประทับตราเข้าประเทศลาวให้เราหรือไม่ (ตรงนี้สำคัญมาก หาก จนท.ไม่ประทับตราให้ ต้องให้เขาประทับให้นะครับ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาตอนขากลับ จะกลายเป็นว่าเราหลบหนีเข้าประเทศลาว มีค่าปรับเสียหายหลายตังค์ครับ)

4. เดินออกมาจาก ตม.แล้ว ให้ทำการแลกเงิน โดยจะมีตู้แลกเงินของธนาคารตั้งอยู่ติดกับ ตม.เลย หากหาไม่เจอให้สอบถามคนแถวนั้นดูได้ เท่าที่หาข้อมูลมา แลกที่ธนาคารตรงด่าน จะได้เรทดีที่สุด ช่วงที่ผมไปได้เรท 1 บาท= 495.62 บาท

5. ทำการซื้อ Sim จากคนที่นำมาขายได้เลย (หากพอใจในราคา) โดยมีคนมาเสนอขายให้ผม Sim ละ 80 บาท สามารถใช้เน็ตได้ 3 วัน แต่ผมไป 7 วัน เขาเลยแนะนำแพคเกจ 100 บาท สามารถใช้เน็ตได้ 10 Gb และสามารถโทรในเครือข่ายได้ฟรี ใช้ได้ 10 วัน และผมทำการเติมเงินสำหรับโทรนอกเครือข่ายด้วย 20 บาท เพื่อใช้ในการโทรติดต่อที่พักต่างๆ สำหรับ Sim ลาว มีให้เลือก 3 ประเภท คือ หลัก 3 หลัก 5 และหลัก 9 โดยทุกหลักสามารถใช้งานได้ดีในเวียงจันทน์ วังเวียง และหลวงพระบางครับ แต่สำหรับใครที่จะเดินทางไปเมืองเฟือง มีน้องคนหนึ่งแนะนำว่า ให้ใช้ Sim หลัก 5 จะดีที่สุด ผมเลยเลือกซื้อ Sim หลัก 5 ครับ

สำหรับการเดินทางจากด่าน ตม.ถึงตัวเมืองเวียงจันทน์ ใครที่วางแผนเที่ยวเวียงจันทน์ก่อน และมีกำลังทรัพย์เยอะ สามารถเหมารถให้ไปส่งยังที่พักในเวียงจันทน์ได้เลย หรือใครจะไปเที่ยววังเวียง หรือหลวงพระบาง ก็ให้ไปส่งยังสถานีรถไฟได้เลย หรือถ้าใครจะไปเที่ยวเมืองเฟือง ก็ให้รถไปส่งที่ขนส่งสายเหนือ (ท่ารถตู้) ได้เลย โดยจะมีคนลาวเจ้าของรถมาเดินเสนอราคาให้ ผมขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งใจอ่อน ทำเดินแบบไม่ต้องสนใจ เขาจะค่อยๆ ลดราคาลงมาให้เราเรื่อยๆ หากพอใจในราคานั้นแล้ว ลองตกลงราคากันดูอีกทีนะครับ เผื่อจะได้ราคาตามที่เราต้องการ สำหรับค่าเหมารถไปในตัวเมืองเวียงจันทน์ ค่าเหมาประมาณ 300-400 บาท แต่สำหรับผม ผมไม่ได้รีบร้อนอะไร เพราะวันนี้ผมมีแผนที่จะเที่ยวในเวียงจันทน์เกือบ 1 วันเต็มๆ เลยเฉื่อยแฉะได้ ผมจึงเลือกเดินทางเข้าตัวเมืองเวียงจันทน์โดยรถเมล์ ซึ่งรถเมล์จะมาจอดอยู่ไม่ไกลจากด่าน ตม. รถจะหมุนเวียนมาเรื่อยๆ ครับ ค่าโดยสารไปยังตลาดเช้าเพียง 12,000 กีบ (ประมาณ 24 บาท) เท่านั้น (ถ้าจ่ายเงินไทย 30 บาท) สภาพรถคล้ายรถ ปอ.รุ่นเก่าในกรุงเทพครับ

รถเมล์มาจอดสุดสายที่ท่ารถซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของตลาดเช้า จากนั้นผมเดินเท้าต่ออีกประมาณ 250 เมตร เลาะมาตามด้านข้างของตลาดเช้า เพื่อไปยังที่พักที่ Lanexang Princess Hotel ซึ่งผมจองมาแล้วล่วงหน้าผ่าน Agoda แต่เนื่องจากยังไม่ถึงเวลา Check in เลยฝากสัมภาระไว้ที่ลอบบี้ก่อน จากนั้นก็เปิดหาข้อมูลร้านเช่ามอเตอร์ไซด์ที่อยู่ใกล้โรงแรมที่สุด โดยหาเจอร้าน Kong's Motorbike rental ซึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมประมาณ 350 เมตรเท่านั้น สำหรับค่าเช่ารถอยู่ที่ 100,000 กีบ/วัน โดยทางร้านจะมีน้ำมันติดถังให้นิดหน่อย เราใช้น้ำมันเท่าไร ขากลับก็เติมน้ำมันให้เขาเท่าเดิม สถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ ในเวียงจันทน์ ระยะทางไม่ไกลกันมาก เติมน้ำมัน 25,000 กีบ ก็เหลือแหล่ครับ

ติดกับร้าน Kong's Motorbike rental มีร้านข้าวเปียกอยู่ เห็นคนกินกันเยอะเลย ผมเลยจัดไปคนละสองชาม ค่าเสียหายข้าวเปียกชามละ 15,000 กีบ ปาท่องโก๋ ตัวละ 2,000 กีบ ครับ

หลังอิ่มท้อง ก็เริ่มลุยกันเลยครับ โดยจุดหมายแรกมุ่งหน้าสู่วัดสีสะเกด ที่นี่มีค่าเข้าชมคนละ 30,000 กีบครับ

วัดสีสะเกด หรือวัดสะตะสะหัสสาราม เป็นวัดที่สร้างขึ้นแห่งแรกในนครเวียงจันทน์ ตามชื่อวัดสะตะสะหัสสาราม มีความหมายว่า วัดแสน เหตุเนื่องมาจาก เมื่ออดีตวัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปนับแสนองค์ จากเมื่อครั้งที่สร้างเมืองใหม่ๆ พระเจ้าแผ่นดินทรงประกาศเชิญชวนให้ราษฎรร่วมกันสร้างพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้ตามกำลังศรัทธา นับรวมแล้วได้กว่าแสนองค์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ถึงปัจจุบันมีเหลืออยู่ประมาณ 10,000 กว่าองค์เท่านั้น แต่ก็ยังถือว่าวัดนี้มีพระพุทธรูปมากที่สุดในนครเวียงจันทน์เลยครับ วัดสีสะเกดสร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างศิลปะแบบล้านช้างและศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ ด้านในวิหารไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปครับ

อีกหนึ่งจุดสำคัญของวัดสีสะเกดเห็นจะเป็นส่วนระเบียงคด ที่ชาวลาวเรียกว่า กมมะเลียน จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณมากมาย ที่มีพุทธลักษณ์เหมือนกัน รุ่นเดียวกัน มีขนาดเท่าคนจริง จำนวน 120 องค์ ส่วนผนังรอบๆ ก็มีช่องที่เรียกว่า ช่องกุด ไว้บรรจุพระพุทธรูปองค์เล็กๆ เรียงรายรอบผนังทั้ง 4 ด้านครับ

อีกหนึ่งสิ่งที่ยังคงความงดงาม คือหอไตรดั้งเดิมโบราณ ซึ่งตั้งอยู่ด้านนอกข้างระเบียงคด หอไตรที่ผมกล่าวถึงยังมีสภาพสวยงามสมบูรณ์ มองเห็นลวดลายเขียนสีที่ยังคงสดใสจนถึงทุกวันนี้ครับ

จากวัดสีสะเกด เดินข้ามถนนมาจะพบกับ หอพระแก้ว หรือพิพิธภัณฑ์หลวงของลาว ในอดีตใช้เป็นวัดหลวงประจำราชวงศ์ และใช้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญมาจากอาณาจักรล้านนา จนกระทั่งเกิดการทำศึกสงครามและประเทศลาวได้พ่ายแพ้ต่อประเทศสยาม จึงถูกกองทัพของประเทศสยามอัญเชิญองค์พระแก้วมรกตที่ได้ประดิษฐานอยู่ในหอพระแก้วกลับไปยังประเทศสยาม และองค์พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วบ้านเราจวบจนถึงวันนี้ครับ ปัจจุบันภายในหอพระแก้วของนครหลวงเวียนจันทน์เหลือเพียงแค่พระแท่นเปล่าที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตในอดีตเท่านั้น หอพระแก้วเปิดให้เยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-17.00 น. โดยมีค่าเข้าชมคนละ 30,000 กีบ ด้านในหอพระแก้วไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปครับ

จากหอพระแก้ว ไปต่อที่พระธาตุหลวง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า พระเจดีย์โลกะจุฬามณี สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเวียงจันทน์ องค์พระธาตุมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม เปรียบดั่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ด้านในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ล้อมรอบด้วยใบเสมาทั้งหมด 323 ใบ และมีหอไหว้ทั้ง 4 ด้าน ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระธาตุหลวงสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเวียงจันทน์ และเชื่อว่าก่อสร้างในยุคสมัยเดียวกับพระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม พระธาตุหลวงเปิดให้เยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-17.00 น. โดยมีค่าเข้าชมคนละ 30,000 กีบครับ

ด้วยอากาศที่ร้อนมาก มาเที่ยวชมแค่ 3 จุดนี้ ก็ทำเอาหมดแรง ผมเลยกลับมาพักผ่อนเอาแรงที่โรงแรมก่อนครับ Lanexang Princess Hotel จะตั้งอยู่ด้านข้างของตลาดเช้า สะดวกต่อการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ครับ

โดยผมจองห้องแบบ Deluxe Double No Window ผ่าน Agoda ในราคา USD20.80 (750 บาท) ภายในห้องพักถือว่ากว้างดี เตียงใหญ่นอนสบาย แต่เนื่องจากผมเลือกจองแบบไม่มีหน้าต่าง เพราะราคาถูกสุด เลยทำให้ห้องดูอึดอัดสักนิด แต่ผมไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะอาศัยไว้ใช้นอนเท่านั้น ราคาดังกล่าวจะรวมของว่างตอนเช้า เป็นขนมปัง 1 ชิ้น กาแฟ น้ำดื่ม และส้ม 1 ลูกครับ

สำหรับผู้ที่เช่ารถมอเตอร์ไซด์มา ทางโรงแรมไม่อนุญาตให้จอดรถด้านหน้าโรงแรมนะครับ ต้องนำรถไปจอดไว้ด้านหลังโรงแรม โดยจะต้องขี่ไปเข้าซอยที่อยู่ด้านหลังโรงแรมครับ

ช่วงแดดร่มลมตก เป็นช่วงเวลาที่ผมรอคอย เพราะผมตั้งใจจะมาชมการแสดงน้ำพุเต้นระบำที่ด้านหน้าของประตูชัย ระยะทางจากโรงแรมไปยังประตูชัยเพียง 750 เมตรเท่านั้น สามารถเดินเท้าไปได้ครับ แต่ก่อนอื่นเพื่อเป็นการตัดปัญหาเรื่องการจอดรถมอเตอร์ไซด์และเช้าวันรุ่งขึ้นผมจะต้องรีบออกเดินทางต่อ ซึ่งหากต้องรอจนร้านมอเตอร์ไซด์เปิดจะทำให้แผนการเดินทางของผมล่าช้าออกไปอีก ผมจึงทำการคืนรถมอเตอร์ไซด์ซะให้เรียบร้อยเลย แล้วใช้การเดินเท้าต่อไปยังประตูชัยครับ

