ใครๆ ก็บอกว่าอยากเริ่มเดินภูให้ไปภูกระดึง วันนี้เราอยากมาอัพเดตภูกระดึงที่เราเองไม่ได้ไปมา 3-4 ปีแล้ว  รอบนี้ทำให้เราอยากแบ่งปันข้อมูลสำหรับใครที่แพลนอยากจะไป 

**สิ่งจำเป็นมากๆ = เงินสด (ไว้จ่ายค่าสัมภาระ เพราะลูกหาบหลายๆ คนอาจไม่รับเงินโอน)**


การเดินทาง : รถยนต์ส่วนตัว

จำนวนสมาชิก : 7 คน

ค่าใช้จ่าย : ค่าเข้า = 45 บาท/คน

- ค่ายานพาหนะ (รถยนต์ 4 ล้อ) ราคา 30 บาท

- ค่าเข้า (ผู้ใหญ่) คนละ 40 บาท/คน

รวมค่าบริการ สมาชิก 7*40 = 280 + 30 = 310/7 = 44.29 เฉลี่ย 45 บาท/คน

ค่าน้ำมัน = คนละ 150 บาท/คน *5 คน

(กฎกลุ่มไม่ให้เจ้าของรถกับคนขับจ่ายค่าน้ำมัน) **จะได้ไปด้วยกันหลายๆ ทริป**

 ค่าที่พัก = 165 บาท/คน/คืน

-ค่าขอใช้พื้นที่กางเต็นท์อุทยาน 30 บาท/เต็นท์/คืน

-ค่าเต็นท์ 200 บาท/หลัง/คืน

รวม 230 บาท/คืน หาร 2 คน = 115 บาท/คน

-เช่าหมอน 10 บาท/ใบ

-เช่าแผ่นรองนอน 20 บาท/แผ่น

-เช่าผ้าห่ม(แนะนำผืนเล็ก อุ่นกว่า) 30 บาท/ผืน

รวม 60 บาท/คน

ค่าอาหาร = ประมาณ 500-600 บาท (เนื่องจากกินเยอะจนจำไม่ได้)

-น้ำ ~ 30 บาท/ขวด

-อาหาร ~50,60,70,80/จาน

-สปอนเซอ ~ 40 บาท/ขวด

-ผลไม้ ~30 บาท/แก้ว

ค่าลูกหาบ = ไม่เสีย (เนื่องจากแบกเป้เอง)

-กิโลกรัมละ 30 บาท/กิโล

-ค่าบัตรติดสัมภาระ 5 บาท/บัตร

ค่าประกันอุบีติเหตุ : 10 บาท/คน

รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 970 บาท


เริ่มต้นออกเดินทางได้

เราเริ่มออกเดินทางจากบ้านเราในเช้ามืดวันเสาร์(อำเภอด่านซ้าย เลย) ด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับสมาชิกอีก 7 คน ในเวลา ตี4:30 ใช้เวลาเดินทาง 2ชั่วโมง 30นาที จะถึงที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตอน 07:00 น.(เคาน์เตอร์ที่อุทยานเริ่มเปิดตอน 6 โมงเช้า) พอไปถึงด่านทางเข้าเราจะต้องเสีย ค่ายานพาหนะ+ค่าเข้าใช้บริการอุทยาน **เก็บบัตรเข้าอุทยานไว้นะ 


อ่อ รอบนี้เราไม่ได้จองคิวเข้าอุทยานจากแอพ QQ นะ เรามา Walk in (แนะนำให้ลองถามเจ้าหน้าที่ว่ามีคิวเหลือไหมนะ แต่เขาให้คิวWalk in เยอะอยู่) จากนั้นก็ไปติดต่อทำประกันอุบัติเหตุ คนละ 10 บาท จะมีเจ้าหน้าที่เรียกเลยไม่ต้องมองหา


ถัดไปก็ไปจองเต็นท์ แต่!! พอดีว่าเราอยากได้เต็นท์ลายทหารของอุทยาน ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าเต็นท์แบบนี้ต้องจองผ่านเว็บอุทยานเท่านั้น จองที่พักอุทยานแห่งชาติ  ซึ่งทางเราไม่ได้จองมา เลยได้เช่าเต็นท์พ่อค้าแม่ค้า

