🛕วัดฉลอง หนึ่งในวัดศักดิ์สิทธิ์ของ จังหวัดภูเก็ต
วัดฉลอง ไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่แน่ชัดว่าาใครเป็นผู้สร้าง อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 8 กม. เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองชาวภูเก็ตมาอย่างยาวนาน ถูกบันทึกไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยใช้ชื่อ วัดฉลอง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อวัดฉลองเป็น วัดไชยธาราราม เเละอีกชื่อที่คนมักเรียก คือ วัดหลวงพ่อเเช่ม
เรียกได้ว่า...ไม่มีใครในภูเก็ตไม่รู้จักวัดแห่งนี้ ซึ่งความมีชื่อเสียงของวัดฉลองนั้นมาจาก พระเกจิอาจารย์แช่ม หรือที่ชาวภูเก็ตเรียกกันว่า หลวงพ่อแช่ม นั้นเอง โดยท่านเคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้
ขณะที่ยังมีชีวิต ท่านเป็นที่พึ่งของชาวบ้านเรื่องการปรุงสมุนไพรเพื่อใช้ในการรักษาโรคให้กับชาวบ้าน เนื่องจากท่านเป็นพระที่มีศาสตร์วิชาในด้านการปรุงยาสมุนไพร 🌿 และรักษาโรค เข้าเฝือกผู้ป่วยกระดูกหัก และเมื่อครั้งที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มอั้งยี่ (จีนที่ก่อกบฏ) จึงทำให้ท่านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก
ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้บูชา เพื่อขอความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตตัวเองและขอให้สุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ 🤒 นอกจากนี้ วัดฉลองยังมีความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมต่างๆ อาทิเช่น
กุฎิจำลองหลวงพ่อแช่ม หรือ กุฎิไม้เรือนไทย
จากภาพที่บันทึกไว้ ทำให้ทราบได้ว่า...กุฎิเดิมของหลวงพ่อแช่ม เป็นเรือนไม้ทรงไทยยกพื้นสูง ซึ่งเป็นเรือนไทยที่สวยงามมากประดับประดาด้วยการแกะสลักไม้ลวดลายไทยสวยงามหน้าจั่วเป็นไม้ไผ่ขัดลาย
ปัจจุบันหลวงพ่อแช่มได้มรณภาพไปแล้ว มีเพียงรูปปั้นหุ่นขึ้ผึ้งจำลองที่ประดิษฐานไว้ใน กุฎิไม้เรือนไทย ซึ่งเป็นเรือนไม้ทรงไทยยกพื้นสูง ที่จำลองมาให้ใกล้เคียงกับกุฎิหลังเดิม โดยกุฏิจำลองนั้นเป็นทรงศาลาไทย มีตัวเรือนเป็นไม้สักทั้งหลังแกะสลักอย่างสวยงาม
ซึ่งภายในอาคารได้จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งหล่อรูปเหมือนของหลวงพ่อวัดฉลอง ทั้ง 3 รูป ที่เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดฉลอง คือ หลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อช่วง และหลวงพ่อเกลื้อม
อีกทั้งภายในกุฎิไม้เรือนไทย ยังได้นำเครื่องเรือนและเครื่องใช้โบราณต่างๆ มาจัดแสดงไว้ให้ได้ชมกันอีกด้วยค่ะ
พระอุโบสถ
สำหรับพระอุโบสถนั้นตามประวัติเล่าว่า...ชาวบ้านได้ช่วยกันขุดสระขึ้นสระหนึ่ง กว้างยาวประมาณ 10 วา สี่เหลี่ยมจตุรัส แล้วสร้างอาคารเป็นอุโบสถขึ้นกลางสระน้ำแห่งหนึ่งถือว่าเป็น "อุโบสถ" เพื่อให้พระสงฆ์สามารถลงไปปฏิบัติสังฆกรรมได้เสมือนหนึ่งอุโบสถทั่วไปที่ได้ผูกพัทธสีมาไว้แล้ว โดยจะต้องมีหลักฐานสมมุติขึ้นเป็น "นิมิต" ที่แน่นอนเพื่อให้ปรากฏแก่สายตาผู้คนรู้เห็นว่าเป็นเขตสงฆ์ หรือจะปฏิบัติสังฆกรรมในสถานที่อันล้อมรอบด้วยน้ำเป็นเขตจำเพาะ ซึ่งจะเรียกว่า "โบสถ์น้ำ" ต่อมาภายหลังได้มีสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ก็เลยเลิกใช้โบสถ์น้ำ แต่ได้ปลูกบัวหลวงแทน ปัจจุบันคือ สระน้ำขุมบัวหลวง