ประตูชัย อนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อสดุดีวีรชนผู้ร่วมรบเพื่อประกาศเอกราชจากประเทศฝรั่งเศส โครงสร้างถูกตกแต่งด้วยศิลปะแบบล้านช้าง และได้มีการนำเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู รวมทั้งนำสัตว์ในตำนานตามความเชื่อของศาสนาพุทธ เช่น กินรี และพญานาคมาตกแต่ง ประตูชัยแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ครับ แต่ก่อนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปด้านบนเพื่อชมวิวมุมสูงด้วย ซึ่งผมเองก็เคยได้ขึ้นไปชมวิวด้านบนมาแล้วเหมือนกัน แต่มารอบนี้ ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปชมวิวด้านบนแล้วนะครับ การเข้าชมที่นี่ ไม่เสียค่าเข้าชมแต่อย่างใดครับ

ในเวลา 18.00 น.-20.00 น. ของทุกวัน บริเวณประตูชัยจะมีการแสดงน้ำพุเต้นระบำ พร้อมดนตรีและแสงสี เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่จะมีนักท่องเที่ยวมานั่งพักผ่อนบริเวณประตูชัยเป็นจำนวนมาก ใครที่พักค้างคืนที่เวียงจันทน์ แนะนำให้ลองมาชมกันดูครับ สวยงามเลยทีเดียว

หลังจากชมน้ำพุเต้นระบำจนหนำใจแล้ว ก็เดินเท้ากลับโรงแรม ระหว่างทางแวะหามื้อค่ำทานก่อนที่จะเข้าที่พัก โดยถนนเส้นด้านหลังตลาดเช้า เยื้องๆ กับท่ารถเมล์ จะมีร้านอาหารคล้ายๆ กับโต้รุ่งบ้านเรา มาตั้งร้านขายมากมาย นอกจากนี้ยังมี Mini Big C ด้วย ที่สำคัญตลาดตรงนี้อยู่ห่างจากโรงแรมที่ผมพักเพียง 150 เมตรเท่านั้น นับว่าโชคดีมากๆ ที่ผมเลือกเข้าพักที่ Lanexang Princess Hotel เพราะทุกอย่างมันดูสะดวกไปหมดครับ

เช้าวันที่สองในลาว วันนี้ผมวางแผนเดินทางต่อไปยังเมืองเฟือง สำหรับการเดินทางไปยังเมืองเฟือง สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ 1. นั่งรถตู้สาธารณะจากสถานีขนส่งสายเหนือ หรือ 2. เหมารถ และแน่นอนผมเลือกแนวทางที่ 1 เนื่องจากประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้โขเลยครับ

จากโรงแรม ผมเรียกรถรับจ้างผ่านแอป Loca เพื่อให้ไปส่งยังสถานีขนส่งสายเหนือ (ท่ารถตู้) รถที่มารับเป็นรถเก๋งไฟฟ้า นั่งได้ 5 คน (นับรวมคนขับ) ได้ในราคา 124,000 กีบ (248 บาท) โชคดีที่มีน้องคนไทยเข้าพักโรงแรมเดียวกับผมและจะไปเมืองเฟืองด้วยเหมือนกัน เลยชวนกันหารค่ารถ สรุปขานี้จ่ายค่ารถไปยังสถานีขนส่งสายเหนือเพียงคนละ 62 บาท (สอบถามราคารถสามล้อเครื่องแถวหน้าโรงแรม บอกราคามา 150,000 กีบ)

เมื่อมาถึงสถานีขนส่งสายเหนือ จะมีคนขับรถตู้มาสอบถามว่าเราจะไปไหน ให้แจ้งไปว่าไปเมืองเฟือง เขาจะพาเราไปส่งที่รถตู้ที่จะไปเมืองเฟือง ลักษณะรถตู้จะเหมือนบ้านเราเลย รถตู้ที่จะไปเมืองเฟืองมีวันละ 4 รอบ คือเวลา 09.00 น., 12.00 น., 13.30 น. และ 14.30 น. โดยเสียค่าโดยสารคนละ 120,000 กีบ (หากรถเต็มก่อน จะออกก่อนเวลา) รถตู้คันที่ผมไป อัดผู้โดยสารถึง 15 คน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งครับ (สอบถามรายละเอียดเรื่องรถตู้ไปเมืองเฟืองได้ที่คุณพัด 020 55 218 887)

ผมลงรถตู้ที่สามแยกบ้านท่า โดยก่อนหน้านี้ผมได้ติดต่อเช่ามอเตอร์ไซด์จากร้าน PK Service มอเตอร์ไซค์ให้เช่าเมืองเฟือง/ບໍລິການລົດຈັກໃຫ້ເຊົ່າເມືອງເຟືອງ ในราคาวันละ 150,000 กีบ (มีมัดจำ 100,000 กีบ) ร้านจะนำรถมอเตอร์ไซด์มาส่งที่สามแยกบ้านท่า จากจุดนี้ผมแยกเสื้อผ้าที่จะใช้ใส่ในเมืองเฟืองลงในเป้ใบเล็ก (กระเป๋าใบใหญ่ถ้าหอบหิ้วไปด้วยคงไม่สะดวก) น้องที่นำรถมอเตอร์ไซด์มาส่งจะนำกระเป๋าใบใหญ่ไปฝากไว้ให้ที่รีสอร์ทที่ผมจองไว้อีกหนึ่งคืนในเมืองเฟือง

จริงๆ แล้ว หากใครต้องการมาสัมผัสเมืองเฟืองแบบผิวเผิน โดยการเลือกพักค้างคืนเพียงหนึ่งคืน อาจไม่จำเป็นต้องเช่ามอเตอร์ไซด์ก็ได้นะครับ ตอนที่นั่งรถตู้ ให้บอกคนขับรถตู้พาไปส่งยังที่พักเลยก็ได้ หากที่พักไม่ออกนอกเส้นทางมากนัก รถตู้จะไปส่งให้ถึงที่ครับ แต่ถ้าหากว่าที่พักอยู่ไกลออกไปอย่างอ่างน้ำตงวิวรีสอร์ท ก็อาจจะต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มอีกนิดหน่อย ให้ตกลงราคากับคนขับดูนะครับ รับรองว่าประหยัดและสะดวกกว่าการเช่ารถมอเตอร์ไซด์แน่นอนครับ แต่สำหรับผม ผมเลือกพักค้างคืนที่เมืองเฟือง 2 คืน และต้องการขี่รถเที่ยวในเมืองเฟืองด้วย เลยจำเป็นต้องเช่ารถมอเตอร์ไซด์ครับ

จากสามแยกบ้านท่า ผมมุ่งหน้าสู่อ่างน้ำตงวิวรีสอร์ท ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 30 กม. โดยเส้นทางจากสามแยกบ้านท่าเป็นถนนราดยางอย่างดี จะมีอยู่จุดหนึ่งที่เป็นสะพานเหล็ก มีผิวจราจรเป็นแผ่นไม้ นำมาวางตามรอยล้อ ขี่ไปก็เสียวไปครับ ระหว่างทางแวะเติมน้ำมัน 50,000 กีบครับ

เมืองเฟืองอยู่ห่างจากเวียงจันทน์ประมาณ 100 กม. ทิศเหนือติดวังเวียง วิถีชีวิตของชาวเมืองเฟืองประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ทำนาเป็นหลัก จะมีประมงพื้นบ้านบ้าง มีอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำสองและแม่น้ำลิกไหลผ่าน เสมือนเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเมืองเฟืองมาอย่างยาวนาน ภูมิประเทศส่วนใหญ่รายล้อมด้วยภูเขาที่มีรูปทรงแปลกตากระจายอยู่ทั่วเมืองเฟืองครับ อย่างจุดนี้ เบื้องหลังของผมคือผาหลวงเมืองเฟือง ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางจากสามแยกบ้านท่าไปยังอ่างน้ำตงวิวรีสอร์ท เห็นว่าผานี้เคยเป็นฉากหนึ่งในโฆษณาของสายการบินลาวด้วยครับ

แวะถ่ายรูปเสร็จก็ออกเดินทางกันต่อ ผมแวะเอาสัมภาระไปเก็บไว้ที่รีสอร์ทก่อน เพื่อจะได้คล่องตัวในการขี่รถเที่ยว จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่วัดสินไชยาราม ซึ่งอยู่ห่างจากรีสอร์ทประมาณ 4 กม.ครับ

วัดสินไชยาราม เป็นดินแดนแห่งธรรมะของชาวเมืองเฟือง ภายในวัดมีการจำลองเหตุการณ์ทางพระพุทธศาสนาหลายจุด การเข้าชมที่นี่ไม่เสียค่าเข้าชมเหมือนวัดในเวียงจันทน์และหลวงพระบางครับ แต่ผู้หญิงต้องนุ่งผ้าซิ่น โดยทางวัดจะมีผ้าซิ่นให้ยืมใส่ รวมถึงผู้หญิงที่ไว้ผมยาว จะต้องรวบผมให้เรียบร้อย สำหรับผู้ชายสามารถเข้าชมได้เลย แต่ควรจะแต่งกายให้สุภาพครับ

อย่างภาพนี้คือลานพระเจ้าชนะมาร โดยทางวัดได้จำลองเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธเจ้าท่านได้ผจญมาร ท่านได้ใช้ทานบารมีเอาชนะหมู่มารทั้งปวง ใครที่มีคนคอยอิจฉาหรือเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับครอบครัว แนะนำให้มากราบไหว้สักการบูชาที่ลานแห่งนี้ครับ

องค์พญานาคใหญ่ มีความยาว 186 เมตร นับเป็นพญานาคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศลาวในปัจจุบัน ชื่อของท่านคือ ปู่นันโทปนันทนาคราช เป็นพญานาคที่เก่งด้วยฤทธิ์เดช ใครที่อยากจะสักการบูชา ให้จุดธูปบูชา 14 ดอก ใครที่ชอบเสี่ยงโชค เล่นหวย หรือใครที่เป็นเจ้าหนี้แล้วลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้ ก็มาไหว้ขอพรให้องค์ปู่ช่วยได้ เพราะเชื่อกันว่าพญานาคจะเป็นผู้รักษาทรัพย์อยู่ในภูมิภพหรือใต้บาดาล

หอราชธรรมรถ เป็นที่เก็บรักษาราชรถที่ได้นำไปใช้แห่ในพิธีพระทานงอน ล้อมรอบพระธาตุหลวง นอกจากนี้ยังมีหมากเบ็งที่ทำขึ้นจากเทียนผึ้ง ชาวลาวนิยมมาใส่บาตรสวรรค์ เพื่อเป็นการเติมบุญฝากทรัพย์ไว้นำพุทธศาสนา

สวนพระหรือสวนเวฬุวัน ทางวัดได้จำลองเป็นสวนเวฬุวันในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นั่นคือวันข้าวจี่ หรือวันมาฆบูชา หรือชื่อเต็มๆ ก็คือวันจาตุรงค์สันนิบาต ซึ่งจะมี 4 เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในวันนั้น คือ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้มาปาฏิโมกข์แก่คณะพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เป็นวันที่นักบวชมารวมฟังธรรมกันโดยมิได้นัดหมาย และเป็นวันที่นักบวชทั้ง 1,250 รูป ได้รับการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทานจากพระพุทธเจ้า โดยในสวนนี้จะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธศิลาสุวรรณะมหาเมตตาปฏิมาภรณ์ พระพุทธรูปที่สลักจากหินองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศลาว เชื่อกันว่าท่านศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะว่าท่านเป็นหินบ่อเดียวกับที่นำไปสร้างวัดพู ใครที่อยากมีหน้าที่การงานที่ก้าวหน้า ธุรกิจการค้าขายรุ่งเรือง ไม่ควรพลาด มาสักการบูชาด้วยธูป 13 ดอก การจุดธูป 13 ดอก เป็นการนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้หยั่งรากฐานให้พระสงฆ์หรือคนทั่วไปได้เจริญรอยตามโดยใช้วิธีการอุดมการณ์และหลักการ รวมกันได้ 13 อย่างครับ

