“อินเดียไปแล้ว ถ้าไม่รักก็คือเกลียดเลย” คำพูดที่ถูกบอกต่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งใครเป็นคนแรกที่พูดก็ไม่รู้ได้ และสำหรับคนที่รักจะรักมากระดับไหนทางเราก็ไม่อาจทราบได้ แต่ตัวเรานั้นค่อยข้างจะรักอินเดียมากและสำหรับเราการไปอินเดียไปกี่ครั้งก็ไม่พอจริงๆ แล้วเราก็เชื่อว่าต้องมีคนอื่นที่ตกหลุมรักอินเดียแบบเราที่ไปแล้วแต่ความอยากไปก็ไม่ได้หายไป ไปแล้วก็อยากไปอีก ยิ่งไปบ่อยๆ ความต้องการไปอีกก็ยิ่งเพิ่มขึ้น แล้วทำไมล่ะ ทำไมกันนะ?? ทั้งๆ ที่ในหลายๆ ครั้ง การเดินทางก็ไม่ได้ราบรื่น สวยหรูทุกครั้งไป แต่กระนั่นคนบางกลุ่มแบบเราก็ไม่เคยกลัวหรือเกลียดอินเดียเลย
แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนที่ไปแล้วแล้วขอแค่ครั้งเดียวพอ โดยปกติมนุษย์ไทย (บางคน) จะชอบเสพสื่อดราม่าในทางลบซะมากกว่าเป็นธรรมดาที่คนไทยจะยิ่งมีความรู้สึกลบกับอินเดีย กลัวบ้าง ไม่เชื่อคนที่ไปมาแล้วเจอแต่สิ่งดีๆ บ้าง เพราะสื่อที่ไม่ดีมันเยอะกว่า ชนิดที่ว่าบางเรื่องเป็นคลิปเก่าผ่านมานานเนแรมปีแล้วก็ยังเอารีรันแชร์อยู่ร่ำไป เหมือนว่ารับไม่ได้ที่ภาพดีๆ ของเขาเริ่มแผ่หลายมากขึ้น และบางอย่างมันรุดนำหน้าไทยไปแล้ว
แม้จะชื่อบทความว่าร้อยเรื่อง แต่ในนี้จะมีเพียง 20 เรื่องเท่านั้น หากใครอยากอ่านแบบเต็มๆ ครบ 100 เรื่องสามารถดาวน์โหลด Ebook ได้ ซึ่งจัดโปรลดราคาแค่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2024 เท่านั้น
อะไปดูดีกว่าว่า 20 เรื่องนี้เอามาแชร์นั้นมีอะไรบ้าง
1. เป็นประเทศที่ต้องใช้ Visa / E-Visa
เรื่องแรก เรื่องนี้สามารถเรียกว่าข้อควรรู้ หรือข้อที่ต้องรู้ จากการอยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวอินเดีย และทำเพจการเดินทางโดยมุ่งไปที่อินเดีย ปัจจุบันก็ยังเจอคำถามแนวๆ ว่า ไปอินเดียต้องขอวีซ่าไหมหรือ จะไปอินเดียแค่ 3 วัน 4 วัน ต้องทำวีซ่าหรืออีวีซ่าไหม "ต้องทำค่ะ" ไม่ว่าจะไปกี่วันก็ต้องขอวีซ่าให้เรียบร้อยและขอให้ตรงจุดประสงค์ในการเดินทางด้วย นอกจากถามเรื่องต้องขอวีซ่าหรืออีวีซ่าหรือไม่แล้ว บางคนยังมาด้วยคำถามแปลกๆ ว่าอยากจะอยู่อินเดียมากกว่า 90 วันต้องยังไงและไม่มีเหตุผลจะสามารถขอได้ไหม เราไม่ติดใจอะไรกับความรู้สึกอยากเที่ยวอยากอยู่อินเดียนานกว่า 90 วันหรอกนะ เพราะเราเองก็เป็นแต่ทำไมรู้สึกติดใจตรงที่เธอเจ้าของคำถามนี่กลัวการระบุเหตุผลล่ะ? ในแบบฟอร์มการขอจะไม่ถามเหตุผล แต่จะให้เราเลือกประเภทวีซ่า/อีวีซ่า ไปเที่ยว ไปพบเพื่อน ไปทำงาน ขอให้ตรงกับจุดประสงงค์จริงๆ