สำหรับพระอุโบสถหลังปัจจุบันสร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่สมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีช่อฟ้าใบระกา และหางหงส์ ในส่วนของใบสีมาจะกระจายเรียงรายอยู่โดยรอบของพระอุโบสถ
อนุสาวรีย์หลวงพ่อวัดฉลอง หรือ มณฑปพ่อท่านสมเด็จเจ้า (มณฑปทรงจตุรมุข)
เป็นสถาปัตยกรรมศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ที่งดงามมาก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ภายในของพระวิหารยังเป็นที่ประดิษฐานรูปจำลองของหลวงพ่อแช่มหลวง พ่อช่วงและหลวงพ่อเกลื้อม พระเกจิอาจารย์ของภาคใต้ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวภูเก็ต ตลอดถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
และจากการที่ได้ไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับวัดฉลอง ทำให้ได้ทราบประวัติของพระเกจิอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน และประวัติเจ้าอาวาสองค์ถัดมา ของวัดฉลอง ถึงที่มาที่ไปว่าท่านได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดฉลองกันได้อย่างไร
ประวัติพระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี สังฆปาโมกข์ (หลวงพ่อแช่ม) (2370-2451)
เกิดที่ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เมื่อปีกุนพุทธศักราช 2370 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) บิดา-มารดาของท่านไม่ปรากฏว่าชื่ออะไร ต่อมาท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยได้เรียนรู้ศึกษาวิปัสนาธุระจากพ่อท่านเฒ่า (เจ้าอาวาสวัดฉลองในตอนนั้น)
ในเมื่อปี พ.ศ. 2419 เมื่อครั้งที่มีหลวงพ่อแช่ม เป็นเจ้าอาวาสท่านได้เป็นผู้นำทางจิตใจ ช่วยเหลือชาวบ้านให้ต่อสู้กับพวกวุ่นจีน (อั้งยี่) ที่ก่อความเดือดร้อนให้ชาวบ้านและจะยึดเมืองภูเก็ต ท่านได้แจกผ้ายันต์ให้ชาวบ้านเพื่อป้องกันอันตรายและสร้างขวัญกำลังใจในการต่อสู้จนทำให้สามารถเอาชนะศึกได้
หลังชนะศึกวุ่นจีน (อั้งยี่) ทำให้พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงทราบความจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์แก่ หลวงพ่อแช่ม เป็นชื่อ "พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี" ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์แห่งเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นสมณศักดิ์สูงสุดในสมัยนั้นที่พระภิกษุหัวเมืองชั้นนอกจะได้รับ และได้พระราชทานนาม "วัดฉลอง" เป็น "วัดไชยธาราราม" แต่นั้นมา
นอกจากนั้น พระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี (แช่ม) ยังได้รับพระราชทานตาลปัตรสมณศักดิ์ (พัดยศ) เทียบชั้นสมเด็จเจ้า "ตาลปัตรสมณศักดิ์" (พัดยศ) นั้น ตัวตาลปัตรทำด้วยผ้าพื้นสีเหลืองทอง ขอบตาลปัตรติดดิ้นสีทองเข้ม กลางตาลปัตรด้านบนปักดิ้นรูปอุณาโลมแผ่รัศมีอยู่บนดิ้นรูปพานสองชั้น รูปพานอยู่บนหลังเศียรช้างเอราวัณ (ช้าง 3 เศียร ช้างทรงของพระอินทร์) ข้างเศียรช้างเอราวัณ ปักดิ้นรูปฉัตร 7 ชั้น ด้านขวาปักเป็นรูปทหารสวมหมวกถือดาบทั้ง 2 มือ ด้านซ้ายปักรูปทหารมือขวาถือดาบ มือซ้ายถือโล่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงยอดด้ามถือ หรือส่วนล่างของตาลปัตรปักดิ้นรูปจักรและตรี อันเป็นพระสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์จักรี
