ผมมักมองอุดรธานีและหนองคาย เป็นเพียงเมืองผ่านเพื่อข้ามไปเที่ยวยังประเทศลาว เหตุเพราะผมเข้าใจว่าสถานที่ท่องเที่ยวในตัวอุดรธานีไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่ปัจจุบัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้มีการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดอุดรธานีและหนองคายให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีการบรรจุสถานที่ท่องเที่ยวของทั้ง 2 จังหวัดให้เป็น 2 ใน 10 Dream Destination กาลครั้งหนึ่ง..ต้องไป ซึ่งผมเองก็อยากจะเข้าไปสัมผัสความเป็น Dream Destination ดูบ้างว่ามันเป็นอย่างไร จึงจุดประกายการออกเดินทางในครั้งนี้ครับ

ทริปนี้ผมเลือกเดินทางโดยสายการบินนกแอร์ เนื่องจากนกแอร์มีเที่ยวบินที่บินลงอุดรธานีหลายเที่ยวบินมากครับ

นกหลายสี จอดรอเพื่อเตรียมจะพาผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางของแต่ละคนครับ

ได้ยินชื่อเสียงมาพอสมควรเกี่ยวกับการดีเลย์ของนกแอร์ แต่ไฟล์ทขาไปของผมนั้น ช้ากว่ากำหนดเวลาไม่ถึงสิบนาทีครับ

เมื่อเครื่องทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ก็มองเห็นวิวของแม่น้ำเจ้าพระยามุมสูงครับ

จุดนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นแถวหน้าพระลาน จ.สระบุรีหรือเปล่า เพราะเห็นมีภูเขาอยู่กลางเมือง และมีร่องรอยการระเบิดภูเขาเพื่อเอาไปทำหินอ่อนครับ

แต่บริเวณนี้ฟันธงว่าเป็นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ครับ มองเห็นทางรถไฟเหนือผิวน้ำด้วย

ระหว่างเส้นทางบิน พบเจอแต่พื้นที่แห้งแล้งเต็มไปหมด นึกสะท้อนใจเล็กๆ ผมเคยบินผ่านประเทศโอมานเพื่อจะไปยังประเทศอียิปต์ มองลงมาด้านล่างเห็นแต่ความแห้งแล้ง มีแต่ทะเลทราย ตอนนั้นยังนึกในใจว่าประเทศไทยโชคดีมากๆ ที่มีความเขียวขจีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ ณ เวลานี้ ภาคอีสานบ้านเราดูไม่แตกต่างจากทะเลทรายเลยครับ

บริเวณนี้น่าจะเป็นที่มาของคำว่า “ที่ราบสูง" ได้นะครับ

ใช้เวลาบินประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที ก็มาถึงสนามบินนานาชาติอุดรธานีครับ

ก่อนจะลงจากเครื่องขอถ่ายรูปเครื่องบินไว้เป็นที่ระลึกซะหน่อยครับ

สำหรับโปรแกรมวันแรกของผมไม่มีอะไรมากนักครับ ถึงอุดรธานีก็เข้าที่พัก ที่โรงแรม Centara เลยครับ

การตกแต่งภายในห้องพักของโรงแรม Centara ดูหรูหราน่าพักดีครับ พื้นที่ใช้สอยภายในห้องกว้างขวางพอสมควร ห้องน้ำแยกส่วนเปียกส่วนแห้งด้วยผนังกระจก เวลาอาบน้ำแอบมีน้ำกระเด็นออกมาจากพื้นที่ส่วนเปียกบ้าง ผมว่าพื้นที่ในห้องน้ำมันดูเชยๆ ยังไงไม่รู้ครับ อาจเพราะทาง Centara ไม่ได้ปรับปรุงพื้นที่ห้องน้ำก็เป็นได้ (โรงแรมเจริญศรีขายกิจการโรงแรมให้กับ Centara)

หลังจากเข้าที่พักแล้ว ผมจัดแจงหาอาหารมื้อเย็นทานที่ Central หลังจากนั้นรีบกลับมาพักผ่อน เพื่อเก็บแรงไว้ออกทริปในวันรุ่งขึ้นครับ

เช้าวันใหม่ หลังจากที่ผมตุนเสบียงใส่ท้องที่ห้องอาหารของ Centara เรียบร้อยแล้ว ผมก็มุ่งหน้าสู่จุดหมายแรกของวันที่ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทครับ

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่ รูปร่างต่างๆ กัน ปรากฏเป็นหลักฐานเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในอดีตที่น่าสนใจครับ

อุทยานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านผือ ห่างจากตัวจังหวัดอุดรธานีประมาณ 67 กิโลเมตร เส้นทางที่จะมายัง อ.บ้านผือเป็นเส้นทางลาดยาง 2 ช่องจราจร และไม่มีไหล่ทาง ปริมาณรถค่อนข้างเยอะ จึงใช้เวลาในการเดินทางนานพอสมควรครับ เมื่อมาถึงที่ทำการ จะต้องเสียค่าเข้าชมคนละ 20 บาทครับ

