มาเที่ยวอินเดียอีกแล้วจ้า บอกตรงๆ ว่าคงยังเห็นเราตะลุยอินเดียอยู่อีกนานแหละจนกว่าจะครบทั้งประเทศ ซึ่งรอบนี้ก็อยู่ตั้งแต่ 9 ตุลาคม ถึง 9 ธันวาคมเลย แต่จะมาทยอยรีวิวเมื่อมีช่วงเวลาว่าง อย่างเช่นตอนนี้ที่มาอยู่เดลีสองอาทิตย์เนื่องจากมีผู้ชายอยู่ที่นี่ซึ่งเที่ยวเดลีบ่อยแล้วคงไม่พาไปไหนเลยมีเวลาเรียบเรียงงานตอนอยู่ที่นี่ อะพอแล้วแล้วกันไปเริ่มเที่ยวกันเลยดีกว่า


จากไทยมานิวเดลีรอบนี้เรามากับวิสทาราแอร์ไลน์ โอ้โห้บอกเลยว่าเป็นสายการบินที่ดีมาก แอร์เย็นฉ่ำ และบนเครื่องก็มีหมอนและผ้าห่มให้ด้วย มีอาหารของว่าง เครื่องดื่มเสิร์ฟ ออกจากไทยไม่ดีเลย์นะ แต่ตอนไปถึงอินเดียเหมือนเขาไม่สามารถเอาเครื่องลงได้ทันที ไม่แน่ใจเพราะสภาพอากาศหรือเพราะอะไรกันแน่ทำให้ดีเลย์ไปนิดหน่อย ซึ่งเรารับได้นะ

พอถึงเดลีเราพักที่เดลีก่อนนะ ถึงจะบอกว่ามีผู้ชายอยู่แต่ไม่ได้เที่ยวกับผู้ทุกเมืองนะ อย่างสองเมืองนี้คือการไปคนเดียวนะ ซึ่งเราเลือกนั่งรถไฟจากนิวเดลีไปอัคราในวันที่ 12 ตุลาคม การจองรถไฟสามารถจองได้ตัวเองกันได้เลยนะ จองผ่าน IRCTC หรืดูวิธีจองแบบละเอียด ที่ วิธีจองรถไฟอินเดีย ผ่านเว็บ IRCTC ง่ายๆ ทำด้วยตัวเองได้เลย

โดยรถไฟที่เราจองนั้นจะเป็น Vande Bharat express เป็นรถไฟประเภทดีเลยนะ ต้องว่ารถไฟอินเดียไม่ได้ต่างกันแค่ระดับชั้นเท่านั้น แต่ชื่อรถไฟก็ยังบ่งบอกความใหม่เก่าหรือหรูหรา แต่วิธีสังเกตที่ง่ายที่สุดคือตอนจองให้เราสังเกตบนเว็บมันจะมีมุมสามเหลี่ยมที่บ่งบอกสีต่างๆ อยู่ตรงชื่อรถไฟ เช่น Vande Bharat express เป็นสีน้ำเงิน ตรงรายละเอียกชื่อรถไฟตอนจองก็จะมีมุมสามเหลี่ยมสีน้ำเงินปรากฏอยู่ สีเขียวก็จะดีแบบกลางๆ ไม่มีสีเลยก็คือคลาสแบบทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีมุมสามเหลี่ยมสีๆ บอกคือชั้นไม่ดีนะ ต้องไปดูที่ประเภทคลาสอีกที

ข้อดีของรถไฟอินเดียที่เราชอบมากๆ คือมันมีแอปเช็คสถานะรถไฟค่ะ รถไฟอยู่ไหน จะถึงกี่โมง ดีเลย์หรือไม่ อีกกี่นาทีถึงเราจะรู้หมดเลยค่ะ แอปนี้ชื่อแอปว่า RailYatri สามารถค้นหาและติดตั้งได้ทั้งระบบไอโอเอสและเอนดรอยเลย