ถือได้ว่าเป็น...ตาลปัตรเกียรติคุณของพ่อท่านสมเด็จเจ้า (แช่ม) แห่ง "วัดไชยธาราราม" (วัดฉลอง) ปัจจุบันตาลบัตรยังคงเก็บรักษาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดและเป็นตาลปัตรที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นโบราณวัตถุ และเป็นเกียรติประวัติแด่พ่อท่านสมเด็จเจ้า "พระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี" (แช่ม) และ "วัดไชยธาราราม" เป็นอย่างมาก
หลวงพ่อแช่ม ท่านได้มรณภาพ ในปี พ.ศ. 2451 เมื่อมรณภาพบรรดาศิษย์ได้ตรวจหาทรัพย์สินของหลวงพ่อแช่มปรากฏว่าหลวงพ่อแช่มมีเงินเหลือเพียง 50 เหรียญเท่านั้น ความทราบถึงบรรดาชาวบ้านปีนังและจังหวัดอื่นในมาเลเซีย ต่างก็นำเงินเอาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมีข้าวสาร มีคนมาช่วยเหลือหลายเรือสำเภา งานศพของหลวงพ่อแช่มจัดได้ใหญ่โตมโหฬารที่สุดในจังหวัดภูเก็ตหรืออาจจะกล่าวได้ว่า มโหฬารที่สุดในภาคใต้บารมีของหลวงพ่อแช่มก็มีมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าต่อๆ กันว่า...สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น มีผู้คนมารอปิดทองตามแขนและขาของท่าน จนแลดูเหลืองอร่ามราวกับปิดทองพระพุทธรูป ซึ่งแม้ว่าหลวงพ่อแช่มท่านได้มรณภาพมานานนับร้อยปีแล้วก็ตาม แต่ด้วยบุญบารมีที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมของหลวงพ่อเป็นที่นับถือของชาวบ้านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้วัดฉลองแห่งนี้เป็นที่พึ่งพาทางจิตใจของผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาจวบจนถึงทุกวันนี้
ประวัติพระครูครุกิจจานุการ (หลวงพ่อช่วง) (2418-2488)
พระครูครุกิจจานุการ หรือ หลวงพ่อช่วง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2418 พ่อแม่เป็นชาวตำบลฉลอง ท่านเป็นเด็กวัดมาตั้งแต่เด็ก โดยพ่อแม่นำมาฝากให้เป็นศิษย์ของหลวงพ่อแช่ม ท่านเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยดี ขยันหมั่นเพียรและเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อแช่ม และท่านก็ได้รับการถ่ายทอดวิทยาการต่างๆ ของหลวงพ่อแช่มไว้จนหมดสิ้น ตลอดถึงมีความเชียวชาญทางด้านการเชื่อมและต่อกระดูกเป็นพิเศษ ประมาณว่าคนกระดูกสันหลังหัก ซึ่งแพทย์สมัยใหม่ในขณะนั้นไม่สามารถต่อเชื่อมให้เป็นปกติได้ แต่หลวงพ่อช่วงท่านสามารถต่อเชื่อมได้
เมื่อเป็นเจ้าอาวาสวัดฉลองสืบต่อจากหลวงพ่อแช่มแล้ว หลวงพ่อช่วงมีจริยาวัตรเป็นเลิศ และจากการวางตนของหลวงพ่อช่วงทำให้ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างสูง ใบหน้าของท่านจะอิ่มเอิบคล้ายกับว่ามีรอยยิ้มอยู่เป็นนิตย์ แม้จะไม่มีเหตุการณ์สำแดงเอกลักษณ์ให้ชาวบ้านได้เห็นถึงความขลังของหลวงพ่อช่วงเหมือนสมัยหลวงพ่อแช่ม ชาวบ้านปีนังก็ยังคงนับถือและยกย่องเสมือนหลวงพ่อแช่มเช่นกัน
ในการจัดรูปหล่อ เหรียญ แหวน ตลอดจนของขลังอื่นๆ เกิดขึ้นในสมัยที่หลวงพ่อช่วงเป็นเจ้าอาวาสทั้งสิ้น ในปี พ.ศ. 2486 บรรดาศิษย์ได้จัดหล่อรูปหลวงพ่อแช่ม หลวงพ่อช่วง และได้ทำเหรียญรูปไข่ รุ่นแรกขึ้นโดยจัดทำ ณ วัดมงคลนิมิตร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงในจังหวัดภูเก็ต หลวงพ่อช่วงนั้นชาวบ้านส่วนมากมักจะให้ฉายาท่านว่าเป็นหลวงพ่อซึ่งประกอบด้วยพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หลวงพ่อช่วงมรณภาพในปี พ.ศ. 2488 สิริอายุได้ 70 พรรษา