พ่อปู่ชีวกะ ใครที่สุขภาพไม่ดี ร่างกายไม่แข็งแรง อยากแข็งแรง ต้องมาสักการบูชา โดยจุดธูป 4 ดอก เพื่อได้ถือเอาอริยบท 4 อย่างของท่าน คือการนอน นั่ง เดินและยืน เปรียบเสมือนการเกิด แก่ เจ็บและตาย ครับ การจุดธูปแล้ว ไม่ควรใช้ปากเป่า แต่ให้ใช้การปัดแทน จากนั้นให้บอกชื่อและที่อยู่

ช่วงที่ผมไป ไม่แน่ใจว่าทางวัดมีการจัดงานหรือไม่ เพราะเห็นมีการนำฟางมาทำเป็นซุ้มๆ ให้อารมณ์เหมือนปราสาทรวงข้าวของจังหวัดกาฬสินธุ์ครับ

วัดสินไชยาราม จัดว่าเป็นวัดที่สำคัญของเมืองเฟือง ไม่ควรพลาดมาเที่ยวชมกันครับ

จากวัดสินไชยาราม ขี่มอเตอร์ไซด์ต่อไปอีกสัก 2 กม. จะเจอป้ายใหญ่ๆ ทางขวามือ เขียนบอกเส้นทางไปผาทอง เส้นทางจากจุดนี้จะเป็นถนนดินแบบเดิมๆ ที่คละคลุ้งไปด้วยฝุ่น ให้ขี่เข้าไปอีกราว 1 กม. จนเจอผาทองครับ

ผาทอง ผาหินธรรมชาติของเมืองเฟืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นคือความแบน (คล้ายแผ่นกระดาษ) ของรูปทรงภูเขา ที่ทอดแนวยาวอย่างสวยงาม โชว์ความเป็นหน้าผาหินแบบชัดเจน บริเวณตีนภูผาทองจะมีบึงเล็กๆ นักท่องเที่ยวนิยมมากางเต็นท์ค้างแรมกันที่นี่ (มีห้องน้ำบริการแต่ไม่มีไฟฟ้านะครับ) หากมาในช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่นี่จะมีหมอกปกคลุมสวยงามมากๆ ครับ ในวันที่ผมไปเที่ยว ก็มีน้องๆ คนไทยกลุ่มหนึ่งไปกางเต็นท์อยู่ที่ริมผาทองด้วยครับ

จากผาทอง ผมมุ่งหน้ากลับที่พักของผมในคืนนี้ คืออ่างน้ำตงวิวรีสอร์ท ก่อนเข้าไปในอ่างน้ำตงวิวรีสอร์ทเราต้องเสียค่าเอารถเข้าไปคันละ 5,000 กีบ ให้เก็บบัตรเอาไว้ให้ดีนะครับ เผื่อเราจะออกไปข้างนอกแล้วกลับเข้ามาอีก จะได้ไม่ต้องเสียค่าเข้าใหม่ครับ

เมื่อขี่รถเข้าไปแล้ว ด้านซ้ายมือจะเป็นร้านอาหารและลานจอดรถของนักท่องเที่ยว ส่วนด้านขวาจะเป็นคาเฟ่และจุดเช็คอินของผู้ที่เข้าพักที่อ่างน้ำตงวิวรีสอร์ท สำหรับแขกที่เข้าพัก ให้ขี่รถตามเส้นทางขึ้นไปบนเนิน และจอดรถไว้ที่ลานจอดรถด้านบนของรีสอร์ทได้เลยครับ

เราต้องมาเช็คอินเข้าพักในคาเฟ่แห่งนี้ครับ เปิดประตูคาเฟ่เข้าไป จะพบจุดเช็คอิน และมีมุมกาแฟอยู่ติดกัน

วิวที่มองออกไปจากคาเฟ่ครับ

ได้รับกุญแจแล้ว เราไปดูห้องพักริมน้ำกันครับ ห้องริมน้ำจะมีทั้งหมด 7 ห้อง ตั้งอยู่ท่ามกลางดงต้นกฤษณา ซึ่งเป็นไม้หอมที่ทรงคุณค่ามาแต่โบราณ ภายในห้องพักกว้างขวาง สูงโปร่งโล่งสบาย มีห้องน้ำในตัว มีเครื่องปรับอากาศให้พร้อม แต่ในห้องไม่มีทีวีให้ดูนะ มีเพียงวิวสวยๆ ที่สามารถมองจากเตียงนอนได้เลย

วิวที่มองออกไปจากระเบียงห้องพักครับ

ห้องพักที่อ่างน้ำตงวิวรีสอร์ท มี 3 โซน เป็นห้องพักริมน้ำแบบที่ผมเข้าพัก ราคา 300,000 กีบ เป็นห้องพักที่อยู่ท่ามกลางต้นกฤษณา แต่ไม่ติดริมน้ำ (แปลนเดียวกันกับห้องพักริมน้ำ) ราคา 250,000 กีบ และโซนภูเขา ราคา 250,000 กีบ ห้องหนึ่งเข้าพักได้ 2 ท่าน หากเสริมเตียง จ่ายเพิ่มคนละ 100,000 กีบ ที่พักไม่รวมอาหารเช้านะครับ

บรรยากาศยามเย็น ดีมากๆ ครับ มองเห็นพระอาทิตย์ตกจากระเบียงห้องได้เลย

แขกที่พักที่อ่างน้ำตงวิวรีสอร์ท ไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารนะครับ เพราะจะมีร้านอาหารเปิดให้บริการตั้งแต่ 08.30 น.- 18.00 น.(Last order) ร้านจะตั้งอยู่ด้านข้างรีสอร์ท สั่งอาหารแล้ว สามารถนั่งทานที่ร้านอาหารก็ได้ จะนั่งทานในห้อง หรือจะนั่งทานในแพก็ได้ โดยแพเล็กมีค่าบริการ 150,000 กีบ แพใหญ่ 200,000 กีบ จ่ายเงินครั้งเดียวนั่งได้ทั้งวันทั้งคืนครับ ส่วนราคาอาหารก็ไม่ได้แรงจนเกินไปครับ อย่างอาหารจานเดียวเช่นข้าวผัดทะเล 70,000 กีบ ข้าวผัดกุ้ง 60,000 กีบ ข้าวผัดหมู 50,000 กีบ ยำต่างๆ ประมาณ 50,000-70,000 กีบครับ

เพื่อนๆ คนไหนที่สนใจเข้าพักที่อ่างน้ำตงวิวรีสอร์ท แนะนำให้โหลด WhatsApp แล้วเพิ่มเบอร์ +8562077175261 เพื่อสอบถามรายละเอียดและจองห้องพักได้เลยครับ เจ้าหน้าที่ตอบกลับได้เร็วมาก สำหรับการจองห้อง เราจะต้องโอนค่าที่พักเต็มจำนวน จึงจะถือว่าการจองเสร็จสมบูรณ์ครับ ปัจจุบันทางรีสอร์ทได้เปิดบัญชีไทยไว้ เราสามารถโอนได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ครับ หรือถ้าเพื่อนๆ ไม่สะดวกในการติดต่อ สามารถติดต่อน้อง Weerapong Larongkhum ก็ได้ครับ น้องเป็นเจ้าของร้านรถเช่าเมืองเฟือง โดยน้องจะคิดค่าบริการ 100 บาท/การจองห้อง 1 ห้องครับ (ตอนที่ผมจองห้องพัก ทางรีสอร์ทยังไม่ได้เปิดบัญชีไทย ผมก็ใช้บริการจากน้องเช่นกัน)

ยอมรับเลยว่า ช่วงแสงแรกและแสงสุดท้ายที่อ่างน้ำตงวิวรีสอร์ทสวยงามมากๆ ครับ ผมเคยเห็นภาพถ่ายช่วงเช้าของที่นี่มีสายหมอกปกคลุมทิวเขาที่อยู่ด้านหลังรีสอร์ท เป็นภาพที่ติดตาตรึงใจผม จึงทำให้ผมต้องมาสัมผัสความสวยงามด้วยตาของตัวเอง แต่น่าเสียดายในวันที่ผมมาไม่ได้เห็นสายหมอกตามที่ใจหวัง แต่ไม่เป็นไรโอกาสไม่ได้มีหนเดียว แล้วผมจะกลับมาที่นี่อีกครั้งในเร็วๆ นี้

ถึงแม้จะไม่ได้เห็นสายหมอกมาคลอเคลียทิวเขาตามที่ตั้งใจ แต่ก็ยังอุ่นใจที่ได้เห็นไอน้ำลอยอยู่บนผิวน้ำแทน

ผมใช้เวลาซึมซับกับบรรยากาศของอ่างน้ำตงวิวรีสอร์ทอย่างเต็มที่ ให้สมกับที่ได้ดั้นด้นมา จน 11.00 น. จึงได้ออกเดินทางกันต่อ สู่ที่พักอีกที่ในเมืองเฟือง ระหว่างทางแวะเติมพลังในมื้อเที่ยงที่ร้าน Mrs. Keo Restaurant ซึ่งตั้งอยู่ในตัวตลาดเมืองเฟือง ก่อนที่จะถึงสามแยกบ้านท่าครับ

หน้าร้าน Mrs. Keo Restaurant จะประมาณนี้ครับ อาหารรสชาติดี ราคาไม่แพง ข้าวผัด+ข้าวเปียกชามใหญ่ๆ และน้ำขวดใหญ่ 70,000 กีบครับ

หลังมื้อเที่ยง เดินทางกันต่อสู่ท่าเรือบักข้ามฟาก ผมนัดคืนรถมอเตอร์ไซด์ที่ท่าเรือนี้ จากนั้นแพที่พักที่จองไว้ก็ส่งเรือมารับที่ท่าเรือบักครับ

ตลอดสองฝั่งของแม่น้ำลิก มีผู้ประกอบการเรือนแพมากมาย อารมณ์ประมาณแพเมืองกาญจนบุรี แต่ผมเลือกเข้าพักที่ M&R House ในราคาคืนละ 1,000 บาท +ค่าดำเนินการจองอีก 100 บาท การเดินทางมายังที่พัก ทางรีสอร์ทจะส่งเรือมารับที่ท่าเรือ จากนั้นนั่งเรือประมาณ 5 นาทีก็ถึงที่พักแล้วครับ

ห้องพักจัดว่าดี อาจจะดูคับแคบไม่ใหญ่โตเท่าอ่างน้ำตงวิวรีสอร์ท แต่บรรยากาศนี่ไม่แพ้กันเลย ในห้องมีเครื่องปรับอากาศให้พร้อม และเช่นเคย ที่นี่ไม่มีทีวี แต่ไม่จำเป็นเลยครับ เพราะ ณ เวลานี้ ขอซึมซับกับบรรยากาศของผาตึงและลำน้ำลิกที่อยู่เบื้องหน้าดีกว่า ด้านนอกห้องพักมีพื้นที่สำหรับให้แขกได้มานั่งเล่น มีมุมครัวให้แขกได้ใช้ประกอบอาหารด้วย โดยมีชุดจาน ชาม กระทะ น้ำมันพืช ให้พร้อมสรรพ รวมถึงเตาปื้งหมูกระทะด้วย ราคาห้องพักที่นี่ไม่มีอาหารเช้าให้นะครับ แต่ทางรีสอร์ทจะมีมาม่าคัพให้ 2 คัพครับ

