Into the woods สู่ผืนป่าตะวันตก


คนเราย่อมต้องมีเรื่องที่ "เสียดายที่ไม่ได้ทำ" กันคนละหลายๆ เรื่อง คงจะดีหากสะสางสิ่งเหล่านี้ให้ได้ทำเสียในช่วงวัยที่สังขารยังอำนวยให้หัวใจเดินทาง จึงใช้เวลาตัดสินใจไม่นานในการร่วมทริปนี้ เพราะไม่อยากจะมานั่งนึก "เสียดายที่ไม่ได้ทำ" ภายหลัง


เคยได้ยินเรื่องราวของป่าแม่วงก์มาก่อนหน้านี้ หน่วยงานภาครัฐเห็นว่าการสละพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมแล้วเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เพื่อสร้างเขื่อนนั้นเป็นผลดีกับชาวบ้านในพื้นที่ราบลงมาในยามหน้าน้ำไม่ให้หลากเข้าท่วม และมีที่กักเก็บน้ำในยามแล้ง เป็นการจัดสรรทรัพยากรเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น แต่นักอนุรักษ์นั้นมองกลับกัน ถึงแม้จะเป็นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์แต่เป็นหัวใจของแม่วงก์ เป็นป่าที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นบ้านหลังใหญ่ของเสือเมืองไทย เกิดกระแสค้านเขื่อนขึ้นอย่างที่ได้เห็นกัน เราเองก็ไม่แน่ใจนักว่าแท้ที่จริงแล้ว การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะมีใครได้รับหรือเสียผลประโยชน์กันไปมากน้อยเท่าไหร่


แม้จะมีประสบการณ์การเดินขึ้นเขาไม่กี่ครั้ง แต่ด้วยอารมณ์ยังสดใหม่จากการปีนยอดดอยหลวงเชียงดาวมาก่อนหน้าไม่นาน ทำให้ลำพองในใจ "ขึ้นดอยหลวงมาแล้วไปเดินดอยไหนก็สบาย" 5 วัน 4 คืนในป่าคงไม่ยากเย็นอะไร ยึดการกินง่ายอยู่ง่ายเข้าไว้ ที่เหลือก็กินลมชมวิวเก็บภาพสวยๆ มาให้คนเมืองอิจฉา ทำตัวเป็นภาระเพื่อนตั้งแต่ยังไม่เริ่มเดินทางโดยไม่วางแผนเอง ฝากผีฝากไข้ไว้ "อิม" กับสาวเหนือผู้ร่วมทริปคนหนึ่งที่รอไปผูกมิตรกันในป่า

ยิ้มเจื่อนๆ รับข่าวเมื่อถึงอุทยานว่าทริปนี้ไม่มีลูกหาบ เริ่มกังวลกับชีวิตในป่าห้าวันกับสัมภาระส่วนตัวและอาหารที่ต้องแบก เจียมเนื้อเจียมตัวขึ้นมาทันทีว่ายังอ่อนหัดนักในเรื่องนี้ กลัวจะเป็นภาระของทีมเสียจริง

วันแรกของการเดินเท้าเข้าป่าจากอุทยานถึง แคมป์แม่กระสา ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร พร้อมเป้สัมภาระ 13 กิโลกรัม โชคยังดีที่มีรถกระบะของเจ้าหน้าที่ผ่านมาเลยโยนกระเป๋าขึ้นรถไป ประเมินตนเองเอาไว้แล้วว่าผ่อนอะไรได้ควรผ่อนอย่าพยายามผืนตัวเองเพราะสุดท้ายภาระจะไปตกอยู่ที่เพื่อน เดินด้วยความปะเดิดเก้อเขินเพราะเป็นคนเดียวที่ไม่มีสัมภาระติดบ่า แถมยังลืมอาหารกลางวันติดเป้ไปอีก เลยต้องจ้วงห่อข้าวเพื่อนระหว่างพักกลางทาง ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเอาเปรียบเพื่อนกันไปใหญ่...