ประวัติพระครูครุกิจจานุการ (หลวงพ่อเกลื้อม) (2444-2521)
พระครูครุกิจจานุการหรือหลวงพ่อเกลื้อม เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2444 บิดาชื่อ นายกล้าม เผือกเพ็ชร์ มารดาชื่อ นางแวว เผือกเพ็ชร์ เป็นชาวบ้านตำบลฉลอง เมื่อปฐมวัยเนื่องจากบ้านไกลวัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) บิดามารดาจึงมอบให้เป็นเด็กวัดตั้งแต่เด็ก
ครั้นมีอายุครบอุปสมบทก็อุปสมบทครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2463 หลวงพ่อเกลื้อมบวชครั้งแรกได้ 1 พรรษาก็ลาสิกขา ออกประกอบอาชีพส่วนตัว มีภรรยาและบุตร เหมือนชาวบ้านทั่วไป ต่อมาเกิดป่วยหนักบิดามารดาบนบานว่าขอให้หายป่วย ถ้าหายป่วยก็จะบวชให้ แล้วอาการป่วยก็หายไปจริงๆ
จึงได้อุปสมบทอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้อุปสมบทอยู่ได้ 3 พรรษา ก็ลาสิกขาบทอีก ออกมาประกอบอาชีพทางฆราวาสอยู่ถึงปี พ.ศ. 2480 เกิดป่วยหนักอีกครั้ง และป่วยนานมากถึง 7 วัน 7 คืนจนสลบไม่รู้สึกตัว ญาติพี่น้องและบิดามารดาเห็นว่าไม่รอดแน่ แล้วก็จัดเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่จับมือให้พนมทํากรวยใบตองปักดอกไม้ใส่มือ การป่วยครั้งนี้ทราบถึงพระครูครุกิจจานุการ (หลวงพ่อช่วง) หลวงพ่อช่วงก็ไปยังบ้านของท่าน มารดาก็นิมนต์ให้หลวงพ่อช่วงเข้าไปเยี่ยมท่าน โดยการเอามือลูบศีรษะของท่านแล้วสวดมนต์ ขณะที่หลวงพ่อช่วงกำลังสวดมนต์อยู่นั่นเอง ท่านก็ฟื้นจากสลบและต่อมาก็รู้สึกตัวได้เล่าว่าขณะนั้นได้เดินทางไปตามเส้นทางสายหนึ่งพอจวนถึงก็มืดก็พอดีเห็นหลวงพ่อช่วงเดินตามไป และเอื้อมมือฉุดให้กลับ ตนจึงได้ฟื้นขึ้นมาอีก ท่านจึงได้แจ้งแก่บิดามารดาและญาติพี่น้องว่า จะเข้าอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง การอุปสมบทครั้งนี้จะไม่ลาสิกขาบทออกมาจนกระทั่งชีวิตดับสูญ
และใน พ.ศ. 2480 ท่านได้เข้าอุปสมบทอีกเป็นครั้งที่ 3 ได้รับฉายาว่า "สิริปุญโญ" ท่านได้ใช้ความอุตสาหะเล่าเรียนมีความรู้ความสามารถจนสามารถเข้าสอบนักธรรมได้นักธรรมโท และสามารถอ่านภาษาบาลีได้โดยไม่ผิดเพี้ยน มีความจำเป็นเอก สามารถท่องพระปาฏิโมกข์ได้อย่างรวดเร็ว ชัดเจน และไม่ผิดเพี้ยน ทางด้านวิปัสสนาธุระหลวงพ่อเกลี้อมก็ได้รับการศึกษาและปฏิบัติมาจากหลวงพ่อช่วงทุกประการ โดยเฉพาะวิชาการต่อกระดูกมีผู้นิยมนับถือนำผู้เจ็บป่วยเกี่ยวกับกระดูกหักมารับรักษาพยาบาลไม่เว้นแต่ละวัน
เมื่อปี พ.ศ. 2488 หลวงพ่อช่วงถึงแก่มรณภาพลง ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดฉลอง ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดฉลองได้ประมาณ 33 ปี ได้บูรณะซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ อาทิ พระอุโบสถ มณฑป อนุสาวรีย์หลวงพ่อช่วง ทั้งยังได้ก่อสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ มณฑปหลวงพ่อเจ้าวัด เมรุเผาศพ และเสนาสนะสงฆ์อื่นๆ อีกจำนวนมากมาก ทำให้ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงต่างนับถือหลวงพ่อเกลี้อมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลวงพ่ออื่นๆ ของวัดฉลองเลย