สำหรับการท่องเที่ยวในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท สามารถเลือกชมความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติได้ 3 เส้นทาง คือเส้นทางรอบเล็ก รอบกลาง และรอบใหญ่ จากจุดจอดรถเราจะต้องเดินเท้าเข้าไปยังด้านใน ด้วยระยะทางประมาณ 400 เมตร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินชมธรรมชาติเส้นทางรอบเล็กครับ แต่ถ้าใครไม่อยากเดิน 400 เมตร สามารถเรียกใช้บริการรถกอล์ฟได้ ในอัตราคันละ 100 บาท สามารถนั่งได้ 5 คน รถจะบริการทั้งส่งและรับกลับเลยครับ สำหรับผม เลือกเดินชมธรรมชาติตามเส้นทางรอบเล็ก และเลือกใช้บริการรถกอล์ฟครับ

เจ้าหน้าที่ที่ขับรถกอล์ฟทำหน้าที่เป็นไกด์ไปในตัว ไกด์เล่าว่าเดิมที่นี่เคยเป็นทะเลมาก่อน ปัจจุบันยังพอหลงเหลือความเป็นทะเลอยู่บ้าง เช่น ต้นโกงกาง รวมถึงหินต่างๆ หินทั้งหมดที่อยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเกิดขึ้นจากการกัดกร่อนตามธรรมชาติ สภาพภูมิทัศน์ของภูพระบาท จะมีลักษณะคล้ายๆ กับเสาเฉลียง ภายในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี, อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ จ.มุกดาหาร และอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิครับ

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นอุทยานที่แสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์มาแต่ครั้งอดีตกาล ผู้คนในท้องถิ่นและบริเวณใกล้เคียงเชื่อกันมาแต่โบราณว่าสถานที่แห่งนี้มีความเกี่ยวโยงกับนิทานพื้นบ้านเรื่องอุสาบารส ดังจะปรากฏชื่อเรียกโบราณสถานตามเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่อง เช่น หอนางอุสา คอกม้าท้าวบารส เป็นต้น

รถกอล์ฟแล่นมาจอดที่ลานใกล้ๆ กับหอนางอุสา ซึ่งหอนางอุสาถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่ก็ว่าได้ครับ

ใกล้ๆ ลานจอดรถจะเห็นหลุมขนาดใหญ่ที่เกิดจากการกัดกร่อนทางธรรมชาติ ภาษาอีสานเรียกว่าโบกครับ

โขดหินขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายเห็ดที่อยู่เบื้องหน้าผมตอนนี้เรียกว่า หอนางอุสา เดิมโขดหินนี้เกิดจากการกระทำตามธรรมชาติ แต่เนื่องจากโขดหินมีรูปทรงที่แปลกตา มนุษย์ในสมัยนั้นจึงดัดแปลงโดยการก่อหินล้อมเป็นห้องขนาดเล็กเอาไว้ที่เพิงหินด้านบน โดยก่อเป็นห้องที่มีประตูและหน้าต่างขนาดเล็กอยู่ที่พื้นผนังทั้งสองข้าง รอบๆ หอนางอุสามีใบเสมาหินขนาดกลางและขนาดใหญ่ปักล้อมรอบอยู่ ซึ่งสันนิษฐานว่าบริเวณนี้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนามาตั้งแต่อดีตกาลครับ

จากหอนางอุสา เดินเท้าต่อเล็กน้อยไปตามทิศทางตามเข็มนาฬิกา จะพบกับอาศรมฤๅษีจันทรา ลักษณะเป็นเพิงหิน คล้ายหอนางอุสา แผ่นหินด้านบนซ้อนเทินอยู่บนแท่งหินขนาดใหญ่ครับ

ติดกับอาศรมฤๅษีจันทรา มีเพิงหินขนาดใหญ่เป็นก้อนหินทราย ซ้อนเทินอยู่บนโขดหินอีกก้อนหนึ่ง บริเวณผนังด้านบนของเพิงหินมีภาพเขียนสีแดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นรูปลายตาราง ลายเส้นขนาน เส้นโค้งและลายเส้นทึบโดยเขียนต่อเนื่องกันทั้งผนัง เส้นลายดูสมบูรณ์และชัดเจนมากครับ ผมคงได้แต่ภาวนาขอให้นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่มีจิตสำนึกที่ดี ไม่มาสัมผัส ไม่มาขีดเขียนบนเพิงหิน ผมว่าลวดลายนี้คงจะอยู่ให้คนรุ่นลูกหลานได้ชมไปอีกนานครับ