ความต่างของ Visa / E-Visa อย่างแรกคือ วีซ่าคือสิ่งที่เราต้องกรอกออนไลน์แต่ไปยืนขอด้วยตัวเอง ณ อาคารเดอะเทรนดี้ ชั้น 8 สุขุมวิท ซอย 13 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพ ส่วนอีวีซ่าคือการดำเนินการทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ต้องไปเอง แต่อีวีซ่าจะมาในรูปแบบกระดาษ ส่วนวีซ่ามาในรูปเล่ม พกพาสะดวก เก็บรักษาดีกว่า และราคาแพงกว่าอีวีซ่า โดยมีราคาดังนี้
- Visa : ท่องเที่ยว 1 ปี เข้าหลายครั้งได้ ราคา 4,100 บาท
- Visa : ท่องเที่ยว 5 ปี เข้าหลายครั้งได้ ราคา 8,200 บาท
- E-Visa : ท่องเที่ยว 1 ปี เข้าหลายครั้งได้ ราคา 40us ประมาณ 1,200 บาท
- E-Visa : ท่องเที่ยว 5 ปี เข้าหลายครั้งได้ ราคา 80us ประมาณ 2,400 บาท
- E-Visa : ท่องเที่ยว 30 ปี เข้าครั้งเดียว จะแบ่งราคาเป็นช่วง
- ช่วงเมษายน - มิถุนายน จะราคา 10Us ประมาณ 300 บาท ( ฤดูร้อนของอินเดีย )
- ช่วงกรกฏาคม - มีนาคม จะราคา 25Us ประมาณ 750 บาท ( ช่วงเวลาปกติ )
*ทั้งนี้ราคาวีซ่าอาจเปลี่ยนปรับขึ้นลงในแต่ละปี และราคาอีวีซ่ายังไม่รวมค่าบริการชำระผ่านบัตรเครดิต/เดรบิต
2. สนามบินอินเดียอนุญาตเฉพาะผู้โดยสารที่มีตั๋วเครื่องบินเท่านั้น
เรื่องสนามบินนี่จะต่างจากบ้านเราอย่างชัดเจนเลย ต้องมีตั๋วเครื่องบินโชว์กับทหารหน้าประตูเท่านั้นถึงจะเข้าไปได้ และต้องเข้าในช่วงเวลาที่สมควร เช่นถ้าเที่ยวบินเวลาหกโมงเย็นแต่จะไปตั้งแต่แปดเก้าโมงนี่ในบางครั้งซึ่งเป็นส่วนใหญ่จะเข้าไม่ได้ เราเคยมีเที่ยวบินหัวค่ำแต่ไม่รู้จะไปไหนแล้วเลยไปสนามบินตั้งแต่เก้าโมงเช้าก็คือเข้าไม่ได้ ต้องไปนั่งรอที่เลาจ์ โชคดีเป็นสนามบินนิวเดลีเลยค่อนข้างมีพื่นที่มีห้องนั่งรอข้างๆ สนามบิน ดังนั้นต้องกะเวลาไปถึงสนามบินกันดีๆ
3. ไฟฟ้าของอินเดีย จะใช้ 220V ซึ่งเหมือนประเทศไทยแต่ก็ยังต้องพกปลั๊กแปลงไฟฟ้าไปเพราะรูปแบบปลั๊กจะต่างกัน ในบางที่อาจจะใช้เต้ารับที่เราสามารถเสียบปลั๊กได้เลยแต่ในหลายๆ ที่เช่นบนรถไฟ พื้นที่สาธารณะนั้นจะเป็นแบบดั้งเดิมแบบฉบับอินเดีย ดังนั้นเราจำเป็นต้องพกปลั๊กแปลงไฟไปด้วยไม่งั้นอาจจะใช้ไฟฟ้าไม่ได้นั่นเอง ซึ่งปลั๊กแปลงไฟฟ้าพวกนี้หาซื้อที่ไทยไปเลยจะดีกว่า
4. แอปพลิเคชันของจีนจะไม่สามารถใช้ได้ที่อินเดีย
ตรงตัวตามหัวข้อเลย เพราะทั้งสองประเทศไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่และช่วงล่าสุดที่เขาตึงใส่กันนั้นอินเดียก็แบนหลายๆ อย่างของจีนไปเยอะมากรวมถึงแอปต่างๆ ติ๊กต๊อกโดนเต็มๆ เราอาจจะยังสามารถดูได้บ้างแต่มันจะไม่ค่อยโหลดวิดีโอใหม่ๆ ให้เราดูและโพสต์ไม่ได้ แต่ถ้าอยากจะเล่นจริงๆ คือต้องโหลดพวกแอปวีพีเอ็น (VPN) เพื่อมุดวีพีเอ็นเล่นกัน นอกจากติ๊กต๊อกแล้วสายครีเอเตอร์ที่ใช้แอปตัดต่อจากจีน เช่น Capcat จะใช้เทมเพลตสำเร็จไม่ได้ ใช้คลังเพลงไม่ได้ต้องสร้างเองเพิ่มเพลงเองหมดเลยค่ะ