รถไฟของเราจะรอบบ่ายไปถึงประมาณสี่โมงเย็น จากนั้นก็ไปที่พักก่อนเลย เราพักที่ Bedweiser Backpackers Hostel Agra เป็นโฮสเทลนะคะ ซึ่งจะอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากทัชมาฮาล คือเดินจากที่พักไปทัชมาฮาลได้เลย จากสถานีรถไฟนั่งตุ๊กๆ ไปที่พักต่อราคาได้อยู่ที่ 200 รูปี ที่พักค่อนข้างดีมาก แต่ข้อเสียสำหรับสาวๆ คือมันไม่มีห้องเฉพาะสาวๆ นะเป็นห้องแบบมิกซ์ ก็มีความเสี่ยงที่ทั้งห้องสมาชิกอื่นอาจจะเป็นผู้ชาย แต่พนักงานต้อนรับดูแลดีมาก เลยค่อยข้างรู้สึกสบายใจ นอกจากนี้ยังมีอาหารบริการ ด้วยความที่ไปถึงก็เย็นแล้วก็เลยนอนพักก่อน แล้วเริ่มเที่ยววันถัดไป


ดูรีวิวโฮสเทลอินเดียบบมีคลิป คลิกเลย

บอกก่อนว่าตัวเราเป็นฟรีแลนซ์แต่หลักๆ จะชอบเขียนหนังสือ ซึ่งคอนเซปต์หนังสือเล่มนี้เราเน้นไปที่ภาพสถานที่กับแสงพระอาทิตย์ตกดิน และแน่นอนว่าเรามีเวลาเที่ยวค่อนข้างมาก เราไม่ชอบเที่ยวแบบชะโงกทัวร์ ไม่ชอบแบบรีบๆ ร้อนๆ สองวันเปลี่ยนเมือง เราต้องการเวลาถ่ายรูป เวลาพัก และเวลาคิดดังนั้นการพักเมืองต่างๆ ของเราค่อนข้างนาน ดังนั้นสายเที่ยวแบบลางานได้จำกัดต้องลองเอาไปปรับใช้อีกทีนะคะ

ซึ่งวันถัดมาของการไปถึงอัคราก็คือวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม วันนี้ทัชมาฮาลจะปิดนะคะ ทัชมาฮาลนั้นจะปิดทุกวันศุกร์ เพราะวันศุกร์เป็นวันละหมายของมุสลิม แน่นอนว่าแพลนของเราในวันนี้คือการไปฟอร์ท และด้วยความมาครั้งที่สองแล้วเลยไปคิดจะไปเบบี้ทัชหรือที่อื่นๆ แต่เจ้ากรรมนายเวรก็มาในรูปแบบของตุ๊กๆ ค่ะ ตอนตกลงก่อนขึ้นรถคือ 150 รูปี ไปแค่อัคราฟอร์ทแต่เขาพูดเยอะมาก และเขาบอกจะพาไปเบบี้ทัช เราก็อะ! อย่างน้อยเบบี้ทัชก็ค่าเข้าไม่แพง และมีอะไรให้ถ่ายรูป (ครั้งแรกที่มายังถ่ายรูปไม่เก่ง) แต่สุดท้างนางพากฉันไป ทัช วิว พอทย์ ก็คือข้างหลังทัชมาฮาล ค่าเข้า 300 รูปีไม่มีอะไรนอกจากข้างหลังของทัชมาฮาลค่ะ ฉันก็เซ็งนะ เพราะนี่เป็นการมาครั้งที่สองไง มันไม่ต้องไปทุกทีก็ได้ ใจจริงๆ ตั้งใจจะมาถ่ายภาพซ่อมที่ทัชมาฮาลกับอัคราฟอร์ทแค่นั้นเอง แต่สุดท้ายก็เข้าไปที่นี่ห้ามโครน ขาตั้งกล้อง รวมถึงแลปท็อปและไอแพดเข้าไป ก็เลยต้องฝากกระเป๋าไว้กับรปภ ด้านหน้า ไม่มีล็อกเกอร์อะไรนะ ไว้ในห้องเก็บของนั่นแหละ แต่มีรปภ เฝ้าให้แบบนี้