ฝั่งตรงข้ามเพิงหินขนาดใหญ่ จะเป็นบ่อน้ำนางอุสา บ่อน้ำที่เกิดจากการสกัดลงไปในชั้นหิน ขอบบ่อน้ำทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละประมาณ 2 เมตร ลึกประมาณ 5 เมตร บ่อน้ำแห่งนี้สันนิษฐานว่าคงเป็นแหล่งน้ำบริโภคของคนในสมัยโบราณหรืออาจใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมบางอย่างครับ ช่วงที่ผมไปในบ่อนางอุสามีน้ำอยู่ด้วย เลยทำให้มองไม่เห็นความลึกของก้นบ่อ ไกด์จึงนำไม้ไผ่ยาวๆ มาหยั่งให้ดูว่าลึกขนาดไหน พอไกด์เอาไม้ขึ้นมา มองเห็นคราบน้ำแล้วต้องแอบอุทานในใจ เพราะระดับน้ำที่ติดอยู่บนไม้ไผ่ มันสูงมากๆ เท่าๆ กับความสูงของคนสองคนเลยทีเดียว ใครมาเที่ยวบริเวณบ่อน้ำนางอุสาก็ระวังกันด้วยนะครับ เกิดพลัดตกลงไป อันตรายถึงชีวิตได้ หากว่ายน้ำไม่เป็นครับ

จากบ่อน้ำนางอุสา เดินต่ออีกนิดหน่อยตามทิศตามเข็มนาฬิกา จะพบกับกู่นางอุสา มีลักษณะเป็นก้อนหินทราย 2 ก้อนเทินซ้อนกันอยู่ หินก้อนล่างตั้งตรงเป็นแกนรองรับหินข้างบนที่วางตัวตามแนวยาว ทำให้เกิดเป็นเพิงหินยื่นออกมา บริเวณด้านล่างของหินก้อนล่าง มีการสกัดพื้นเป็นห้องขนาดเล็ก สันนิษฐานว่าอาจใช้ประดิษฐานรูปเคารพหรือนั่งบำเพ็ญเพียร

บริเวณโดยรอบกู่นางอุสา มีการสกัดหินเพื่อก่อเป็นช่องสำหรับปักใบเสมา ซึ่งมีทั้งหมด 8 ทิศ ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใบเสมามีขนาดค่อนข้างใหญ่ ด้านบนของเสมาโค้งแหลมคล้ายกลีบบัวครับ

เดินถัดจากกู่นางอุสามาอีกหน่อยจะพบลานหินกว้าง บริเวณนี้เรียกว่า ลานหินหน้าวัดพ่อตา ลานหินนี้ถูกรายล้อมไปด้วยกลุ่มหินโบราณมากมาย โดยผมขอเริ่มที่ถ้ำพระ ดูจากภายนอกเหมือนไม่มีอะไรครับ แต่ถ้าเข้าไปสังเกตดีๆ ตามซอกหิน จะพบกับภาพสลักพระมากมาย

เดิมถ้ำพระแห่งนี้คงเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่วางทับซ้อนกันตามธรรมชาติ ต่อมาผู้คนในสมัยนั้นได้สกัดหินก้อนล่างออกจนกลายเป็นห้องขนาดใหญ่ รวมไปถึงสลักรูปประติมากรรมทางศาสนาเอาไว้ในห้องด้วย

ประติมากรรมสลักหินที่แกนด้านในของถ้ำพระ ทางด้านทิศตะวันตกสลักเป็นภาพพระพุทธรูปนั่งประทับภายในซุ้มที่มีการสลักลายอย่างงดงามจำนวน 2 ซุ้ม

ด้านบนของซุ้มเป็นแถวพระพุทธรูปยืนเรียงกันอยู่

ผนังห้องด้านทิศตะวันออกสลักเป็นภาพพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกขนาดใหญ่ 3 องค์ แต่ชำรุดแตกหักไปมากแล้ว พระพุทธรูปยืนองค์ในสุดมีร่องรอยการสลักหินตรงส่วนของผ้านุ่งเป็นแบบผ้าโจงกระเบนสั้น มีลวดลายสวยงาม มุมนี้ต้องก้มๆ ดูในซอกหินครับ ถึงจะเห็น นี่ถ้าไกด์ไม่มาชี้บอก ผมคงมองไม่เห็นจุดนี้แน่ๆ

ถัดจากองค์พระพุทธรูปยืนปางเปิดโลกเข้าไปด้านในจะพบรูปสลักพระพุทธรูปปางสมาธิ 1 องค์ แต่ส่วนของเศียรพระถูกเพิงหินด้านบนพังทับชำรุดไปแล้ว น่าเสียดายจังเลยครับ

ถัดจากถ้ำพระ จะเป็นวัดพ่อตาครับ

ลักษณะของวัดพ่อตาจะเป็นเพิงหินขนาดใหญ่ เกิดจากหินสองก้อนวางเทินทับซ้อนกัน ซึ่งหินก้อนล่างมีขนาดเล็กกว่าหินก้อนบนมากครับ ทำให้ดูคล้ายชะง่อนหินที่มีแกนกลางค้ำอยู่ บริเวณผนังหินตรงส่วนแกนกลางและพื้นหินด้านล่างมีรอยการสกัดหิน จนกลายเป็นห้องโล่งขนาดใหญ่อยู่โดยรอบแกนหิน