ห้องพักที่นี่ไม่มีห้องน้ำในตัวนะครับ ต้องเดินขึ้นฝั่งไปใช้ห้องน้ำรวม โดยห้องน้ำจะแยกเป็นห้องอาบน้ำและห้องส้วมออกจากกัน และแยกห้องชายหญิงชัดเจนครับ

แขกที่เข้าพักที่นี่ ไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้องนะครับ เพราะจะมีแม่ค้าล่องเรือมาขายอาหารสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ตลอด มีทั้งของแห้ง ขนม ผลไม้ ส้มตำ เลือกซื้อเลือกชิมได้ตามใจชอบเลย

กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถทำได้เมื่อเข้าพักที่เรือนแพ นั่นคือการพายคายัคชมบรรยากาศแม่น้ำลิก มีให้เลือก 3 ระยะทาง โดยระยะทางสั้น ใช้เวลาการพายประมาณ 45 นาที ค่าบริการ 60,000 กีบ/คน ระยะกลาง ใช้เวลาพายประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า ค่าบริการ 80,000 กีบ/คน และระยะไกล ผมไม่ได้ถามนะครับ เพราะไม่มีความคิดอยู่ในหัวเลย 555 แต่เนื่องจากว่าผมไปแค่ 2 คน ทางเจ้าของคายัคขอเพิ่มค่าบริการจาก 80,000 กีบ/คน เป็น 120,000 กีบ/คน ผมเลยเลือกใช้เรือยนต์ของทางที่พัก ในราคาลำละ 100,000 กีบ (นั่งได้ประมาณ 4-5 คน) ทั้งถูกกว่าและไม่ต้องเหนื่อยด้วย แต่....เขาพาล่องขึ้นไปไม่ไกล ก็วกกลับมายังที่พักแล้ว น่าจะใช้เวลาประมาณ 15 นาทีครับ 555 ถ้าใครอยากจะสัมผัสกับบรรยากาศแม่น้ำลิกจริงๆ ยอมจ่ายแพงเถอะครับ ระดับน้ำในแม่น้ำลิกช่วงที่ผมไป ความลึกประมาณเอว น้ำใสมาก ใสจนเห็นหินและสาหร่ายที่อยู่ใต้น้ำแบบชัดเจนเลยครับ

ช่วงค่ำผมสั่งชุดหมูกระทะจากทางรีสอร์ทมาในราคาชุดละ 200,000 กีบ พร้อมกับสั่งส้มตำจากแม่ค้าที่ล่องเรือมาขาย ทานแกล้มกับปลาตากแห้งทอด ที่ซื้อปลาแห้งจากท่าเรือ แล้วนำมาทอดกินเองบนแพครับ แม่ค้าบอกว่าปลาที่นำมาตากแห้ง หาได้จากแม่น้ำลิกครับ

ดูแล้วมื้อนี้น่าจะอิ่มหนำสำราญใจ เพราะมีอาหารอร่อยๆ ให้กิน ในบรรยากาศดีๆ แต่... มื้อนี้ผมทานแทบไม่ลงเลย เมื่อรู้ว่าสมาชิกร่วมทริปมีเหตุต้องรีบกลับเมืองไทยด่วนในวันรุ่งขึ้น เอาอย่างไรดี อีก 4 วันที่เหลือ มอเตอร์ไซด์ก็ขี่ไม่แข็ง ผมจะจัดการกับชีวิตอย่างไรดี จะไปต่อหรือพอแค่นี้ กินมื้อเย็นไปด้วยใจที่ไม่เป็นสุข เอาว๊ะ..ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ลุยมาครึ่งทริปแล้ว แล้วทุกอย่างก็จองไว้หมดแล้ว เป็นไงเป็นกัน ตัดสินใจลุยเดี่ยวเที่ยวคนเดียวก็ได้

การนอนแพอาจต้องทำใจหน่อยนะครับ เพราะแพค่อนข้างโยกเวลามีคนเดินไปเข้าห้องน้ำและผ่านห้องพักเรา ดีหน่อยที่ 1 แพจะมีห้องพักเพียง 2 ห้อง นี่ถ้าอยู่บนแพเดียวกันเป็น 10 ห้อง คงไม่ต้องนอนทั้งคืนครับ

เนื่องจากเมื่อคืนมีทัวร์จีนลง เช้านี้ผมเลยตื่นแต่เช้าเพื่อรีบไปเข้าห้องน้ำ เพราะไม่อยากไปแย่งเข้าห้องน้ำกับแขกคนอื่นๆ แต่เมื่อขึ้นไปเข้าห้องน้ำก็แอบตกใจ เพราะแขกมาใช้ห้องน้ำกันเยอะเลย ที่แขกเกือบทุกคนยอมตื่นเช้าก็เพื่อสิ่งนี้ครับ

ในทุกๆ เช้า จะมีพระนั่งเรือมาบิณฑบาต ท่ามกลางอากาศเย็นๆ ที่มีฉากหลังเป็นผาตึง พร้อมกับมีไอน้ำลอยละล่องอยู่เหนือผิวน้ำแม่น้ำลิก เป็นภาพที่งดงามและหาชมได้ยากจริงๆ ครับ

หลังจากทำบุญตักบาตรแล้ว ผมเตรียมมุ่งหน้าสู่วังเวียง โดยผมให้น้อง Weerapong Larongkhum เป็นผู้ประสานหารถให้ ต้องขอบคุณน้องที่คอยอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือผมทุกอย่าง ตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่ในเมืองเฟืองทั้งๆ ที่ตัวน้องอยู่ไทย น้องเป็นคนไทยแต่ได้แฟนเป็นคนลาว น้องได้มาเปิดร้านรถเช่ามอเตอร์ไซด์ PK Service และยังรับจองที่พักในเมืองเฟือง และจองตั๋วรถไฟความเร็วสูงในวังเวียงให้ด้วยครับ
รถจากเมืองเฟืองจะไปวังเวียง มีวันละ 1 รอบ ซึ่งผมเองก็ยังไม่ค่อยเก็ตกับเวลาการให้บริการสักเท่าไรครับ เอาประมาณว่า ถ้าโทรจองรถแล้ว ให้สอบถามเวลารับส่งกับทางคนขับอีกทีนะครับ เพราะบางทีคนขับจะตะเวนขับรถไปรับลูกค้าตามรีสอร์ทต่างๆ จนทำให้เวลาที่มารับเราคลาดเคลื่อนออกไปครับ และให้ระวังการตกเป็นเหยื่อจากคนแปลกหน้า ที่จะมาตีเนียนคอยอำนวยความสะดวกกับเรา และหักหัวคิวโดยที่เราไม่รู้ตัวเหมือนที่ผมโดนครับ

เอาเป็นว่าเรื่องรถจากเมืองเฟืองไปวังเวียง บางวันก็จะเป็นรถสองแถว บางวันก็จะเป็นรถตู้ ให้ติดต่อกับเพจ ท่องเที่ยวเมืองเฟือง : Travel Muangfuang จะสะดวกสุดครับ ค่ารถเพียง 120,000 กีบ ย้ำว่า 120,000 กีบ (ข้อมูล ณ มีนาคม 2566) ถ้ามีคนอื่นที่ไม่ใช่คนขับรถมาเรียกเก็บค่าโดยสารที่แพงกว่านี้มากมาย "อย่าจ่าย" (ผมโดนคนแปลกหน้าเรียกเก็บค่าโดยสารไป 200,000 กีบแล้วเขาไปจ่ายให้คนขับรถเพียง 120,000 กีบ ที่ผมยอมจ่ายไปเพราะไม่รู้ราคาที่แท้จริง) หากวันไหนมีแขกที่อ่างน้ำตงวิวรีสอร์ทจะไปวังเวียงด้วย รถตู้ก็จะไปรับถึงที่ ทำให้เราอาจเสียเวลาไปบ้างครับ ระยะเวลาการเดินทางนี่บอกไม่ได้จริงๆ อย่างวันที่ผมไป รถไปรับลูกค้าที่อ่างน้ำตง และพาจอดแวะถ่ายภาพข้างทาง จึงใช้เวลาเดินทางถึง 2 ชั่วโมง เมื่อถึงวังเวียงแล้ว รถตู้จะไปส่งเราถึงหน้าที่พักเลย (ถ้าที่พักอยู่ในตัวเมืองวังเวียง) แต่ถ้าหากที่พักเราอยู่นอกตัวเมืองวังเวียง รถตู้จะจอดส่งบริเวณจุดจอดรถสองแถวเพื่อเหมารถไปส่งอีกทีครับ

สำหรับใครที่อยากเดินทางไปเที่ยวเมืองเฟืองแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องหาข้อมูลอะไร ลองสอบถามพูดคุยกับเพจ ท่องเที่ยวเมืองเฟือง : Travel Muangfuang ให้ช่วยวางแผนการท่องเที่ยวเมืองเฟืองได้เลยครับ

ผมแยกตัวกับสมาชิกร่วมทริปที่เมืองเฟือง ผมไปวังเวียงต่อ ส่วนพี่ที่ร่วมทริปที่คอยขี่มอเตอร์ไซด์ให้ผมนั่งแยกกลับเมืองไทยครับ

ที่วังเวียง ผมเลือกเข้าพักที่ Vang Vieng Freedom Star Hotel โดยจองผ่าน Agoda (แบบจ่ายเงิน ณ ที่พัก) มาในราคา USD22.00 (รวมอาหารเช้า) ที่พักเรียกเก็บในราคา 390,000 กีบครับ ที่พักอยู่ในถนนสายหลัก ไม่ไกลจากตลาดกลางคืน ห้องพักกว้างขวางและสะอาดเลยทีเดียว ก่อนเข้าที่พักเราจะต้องถอดรองเท้าไว้ด้านหน้า หากกลัวรองเท้าหายสามารถถือขึ้นไปเก็บบนห้องพักได้ครับ

สำหรับผู้ที่เช่ารถมอเตอร์ไซด์มาข้ามคืน สามารถนำรถมาจอดด้านหน้าโรงแรมได้เลย โดยทางโรงแรมจะนำโซ่มาคล้องให้เพื่อป้องกันขโมยด้วยครับ

ใครที่สนใจเข้าพักที่นี่ ลองสอบถามราคาตรงผ่านโรงแรมดูนะครับ อาจได้ราคาถูกกว่าจองผ่าน Agoda ครับ (020 91 137 088)

หลังจากเอาสัมภาระเก็บไว้ในห้องเรียบร้อยแล้ว ผมเลยตัดสินใจลองเช่ามอเตอร์ไซด์ขี่ดูว่าจะไปรอดหรือไม่ โดยเดินไปเช่าที่ Wonderful Tours Laos ในราคาวันละ 120,000 กีบ นอกจากจะเป็นร้านเช่ามอเตอร์ไซด์แล้ว Wonderful Tours Laos ยังมีแพคเกจที่สามารถทำในวังเวียงให้เลือกหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการพายคายัค การเล่นซิปไลน์ และอีกหลายอย่างเลย ใครสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้จากเพจของทางร้านได้เลยนะครับ ผมเองก็เล็งเล่นซิปไลน์เหมือนกัน โดยทางร้านบอกราคามาที่ 250,000 กีบ แต่ผมได้ข้อมูลมาว่า หากเราไปซื้อตั๋วเล่นซิปไลน์ที่สะพานสีฟ้า จะเสียค่าบริการเพียง 200,000 กีบเท่านั้น