หลังจากนั้นเราก็ไปที่อัคราฟอร์ท ที่นี่ก็ห้ามแล็ปท็อป ไอแพด ขาตั้งกล้อง โดรน ขนมต่างๆ เอาเข้าไปได้แค่น้ำ ดังนั้นเราก็เลยต้องฝากกระเป๋าอีกแล้ว แต่ที่นี่จะดีหน่อยตรงที่มีห้องฝากกระเป๋ามีล็อกเกอร์ล็อกเป็นเรื่องเป็นราว ค่าเข้าของที่นี่จะอยู่ที่ 600 รูปี แนะนำให้ไปช่วงพระอาทิตย์ตกดินป้อมจะสวยมากแต่ก็ยังคงร้อนอยู่นะไม่อยากคิดว่าถ้ามาตอนเที่ยงจะร้อนขนาดไหน และอยากให้ทุกคนให้เวลาหน่อยนะ เพราะเป็นป้อมปราการที่ใหญ่เอาเรื่องอยู่ และนั่นหมายความว่ามีพื้นที่มีมุมให้ถ่ายรูปค่อนข้างเยอะมาก

อัคราฟอร์ท เป็นที่ประทับหลักของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุล จนถึงปี 1638 ก่อนที่เมืองหลวงของอินเดียถูกย้ายจากอัคราไปยังเดลี ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า "ลัลกิลา" หรือ "กิลาอีอักบารี" ป้อมอัคราเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก เพราะถือว่าเป็นป้อมที่มีความสำคัญในสมัยราชวงศ์โมกุ

จริงๆ เราบอกตุ๊กๆ ว่าไม่ต้องรอ พยายามเคลียร์ค่าใช้จ่ายที่ไปทัชวิวและมาที่นี่แต่ตุ๊กๆ ไม่ยอมจ้ายืนยันจะรอ ถามว่าทำไมเราไม่อยากให้รอใช่ไหม เพราะพวกนี้หัวหมอค่ะ คิดว่ารถถูกก็จริงแต่จะบวกค่าเสียเวลาสูง จากเที่ยวละ 150 รูปีไปสองที่แค่ 300 รูปี สุดท้ายแล้วเขาขอเท่าไรรู้ไหม...1500 รูปีจ้าาาา ค่าเสียเวลาเป็นพันเลยสำหรับการรอตั้งแต่สามโมงเย็นจนหกโมงเย็น บ้าไปแล้วนี่เลยบอกให้ได้เต็มที่แค่พันเดียวเพราะจริงๆ ไม่ได้อยากไปทัชวิวและไม่ได้ขอให้รอนะ เขาก็บอกว่าเขาเสียเวลานะ (ไม่เกิน 4 ชั่วโมง) เราเลยบอกไม่ได้มีเงินเยอะขนานั้น ให้ได้แค่นี้ เขาเลยบอกคุณมีเงินคุณเพิ่งกดเงินมา...

ใช่จ้านี่ดันแวะกดเงิน =..= เลยบอกเราก็ต้องใช้ในเมืองอื่นเราให้ได้แค่พันเดียว ตุ๊กๆ บอกก็ได้ค่ารถหนึ่งพัน ทิปห้าร้อย เราเลยบอกโน...ค่ารถพันเดียวโนทิป เขาก็หงายการ์ดว่าคนอื่นๆ เขาก็ให้ทิป เริ่มรู้สึกรำคาญเลยบอกค่ารถพันเดียวทริปร้อยเดียวให้แค่นี้ เขาก็อารัมภาบทชีวิตรันทด แต่งงานมีลูกเยอะ มีเขาคนเดียวที่เป็นหัวหน้าครอบครัว นี่เลยฉันเป็นซิงเกิ้ลมัม เลี้ยงลูกคนเดียวและกำลังจะเข้ามัธยมค่าใช้จ่ายสูงมากเช่นกัน นางก็เลยเงียบไป