5. คนอินเดียใช้ภาษาอังกฤษได้แต่ไม่ใช่ทุกคน
จริงอยู่ที่ประเทศอินเดียนั้นเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี แต่ก็ยังมีคนที่ใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองที่ไม่ค่อยนิยม เราไปเมืองโมราดาบัดเพื่อไปหาเพื่อน หลายคนพูดไม่ได้เลยดังนั้นการสื่อสารก็จะยากนิดหนึ่ง
6. พาสปอร์ตไทยคือส่วนลดที่ใช้ได้จริงในบางสถานที่สำคัญ
ไทยนั้นจัดอยู่ใน BIMSTEC ความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจและประเทศที่อยู่ในส่วนนี้จะได้รับส่วนลดค่าเข้าในบางสถานที่ (โชว์พาสปอร์ตไทยตอนซื้อตั๋ว) เช่น ป้อมแดงที่เดลีจากราคาหลักร้อยรูปีเหลือราวๆ 50 รูปี ที่ทัชมาฮาล รวมไปถึงป้อมอัคราก็ลดได้ แต่ก็ลดได้บางที่นะ และในบางสถานที่ลดได้แต่เจ้าน้าที่ทำมึนใส่ ที่ป้อมอัคราพอเขาเฉยเราก็เลยคิดว่าตัวเองเข้าใจผิดและยอมจ่ายราคาเต็ม แต่ก็ต้องสังเกตด้วยนะว่าตัวเองเข้าถูกช่องมั้ย เพราบางสถานนี้เคาน์เตอร์จะแยกชัดเลยว่า For Indian, BIMSTEC, SAARC, foreigners ซึ่ง foreigners ก็คือ foreigners และ BIMSTEC ก็คือ BIMSTEC ไปเข้าช่อง foreigners และบอกว่า ไอแอมไทย เพื่อหวังซื้อในราคา BIMSTEC นั้นถ้าเจอคนใจดีไม่ตึง ชิลๆ เข้าก็อาจจะคิดราคาให้หรืออาจจะบอกให้ไปต่อแถวใหม่ที่ช่องของ BIMSTEC แต่บางคนคือไม่ได้เลย มองแรงหนึ่งกรุบแล้วบอกให้ไปเข้าช่องที่ถูก หรือบางคนก็เฉยไปเลย พอมาคิดๆ ดูตอนนี้ก็ไม่แน่ใจว่าที่ป้อมอัคราเราเข้าช่องถูกไหมทำไมพี่เขามึนและบอกราคาของ foreigners พี่แกตั้งใจบอกหรือเราเข้าผิดแล้วเขาไม่พอใจก็ไม่รู้
7. การให้เงินขอทานเป็นเรื่องน่ากลัวอันดับ 1 จริงหรอ?
เรื่องราวต่างๆ จะเรียงตามที่นึกออกไปที่ละเรื่องจะไม่ได้เรียงตามความสำคัญมากหรือน้อย เรื่องแรกที่เราคิดว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทุกคนจะเขียนลงไปบทความของพวกเขาเลยก็คือเรื่องของการให้เงินขอทาน จริงๆ มันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้นหรอกนะ เพียงแต่พอมีคนหนึ่งเจอแบบน่ากลัวแล้วบอกต่อๆ มันก็เกิดเป็นภาพจำที่ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าขอทานอินเดียนั้นน่ากลัว ซึ่งขออนุญาตว่ากันแบบตรงๆ เรื่องพวกนี้มันเบสิกมากนะ มันพื้นฐานของการประมวลความคิดเลยว่า "ถ้าอยู่ข้างนอกแล้วมีขอทานอยู่เยอะมันก็ไม่ควรให้อยู่แล้ว" มันก็เหมือนแม่ซื้อขนมให้ลูก