บริเวณผนังของแกนหินที่ค้ำเพิงหินขนาดใหญ่ มีร่องรอยการระบายสีแดง เป็นภาพประภามณฑลของพระพุทธรูป 3 องค์ เรียงต่อกัน สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ ณ ตำแหน่งนี้ แต่ปัจจุบันได้ถูกทำลายแตกหักไปแล้ว ภายในห้องดังกล่าว ยังมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายอยู่เป็นจำนวนมาก คงเหลือให้เห็นเฉพาะส่วนลำตัวที่แตกหักเท่านั้น นอกจากนี้ก็มีฐานรูปเคารพสกัดจากหินเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีก 2 ฐานวางพิงผนังอยู่

อีกมุมหนึ่งของแกนหิน จะมีคราบสีออกดำๆ ดูแล้วจะมีลักษณะคล้ายกับองค์พระพุทธรูปครับ แต่มองเห็นเพียงครึ่งองค์เท่านั้น

ถัดจากวัดพ่อตาไปเล็กน้อย จะเป็นที่ตั้งของเพิงหินขนาดเล็กที่มีแกนสกัดหินด้านในจนกลายเป็นห้องโล่ง เรียกกันว่า "โบสถ์วัดพ่อตา หรือถ้ำพระวัดพ่อตา" ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 3 องค์ แต่องค์พระที่มาประดิษฐานเป็นองค์พระที่สร้างขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้โบสถ์วัดพ่อตายังเป็นที่เก็บรักษาชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินอีกจำนวนหนึ่งด้วยครับ

ติดกับวัดพ่อตา จะเป็นหีบศพนางอุสา มีลักษณะเป็นแกนหินขนาดเล็กสองข้างค้ำยันหินก้อนใหญ่ที่ทับซ้อนด้านบนดู คล้ายกับโต๊ะหิน เพิงหินด้านล่างมีร่องรอยการสกัดหินจนเรียบเป็นห้อง แต่มีเพดานค่อนข้างเตี้ยครับ

ฝั่งตรงข้ามของหีบศพนางอุสา จะเป็นที่ตั้งของหีบศพพ่อตา และหีบศพท้าวบารส เรามาดูที่หีบศพท้าวบารสกันก่อนครับ หีบศพท้าวบารสมีลักษณะเป็นโขดหินที่วางทับซ้อนกัน แกนของหินก้อนล่างมีการสึกกร่อนตามธรรมชาติ ประกอบกับการสกัดของคนในอดีตจึงใช้เป็นที่นั่งจำศีลได้ครับ

ติดกับหีบศพท้าวบารส จะเป็นหีบศพพ่อตา มีลักษณะเป็นเพิงที่เกิดจากหินทราย 3 ก้อนวางทับกัน มีร่องรอยการสกัดหินที่พื้นผนังกลางและส่วนล่าง ทำให้เกิดเป็นห้องโล่งอยู่ทั้งสองข้าง มีรอยการสกัดหินด้านล่างเพื่อใช้บำเพ็ญเพียรหรือทำพิธีกรรมครับ

บริเวณหีบศพพ่อตา ยังพบร่องรอยภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นรูปฝ่ามือข้างขวาของคนด้วย แต่รอยค่อนข้างเลือนลางครับ นี่ถ้าไกด์ไม่ชี้ให้ผมดู ผมก็คงมองไม่เห็นเหมือนกัน บริเวณที่เห็นภาพเขียนสีฝ่ามือแดงนี้เรียกว่า ถ้ำมือแดงครับ

ติดกับหีบศพพ่อตา เป็นถ้ำช้างครับ ถ้ำช้างเป็นโขดหินทรายขนาดใหญ่วางซ้อนกัน เพิงด้านในมีร่องรอยการสกัดหินจนกลายเป็นพื้นที่ใช้นั่งบำเพ็ญศีลได้ ผมพยายามจินตนาการอยู่นานว่าหินนี้มีลักษณะเหมือนช้างตรงไหน เพราะคิดว่าถ้ำช้าง น่าจะมีที่มาจากการที่หินมีรูปช้าง แต่ดูยังไงก็ดูไม่ออกว่าเป็นช้างสักที เลยสอบถามไกด์ถึงที่มาของชื่อถ้ำช้างครับ

แท้ที่จริงแล้ว ถ้ำช้างน่าจะมาจากภาพเขียนสีสมัยโบราณที่มีเส้นสายเป็นรูปช้างสีแดงนี่เองครับ สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยประวัติศาสตร์ใน วัฒนธรรมลาว (ล้านช้าง)

