“มาเที่ยว นราฯ มั้ยพี่.. เดี๋ยวผมพาเที่ยว.."



จาก Comment บน Facebook ส่วนตัว ที่มีรุ่นน้องสมัยมหาวิทยาลัยคนนึงมา Comment แบบทีเล่นทีจริง ชักชวนให้ผมไปเที่ยว “นราธิวาส" ซึ่งเป็นจังหวัดที่เขาได้ไปทำงาน และอาศัยอยู่ที่นั่นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว



ด้วยความที่ชอบท่องเที่ยวกันเป็นปกติอยู่แล้ว ประกอบกับ จังหวัดนราธิวาส ก็ยังไม่เคยไป จึงได้ลองทัก Chat กลับไปถามรายละเอียดหลังไมค์ เพราะน่าสนใจดีเหมือนกัน มีโอกาสสักครั้งก็น่าจะลองไปเที่ยวนราธิวาสดูบ้าง!


“เดี๋ยวผมไปรับ-ไปส่ง ที่สนามบินนราธิวาสเลย เดี๋ยวขับรถพาเที่ยว ส่วนค่ากิน ค่าที่พัก ค่าน้ำมัน เดี๋ยวค่อยช่วยๆ กันออกละกันครับ"

..ประโยคนี้ทำให้ผมตัดสินใจได้ไม่ยาก รวบรวมพรรคพวกมิตรสหายที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในช่วงสมัยเรียน ว่ามีใครสนใจจะไปเที่ยวปลายด้ามขวานกันบ้าง? ถือโอกาสไปเยี่ยมเยียนรุ่นน้องคนนี้ไปในตัว ซึ่งก็มีบางคนที่สนใจบ้าง ติดธุระบ้าง ไม่กล้าไปบ้าง และที่ดูเป็นปัญหาสำคัญเลย ก็คือ ราคาตั๋วเครื่องบินที่ค่อนข้างแพง(สำหรับผม) และตัวเลือกก็มีน้อย ทำได้เพียงแค่เฝ้าหน้าจอรอโปรฯ ถูกๆ ไปก่อน



เหมือนว่าจะมีดวงให้ออกไปเที่ยว.. เพียงไม่กี่วันก็มีโปรฯ แลกแต้มของสายการบินออกมา เพิ่มเงินคนละไม่กี่ร้อยเท่านั้น จาก ดอนเมือง-นราธิวาส รวมไป-กลับ อยู่ที่คนละประมาณ 200 บาท เป็นราคาที่ถูกใจมาก และไม่ต้องรอนาน แต่... อยู่ที่ว่า วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่ต้องการนั้น มันจะมีโปรฯ อยู่หรือเปล่า? เพราะปกติ..ถ้าไม่รีบจอง วันหยุดเหล่านี้มันมักจะหมดเร็วมากๆ อย่างที่ทราบกันดี



หลังจากลองกดเข้าไปส่องโปรฯ ดูเล่นๆ ก็ต้องตกใจเล็กน้อยเพราะ ..มันเหลือตั้งหลายที่! เสาร์-อาทิตย์ ซะด้วย ไม่รอช้าครับ จัดการรีบสอยอย่างรวดเร็ว ซึ่งเท่าที่ไล่ๆ ดูในช่วงเสาร์-อาทิตย์ ของแต่ละสัปดาห์ ก็มีที่นั่งเหลืออยู่เยอะเหมือนกัน ก็เลยนัด เสาร์-อาทิตย์ ที่ว่างตรงกันได้ง่ายหน่อย แต่เนื่องจากเวลาที่ไม่ค่อยสวย และมีเพียงเที่ยวบินเดียว ไฟล์ทไปถึงเที่ยง กลับตอนบ่าย เวลา 2 วัน จึงไม่น่าพอ เลยต้องเพิ่มวันจันทร์เข้ามาอีกวัน รวมเป็น 3 วันในการไปเที่ยว “นราธิวาส" ในครั้งนี้ครับ



แม้ว่า.. ในประเทศไทย ไปมาเกือบจะทุกจังหวัด แต่... “นราธิวาส" เป็นจังหวัดชายแดนใต้ที่ผมยังไม่เคยไปเยือนเลย(รวมไปถึง ปัตตานี และยะลาด้วย) ได้เช็คอินใต้สุดในไทยก็คงเป็นแค่สงขลา นี่จึงเป็นครั้งแรกที่จะได้ไปเที่ยวจังหวัดชายแดนใต้สักที เคยได้ยิน เขาว่ากันว่า.. สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในหลายๆ ที่สวยงาม และคงความเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ แต่คนที่อยู่นอกพื้นที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้มาเที่ยวสักเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะข่าวความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ทำให้ไม่กล้าที่จะไปกัน นั่นก็รวมไปถึงผมคนนึงด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าจะให้.. แบกเป้ไปเที่ยวเอง ต่อรถเดินทาง โดยสารรถสาธารณะท้องถิ่น เดินเตร็ดเตร่ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เหมือนใน ทุกๆ ทริป ทุกๆ การเดินทางที่ผ่านมา คงจะทำได้ยากกับที่นี่ ..โชคดีที่การมาในครั้งนี้มีคนพื้นที่ที่พอชำนาญเส้นทาง และพอรู้จักวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ มาพาเที่ยว และแนะนำอะไรต่างๆ ให้ได้บ้าง



การเดินทางทางส่วนใหญ่ในการเที่ยวนราธิวาสในครั้งนี้ เป็นการขับรถส่วนตัวเที่ยวกันเองครับ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด เพราะสถานที่ท่องเที่ยวในหลายๆ ที่อยู่ห่างกันมาก บางจุดไม่ได้มีรถโดยสารสาธารณะผ่าน และบางจุดก็ยังมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยบ้าง(ก่อนออกเดินทางประมาณ 2-3 วัน ก็มีเหตุระเบิดสร้างสถานการณ์หลายจุด ในจังหวัดนราธิวาส) ซึ่งการมีคนในพื้นที่พาไปเที่ยว ก็ช่วยในเรื่องของความอุ่นใจ เพราะอย่างน้อยเขาก็ชินเส้นทาง มีความคุ้นเคยและติดตามข่าวในพื้นที่ มากกว่าเราละเนอะ..




สำหรับเพื่อนๆ ที่ชอบท่องเที่ยวแบบประหยัด แวะมาทักทาย ติดตามกันได้นะครับ

CHAILAIBACKPACKER : https://www.facebook.com/chailaibackpacker




DAY 1

10.30 น. ออกเดินทาง!


การออกเดินทางในช่วงเวลาสายๆ ทำให้ไม่ต้องรีบร้อนอะไรมากมาย โดยเฉพาะในวันเสาร์เช่นนี้ รถไม่เยอะทำให้ไป สนามบินดอนเมือง ได้อย่างสบายๆ มีเวลานั่งกินข้าว นัดแนะกับเพื่อนร่วมเดินทางคนอื่นๆ ที่ทยอยกันมา


ในการเดินทางครั้งนี้.. มีผู้ร่วมเดินทางจากดอนเมืองทั้งหมด 4 คน ซึ่งก็รู้สึกว่าห่างหายจากการเดินทางทางอากาศไปเที่ยวหลายๆ คนแบบนี้ มาได้สักระยะเลย



ผ่านการตรวจบัตรโดยสาร และเข้ามารอใน Gate เตรียมขึ้นเครื่อง สามารถสังเกตลักษณะผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางไปในไฟล์ทเดียวกันได้ว่า ส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนในพื้นที่ หรือ ไปทำธุระ และ..รู้สึกได้ว่ามีเพียงกลุ่มเราเท่านั้นที่มีจุดประสงค์เพื่อไปเที่ยวโดยเฉพาะ



การเดินทางครั้งนี้.. จึงรู้สึกตื่นเต้นกว่าในทุกครั้ง แผนการเดินทางก็ไม่มี ยังไม่รู้เลยว่าจะไปไหนบ้าง ขึ้นกับรุ่นน้องคนในพื้นที่ จะพาไปโดยแท้.. แต่ก็พร้อมลุยครับ!




12.30 น. สวัสดี..นราธิวาส!


ใช้เวลาในการเดินทาง.. ชั่วโมงครึ่ง ก็มาถึง สนามบินนราธิวาส ..และนี่ก็เป็นครั้งแรกเช่นกัน ในการมาเยือน สนามบิน แห่งนี้หลังจากที่ได้ไปเยือนสนามบินปลายทางของหลายๆ จังหวัดมากันแล้ว สภาพอากาศที่นี่ ท้องฟ้าปลอดโปร่งดีครับ ไร้วี่แววของเมฆฝน ที่สำคัญคือ แดดแรงเอาเรื่องมาก..



สนามบินนราธิวาส เป็นสนามบินเล็กๆ น่ารักเหมือนสนามบินจังหวัดเล็กๆ ทั่วไป ซึ่งเมื่อลงจากเครื่องมาแล้ว ก็ต้องเดินเท้าเข้าไปในอาคารผู้โดยสารเองครับ



เข้ามาสู่ภายในอาคารผู้โดยสารจะพบกับที่รอรับกระเป๋า และมีห้องน้ำไว้บริการ



สนามบินนราธิวาส จะอยู่ห่างจากตัวเมืองนราธิวาสประมาณ 15 กิโลเมตร และ สำหรับการเดินทางออกจากสนามบินนราธิวาส ไปยังสถานที่ต่างๆ นั้น ที่สนามบินก็มี บริการรถตู้รับ-ส่ง อยู่ด้วย พอเดินเข้ามาภายในอาคารก็จะพบกับเคาเตอร์ขายบัตรของรถรับ-ส่งนี้เลย ซึ่งถ้าใครไม่มีคนมารับ หรือ เดินทางไปเองก็สามารถไปใช้บริการได้ครับ



อัตราค่าบริการ


สนามบินนราธิวาส – เมืองนราธิวาส = 80 บาท

สนามบินนราธิวาส – สุไหงโกลก = 180 บาท

สนามบินนราธิวาส – ตาบา(ด่าน) = 180 บาท

สนามบินนราธิวาส – ตากใบ = 160 บาท



แวะเข้าห้องน้ำทำธุระกันส่วนตัวอยู่สักพัก เดินออกมาพบว่า.. ผู้โดยสารที่เดินทางมาในไฟล์ทเดียวกันนั้น สลายตัวไปกันอย่างรวดเร็วมาก เหลือเพียงพวกเราที่ยืนงงไม่รู้จะไปทางไหนดี เพราะยังติดต่อรุ่นน้องที่จะมารับไม่ได้ ในช่วงเวลานี้ก็เลยถ่ายรูปเล่นกับ “เรือกอและ" เรือประมงพื้นบ้านจังหวัดนราธิวาส กันสักหน่อย




13.00 น. เยือนถิ่นนราธิวาส!