หลวงพ่อเกลี้อมได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูครุกิจจานุการ" สมณศักดิ์เดียวกันกับหลวงพ่อช่วงและได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นพระครูชั้นเอก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2519 หลวงพ่อเกลี้อมได้ถึงมรณภาพด้วยความสงบ เมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2521 เวลา 18.10 น.
ประวัติพระศรีปริยัติสุธี (เฟื่อง รักรอด ป.ธ.9) (2474-2529)
พระศรีปริยัติสุธี (เฟื่อง รักรอด ป.ธ.9) เป็นชาวจังหวัดพัทลุง เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 บิดาชื่อปาน มารดาชื่อหลง นามสกุลเดิมรักรอด
อุปสมบทเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 7 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2495 ณ วัดทะเลน้อย ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และจาริกธุดงค์ผ่านจังหวัดสงขลา เข้าศึกษาในสำนักเรียนวัดราษฎรณ์บำรุง ตำบลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก ในปี พ.ศ. 2500 แล้วออกจากจาริกธุดงค์มาถึงตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เข้าพำนักประจำที่วัดไชยธารารามหรือวัดฉลอง ศึกษาบาลีในสำนักเรียนวัดวิชิตสังฆราม จนสอบได้ชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค
เมื่อปี พ.ศ. 2520 ในปี พ.ศ. 2521 พระครูคุรุกิจจานุการ (เกลื้อม) ได้มรณภาพลง ท่านได้รับมอบหมายให้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดไชยธาราราม (ฉลอง) จึงถึงปี พ.ศ. 2522 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสปกครองดูแลพระภิกษุสามเณร และทะนุบํารุงวัดไชยธาราราม (ฉลอง) สืบมา
พระศรีปริยัติสุธี มีความรอบรู้ทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ เคยเป็นอาจารย์สอนศิษย์ยานุศิษย์ในสำนักเรียนบาลีที่จังหวัดพัทลุง สอนปริยัติธรรมที่สำนักเรียนจังหวัดสงขลาและสำนักเรียนวัดไชยธาราราม (ฉลอง) ด้วยระยะเวลาเนิ่นนาน นอกจากนี้ท่านยังมีความรู้พิเศษด้านภาษาขอม วิชาสถาปัตยกรรม และวิชาเกี่ยวกับแผนผังหรือแบบแปลนอีกด้วย
เมื่อได้รับมอบหมายให้ปกครองดูแลพระภิกษุสงฆ์สามเณรและเสนาสนะสงฆ์ ตลอดจนปูชนียสถานที่สำคัญของวัดไชยธาราราม ท่านได้มีมุติตาจิตสั่งสอนอบรมบรรดานวกภิกษุและศิษยานุศิษย์ ให้ยึดมั่นในจริยาวัตรอันดีงามโดยสม่ำเสมอ ทั้งยังได้พยายามแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบรรดาถาวรวัตถุ ที่สำคัญให้มีความสวยงามเจริญศรัทธาแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายอีกด้วยเป็นต้นว่า ได้ปรับปรุงกุฏิเสนาสนะสงฆ์ให้ได้รูปแบบตามแผนผังและสถาปัตยศิลป์อันถูกต้อง ได้บูรณะพระอุโบสถที่กำลังจะทรุดโทรมขึ้นใหม่โดยเพิ่มเติมส่วนหลังคาให้ได้ลักษณะของพระอุโบสถมาตรฐานพร้อมทั้งสร้างกำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถเพิ่มความสง่างาม
นอกจากนี้แล้วยังได้พยายามขยายและปรับปรุงพื้นที่บริเวณวัด ให้กว้างขวางพอเพียงแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนที่เข้าไปนมัสการพระรัตนตรัยและองค์อนุสาวรีย์หลวงพ่อองค์ก่อนๆ นั้นด้วย ท่านยังมีความรู้ในวิชาต่อกระดูก อันเป็นภารกิจอย่างหนึ่งสำหรับที่เป็นที่พึ่งพาของประชาชนที่เข้ามาในวัดไชยธารารามแห่งนี้ พระศรีปริยัติสุธี ได้ถึงมรณภาพ เมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2529
ประวัติพระครูอุดมเวชกิจฯ (2469-2555)