ตุ๊กๆ อินเดียเกือบทั้งหมดจะมีมายเซตแบบนี้แหละว่านักท่องเที่ยวต้องมีเงิน ดังนั้นขอแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก และใช้ความเห็นใจมาเล่นกับความรู้สึกของเรา แต่เรายืนยันกับผู้อ่านทุกท่านเหมือนเดิมว่า "เรามีสิทธิ์รักษาผลประโยชน์ของตัวเองนะอย่าให้ใครมาเอาเปรียบ เราเป็นนักท่องเที่ยวไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ที่จะต้องโอบอุ้มทุกชีวิตบนโลกใบนี้ อย่าเอ็นดูเขาจนเอ็นเราขาด มองถึงความเหมาะสมไว้ แต่ถ้าใจดี ทรัพย์หนาอยากให้แม้มันดูเกินเรื่องอันนี้ก็แล้วแต่ตัวบุคคลเลย ไม่ว่ากัน" สุดท้ายเถียงกันจบที่ 1200 รูปี จอดรถบังคับจ่ายก่อนด้วยนะ ไม่จ่ายไม่ไปต่อ...หัวร้อนเลยแหละ แต่ก็ถือว่าเป็นสีสันของชีวิต มาอินเดียไม่เจออะไรแบบนี้ถือว่ามาไม่ถึงแหละ

ดูรีวิวเที่ยวอัคราแบบมีคลิป คลิกเลย

ในวันเสาร์เราไม่ได้ไปไหนนะ ไปทัชมาฮาลวันอาทิตย์ตอนเย็นเหมือนเดิมด้วยความรู้สึกว่าคนน่าจะน้อยเพราะวันจันทร์คนทำงานคงรีบกลับเมืองตัวเองกัน แต่ไม่เลยคนเยอะมาก สรุปคือทัชมาฮาลไปช่วงไหนคนก็เยอะอยู่ดี อัปเดตค่าเข้าทัชมาฮาลอยู่ที่ 740 รูปี จำได้ว่าครั้งแรกที่ไปคือ 550 รูปี ราคานี้ต้องโชว์พาสปอร์ตไทยนะคะ ถ้าไม่โชว์คือพันกว่ารูปีเลย แต่ว่าปัจจุบันเราจะได้รับน้ำหนึ่งขวด การเที่ยวอินเดียเราแนะนำให้พกน้ำติดตัวไว้ด้วย เพราะสถานที่ต่างๆ ค่อนข้างใหญ่เดินไปเดินมาจะเริ่มรู้สึกหิวน้ำ จะเข้าๆ ออกๆ ไม่ได้นะ ดังนั้นพกไว้ให้พร้อมจะดีกว่า

เราไม่ได้อินเรื่องของความรักหรือรักแท้อะไรของที่นี่มากนะ ถ้ามองว่าชายคนหนึ่งรักผู้หญิงคนหนึ่งมากมันก็ซึ้งอยู่แหละ แต่ถ้าศึกษาประวัติศาตร์แบบลงลึกก็อาจจะไม่อินแบบเราได้ จากนี้คือการกล่าวถึงประวัติในเรื่องความรักของชายคนหนึ่งที่มีให้ผู้หญิงคนหนึ่งและใส่เรื่องราวเบื้องหลังจากนี้ลงไปด้วย และความคิดเห็นที่แทรกเข้าไปนี้คือแค่ความคิดเห็นของเราแค่นั้น มาเริ่มกันเลย

ก็อย่างที่ทุกท่านทราบว่า วัตถุประสงค์ของการสร้างทัชมาฮาลคือการอาลัยอาวรณ์ให้กับหญิงผู้เป็นที่รักอย่างพระนางมุนตัช มาฮาล หลังการสูญเสียพระนางไปพระเจ้าชาร์จาฮันก็เสียใจหนักมากและทุ่มเทร่างสเกลเขียนแบบสร้างทัชมาฮาลเพื่อพระนาง เพื่อให้เป็นที่เก็บร่างของนางผู้เป็นที่รัก และพระเจ้าชาร์จาฮันเนี่ยก็เสียใจหนักมากแบบไม่เป็นอันทำไรเลย เอาแต่นั่งมองทัชมาฮาล แม้กระทั้งวันสุดท้ายของชีวิตก็ยังคงมองทัชมาฮาลอยู่ เป็นที่มาของรักแท้ที่ชายคนหนึ่งมีให้ผู้หญิงคนหนึ่ง 