**เท่ากับว่าเราต้องจ่ายค่าพื้นที่กางเต็นท์ให้กับอุทยาน ในราคา 30 บาทที่เคาน์เตอร์ข้างล่างก่อน จากนั้นให้ไปติดต่อเช่าเต็นท์กับเจ้าหน้าที่ข้างบนอีกที 


อาคารหมายเลข 3 มีพาสปอร์ตอุทยานขายด้วย แต่ช่วงเราไปของมาแล้วและของหมดแล้ว แต่ใครที่มีสมุดแล้วสามารถปั้มได้เลย ที่ภูกระดึงมีตราปั๊ม2จุด ข้างล่างและข้างบนเน้อ แต่ตอนเราไป ไม่มีเจ้าหน้าที่เราเลยข้ามไปก่อนขาลงมาค่อยแวะละกัน


พอจัดการเรื่องที่พักเสร็จ เราไปดรอปกระเป๋าให้ลูกหาบต่อได้เลยที่อาคารหมายเลข 4 กิโลละ 30 บาท และป้ายติดสัมภาระใบละ 5 บาท เขียนชื่อและเบอร์โทรเราติดไว้รอชั่งกิโลและเก็บหางบัตรสัมภาระไว้รับที่ข้างบนภูด้วยนะ 


ถ้าพร้อมแล้ว เตรียมตัวออกเดินทางได้

แต่ละซำเราไม่ต้องบรรยายเนาะเพราะหลายๆ เว็บก็รีวิวไว้เยอะแล้ว สตอรี่เราจะไปทางบอกว่า 

วันเสาร์นี้ "คนเยอะ" และ "ร้อนมาก แห้งมาก" สุดท้าย "มีไฟไหม้ด้วย"


ปางกกค่า>ซำแฮก>ซำบอน>ซำกกกอก>ซำกอซาง>พร่านพรานแป>ซำกกหว้า>ซำกกไผ่>ซำกกโดน>ซำแคร่>หลังแป = ระยะทางประมาณ 5.5 กม. (4-6 ชม.)


เอาเป็นว่าใครรอดขึ้นมาถึง "ซำแฮก" ซำต่อไปๆ อากาศและอุณหภูมิมันจะเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่สมาชิกทีมเรานั้น ได้ถึงซำแฮกที่แทร่ทรู

ด้วยความที่ร่างกายพี่เค้าไม่พร้อม แต่ใจเกินร้อย บวกกับและสภาพอากาศที่ร้อนมาก อยากแนะนำและเตือนทุกคนจริงๆ ว่า "ไม่ควรเร่งเดิน" ไม่งั้นจะได้ลมพัดตึ้งจ้ำภูกระดึงของจริง  เราเลยหยุดซำแฮกยาวๆ ไปเลย **ใครมาช่วงกุมภาดูแลร่างกายดีๆด้วยนะ อากาศเริ่มแย่แล้ว**


เรามาถึงก่อนทุกคน รอบที่แล้วกินแตงโมไป รอบ2ขอน้ำแตงโมงปั่น ร้านขวามือแรก

แนะนำส้มตำร้านขวามือระหว่างรอพี่เขาพักฟื้น (ร้านที่คัลแลน พี่จอง และน้องแดนนั่งกินตะลิงปลิงกัน เจ้าของร้านใจดีมาก เอาพัดลม เอายาดม และตะลิงปลิงมาให้ด้วย 555 พี่เขาบอกว่าจะได้ตื่น)


  หลังจากซำแฮกไป ซำอื่นๆ จะเริ่มมีสีเขียวขึ้นมา และอากาศก็จะดีขึ้นด้วย ไฮไลท์ของภูกระดึงคือ "ลูกหาบ" ทั้งพลังกล้ามเนื้อ และเพลงม่วนๆ ที่มาพร้อมกับผับเคลื่อนที่ขนาดย่อม สีสันระหว่างทาง 

และ "ซำ" ที่มีของกินไม่ซ้ำ แวะเติมพลังได้ทุกซำ

จุดทรมารสุดที่ภูกระดึงสำหรับเราคือ ซำแฮก = ชัน ร้อน และจุดสุดท้ายก่อนถึงหลังแป = หิน ชัน


และจุดหลังแปคือจุดถ่ายรูปยอดนิยม วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ที่เรา นักท่องเที่ยวเยอะนะ ถึงขั้นต่อแถวถ่ายรูปเลย (แดดร้อนก็ไม่หวั่น) ใช้เวลาเดินไป 6 ชั่วโมง 


จากนี้ก็เป็นจุดทรมานอีกเช่นเคย หลังแป>ศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง (3.5 กม.) ทางราบที่เหมือนง่าย แต่เน้นทรมาณมากกว่า กับคำว่า เมื่อไหร่จะถึงงงงง........