เจ้าหน้าที่นำเดินป่าดูแลทีมเราชื่อพี่สมบัติทั้งคู่ เรียกชื่อครั้งเดียวหันมากันทั้งสองคน สัตว์มากมายฝากรอยเท้าเอาไว้บนถนนดินให้พี่สมบัติเก็บข้อมูลไปตลอดทาง อีเห็น เก้งกวาง ไปจนถึงรอยเท้าเสือก็มีให้เห็น เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลก่อนออกเดินทางเกี่ยวกับเสือว่า โดยธรรมชาติของเสือจะไม่ออกมาให้คนเห็น โอกาสน้อยมากจนแทบไม่มีถ้าเราจะเดินไปเจอเสือในป่าโดยบังเอิญ เพราะมนุษย์ไม่ใช่ห่วงโซ่อาหารของเขาแถมยังจะไปล่าเขาเสียอีก พอเสือได้กลิ่นหรือได้ยินเสียงก็จะไปซ่อนทันที ใครเดินเจอเสือถือว่าโชคดี


แคมป์แม่กระสา มีห้องน้ำแยกหญิงชายเป็นสัดส่วนดีแต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ต้องแบกน้ำจากห้วยที่ไหลผ่านกันเอาเอง จัดการกางเต็นท์ใต้ต้นไม้ใหญ่ อิจฉาพวกผู้ชายกระโดดเล่นน้ำกันในห้วยคงสดชื่นน่าดู วันแรกของการเดินแอบกังวงเพิ่มขึ้นนิด ๆ แต่ไม่บ่นให้ใครรู้ว่าเท้าเริ่มระบมแล้ว เลยมุดเข้าเต็นท์ตั้งแต่หนึ่งทุ่ม เพื่อชาร์จแบตตัวเองเผื่อเอาไว้อีกสี่วัน


วันที่สอง จากแคมป์แม่กระสาเดินใต้ร่มป่าไผ่สบาย ๆ ถ้าไม่นับสัมภาระบนบ่า เดินง่ายไม่รกมีเพียงใบไผ่คลุมผืนดินเท่านั้น แสงแดดลอดผ่านลำไผ่ลงมาเป็นเส้นสวยกว่าสปอร์ตไลท์ในโรงละครไหน ๆ ก่อนน้ำจะหมดขวดมีลำห้วยสายเดิมให้เติม มอสส์เกาะโขดหินแสดงให้เห็นถึงความเย็นชื้นของที่นี่ ต้นไม้ใหญ่ล้มเอนพาดขวางลำห้วยกลายเป็นสะพานที่แต่งด้วยสีเขียวของมอสส์ กรอกน้ำจากธรรมชาติใส่ขวดจนเต็มหายเหนื่อยแล้วก็ออกเดินต่อ จากแม่กระสาถึงแคมป์แม่รีวาระยะทาง 4.5 กม. ใช้เวลาเดินประมาณ 2 ชั่วโมง วันนี้จึงมีเวลาเหลือเดินไปน้ำตกแม่รีวาหลังจากกางเต็นท์เสร็จ ผืนป่าระหว่างทางไปน้ำตกสมบูรณ์ดี ยังคงมีร่องรอยของสัตว์ป่าให้เห็น เสือตัวหนึ่งถ่ายมูลเอาไว้ให้พี่สมบัติเก็บข้อมูล ในมูลมีเส้นขนและกีบเท้าเล็ก ๆ ของสัตว์ชนิดหนึ่งคาดว่าเป็นเก้ง รอยสัตว์ยิ่งมาก นั่นหมายถึงป่ายิ่งสมบูรณ์

ถึงน้ำตกแม่รีวา อิจฉาพวกผู้ชายอีกเช่นเคยที่ได้ถอดเสื้อกระโดดเล่นน้ำกันสนุกสนาน ผู้หญิงสามคนในทริปนั่งหลบโขดหินจิบน้ำหมักดองคนละฝาสองฝากันอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว วันที่สองค่อยเข้าข่ายการมาท่องเที่ยวหน่อยเพราะใช้กำลังน้อยและได้พักผ่อน พี่สมบัติบอกว่า "พรุ่งนี้สิของจริง"...

วันที่สามมหาโหด ออกเดินตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง หอบเหนื่อยตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เดินไต่ความสูงระดับ 300 เมตร ขึ้น 1900 เมตร หอบมหาหอบ เหงื่อไหลไคลย้อยแบบที่ไม่เคยไหลขนาดนี้มาก่อน เดินไม่คล่องตัวด้วยความอวบ (ระยะสุดท้าย) ของร่างกาย และสัมภาระที่หนักแบบที่ไม่เคยแบกเป้หนักขนาดนี้มาก่อนในชีวิต เสียงหัวใจเต้นแรงเหมือนอยู่นอกอก หายใจยากอย่างกับไม่ได้ใช้จมูกตัวเองหายใจ ร่างกายของเราแท้ ๆ กลับต้องทำความเข้าใจให้มันทำงานประสานกันเสียใหม่ ยังดีที่ "พี่ติ๊บ" คอยดูแลในช่วงที่คิดว่าจะเดินไม่ไหว บอกวิธีผ่อนลมหายใจเมื่อหอบแรงขึ้นและจับจังหวะการเดินของตัวเองให้ได้ ไม่ต้องรีบจ้วงเดินตามใครให้ทัน เดินช้าหน่อยแต่ยังไงก็ถึง ลมเกือบจับไปหลายทีกว่าจะถึงจุดพักกินข้าว คลอง 1 การแกะห่อข้าวกลางป่าวันนี้เลยทำให้เข้าใจถึงคำว่า กินเพื่ออยู่ รสชาติที่จริงไม่มีส่งผลต่อการทำงานของร่างกายเลย ร่างกายรู้แต่ของมีประโยชน์กับของไม่มีประโยชน์ รองเท้าเริ่มปริแตก ช่วยเพิ่มความลำบากในการเดินขึ้นอีกนิด อืมม...จะถึงกันไหมเนี่ย หินเรือใบ