ใกล้ๆ กับรูปช้าง ยังพบกลุ่มภาพเขียนสีด้วยสีแดงเข้ม ที่มีลวดลายหยักขึ้นหยักลง แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ทราบความหมายของลวดลายนี้ครับ

เป็นที่น่ายินดีกับชาวบ้านผือ อุดรธานี ที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม โดยการพิจารณาให้เป็นมรดกโลกในปี 2559 ซึ่งจะมีการพิจารณารอบแรกในเดือน ธันวาคม 2558 รอบสองในเดือนมีนาคม 2559 และไปตัดสินประมาณเดือนมิถุนายน 2559 ครับ ร่วมส่งแรงใจและแรงเชียร์ให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกันนะครับ

แนวโน้มที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทมีโอกาสที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในปี 2559 นั้น ที่ภูพระบาทเข้าหลักเกณฑ์การพิจารณาถึง 4 ข้อด้วยกัน คือ

หลักเกณฑ์ที่ 3 เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นพยานหลักฐาน แสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี หรืออารยธรรม หลากหลายรูปแบบ เช่น วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ราวพุทธศตวรรษที่ 4 ปรากฏอยู่เพียงภาพเขียนสีและโบราณวัตถุ

หลักเกณฑ์ที่ 4 เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งก่อสร้าง อาทิ เพิงหิน แท่งหิน ลานหิน เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของภูพระบาท

หลักเกณฑ์ที่ 5 เป็นตัวอย่างของลักษณะอันเด่นชัด หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม อาทิ ภูพระบาทเป็นที่ตั้งของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมากมาย มีความโดดเด่น ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

หลักเกณฑ์ที่ 6 มีความคิด หรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือบุคคลที่มีความสำคัญ หรือความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ เช่น ตำนานพื้นบ้านอุสา-บารส และพระกึดพระพาน อันมีต้นกำเนิดจากเรื่อง พระอนิรุทธ์ และนางอุสา ในมหากาพย์มหาภารตะ อีกทั้งตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตำนานอุรังคธาตุ ล้วนแต่เป็นที่รู้จักดี และมีความเกี่ยวเนื่องกับแหล่งมรดกในภูพระบาท

เดิมทีเดียวผมตั้งใจจะเดินศึกษาธรรมชาติด้วยเส้นทางรอบกลาง แต่ดูจากเวลาแล้วผมใช้เวลาสำหรับรอบเล็กไปเยอะเกินแล้ว จึงตัดใจออกเดินทางเพื่อไปยังจุดหมายอื่นต่อ เพราะถ้าหากมัวเสียเวลา จะมีผลกระทบต่อโปรแกรมอื่นๆ ครับ

สำหรับการเดินทางมาภูพระบาทนั้น ให้เดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 13 ให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทาง 42 กิโลเมตร เลี้ยวขวาประมาณ 500 เมตร และตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 2348 อีก 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 2กิโลเมตร ก็จะถึงภูพระบาทครับ

จุดหมายต่อไปของผมอยู่ที่พระพุทธบาทบัวบก ซึ่งอยู่เลยจากอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทไปเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น

พระพุทธบาทบัวบก สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2463-2477 ที่มาของชื่อนั้นสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "บัวบก" ซึ่งเป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นตามป่า มีหัวและใบคล้ายใบบัว ชาวบ้านเรียกว่า ผักหนอก บัวบกจะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท จึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า "พระพุทธบาทบัวบก" แต่อีกหนึ่งที่มาเล่าว่า คำว่าบัวบกอาจจะมาจากคำว่า บ่บก ซึ่งหมายถึง ไม่แห้งแล้ง เดิมมีการก่อมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2465 พระอาจารย์ศรีทัตย์ สุวรรณมาโจ ได้รื้อมณฑปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม โดยจะมีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบกในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

แว๊บแรกที่ผมเห็นพระธาตุเจดีย์แบบไกลๆ ผมรู้สึกว่าพระธาตุเจดีย์แห่งนี้ดูเก่าเหมือนจะทรุดโทรม สีขององค์พระธาตุดูดำเหมือนตะไคร่น้ำเกาะ แต่เมื่อได้เดินเข้ามาใกล้ๆ กลับรู้สึกประทับใจกับความเก่าขององค์พระธาตุเป็นอย่างมาก อาจจะเพราะลวดลาย สีสัน ที่ตกแต่งออกมาดูคลาสสิกมาก ผมรู้สึกชอบงานศิลปะแบบนี้มากกว่าการประดับประดาองค์พระธาตุให้ใหม่เอี่ยมอ่องด้วยสีอันฉูดฉาดเสียอีก เหนือซุ้มทางเข้ามีลวดลายปูนปั้นสลักได้อย่างอ่อนช้อย งดงามมากครับ

ด้านในองค์พระธาตุเจดีย์พบรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างขึ้นทับรอยพระพุทธบาทเดิมไว้ครับ

นอกจากนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายจุดเลยไม่ว่าจะเป็นถ้ำพญานาค รอยพระบาทหลังเต่า แต่เนื่องจากผมมีเวลาจำกัด หลังจากสักการะรอยพระพุทธบาทจำลองเสร็จก็ต้องออกเดินทางกันต่อครับ

ผมมุ่งหน้าสู่ อ.นายูง เพื่อไปชมป่าห่มศรัทธา ที่วัดป่าภูก้อน วัดแห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงเวลา 18.00 น. เมื่อเข้ามาในเขตวัดแล้ว สภาพของถนนค่อนข้างจะสูงชันครับ

วัดป่าภูก้อนตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ซึ่งเป็นรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย สำหรับที่ตั้งของวัดนี้ ตั้งอยู่ในเขต อ.นายูง จ.อุดรธานี ด้วยเหตุที่วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน จึงทำให้วัดแห่งนี้อยู่ท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขากว่า 3,000 ไร่ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความเขียวขจีของป่าไม้ครับ

ในปี 2557 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้จัดให้วัดป่าภูก้อนเป็น 1 ใน 10Dream Destination กาลครั้งหนึ่ง..ต้องไป กับหัวข้อ “อารามพิทักษ์ผืนป่า พลังศรัทธาแห่งสีเขียว"

ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี พระพุทธปางไสยาสน์แนวนอนขนาดความยาวกว่า 20 เมตร ใช้เวลาสร้างถึง 6 ปี สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสมหามงคลที่ในหลวงทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ เห็นว่าเศียรของพระพุทธไสยาสน์สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ที่นำเข้ามาจากอิตาลีด้วยครับ อุโบสถนี้จะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น.ครับ แต่หากท่านใดสนใจที่จะถ่ายรูปยามค่ำคืน คงจะต้องทำเรื่องขออนุญาตล่วงหน้าก่อนนะครับ เพราะตอนแรกผมเองก็ตั้งใจที่จะไปถ่ายภาพช่วงค่ำอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ได้ทำเรื่องล่วงหน้า เลยไม่สามารถอยู่ถ่ายภาพช่วงค่ำได้ครับ

จากวัดป่าภูก้อน ผมมุ่งหน้าสู่ อ.สังคม จ.หนองคาย เพื่อไปชมความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติใต้พื้นดินที่วัดถ้ำดินเพียง หรือชื่อเป็นทางการว่า วัดถ้ำศรีมงคล ชาวบ้านรู้จักกันดีในนามถ้ำพญานาคครับ

ปกติแล้วสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เป็นถ้ำนั้น ปากถ้ำจะอยู่ที่ระดับเดียวกับผิวดิน หรือไม่ก็ต้องปีนขึ้นเขาไปบนยอดแล้วจะเจอถ้ำ แต่ถ้ำดินเพียงนี้ไม่เหมือนใครครับ ปากถ้ำจะอยู่ใต้ดิน ดังนั้นพื้นที่ภายในถ้ำก็จะอยู่ใต้พื้นดินเช่นกัน เรียกได้ว่าถ้ำแห่งนี้เสมือนหนึ่งเป็นเมืองบาดาลของพญานาคเลยครับ

ก่อนจะลงไปสำรวจเมืองใต้บาดาล ไกด์ท้องถิ่นแนะนำให้เรามาไหว้ขอพรรูปปั้นปู่อินทร์นาคราชและย่าเกตุนาคราช เพื่อให้ท่านคุ้มครองเราระหว่างอยู่ภายในถ้ำ จากนั้นถอดรองเท้า ถุงเท้าไว้ที่ปากถ้ำ แล้วเตรียมพบกับความมหัศจรรย์ของเมืองบาดาลกันเลยครับ

แผนผังภายในถ้ำครับ จะเห็นว่าภายในถ้ำจะมีห้องเล็กๆ น้อยๆ อยู่เต็มไปหมดครับ

ไกด์ท้องถิ่นเล่าให้ฟังว่า ถ้ำนี้ถูกค้นพบโดยพระธุดงค์จากประเทศลาว เดินทางข้ามมาโดยไม่ใช้เรือ แต่ท่านเดินทางผ่านถ้ำนี้ ซึ่งผู้ที่จะเห็นเส้นทางภายในถ้ำจะต้องเป็นผู้บำเพ็ญศีลภาวนา หรือเป็นพระอภิญญาครับ

ทางเดินในถ้ำค่อนข้างแคบ บางช่วงต้องตะแคงตัวให้เอียง บางช่วงต้องนั่งยองๆ แล้วขยับตัวไปข้างหน้าแทนการเดิน ภายในถ้ำค่อนข้างชื้นและมีน้ำไหลตลอด บางจุดก็ตื้น บางจุดก็ลึก แต่ช่วงที่ผมไป ระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ระดับครึ่งหน้าแข้งครับ แต่บางครั้งอาจมีเดินตกหลุมที่อยู่ใต้น้ำบ้าง ระดับน้ำก็จะลึกระดับหัวเข่าบ้างก็มีครับ