รออยู่ในอาคารของสนามบินสักพัก.. รุ่นน้องผู้ที่ชักชวนให้มาเที่ยวนราธิวาส ก็ขับรถมารับ พร้อมพาออกเที่ยวทันที ซึ่งรถ 1 คัน กับคน 5 คน นั่งได้พอดีๆ เราจัดการเก็บสัมภาระบนรถให้เรียบร้อย หลังจากนั้นล้อก็หมุนออกเดินทางต่อไป มาได้เพียงปากทางเข้าสนามบินเท่านั้นก็ทำให้ตื่นเต้นกับด่านตรวจของทหารแล้ว ซึ่งพื้นที่สนามบิน ทางเข้า-ออก ก็มักจะได้รับการตรวจเข้มเป็นธรรมดา ตลอดระยะทางหลังจากออกสนามบิน เราจึงได้พบเจอกับด่านตรวจมากมายเป็นระยะๆ ทั้งด่านที่เป็นเหมือนการชะลอรถ ให้วิ่งซิกแซก และด่านที่ตรวจเข้มที่ให้เปิดกระจกและแสดงบัตรประชาชน พร้อมสอบถามที่มาที่ไปของการเดินทาง ไปจนถึงการขอตรวจสัมภาระภายในรถ ซึ่งอาจมีเสียเวลาบ้าง แต่ก็ยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ไปครับ



แม้ด่านตรวจจะมีให้เห็นตลอดทาง แต่เส้นทางหลัก เส้นทางที่รถวิ่งเยอะๆ แบบนี้ เป็นเส้นทางที่ปลอดภัยครับ โดยเส้นทางการเดินทางของเราก็คือ การวิ่งผ่านตัวเมืองนราธิวาส เพื่อไปยังจุดหมายที่ อำเภอสุไหงปาดี ครับ



ในช่วงที่ผ่าน ตัวเมืองนราธิวาส จะเห็นบรรดาห้างร้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมถนนสร้างเป็นเหมือนกำแพงกั้นไว้ที่หน้าร้านครับ สำหรับคนต่างถิ่นอย่างเราอาจจะเป็นสิ่งแปลกตา เพราะเพิ่งเคยเห็น แต่ก็เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย และป้องกันภัยครับ



และ สำหรับป้ายแบบนี้ก็เห็นตามสถานที่ราชการ หรือ ที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ตามที่ต่างๆ ครับ เพื่อให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการเปิดเบาะรถทุกคัน



นั่งรถกันมาสักพัก.. จึงคิดว่าควรจะจัดการมื้อเที่ยงกันก่อนดีกว่า เพราะเลยเวลาอาหารเที่ยงมานานแล้ว จะได้เที่ยวต่อในช่วงบ่ายๆ กันยาวๆ เลย



มาจอดรถแวะจัดการมื้อเที่ยงกันที่ร้านริมถนนแห่งหนึ่ง จัด ข้าวขาหมู ไปคนละจาน ให้เยอะมาก กินอิ่มจุใจกันทุกคน!





13.40 น. วัดเขากง พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล


ระหว่างทางนี่คือ สถานที่แรก ที่เรามาแวะไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคลกันก่อนครับ ที่ วัดเขากง ซึ่งเป็นถือว่าศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ ในจังหวัดนราธิวาสและพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง “พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล" ซึ่งประดิษฐานตั้งเด่นมองเห็นมาแต่ไกลเลยครับ



พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล เป็นพระพุทธรูปประทับปางปฐมเทศนา(ประทับนั่งกลางแจ้ง) สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ลักษณะพระพุทธรูปแบบขนมต้ม ประดับด้วยโมเสกสีทองทั้งองค์ ที่มีความสวยงาม และใหญ่ที่สุดในภาคใต้ องค์พระมีความสูงถึง 24 เมตร เลยทีเดียว



บริเวณใกล้เคียงมีจุดจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อนำมากราบไหว้บูชาพระ ซึ่งสามารถทำบุญได้ตามศรัทธา จากนั้นจึงเดินขึ้นบันได เพื่อไปตรงจุดที่เตรียมไว้สำหรับไหว้พระ



เมื่อเดินเข้าไปใกล้ฐานพระ ถึงกับต้องเงยหน้า ขึ้นมอง... องค์พระใหญ่ และมีความสวยงามจริงๆ ครับ



ไหว้พระเสร็จ ก็ต้องรีบเดินลงกัน เพราะว่าความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำให้พื้นที่เดินกันในตอนนี้มีความร้อนมาก ซึ่งพอหันหลังให้องค์พระ เดินลงบันไดมา ก็จะเห็น.. บริเวณโดยรอบภายในตัววัด



เดินกลับลงมาเพื่อเอาไฟแช็คที่ยืมมาคืนกับป้าที่ดูแลตรงจุดจำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน ป้าได้แนะนำว่าใกล้ๆ มีบ่อเลี้ยงปลาของวัดอยู่ด้วย สามารถซื้ออาหารปลาจากที่นี่นำไปให้ได้ ไหนๆ ก็มากันแล้ว จัดอาหารปลาไป คนละถุงสองถุง



สามารถไปทำบุญให้อาหารปลาได้ ถุงละ 20 บาท มีปลาอยู่เยอะพอสมควรครับ




14.45 น. ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร(ป่าพรุโต๊ะแดง)


หลังจากไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคลกันแล้ว เราก็รีบขับรถเข้าไปที่ อำเภอสุไหงปาดี ซึ่งในช่วงบ่ายที่เวลาพอเหลืออยู่นี้ เราจะไปเที่ยวกันต่อที่ “ป่าพรุโต๊ะแดง" ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าได้ยินชื่อนี้มาตั้งนานแล้วเหมือนกัน เป็นชื่อที่รู้สึกคุ้นหูมาก แต่ก็เพิ่งเคยได้มานี่เอง จุดสังเกตง่ายๆ ถนนที่ผ่านหน้าตรงปากทางเข้า ก็จะเป็นแบบนี้ครับ ฝั่งซ้ายคือทางเข้าป่าพรุโต๊ะแดง



หาที่จอดรถเรียบร้อยแล้วก็เดินเข้าไปข้างในกัน อากาศตอนนี้ แดดไม่ค่อยแรง แต่รู้สึกถึงความอบอ้าวพอสมควรเลยครับ



ก่อนอื่นต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เสียก่อน รู้สึกว่าวันนี้จะดูค่อนข้างเงียบ และเหมือนจะมีแค่พวกเราเท่านั้นในตอนนี้ที่เข้ามาเดินชมป่า ซึ่งที่ ป่าพรุโต๊ะแดงนี้จะ เปิดทุกวัน เวลา 08.00-16.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม ครับ



เดินเข้ามาจะพบกับอาคารที่มีห้องจัดนิทรรศการให้ความรู้และรายละเอียดของสถานที่แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชม เพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติของป่าพรุ



จากนั้น.. จะพบทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ โดยเริ่มที่บึงน้ำด้านหลัง อาคารศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร ทางเดินมีลักษณะเป็นสะพานไม้ต่อกันเป็นทางยาว ลัดเลาะเข้าไปในป่าพรุ ระยะทางประมาณ 1,200 เมตร



ป่าพรุโต๊ะแดง แห่งนี้ เป็นป่าพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่า โดยมีลำน้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน เช่น คลองสุไหงปาดี แม่น้ำบางนรา และคลองโต๊ะแดง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อป่า นั่งเอง



ป่าพรุ นั้น เกิดจากแอ่งน้ำจืดที่ขังติดต่อกันเป็นเวลานาน และมีการสะสมของ ซากพืช ซากต้นไม้ และ ใบไม้ต่างๆ ที่ย่อยสลายอย่างช้าๆ กลายเป็นดินอินทรีย์ที่มีลักษณะหยุ่นยวบคล้ายฟองน้ำ มีความหนาแน่นน้อย แต่อุ้มน้ำได้ดี นอกจากนี้ยังพบว่ามีการสะสมระหว่างดินอินทรีย์ดังกล่าวกับดินตะกอนทะเลสลับชั้นกัน 2-3 ชั้นด้วย ทั้งนี้ เพราะน้ำทะเลเคยมีระดับสูงขึ้นจนท่วมป่าพรุ ทำให้เกิดการสะสมของตะกอน เมื่อน้ำทะเลถูกขังอยู่ด้านใน และพันธุ์ไม้ในป่าพรุตายไป ก็เกิดป่าชายเลนขึ้นมาแทนที่ เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงและมีฝนตกลงมาสะสม ได้ชะล้างความเค็มจากน้ำที่ขังไปทีละนิด ค่อย ๆ กลายเป็นน้ำจืด และก่อเกิดเป็นป่าพรุขึ้นอีกครั้ง



ระหว่างที่เดิน จะพบป้ายแสดงรายละเอียดที่น่าสนใจ เป็นเหมือนซุ้มให้ความรู้ที่ตั้งอยู่เป็นจุดๆ ตลอดทาง



การเดินชมธรรมชาติของป่าพรุต้องเดินในเส้นทางที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งเป็นเส้นทางที่สามารถพาเข้าไปสัมผัสธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด



ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวป่าพรุ คือระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เพราะเป็นช่วงที่ฝนตกน้อย ทำให้สามารถเดินชมป่าพรุได้สะดวกสบายกว่าช่วงเวลาอื่น แต่สำหรับบางคนอาจชอบมาในช่วงหน้าฝนเพราะได้สัมผัสความชุ่มฉ่ำได้มากกว่า



แต่สำหรับการได้มาเยือนในวันนี้ พวกเรารู้สึกว่า..สภาพอากาศค่อนข้างที่จะอบอ้าวพอสมควรเลย ไม่มีลมพัดมาเลยสักนิด แม้จะเดินในร่มใต้ร่มไม้ แต่ก็รู้สึกอบอ้าวอยู่.. เดินแค่นิดเดียว ได้เหงื่อกันเลย



เข้ามาสักพักจะเจอกับป้ายนี้ก่อนเลย น่าจะเป็นป้ายที่ใครมาก็ต้องถ่ายรูปเป็นที่ระลึกครับ พรุโต๊ะแดง ป่าเดียว น้ำเดียว ในแดนดิน



มาถึงกันแล้ว..ก็ต้อง ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันสักหน่อยนะ!