ขี่รถไปก็เสียวไปตลอดทาง เพราะรถเยอะมากๆ แถมถนนก็ยังเป็นหลุมเป็นบ่อ ลำพังสองมือที่จับแฮนด์มอเตอร์ไซด์ก็ยากแล้ว ถ้าหากต้องจับแฮนด์มือเดียว อีกมือต้องคอยถือโทรศัพท์เพื่อดูเส้นทาง คงไม่ต้องพูดถึง ผมจึงต้องขี่รถไปจอดรถไปตลอดทางเพื่อคอยดูเส้นทาง ขนาดนั้นยังหลงทางไปไกลโข กว่าจะเอะใจก็หลงไปไกลเกือบ 5 กม.แล้ว กว่าจะงมทางไปที่สะพานสีฟ้าเจอ ก็เกือบจะห้าโมงเย็นแล้วครับ

เมื่อจอดรถมอเตอร์ไซด์ให้เข้าที่แล้ว รีบตรงดิ่งสู่สะพานสีฟ้า ที่สะพานสีฟ้านี้มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำหลายอย่างครับ ทั้งพายคายัค ซิปไลน์ ชมถ้ำนางฟ้า ผมเองเลือกเล่นซิปไลน์ (8 สถานี) สามารถติดต่อซื้อตั๋วได้บริเวณสะพานเลย ตอนแรกเจ้าหน้าที่บอกราคา 250,000 กีบ แต่ผมบอกว่า ผมเดินทางมาที่สะพานสีฟ้าเอง เลยต่อราคาเหลือ 200,000 กีบ เจ้าหน้าตอบโอเคโดยไม่มีอิดออดอะไรครับ ราคานี้สามารถเข้าชมถ้ำนางฟ้าได้ฟรีครับ แต่ถ้าต้องการเข้าชมถ้ำนางฟ้าอย่างเดียว มีค่าเข้าชม 20,000 กีบ

ใครที่มาที่สะพานสีฟ้าแล้ว แนะนำให้เล่นซิปไลน์นะครับ เพราะราคาถูกกว่าที่ไทยมากๆ

หลังจากเล่นซิปไลน์เสร็จ ก็มาชมความงามของถ้ำนางฟ้ากันต่อครับ หินงอกหินย้อยสวยงาม มีการติดไฟหลากสี เพื่อเพิ่มสีสันให้กับถ้ำ (แต่ความคิดส่วนตัวผมชอบแบบแสงไฟสีธรรมชาติจะสวยกว่า) การเดินชมในถ้ำ ถือว่าสะดวกเพราะมีทางเดินอย่างดีครับ

ถึงเวลาต้องลุ้นระทึกกับการขี่มอเตอร์ไซด์กลับที่พักอีกแล้วครับ ระวังตัวเองสุดชีวิตเหมือนกัน กลัวจะเอาชีวิตมาทิ้งที่ลาวมากๆ

เมื่อกลับมาถึงโรงแรมด้วยความปลอดภัย ผมใช้การเดินเท้าไปหาจุดชมวิวริมน้ำแม่น้ำซองแทนการขี่มอเตอร์ไซด์ เพื่อรอชมพระอาทิตย์ตก และจุดที่ผมเลือกคือใกล้ๆ กับริเวอร์วิว บังกะโล ซึ่งผมว่าจุดนี้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยเลยทีเดียวครับ

หลังสิ้นแสงสุดท้าย ผมหามื้อค่ำทานแถวตลาดกลางคืน แล้วกลับมานอนคิดหนักถึงการไปเที่ยวในวันรุ่งขึ้น ว่าจะเอาอย่างไรกับตัวเองดี หลังจากไตร่ตรองการขับขี่มอเตอร์ไซด์ของผมในวันนี้ดูแล้ว เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ผมควรจะเหมารถไปผาหนามไชในตอนเช้ามืดจะสะดวกและปลอดภัยต่อชีวิตมากที่สุด จึงได้ติดต่อ Bounpone Outhai เพื่อเหมารถพาผมไปผาหนามไชในเวลา 05.30 น. จากนั้นพาแวะเที่ยวบลูลากูน แล้วมาส่งที่โรงแรม จากนั้นเวลา 14.00 น. ให้มารับผมไปส่งยังสถานีรถไฟความเร็วสูง น้องเปิดราคาที่ 300,000 กีบ ต่อรองราคาได้เหลือ 250,000 กีบ รถที่เหมาเป็นรถสองแถวครับ

รถที่เหมาไว้มาตรงเวลานัด 05.30 น. ใช้เวลานั่งรถมาเรื่อยๆ ประมาณ 15 นาที ก็มาถึงจุดเริ่มเดินขึ้นไปยังผาหนามไช จุดนี้เราต้องเสียค่าบำรุงสถานที่คนละ 10,000 กีบ จากข้อมูลที่หามา จะเริ่มให้เดินขึ้นในเวลา 06.00 น. แต่ผมมาถึง 05.45 น. ก็สามารถเดินขึ้นได้แล้ว เส้นทางเดินขึ้นระยะสั้นๆ เพียง 350 เมตร แต่เป็น 350 เมตรที่มีความลาดชันเป็นอย่างมาก แทบจะไม่มีแนวราบให้ได้เดินเลย ยิ่งช่วง 50 เมตรสุดท้าย ชันสุดๆ ผมใช้เวลาในการเดินขึ้นประมาณ 25 นาที แนะนำสำหรับคนที่จะเดินขึ้นช่วงหัวรุ่ง ให้เตรียมไฟฉายไปด้วย และถ้ามีถุงมือก็จะดีมากๆ เพราะระหว่างทางเราต้องคอยจับราวไม้ หรือไม่ก็ไต่หินไปเรื่อยๆ ถุงมือจะช่วยให้เราไม่เจ็บมือครับ หินระหว่างเส้นทางที่เดินขึ้น-ลงคงผ่านสมรภูมิมาเยอะ เพราะบางเหลี่ยมมุมถูกเสียดสีกับรองเท้าของนักท่องเที่ยวจนเกิดความมันวาว ถ้าช่วงฝนตกการเดินขึ้นที่นี่น่าจะลำบากขึ้นอีกเท่าตัวครับ

ผมขึ้นมาทันได้ชมแสงเช้าพอดี บรรยากาศดีมากๆ เห็นสายหมอกบางๆ คลอเคลียทั่วผืนแผ่นดิน

จุดถ่ายรูปคู่กับมอเตอร์ไซด์จะมี 2 จุดนะครับ จุดแรก เมื่อขึ้นมาถึงยอดผาหนามไช ก็จะเห็นเลย โดยฝั่งนี้จะมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นด้วย

ส่วนอีกหนึ่งจุดจะอยู่ฝั่งตรงกันข้าม คือจากจุดแรกให้เดินขึ้นมาบนศาลา แล้วจะมองเห็นจุดที่สองครับ ซึ่งจุดที่สองนี้จะมีฉากหลังเป็นผาหอนคำ อีกหนึ่งจุดชมวิวที่ตอนนี้กำลังมาแรงพอๆ กับผาหนามไช โดยด้านบนของผาหอนคำจะมีเครื่องบินจำลองให้นักท่องเที่ยวได้ไปถ่ายรูปกันครับ

ที่ผาหนามไช สามารถชมวิวได้แบบ 360 องศาเลยครับ

เส้นทางที่จะขึ้นมาบนยอดผาหนามไชชันมากๆ โดยเฉพาะ 50 เมตรสุดท้ายนี่แหล่ะครับ ตอนที่ผมกำลังจะลงจากยอด มีสาวฝรั่งสวนขึ้นมา 2 คน ผมเห็นเธอร้องไห้โฮเลย เดาว่าคงจะทั้งเหนื่อยทั้งกลัวครับ

จุดเดินขึ้นผาหนามไชครับ ตอนเช้ามืด มืดมากๆ เลยมาถ่ายตอนขาลงครับ

ไม่ไกลจากผาหนามไช เป็นที่ตั้งของบลูลากูน 1 อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดของวังเวียง สระน้ำธรรมชาติที่มีน้ำเป็นสีฟ้าเข้ม ซึ่งเกิดจากแร่ธาตุตามธรรมชาติ ความใสของน้ำที่นี่ ใสจนมองเห็นฝูงปลาแหวกว่าย โดยรอบของบลูลากูนมีร้านอาหารจำหน่ายมากมาย

การเข้าชมที่นี่มีค่าบำรุงสถานที่คนละ 10,000 กีบ โดยถ้าใครมาเที่ยวที่บลูลากูน 1 หากมีกำลังเหลือเฟือ สามารถเดินขึ้นไปชมถ้ำปูคำได้ด้วยครับ

การจะไปชมถ้ำปูคำ เราจะต้องเดินขึ้นเขาตามทางลาดชันประมาณ 100 เมตร ก็จะถึงปากถ้ำ เดินเข้าไปจะเห็นถึงความกว้างใหญ่ของถ้ำปูคำ เมื่อมองลงไปด้านล่างถ้ำ จะพบพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ชาวบ้านนำไปประดิษฐานไว้ด้านล่างเพื่อให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้ไปสักการบูชา ใครที่จะเดินลงไปกราบไหว้ คงต้องเดินด้วยความระมัดระวังนะครับ เพราะภายในถ้ำค่อนข้างมืดและสูงชัน สำหรับผมดูจากรูปการณ์แล้ว ขอสักการบูชาอยู่บริเวณปากถ้ำเป็นพอครับ

หลังจากนั้นให้รถมาส่งที่โรงแรมเพื่ออาบน้ำและเก็บกระเป๋าเตรียมเดินทางไปวังเวียงกันต่อ เมื่อมาถึงโรงแรม ยังทันเวลาอาหารเช้า เลยแวะเติมพลังกันก่อนครับ

ผมนัดให้รถมารับอีกครั้งที่โรงแรมเวลา 14.00 น. เพื่อไปส่งยังสถานีรถไฟครับ (รถผมเหมารวมตามข้อตกลงคือพาไปส่งที่จุดจอดรถผาหนามไช+บลูลากูน 1 + ส่งสถานีรถไฟ ในราคา 250,000 กีบ)

จากวังเวียง ผมไปต่อที่หลวงพระบาง โดยใช้รถไฟความเร็วสูงครับ เมื่อมาถึงสถานีรถไฟวังเวียงก็เลยถือโอกาสจองตั๋วรถไฟจากหลวงพระบางกลับเวียงจันทน์ไว้ซะเลย จะได้ไม่ต้องเสียค่าจองให้กับเอเจนซีต่างๆ ครับ สำหรับตารางรถไฟ ตามภาพเลยครับ

ราคาค่าโดยสารตามภาพล่างครับ หากจะให้เอเจนซี่จอง ส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการจองใบละ 100 บาทครับ ถ้าหากเราพอมีเวลา จองเองดีกว่าครับ

ใครที่จะจองตั๋วเอง ต้องเช็คเวลาให้ดีๆ นะครับ เพราะแต่ละสถานีเปิดให้จองตั๋วในเวลาต่างกันออกไป โดยเราสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 3 วัน เช่น ถ้าเราจะเดินทางในวันที่ 5 เราจะสามารถจองตั๋วได้ในวันที่ 3,4 และ 5 ครับ