แล้วอะไรที่ทำให้คนศึกษาประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมไม่อินกับเรื่องราวนี้? ในส่วนของคนอื่นเราไม่อาจตอบแทนได้ แต่ในส่วนของเราคือ "ช่างเป็นรักแท้ที่อันตรายจริงๆ" เพราะในการก่อสร้างนี้มีคนงานล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อก่อนมันไม่มีเครื่องจักรอะนะดังนั้นการขนอิฐแต่ละก้อน การสร้างนั่งร้านขึ้นไป การก่อสร้างต่างๆ มันเป็นแรงงานคนหมดเลยค่ะ สังเวยไปกี่ชีวิตกับรักแท้ของคนๆ หนึ่ง ตอนสร้างเสร็จคนงานเอย ขุนนางเอยโอดครวญอยากพัก พระเจ้าชาร์จาฮันก็ไม่ได้ให้พักนะ สั่งรื้อนั่งร้านลงทันที แต่ยังดีนะที่พระองค์ใช้การกระตุ้นด้วยการบอกว่าใครรื้อนั่งร้านลงมาก็สามารถหยิบเอาอิฐแดงกลับไปได้ สมัยนั้นอิฐแดงราคาแพง บางคนก็เลยฮึดลุกขึ้นมารื้อต่อไหว  


นี่ยังไม่นับการนำเงินในท้องพระคลังมาใช้สร้างทัชมาฮาลจนหมดเกลี้ยง และใช้หมดแล้วไม่หาเพิ่มด้วยนะ เพราะเสียใจมากจนไม่เป็นอันทำไรเลย เงินหมดคลัง ประชาชนอยู่ลำบากเจ็บป่วยล้มตายเพราะอดอยาก จนลูกชายทนไม่ได้จึงต้องลุกมาพาพ่อลงจากบัลลังก์แล้วบริหารบ้านเมืองต่อ สำหรับเราเราว่ามันเป็นรักแท้ที่ดูทำร้ายคนอื่นอะ ขนาดลูกชายเขายังไม่ได้รู้สึกเห็นด้วยทั้งหมดกับสิ่งที่พ่อเขาทำลงไปเลย ตัวเราเลยไม่ได้รู้สึกว่ามันคือสัญลักษณ์ของรักแท้ที่ถ้ามีแฟนต้องพาแฟนไป ถ้าแฟนพาไปนี่คือรักแท้ หรือถ้าไปแล้วเลิกกันก็เพราะมันคือสุสาน แก! มันมีคนคิดแบบนี้จริงๆ ตอนฉันได้ยินคืออึ้งมากเพราะการมาที่นี่กับคนรักในช่วงจังหวะหนึ่งอาจจะใช่เป็นความโรแมนติกอย่างหนึ่งที่ทำร่วมกันในขณะนั้นแต่มันไม่ได้การันตีว่ามันคือรักแท้หรือรักเทียมอะไรเลย ที่นี่มันคือ "สถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถันและสร้างมาด้วยความลำบาก" ดังนั้นความยากลำบากในการสร้างนี้เลยทำให้ที่นี่สมควรเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก เป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่น่าจะสร้างได้ในสมัยนั้นแต่ก็ทำได้และออกมาสวยจนต้องตะลึง มันแค่นั้นเลย ตอนไปครั้งแรกยังโสด ปัจจุบันมีแฟนอินเดียก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องไปนะ แฟนก็ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แฟนว่าไปรูททางเหนือดีกว่ามันสวยโรแมนติกกว่า แต่ใครจะอินนี่ก็ไม่ได้ไปติดขัดอะไรด้วยนะ เอาตามสะดวกได้เลย ไปแล้วรักกันตลอดรอดฝั่งก็อวยยศทัชมาฮาล ไปแล้วเลิกกันก็กร่นด่าว่าเป็นคำสาปของสุสานทัชมาฮาลก็มี แต่ทั้งหมดนี้....สาวววววมันแค่สถาปัตยกรรมจ้าา ใจเย็น