ผิวสัมผัสของผนังถ้ำแต่ละห้องมันดูเรียบ ไร้ความแหลมคม ผิดกับผนังถ้ำอื่นๆ ที่ผมเคยได้เที่ยวมา ชาวบ้านเชื่อว่าลักษณะคล้ายกับเส้นทางการเลื้อยผ่านของพญานาคไปยังแม่น้ำโขงครับ

ภายในถ้ำมีจุดที่น่าสนใจหลายจุดเหมือนกันครับ

อย่างห้องนี้จะเห็นแท่งหินลักษณะคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่อยู่ที่เพดานถ้ำ ห้องนี้จึงมีชื่อว่า ห้องหีบศพปู่อินทร์นาคราช ครับ

ดูลึกลับซับซ้อนมากๆ ครับ เดินอยู่ดีๆ มีค้างคาวบินเฉี่ยวหัวซะงั้นยิ่งเดินยิ่งทึ่งในความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ไม่คิดเลยว่าตอนนี้ผมอยู่ใต้พื้นดินครับ

หินก้อนด้านขวามือ มีลักษณะคล้ายหัวเต่า ปากบนและปากล่างเป็นจะงอยแหลม เหมือนปากเต่ามากๆ ครับ

เส้นทางเดินจะวนไปวนมา หากเดินตามไกด์ไม่ทัน มีหลงแน่นอนครับ

จุดนี้ไกด์เล่าว่าจะเป็นช่องทางที่ลงสู่แม่น้ำโขง กับช่องทางเข้าห้องโถงใหญ่ จากจุดนี้ไปอีกประมาณ 100 เมตรจะเป็นห้องโถงใหญ่ที่บรรจุคนได้ 3-400 คน ใช้เวลา 3 ชั่วโมงในการเข้าไปในห้องโถงนี้ครับ ที่ต้องใช้เวลาเยอะถึง 3 ชั่วโมงเพราะว่าเราไม่สามารถเดินเข้าไปแบบธรรมดาได้ แต่เราต้องเลื้อยเข้าไป เนื่องจากเพดานถ้ำต่ำมากจนไม่สามารถเดินได้ แล้วใช้เวลาถึง 9 วัน 9 คืนเพื่อจะลงสู่แม่น้ำโขงครับ

เส้นทางตรงจุดนี้ พื้นถ้ำไม่เป็นแนวราบครับ เวลาเดินต้องตะแคงเท้าเดินครับ

ห้องนี้เป็นห้องธิดานาคราช ไกด์บอกว่าห้องนี้จะสะอาดอยู่ตลอดเวลาทั้งๆ ที่ไม่มีคนทำความสะอาด จุดนี้เคยมีนักท่องเที่ยวถ่ายภาพออกมาแล้วติดรูปวิญญาณของพญานาคด้วยครับ

จุดนี้เรียกว่าห้องช้างสามเศียรครับ ที่ผนังถ้ำจะมีหินย้อยลงมา ผนังถ้ำที่ว่าต่ำแล้ว นี่ยังมีหินย้อย ย้อยลงมาจนแทบจะปิดช่องทางเดินเลยก็ว่าได้ เหลือเพียงช่องเล็กๆ ทางด้านซ้ายเพียงช่องเดียวที่เราพอจะผ่านไปได้สำหรับการจะผ่านช่องนี้ไปได้ เราจะต้องนอนคว่ำหน้าราบไปกับพื้น แล้วค่อยๆ ขยับตัวไปข้างหน้าครับ ไกด์จะคอยให้กำลังใจกับพวกเรา บอกว่าคนที่น้ำหนักตัว 140 กิโลกรัมยังสามารถผ่านช่องนี้ไปได้

บริเวณนี้เป็นกองดินที่นักท่องเที่ยวได้ก่อหินเป็นเจดีย์เอาไว้ครับ

เจดีย์จำลองขนาดใหญ่ ก่อนจะถึงทางออกครับ

แล้วก็ถึงทางออกครับ ก่อนจะออกก็ต้องออกแรงปีนบันไดขึ้นด้านบนครับ

ขอบอกเลยว่ามาเที่ยวที่นี่ได้หลายอารมณ์เลยครับ ทั้งสนุก ทั้งตื่นเต้น ทั้งทึ่ง ทั้งเมื่อยตัวจากการต้องทำตัวให้เล็กที่สุดตอนอยู่ในถ้ำ แต่ทั้งหมดถือเป็นความประทับใจที่ผมมีให้กับวัดถ้ำดินเพียงครับ ที่นี่เที่ยวได้ทุกเพศ ทุกวัย ลองดูอย่างสมาชิกในทริปของผมซิครับ ทุกคนขึ้นมาจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย ใบหน้าเปื้อนยิ้มกันทุกคนแต่สำหรับวัยชราอาจลำบากนิดหน่อยในเรื่องของการปีนป่ายบันไดขึ้นลง รวมถึงการต้องคลานราบไปกับพื้น ผมเองยังรู้สึกเมื่อยมากๆ เลยครับ