สำหรับการเข้าใช้บริการที่สถานีรถไฟ ตรงประตูทางเข้า เราต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วโดยสารก่อน จากนั้นทำการสแกนสัมภาระ และสแกนร่างกาย คล้ายๆ กับการขึ้นเครื่องบินครับ เมื่อผ่านขั้นตอนสแกนแล้ว ก็มานั่งรอในตัวอาคาร ก่อนที่รถไฟจะมาถึงสถานีประมาณ 10 นาที จะมีการเรียกตรวจตั๋วโดยสารอีกครั้ง เมื่อตรวจตั๋วเสร็จ เจ้าหน้าที่จะให้เข้าไปยืนรอที่ชานชาลาครับ ตั๋วโดยสารเก็บไว้ดีๆ นะครับ เพราะขาออกจากสถานีรถไฟ จะมีการเรียกตรวจตั๋วโดยสารอีกครั้งครับ ก่อนขึ้นรถไฟ เช็คตู้โดยสารและเบาะที่นั่งที่หน้าตั๋วด้วยนะครับ เราต้องนั่งตามตั๋วของเราครับ

ไปดูภายในรถไฟชั้น 2 กันครับ ตู้ชั้น 2 ใน 1 แถวจะมี 5 ที่นั่ง (แบ่งเป็น 3 ที่นั่ง และ 2 ที่นั่ง) ส่วนความกว้างระหว่างแถว ถือว่ากว้างขวางเลยทีเดียว ผมสูง 183 ซม. เวลานั่งแล้วขาไม่ชนเบาะ แถมยังมีพื้นที่เหลือจากเข่าอีกเยอะเลยครับ เบาะใหญ่ รองรับร่างกายดี นั่งค่อนข้างสบาย เสียอย่างเดียว แอร์ไม่เย็น ยิ่งมีผู้โดยสารเต็มตู้ จะรู้สึกว่าร้อนและอึดอัดครับ สำหรับเส้นทางจากวังเวียงไปหลวงพระบาง รถไฟจะวิ่งผ่านอุโมงค์เยอะมากๆ ครับ

จากสถานีวังเวียง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ก็มาถึงสถานีหลวงพระบางแล้วครับ

เมื่อมาถึงสถานีหลวงพระบางแล้ว จากทางออกให้เดินออกมาทางขวา ลงมาที่ชั้นล่าง มองหารถตู้สีขาวลายสีแดง-น้ำเงินครับ รถตู้เหล่านี้จะเป็นรถตู้บริการไปส่งยังที่พักในเมืองหลวงพระบาง โดยเราต้องซื้อตั๋วก่อนขึ้นรถตรงเต้นท์ผ้าใบสีขาวด้านซ้ายมือของภาพ มีค่าบริการคนละ 35,000 กีบ ตอนใกล้ๆ จะถึงตัวเมืองหลวงพระบาง คนขับจะถามว่าใครลงที่ไหนบ้าง แนะนำให้เปิด GPS คอยบอกทางคนขับไปด้วยก็ดีครับ บางทีคนขับอาจไม่รู้จักที่พักที่เราจองไว้ เพราะที่พักในหลวงพระบางเยอะมากๆ

ในหลวงพระบาง ผมเลือกเข้าพักที่ Lao Lu Lodge โดยจองผ่าน Agoda (จ่ายเงิน ณ ที่พัก) ในราคา USD39.60 /2 คืน โดยที่พักเรียกเก็บเงินในราคา 665,000 กีบ/2 คืน (1,330 บาท/2 คืน) ที่พักจะอยู่ติดตลาดเช้าและอยู่ใกล้วัดที่สำคัญๆ อย่างวัดใหม่สุวรรณภูมาราม พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง พระธาตุพูสี และใกล้ตลาดมืดครับ ถึงแม้ที่พักจะอยู่ในย่านตลาด แต่เมื่อเดินเข้ามาในที่พักแล้ว จะมีความเป็นส่วนตัวเป็นอย่างมาก

ห้องที่ผมพักจะมีหน้าต่างไม้ แต่คงต้องปิดไว้ตลอดเวลา เนื่องจากห้องพักผมอยู่ชั้นล่าง หากเปิดหน้าต่างอาจจะไม่ค่อยเป็นส่วนตัว เพราะคนข้างนอกจะมองเข้ามาด้านในได้ จึงทำให้ห้องอาจจะดูทึบไปสักนิดครับ ภายในห้องไม่มีทีวี แต่มีเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำน้ำอุ่นให้พร้อมครับ ราคาห้องพักไม่มีอาหารเช้านะครับ

หลังจากเก็บสัมภาระเข้าที่เรียบร้อยแล้ว ผมรีบเดินไปสำรวจตลาดมืดทันที และหามื้อค่ำทานที่ตลาดมืดเลยครับ

ค่ำนี้ได้ข้าวเปียกอีกเช่นเคย ชามนี้ 25,000 กีบครับ

เช้าวันใหม่ ผมตื่นแต่เช้าอีกวัน เพื่อมาใส่บาตรข้าวเหนียว ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนหลวงพระบาง พระจะออกบิณฑบาตกันตั้งแต่เวลาราวๆ 05.30 น.-06.30 น. จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาใส่บาตรคือหน้าวัดใหม่สุวรรณภูมาราม ใครที่อยากใส่บาตร ไม่ต้องกังวลเรื่องของใส่บาตรนะครับ เพราะจะมีแม่ค้ามาขายของใส่บาตรหลายเจ้าเลย ในราคาชุดละ 60,000 กีบ โดยจะมีข้าวเหนียว 1 กระติบ ขนม และผ้าปูพร้อมที่นั่งครับ

สถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองหลวงพระบาง ส่วนใหญ่จะเป็นการเที่ยววัดเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมจึงเลือกใช้การเดินเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจากวัดที่สำคัญอยู่ไม่ไกลกัน โดยวัดแรกผมปักหมุดที่วัดวิชุนราช ภายในวัดมีปทุมเจดีย์หรือพระธาตุดอกบัวใหญ่ ซึ่งองค์พระธาตุมีความโดดเด่นไม่เหมือนวัดไหนๆ ในหลวงพระบาง ตรงความแปลกของรูปทรงพระธาตุ ซึ่งมีรูปร่างโค้งมนเหมือนผลแตงโมผ่าครึ่งครับ ชาวหลวงพระบางจึงนิยมเรียกว่าพระธาตุหมากโม

ภายในสิมเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน หรือพระองค์หลวง ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในหลวงพระบาง ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปไม้แกะสลักลงรักปิดทองสูงเท่าคนจริงจำนวนมาก เนื่องจากผมมาถึงวัดเช้าเกิน ประตูสิมยังไม่เปิด เลยทำได้เพียงชื่นชมความงดงามของพระประธานผ่านช่องหน้าต่างเท่านั้น สิมเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 07.30 น. โดยเสียค่าเข้าชม 20,000 กีบครับ

จากวัดวิชุนราช มองขึ้นไปบนเขา มองเห็นพระธาตุพูสีด้วยครับ

ผมย้อนกลับมาที่วัดใหม่สุวรรณภูมารามอีกครั้ง ระหว่างทางก็ได้ชมวิถีชีวิตยามเช้าของชาวหลวงพระบางไปตลอดทาง

ฝั่งตรงข้ามวัดใหม่สุวรรณภูมาราม มีร้านโจ๊กอยู่หนึ่งร้าน ลูกค้าเยอะทีเดียว ผมเลยขอฝากท้องซะเลย

ทานเสร็จก็ข้ามมาเที่ยวชมวัดใหม่สุวรรณภูมารามต่อครับ

วัดใหม่สุวรรณภูมาราม หรือเรียกสั้นๆ กันว่า วัดใหม่ ในสมัยก่อนวัดนี้มีความสำคัญมาก นอกจากเคยเป็นที่ประดิษฐานพระบางแล้ว ยังใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอีกด้วย ความโดดเด่นของวัดใหม่อยู่ที่ สิม หรือโบสถ์ ที่มีลวดลายละเอียดประณีต ผสมผสานหลายสกุลช่างเข้าด้วยกัน เครื่องประกอบหลังคามีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์อย่างอุโบสถศิลปะรัตนโกสินทร์ หลังคาแอ่นโค้ง มีโหง่และช่อฟ้า ตกแต่งด้วยลายฟอกคำอย่างสิมแบบหลวงพระบาง หลังคามีการซ้อนชั้นแบบเชียงขวาง และมีคอสองแบบไทลื้อ ทวารบาลเช่นรูปเทวดาถือช่อดอกกระดังงา ตามแบบที่นิยมในศิลปะลาว มีรูปมังกรแบบจีนสลักไว้ด้านล่างครับ

ภายในสิม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง คนลาวเรียกว่า พระเอ้ เป็นพระประธาน มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิในศิลปะรัตนโกสินทร์ครับ วัดใหม่มีค่าเข้าชม 20,000 กีบครับ

ติดกับวัดใหม่สุวรรณภูมารามเป็นที่ตั้งของหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง หรือ หอคำ เดิมคือพระราชวังของเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบาง ต่อมาในปี พ.ศ.2519 ได้ปรับให้เป็นหอพิพิธภัณฑ์หลวง โดยใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ เครื่องสูง และราชูปโภคของเจ้าชีวิต มีพระพุทธรูป และวัตถุโบราณที่น่าสนใจมากมาย ตัวอาคารเป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาเป็นแบบล้านช้าง บริเวณหน้าประตูปูด้วยหินอ่อนจากอิตาลี ภายในอาคารแบ่งเป็นห้องต่างๆ หลายห้อง เช่น ห้องฟังธรรมของเจ้ามหาชีวิต ด้านหลังเป็นท้องพระโรง ห้องรับรองราชอาคันตุกะ หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-11.30 น. และเวลา 13.30 น.-16.00 น. โดยมีค่าเข้าชม 30,000 กีบครับ

หอพระบาง ตั้งอยู่ในหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง เป็นที่ประดิษฐาน "พระบาง" พระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวลาว เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืนปางประทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร เป็นศิลปะสมัยขอมหลังบายนตอนปลาย มีความเก่าแก่อายุอยู่ในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 ครับ

ผมชอบความคลาสสิคของบ้านเรือนในหลวงพระบางมากๆ มันดูคลาสสิค มีเสน่ห์มากๆ ครับ อาคารสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะอยู่ตลอดแนวถนนที่ผ่านด้านหน้าหอพระบางครับ

จากนั้นผมเดินกลับที่พัก ระหว่างทางต้องผ่านตลาดเช้า เลยขอเดินชมบรรยากาศสักหน่อย ที่ตลาดเช้าแม่ค้าจะทยอยตั้งร้านกันตั้งแต่ 05.30 น. แล้วตลาดจะเริ่มวายประมาณ 10.00 น. ของที่นำมาวางขายมีทั้งของสดอย่างพืชผัก ผลไม้ ไก่สด แมลงต่างๆ นอกจากนี้ยังมีอาหารปรุงสำเร็จให้เลือกชิมมากมาย ผมว่าการเดินตลาดเป็นการได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของชาวบ้านที่นี่ เพราะจะได้รู้ว่าเขามีชีวิตกินอยู่กันอย่างไร

เมื่อวานตอนที่ผมเข้าที่พัก ผมติดต่อซื้อทัวร์น้ำตกตาดกวางสีจากที่พัก ที่พักคิดค่าบริการ 80,000 กีบ/คน (Joint Trip) แล้วแจ้งว่าคนขับรถตู้จะมารับที่โรงแรมราวๆ 11.00 น.