ซื้อให้แค่คนเดียวแล้วอีกสามสี่คนจะไม่ร้องขอหรอก หลักการเดียวกันเลยถ้าเรารู้ว่าตัวเองอยู่ข้างนอกในสถานที่ที่คนเยอะ ขอทานเยอะให้รู้ไว้เลยว่าเมื่อมีคนกลุ่มได้ กลุ่มอื่นๆ จะอยากได้บ้าง ถ้าเราให้ทั้งหมดไม่ไหวก็ไม่ต้องให้เลยสักคน แต่ถ้าอยู่ในที่ที่มีขอทานไม่ได้เยอะ แล้วรู้สึกเวทนาอยากให้ ก็เหลียวมองซ้ายขวาก่อน ถ้าไม่มีขอทานอื่นก็ให้ได้ ขอทานอินเดียไม่ได้ประพฤติหยาบคาบดึงรังแขนเสื้อ หรือดักหน้าดักหลังไปซะทุกคนนะ บางคนเขาก็น่าสงสารและเข้ามาแบบนอบน้อมจริงๆ ถ้าอยากให้ก็ให้แต่ดูรอบๆ ด้วย ไม่อยากให้ก็แค่ปฏิเสธ เรากลับรู้สึกว่าขอทานอินเดียยังน่ากลัวน้อยกว่าไกด์เถื่อน และตุ๊กๆ ที่เล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวซะอีก อ่อ และอีกหนึ่งสิ่งที่น่ากลัวกว่าขอทานทั่วๆ ไปคือ "สาวประเภทสองของอินเดียที่มาขอเงิน" ค่ะ
8. ความเชื่อเรื่องสาวประเภทสองกับการให้พร
อันนี้ไม่ได้เหยียดเพศนะ เรามีเพื่อนสาวในไทยที่เป็นสาวสองเพียบเลย จะบอกว่าสาวสองในไทยน่ารักและน่าคบหาเยอะกว่าที่นี่มาก แต่อินเดียนะจะยังไม่ได้ยอมรับ lgbtq นะ ดังนั้นคนที่ชอบเพศเดียวกับจะเก็บไม่แสดงออกโจ่งแจ้ง ที่โจ่งแจ้งและได้ขอยกเว้นคือ "สาวประเภทสองที่ให้พร" แล้วมันน่ากลัวหรือต้องระวังยังไง คนกลุ่มนี้จะน่ารักเฉพาะกับคนที่ให้เงินเธอเท่านั้น เขาจะเข้าหาผู้คนในลักษณะ "การให้พร" ให้พรเสร็จก็ขอเงินพอไม่ให้ก็บอกว่าระวังจะโชคร้าย หนักสุดก็คือหันไปพูดกับชาวอินเดียแถวนั้นด้วยภาษาของเขาและพากันขำหนักมาก แต่เราถือคติถ้าฟังไม่รู้เรื่องก็ไม่ใช่เรื่องของเรา สำหรับเฉพาะสาวสองประเภทนี้นะที่เรารู้สึกว่าไม่น่ารักส่วนสาวสองทั่วไปก็ปกติเหมือนๆ สาวสองในบ้านเรานี่แหละ แต่อาจจะแสดงออกได้ไม่มากแบบบ้านเรา
9. เลี่ยงการเลือกไกด์ที่ไม่มีใบรับรอง
จะบอกว่าอันนี้มันยิบย่อยมากๆ เลยนะ มันมีหลายมุกแบบในแต่ละปีก็มีอัพเดตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่เราจะเจอบ่อยมากๆ ก็คือ "ฉันอยากเป็นเพื่อนกับคุย" มาทำดีมาพูดชม ยิ่งไกด์บางคนคุ้นเคยคนไทยมากๆ เขาจะรู้เลยว่าคนไทยชอบอะไรไม่ชอบอะไร เขารู้เราเยอะเลยเอาใจและเดาทางคนไทยออก แต่คนไทยบางคนรู้เขาน้อยเลยตามไม่ทัน เราอยากให้เลือกไกด์ที่มีไลเซนท์เพราะ ไกด์จะผ่านการอบรมหลายๆ อย่างมาแล้ว โดยเฉพาะการ CPR อันนี้เราดูจากเพื่อนเราที่ไปสอบเอาใบอนุญาตคือมันมีคลาสปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย โดยเฉพาะคนที่ไปทางเหนือ เขาสูงออกซิเจนน้อยหายใจไม่ออกหยุดหายใจขึ้นมาไม่มีใคร CPR ได้เลยนี่ขิตแน่นอนเลยนะ และไกด์ที่ไม่มีใบรับรองคือผิดกฏหมายในอินเดีย