จบวันไปกับแสงพระอาทิตย์ตกดินกับทัชมาฮาลที่สวยสุดยอด สำหรับวันถัดไปก็จะเป็นการเดินทางไปอัมริตสาร์ ซึ่งจริงๆ วันมีรถไฟเส้นอัคราไปอัมริตสาร์นะ แต่เราตัดสินใจช้ามันเต็มแล้วเลยต้องนั่งรถไฟมานิวเดลีก่อน ด้วยรถไฟประเภทนั้นชั้น AC CC แล้วรอรถไฟจากนิวเดลีไปอัมริตสาร์ โดยเราอยากลองรถไฟท้องถิ่นค่ะ จริงๆ ก็เคยนั่งแล้วแหละแต่เป็นเส้นทางสั้นๆ และตอนนั้นไม่ได้ถ่ายรูปไว้ รอบนี้เลยไปจัดเพื่อถ่ายรูปมาให้ทุกคนดู บอกเลยว่าบังเทิงมาก มีครบทุกความรู้สึก แต่จบลงที่โทรไปบ่นเรื่องห้องน้ำกับผู้ชายค่ะ ซึ่งผู้ก็ไม่ได้ทำงานการรถไฟนะ ฮ่าๆๆๆๆ เอาเป็นว่าระยะสั้นก็สู้ไหวนะ แต่ระยะทางยาวๆ นี่ไม่ไหวจริงๆ เหตุผลหลักๆ คือเรื่องห้องน้ำ 

รถไฟของเราตามเวลาที่กำหนดจะใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงแต่วันจริงคือดีเลย์ไปหนึ่งชั่วโมงเลย จากที่จะต้องถึงประมาณสี่ทุ่มกว่าๆ สรุปคือถึงประมาณห้าทุ่มกว่าๆ เลย ดังนั้นในคืนแรกและวันแรกจะเป็นการพักก่อนนะ ปวดหลัง และปวดท้องเพราะว่าปวดปัสสาวะค่ะแต่ห้องน้ำมันเข้าไม่ไหวจริงๆ มีคนอึไม่ราดไปหนึ่งห้อง อีกห้องคุณผู้ชายเขายืนปัสสาวะแบบไม่เล็งให้ตรงโถ คือพื้นที่เปียกมันเปียกเพราะปัสสาวะอะไม่ใช่น้ำ ที่รู้เพราะยืนต่อคิวอยู่และผู้ชายสามคนแต่ละคนก็เข้าไปยืนปลดปล่อยแบบไม่ปิดประตู แต่เขาหันหลังให้นะเราเลยไม่เห็นอะไรนอกจากสายน้ำที่ไหลลงพื้นแบบเรี่ยราดไปหมด ก็เลยอั้นไปจนถึงอัมริตสาร์ ฉันนึกว่ากระเพราะปัสสาวะจะอักเสบซะแล้ว แต่ขอเน้นย้ำว่ารถไฟอินเดียมีหลายแบบ ไม่อยากเจอแบบนี้ก็ไปจองชั้นอื่น เรากำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับรถไฟอินเดียด้วย ดังนั้นเราต้องการรูปเพื่อแนะนำคลาสต่างๆ เราเลยต้องไป ครั้งแรกที่ไปไม่ได้ถ่ายรูปไว้ ดังนั้นหากคุณไม่มีความจำเป็นและไม่อยากเจอความลำบากก็เลี่ยงไป ไม่เอานะที่ตั้งใจจองเองแล้วก็มาดราม่าใส่เขา ไม่หิวคอนเทนต์กันนะ เรารู้สึกว่าถ้าทำแบบนั้นมันไม่แฟร์กับอินเดีย ทั้งๆ ที่เขามีหลายคลาสแต่คุณเลือกไปเองแล้วมาดราม่าใส่เขา มันไม่น่ารักอะ แต่ถ้าถูกไกด์หลอกก็อีกเรื่องหนึ่ง

เริ่มเที่ยวในวันที่ 2 ของทริปอัมริตสาร์ ซึ่งกว่าจะออกก็บ่ายเลยแหละ ที่แรกที่ไปก็คือ "วิหารทองคำ" หัวใจแห่งศาสนาของชาวซิกข์ เราว่าเรากะเวลาออกจากที่พักให้มาถึงเย็นแล้วนะ แต่รู้สึกว่าที่นี่พระอาทิตย์ตกช้าจัง หรืออาจเพราะเราหิวเลยรีบร้อน รอแล้วรออีกพระอาทิตย์ก็ไม่ตกซะที บวกความหิวมากเลยเอาภาพวิหารทองคำกับฟ้าสีฟ้าไปกันก่อนนะ 