จากนั้นเดินไปกันต่อจนถึงซุ้มทางเข้านี้ ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งจะมีป้ายบอกระยะทางของเส้นทางนี้ 1200 เมตร และใช้เวลาในการเดิน 45 นาที



เดินเข้ามาสู่บรรยากาศของป่า ต้นไม้เยอะขึ้นหนาทึบ ทั้งต้นเล็กต้นใหญ่ เบื้องล่างเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา



ป้ายชื่อต้นไม้ พร้อมรายละเอียดต่างๆ เป็นแหล่งความรู้อย่างดีเลย



เป็นแหล่งให้ความรู้ทางธรรมชาติที่เหมาะกับคนทุกวัย โดยเฉพาะเด็กๆ น่าจะชื่นชอบเป็นพิเศษ



เดินลัดเลาะไปตามเส้นทางสะพานไม้ สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ ที่บางชนิดก็ไม่ได้รู้จักมาก่อน



มีป้ายบอกชื่อของต้นไม้ ตลอดระยะทางที่เดินไป



จะสามารถพบกับไม้ยืนต้นที่มีระบบรากแขนงแข็งแรงแผ่ออกไปเกาะเกี่ยวกัน เพื่อจะได้ช่วยพยุงลำต้นของกันและกันให้ทรงตัวอยู่ได้ และนี่เองที่ทำให้ต้นไม้ในป่าพรุอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เพราะหากต้นใดล้ม ต้นอื่นๆ ก็จะล้มตามไปด้วย



ถ้าได้มาเดินในช่วงเช้าๆ หรือในวันที่อากาศชื้นๆ หน่อย คงจะได้บรรยากาศที่ดีไม่น้อยเลย



พันธุ์ไม้ที่พบในป่าพรุ มีกว่า 400 ชนิด บางอย่างก็สามารถนำมารับประทานได้



ส่วนสัตว์ป่าที่พบในป่าพรุ มีกว่า 200 ชนิด เช่น ค่าง ชะมด หมูป่า แมวป่าหัวแบน อันเป็นสัตว์คุ้มครองที่หายากชนิดหนึ่งของไทย ส่วนพันธุ์ปลาที่พบ ได้แก่ ปลาปากยื่น ที่เป็นปลาชนิดใหม่ของโลกซึ่งพบที่ป่าพรุสิรินธรนี้เท่านั้น



และ ที่นี่ถือว่าเป็นสถานที่น่าสนใจในการดูนก นกในป่าพรุนั้นมีหลายชนิด แต่ชนิดที่เด่นๆ ก็คือ นกกางเขนดงหางแดง และ นกจับแมลงสีฟ้ามาเลเซีย ซึ่งในประเทศไทยจะพบที่ป่าพรุสิรินธรเพียงแห่งเดียวเท่านั้น



นักท่องเที่ยวจึงสามารถมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้จากป่าพรุแห่งนี้ได้อย่างมากมายเลยครับ



เดินมาได้สักระยะหนึ่ง กำลังดูอะไรเพลินๆ อ่านป้ายต่างๆ ที่ติดตามต้นไม้ไปเรื่อยๆ ก็มาสะดุดตากับเจ้าสัตว์หลายขาตัวยาวๆ ที่ทำอะไรกันอยู่สองตัวข้างๆ ป้าย “กิ้งกือ" นั่นเอง.. ซึ่งเขาว่ากันมากิ้งกือที่นี่ตัวใหญ่มาก บางตัวก็ยาวเกือบฟุตเลยทีเดียว



มัวแต่มองกิ้งกือบนต้นไม้ มือก็เกือบเผลอไปโดนอีกตัวที่เดินเล่นสบายใจอยู่บนตอไม้ ตัวใหญ่มากจริงๆ แสดงถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า



แถวนี้พบเห็นได้หลายตัวเลย นี่ขนาดว่าไม่ใช่ตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เจอ ลองวัดขนาดดูแล้ว...แบบว่า ตัวขนาดนี้ ถ้ากินได้ ตัวเดียวคงอิ่มพอดีท้อง ..อิอิ



อ้าว..จะกินจริงเหรอนั่น..!!



ไม้ยืนต้นที่มีระบบรากแผ่ออกไปเกาะเกี่ยวกับผืนดินด้านล่าง สามารถพบเห็นได้ตลอดทาง



แม้อากาศวันนี้จะรู้สึกอบอ้าว แต่เดินไปเรื่อยๆ มันก็เพลินดีเหมือนกัน



เดินเหนื่อยๆ ก็มีหยุดพักบ้าง ในบางจุดก็มีที่ให้นั่งสำหรับพักขา พักเหนื่อยกันสักหน่อย



พื้นที่อุ้มน้ำ มองลงไปเห็น ซากพืช ซากใบไม้ที่ทับถมกันอยู่เบื้องล่าง



สิ่งที่ต้องให้ความระมัดระวังในการมาเดินในป่าพรุ ก็คือ ยุง ซึ่งอาจเป็นพาหะของโรคได้ ส่วนใหญ่ยุงจะออกมาตอนพลบค่ำ แต่ช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ แบบนี้ก็มีมาให้เห็นบ้างเหมือนกัน



และ ห้ามสูบบุหรี่ ภายในป่าพรุนะครับ เพราะหากเผลอทิ้งก้นบุหรี่ลงไป อาจเกิดไฟป่าขึ้นได้ ซึ่งเมื่อเกิดไฟป่าในป่าพรุแล้ว จะดับยากกว่าป่าชนิดอื่น เพราะเชื้อเพลิงไม่ได้มีแค่ต้นไม้เท่านั้น มันยังรวมไปถึงซากใบไม้และต้นไม้ที่ทับถมกันในชั้นดินพรุอีกด้วย ไฟจึงสามารถลุกลามลงไปใต้ดินได้ คุกรุ่นอยู่ข้างล่าง ทำให้การดับไฟนั้นทำได้ลำบาก



สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่มีให้พบเห็นตลอดทาง



พื้นที่นั่งพักผ่อนระหว่างทาง แต่ก็ต้องระวังนั่งทับกิ้งกือกันด้วยนะ



เราใช้เวลาเดินชมธรรมชาติกันทั้งหมดประมาณ 45 นาที ตามที่ป้ายระบุไว้ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่น่าสนใจ ได้ความรู้เกี่ยวกับป่าพรุ และรู้จักกับต้นไม้รูปร่างประหลาดผ่านป้ายแสดงรายละเอียดของแต่ละต้นนั้นๆ เป็นประสบการณ์ที่ดีครับ!




18.00 น. ราตรีนี้..ที่สุไหงปาดี


หลังจากไปชมธรรมชาติที่ “ป่าพรุโต๊ะแดง" แล้ว เราก็รีบกลับเข้าสู่ตัวอำเภอสุไหงปาดี ซึ่งในค่ำคืนนี้นั้น.. ผมได้พอทราบล่วงหน้ามาแล้วว่า ที่หลับที่นอนในคืนแรก รุ่นน้องจะพาไปนอนกางเต๊นท์ที่ริมท้องนาออกจากหมู่บ้านมาหน่อย แต่อยู่ในเขตพื้นที่สุไหงปาดีนี่เอง เพราะได้อยู่ใกล้ธรรมชาติ ได้อารมณ์พักผ่อนดี แถมสามารถทำอาหารปิ้งย่างกินกันได้อีกด้วย ซึ่งการนอนเต๊นท์นั้นเป็นสิ่งที่พวกเราชอบกันอยู่แล้วง่ายๆ สบายๆ แต่ปัญหาที่ยังกังวลอยู่ทำให้ใครบางคนในทริปต้องเอ่ยปากออกมาว่า... ปลอดภัยแน่นะ? นั้นคือสิ่งที่ผู้มาเยือนทั้งสี่ อยากได้คำตอบที่มั่นใจจากรุ่นน้องคนพื้นที่นี้สักหน่อย



“แถวนี้ปลอดภัยพี่ ไม่ต้องห่วง.." ..คำตอบจากปากรุ่นน้องที่ทำงานในพื้นที่สุไหงปาดี อยู่เป็นประจำแบบนี้ ช่วยการันตี และเพิ่มความสบายใจให้กับผู้มาเยือนผู้ซึ่งไม่รู้อะไรเลย แต่ขอกังวลไปก่อนเป็นธรรมดา



ไม่นานเราก็มาจอดรถอยู่ที่ริมถนนแห่งหนึ่ง เราจะมาพักกางเต๊นท์กันที่บริเวณนี้ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้น เป็นของลุงคร ลุงครเป็นคนที่รู้จักกันดีกับรุ่นน้อง และได้คุยกันก่อนหน้านี้แล้วว่า.. จะมาขออาศัยพักกางเต๊นท์กันสักคืน



เดินเข้าในบริเวณพื้นที่ ที่ขอเรียกว่า "สวน" ของลุงครละกันนะครับ แกจะมีขนำเล็กๆ ไว้พักผ่อนตอนมาดูแลสวน ใกล้ๆ กันเป็นพื้นที่ปลูกผัก กรงเลี้ยงไก่ บ่อเลี้ยงปลาเล็กๆ และรอบนอกออกไปก็จะเป็นท้องนาที่มีฉากด้านหลังเป็นภูเขา ที่นี่บรรยากาศดีครับ แต่เสียดายที่เดินทางมาถึงช้าไปหน่อย พระอาทิตย์ตกดินไปเสียแล้ว



ท้องฟ้ามืดครึ้ม และเสียงคำรามมาแต่ไกล ส่งสัญญาณว่า.. เราจะกางเต๊นท์นอนกันได้มั้ย? ท่าทางอีกสักพักฝนจะตกหนักเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน แต่ลุงครก็มีแผนสองไว้รองรับนั่นก็คือ.. เดี๋ยวเข้าไปนอนในขนำได้ถ้าฝนมันยังตกหนัก



เราหยุดการกางเต๊นท์ที่เตรียมมาเพื่อรอดูสถานการณ์สักพักก่อนดีกว่า แล้วหันมาช่วยกันก่อไฟ ทำอาหาร กับวัตถุดิบที่ได้ไปแวะจ่ายตลาดกันมาก่อนที่จะมาที่นี่ ซึ่งขนำของลุงครก็มีอุปกรณ์ประกอบอาหารแบบง่ายๆ ให้ใช้ครับ



เรียกน้ำย่อยในมื้อเย็นกับ..เมนูนี้ น่าจะ..เป็น "ด้วงมะพร้าว" ที่นำมาคั่วนะครับ คือ กลิ่นมันหอมดี มีรสมันๆ และ กินเพลินดีเหมือนกันนะ อาหารพื้นบ้านที่มีโปรตีนสูง



ไม่นานฝนก็เทลงมาตามคาด ความชุ่มฉ่ำมาเยือน จนต้องรีบช่วยกัน พาขนอาหารและของต่างๆ ขึ้นไปนั่งกันบนขนำ



ซึ่งอาหารหลายอย่างที่เตรียมมา ก็เป็นกับข้าวใส่ถุงที่ซื้อมาจากตลาด ไม่จำเป็นต้องมาทำอะไรเพิ่มมากมาย ในความมืดมิดภายในขนำจึงต้องใช้แสงสว่างจากแบตเตอรี่รถยนต์ เพราะอยู่กลางสวนกลางไร่แบบนี้ไฟฟ้าเข้ามาไม่ถึงครับ



ลุงครขอแสดงฝีมือทำอาหารรสแบบคนใต้ให้ชิมสักเมนูครับ เป็นเหมือนผัดกะเพราแต่เหมือนใส่ขมิ้นลงไปด้วยแบบฉบับของทางใต้ รสเผ็ดจัดถึงใจจริงๆ