จุดพักเติมน้ำคลอง 1 เป็นป่าชื้น โชคที่ที่ฝนทิ้งช่วงมาซักพักไม่อย่างนั้นเราคงมีทากเกาะไปกันคนละตัวสองตัว จากคลอง 1 เดินขึ้นคลอง 2 ทางเดินยังคงลาดชันไม่หยุดหย่อน มีช่วงพื้นราบให้พักขาบ้างเพียงสั้น ๆ ก่อนจะลาดลงเข้าคลอง 2 ในใจคิดว่าอย่าลาดลงกว่านี้เลย เพราะยิ่งลงเท่าไหร่ เรายิ่งต้องเดินชันขึ้นอีกเท่านั้น ก่อนขึ้นแคมป์ตีนดอยต้องช่วยกันแบกน้ำเพื่อใช้ทำอาหาร อิมคงดูสภาพเราแล้วเลยบอกว่าน้ำพอแล้วไม่ต้องแบกขึ้นไป เกรงใจเพื่อนนิด ๆ ที่แบ่งเบาทีมไม่ได้แถมยังเป็นตัวอ่อนสุดในทีมอีก

แคมป์ตีนดอยเป็นจุดกางเต็นท์ใต้เงาต้นไม้ใหญ่ลมพัดใบไม้หวีดหวิว แสงแดดลอดลงมารำไรเหมือนจิตรกรไล่น้ำหนักสีบนผืนผ้า กางเต็นท์ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ดีหว่าพักโรงแรมหรูเป็นไหน ๆ จัดการเช็คอินที่พัก 8 ดาวเรียบร้อยแล้วก็เตรียมตัวขึ้นพิชิตยอดหินเรือใบ หยิบไฟฉายเตรียมพร้อมสำหรับขากลับเข้าที่พัก

ยอดหินเรือใบเป็นจุดพิกัดรอยต่อระหว่างป่าแม่วงก์กับป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่ากว้างไกลสุดลูกตา ต้นไม้ด้านล่างฟูฟ่องไม่มีวี่แววของการเสื่อมโทรมให้เห็น พี่สมบัติยืนยิ้มให้ผืนป่าด้านล่าง แล้ววิทยุแจ้งหน่วยว่าพวกเราถึงยอดหินเรือใบปลอดภัยกันทุกคน ปิดฉากวันที่สามของการใช้ชีวิตในป่าด้วยวิวหินเรือใบ พลัดกันถ่ายรูปเก็บไว้เพราะในชีวิตนี้จะได้มายืนที่นี่ซักกี่ครั้งก็ไม่รู้ เราไม่ลืมจะถ่ายรูปรองเท้าเจ้ากรรมคู่กับวิวของที่นี่ ปริแตกแล้วยังอุตส่าห์พากันมาไกลถึงบนนี้ แหม...ขอบใจจริง ๆ

จุดสูงสุดไม่สุดยอดเท่ากับกลับมาจุดเริ่มต้นอีกครั้ง แสงอาทิตย์ไล่ความชื้นลอดเงาไม้ใหญ่จากทิศตะวันออก ควันจากกองไฟลอยขึ้นในม่านแสง สวยจนอดใจไม่ไหว ไปบังคับเพื่อนถ่ายรูปให้ใต้ต้นไม้ใหญ่ก่อนเดินลงเขาเพื่อเข้าแคมป์ที่พักของคืนสุดท้ายที่แม่กระสาด้วย เอ่อออ...อ รองเท้าทรยศเจ้าของคู่เดิม