พวกนี้จะไม่อยากให้เราบอกใครว่าเขาเป็นไกด์เลยจะใช้มุกว่าอยากเป็นเพื่อน อยากเป็นเพื่อนจริงๆ อาจจะแค่ 20-30% แต่จริงๆ คือการว่าเป็นไกด์มันสุ่มเสี่ยง ถ้ามีเจ้าหน้าของรัฐของดูบัตรขึ้นมาไม่มีเขาก็จะซวยเอา ที่สำคัญพวกนี้ไม่มีเรทราคามาตรฐาน เรียกทิปสูง ตื้อไม่เลิก ลองสังเกตไกด์ที่มีใบรับรองที่ทัชมาฮาล เซย์โนแล้วจบไม่มีตื้อเลยนะ
10. การโดยสารตุ๊กๆ ก็มีทริคโกงสะบัดพอๆ กับไกด์เถื่อน
ทริคเยอะมากค่ะ เราจะบอกแบบย่อๆ ขั้นสุด ถ้าอยากอ่านตัวเต็มจะมีในอีบุ๊คนะคะ ที่เจอบ่อยสุดคือ "การโก่งราคาหลังเราขึ้นรถไปแล้ว" เน้นย้ำให้พยายามตกลงราคาและจุดหมายให้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนขึ้นรถ และถามด้วยว่าราคานี้คือโนทิปใช่ไหม บางคนราคาตามที่เราบอกจริงแต่ตกลงแค่ค่าโดยสารแต่ขอทิปเพิ่มทีหลังและขอเยอะด้วย มาจุกที่ค่าทิปก็บ่อยอยู่เหมือนกัน และบางคนจะชอบจอดรถเพื่อขอตกลงราคาและทิปใหม่ ออกแนวบังคับถ้าไม่ตกลงไม่ออกรถ อย่าไปยอมนะ เราให้ได้แค่ไหนก็ให้แค่นั้น แต่ถ้าเขาไม่ยอมไปต่อจริงๆ ให้เราถามเลยว่า สรุปจะไปต่อไหมหรือไม่ไปถ้าไม่ไปไอจะลง... ลงไปแล้วยื่นค่าโดยสารที่ตกลงวางบนเบาะแล้วบอกจะเอาก็ไม่เอาไม่เอาก็ตามใจได้เลย แต่จากที่ลองวัดใจมาสุดท้ายเขาก็ยอมขับไปต่อ ไม่กล้าให้เราไปหรอกเพราะตุ๊กๆ ที่พร้อมปาดหน้าลูกค้ากันมีเยอะ ต่อให้เจอ Sad Story ของเขาก็ต้องใจแข็ง ท่องไว้ว่าเราโอบอุ้มทุกคนบนโลกใบหน้าไม่ได้ เอ็นดูเขาเอ็นเราขาดขึ้นมามันไม่คุ้ม แต่ถ้าคุณงบสูงเงินหนาอยากช่วยก็ตามสะดวกได้เลย และการตัดสินใจไม่ช่วย จ่ายเท่าที่ตกลงหรือสมควรก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปที่คนไทยต้องรู้สึกผิด
11. การจ้องมองเป็นเรื่องปกติรวมถึงการถ่ายรูป
เรื่องการจ้องมองก็เป็นเรื่องปกติของที่นี่เรียกว่ามองกันจนเขินกันไปข้าง ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงเที่ยวคนเดียวที่มีเป๋ใบใหญ่ด้วยจะยิ่งเป็นจุดสนใจอย่างมากแล้วถ้าทำผมสีเจ็บๆ มาล่ะก็มันก็จะยิ่งทวีคูณการเป็นจุดสนใจเราซึ่งเป็นคนประเภทอินโทเวิร์ทไม่ชอบเป็นจุดสนใจ เราพยายามไม่แต่งตัวเยอะและไม่ทำสีผม ปกติชอบทำสีแต่เวลามาอินเดียจะย้อมกลับเป็นน้ำตาลแต่ก็ยังเด่นอยู่ดี ถูกรุมขอถ่ายรูป ขอเบอร์ ถามนู้นนี่นั้นเยอะมากถามหาความสงบคือหายากมากพยายามข่มใจเดินสู้สายตาที่จ้องมองมาวิธีลดความประหม่าของเราก็คือมองตรงเลยไปเลยสายตาที่มองมาทั้งหมด...