เมื่ออาหารทุกเมนูทำเสร็จใส่จานเรียบร้อย ก็มานั่งล้อมวงเตรียมทานข้าวมื้อเย็นพร้อมกัน ในบรรยากาศภายนอกที่ฝนยังคงพรำอยู่ ลุงครประเดิมด้วยการรินเครื่องดื่มสีขาวขุ่นชนิดหนึ่งใส่กะลายื่นมาให้เพื่อเป็นการต้อนรับ นั่นก็คือ “หวาก" หรือ น้ำตาลเมา เครื่องดื่มพื้นบ้านทางภาคใต้ ถ้านึกภาพไม่ออก มันก็คงคล้ายๆ กับกระแช่ ของพื้นที่อื่นๆ นั่นเอง ลุงครเล่าว่าหวากเป็นเครื่องดื่มชั้นสูงนะ... สูง ก็เพราะว่า.. ต้องปีนขึ้นไปเอามาจากยอดต้นตาล หรือ ต้นโหนด ต้องใช้ภาชนะหรือแกลลอนไปรองรับน้ำตาลที่ไหลหยดมาจากงวงที่ปาดทิ้งไว้บนยอดต้น ซึ่งต้องใช้เวลาและผ่านกรรมวิธีต่างๆ พอสมควร กว่าจะได้มาสักหนึ่งลิตร



ด้วยความอยากรู้อยากลอง ยังไงก็ต้องขอสักหน่อย.. แต่กลิ่นของหวากนี่ ส่วนตัวแล้วผมไม่ถูกกับกลิ่นแบบนี้เอาซะเลย.. จมูกกับลิ้นที่ผ่านเครื่องดื่มอย่างสาโท กระแช่ อุ ฯลฯ มานักต่อนัก ยอมแพ้ให้เจ้าสิ่งนี้จริงๆ แต่ก็ยกดื่มจนหมดกะลาใบเล็กๆ นี้จนได้ และก็ยกกันครบทุกคนรอบวง ก่อนที่เราจะเริ่มทานข้าวเย็นร่วมกัน



ทานข้าวเย็นไป คุยกันไป จนเริ่มจะอิ่มกันแล้ว.. ต่อไปก็เป็นอาหารทานเล่นกันบ้าง ยังขาด “หอยกัน" ที่ซื้อมากันหลายกิโลกรัมแต่ยังไม่ได้ต้ม เนื่องจากว่าหม้อมีแต่ใบเล็กๆ และหอยกันเป็นหอยที่ตัวใหญ่มากๆ จึงต้องทยอยต้มหลายๆ รอบเอามานั่งแกะกินเล่นกัน



"หอยกัน" เป็นหอยที่อยู่ตามดินโคลนป่าชายเลนต่างๆ ที่ที่มีน้ำขึ้นน้ำลง เป็นหอยที่ตัวใหญ่ ส่วนรสชาตินั้น ไม่รู้คนอื่นว่ายังไงนะ แต่สำหรับพวกเราแล้ว แย่งกันแกะ แย่งกันกินเพลินครับ ไปต้มใหม่กันแทบไม่ทันเลย



ตัวใหญ่ขนาดไหนลองเทียบกับฝ่ามือดูครับ เนื้อหอยแน่นๆ เลย กินได้เต็มคำ จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู๊ดสักหน่อยนะ.. มันสุดยอดมาก!



นั่งอิ่ม.. กันมาได้สักพัก แต่ดูเหมือนว่าภายนอกยังไม่มีวี่แววว่าฝนจะหยุดตกเลย ตอนนี้เท่าที่ทำได้ คือการนั่งเล่นคุยกัน ไปเรื่อยๆ ซึ่งลุงครเกรงว่าจะเบื่อกัน ก็เลยหยิบเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งออกมา บรรเลงบทเพลงเพราะๆ คลอเบาๆ ให้ฟัง เข้ากับบรรยากาศในตอนนี้ได้อย่างดีเลยครับ



เวลาผ่านไปได้สักครึ่งชั่วโมงฝนก็ดูซาลงไป.. หยิบไฟฉายเดินไปดูตรงพื้นที่ที่จะกางเต๊นท์ ก็เป็นไปตามคาดคือพื้นที่เละ น่าจะกางนอนกันลำบาก ต้องใช้แผนสองตามที่ลุงครบอกจริงๆ ว่าขึ้นมานอนบนขนำด้วยกัน แต่ช่วงนี้ยังไม่ถึงเวลานอน... ลุงครเอ่ยปากถามว่า อยากลองกินปลามั้ย? คือถ้าตกปลาได้จากบ่อปลาก็เอามาย่าง มาทำอะไรกินเล่นกันได้เลย ด้วยความอยากลองก็ต้องลองดูสักหน่อย ฝนก็หยุดตกแล้ว.. ก็เลยย้ายมานั่งเล่นกันข้างนอกที่ริมบ่อปลานี้แทน อากาศเย็น ลมโชยสบายๆ ครับ



ตอนนี้บรรยากาศริมบ่อปลาก็ชิลล์ดีเหมือนกัน เมฆฝนได้สลายตัวหายไปหมดแล้ว จึงเผยให้เห็นหมู่ดาวมาแทนที่เต็มท้องฟ้ามากมาย อาจเป็นเพราะตรงจุดนี้เราอยู่ห่างจากแสงไฟรบกวนของชุมชน ทำให้รอบด้านของทุ่งนาแถบนี้มืดสนิท เมื่อลองดับไฟที่ต่อกับแบตเตอรี่ จึงเห็นดาวสวยงามอยู่เต็มท้องฟ้าเช่นนี้



นั่งลองตกปลาอยู่พักใหญ่ๆ ดูเหมือนว่าจะอยากนั่งชิลล์กับบรรยากาศมากกว่าอยากได้ปลาเสียอีก ถึงแม้จะเป็นบ่อปลาเลี้ยง แต่ก็ยังตกไม่ได้สักตัว หรือว่าปลาจะพากันเข้านอนหมดแล้ว เงียบกริบกันสักขนาดนี้.. พวกเราก็ควรจะเข้านอนเหมือนปลามันบ้าง คิดได้อย่างนั้น.. ก็เข้าขนำ กางมุ้ง แล้วปิดไฟนอนกันครับ.. ราตรีสวัสดิ์ สุไหงปาดี..




DAY 2

07.00 น. ตื่นขึ้นมากับเช้าวันใหม่!




เสียงไก่ในกรงของลุงครปลุกให้เราตื่นขึ้นตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ส่องแสงให้เห็น ในระหว่างที่รอให้พระอาทิตย์โผล่มาให้เห็น เราจึงใช้เวลานี้ในการเดินเล่นรอบๆ ขนำ บรรยากาศยามเช้าอากาศสดชื่นดีมากๆ และ ทิวเขาด้านหลังแอบเห็นว่ามีสายหมอกบางๆ พาดผ่าน อีกด้วย



เมื่อวานเรามาถึงที่นี่เย็นเกินไป มองอะไรไม่ค่อยเห็นแล้ว ก็เลยขอเดินเล่นสำรวจสวนของลุงครกันสักหน่อย เป็นสวนเล็กๆ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา แบบง่ายๆ อย่างที่บอกไปครับ



ได้เวลาอันพอสมควรที่จะต้องออกเดินทางกันต่อแล้ว เราก็ช่วยกันเก็บของ ขนของขึ้นรถครับ ซึ่งในช่วงเช้าของวันนี้วางแผนว่าจะลงไปต่อที่สุไหงโกลก และข้ามไปเที่ยวฝั่งมาเลเซีย แบบว่าไหนๆ มาเที่ยวชายแดนใต้อย่างนี้แล้ว ขอข้ามผ่านแดนตรงด่านสุไหงโกลกนี้กันสักหน่อยครับ




10.30 น. จากสุไหงปาดี สู่ สุไหงโกลก



ถ้าดูจากแผนที่จะเห็นว่าระหว่าง สุไหงปาดี กับ สุไหงโกลก ไม่ได้อยู่ห่างกันมาก ใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงก็เดินทางมาถึง



ตั้งแต่ตื่นเช้ามา เรายังไม่มีอะไรตกถึงท้องกันเลย เราจึงมาจัดการมื้อเช้ากันที่นี่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเรียกว่ามื้อเช้าหรือ มื้อเที่ยงกันดี เพราะมาถึงที่ร้าน "อ้วน บะกุดเต๋" แห่งนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 11 โมงเช้าไปแล้ว



ร้านอ้วนบะกุ๊ดเต๋ ถือว่าเป็นเจ้าแรก ต้นตำรับบะกุดเต๋ของสุไหงโกลก เลยก็ว่าได้ครับ ถ้ามาเยือนสุไหงโกลกยังไงก็ต้องไม่พลาดมาลองชิมครับ



บะกุ๊ดเต๋..ที่นี่ จะมีสูตรน้ำซุปแบบเฉพาะตัว เน้นเครื่องเทศที่หลากหลาย แค่เดินเข้าร้านก็ได้กลิ่นหอมของน้ำซุปมาแตะจมูกแล้ว



บรรยากาศภายในร้านโปร่ง ดูสะอาดตา มีคนแวะเวียนเข้าร้านเยอะมาก (ห้องน้ำของที่นี่ก็สะอาดดีเหมือนกันครับ)



นี่คือเมนูของร้านนี้ ซึ่งเมนู บะกุ๊ดเต๋ สามารถสั่งได้ตามจำนวนคนที่มาทานได้เลย เขาจะกำหนดขนาดของ ชามหรือหม้อ มาให้ตามความต้องการของเรา แต่ทั้งนั้นก็ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะได้ปริมาณที่เยอะมาก เราเข้ามาทานกันทั้งหมด 5 คน แต่ก็สั่งในขนาด 3 ท่าน ก็ทานกันอิ่มดี ร้านนี้เปิด ตั้งแต่ 07.40 น. – 12.40 น. ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์



จัดการสั่ง บะกุ๊ดเต๋ ขนาดทาน 3 ท่าน(300 บาท)ไป เสริฟมาพร้อม ปาท่องโก๋ อีกจาน



บะกุ๊ดเต๋ ส่งกลิ่นหอมของเครื่องเทศ ยั่วยวนให้รีบลงมือทานทันที ภายใต้ผักที่ลอยอยู่ด้านบนนั้น ถ้าลองแหวกดูสักนิด ก็จะเห็นว่าด้านล่างอัดเต็มไปด้วยเนื้อและเครื่องในอย่างจุใจทีเดียว ซึ่งถ้าจะทานให้อร่อย ต้องทานกับข้าวสวยร้อนๆ และในมื้อนี้เราก็หมดข้าวสวยกันไปหลายถ้วยทีเดียว ซดน้ำซุปกันเพลิน แถมมีเติมเพิ่มน้ำซุปให้อีกด้วย อิ่ม อร่อย มากสำหรับมื้อนี้.. พร้อมลุยกันต่อ!