พระครูอุดมเวชกิจฯ เดิมชื่อ “หลิม สิทธิโชค” เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2469 ที่ตำบลบางเทา จังหวัดภูเก็ต เริ่มเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เมื่ออายุได้ 37 ปี ที่วัดฉลอง ได้รับฉายาว่า "อุตตมญาโณ" ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไชยธาราราม หรือวัดฉลอง ในวันที่ 18 มิถุนายน 2532
ต่อมา วันที่ 5 ธันวาคม 2533 ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดฉลอง ได้พัฒนาวัดฉลองให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก สร้างศาสนสถานสำคัญๆ หลายอย่าง รวมทั้งกุฎิจำลองหลวงพ่อวัดฉลองที่ทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง และได้ช่วยเหลือปัดเป่าบรรเทาทุกข์ของประชาชนมากมาย เป็นที่รักเคารพและมีศิษยานุศิษย์มากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พระครูอุดมเวชกิจ มรณภาพที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต เวลา 16.21 น. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 สิริรวมอายุได้ 87 ปี
พระมหาพงษ์ศักดิ์ เตชะวัณโณ เจ้าอาวาสวัดฉลอง จ.ภูเก็ต
( ณ ปัจจุบัน )
สำหรับวัดไชยธาราราม หรือ วัดฉลอง ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นโดย พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี หรือ หลวงพ่อแช่ม อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 2 ซึ่งบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์มีลักษณะเป็นบ่อหิน ปากบ่อทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสทุกด้านยาว 1 เมตร 60 เซนติเมตร ลึกประมาณ 4 เมตร มีน้ำผุดขึ้นเองตามธรรมชาติและน้ำใสสะอาด
ทั้งนี้จากอดีตจนถึงปัจจุบันประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงต่างเลื่อมใสศรัทธา โดยมีความเชื่อว่า น้ำในบ่อน้ำนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ และผู้ที่ได้ดื่มกินจะสร้างความเป็นสิริมงคล จึงมีประชาชนและนักท่องเที่ยวนำไปประพรมร่างกาย
โดยในปี 2554 ได้นำน้ำจากบ่อน้ำแห่งนี้ไปประกอบพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มีโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 6 เมษายน 2562 อย่างสมพระเกียรติสูงสุด
บริเวณหน้ามณฑป เมื่อหันหน้าเข้ามณฑปจะมีรูปปั้นช้างพลายแก้วอยู่ทางซ้ายมือ ส่วนทางขวามือเป็นช้างจำปี
และฝั่งตรงข้ามกับอนุสาวรีย์หลวงพ่อวัดฉลอง เป็นที่จุดประทัดถวายหลวงพ่อแช่ม มีขนาดใหญ่ สูงเด่น หน้าตาแปลกสะดุดตามากๆ
พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ
เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2541-2544 ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านหลังของวัด ภายในเงียบสงบ
โดยที่ชั้นที่ 1 กับ ชั้นที่ 2 ของพระมหาธาตุเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย และบริเวณด้านข้างผนังของแต่ละชั้นจะมีภาพวาดจิตรกรรมที่งดงามยิ่ง
ซึ่งภาพวาดฝาผนังแต่ละชั้น จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ครั้งประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มีความสวยงามมาก✨
เมื่อเดินขึ้นไปชั้นบนสุดจะเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ที่ได้รับมาจากประเทศศรีลังกาครั้งสมัยอดีตซึ่งมีอายุมากว่า 2,200 ปีแล้ว เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ต้องพูดถึง ขลัง!!!