วัดซิกซ์ หรือที่ถูกจะต้องเรียกว่ากูร์ดวารา หรือคุรุวรา จริงๆ ก็มีอยู่ในหลายๆ เมืองของอินเดีย แต่ที่นี่จะจัดเป็นคุรุวราที่สำคัญที่สุดของชาวซิกซ์ในอินเดีย

วิหารทองคำนี้จัดเป็นสถานที่สักการะแบบเปิดสำหรับทุกคน ไม่มีค่าเข้าชมแค่ทำตามกฏของเขาโผกหัว ถอดรองเท้า สำรวมไม่เสียงดังเพราะทุกคนเขามากันแบบสงบมากๆ ภายในวิหารทองคำเหมือนจะห้ามใช้กล้องถ่ายรูปนะคะ ปกติคนจะถ่ายรูปด้านนอกมากกว่า และจะมีผู้คนมากมายไปยืนต่อแถวเพื่อเข้าไปคุรุวรา ก็คือเข้าไปในตัววิหารทองคำ ในนั้นเหมือนจะใช้กล้องไม่ได้นะคะ ยังไงลองเช็กกันอีกที เราไม่ได้เข้าเพราะแถวยาวมากๆ



ลักษณะของที่นี่จะมีวิหารอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยสระน้ำ ซึ่งเราสามารถไปควักน้ำมาลูบหน้าได้ บางคนนี่กรอกใส่ขวดเลยค่ะ น่าจะอารมณ์เดียวกับชาวพุทธกรอกน้ำมนตร์กลับบ้านไปผสนน้ำอาบ ส่วนทางเดินรอบสระน้ำคือทางเข้าทั้งสี่ทางสู่คุรุวรา ซึ่งทางเขาลักษณะนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อของชาวซิกข์ในความเท่าเทียมกัน และมุมมองของชาวซิกข์ที่ว่าทุกคนยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา

เป็นศาสนาที่ดีมาก สถานที่ดี อบอุ่นและทำให้รู้สึกสงบมากจริงๆ ถ้าลองศึกษาศาสนานี้ดูจะเข้าใจเลยว่าทำไมในช่วงแรกของการกำเนิดศาสนาในอินเดียมีผู้คนมากมายพร้อมใจหันมาอยู่ศาสนานี้ ผู้คนสนใจนับถือเลื่อมใสศาสนานี้มาก จนฮินดูในสมัยนั้นอยู่นิ่งไม่ได้เลยเพราะกลัวคนจะหันมาทางนี้หมด เลยต้องรีบเผยแพร่คัมภีร์พระเวทมากขึ้นเพื่อดึงคนกลับไป แต่ไม่ว่าจะศาสนาไหนทุกคำสอนก็คือสอนให้คนเป็นคนดีหมด ทุกศาสนาก็มีดีในแบบของตัวเองแหละนะ



 จากนั้นก็ไปหาอะไรกินที่มิวเซียม ตรงมิวเซียมมันจะเป็นสแคว์นะคะ ที่มีร้านอาหารราคาย่อมเยาว์ และอร่อยด้วย นั่งรอจนมิวเซียมเปิดไฟพอได้รูปก็กลับที่พักก่อน

วันที่ 3 วันนี้เรี่ยวแรงกลับมาแล้ว การปัสสาวะก็กลับมาเป็นปกติ ก็เลยออกไปที่จาริยาวาราบาค ซึ่งที่ตรงนี้เป็นอนุสรณ์สถานที่มีสตอรี่ที่ค่อนข้างดาร์กนะ คือเป็นที่ที่เกิดเหตุการสังหารหมู่ ที่ค่อนข้างหดหู่ตรงที่ มันเป็นสถานที่ที่มีทางเข้าออกทางเดียว ตอนนั้นกลุ่มคนที่มานั่งชุมนุมประท้วงแบบสันติ นักเคลื่อนไหวเสรีต่างๆ ก็มานั่งกันแบบปกติไม่ได้ก่อความวุ่นวายอะไร แล้วทหารก็มาล้อมแล้วกราดยิงเลย ด้วยความที่มีทางเข้าออกทางเดียว และทหารก็ปิดทางไว้ พวกเขาเลยไม่มีที่หนีหรือหลบได้ ก็เป็นสถานที่สำคัญอีกหนึ่งที่เพียงแต่เรื่องราวมันจะโหดและชวนหดหู่ใจ