แต่เอาจริงๆ คนขับรถตู้จะเริ่มทยอยรับลูกทริปจากที่พักแต่ละแห่งตั้งแต่เวลา 11.00 จนมารับผมราวๆ 12.00 น. จากตัวเมืองหลวงพระบางใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง รถตู้จะพามาจอดที่วัดแห่งหนึ่งตรงทางเข้าน้ำตกเลยครับ แต่ถ้าหากใครขี่รถมาเอง จะต้องไปจอดรถไว้ที่ลานจอดด้านนอกแล้วต้องนั่งรถกอล์ฟเพื่อมาส่งบริเวณทางเข้า ทัวร์ที่ผมไปจะให้เวลาลูกทริปซึมซับกับบรรยากาศของน้ำตกตาดกวางสีประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งครับ

จากทางเข้าต้องเดินเท้ากันต่อนิดหน่อย เส้นทางเดินจะเป็นวงกลม แนะนำว่าขาเข้าน้ำตกให้เดินวนทางขวาก่อนครับ ระหว่างทางเราจะได้ซึมซับกับธรรมชาติของป่า มีศูนย์อนุรักษ์หมีให้ชมด้วย

นอกจากนี้ยังจะได้เห็นน้ำตกชั้นเล็กๆ ไปตลอดเส้นทาง

น้ำตกตาดกวางสีเป็นน้ำตกที่สวยที่สุดในหลวงพระบาง มีน้ำตลอดปี ด้วยการที่ตัวน้ำตกเป็นน้ำตกหินปูน จึงทำให้น้ำในน้ำตกมีสีเขียวมรกต ดูสวยงามมากๆ ครับ

น้ำตกตาดกวางสีเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-17.00 น. ครับ โดยมีค่าเข้าชมคนละ 25,000 กีบ

สำหรับคนที่ขี่มอเตอร์ไซด์ไม่เป็นหรือไม่แข็งเหมือนผม แล้วต้องการจะไปเที่ยวที่น้ำตกตาดกวางสี ผมขอแนะนำให้ซื้อทัวร์แบบ Join Tour อย่างผมครับ ทั้งประหยัดและปลอดภัย เนื่องจากระยะทางจากตัวเมืองหลวงพระบางไปยังน้ำตกตาดกวางสีค่อนข้างไกล ประมาณ 30 กม. ใครที่สนใจสามารถสอบถามจากที่พักดูได้ครับ เพราะส่วนใหญ่ที่พักจะผูกกับ บ.ทัวร์ไว้ โดยมีค่าบริการคนละ 80,000 กีบ แต่ถ้าเพื่อนคนไหนซื้อซิมลาวไว้ สามารถโทร/แอดไลน์/WhatsApp ที่คุณภูมี 020 55 772 460 ซึ่งเป็นคนขับรถตู้ได้เลยครับ จะได้ในราคา 60,000 กีบ ราคาที่แจ้งเป็นราคาเฉพาะรถไปกลับเท่านั้นนะครับ ยังไม่รวมค่าเข้าชมน้ำตกอีก 25,000 กีบครับ

จากน้ำตกตาดกวางสี รถตู้จะมาส่งลูกทริปที่ตลาดมืดในหลวงพระบางเพียงจุดเดียวครับ ดูเวลาแล้วยังพอมีเวลาที่จะเดินขึ้นไปสักการะพระธาตุพูสี ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 150 เมตร กลางเมืองหลวงพระบาง การเดินเท้าขึ้นบนยอดพระธาตุพูสี มี 2 เส้นทาง คือ ด้านข้างของหอพระบาง และทางขึ้นตรงวัดศรีพุทธบาททิพาราม โดยผมเลือกเดินขึ้นทางด้านข้างของหอพระบาง พระธาตุพูสีเปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยเสียค่าเข้าชม 20,000 กีบครับ

จุดเด่นของพระธาตุพูสี คือองค์พระธาตุที่มีรูปทรงเป็นดอกบัวสี่เหลี่ยมสีทองอร่าม สูงประมาณ 21 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยอดประดับด้วยเศวตฉัตรทองสำริดเจ็ดชั้น เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ของชาวหลวงพระบางครับ

ด้านบนพระธาตุพูสี นอกจากจะมีพระธาตุให้สักการบูชาแล้ว เรายังสามารถชมเมืองหลวงพระบางมุมสูงได้แบบ 360 องศาเลยครับ

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมมาชมพระอาทิตย์ตกกันมากมาย เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีที่ยืนเลยครับ ภาพที่เห็นเบื้องหน้า มองเห็นตัวเมืองหลวงพระบาง ที่ขนาบข้างด้วยแม่น้ำโขง มีฉากหลังเป็นทิวเขาทอดตัวเป็นแนวยาว ไปภูเก็ตต้องไปชมพระอาทิตย์ตกที่แหลมพรหมเทพ มาหลวงพระบางก็ต้องมาชมพระอาทิตย์ตกที่พระธาตุพูสีแห่งนี้ครับ นอกจากชมพระอาทิตย์ตกแล้ว ยังสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นได้อีกด้วยครับ

หลังพระอาทิตย์ตกราวครึ่งชั่วโมง แสงสวยๆ ก็เริ่มย้อมเมืองหลวงพระบางให้กลายเป็นสีชมพู แสงแบบนี้มีให้เห็นไม่เกิน 10 นาทีครับ

จากด้านบนพระธาตุพูสี มองเห็นหอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบางด้วยครับ

สีสันและเส้นสายของหลวงพระบาง

หลังจากท้องฟ้าสิ้นแสงลง แสงของโคมไฟก็กลับสว่างไสวขึ้นแทนที่ บริเวณถนนศรีสว่างวงศ์ จะถูกแปรสภาพกลายเป็นตลาดขายของพื้นเมืองที่ชาวหลวงพระบางหรือชนกลุ่มน้อยอย่างชาวม้ง ต่างจะนำสินค้าทำมือมาวางขาย เรียกได้ว่าละลานตาไปหมด มีให้เลือกทั้งเครื่องเงิน ผ้าลายพื้นเมือง และของที่ระลึกจากหลวงพระบางครับ นับเป็นสีสันยามค่ำของหลวงพระบางที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

มองย้อนกลับขึ้นไปบนยอดเขา เห็นพระธาตุพูสีโดดเด่นท่ามกลางความมืด

ผมเดินย้อนกลับมาที่หัวถนนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของถนนคนเดิน บริเวณนี้จะมีลานขายอาหารมากมาย คล้ายๆ กับตลาดนัดเลยครับ โดยมีพื้นที่ให้นั่งทานอาหารอยู่ตรงกลางลาน บอกเลยว่าร้านอาหารเยอะมาก แถมนักท่องเที่ยวเยอะมากๆ จนพื้นที่นั่งทานอาหารมีไม่เพียงพอ ผมเองก็มาฝากท้องที่ลานนี้เหมือนกัน โดยได้ตำหลวงพระบางและผัดไท หิ้วกลับไปกินที่ห้องพักครับ

วันสุดท้ายในลาว เช้านี้ผมออกเดินเที่ยวตั้งแต่เช้าเหมือนวันก่อน ตั้งใจจะมาเก็บบรรยากาศการตักบาตรข้าวเหนียวอีกครั้ง โดยมาเริ่มที่วัดใหม่สุวรรณภูมาราม บรรยากาศในวันนี้เหมือนเมื่อวาน คือมีพระออกบิณฑบาตไม่มากสักเท่าไร

จากนั้นจึงมุ่งหน้าสู่วัดเชียงทอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญของหลวงพระบาง พอเดินมาถึงแถวๆ หน้าโรงเรียนอนุบาลหลวงพระบาง ก็พบฝูงชนจำนวนมากกำลังมุงดูอะไรกันอยู่ ผมเลยแทรกตัวเข้าไปมุงบ้าง ก็พบกับพระนับร้อยๆ รูป กำลังออกบิณฑบาตกันอยู่ เห็นแล้วขนลุกเลยครับ เพราะไม่คิดว่าจะได้เจอพระและเณรจำนวนมากขนาดนี้

หากสังเกตดีๆ ในระหว่างที่พระบิณฑบาต ท่านจะนำของที่ได้รับจากการบิณฑบาตใส่กลับลงในตะกร้าของญาติโยมหรือเด็กยากจนที่จะนำตะกร้ามาวางรอ ผมถามชาวบ้านแถวนั้นว่าทำไมท่านถึงต้องทำแบบนั้น คำตอบที่ได้มาทำให้ผมอิ่มเอมในหัวใจเลยครับ เหตุที่ท่านทำแบบนั้น คือ "ความพอเพียง" ของที่บิณฑบาตมามากเกินพอ ท่านฉันไม่หมดหรอกครับ ท่านจึงได้ทำทานกลับ เพราะของส่วนที่มากเกินพอนั้นอาจจะเป็นสิ่งจำเป็นในการยังชีพให้กับคนยากจนครับ

จากหน้าโรงเรียนอนุบาลหลวงพระบาง เดินเท้าต่อไปอีก ก็จะพบกับย่านที่พักและคาเฟ่ที่ดูคลาสสิคหลายแห่งเลยครับ ผมนี่ชอบจริงๆ กับสถาปัตยกรรมแบบนี้

นอกจากจะมีตึกสวยๆ แล้ว ยังผ่านวัดสวยๆ อีกหลายวัดเลย เช่น วัดแสนสุขาราม สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2261 ชื่อวัดแสนมาจากจำนวนเงิน 100,000 กีบ ที่มีผู้บริจาคให้เป็นทุนเริ่มสร้าง วัดสร้างขึ้นภายหลังที่นครหลวงพระบางแยกออกจากนครเวียงจันทน์ได้ 11 ปี สิมเป็นทรงแบบเวียงจันทน์ คือมีความสูง แต่หลังคามีการซ้อนลดหลั่นแบบสิมเมืองหลวงพระบางและเพิ่มหลังคาตรงกลางแบบสิมเชียงขวาง

วัดสบสิกขาราม เดิมชื่อวัดสบเชียงทอง สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้วที่สามารถขับไล่กองทัพญวนออกจากล้านช้าง สิมเป็นทรงหลวงพระบางขนาดเล็ก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย สวมชฎาทางสูง สันนิษฐานว่าเป็นองค์แทนพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว

วัดสิริมงคลไชยาราม สิมของวัดสิริมงคลไชยารามนำศิลปะแบบหลวงพระบางมาผสมผสานกับศิลปะเชียงขวางครับ

วัดศรีบุญเรืองศิริมาราม เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยชาวฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2301 สิมมีรูปทรงหลังคาแอ่นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นศิลปะแบบเชียงขวาง ด้านหน้ามีลวดลายของดอกรวงผึ้งดูอ่อนช้อยมากๆ ครับ

มาจบสุดท้ายที่วัดเชียงทองครับ

เมื่อพูดถึงหลวงพระบาง ผมว่าหลายคนคงจะเห็นภาพของวัดเชียงทองลอยผุดขึ้นมาในความคิดเป็นแว๊บแรกอย่างแน่นอน วัดเชียงทองเป็นวัดที่รอดพ้นจากอัคคีภัยครั้งใหญ่ที่เผาผลาญเมืองเมื่อ พ.ศ.2430 โดยฝีมือของพวกฮ่อ จึงทำให้สิมที่อยู่ในวัดเป็นสิมที่เก่าแก่ที่สุดในหลวงพระบาง สิมหลังนี้สะท้อนถึงสถาปัตยกรรมล้านช้างได้อย่างวิจิตรงดงามจนได้รับการยกย่องให้เป็น "อัญมณีแห่งล้านช้าง" กลายเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นหอพระบาง หรือแม้แต่ในบ้านเรา แถมวัดนี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน "พระม่าน" หนึ่งในสามพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดองค์หนึ่งของหลวงพระบางครับ

ด้านในสิม เป็นที่ประดิษฐานพระประธานขนาดใหญ่ที่ตั้งร่วมกับพระพุทธรูปขนาดเล็กๆ อีกนับสิบองค์ มีทั้งพระยืน พระนั่ง โดยรอบของผนังสิมด้านในได้รับการตกแต่งด้วยลายฟอกคำ บอกเล่าเรื่องพุทธประวัติ ชาดก และตำนานเมืองหลวงพระบางครับ