ส่วนด้านนอกขององค์เจดีย์ เป็นระเบียงที่สามารถเดินออกไปชมความงามของทิวทัศน์ทั้งหมดของวัดฉลองได้อีกด้วยค่ะ
วิหารหลวงพ่อเจ้าวัด
ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานปรางมารวิชัย (พ่อท่านเจ้าวัด) ทางด้านขวามีขององค์พระมีรูปปั้นยักษ์ครึ่งตนยืนถือกระบอกเรียกว่า "นนทรีย์" และด้านซ้ายขององค์พระจะมีรูปหล่อของชายชราหรืออาแป๊ะนั่งตะบันหมาก ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ตาขี้เหล็ก" ชาวบ้านมักนิยมมาขอเลขเด็ดกันอยู่เป็นประจำ
พ่อท่านเจ้าวัด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุสัมฤทธิ์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ หน้าตักกว้าง 0.93 เมตร องค์พระสูง 1.78 เมตร ประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหารเก่าแก่ อันเป็นที่ตั้งของวัดฉลองแต่โบราณ ก่อนย้ายออกมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน
ตามประวัติกล่าวว่า...วัดฉลองแต่เดิมนั้น ได้สร้างอยู่ทางทิศเหนือของวัดฉลองปัจจุบันและในการสร้างวัดครั้งนั้นได้สร้างพระประธานขึ้นไว้องค์หนึ่ง (สร้างขึ้นในสมัยเจ้าอาวาสวัดฉลององค์แรกก่อนปี พ.ศ. 2370 ที่ชาวบ้านเรียกว่า "พ่อท่านเฒ่า" ) แล้วสร้างวิหารด้วยวัสดุที่หาได้จากป่าและทุ่งนา พระประธานองค์นี้เรียกว่า "หลวงพ่อนอกวัด" ต่อมามีการย้ายสถานที่ตั้งของวัดมาอยู่ที่ใหม่ ทำให้หลวงพ่อนอกวัดยังประดิษฐานอยู่ในวิหารดั้งเดิม และได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้มั่นคงแข็งแรงและสวยงามในเวลาต่อมา
"ท้าวนนทรี" ตามความเป็นจริงนั้นคือ ภาพปั้นของ "นนทิอสูร" ยักษ์ครึ่งตนยืนถือกระบอก หมายถึง เทพเจ้าผู้รับใช้พระศิวะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพวกเทพซึ่งเป็นบริวารพระศิวะ มีตำแหน่งเป็นมณเฑียรบาล และเมื่อถึงเวลาที่พระศิวะเสด็จไปไหน ก็กลายร่างเป็นโคศุภราชสี
"ตาขี้เหล็ก" จากประวัติเล่าว่า...ในการสร้างพระประธานในอุโบสถ มีเศษปูนเหลืออยู่ช่างปั้นผู้มีอารมณ์ขันได้ปั้นรูปตาเป๊ะนั่งตะบันหมากทิ้งไว้ในอุโบสถ เมื่อพระภิกษุกราบไหว้องค์พระประธานก็จำต้องไหว้ตาขี้เหล็กผู้เป็นฆราวาสด้วย ต่อมาพ่อท่านช่วงอดีตเจ้าอาวาสเห็นว่าไม่เหมาะสม จึงได้ย้ายตาขี้เหล็กไปแทนที่ท้าวนนทรีตนที่ถูกคนสติไม่ดีทำลายในวิหารพ่อท่านวัดนอก อยู่มาวันหนึ่งเด็กวัดได้พูดเล่นๆ กันว่า (ติดสินบน) ถ้าตาขี้เหล็กบันดาลให้ควายมาชนให้ดูหน้าวัดได้จะให้สูบบุหรี่ จะเป็นด้วยเหตุใดๆ ก็ตามความประสงค์ของเด็กวัดเหล่านั้นก็สำเร็จ จึงได้แก้บนด้วยการให้ตาขี้เหล็กสูบบุหรี่ เลยทำให้คนที่เชื่อถือตาขี้เหล็กก็กระทำตามบ้าง และก็ได้ตามที่ความประสงค์ ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านมักนิยมมาขอเลขเด็ดกันอยู่เป็นประจำ