มันก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งอะนะ ถามว่าเรื่องพวกนี้ถือว่าปกติไหม คือ "ปกติค่ะ" แล้วถามทำไมเขาถึงชอบมาขอถ่ายรูป คำตอบคือ แค่ความชอบ กระแสนิยม มันไม่ใช่ว่าสวยฮอตอะไรหรอกนะ (แต่บางคนก็สวยจริง) แต่ตอบเลยว่าส่วนมากเขามาถ่ายเพราะ "มันเป็นเทรนด์" เป็นความชอบของคนอินเดีย เราเคยถามว่ามาถ่ายทำไม คำตอบที่ได้ก็มี ที่ได้บ่อยมากจนคิดว่าเป็นคำติดปากของคนอินเดียเลยมั้ง คือ "คุณไนท์" พอถามไนท์ยังไง คำตอบที่เราได้เสมอเลยนะ หนึ่งคือ "ไนท์เพราะมีลักยิ้ม" รองลงมา คือ "ผิวดี" ก็งงนะเพราะสาวอินเดียหลายคนด็ผิวดีและมีลักยิ้ม นอกจากคุณไนท์ ก็มีอีกคำตอบที่ได้รับบ่อยมากคือ "จะเอารูปไปอวดเพื่อนว่าวันนี้ไปถ่ายรูปกับชาวต่างชาติมา" ว๊อชชชชชชช ก็ไม่เข้าใจเท่าไร แต่ก็อืมเอาที่สบายใจเลย แต่ในกรณีที่คุณเป็นสาวที่เอนจอยกับการแต่งตัวเซ็กซี่ให้หลีกเลี่ยงการถ่ายแบบถ่ายแค่ตัวคุณคนเดียว เพราะบางคนเขาเอาไปสำเร็จความใคร่ค่ะ อันนี้เพื่อนอินเดีย(ผช) เตือนเรามาทั้งๆ ที่เราไม่ได้แต่งตัวเซ็กซี่นะ
12. เรื่องที่ยากที่สุดในอินเดีย (สำหรับเรา)
เรื่องที่ยากที่สุดในอินเดีย สำหรับเราคือ "การข้ามถนนเป็นอะไรที่ยากมาก" หากเป็นเมืองหลวงอย่างนิวเดลีก็ไม่เท่าไรเพราะมีซับเวย์เยอะนะแต่ในต่างเมืองโดยเฉพาะเมืองชนบทข้ามยากมากเพราะรถเยอะมาก และหลักการข้ามของคนอินเดียคือเดินไปเลยเดี๋ยวรถมันหยุดเอง ฮืออออ... แล้วถ้ารถมันไม่หยุดขึ้นมาล่ะ ใจฉันไม่แข็งแรงเบอร์นั้น...สู้กับคนมันก็สู้ด้วยสกิลฝีปากแต่นี่มันรถยนต์นะ เราก็จะใช้การรอค่ะรอคนอินเดียคนอื่นมาแล้วเรียบๆ เคียงๆ ไปยืนข้างพวกเขาแล้วข้ามตาม ข้ามเองไม่รอดแน่ค่ะ เรื่องเดียวที่ยอมยกธงขาว
13 หลีกเลี่ยงการถ่ายรูปกับคนอินเดียที่อยู่ๆ ก็ขอให้เราถ่ายรูปแค่พวกเขา
เราสามาารถถ่ายรูปกับคนอินเดียได้อย่างอิสระไม่ต้องคิดมากแต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่เราต้องหลีกเลี่ยงเช่นกันนั่นก็คือกลุ่มคนที่อยู่ๆ ก็ขอให้คุณถ่ายรูปพวกเขาโดยใช้กล้องของคุณ เพราะพวกเขาจะเรียกเงินที่หลัง ประมาณว่าคุณมาถ่ายรูปเขาก็ต้องมีค่าจ้างให้ด้วย แต่วัฒนธรรมนี้มันมาจากการที่ช่างภาพหลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วยมักจะเสนอเงินให้เล็กน้อยเพื่อขอถ่ายรูป คือการที่พวกเขาทำแบบนั้นมันเป็นเพราะช่างภาพบางคนเขามีพอร์ตการขายภาพถ่ายเขาก็จะนิยมให้แต่ที่เราเคยดูจากช่องยูทูปและถามเพื่อนช่างภาพต่างชาติ ช่วงแรกที่มันเกิดค่านิยมแบบนี้ส่วนใหญ่เขาจะให้แค่หลักสิบรูปีนะแต่ในปัจจุบันคนที่มาในลักษณะนี้มักจะขอหลักร้อยเลยอย่างคุณป้าสองคนนี้ขอเราที่สามร้อยรูปี เราบอกว่าโน...เยอะเกินไป คุณป้าเลยบอกว่างั้นขอสองร้อย -..- ก็ยังเยอะอยู่นะ
14. ทำไมกาแฟสดของอินเดียถึงขมมาก?