11.30 น. ชะโงกมาเลเซีย!



ไหนๆ มาถึง สุไหงโกลก ชายแดนไทย-มาเลเซีย แบบนี้แล้ว ก็ขอลองข้ามฝั่งไปชะโงกมาเลเซียกันสักหน่อย แม้จะทราบดีว่า ฝั่งมาเลเซียแถบนี้จะไม่ค่อยมีสถานที่เที่ยวที่น่าสนใจ แต่ก็อยากลองข้ามไปดูกันสักครั้ง ซึ่งการจะข้ามไปมาเลเซียของพวกเรา รุ่นน้องได้นัดพี่อีกคน ที่เป็นคนในพื้นที่เช่นกัน และมีรถที่สามารถขับข้ามฝั่งไปมาเลเซียได้เลย จะสะดวกสบายกว่า เพราะตอนนี้อากาศค่อนข้างจะร้อนมาก และแดดแรง เรานัดหมายพี่ที่จะพาข้ามไปฝั่งมาเลเซียกันที่ สถานีรถไฟสุไหงโกลก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากด่านพรมแดน



ระหว่างรอที่ สถานีรถไฟสุไหงโกลก ก็ขอลงไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับป้ายสถานีกันสักหน่อย บริเวณนี้ระบบการรักษาความปลอดภัยดูเข้มงวด มีเจ้าหน้าที่ทหารดูแล (ซึ่งหลังจากนี้ ในช่วงเย็นวันเดียวกัน เราก็ได้ข่าวว่า มีระเบิดรถไฟขาดสองท่อน เป็นรถไฟสายสุไหงโกลก – หาดใหญ่ ซึ่งจุดเกิดเหตุอยู่ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี)



ไม่ห่างจาก สถานีรถไฟสุไหงโกลก เพียงแค่ขับรถพ้นโค้งมาเท่านั้น ก็มาถึง ด่านพรมแดนสุไหงโกลก แล้วครับ



จัดการเขียนใบขาออกให้เรียบร้อย แล้วไปต่อแถวเพื่อปั๊ม Passport ออกนอกประเทศ ซึ่งในขั้นตอนช่วงนี้ทำเราเสียเวลากันมาก เพราะแถวที่ต่อกันยาวมาก ทั้งคนไทย และคนมาเลเซีย กว่าจะได้ผ่านออกไป ยืนต่อแถวกันจนเมื่อยทีเดียว



เนื่องจากเราเปลี่ยนรถ มาอาศัยรถพี่ที่จะพาขับเข้าไปในมาเลเซียเลย จึงค่อนข้างที่สะดวกหน่อย นั่งในรถข้ามไปยังด่านของมาเลเซียเลย ไม่ต้องเดินให้ร้อน ซึ่งฝั่งของมาเลเซีย ที่ตรงข้ามกับ สุไหงโกลก ของไทยก็คือเมือง Rantau Panjang



ข้ามสะพานตรงพรมแดนนี้ไปก็จะเป็นฝั่งของมาเลเซีย ซึ่งฝั่งนี้การทำเรื่องผ่านเข้าเมืองง่ายมากๆ ไม่ถึงสองนาที เร็วกว่าฝั่งไทยเสียอีก และก็ไม่ต้องลงจากรถด้วย เพียงแต่ให้คนขับรถรวบรวม Passport แล้วเปิดกระจกรถยื่น ให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปั๊มให้ แป้บเดียวเสร็จ ผ่านเข้าเมืองเรียบร้อย



ซึ่งเมื่อผ่านด่านเข้ามาแล้ว สำหรับคนที่ไม่ได้นำรถผ่านเข้ามาก็สามารถต่อรถโดยสารไปยังสถานที่อื่นๆ ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวก็มักจะต่อรถไปเที่ยวกันที่ โกตาบารู ครับ ที่บริเวณด่านจะมี สายรถเมล์(สาย 29) วิ่งเข้าไปยัง เมืองโกตาบารู ส่วนพวกเราจะเที่ยวและเดินเล่นกันใน Rantau Panjang กันเท่านั้น



ข้ามเขตแดนกันเข้ามาไม่ไกล บนถนนสายติดชายแดน ก็แวะกันเข้ามาที่สถานที่แรก นั่นก็คือ มัสยิดจีน ซึ่งเป็นมัสยิดที่ใช้รูปแบบการก่อสร้าง และช่างจากคนจีน มองเห็นหลังคาทรงเก๋งจีนสีเขียว เด่นชัดมาแต่ไกล มีความโดดเด่น และสวยงามมาก



เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมาก จึงอยู่นอกรถกันได้ไม่นาน ต้องรีบวิ่งขึ้นรถมารับแอร์เย็นๆ ให้คลายร้อน เท่าที่สังเกตขณะนั่งรถ จะเห็นร้านล้างรถเยอะมากๆ ซึ่งพี่ที่พาขับเข้ามาได้เล่าให้ฟังว่า คนไทยชอบขับเข้ามาล้างรถกันที่ฝั่งนี้เพราะมีราคาถูก จากนั้นก็เติมน้ำมันเต็มถึงกลับไป เพราะน้ำมันก็ราคาถูกเช่นกัน จากนั้นก็มาแวะ KFC ของที่นี่กันสักหน่อย ที่จริงคือจะหาเรื่องเข้าห้องน้ำ ก็ถือโอกาสหาอะไรกินที่นี่กันซะเลย นั่งเล่นแอร์เย็นๆ พอให้หายร้อนบ้าง



แต่ก็...อด เพราะว่าลืมไป ว่าต้องแลกเงินกันมาก่อน ซึ่งในตอนแรกคิดกันว่าข้ามมาคงไม่ได้ซื้อของอะไรกันมากมาย ถ้าอยากได้อะไรจริงๆ ก็คงต้องใช้บัตรเครดิตกันไป ซึ่งที่ร้านนี้ก็ใช้บัตรเครดิตไม่ได้..



การนำรถเข้ามานั้น สามารถเข้ามาได้แค่บางระยะเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปลึกมากกว่านี้ ซึ่งเขาก็จะระบุไปว่าสามารถเข้ามาได้แค่ไหน เมื่อมาได้สักระยะนึง เราจึงต้องกลับรถมุ่งหน้า ย้อนไปทางเดิม



พี่ที่พาเราเข้ามาเที่ยว พาเราไปดู การข้ามแดนของคนในพื้นที่แถวนี้ ในการไปมาหาสู่กัน ผ่านช่องทางการข้ามเรือ



เดินลงไปเป็นโป๊ะเรือเล็กๆ ลอยอยู่บน คลองสายเล็กๆ ที่กั้นเขตแดนระหว่าง ไทย กับ มาเลเซีย



มีผู้ใช้บริการมากมาย ข้ามฝั่งไปมาหาสู่กัน ราคาเรือข้ามฝั่งอยู่ที่ 20 บาท/เที่ยว



ใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีก็ข้ามเขตแดนกันได้แล้ว มีเรือวนให้บริการไป-กลับ



ฝั่งนี้มาเลเซีย – ฝั่งนู้นฝั่งไทย ใช้เวลาข้ามไม่นาน ซึ่งในบางฤดูกาลน้ำน้อยๆ หรือไม่มีน้ำ ก็สามารถเดินข้ามผ่านกันได้เลย



ยืนดูเขานั่งเรือข้ามฝั่งไปมา แป้บเดียวได้ตั้งหลายเที่ยว คนขับเรือก็วนพาเรือไปมาสองฝั่งอยู่อย่างนั้น



พอได้มาอยู่ริมน้ำ ก็ดูจะรู้สึกเย็นขึ้นเหมือนกัน ยืนดูอะไรสักพักก็เดินกลับเข้าตลาดกันดีกว่าครับ



ที่นี่มีห้างสรรพสินค้า และ ร้านขายของเยอะแยะมากมาย สำหรับคนที่ชอบช๊อปปิ้งก็น่าจะเป็นอะไรที่ถูกใจมาก เพราะสิ่งของบางอย่างราคาถูกกว่าที่ไทย และบางอย่างก็ดูเหมือนว่าราคาจะใกล้เคียงกัน แต่สำหรับเรา..ซึ่งไม่ได้ตั้งใจอยากจะมาซื้อของกันอยู่แล้ว แต่ก็ขอเข้าไปเดินเล่นตากแอร์ ดูสินค้าของบ้านเมืองเขากันสักหน่อยละกัน



ด้วยสภาพอากาศที่ร้อน และไม่ค่อยมีสิ่งที่น่าสนใจเท่าไรนัก ประกอบกับต้องรีบทำเวลา จึงเตรียมเดินทางกลับเข้าไทยกัน



ก่อนกลับมาแวะถ่ายรูปที่ป้ายแห่งนี้ เป็นที่ระลึก



สำหรับ Rantau Panjang ก็คงเหมือนเมืองชายแดนทั่วๆ ไป ที่มีร้านขายของมากมาย มีทั้งราคาถูกบ้าง แพงบ้าง ปะปนกันไป ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวก็ไม่ได้มีอะไรที่น่าสนใจเหมือนกับเมืองอื่น แต่ถ้าหากพอมีเวลาหรืออยากมาซื้อของก็สามารถข้ามมาเที่ยว มาเปลี่ยนบรรยากาศกันดูได้ครับ



เมื่อกลับมาถึงฝั่งไทย เราก็ได้ร่ำลา และ กล่าวขอบคุณ พี่ที่ได้ขับพาพวกเราข้ามฝั่งไปเที่ยวมาเลเซีย จากนั้น เราก็กลับมาขึ้นรถคันเดิมของเราที่จอดเอาไว้ที่ด่าน เพื่อออกเดินทางกันต่อไป!




