สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน ทั้งท่านที่ติดตามตลอดและท่านที่แวะเวียนมาทักทาย ถามตอบกันเป็นประจำ ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านด้วยนะครับ ^ ^


พบกันทีไรผมก็จะมีสถานที่ต่างๆมาฝากท่านผู้อ่าน สำหรับครั้งนี้จะเป็นแนวเข้าวัดเข้าวา (ดีกว่าเน๊อะ) ^ ^ เนื่องด้วยช่วงนี้กระผมอยู่ในช่วง relaxing (ว่างงาน) และรับจ๊อบ รับ-ราชการ (รับส่งแม่บ้าน) อาศัยช่วงเวลาที่รอรับแม่บ้านเลิกงาน ไปเก็บภาพวัด ในจังหวัดอุบลฯ มาฝากทุกท่านครับ


วัดพระธาตุหนองบัว

วัดพระธาตุหนองบัว เป็นวัดราษฎร์ นิกายธรรมยุต อยู่อำเภอเมืองอุบลราชธานี ห่างจากศาลากลางจังหวัด ไปทางด้านทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร บนถนนธรรมวิถี แยกจากถนนชยางกูร ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 500 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2498 มีพื้นที่ทั้งหมด 50 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง ของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษของพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2500 (ข้อมูลอ้างอิงจาก: http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=20&d_id=8)


พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์นั้น ได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้ว ซึ่งทั้ง 4 มุม ของกำแพงแก้ว ได้ประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กอีก 4 องค์ ภายในองค์พระธาตุมีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน

พระธาตุองค์เดิมมีขนาดกว้างด้านละ 5 เมตร สูงประมาณ 17 เมตร เมื่อสร้างใหม่ครอบองค์เดิม คือพระบรมธาตุที่เห็นในปัจจุบัน มีขนาดใหญ่มาก ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร สูง 56 เมตร เสร็จสมบูรณ์ในปี 2512
(ข้อมูลอ้างอิงจาก: http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=20&d_id=8)

ภายในพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์


ด้านหลังของพระบรมธาตุ เป็นที่ตั้งของศาลาการเปรียญ ซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี กลุ่มของฆราวาสจะรวมกันอยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นกุฏิที่สร้างอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งเป็นป่าโปร่ง ส่วนกุฏิของแม่ชี จะแยกพื้นที่ไปอย่นอกวัด




รอบนอกของศาลาการเปรียญ


ทุกวันๆจะมีพุทธศาสนิกชนแวะเวียนมา สักการะพระธาตุอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะช่วงวันหยุด หรือวันสำคัญทางศาสนา

นับเป็นอีกหนึ่งวัดที่สำคัญในจังหวัดอุบลราชธานี หากท่านใดมีเวลาว่างหรือมีธุระเข้ามาในตัวจังหวัดก็สามารถแวะสักการะองค์พระธาตุได้นะครับ



วัดทุ่งศรีเมือง

วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่เลขที่ 95 ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ทางทิศตะวันออกของ ทุ่งศรีเมือง ใกล้กับสถานที่ราชการ คือ ไปรษณีย์โทรเลข สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี

มีเนื้อที่ 19 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวาสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2356 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ข้อมูลอ้างอิงจาก: http://www.dhammathai.org/watthai/northeast/watthoongsrimuang.php

เดิมทีผมจะแวะวัดป่าใหญ่ แต่ขับวนหาที่จอดรถเหมาะๆไม่ได้ อันที่จริงก็มีที่จอดนะครับ แต่ผมเป็นคนกลัวที่แคบครับ555 ยิ่งเป็นช่วงสายๆ ที่จอดรถหน้าวัดจะเต็ม เลยเปลี่ยนแผนเป็นวัดทุ่งศรีเมืองแทน ไฮไลท์ของที่นี้คงจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก หอไตรกลางน้ำ ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก คือ คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ มากมาย ส่วนมากเป็นหนังสือใบลานจารึกด้วยอักษรธรรมและสมุดข่อย ไม่ให้แห้งและกรอบและเพื่อกันปลวก มิให้ทำลายพระไตรปิกฎให้เสียหาย


ข้อมูลอ้างอิงจาก: http://www.dhammathai.org/watthai/northeast/watthoongsrimuang.php

