นครศรีธรรมราช เมืองประวัติศาสตร์ พระธาตุทองคำ ชื่นฉ่ำธรรมชาติ
แร่ธาตุอุดม เครื่องถมสามกษัตริย์ มากวัด มากศิลป์ ครบสิ้นกุ้งปู



หนึ่งในสามของด้ามขวาน

         หากท่านนับถือศาสนาพุทธแล้วไซร้ ถ้าจะพูดถึง พระธาตุ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ คงเข้าใจความหมายและความสำคัญเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน "ธาตุ" ทางพระพุทธศาสนาอาจหมายถึงธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ปฐวีธาตุ(ดิน) อาโปธาตุ(น้ำ) วาโยธาตุ(ลม) และ เตโชธาตุ(ไฟ) ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบพื้นฐาน และธาตุพื้นฐานทั้ง ๔ ธาตุสามารถขยายเป็นธาตุได้อีก ๑๘ ธาตุ ฉะนั้นแล้ว Relic หรือ พระบรมสารีริกธาตุ ก็ถือเป็นส่วนที่เหลืออยู่ 1 ใน 4 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้ว

(มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2558)

        เอาหละมาถึงตรงนี้ก่อนจะง่วงจนเกินไป แล้วพาลกดปิดหรือกดเปลี่ยนบทความเสียก่อน เอาเป็นว่าถ้าขับรถผ่านมายังจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว ที่แห่งนี้เป็นศาสนสถาน ที่เก่าแก่ 1 ใน 3 ของดินแดนด้ามขวานของสยามประเทศ ที่มีความสวยงาม ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ที่ใด เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกันนะบัด Now


วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร

          เอาหละไหน ๆ มาถึงแล้วเราจะพาไปรู้จักกับประวัติคร่าว ๆ ของสถานที่กันหน่อยดีกว่า วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร หรือที่ชาวนครเรียกว่า วัดพระธาตุ เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่มีความงดงาม และเก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย และพระธาตุแห่งนี้ก็เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อกันว่าที่แห่งนี้เป็นที่บรรจุ พระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) พระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีส่วนยอดเจดีย์เป็นทองคำ  

วิหารธรรมศาลา


ไร้เงาไร้เรา


          วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นอกจากจะมีเจดีย์หลักที่สำคัยยิ่งแล้ว สิ่งที่น่าตื่นใจไม่แพ้กันคือ มีเจดีย์องค์เล็กที่รายล้อมรอบองค์พระธาตุมากมายกว่า 149 องค์เจดีย์บริวาร และอีกหนึ่งไฮไลท์ของที่แห่งนี้จนเป้นชื่อเสียงระบือนามก็คือ องค์พระธาตุจะไม่มีเงาทอดลงบนพื้นเลย

“พระธาตุไร้เงาอาจจะเกิดจากการที่ปลายยอดของเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุมีขนาดเล็ก รูปทรงเรียวแหลม และอยู่สูงจากพื้นดินมาก ๆ ทำให้เงาของปลายยอดเจดีย์ที่ปรากฏบนพื้นเป็นเพียงเงามัวจางๆ เท่านั้น เมื่อสังเกตเงามืดของเจดีย์ทั้งหมดจึงเห็นเพียงเงามืดของส่วนฐานเจดีย์แต่ไม่ปรากฏเงามืดของส่วนปลายยอดเจดีย์ ทำให้ดูเหมือนว่าปลายยอดเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุนั้นไม่มีเงา” 

ดร.กวิน


วิหารทับเกษตรหรือพระระเบียงตีนธาตุ

       พระระเบียงตื่นธาตุ เป็นระเบียง หรือวิหารที่อยู่โดยรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์ คําว่า “ทับเกษตร” อาจหมายถึง ผิวพื้นบริเวณที่ใช้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปหรือนาบบนฐานพระ หรือเรือนซึ่งเป็นขอบเขต ซึ่งได้แก่ระเบียงคด วิหารคด ด้วยเหตุนี้วิหารทับเกษตรจึงได้ชื่อตามหน้าที่ก็คือ วิหารคด ซึ่งเป็นวิหารแสดงขอบเขตของพระบรมธาตุเจดีย์ สามารถเดินรอบพระวิหารได้บริเวณด้านในมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์

(คลังสารสนเทศท้องถิ่นนครศรีธรรมราช, 2023)


วิหารพระม้า

        วิหารพระม้านั้นอยู่ติดกับพระบรมธาตุเจดีย์ทางด้านทิศเหนือ เป็นวิหารที่มีหลังคาเดียวกับวิหารเขียน แต่มีผนังกั้นอยู่จึงแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยบริเวณนี้จะเป็นที่ทำพิธี  ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ  คือการนำ “ผ้าพระบฎ” หรือ พระบต สำหรับขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ในวันสำคัญทางศาสนา

วิหารเขียน & วิหารโพธิ์ลังกา

          วิหารเขียน เดิมนั้นเสาและผนังของวิหารนี้มีภาพลายเส้นอยู่เต็ม ชาวนครจึงเรียกว่า วิหารเขียน และสถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดงสิ่งของหลากหลาย ทั้งเครื่องประดับ  พระพุทธรูป ฯ ส่วนวิหารโพธิ์ลังกา จัดแสดงพวก ของโบราณวัตถุ ศิลาจารึก เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูป หีบศพเจ้าพระยานคร พระพุทธรูปปางมารวิชัย ฯ (แต่เนื่องจากด้านในเราไม่สามารถถ่ายรูปได้เอาเป็นว่า หากใครอยากเห็นของจริงซึ่งสวยมาก ก็มาลองชมกันเองได้เลย)


พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

          ถัดออกมาจากส่วนด้านนอกทางเข้าวัด ประตูกลางที่ตรงกับวิหารธรรมศาลา เมื่อ พ.ศ. 2452 รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างประตูกลางของวัด ประมาณในสมัย ร.ศ. 128 ซึ่งบริเวณยอดของซุ้มประตูเป็นแบบพระมหามงกุฎ และพระราชทานนาม ว่าประตูเยาวราช

ข้อมูล วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

  • ตั้งอยู่ที่ : 435 ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/FwFsr8R5x7WiNKaZ9
  • เวลาเปิด : 08.30-16.30 น.

เอาหละครับ สุดท้ายก็ได้พาทุกท่ายมาไหว้พระขอพรเพื่อเป็นศิริมงคลแล้ว หากแต่มือยังคงพนมกราบกรานนั้น แต่ใจนั้นเปิดแต่ยังคงมืดมัวหม่น ความดีมิอาจแทรกซึมถึงก้นบึ้ง ยังคงคิดเบียดเบียน ความอิจฉาริษยาในกมลนั้นยังคงอยู่ ความสบายทั้งกายและใจคงมิอาจบังเกิด 
หากแต่แม้นมือนั้นมิได้ยกพนมแต่อย่างใด แต่ในกมลนั้นสะอาดผุดผ่อง ศิริมงคลนั้นย่อมเกิดขึ้นแล้ว

สวัสดี

- เสือซ่อนยิ้ม -

เสือซ่อนยิ้ม

 วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 19.53 น.

ความคิดเห็น