14.30 น. สุคิริน..ดินแดนแห่งความชิลล์



ความตั้งใจแรกในช่วงเวลาบ่ายๆ นี้.. เราตั้งใจจะไปกันที่ป่า ฮาลา-บาลา ซึ่งเป็นสถานที่เที่ยวทางธรรมชาติที่ขึ้นชื่อของนราธิวาส ที่มาแล้วไม่ควรพลาด แต่.. ก็มีเหตุให้ต้องพลาดจนได้ อย่างแรกเลยคือเวลาที่ค่อนข้างจำกัด และ บริเวณนั้นมีฝนตก ถนนหนทางไม่ค่อยปลอดภัย จึงพับโครงการนี้ไปก่อน และมุ่งกันไปเที่ยวเฉพาะที่ “อำเภอสุคิริน" แทน



จาก อำเภอสุไหงโกลก ใช้เวลาราวๆ ชั่วโมงเศษ เพื่อเดินทางไปกันที่ “อำเภอสุคิริน" อำเภอหนึ่งที่อยู่ติดชายแดนเช่นกัน



ในการเดินทางก็จะพบกับด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ทหาร ตลอดเส้นทาง มีทั้งด่านตรวจธรรมดาทั่วๆ ไป จนถึงด่านตรวจที่ค่อนข้างเข้มงวด มีการสอบถามจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับที่มาที่ไปของพวกเรา ซึ่งดูเหมือนคำตอบ.. ที่ว่า "พวกผมมาเที่ยวกันครับ" จะสร้างความประหลาดใจให้กับเจ้าหน้าที่พอสมควร



ไม่นานก็เดินทางมาถึง “ฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านไอปาโจ" ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นจุดศูนย์กลางของการท่องเที่ยวของอำเภอสุคิรินเลยก็ว่าได้ มีทั้งข้อมูลการท่องเที่ยว และที่พักหลักร้อยราคาประหยัดท่ามกลางบรรยากาศแบบธรรมชาติ



โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านไอปาโจ เป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานที่ดิน 128 ไร่ ให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่ทำการเกษตรเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและสร้างรายได้ ให้กับครอบครัว โดยไม่ต้องเดินทางไปไกลที่อาจเสี่ยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในโครงการฟาร์มตัวอย่างมีผลผลิตจากการเกษตรจำหน่ายในราคาถูก อีกทั้งยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น การพายเรือแคนู การล่องแก่ง การขับรถ ATV บริการให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย จากป้ายที่จัดแสดงจะเห็นว่าในอำเภอสุคิริน มีสถานที่ท่องเที่ยว และกิจกรรมให้ทำเยอะแยะมากมายเลยครับ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในอำเภอสุคิริน



ซึ่งก็ขอแนบภาพแผนที่สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ใน “อำเภอสุคิริน" มาด้วยครับ ดูเหมือนว่าต้องใช้เวลาพอสมควรเลยถ้าอยากเที่ยวให้ครบ


บริการรถ ATV ขับเล่นบริเวณในฟาร์มฯ ชั่วโมงละ 200 บาท



บางส่วนของชาวบ้านในอำเภอสุคิริน ยังมี การร่อนทอง เป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้เมื่อยามว่าง จึงเห็นภาชนะที่ไว้ร่อนทองจำหน่าย และใช้เป็นสัญลักษณ์ในการทำเป็นของที่ระลึกอีกด้วย



สินค้าต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมาจำหน่าย



การมาเยือน โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านไอปาโจ ในช่วงบ่ายๆ นี้ จุดประสงค์หลักของเราก็คือ การมาล่องแก่งตามลำธาร ชมธรรมชาติสองข้างทาง(คนละ 200 บาท) แต่ทว่า.. เหมือนจะพลาดกันไปอีกกิจกรรมซะแล้ว เพราะว่าช่วงที่เราเดินทางมากันนี้ น้ำในลำธารที่จะไปล่องกันนั้นมันน้อยมากๆ จึงทำให้พลาดกิจกรรมนี้ไปอย่างน่าเสียดาย มาคราวหน้าคงได้มีโอกาสกลับมาแก้ตัวกันอีกรอบ .. และพวกเราก็ตั้งใจจะมากันอีกรอบจริงๆ ซึ่งถ้าใครอยากมาล่องแก่งก็คงต้องเช็คข้อมูลกันให้ดีก่อนเดินทางครับ



บรรยากาศบริเวณภายใน โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านไอปาโจ จะมีบึงเล็กๆ มีบริการเรือเป็ดให้ถีบเล่น



เมื่อไม่ได้ล่องแก่ง ก็มาถีบเรือเป็ดแก้ขัดกันไปก่อนละกันนะ.. 55





15.30 น. วัดพระธาตุภูเขาทอง



ที่ ฟาร์มไอปาโจ เราได้ทำความรู้จักกับ อ้อ ซึ่งเป็นเพื่อนกับรุ่นน้องที่พามาเที่ยวนี่เอง เนื่องจาก อ้อ ทำงานอยู่ในพื้นที่อำเภอสุคิริน จึงรู้จักกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ภายในอำเภอสุคิรินนี้ เป็นอย่างดี อ้อจึงอาสาพานำเที่ยว พร้อมกับพา ไกค์สาวน้อย อีกสองคนมาด้วย โดยอ้อ จะขับรถ นำหน้ารถของพวกเราเพื่อไปเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ครับ โดยจุดแรกจะไปกันที่ วัดพระธาตุภูเขาทอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่สูงบนเขา ตามแผนที่จะเห็นว่าอยู่ติดกับชายแดน ไทย-มาเลเซีย เลย



ไม่นานก็ขึ้นมาถึง วัดพระธาตุภูเขาทอง ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องศาสนาพุทธอีกแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอสุคิรินแห่งนี้



ไหว้ พระธาตุภูเขาทอง เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมเดินชมบรรยากาศโดยรอบ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและป่าเขา จึงมีความสงบเงียบมาก



ในบริเวณ พระธาตุภูเขาทอง นี้อาจเรียกอีกอย่างว่า สำนักสงฆ์เขาพรมแดน เป็นจุดสิ้นสุดปลายด้ามขวาน พรมแดน ไทย-มาเลเซีย และมีความพิเศษอย่างหนึ่งก็คือ บริเวณนี้ ในยามเช้าจะมีทะเลหมอกให้ดูด้วย



และ ที่นี่จะเป็นที่พักหลับนอนสำหรับพวกเราในค่ำคืนนี้ ซึ่งจะมีที่พักให้บริการอยู่ 2-3 หลัง ทั้งแบบหลังเล็กและหลังใหญ่ สำหรับพวกเราเดินทางมากัน 5 คนก็จะเข้าพักในบ้านหลังเล็ก(คืนละ 1000 บาท) ซึ่งเดินไม่ไกลจาก จุดชมทะเลหมอก เพียงไม่กี่ก้าวเท่านั้น โดยพวกเราจะย้อนกลับมาเช็คอินเข้าพักในช่วงเย็นๆ อีกที ตอนนี้ขอวนไปเที่ยวรอบๆ บริเวณนี้ให้เต็มที่กันก่อนครับ





15.45 น. เนินพิศวง!



อ้อ ขับรถนำรถของเราไปอย่างรวดเร็วใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีก็พากันมา จอดริมทางกันที่ “เนินพิศวง" ซึ่งถ้าใครพอทราบเกี่ยวกับเนินพิศวงดี ก็จะรู้ว่าในประเทศไทยมีเนินพิศวงหลายจุดมากๆ และที่นี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยลักษณะเส้นทางถนนที่เป็นแบบเนินพิศวง จะเป็นคล้ายภาพลวงตา เช่น เมื่อเราจอดรถปลดเบรค ใส่เกียร์ว่าง จะเห็นรถไหลขึ้นเนิน ซึ่งอันที่จริงแล้ว รถก็ไหลลงเนินตามปกติ เพียงแต่ลวงตาให้เห็นเป็นเช่นนั้นเอง



ช่วงเวลานี้ เลยได้บรรยากาศการเที่ยวที่คึกคักหน่อย เพราะ อ้อ(เสื้อเหลือง) ได้พา น้องไกค์ตัวน้อย(เสื้อชมพู) 2 คนมาด้วย ซึ่งน้องๆ ก็บรรยายให้ความรู้กับพี่ๆ ได้อย่างดีเลย มีหยอกล้อ สนุกสนานกันไปบ้างในบางจังหวะ ดูเฮฮาดีครับ



เส้นทางเนินพิศวงดังกล่าว ซึ่งหากลอง จอดรถ ปลดเบรค ใส่เกียร์ว่าง จะมองเห็นว่ารถค่อยๆ ไหลขึ้นเนินได้อย่างน่าประหลาด หรือ สามารถทดสอบง่ายๆ ด้วยการวางขวดน้ำให้กลิ้งไหลขึ้นเนินก็ได้เช่นกัน



แม้ผู้เดินทางบางส่วนยังคงสงสัยกับลักษณะเนินพิศวงนี้ แต่น้องไกค์ก็คอยมาอธิบายอย่างฉะฉานให้คำตอบได้ดีทีเดียว





16.00 น. ต้นกะพงยักษ์ ขนาด 32 คนโอบ!



จากเนินพิศวงนี่เอง.. ตรงริมถนน จะเห็นทางเดินเท้าเล็กๆ เดินลาดลงเข้าไปในป่า ซึ่งทางนี้เองจะเป็นทางเดินที่จะพาไปจุดต่อไป นั่นก็คือ “ต้นกะพงยักษ์" น้องไกค์ทั้งสอง เดินนำหน้าพาเข้าป่าไปอย่างชำนาญทาง และดูคล่องแคล่วว่องไว เดินมาสักพักจะเห็นสะพานข้ามลำธาร



ตรงนี้บรรยากาศดี อากาศสดชื่น ขอแวะชมธรรมชาติ ถ่ายรูปเล่นกันสักพัก ก่อนจะเดินข้ามสะพาน เข้าไปยังผืนป่าที่เห็นอยู่เบื้องหน้า



เส้นทางเดินในป่า เป็นเส้นทางที่ใช้เดินอยู่ประจำ สังเกตได้ง่าย ไม่ต้องกลัวว่าจะหลง



ซึ่งระยะทางก็ไม่ได้ไกลมาก เพียง 400 เมตรเท่านั้น เดินชมบรรยากาศเล่นไป เรื่อยๆ ครับ



มีบางช่วงที่ต้องเดินข้ามลำธาร(ที่ตอนนี้มีน้ำน้อย)บ้าง อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังหน่อย เพราะหินค่อนข้างจะลื่น



เดินผ่านกลางลำธาร เหมือนว่าช่วงนี้น้ำจะแลดูน้อยๆ หน่อยนะครับ (ช่วงนี้แถวนี้น้ำน้อย จึงทำให้ช่วงบ่ายที่ผ่านมาล่องแก่งกันไม่ได้เช่นกัน) แต่สภาพโดยรวมก็เขียวขจี สดชื่นดีครับ



และแล้ว.. ก็เดินทางมาถึง ต้นกะพงยักษ์ เป็นต้นไม้ที่อยู่ในเขตป่า ฮาลา - บาลา ซึ่งมีอายุมากอีกต้นหนึ่งของอำเภอสุคิริน ครับ ความรู้สึกแรกที่พบเห็น คือ ต้นกระพงยักษ์ต้นนี้มีขนาดใหญ่มาก



ถ้านักท่องเที่ยวจับมือแล้วล้อมรอบต้นกระพงยักษ์ต้นนี้ จะต้องใช้คนถึง 32 คน!