แดดที่ส่องลงมาตรงๆ บวกกับซากต้นสนที่ถูกเผา นี่คือภูกระดึง เวอร์ชั่น 2024 "ไม่ร้อนมาก แต่เน้นแสบ"


ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

-เมื่อมาถึงเข้าไปติดต่อเต็นท์+เครื่องนอน (เราจะได้เช่าเต็นท์จากเอกชน ในราคาหลังละ 200 บาท/หลัง/คืน) ผ้าห่ม (แนะนำผืนเล็ก) 30 บาท/ผืน/คืน หมอน 10 บาท/อัน/คืน แผ่นรองนอน 20 บาท/อัน/คืน

 หากมีเงินสดก็สามารถจ่ายได้เลย แต่เจ้าหน้าที่ก็รับโอนอยู่ จากนั้นก็ไปเดินทางไปรับอุปกรณ์นอนที่อาคารถัดไป (ฟีลค่ายลูกเสือ)

และไปรับผ้าห่มที่อาคารที่อยู่ตรงกลาง (ขออภัยไม่ได้ไปถ่ายมา)


เดินรอบที่2 เริ่ม!!

ตอนนี้เป็นเวลาบ่ายโมงกว่าแล้ว ซึ่งเรามีแพลนจะเดินไป "ผาหล่มสัก" เราเลยรีบจัดการทุกอย่างแล้วออกเดินทางต่อเลย

>>เส้นทางเดินหน้าผา<<

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว> 2.3 กม. (ผาหมากดูก)>600 ม. (ผาจำศีล)>550 ม. (ผานาน้อย)> 1.6 กม. (ผาเหยียบเมฆ)>1.9 กม. (ผาแดง)>2.4 กม. (ผาหล่มสัก) ระยะทาง 9.3 กม. ใช้เวลาเดินประมาณ 4-5 ชม. 

(ไป-กลับ)ระยะทาง = 18.6 กม. ใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง

 สมาชิกที่จะเดินมี 5 คน ที่เหลือจะเช่าจักรยานปั่น (เช่าจักรยานล้อใหญ่ 410 บาท/คัน) 

"เรียกได้ว่าไปทันพระอาทิตย์ตกแบบขาตึงกันไปเลย"

  บรรยายกาศควันไฟจากการเผาไร่อ้อยก็จะประมาณนี้ มีพระอาทิตย์และควันไฟ


ขากลับ(สุดตื่นเต้น)

ตอนขากลับเรากับน้ารีบเดินออกมาก่อนจะค่ำ แต่แม่ๆ ยังห่วงถ่ายรูปให้คนอื่นๆ อยู่ ระหว่างนั้นมีนักท่องเที่ยวเดินแซงเราไปพอดี (คนเดินกลับน้อยมาก ส่วนใหญ่ปั่นจักรยานกัน) พี่เขาบอกว่า 

"เดินรวมกลุ่มกันไว้นะครับ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าช้างออกมาแถวหน้าผา"🐘

กลุ่มเราเร่งเดินกันมาจนเจอกับนักท่องเที่ยวอีก 2 กลุ่ม พ่อค้าแนะนำว่าให้เกาะกลุ่มกันไป มีอะไรค่อยวิ่ง 555 หลังจากนั้นเราเกาะกลุ่มกันเดินไปถึงผาหมากดูกเลยจากป้าที่ร้านค้าว่า "ช้างมันเดินตัดทางออกมาจากป่าแถวนี้แหละ ตอน6โมงกว่าๆ ป้าเลยไฟเปิดไฟฟ้ากันไว้ มาตัวเดียวแต่ตัวใหญ่มาก" ตอนนั้นมีเจ้าหน้าที่มาเฝ้าอยู่แล้ว เขาบอกมันไปสักพักแล้ว แต่เกาะกลุ่มกันไปนั้นแหละ "ถ้าช้างมาข้างหน้าให้วิ่งไปข้างหลัง ถ้าช้างมาข้างหลังให้วิ่งไปข้างหน้า อย่าเดินก้มหน้า ให้ส่องไฟฉายไปทั่วๆ ถ้าเจอช้างให้ร้องดังๆ" อุ่นใจทุกประโยค โดยเฉพาะประโยคสุดท้าย "ไม่ต้องกลัวหรอกครับแค่ช้างเอง" 5555