ทั้งนี้ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำ คัญมากมาย อาทิ พระอุโบสถหรือหอพระพุทธบาท พระพุทธบาทจำลอง พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง และศาลาการเปรียญวัดทุ่งศรีเมือง ผมมาถึงวัดฝนก็เริ่มลงเม็ดใหญ่ ยังมีภสถานที่สำคัญในวัดหลายจุดที่ไม่ได้เก็บภาพ ต้องขออภัยท่านผู้อ่านด้วยนะครับ เอาไว้เก็บเป็นเซอร์ไพรส์ให้ท่านผู้อ่านไปชมด้วยตนเอง นะครับ ^ ^

*** การเดินทางก็ไม่ยากครับ วัดทุ่งศรีเมืองจะอยู่ทางทิศตะวันออกของ ทุ่งศรีเมือง ใกล้กับสถานที่ราชการ คือ ไปรษณีย์โทรเลข สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี หรือ ตรงข้ามกับวัดมณีวนาราม(วัดป่าน้อย)


วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่)

วัดมหาวนาราม เดิมชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ นิยมเรียกว่า วัดป่าใหญ่ เป็นพระอารามหลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่บนถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

พ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดมหาวัน หรือ วัดป่าใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งตามสมัยนิยมเรียกว่า วัดมหาวนาราม ความหมายของวัด ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม คือ แปลว่า ป่าใหญ่ ข้อมูลอ้างอิงจาก: https://th.wikipedia.org/wiki/วัดมหาวนาราม

วันที่สองของการไปวัดของผม คราวนี้ผมรีบบึ่งรถอย่างไวเพื่อไปที่วัด ไปถึงวัดประมาณ 08.30น. ผมจอดรถไว้อีกฝั่งของวัดตรงข้ามกับ รพ.สรรพสิทธิ์ฯ แล้วเดินเท้ามาอีกหน่อยก็ถึงวัด ผู้คนยังไม่เยอะครับ อาจจะด้วยสภาพอากาศด้วย แต่ผมชอบแบบนี้นะไม่ร้อนด้วย ^ ^

สำหรับ วัดมหาวนาราม หรือ วัดป่าใหญ่ หลายท่านคงจะนึกถึง องค์พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยลักษณะศิลปะแบบลาว ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 3 เมตร สูงจากเรือนแท่นถึงเปลวพระโมลี 5 เมตร ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ตามศิลาจารึกอันฝังอยู่ที่แท่นเบื้องหลังแห่งองค์พระประธาน ปรากฏว่า วัดมหาวนาราม สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2363 โดยพระพรหมวรราชสุริยวงษ์ เจ้าเมืองคนที่ 2 เป็นผู้สร้าง หลังจากนั้นอีก 1 ปี พระมหาราชครูศรลัทธรรมวงศา เจ้าอาวาสพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ได้สร้างพระพุทธรูปองค์ประธาน ถวายพระนามว่า "พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง" ถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของพี่น้องชาวจังหวัดอุบลฯ และใกล้เคียง ข้อมูลอ้างอิงจาก: http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=55&d_id=55

สำหรับท่านที่ชอบทำบุญ ที่ไม่ได้เตรียมดอกไม้หรือสิ่งของสำหรับบูชามาด้วย ใกล้ๆกับศาลาการเปรียญมีดอกไม้ ธูปเทียน ขันธ์ห้า ฯลฯ ไว้ให้ท่านสามารถบูชาได้ครับ


ตักบาตรประจำวันเกิด

ปิดทองลูกนิมิต


เอาล่ะครับเดินชมวัด ซะพักใหญ่ผมก็เริ่ม รู้สึกร้อน ไม่ใช่ร้อนพระเข้าวัดไม่ได้นะครับ555 เพราะฟ้าเริ่มเปิด แสงแดดแยงตา ฝนเนี๊ยเข้าก็รู้หน้าที่มาก ตกตอนเช้าหยุดสาย แล้วมาตกอีกตอนเลิกงาน ฮ่าๆ

สำหรับท่านใดที่ยังไม่เคยมาสักการะ หลวงพ่ออินทร์แปลง หรือ ที่กำลังมองหาที่พักผ่อนจิตใจ,ทำบุญใกล้ๆบ้าน ผมแนะนำมาที่วัดมหาวนาราได้เลยนะครับ ^ ^


วัดบูรพาราม

วัดบูรพาราม ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี แต่เดิมที่ตั้งของวัดบูรพานั้น เป็นหมู่บ้านแสนตอ หมู่ที่ 6 ตำบลปทุม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ.2525 ทางเทศบาลได้ขยายเขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี วัดบูรพาจึงอยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี

ตามประวัติวัดบูรพา ไม่มีท่านผู้ใดเขียนไว้ชัดเจน จึงได้อาศัยแต่คำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น ซึ่งท่านก็เล่าว่า แต่เดิมนั้นที่ดินตรงนี้เป็นป่าไม้โสงเสง (ภาษาอีสาน) ซึ่งหมายถึงป่าโปร่ง เป็นที่อยู่ของสัตว์หลายชนิด ผู้คนไม่ค่อยเข้าไป จึงเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม หลวงปู่ทาสี หลวงปู่เสาร์ ได้ไปปฏิบัติธรรม ขณะนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์

ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2458 หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทราบข่าว จึงได้เดินทางมาจาก วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และปฎิบัติธรรมอยู่ที่วัดบูรพา และเมื่อเจ้ากรมหลวงสรรรพสิทธิประสงค์ ได้บริจาคทรัพย์และที่ดิน ให้สร้างวัดบูรพา จึงเป็นต้นกำเนิดสายวิปัฏนากรรมฐาน พระเกจิอาจารย์ต่างๆ ทั่วประเทศได้มาปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้

ข้อมูลอ้างอิงจาก: http://place.thai-tour.com/ubonratchathani/mueangubonratchathani/16

ถ้าจะให้พูดจริงๆ ผมเจอวัดบูรพา โดยบังเอิญครับ จริงๆผมจะไปวัดใต้ฯ แต่ด๊านนน! หลังทางเสียนี้ ฮ่าๆๆ เป็นคนอุบลเสียเปล่า ขับรถวนอยู่หลายรอบจนถอดใจ กะจะกลับแล้ว ขับรถเลาะตามซอยมาจนถึงที่ไหนก็ไม่รู้ อันนี้พูดจริงๆ ตอนเขียนนี้ก็ยังนึกไม่ออก จำได้แต่ว่ามาหยุดรถที่หน้าซุ้มประตูหน้าวัดแล้ว

ผมจอดรถไว้ด้านนอก แล้วเดินเท้าเข้ามาที่วัด ในหัวก็คิดแต่ว่าเราเข้ามาทำไมหนอ หิวข้าวก็หิว พร้อมกับตบยุงไปตลอด ฮ่าๆ ระหว่างนั้นก็กวาดสายตาไปรอบๆวัด ใจหนึ่งก็กลัวด้วย เพราะบางที่ท่านห้ามถ่ายภาพ ผู้คนที่มาในวัดก็มองผมแปลกๆคิดในใจว่าเรากลับดีกว่าไหม ไม่น่ามีอะไร จังหวะที่หันกลับพอดีผมเจอกับ กุฎิเรือนไทย ขนาดใหญ่ เข้าจังๆ ความรู้สึกตอนนั้นมัน อเมซิ่งมากๆ ผมเองก็ไม่รู้หรอก ว่า ด้านในจะมีอะไร แต่ตอนนี้สายตาผมยังไม่ล่ะจากสิ่งที่เห็น ถามตัวเองว่าท่านจะยอมให้เก็บภาพไหมน้อ เลยกะว่าจะขอท่านเก็บภาพด้านนอกคงไม่เป็นไร (ใจก็ยังหวั่นๆกลัวท่านจะว่าเอา)

บริเวณด้านนอก



ขณะที่ผมกำลังเพลิดเพลินกับการเก็บภาพด้านนอก ผมก็ได้ยินเสียงหนึ่งมาจากด้านหลัง "โยมไปถ่ายข้างบนกุฏิได้นะ" โอ้ มันเป็นเหมือนเสียงสวรรค์เลยครับตอนนั้น ผมรีบกราบขอบพระคุณพระอาจารย์ แล้วไม่รอช้า รีบเข้าไปด้านใน ไม่ทันระวัง ลื่น เกือบหัวฟาดพื้น เฮ้อ!!! อนาถใจกับตัวเอง ผมต้องตั้งสติอยู่พักใหญ่ แล้วพนมมือบอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วค่อยเดินช้าๆอย่างระมัดระวัง

บรรยากาศภายในกุฏิร่มรื่นมาก และเงียบสงบ ได้ยินเพียงเสียงกาต้มน้ำที่เดือด กับเสียงพัดลมตัวน้อย ผมเองไม่รู้ว่าจะถ่ายมุมไหนดี เพราะดูมุมไหน ก็สวยไปหมด ^ ^