ลองยืนเปรียบเทียบสัดส่วนกับต้นกะพงยักษ์ต้นนี้ดู เห็นได้ถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน มีขนาดใหญ่โตมาก



ลำต้นสูงใหญ่ ถึงขนาดต้องเงยหน้าเพ่งมองหายอดของต้นไม้กันเลยทีเดียว



ความเขียว คือ สีสันของสิ่งมีชีวิตรอบตัว ที่สร้างความสดชื่นสบายตาในขณะนี้





16.15 น. น้ำตกศรีทักษิณ




จาก ต้นกะพงยักษ์ เดินลึกเข้าไปอีกประมาณ 200 เมตร ก็จะไปเจอกับ น้ำตกศรีทักษิณ เส้นทางเดินไม่ลำบากมาก แต่ต้องระวังลื่นกันแค่นั้นเอง



เดินเล่นๆ ชมธรรมชาติ ไม่ถึง 10 นาทีก็มาถึง น้ำตกศรีทักษิณ บรรยากาศโดยรอบอากาศเย็นสดชื่น



ช่วงนี้ น้ำอาจจะดูน้อยไปสักหน่อย นะครับ



ระหว่างนี้ ก็นั่งพักเหนื่อย ดูน้ำตก ชมธรรมชาติ กันไป



เราใช้เวลาอยู่ที่นี่กันไม่นานนัก เพราะเกรงว่าจะมืดค่ำเกินไป และก็ยังเหลืออีก 2-3 จุดที่ต้องไปแวะก่อนกลับเข้าที่พัก ซึ่งเมื่อได้พักให้หายเหนื่อยแล้ว ก็ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ก่อนเดินย้อนกลับออกไปทางเดิม





16.45 น. ชายแดนไทย-มาเลเซีย สุดปลายด้ามขวานทอง!



จากนั้น เราขับรถเลียบชายแดนมากันต่อที่ จุดผ่อนปรนบ้านภูเขาทอง (ชายแดนไทย-มาเลเซีย สุดปลายด้ามขวาน) ตรงจุดนี้เป็นเขตชายแดนระหว่าง อำเภอสุคิริน (ประเทศไทย) กับ อำเภอเยอลี (ประเทศมาเลเซีย) ที่ในอดีตเคยเปิดชายแดนให้ประชาชนทั้งสองประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันได้ ก่อนที่จะได้ทำการปิดในภายหลัง และกำลังเจรจาที่จะขอเปิดเขตแดนอีกครั้งในอนาคต ซึ่งเขตแดนจะมีเพียงรั้วลวดหนามกั้นอยู่เท่านั้น ดินแดนอีกฝั่งของรั้วก็คือ ประเทศมาเลเซีย ที่มีป้อมสังเกตการณ์ขนาดใหญ่ และมีทหารของมาเลเซียประจำการอยู่บนป้อมตลอดเวลา



แอบส่อง ขึ้นไปดูทหารมาเลเซีย ทหารมาเลเซียก็ส่องกล้องทางไกล กลับมาดูฝั่งเราบ้าง



ป้ายสุดด้ามขวานทอง.. ใครมาก็ต้องมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันสักหน่อย



ธงของทั้งสองประเทศ ไทย – มาเลเซีย



สุดปลายด้ามขวานหลักเขตที่ 149/65 หลักเขตขนาดความสูง 2.50 เมตร





17.00 น. เล่นน้ำที่ไอกาเปาะ!



เข้าสู่ช่วงเวลาแดดร่มลมตก อากาศเริ่มเย็นลง เราขับรถจาก หลักเขตชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อไปกันต่อที่ น้ำตกไอกาเปาะ ซึ่งจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดท้ายของวันนี้ และเราก็จะไปเล่นน้ำกันที่นั่น



หลังจากได้ขับรถ เที่ยววนไปมา อยู่ภายในอำเภอสุคิริน เรามีความรู้สึกกันว่าบรรยากาศของการเดินทางของที่นี่ เหมือนได้ไปเที่ยวเชียงใหม่ หรือ จังหวัดแถบภาคเหนือของไทยกันเลย สภาพเส้นทางบางช่วงที่ลัดเลาะตามป่าเขา มีต้นไม้เขียวๆ สดชื่นสบายตาตลอดทาง และบางยอดเขาก็มีสายหมอกจางๆ คลอเคลียเห็นอยู่แต่ไกล อากาศเย็นสบาย จนเราต้องเปิดกระจกรับอากาศดีๆ จากสองข้างทาง



เราขับรถ ตามรถของอ้อ มาจนถึง น้ำตกไอกาเปาะ ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำของโรงไฟฟ้าไอกาเปาะอีกด้วย โดยที่นี่จะผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่บ้านไอกาเปาะ และพื้นที่ใกล้เคียง ให้ได้ใช้กระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำแห่งนี้



น้ำตกเล็กๆ เบื้องล่าง ชักชวนให้เราเดินไต่ลงไปหามัน เราตอบตกลงพร้อมเปลี่ยนเสื้อผ้าลงไปหาโดยทันที เพียงแค่เท้าข้างหนึ่งแตะลงไปบนผืนน้ำก็สัมผัสได้ถึงความเย็นสดชื่นแล้ว



น้ำใสจนมองเห็นก้อนกรวดเล็กๆ ใต้น้ำ แม้จะดูเหมือนว่าน้ำไม่ลึกมาก แต่เมื่อได้ลองเดินเข้าไปใกล้น้ำตกเรื่อยๆ ระดับน้ำก็จะค่อยๆ ลึก ในทุกก้าวที่เดินเข้าไป จนมิดหัวเลยทีเดียว



ช่วงเวลานี้.. อาจจะดูว่าน้ำน้อยไปสักหน่อย แต่ก็ลงเล่นน้ำได้สะใจอยู่เหมือนกัน ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติแบบนี้



บรรยากาศ ผ่อนคลาย ชิลล์ๆ กันไป



เล่นน้ำเย็นสดชื่น สนุกสนานกันได้อยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง สายฝนก็โปรยปรายลงมาอย่างหนัก ได้รับทั้งความเย็นจากน้ำตก และความเย็นจากสายฝน เรารอให้ฝนซาลง เบาบางลงไปอีกหน่อย ก่อนจะไปเปลี่ยนเสื้อผ้า เตรียมกลับเข้าสู่ที่พัก ก่อนจะมืดค่ำไปมากกว่านี้...




18.00 น. เข้าสู่ที่พัก.. บ้านภูเขาทอง!



เราแยกย้ายกับอ้อ และ น้องไกค์ทั้งสอง กลับขึ้นมาที่ พระธาตุภูเขาทอง บริเวณสำนักสงฆ์เขาพรมแดนกันอีกครั้ง เราจะพาพักกันที่บ้านพักที่อยู่บนเขาแห่งนี้ ซึ่งบริเวณนี้เท่าที่เห็นมีบ้านพักอยู่ 2-3 หลัง ทั้งหลังใหญ่ พักได้หลายคน และหลังเล็กสำหรับมาพักกันแบบกลุ่มเล็กๆ จุดเด่นของการมาพักที่นี่ก็คือ บรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ และอยู่บนที่สูงทำให้สามารถมองเห็นทะเลหมอกในตอนเช้าโดยเดินไปชมเพียงไม่กี่สิบก้าว ซึ่งในช่วงยามเย็นฝนตกพรำๆ ก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบเช่นกัน



ช่วยกันขนของเข้าสู่ที่พักสำหรับค่ำคืนนี้ เราอยู่กันในบ้านหลังเล็ก(คืนละ 1000 บาท) ซึ่งเป็นบ้านสองชั้น ชั้นบนจะเป็นห้องนอนใหญ่ 1 ห้อง มีห้องน้ำชั้นบน และ ชั้นล่างอย่างละห้อง ส่วนชั้นล่างเปิดโล่ง มีโต๊ะไว้นั่งล้อมวงทานข้าว



อาหารมื้อเย็นสามารถสั่งล่วงหน้าเอาไว้ได้ คิดเป็นรายหัว ซึ่งในมื้อเย็นคิด คนละ 100 บาท (มื้อเช้า 60 บาท, มื้อกลางวัน 60 บาท) พอพวกเราเก็บของเสร็จ เขาก็เตรียมอาหารมื้อเย็นไว้ให้เรียบร้อยแล้ว มีอาหารอยู่ 4 อย่าง พร้อมกับน้ำพริก ซึ่งมื้อนี้ทีเด็ดต้องยกให้ ต้มยำปลา เพราะอร่อยถูกใจจริงๆ มีเติมให้ด้วย และก็น้ำพริกนี่ก็เด็ดเช่นกันครับ ทานพร้อมไข่เจียวนี่สุดยอดไปเลยซึ่งไข่เจียวนี่ก็หมดไป 3 จานกันเลยทีเดียว อิ่มอร่อยมาก!



ยามเย็นทานข้าวไปชมบรรยากาศไปครับ ตอนนี้ฝนเริ่มจะหยุดแล้ว มองเห็นพระธาตุภูเขาทอง ที่มีฉากหลังเป็นสายหมอกบางๆ หยอกเย้ากับยอดเขา



มองไปอีกฝั่งหนึ่งก็จะเห็นสายหมอกลอยต่ำๆ พาดผ่านยอดไม้ กับ แสงอาทิตย์ที่กำลังจะหมดแสงลงในอีกไม่กี่อึดใจ



อิ่มจากอาหารมื้อเย็นก็มาเดินเล่น นั่งเล่น ดูหมอกลอยฟุ้งๆ บรรยากาศชิลล์ๆ






20.00 น. ราตรีสวัสดิ์.. สุคิริน!



เข้านอนกันไวมากเมื่อเทียบกับการเดินทางในทริปอื่นๆ เพราะในขณะนี้รอบตัวทุกอย่างมืดมิด และเต็มไปด้วยเสียงจั๊กจั่นเรไร มีเพียงแสงไฟ จากบ้านของเรา และบ้านพักอีกหลังที่อยู่ข้างๆ เท่านั้น ช่วงเวลานี้เหมือนจะไม่มีอะไรทำ เพราะบริเวณนี้ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์!! คือ ไม่มีแม้แต่สัญญาณโทรเข้า-โทรออก ส่วนอินเตอร์เนตนั้นไม่ต้องพูดถึง เราจึงถูกตัดขาดจากโลกภายนอกกันตั้งแต่ช่วงเย็นๆ ที่เดินทางมาถึง และจะเป็นแบบนี้จนกว่าจะเดินทางกลับลงไปในวันรุ่งขึ้น สำหรับที่หลับที่นอนของเราก็ง่ายๆ ปูเสื่อ ปูฟูก แล้วก็นอนเรียงกัน ซึ่งก็มีอุปกรณ์เครื่องนอนเตรียมเอาไว้ให้ พร้อมพัดลมอีกหนึ่งตัวที่ดูเหมือนไม่จำเป็น เพราะอากาศที่เย็นพอสมควรเลย



สภาพของห้องน้ำชั้นบน อาบน้ำได้อย่างเย็นสบาย และมีอีกหนึ่งห้องที่อยู่ชั้นล่าง



ไม่มีอะไรทำก็เลยได้เข้านอนกันเร็วกว่าปกติครับ อินเตอร์เนตก็เล่นไม่ได้ นอนเอาแรงกันดีกว่า พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้าตรู่ ไปดูทะเลหมอกกัน ราตรีสวัสดิ์.. สุคิริน!