โรงธรรม
โรงธรรมอยู่ด้านหลังของศาลาพัก ซึ่งภายในโรงธรรมจพเป็นสถานที่ไว้ประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา ฟังธรรมในวันพระ และใช้เป็นสถานที่รับถวายสังฆทาน นอกจากนี้ยังมีรูปภาพของพระเกจิอาจารย์ ทั้ง 3 ท่านอีกด้วยค่ะ
ศาลาอเนกประสงค์ทรงไทย
ศาลาอเนกประสงค์ทรงไทย เป็นจุดนั่งรอกรณีที่มาติดต่อกับทางวัด และไว้ใช้กรณีมีงานบวชก็จะเป็นจุดที่ใช้ในการจัดตั้งข้าวของ เครื่องอัฐบริขาลต่างๆ ค่ะ
หอระฆัง
หอระฆังจะด้านข้างศาลาอเนกประสงค์ทรงไทย ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 3 ชั้น ตั้งสูงเด่น สวยงามมากค่ะ
ห้องครัว
ห้องครัว ของทางวัดเมื่อเราขับรถผ่านซุ้มประตูวัดเข้ามา ให้สังเกตุทางด้านซ้ายมือ เป็นลักษณะอาคารยาว ประมาณ 4 ห้อง จุดนี้จะเป็นโรงครัวของทางวัด และยังเป็นจุดที่พระสงฆ์จะต้องมาฉันท์พร้อมกัน ณ ที่นี้อีกด้วยค่ะ
จุดบูชาพระ และ ดอกไม้ธูปเทียน
ณ ตอนที่เราไปนั้นทางวัดยังได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ทราบว่าจะใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรวมรวมของสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางวัด โดยตั้งอยู่ทางด้านข้างของ กุฎิจำลองหลวงพ่อแช่ม หรือ กุฎิไม้เรือนไทย ค่ะ
อ้อ!! ลืมบอกไปว่าภายในวัดฉลองยังมีโซนสวน ที่มีร่มไม้ ร่มรื่น ให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจกันด้วยค่ะ บรรยากาศดีมากๆ
และทางวัดมีที่จอดรถเยอะมาก สามารถจอดได้ตั้งแต่เริ่มเข้าวัดไปจนถึงด้านในสุดของวัดเลยค่ะ
หากใครที่มาภูเก็ตแล้วยังไม่เคยมาสักการะบูชา แนะนำว่า...ต้องมาให้ได้สักครั้ง นอกจากจะได้มาขอพรให้เป็นสิริมงคลต่อชีวิตแล้ว ยังจะได้อิ่มบุญอิ่มใจ ได้ความปังกลับไปอีกด้วย แถมได้รูปสวยๆ กลับไปอี๊กกก ดีงามมากจ้าทู๊กคน 📸
🎯 : 70 หมู่ที่ 6 ถนน เจ้าฟ้าตะวันตก ตำบล ฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต ภูเก็ต 83000
⏰️ : เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
☎️ : 076-381226
🌏 : https://maps.app.goo.gl/FdXrNY...
-----------------------😍
🤗ขอให้ทุกคนมีความสุข สนุกกับการใช้ชีวิต
ในแบบฉบับของตัวเองนะคะ🚘🧳🏖🌄
❣️ช่องทางการติดตามเพจ❣️
https://www.facebook.com/TIEWD...
#เที่ยวได้กินกินได้เที่ยว
#วัดฉลองภูเก็ต #วัดฉลอง
#WatChalong #ChalongTemple
#วัดไชยธาราราม #หลวงพ่อแช่ม
#หลวงพ่อช่วง #หลวงพ่อเกลื้อม
#ที่เที่ยววัดภูเก็ต #เที่ยวภูเก็ต
#ภูเก็ต #Phuket
เที่ยวได้กิน กินได้เที่ยว
วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 09.14 น.