สุดท้ายพวกเราร่วมเกือบ 20 ชีวิตสายเดินก็รอดกลับมาที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวได้ และใช้เวลาเดินกลับแค่ 2 ชั่วโมง (โหดมากสำหรับเราที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย)

เราน่าจะถึงเต็นท์ตอน2ทุ่ม รีบอาบน้ำแล้วไปกินข้าวก่อน 4 ทุ่ม เพราะร้านค้าจะปิด และงดส่งเสียงดัง ทางอุทยานจะประกาศทางลำโพง

หิวมากไปหน่อย เลยสั่งเยอะ แล้วเขาให้ข้าวเยอะมากกกก สุดท้ายกินไม่หมด 555

ปล.น้ำอุทยานท้าทายมาก เย็นแบบเจ็บผิว แต่สะใจ ใครทนไหวต้องจัด ห้องน้ำมีแบบนั่งและยอง มีสายชำระด้วย


เช้าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567

05:30 น. เจ้าหน้าที่นำทางไปดูพระอาทิตย์ขึ้น(ที่โดนเมฆบังเพราะเมื่อคืนฝนปรอย) เราไม่ทันได้ยินประกาศเมื่อคืน แต่ตอนตี5 เราได้ยินเสียงคนตื่นกัน

ปล.ขาเจ็บมาก + เจ้าหน้าที่เดินเร็วมาก แต่ไม่ต้องกังวลไปคนไปด้วยเยอะ ค่อยๆเดินไป แต่ขาเรานั้นติดเดินเร็วเมื่อวานมาแล้วเช้านี้เลยเดินจ้ำๆ ทั้งที่ขาเจ็บเพราะขามันไปเอง

-ขากลับจากดูพระ(เจอพระจริงๆ 2 รูป)อาทิตย์ขึ้น เราเดินเลี้ยวซ้ายไปลานวัดพระแก้วแวะไหว้พระสักหน่อย


ระหว่างขากลับกำลังจะไปแวะกินข้าว ก็เจอน้องกวาง

ดาราท่านนี้มีตากล้องจับจ้องเยอะมาก เขาบอกเมื่อวานน้องไม่ออกกันมา แปลว่าเช้านี้เราโชคดี


แวะกินข้าวเช้า จะมีเสียงประกาศจากอุทยานให้นำสัมภาระไปชั่งกิโล


พอเราเก็บของคืนอุปกรณ์ชั่งสัมภาระลงแล้ว ก็เตรียมตัวลงเขาได้ ที่อุทยานมีโครงการเอาขยะลงไปทิ้งด้วย ถุงขยะเราสามรถเอาลงไปข้างล่างแล้วทางอุทยานเขาจะมีใบประกาศให้ด้วย

ได้ทั้งทำความดี แล้วได้รูปด้วย 


 เราเดินกันมาถึงหลังแปด้วยความร้อนและเหนื่อย หลังจากนั้นเราเหนื่อยกว่าเดิมเพราะ รถเจ้าหน้าที่ขับผ่านหน้าเราไปเลย 555

มันเจ็บที่ตรงนี้ 555 ลงเขากันเถอะ


ครั้งหนึ่งในชีวิตอยากให้คนที่สนใจอยากท้าทายตัวเองให้ไปลองเที่ยวที่นี่ดู แนะนำอยากเที่ยวให้สนุกแต่ไม่ลำบากก็สัก 3วัน 2คืน แต่ใครชอบประสบการณ์ท้าทายตัวเอง 2วัน 1คืนก็น่าสนใจ ที่สำคัญคือช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ช้างลงมากินน้ำตลอด เส้นน้ำตกไม่สามารถเดินได้ (จะมีเจ้าหน้าที่ประกาศรายวันว่าวันนี้มีช้างหือไม่มีช้าง) เส้นหน้าผาค่ำมาก็ไม่ดี แนะนำให้มาช่วงปลายปลายปีหรือต้นปีอาจจะดีกว่า

หวีงว่าใครที่แวะเข้ามาอ่านจะสามารถปลุกไฟและเป็นแนวทางในการเที่ยวทริปต่อไปของทุกๆคนนะคะ

Fang Chanikan

 วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เวลา 17.33 น.

ความคิดเห็น