หากพูดถึงพีระมิดใครหลายคนคงนึกไปถึงประเทศอียิปต์

นึกไปถึงภาพชาวอาหรับขี่อูฐเดินเรียงรายเป็นทิวแถวกลางทะเลทราย

แล้วมีมหาพีระมิดแห่งกีซาหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเป็นฉากหลัง

แต่จริงๆแล้วพีระมิดไม่ได้มีแค่ในประเทศอียิปต์ หากมีกระจัดกระจายอยู่ตามทวีปต่างๆ ทั่วโลก

ทั้งในอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง จีน อินโดนิเซีย

แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างกัมพูชาก็มีพีระมิด!

แต่เรื่องราวของพีระมิดทุกแห่งคงไม่มีที่ไหนจะน่าสนใจเท่ากับ “พีระมิดเมืองไทย"

ที่ทำเอาผมตาลุกวาวเมื่อได้อ่านบทความในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ตอนแรกคิดว่าน่าจะเป็นพีระมิดพระนางเรือล่ม

ที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดฯให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักต่อพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

ที่น้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี

แต่ไม่ใช่! เพราะพีระมิดที่กล่าวถึงเป็นโบราณสถานที่มีความเก่าแก่นับพันปี!

ว่ากันว่ามีขนาดใหญ่และเก่าแก่กว่าพีระมิดเกาะแกร์ที่ประเทศกัมพูชาเสียอีก!

แล้วพีระมิดเมืองไทยจะมีอยู่จริงหรือ?



การเดินทางเพื่อออกไปไขปริศนาค้นหาคำตอบจึงเริ่มต้นขึ้น ผมรวบรวมข้อมูลที่พอจะหาได้แล้วมุ่งหน้าขึ้นเหนือ

ไปตามเบาะแสของเมืองโบราณนามว่า “ศรีเทพ" เมืองที่มีความเก่าแก่กว่าประวัติศาสตร์ชาติไทย

คือมีมาก่อนการตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เป็นยุคสมัยที่อารยธรรมทวารวดีเจริญเฟื่องฟู

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-18 ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ใครหลายคนคงรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี

แต่จะมีซักกี่คนเชียวที่จะรู้ว่าที่นี่มีสิ่งก่อสร้างที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น “พีระมิด" ซ่อนอยู่!!



ราวๆ 240 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯก็นำพาผมมายังปากทางเข้าเมืองศรีเทพ

แต่แทนที่ผมจะเลี้ยวเข้าไปกลับขับรถเลยขึ้นไปทางทิศเหนือตามถนนลาดยางสายเล็กๆ อีกประมาณ 2 กิโลเมตร

ภาพเบื้องหน้าตรงบริเวณหัวโค้งทางด้านซ้ายมือทำเอาผมทึ่งในความใหญ่โตอลังการของโบราณสถาน

ที่สร้างด้วยศิลาแลงขนาดมหึมาที่น่าจะมีความสูงจากพื้นถึงยอดประมาณ 20 เมตร

และตามข้อมูลที่ได้ศึกษามาก่อนบอกไว้ว่าส่วนฐานนั้นมีขนาดกว้างยาวถึง 64 เมตร!


โบราณสถานแห่งนี้มีลักษณะคล้ายพีระมิดชนิดที่มีบันไดอยู่ทั้ง 4 ด้าน

แม้สิ่งที่เห็นจะไม่ได้ดูเป็นรูปทรงพีระมิดตามที่วาดไว้ คือเห็นแค่ฐานท่อนล่างครึ่งเดียว

ขาดส่วนยอดบนสามเหลี่ยมอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งน่าจะพังทลายไปตามกาลเวลา

เพราะเห็นมีซากอิฐกองพะเนินอยู่ด้านบน



ผมลงจากรถมาท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบ ที่นี่น่าจะยังไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก

คุณลุงเจ้าหน้าที่เดินยิ้มเข้ามาทักทายและเล่าเรื่องราวให้ผมฟังคร่าวๆ ว่า

“แต่เดิมเมืองศรีเทพเป็นเมืองของชาวมอญรับวัฒนธรรมมาจากอินเดียนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท

ต่อมาภายหลังขอมเข้ามาปกครองสิ่งก่อสร้างต่างๆ จึงมีลักษณะศิลปะทวารวดีปนขอม"



“โบราณสถานแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า เขาคลังนอก เนื่องจากก่อนการขุดค้นพบมีสภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่

และมีต้นไม้ปกคลุมอยู่โดยรอบปรากฏร่องรอยของการลักลอบขุดค้นหาของโบราณเป็นโพรงลึกเข้าไป

ซึ่งมีความเชื่อกันว่าเคยเป็นสถานที่เก็บทรัพย์สมบัติหรืออาจจะเป็นคลังอาวุธในสมัยนั้น"



“เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาสำรวจจึงพบโครงสร้างภายในและได้ทำการขุดเอาดินที่ทับถมออก

ปรากฏเป็นโบราณสถานที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่กว่าโบราณสถานอื่นๆ ที่อยู่ร่วมสมัยกัน

อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย"



“น่าทึ่งจริงๆ นะครับ" ผมบอกกับคุณลุงก่อนกล่าวขอบคุณและขอตัวเดินไปสำรวจรอบๆ

เดินอ้อมไปขึ้นบันไดทางด้านทิศตะวันตก เพราะเป็นบันไดด้านเดียวจากทั้งสี่ด้าน

ที่สามารถขึ้นถึงชั้นบนสุดได้


ด้านบนเป็นลานกว้างมองเห็นทัศนียภาพได้โดยรอบ ตรงกลางมีซากปรักหักพังของกองอิฐกองใหญ่

ซึ่งตอนแรกผมคิดว่าน่าจะเป็นส่วนยอดของพีระมิดที่พังทลายลงมา แต่คุณลุงบอกว่านั่นเป็นซากของสถูปโบราณ

เขาคลังนอกจึงไม่ใช่พีระมิดตามที่เข้าใจ หากแต่เป็นมหาสถูปที่ตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่

ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13-14

ก่อนจะเสื่อมสลายไปพร้อมกับเมืองศรีเทพในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18



ตอนนี้ปริศนาทุกอย่างได้ถูกไขให้กระจ่างชัดแล้ว เขาคลังนอกไม่ใช่พีระมิด

แต่มันก็ไม่ได้ลดคุณค่า ลดความสำคัญลงไปเลย เพราะไม่ว่าโบราณสถานแห่งนี้จะเป็นอะไรก็ตาม

ที่นี่ก็ยังเป็นมรดกของชาติ เป็นร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนควรธำรงรักษาไว้ให้อยู่คู่กับชาติตลอดไป

ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตอนหนึ่งว่า

“การสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว

แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่าควรช่วยกันรักษาไว้

ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯแล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย"

(พระราชดำรัสเมื่อครั้งเสด็จฯยังพระที่นั่งเย็น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2504)




ขอบคุณภาพเขาคลังนอกจำลองจาก ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร (เว็บไซต์กรมศิลปากร)




เส้นทางของไอฟายน้อยสู่เขาคลังนอก

จากกรุงเทพฯใช้ทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าสู่จังหวัดสระบุรี

ก่อนถึงตัวเมืองสระบุรีให้เบี่ยงซ้ายไปตามถนนเลี่ยงเมืองหมายเลข 362 ไปตามป้ายจังหวัดลพบุรี

ตรงไปถึงสามแยกพุแคจะมีแยกเบี่ยงซ้ายไปจังหวัดลพบุรี ให้เบี่ยงขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 21

มุ่งหน้าสู่จังหวัดเพชรบูรณ์


ประมาณ 100 กิโลเมตร จากสามแยกพุแคจะมาถึงตัวอำเภอศรีเทพ ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2119

ตรงไปประมาณ 10 กิโลเมตร ตามป้ายอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ



เจอทางเข้าอุทยานฯให้ขับเลยต่อไปอีกไม่ไกล จะเห็นป้ายเขาคลังนอก

เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นเขาคลังนอกตั้งอยู่ทางซ้ายมือ



ติดตามผลงานเรื่องอื่นๆ ของไอฟายน้อยได้ที่ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=ifind


I-FINDNOI

 วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เวลา 08.39 น.

ความคิดเห็น