DAY 3

05.45 น. ตื่นเช้า.. มาดูทะเลหมอก



ตื่นกันมาแต่เช้า.. ดาวยังไม่ทันจางหายไปจากฟากฟ้า อากาศตอนเช้าเย็นมาก แต่ไม่ถึงขั้นหนาว บรรยากาศเหมือนว่าไปเที่ยวอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ แต่ที่จริงเรายืนอยู่กันทางใต้สุดของประเทศ เดินจากบ้านพักไปไม่กี่สิบก้าวไปที่ จุดชมวิวทะเลหมอก รอเวลาให้เช้ากว่านี้สักหน่อย เมื่อเริ่มมีแสง ก็เริ่มเห็นสายหมอกเล็กๆ ค่อยๆ คืบคลานมา



ชิงช้าตัวนี้น่าจะได้รับความนิยมอย่างดีจากผู้มาเยือน



มองไปไกลๆ เห็นเป็นแอ่งทะเลหมอกที่หยอกเย้าอยู่กับยอดเขา



ตรงบริเวณจุดชมวิวนี้จะสร้างเป็นระเบียง เอาไปยืนชมทะเลหมอก และ ไว้ถ่ายภาพอีกด้วย



เวลาผ่านไปไม่นาน.. สายหมอกก็ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาใกล้เรื่อยๆ



และ ก็ได้สัมผัสกับบรรยากาศสายหมอกแค่เอื้อม



ซึ่งถึงแม้ว่า.. ในเช้าวันนี้ทะเลหมอกจะไม่ได้อลังการงานสร้างมากมาย แต่สำหรับพวกเราก็พอใจแล้ว ที่ได้พาดู ทะเลหมอก (เล็กๆ) ที่ชายแดนใต้กันในวันนี้



จากจุดชมวิวจะมองเห็นบ้านพักอีกหลัง ซึ่งหลังนี้เป็นหลังใหญ่อยู่ได้หลายคนเลย และเหมือนว่าจะตั้งอยู่ริมเขา ชมวิวได้จากที่บ้านได้เลย



ภูเขา ต้นไม้ สายหมอก บรรยากาศสดชื่นเย็นสบาย



นั่งพักผ่อน สูดอากาศดีๆ ยามเช้า ถ้าได้กาแฟร้อนๆ สักแก้วนะ ใช่เลย!



เข้าสู่ช่วงสาย แสงแดดเริ่มแรงขึ้น สายหมอกก็เริ่มหดหายไป ..เหลือเก็บเอาไว้แต่เพียงความประทับใจ





07.00 น. ได้เวลาอาหารเช้า!



เดินกลับมาจาก จุดชมวิวทะเลหมอก ก็เห็นหม้อ อาหาร และจานชามต่างๆ วางบนโต๊ะ ที่ชั้นล่างของบ้านพัก ซึ่งเป็นอาหารมื้อเช้าของเรานั่นเอง..



ในเช้าวันนี้เป็น ข้าวต้มไก่ ร้อนๆ เข้ากับสภาพอากาศเย็นๆ ของเช้าวันนี้



ได้มาในปริมาณที่เยอะพอสมควร ที่นี่เขาทำอาหารอร่อยจริงๆ ตั้งแต่มื้อเย็นเมื่อวานแล้ว และข้าวต้มไก่มื้อเช้าก็อร่อยเหมือนกัน ซัดกันเกือบหมดหม้อ...



และ ก็มี ปาท่องโก๋ กับ กาแฟ มาให้อีกด้วย เป็นมื้อเช้าที่อิ่มสบายพุงอีกมื้อ!





09.00 น. เตรียมเดินทางกลับ!



กินอิ่ม.. แล้วก็อาบน้ำอาบท่า ได้เวลาอันพอสมควรที่จะต้องเดินทางกลับ ซึ่งพวกเราไม่ควรจะออกไปสายมากกว่านี้ เพราะจะไม่ทันเที่ยวบินขากลับในเวลาประมาณเที่ยงครึ่ง พวกเราต่างช่วยกันเก็บของ ขนของขึ้นรถกันอีกครั้ง ..และนี่คือ บ้านพักที่เรานอนกันเมื่อคืน



แค่ช่วงสายๆ แสงแดดจัด จนไม่เหลือร่องรอยของสายหมอกที่ยืนดูกันเมื่อสักครู่นี้ พวกเราจึงขอเก็บภาพบรรยากาศรอบๆ ในช่วงเวลาแสงดีๆ ก่อนจะเดินทางกลับกันสักหน่อยครับ





11.00 น. กลับเข้าสู่ตัวเมืองนราธิวาส



ในช่วงที่ลงจากเขามาใหม่ๆ ก็เริ่มมีสัญญาณโทรศัพท์ และก็เริ่มติดต่อจากโลกภายนอกกันได้แล้ว จาก บ้านภูเขาทอง เราขับรถมุ่งตรงเข้าสู่ ตัวเมืองนราธิวาส โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก็เข้ามาสู่ภายในเขตตัวเมือง ผ่านแลนด์มาร์คสำคัญ นั่นก็คือ หอนาฬิกาประจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีความโดดเด่นและสวยงาม หอนาฬิกานี้มีความพิเศษที่หลังคาตกแต่งในรูปทรงแบบปั้นหยา เป็นสถาปัตยกรรมของท้องถิ่น และใช้กระเบื้องว่าวเป็นส่วนในการตกแต่งหอนาฬิกา



เวลายังพอมีเหลือในการเดินทางต่อไปยังสนามบิน พวกเราลงความเห็นว่าควรจัดการมื้อเที่ยง ลิ้มลองอาหารพื้นเมืองกันสักหน่อยดีกว่า รุ่นน้องผู้คุ้นเคยกับร้านต่างๆ แถวนี้ดี ก็เลยเลี้ยวรถขับพาที่ร้านต้นมะม่วง(ตามที่รุ่นน้องเรียก) เป็นร้านอาหารข้าวราดแกงท้องถิ่นแบบง่ายๆ



มีอาหารท้องถิ่นให้เลือกเยอะแยะมากมาย ในมื้อนี้ก็เลือกทานกันไปตามอัธยาศัย อาหารอร่อย ..รสจัดจ้านตามท้องเรื่องเลย



ไหนๆ มาเยือนถึงถิ่นปลายด้ามขวานกันแล้ว ก็ต้องซื้อหาของฝากจากที่นี่กลับบ้านไปกันบ้าง มาแวะซื้อที่ร้านของฝากนี้เลยครับ ไม่ไกลจากหอนาฬิกา ของฝากที่ว่า.. นั่นก็คือ “กือโป๊ะ" ซึ่งถือว่าเป็นของดีจากปลายด้ามขวานเลย หลายคนอาจจะงงว่า.. กือโป๊ะหน้าตาจะเป็นแบบไหน? ถ้าบอกว่ามันคือ ข้าวเกรียบปลา น่าจะเป็นอะไรที่เข้าใจตรงกัน โดยจุดแรกเริ่มของการทำกือโป๊ะ ก็คือ ในสมัยก่อนที่ท้องทะเลอุดมสมบูรณ์ชาวประมงหาปลาได้มาก ทำให้ต้องหาวิธีในการถนอมอาหาร ไม่ให้ปลาเหล่านั้นเน่าเสีย จึงคิดวิธีเอาเนื้อปลามาผสมกับแป้ง แล้วเอาไปตากแดดจนแห้ง ซึ่งเป็นวิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่ง เมื่อต้องการนำมาทาน ก็เอามาทอดอีกที.. จนกลายมาเป็นของขึ้นชื่อของที่นี่



ในยุคสมัยใหม่นี้ จะเห็น กือโป๊ะ ที่มีความหลากหลาย ทั้งรสชาติและบรรจุภัณฑ์ที่ดูทันสมัยขึ้น ถ้าจะให้อร่อยต้องทานคู่กับน้ำจิ้มที่แถมมาให้ด้วย ในส่วนราคานั้นถือว่าถูกมาก ถุงละ 25-30 บาท เท่านั้น



มีหลากหลายรสให้เลือกซื้อหา ขนาด รสช็อคโกแลต ก็ยังมี!





12.00 น. ลาก่อน.. นราธิวาส!



เดินทางมาถึง สนามบินนราธิวาส การตรวจผู้โดยสารขาเข้า-ขาออก ยังคงเข้มงวดเหมือนเดิม เนื่องจากเวลาที่ดูกระชั้นพอสมควร พวกเราผู้มาเยือนทั้ง 4 รีบกล่าวร่ำลารุ่นน้องผู้ชักชวนมาเที่ยว และขับรถพาเที่ยวตลอดทั้งทริปนี้ มีโอกาสคงได้กลับมาเยี่ยมเยียนกันอีก.. ก่อนจะรีบเดินเข้า Gate เตรียมตัวเดินทางกลับกันครับ



สำหรับการเดินทางครั้งนี้.. ทำให้ผม และเพิ่อนผู้ร่วมเดินทาง ได้ประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้ไปเยือนสักครั้ง ซึ่งในหลายสถานที่ท่องเที่ยวเองก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักของใครหลายคน จึงมีนักท่องเที่ยวน้อย ถ้าจะมีบ้างก็เพียงนักท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะข่าวสถานการณ์ความไม่สงบที่มีให้เห็น ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวไม่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว หรือ สนใจแต่ก็ยังไม่กล้ามา(แบบผม) ..ได้เห็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่ทุกคนก็ต่างใช้ชีวิตกันอย่างปกติ ได้เห็นถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ที่ไม่ได้คิดมาก่อนว่าใต้สุดแดนสยามจะมีผืนป่า และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้ได้เที่ยวเยอะขนาดนี้ แม้ว่า.. ครั้งนี้จะพลาดการเข้าไปเที่ยวผืนป่า ฮาลา-บาลา และ สถานที่สำคัญในหลายๆ ที่ แต่คิดว่าถ้ามีโอกาสได้กลับมา “นราธิวาส" อีกก็คงไม่พลาดแน่นอน...



ไม่นานก็ได้เวลาออกเดินทางกลับสู่กรุงเทพฯ ดูเหมือนเวลาจะผ่านไปรวดเร็วซะเหลือเกิน ซึ่งแม้เวลาจะน้อยนิด.. แต่ก็ได้ความประทับใจเก็บใส่กระเป๋ามาเยอะเหมือนกัน มานราธิวาสครั้งนี้.. ช่วยเปิดประสบการณ์หลายอย่างเลยทีเดียวครับ!



แล้วเจอกันใหม่.. นราธิวาส.. สวัสดี.. (-/\-)




การท่องเที่ยวเชิงไฉไล | CHAILAIBACKPACKER

Fanpage : https://www.facebook.com/chailaibackpacker

Instagram : CHAILAIBACKPACKER

Twitter : @chailaibackpack / goo.gl/VIBXC9


CHAILAIBACKPACKER

 วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 17.46 น.

ความคิดเห็น