เคยไปสั่งแบล็กคอฟฟี่ที่คาเฟ่หนึ่งถึงกับสตั้นไปเลย เพราะว่าขมมากแล้วใส่น้ำตาลจนคนในร้านมองหน้าก็แล้วก็ไม่หวาน ที่ร้านนี้เขาใช้เป็นกระปุกน้ำตาลวางบนโต๊ะก็เลยจับน้ำตาลเทใส่แก้ว เทเยอะมากแต่ก็ยังขมอยู่ดี ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าทำไมขมคิดว่าอาจเพราะเราไม่ใช่คอกาแฟดำตัวยงเลยขมพอกลับไทยก็ลองกาแฟดำก็ดื่มได้ปกติเลยทำการหาคำตอบที่ค้างคาใจว่าทำไมกาแฟดำของอินเดียถึงขมกว่าปกติ ก็ได้คำตอบว่า เมล็ดกาแฟของอินเดียนั้นขึ้นชื่อว่าหอมเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแต่ในขณะเดียวกันมันก็จัดว่าขมเป็นอันดับ 2 ของโลกเช่นกัน ( ข้อมูลปี 2559 ) ที่มันขมและหอมมากก็สืบเนื่องมาจากดอกชิโครี โดยกระบวนการการคั่วเมล็ดกาแฟของอินเดียจะคั่วเมล็ดกาแฟกับดอกชิโครีเพื่อให้ได้มาซึ่งความหอมที่ตราตรึงแต่ทว่ามันก็แลกมากับความขมที่ขมเกินต้าน ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าเป็นเหล่าคอกาแฟดำตัวยงจะไหวกับความขมของมันไหม เราก็ตั้งใจว่าจะกลับไปลองไหม เพราะปัจจุบันดื่มกาแฟดำได้ปกติมาก
15 เมนูน้ำแข็งเป็นเรื่องยุ่งยากของที่นี่
หลายคนชอบบอกว่าคนอินเดียไม่กินน้ำแข็ง ก็ใช่แหละแต่ไม่ใช่ไม่มีนะแค่ส่วนมากมันจะเป็นเมนูปั่น ไม่ใช่เครื่องดื่มที่ใส่น้ำแข็งก้อนลงไปจะเป็นเมนูที่แช่เย็นไว้แล้วแล้วเอามาเทใส่แก้วหรือปั่นรวมกับน้ำแข็ง เช่น ถ้าสั่งกาแฟเย็นก็คือกาแฟปั่นหรือก็คือคอฟฟี่มิลล์เชก หรือน้ำมะพร้าวเย็นๆ ก็คือน้ำมะพร้าวที่แช่เย็นไว้แล้วไม่ใช่มะพร้าวที่ใส่น้ำแข็งมาในแก้ว
16. เวลาของมื้ออาหารจะต่างกับไทย
บางคนไปอินเดียแล้วก็บ่นอุบว่าหิวมาก จะหาร้านอาหารเช้าที่ไหนได้บ้าง ตอบเลยถ้าจะทานตามเวลามื้อเช้าของไทย เซอร์วิชรูมที่โรงแรม/ที่พักได้เลย ที่อินเดียก็แบ่งเป็นสามมื้อแบบไทยแต่เวลาของแต่ละมื้อจะไม่เหมือนไทยที่อินเดียมื้อเช้าจะเริ่มตอน 11.00 น. ส่วนมื้อบ่ายตามภาษาอังกฤษคือ Lunch ที่แปลว่ามื้อบ่าย บ่ายก็คือบ่ายไม่ใช่เที่ยง ดังนั้นมื้อบ่ายของคนอินเดียจะเริ่มช่วงบ่าย และบ่ายของเขาคือเริ่มตั้งแต่ 15.00 น. และขอบอกว่าบ่ายสามนี่สำหรับบางคนคือยังเร็วไปเลยนะ ครอบครัวแฟนเรามื้อบ่ายของเขาคือสี่โมงเย็น ส่วนมื้อเย็นตามคำว่า Dinner และคำนี้มัน หมายความว่ามื้อค่ำ ดังนั้นมื้อเย็นของอินเดียจะเริ่มหลังสามทุ่มเป็นต้นไป เราเคยเดินแบบสุ่มๆ ร้านในนิวเดลีตอนสองทุ่มหลายร้านยังตั้งร้านไม่เสร็จเลยค่ะ
17. สลัดของอินเดียคือผักเครื่องเคียง
บอกไว้ก่อนสำหรับใครที่เอียนแป้ง เบื่อแกง กินเกี๊ยวทุกวันจนเลี่ยนไปหมดเลยคิดจะลองสั่งสลัดมาทาน สลัดของอินเดียถ้าเทียบกับผักในบ้านเรามันจัดอยู่ในเครื่องเคียงหรือผักแกล้มค่ะ ไม่มีมายองเนสหรือครีมสลัด แค่ผักชนิดตามที่เราสั่ง เช่น สั่งสลัดมะเขือเทศก็คือมะเขือเทศหั่นเป็นแว่นมาให้ สลัดแตงกวาก็คือมีแต่แตงกวา ถ้าสลัดธรรมดาก็คือหอมแดง มะเขือเทศหั่น แตงกวาหั่น พริก บางทีอาจให้กระเจี๊ยบมาด้วย ใครชอบทานผักเพรียวๆ ก็รอด ใครไม่ไหวอาจจะสตั้นไปเลย ถ้าอยากกินสลัดแบบมีซอสมีครีมอาจต้องไปหาร้านอาหารอิตาเลี่ยน หรือร้านพิซซ่าอะไรแบบนี้
18. ใครว่าอินเดียไม่มีร้านค้าสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชม.