ผมนึกถึงละคร ฉากที่มีบ้านขุนนางในสมัยก่อนเลยครับ

ผมใช้เวลาเก็บภาพ ส่วนใหญ่หมดไปกับการ เก็บภาพกุฏิเรือนไทย จนลืมไปว่าภายในวัดยังมีสถานที่สำคัญอีกมาก อาทิเช่น วิหารเก่าอายุเก่าแก่ หอไตรบกคู่ ซึ่งผมมารู้ที่หลังตอน ค้นหาประวัติวัด ถ้าใจเย็นสักนิด เดินให้ทั่ว ก็จะไม่พลาดแบบนี้ นั้นล่ะครับพระท่านถึงบอกเราว่า ควรมีสติอยู่เสมอ ฝากท่านผู้อ่านไปเก็บภาพมาฝาก อีกเช่นเคยด้วยนะครับ ^ ^



วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ (วัดใต้เทิง) หรือวัดใต้ เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี มีเนื้อที่ตั้งวัด 9 ไร่ 40 – 3 – 10 วา อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำมูล ทางด้านทิศตะวันออก สถานที่ใกล้เคียง สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาค 2 อุบลราชธานี และโรงเรียนเทศบาลบูรพาอุบล
ข้อมูลอ้างอิงจาก: http://www.touronthai.com/วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ-62000048.html


ประวัติพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ "พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เมตตรัยสัทโธ"

พระพุทธประธานในพระอุโบสถนามว่า พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 85 นิ้ว (รวมฐาน) ได้รับการยกย่องมาว่า เป็นพระพุทธรูป ที่งดงามในประเทศไทยและภาคอีสานเป็นพระประธานองค์ศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ตามประวัติในประเทศไทย มีอยู่ 5 องค์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ครองนครเวียงจันทร์ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เดิมประดิษฐานอยู่บนแท่นพระอุโบสถหลังเก่า ฐานรองรับสูง 70 เซนติเมตร สร้างแบบง่ายๆ ภายหลังอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรม พระเจ้าองค์ตื้อจึงอยู่กลางแจ้ง ตากแดด ตากฝน เป็นเวลานานทำให้องค์พระพุทธรูปองค์ตื้อมีรอยแตก เป็นสะเก็ดออกมา ผู้เฒ่าผู้แก่ สมัยปู่ย่าตาทวดได้บอกเล่าสืบต่อกันมาว่า

พระพุทธรูปองค์ตื้อนี้ได้ถูกหุ้มห่อทาปอมพอกเอาไว้พอกด้วยเปลือกไม้ ยางบด ผสมผงอิฐเจ และทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ เงิน รางกาชาดซะพอก ให้น้ำเกลี้ยง น้ำชาดผสมทาปอมพอก แล้วลงรักปิดทองที่เข้าเมืองอุบลราชธานี และเถราจารย์ในสมัยนั้น เพราะเป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ ซึ่งองค์พระพุทธรูปเป็นทองแท้สัมฤทธิ์กลัวว่าจะถูกข้าศึกศัตรูขนเอาไป จึงได้ทาปอมพอกปิดเอาไว้ และปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างนานถึง 200 ปี..."
ข้อมูลอ้างอิงจาก: http://www.touronthai.com/วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ-62000048.html

น่าเสียดายครั้งนี้ที่ผมไม่ได้ไปสักการะหลวงพ่อท่าน ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ได้เก็บภาพแค่บริเวณภายนอกวัดเท่านั้น ครั้งหน้าผมจะหาโอกาศไปสักการะท่านให้ได้

บรรยากาศภายในวัด ครับ

ภายในวัดมีรูปปั้นพระพุทธรูป และเทพยดา มากมาย ในภาพนี้คือ ท้าวเวสสุวรรณ

ริมทางเดิน ข้างพระอุโบสถ

ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์น่าสนใจอีกมากมาย ภายในวัดครับ ผมยังเดินไม่ทั่วเลย ^ ^

กราบพระก่อนกลับครับ ^ ^


วัดสุปัฏนารามวรวิหาร

วัดสุปัฏนาราม สร้างในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยได้เริ่มสร้างวัดในปี พ.ศ.2393 และสร้างเสร็จ พ.ศ.2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "วัดสุปัฏนาราม อันหมายถึง วัดที่มีสถานที่ตั้งเหมาะสมเป็น ท่าเรือที่ดี "
ข้อมูลอ้างอิงจาก: http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=24&d_id=4