แล้วก็ไปหาปานิปูรีกิน ซึ่งก็คือร้านเดิมตรงมิวเซียม เฝ้ารอเวลาเย็น ซึ่งเราจัดปานิปูรีไปสองเซตเลย คนอื่นเขาสั่งเซตเดียว 5-6 ลูก นี่ล่อ 12 ลูก ชอบจริงชอบจัง กินจริงจังกินเหมือนจะกลับไทยพรุ่งนี้ แล้วต่อด้วยช็อกโกแลตมิลล์เช็ก แต่ทำไมมันกลายเป็นโอริโอปั่นก็ไม่รู้ ไม่เป็นไรกินได้เหมือนกัน 

แล้วก็รอ รอ รอ พระอาทิตย์ตกดิน จากนั้นก็เดินไปวิหารทองคำอีกรอบ และวันนี้มิสชั่นก็คอมพลีชแล้ว ไปดูรูปเลยดีกว่า

อัมริตสาร์เป็นเมืองที่ไนท์มาก สะอาด ผู้คนไม่โหวกเหวกโวยวาย ค่อยๆ พูดจา ไม่ตะโกนใส่กัน ตุ๊กๆ นอบน้อมมาก เข้ามาคุยดี ถ้าเราไม่ไปก็แค่บอกว่าไม่ไปไม่มีตื้อ ไม่พูดมาก ไม่โก่งราคา และที่สำคัญเพราะเป็นเมืองที่สะอาด รอบในก็ถนนดีดังนั้นการเดินเที่ยวจึงเป็นอะไรที่ง่ายมาก ต้องยอมรับว่าบางเมืองในอินเดีย เช่นจัยปูร์ หรือ บิคาเนส รวมถึงเดลี อาจจะเดินเที่ยวง่ายเช่นกันแต่ไม่ได้สะอาดมากมายขนาดนั้น อยู่ในระดับที่รับไหว แต่ที่นี่ใช้คำว่าสะอาดได้เลย (รอบใน ใจกลางเมืองนะ) ทำให้การเดินเป็นเรื่องง่ายมากๆ ขอแค่มีแรงเดินไหวเดินได้หมดทุกซอกทุกมุม แหละเมืองนี้ความปลอดภัยคือดีมาก ที่เรากล้าจองรถไฟไปถึงดึกเพราะผู้ชายและเพื่อนๆ บอกไม่มีอะไรต้องกังวลในเมืองนี้ค่อนข้างเซฟกว่าเมืองอื่นๆ และจริงเลย ไดร์เวอร์แท็กซี่ก็สุภาพมาก และที่สำคัญช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกไปจนถึงตอนกลางคืนค่อนข้างสวยมาก เราหลงรักเมืองนี้มากๆ จากใจเลย

ดูคลิปเที่ยวอัมริตสาร์ คลิกเลย 

วันถัดมาเราก็นั่งรถไฟกลับมาที่นิวเดลี แต่รอบนี้เลือกชั้นแบบปกตินะคะ มาถึงช่วงเที่ยงๆ เป็นอันจบทริปอัครา อัมริตสาร์ แต่บอกก่อนว่านิวเดลีนี่ไม่มีอะไรมาเล่ามากมายนักนะ เพราะเคยเที่ยวไปจนทุกซอกทุกมุมแล้ว การมาอยู่เดลีเป็นอาทิตย์ๆ รอบนี้คือมาหาผู้ชายค่ะ ดังนั้นจึงไม่มีรีวิวพาเที่ยวเดลีนะ แต่ก็จะมีเที่ยวรูทอื่นๆ มาให้แทน จะมีทั้งคนเดียวและไม่คนเดียวนะ อยู่อินเดียยันธันวาเลย แวะมาตามกันก่อนได้นะ บทความหน้าจะพาไปไหนมารอกันได้เลย หรือแวะหรือติดตามเรื่องราวอื่นๆ ของเราได้ที่ twitter ที่ Artinime หรือ Facebook เพจ แบกกล้องชิวเที่ยวไปเรื่อย ได้เลยค่ะ

หญิงเถื่อน Solo Traveler

 วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เวลา 04.05 น.

ความคิดเห็น