สิ่งที่เป็นไฮไลต์ของสิมหลังนี้ เห็นจะเป็นงานประดับกระจกรูปต้นทองขนาดใหญ่ ซึ่งสื่อถึงตำนานการสร้างเมืองหลวงพระบางที่ครั้งหนึ่งเคยมีชื่อว่าเมืองเชียงดงเชียงทองครับ

ด้านข้างของสิมเป็นที่ตั้งของหอไหว้พระพุทธไสยาสน์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ หอไหว้สีกุหลาบ เหตุเพราะสีของผนังด้านนอกเป็นสีชมพูคล้ายสีกุหลาบ ความน่าสนใจของหอนี้อยู่ที่งานกระจกที่ติดอยู่บนผนัง บอกเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้านที่สั่งสอนเรื่องธรรมะอย่างง่ายๆ ด้านในหอประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่มีอายุถึง 400 ปีเลยครับ

ส่วนด้านหลังของสิมเป็นที่ตั้งของ หอพระม่าน หอไหว้หลังเล็กที่มีสี และการตกแต่งด้วยกระจกคล้ายกับหอไหว้สีกุหลาบ แต่จะแตกต่างกันที่ หอพระม่านเป็นที่ประดิษฐานพระม่าน 1 ใน 3 พระพุทธรูปสำคัญของเมืองหลวงพระบาง ร่วมกับพระบางซึ่งอยู่ที่หอพระบาง และพระเจ้าองค์แสนซึ่งอยู่ที่วัดหนองศรีคูนเมืองครับ โดยปกติทางวัดจะไม่เปิดให้ใครได้ชมครับ

แต่ในวันที่ผมไปวัดเชียงทอง ผมโชคดีมากๆ ที่ได้มีโอกาสชมบารมีของพระม่าน เนื่องจากพระท่านเปิดหอพระม่านเพื่อประกอบพิธีพอดี นับเป็นบุญตาของผมจริงๆ องค์พระม่านคือองค์ยืนตรงกลางครับ

เชื่อกันว่าพระม่านสร้างขึ้นโดยชาวพม่า พระพุทธรูปองค์นี้จึงได้ชื่อว่า "พระม่าน" เพราะคำว่า ม่าน หมายถึง ชนชาติพม่า พอสร้างพระม่านเสร็จก็นำแพล่องไปในแม่น้ำโขงเพื่อจะนำกลับไปยังประเทศพม่า แต่เมื่อผ่านเมืองหลวงพระบาง พระม่านกลับหยุดและหมุนวนกับที่ ทำอย่างไรก็อัญเชิญไปต่อไม่ได้ เจ้าอาวาสจากวัดหลายแห่งก็มาอัญเชิญท่านขึ้นแต่ก็ไม่สำเร็จ จนมาถึงเจ้าอาวาสวัดเชียงทองซึ่งสามารถอัญเชิญท่านขึ้นจากน้ำได้สำเร็จ และได้อัญเชิญท่านกลับวัด ระหว่างนั้นมีฝนตกอย่างไม่มีท่าทีจะหยุด เจ้าอาวาสจึงได้สร้างหอพระม่านขึ้นเพื่อประดิษฐานท่าน และเกิดความเชื่อว่าหากยามใดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลให้อัญเชิญท่านมาสรงน้ำ แล้วฝนก็จะตกจริงๆ ครับ

ทางวัดเชียงทองจะอัญเชิญพระม่านออกมาจากหอพระม่านปีละ 1 ครั้งช่วงหลังสงกรานต์ ในระหว่างวันที่ 23 – 27 เมษายน เพื่อให้ประชาชนได้มาสรงน้ำท่านเป็นประจำทุกปีครับ

เยื้องๆ ด้านหน้าสิม เป็นที่ตั้งของโรงราชรถ หรือหอราชโกศ ด้านในจะเป็นที่เก็บราชรถไม้แกะสลักปิดทอง มีพระโกศ 3 องค์ ตั้งอยู่บนราชรถ โดยโกศองค์ใหญ่เป็นของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์แห่งเมืองหลวงพระบางองค์ก่อนสุดท้าย ตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนองค์ที่อยู่ด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา องค์ที่อยู่ด้านหลังเป็นของพระราชมารดาของพระองค์ครับ นอกจากนี้ภายในยังมีศิลปวัตถุเก่าแก่ของหลวงพระบางอีกหลายรายการ เช่นพระพุทธรูป บานประตูโบราณ ภาพพระบฏ ครับ

จากวัดเชียงทอง เดินออกตรงทางออกด้านหลังวัด เลี้ยวขวาแล้วเลาะแม่น้ำโขงมานิดหน่อย เพื่อมาชมสะพานไม้ไผ่ ที่ทอดตัวยาวราว 150 เมตร ขวางแม่น้ำคาน สร้างขึ้นโดยชาวบ้านเพื่อเดินข้ามฟากไปมาหาสู่กัน สะพานไม้ไผ่แห่งนี้จะได้ใช้งานกัน 6 เดือน พอถึงหน้าน้ำชาวบ้านก็จะรื้อสะพานลง หรือไม่ก็ปล่อยให้น้ำพัดหายไป หลังจากน้ำลงแล้วก็จะสร้างขึ้นมาใหม่เป็นประจำแบบนี้ทุกปี จุดที่สร้างสะพานจะอยู่ตรงจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำคานและแม่น้ำโขงครับ

จากสะพานไม้ไผ่ ผมเดินเท้ากลับไปยังที่พัก แวะหามื้อเช้ารองท้องก่อน มื้อนี้ได้ข้าวเปียกและโจ๊กในตลาดเช้าข้างที่พักผมนั่นเอง 2 ชามนี้ 40,000 กีบครับ

ผมโทร 020 55 970 085 เพื่อนัดรถตู้โดยสาร (สถานีรถไฟหลวงพระบาง-เมืองหลวงพระบาง) ให้มารับที่ที่พักเพื่อไปส่งยังสถานีรถไฟหลวงพระบาง (แนะนำว่าตอนที่โทรประสาน ให้ตกลงราคาให้ชัดเจน) ผมตกลงราคาไว้ที่ 35,000 กีบ (เท่ากับขามา) แต่เนื่องจากผมมีแบงค์ 50,000 กีบ เมื่อถึงสถานีรถไฟหลวงพระบาง ผมก็ยื่นแบงค์ 50,000 กีบให้ คนขับตีเนียนไม่ทอนเงินให้ แถมพูดกลับมาว่า ค่ารถ 50,000 กีบ ผมไม่ยอมเลยบอกไปว่า ก็ตกลงราคากันมาที่ 35,000 กีบไม่ใช่เหรอ เขาก็ยอมทอนเงินให้แต่โดยดีครับ

ผมโดยสารรถไฟรอบ 13.53 น.จากหลวงพระบาง มาถึงเวียงจันทน์ในเวลา 15.52 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 242,000 กีบครับ

เมื่อเดินทางมาถึงสถานีเวียงจันทน์แล้ว จากทางออกให้เดินตรงดิ่งออกมาเลยครับ จะเห็นรถบัสโดยสารสีเขียวจอดรอผู้โดยสารอยู่ 2 สาย สายแรกจะไปส่งที่ตลาดเช้า อีกหนึ่งสายจะไปส่งที่ด่าน ตม. โดยจะมีพนักงานประจำรถโดยสารยืนถือป้ายบอกจุดหมายปลายทางอยู่ครับ ถ้าไม่มั่นใจว่าคันไหนไปไหน สอบถามพนักงานประจำรถได้เลย รถที่จะไปด่าน มีค่าบริการคนละ 20,000 กีบ โดยรถจะมาจอดส่งที่หน้าด่านเลย

เมื่อมาถึงด่านแล้ว จัดแจงแลกเงินกีบเป็นเงินบาทให้เรียบร้อย จากนั้นผ่านขั้นตอนของ ตม. ลาว โดยมีค่าดำเนินการอีกคนละ 20 บาทเหมือนขาเข้า เมื่อผ่านขั้นตอนของ ตม.ลาวแล้ว ให้นั่งรถบัสข้ามมาที่ฝั่งไทย โดยต้องเสียค่าโดยสารคนละ 30 บาท หรือหากใครที่เงินกีบยังเหลือ สามารถจ่ายเป็นเงินกีบได้ในราคา 15,000 กีบครับ

จากด่านไทย หากจะเข้าไปยังตัวเมืองหนองคาย เมื่อเดินออกมาที่หน้าด่านแล้วจะมีรถสกายแลปคอยรอให้บริการเป็นจำนวนมาก หากจะไปสถานีรถไฟหนองคายหรือในตัวเมืองหนองคาย จะมีค่าบริการคนละ 50 บาท สำหรับผม ให้รถไปส่งที่โรงแรมไอยรา หนองคาย ซึ่งจะเป็นที่พักในคืนนี้ครับ

โรงแรมไอยรา หนองคาย อยู่ใกล้กับโลตัส ห้องพักถือว่าดี ผมจองตรงกับทางโรงแรม ในราคาคืนละ 500 บาท ห้องพักกว้างขวาง คุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปครับ

หลังจากเก็บสัมภาระเข้าที่แล้ว ผมเดินเล่นไปเรื่อยๆ เพื่อไปยังถนนคนเดิน ทันเห็นพระอาทิตย์ตกหลังสะพานมิตรภาพไทย-ลาวพอดีครับ

ช่วงเย็นมีการรำของกลุ่มแม่บ้านชาวหนองคาย ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวหนองคายด้วยครับ

วันแรกที่ผมมาถึงหนองคาย ผมก็มาหามื้อค่ำทานที่นี่ แต่มาถึงมืดแล้ว เลยไม่ได้เก็บบรรยากาศถนนคนเดินมาให้ชมกัน วันนี้มาถึงก่อนฟ้ามืด เลยได้เก็บบรรยากาศไปเรื่อยๆ จนถึงลานพญานาคคู่ แลนด์มาร์คของเมืองหนองคาย ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าวัดลำดวนครับ ช่วงเย็นที่นี่บรรยากาศดีมากๆ ชาวหนองคายนิยมมาพักผ่อน ออกกำลังกายริมแม่น้ำโขงกันมากมาย สำหรับค่ำนี้ผมฝากท้องที่ร้านแดงแหนมเนือง อิ่มท้องแล้วนั่งรถสกายแลปกลับที่พัก

ถึงเวลาต้องอำลาหนองคายแล้ว ผมออกเดินทางจากสถานีรถไฟหนองคายโดยรถด่วน ในเวลา 07.45 น. ถึงสถานีรถไฟสระบุรี ในเวลา 14.54 น. ใช้เวลาเดินทาง 7 ชั่วโมงนิดๆ ครับ

เป็นอันจบทริปลาวเหนือ ที่เดินทางคนเดียวด้วยความประทับใจ ทุกวันนี้คำว่า "โด่ย" ยังคงก้องอยู่ในหัวผมตลอด ผมเชื่อว่าคงไม่ได้มีแค่ผมคนเดียวที่รู้สึกแบบนี้ เพื่อนอีกหลายๆ คนที่เคยไปเที่ยวลาวมา คงรู้สึกเช่นเดียวกันกับผม ใครอยากรู้ว่าทำไมคำว่า "โด่ย" ถึงต้องก้องอยู่ในหัว คงต้องไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองที่ "ลาว"

สุดท้ายนี้เพื่อนๆ สามารถเข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt/ ขอบคุณครับ

ลุงเสื้อเขียว

 วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 10.05 น.

ความคิดเห็น