หลายคนหลายบทความบอกว่าอินเดียไม่มีเซเว่นในมุมคนคือไม่มีร้านที่เปิด 24 ชม. คนไทยจะติดภาพจำว่าร้าน 24 ชม. ก็ต้องเซเว่น และใช่ค่ะอินเดียไม่มีเซเว่นแต่ไม่ใช่ไม่มีร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมงที่อินเดียมันขื่อร้านว่า 247 ทเว้นตี้โฟร์เซเว่น เป็นมินิมาร์ทที่เปิดตลอดเวลาแบบเซเว่นบ้านเราเลยค่ะ แต่ข้อเสียคือมันไม่มีทุกมุมเมืองแบบบ้านเรา หากเราอยู่ในเมืองที่เจริญเช่นนิวเดลี ครุเครา หรือนอยด์ดาเราก็จะพบเจอมันง่ายกว่าเมืองอื่นๆ แต่ไม่ใช่ในเมืองอื่นไม่มีนะคะ
19. ดีลลดราคาที่พักผ่านเว็บต่างๆ อาจสร้างปัญหาให้คุณได้
เราเป็นลูกค้าชั้นดีของเว็บบุ๊กกิ้งดอทคอมค่ะ แล้วได้ลดราคาโหดมาก เมื่อปลายปีที่แล้วได้ทั้งเปอร์เซ็นลดราคาจากการที่ใช้บ่อยแรงก์เลยสูงมีเปอร์เซ็นต์ลดยืนพื้น 15% เจอแคมเปญลดราคาสิ้นปีได้ลดรวมกันทั้งหมดเกือบครึ่ง แต่ผู้ประกอบการอินเดียไม่ใจขนาดนั้นค่ะ ปฏิเสธการเข้าพักเกลื่อนโดยบอกว่าให้ราคนี้ไม่ได้ เอ้า...แล้วฉันผิดอะไรล่ะ แอปมันโชว์แบบนี้ ถูกปฏิเสธและบอกว่าถ้าอยากพักจ่ายเพิ่มมา ที่พักสุดท้ายก่อนกลับไทยขอเปิดอกคุยกับพนักงาน และเเขาก็บอกว่าราคานี้ที่เขาคุยกับผู้จัดการของเขาเขาก็ไม่อยากให้แต่ไม่อยากปฏิเสธลูกค้าเช่นกัน ไม่รู้ว่าว่าต้องโทษใครแต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราจองที่พักผ่าน airbnb แทน ( แต่ก็ต้องเลือกโฮสดีๆ นะ )
20. มีแอปติดตามสถานะรถไฟแบบเรียวไทม์นะ
อีกหนึ่งเหตุผลที่เราชอบรถไฟอินเดียมากก็คือเขามีแอปติดตามสถานะรถไฟแบบเรียลไทม์ ชื่อแอปคือ Train Ticket App - RailYatri ภายในแอปนี้เราจะสามารถเช็กได้ทั้งแพลตฟอร์มของรถไฟที่เราต้องไปขึ้น รถไฟจะดีเลย์หรือไม่ มาถึงหรือออกจากสถานีใดในขณะนั้นและจะมาถึงคุณในเวลาประมาณเท่าไร แอปสามารถบอกได้ทั้งหมดเลย รวมถึงสามารถออเดอร์อาหารได้ด้วย และอีกหนึ่งแอปที่คนอินเดียนิยมใช้ก็คือแอป ixigo train การใช้งานภายในแอปก็ทำได้เหมือนกับ RailYatri เลยค่ะ ใครบอกอินเดียล้าหลัง จากประสบการณ์ที่ไปมานั้นกล้าพูดว่าไม่ใช่แบบที่คนไทยคิดเลย มันดีกว่าคิดด้วยซ้ำ
หยิบเอาออกมาแชร์เพียง 20 ข้อเท่านั้นนะคะ ทั้งที่พวกเรื่องที่เที่ยวที่กิน เจอเรื่องราวต่างๆ นานายังมีอีก หากใครอยากอ่านแบบเต็มๆ ครบ 100 เรื่องสามารถดาวน์โหลด Ebook ได้ ซึ่งจัดโปรลดราคาแค่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2024 เท่านั้น หรือติดตามเรื่องราวของเราแบบเรียมไทม์ก็สามารถตามได้ที่ twitter ที่ Artinime หรือ Facebook เพจ แบกกล้องชิวเที่ยวไปเรื่อย ได้เลยค่ะ
หญิงเถื่อน Solo Traveler
วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เวลา 17.36 น.