พระอุโบสถวัดสุปัฏรารามวรวิหาร ตัวพระอุโบสถที่สร้างขึ้นแต่ดั่งเดิม สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ซึ่งพระอุโบสถหลังเดิมนั้น มีความยาว 11 วา 2 ศอก กว้าง 8 ในขณะนั้น เสาไม้แก่นก่ออิฐโอกเสา หลังคาลดเป็น 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องไม้ มีช่อฟ้าใบระกาประดับกระจก หน้าบันด้านตะวันออกสลักลายเครือ ตะวันตกสลักลายดอกไม้ พื้นถมดินปูด้วยกระเบื้องดินเผา ต่อมาได้บูรณะพระอุโบสถหลังเก่า และการก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2479 สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ 70,000 บาท ข้อมูลอ้างอิงจาก: http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=24&d_id=4

ผมมาถึงวัดสุปัฏนาราม ประมาณช่วงเที่ยง ที่จอดรถเต็ยาวเหยียดจนไม่มีที่จอด เลยตัดสินใจจอดต่อกันเลย (อันนี้เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีนะครับไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง) ฮ่าๆ แดดเริ่มร้อนมากแล้วผมเลยคิดว่าจะอยู่ที่ไม่นาน เลยไม่ใช่ปัญหาเวลาคนอื่นเค้าจะถอยออก ผมค่อยมาเลื่อนรถให้ ^ ^

ครั้งนี้ผมไม่ลืมที่จะเข้าไปนมัสสการ พระประธานในพระอุโบสถ ก่อนเป็นอันดับแรก ในพระอุโบสถเย็นสบายมากครับ ผมเองก็เกือบเผลอหลับครับ ^ ^

ภายในพระอุโบสถ

หลังจากไหว้พระเสร็จแล้ว ก็ไปให้อาหารปลากันครับ อ๋อ ให้นกพิราบด้วยนะครับ เดี๋ยวเขางอน ^ ^

ช่วงนี้เป็นช่วงพักเที่ยง จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นน้องๆนักเรียนวิ่งเล่นกันจ้าละหวั่น ^ ^

ผมเองก็พลอยสนุกไปกับพวกเขาด้วย นึกแล้วอยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ^ ^

วัดสุปัฏนารามเป็นอีกวัดที่น่าสนใจในจังหวัดอุบลฯ ครับหากมีเวลา หรือมาทำธุระที่ตัวจังหวัดก็สามารถแวะ สักการะ ทำบุญได้ครับ

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนวัดสุปัฏน์ อ. เมือง จ.อุบลราชธานี ( ริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งไหลผ่านทางทิศใต้ของตัวเมืองอุบลราชธานี ) ใกล้กับ วท.อาชีวะศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี


วัดหนองป่าพง

วัดหนองป่าพง เป็นวัดป่าฝ่ายอรัญวาสี มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 โดยพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) ต่อมาได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2517 ตั้งอยู่ บ้านพงสว่าง หมู่ที่ 10 ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันวัดหนองป่าพงมีวัดสาขาทั้งในและต่างประเทศไทยจำนวนมาก จากการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาสาย
วิปัสนากรรมฐาน โดยบรรดาพระลูกศิษย์ซึ่งศรัทธาในปฏิปทาของหลวงปู่ชา สุภทฺโท

วัดหนองป่าพงกำเนิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง เมื่อหลวงปู่ชาพาคณะเดินทางมาถึงดงป่าพงอันหนาทึบ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก่อ บ้านเกิดของหลวงปู่ ประมาณ 2-3 กิโลเมตร ในวันนั้นคณะธุดงค์ได้ไปปักกลดค้างแรมที่ริมหนองน้ำชายป่า ข้อมูลอ้างอิงจาก: https://th.wikipedia.org/wiki/วัดหนองป่าพง

ป้ายการปฏิบัติตัวเมื่อเข้ามาภายในวัด

วันที่3 ของการเข้าวัดของผม มาถึงที่นี่ตอนแปดนาฬิกาเช่นเคยครับ ขับรถออกจากตัวเมืองไม่กี่อึดใจก็ถึง ผมจอดรถไว้ที่ตลาดด้านนอก กลัวว่าข้างในจะไม่มีที่จอดหรือไม่ก็อาจจะสร้างเสียงรบกวนแก่วัด แต่อันที่จริงเอาเข้ามาจอดในวัดได้ครับ ยิ่งถ้าท่านผู้อ่านมาแต่เช้าเลือกที่จอดได้สบายครับ ที่จอดรถภายในวัดค่อนข้างกว้าง