เท้าบวมและเริ่มระบมเพราะปลายเท้ากระแทกตลอดในขาลง ทุลักทุเลอย่างหนักเมื่อเท้าใช้งานได้ไม่เต็มที่ ร่างกายเลยเสียจังหวะไปตาม ๆ กัน เป็นภาระให้พี่เจ้าหน้าที่เดินปิดขบวน ถึงจุดพักกินข้าวแคมป์แม่รีวาเป็นคนสุดท้าย จำเป็นต้องหยิบยืมรองเท้าแตะเพื่อนที่ใหญ่กว่าเท้าตัวเองมาใส่ คราวนี้เดินฉิว เพราะหน้าเท้าไม่กระแทกแล้ว ชีวิตการเดินป่าดีขึ้นมากด้วยรองเท้าแตะ ถึงแคมป์แม่กระสาก่อนค่ำพักที่นี่เป็นคืนสุดท้าย ก่อนการเดินปิดทริปสี่คืนห้าวัน ในวันพรุ่งนี้

วันสุดท้าย กระเป๋าหนักกว่าเดิมเพราะมีเสื้อผ้าบางชิ้นที่เปียกชื้น แถมยัดรองเท้าเข้ากระเป๋าไปอีกหนึ่งคู่ เราว่าถนนดินเดินยากว่าการเดินในป่า เพราะไม่มีเงาต้นไม้ให้หลบแดด อากาศร้อนทำให้ตัดกำลังในการเดินไปมาก ระหว่างทางมีรอยช้างกลมใหญ่หลายขนาด เดินมาหากินตามทางน้ำไหล พักกินข้าวกลางถนนเสียงวัวป่าดังมาจากป่าไผ่ข้าง ๆ กินไประแวงไปกลัววัวจะพุ่งออกมาจากป่า

อึดใจสุดท้ายก่อนถึงอุทยาน เดินกำหนดจิตตัวเองว่า โค้กหนอ เป๊ปซี่หนอตามวิถีคนเมืองซึ่งมันก็ได้ผล เดินฉับ ๆ เข้าอุทยานด้วยรองเท้าแตะและความกระหายสุดขีด ถ่ายภาพสุดท้ายของทริปด้วยอิริยาบทศิโรราบแล้วต่อผืนป่าแห่งนี้

สี่คืนห้าวันที่มีแค่ปัจจัยสี่ กินใช้น้ำห้วย ไม่มีอดีต ไม่พะวงอนาคตอยู่กับปัจจุบันทุกย่างก้าว เคยได้ยินท่านพุทธทาสกล่าวไว้ เจ้ามาตัวเปล่าเจ้าจะเอาอะไร แต่มาที่นี่หินเรือใบบอกว่าเจ้าแบกมาเท่าไหร่ ก็ควรจะเอากลับออกไปเท่านั้นอย่าทิ้งให้เป็นภาระของธรรมชาติ คนพันธ์ุหนึ่งนิยมท่องไพรกันเป็นชีวิต ถวิลหาความลำบากเหมือนแง่งอนมากับหมอนมุ้งที่บ้าน ออกมานอนกลางดินกินกลางทรายให้ริ้นไรมันตอมเล่น ๆ เมื่อก่อนเรานึกสงสัยว่าการท่องเที่ยวไปตามป่าเขานั้นมันจะเรียกได้ว่าเป็นการพักผ่อนได้อย่างไร อยู่กับสภาพอากาศที่อาจจะทำให้ป่วยไข้กันได้ง่าย ๆ คนพันธ์ุนี้คงดูประหลาดดีในสายตาของคนส่วนใหญ่


เราว่าเพียงปัจจัยสี่นั้นอาจจะไม่เพียงพอสำหรับชีวิตที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้าในเมืองใหญ่ เข้าป่าหาประสบการณ์ 5 วัน กินน้ำจากลำห้วยเดียวกันกับสัตว์ป่า ไม่มีร้านสะดวกซื้อ มีเพียงมีเสื้อผ้าให้กายอุ่น มีข้าวให้กินอิ่มท้อง มีเต็นท์กันลมกันน้ำค้าง มีหยูกยาเอาไว้บรรเทาร่างกายยามเจ็บป่วยนั่นก็คงเพียงพอแล้ว ป่าสอนให้เราได้รู้จักว่าชีวิตจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่ทำให้คนเราๆ มีชีวิตที่แท้จริงนั่นคืออากาศที่ต้นไม้ผลิตให้ แต่ก็แปลกดีที่คนจำนวนหนึ่งคิดจะหาผลประโยชน์จากผืนป่า มากกว่าจะรักษาอากาศดี ๆ เอาไว้ให้ตัวเองได้หายใจ

Saowarat Pontajak

 วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เวลา 11.05 น.

ความคิดเห็น