วันที่สาม ผมไม่รีบครับ เพราะสองวันที่ผ่านมานี่ รีบไปไหนก็ไม่รู้ ฮ่าๆ ตั้งจุดหมายว่าจะเดินไปที่เจดีย์หลวงพ่อเลย ระหว่างทางก็จะเก็บภาพไปเรื่อยๆ ^ ^

เนื่องจากเมื่อคื่นฝนตกหนัก ตอนเช้าที่นี่เลยชุ่มฉ่ํา เย็นสบาย ได้ยินเสียงไก่แจ้ ประกอบกับ เสียงนก เสียงแมลงร้องระงมไปทั่ววัด แต่ต้องระมัดระวังด้วยนะครับพื้นถนน ค่อนข้างลื่นพอสมควร ^ ^

ถ้าเราม่รีบ ระหว่างทางเดินมีแมลงตัวเล็กและดอกไม้ และเห็ดสวยๆ ให้เราเก็บภาพได้นะครับ ^ ^


บางครั้งความเงียบ ก็ทำให้เรามรเวลาคิดทบทวนเรื่องราวหลายๆอย่างนะครับ ^ ^




นอกจากแมลง ดอกไม้ ตามต้นไม้ ยังมีป้ายคำสอนของหลวงพ่อให้ผมหยุดอ่านตลอดทาง



เพื่อการปฏิบัติธรรม วิปัสสนากรรมฐาน ที่วัดจึงมีป้ายบอกจุดที่ญาติโยมเข้าไปได้จุดไหนห้ามเข้า ซึ่งถ้าไม่มีกิจธุระจำเป็นกับพระสงฆ์จะห้ามไม่ให้เข้าไปรบกวน

ในที่สุดก็มาถึงเจดีย์หลวงพ่อ แล้วครับ ^ ^

เจดีย์พระโพธิญาณเถร

เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสาน ระหว่างสถาปัตยกรรมอีสานกับ ล้านช้าง ส่วนองค์เจดีย์เป็นบัวเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานกลม ซึ่งเป็นอาคารโบสถ์ มีทางเข้าสี่ทิศ โดยศิษยานุศิษย์หลวงปู่ชา สุภทฺโท ได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิหลวงปู่ชา สุภทฺโท

ภายในเจดีย์บรรจุอัฐิหลวงปู่ชา สุภทฺโท มีประชาชนแวะเวียนมาสักการะอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะช่วงวันหยุด

บรรยากาศภายนอกเจดีย์ฯ

พักเหนื่อยเสร็จแล้วผมจึงเดินต่อไปอีกเพื่อไปยัง พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร ซึ่งถ้าตอนเข้ามาจะอยู่ตรงทางเข้าพอดี แต่ผมตั้งใจจะมาที่เจดีย์หลวงปู่ก่อน


เป็นอาคารสามชั้นทรงไทยประยุกต์ มีโถงบันไดอยู่ตรงกลาง ชั้นล่างมีตู้แสดงโครงกระดูกมนุษย์อยู่สองข้าง ชั้นสองจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด และชั้นสามประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าจริงของหลวงปู่ชา ในท่านั่งอยู่บนเก้าอี้หวายและเครื่องอัฐบริขารของท่าน



ภาพวาดใน พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร เป็นภาพที่ผมหยุดดูนานที่สุด..


ขอจบทริปนี้ ด้วยคำสอนของหลวงปู่นะครับ "เราทำตามกิเลส มากี่ปีแล้ว?"




ขอขอบพระคุณท่านผู้อ่านทุกๆท่าน ที่ติดตามด้วยดีมาโดยตลอด สำหรับทริปนี้ ขออำนวยอวยพร เอาบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และบารมีหลวงพ่อทุกองค์ จงดลบรรดาลให้ทุกท่านจงมีแต่ความสุขความเจริญตลอดไปด้วยเทอญ.


แล้วพบกันใหม่ครับ ^ ^


อุปกรณ์ที่ใช้ในการบันทึกความทรงจำในครั้งนี้

  • รถยนต์ 1 คัน (TOYOTA YARIS 2014)
  • Nikon D90,D610,Fuji XE-1 Lens: Sigma10-20 f4/5.6 , Sigma70-200 , Kaxinda 28mm

เพิ่มเติมนิดหน่อยครับ
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเดินทาง ผมยินดีให้ความช่วยเหลือเต็มที่นะครับ https://www.facebook.com/Suiy.Kee.King





DanOnTour

 วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559 เวลา 16.15 น.

ความคิดเห็น