หลังออกจากถ้ำ ไหว้พระเป็นสิริมงคลกับตัวเองกันสักหน่อยครับ

สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าไปชมความมหัศจรรย์ของเมืองบาดาล แนะนำว่าให้มาถึงที่นี่ก่อน 17.00 น. นะครับ เพราะถ้าเย็นไปกว่านี้ อาจจะไม่ได้เข้าไปในถ้ำ การเข้าไปชมควรติดต่อไกด์ท้องถิ่น อย่าเก่งกล้าที่จะเข้าไปโดยลำพัง เพราะอาจหลงหาทางออกไม่เจอ ก่อนเข้าถ้ำก็ช่วยกันบริจาคค่าไฟ และหลังออกจากถ้ำ ก็มีค่าน้ำใจให้กับไกด์นำทางกันสักหน่อยนะครับ มากน้อยแล้วแต่จิตศรัทธาครับ หากใครผ่านมาทางอำเภอสังคม ผมแนะนำว่าไม่ควรพลาดที่จะมาเที่ยวที่นี่นะครับ รับรองว่าคุณจะประทับใจครับ

ผมมาปิดทริปของวันที่วัดผาตากเสื้อ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดถ้ำดินเพียงสักเท่าไร เส้นทางเข้าวัดสูงชันบ้างเล็กน้อยครับ

วัดผาตากเสื้อเป็นจุดชมวิวแม่น้ำโขงที่สวยงามอีกจุดหนึ่ง ที่นี่เคยเป็นโลเคชั่นในการถ่ายโฆษณาหลายชิ้นเลยครับ

อุโบสถวัดผาตากเสื้อครับ

บริเวณจุดชมวิวของวัด ช่วงฤดูแล้ง หากมองลงไปยังแม่น้ำโขงทางด้านขวามือ จะมองเห็นสันดอนทราย ที่มองดูแล้วมีลักษณะคล้ายกับเกล็ดพญานาคครับ ที่นี่จึงถูกจัดให้เป็นอีก 1 ใน 10 Dream Destination ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ครั้งหนึ่งต้องไป จริงๆ แล้วจากจุดชมวิวจะมองสันทรายไม่ค่อยชัดสักเท่าไร ถ้าหากอยากเห็นเกล็ดพญานาคชัดๆ แนะนำให้มาดูตรงจุดที่มีการปรับแต่งภูมิทัศน์ไว้ให้เปิดโล่งมองเห็นวิวได้ชัดเจน จุดนี้จะอยู่ตรงเส้นทางขึ้น-ลงวัด ห่างจากตัววัดเพียงเล็กน้อยครับ

หลังจากพระอาทิตย์ตกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมออกเดินทางจากวัดเพื่อมุ่งหน้ากลับที่พักในตัวเมืองอุดรธานีครับ เส้นทางที่จะกลับอุดรธานี คล้ายๆ กับเส้นทาง อุดรธานีมายังว่าป่าภูก้อนเลยครับ คือเป็นถนนสองช่องทางจราจร รถสัญจรไปมาเยอะมาก เลยทำเวลาไม่ค่อยได้ครับ

คืนนี้ผมจองที่พักที่ HOP INN ไว้ โรงแรมอยู่ไม่ไกลจากแหล่งชุมชน อยู่ใกล้ๆ Lotus เลยครับ

HOP INN เป็นโรงแรมที่เปิดใหม่ ราคาไม่แพง คืนละ 550 บาทเอง ผมว่าที่นี่เป็นตัวเลือกของที่พักที่น่าสนใจมากๆ ครับ

Lobby เล็กๆ มีพนักงานเพียงคนเดียว แต่ให้บริการดีมากครับ

เยื้องๆ กับ Lobby เป็นพื้นที่สำหรับมุมกาแฟ มีกาแฟตั้งไว้ให้บริการฟรีครับ

โซน Lobby และห้องพัก กั้นด้วยผนังกระจก จะเข้าออกต้องใช้ Key Card ครับ

ถึงแม้ภายในห้องจะดูแคบไปนิดหน่อย แต่แนวการออกแบบของห้องที่ดูทันสมัย จึงทำให้ห้องดูไม่อึดอัด แถมยังมีประตูเปิดเพื่อออกไปยังระเบียงได้อีกด้วย แต่ระเบียงด้านนอกมีพื้นที่น้อยมากๆ ครับ ที่นี่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น มีเครื่องปรับอากาศ ทีวี ตู้เย็น โทรศัพท์ และพื้นที่สำหรับให้แขวนเสื้อผ้าครับ

และที่สำคัญ มี Free Wifi ด้วยครับ

มาดูในส่วนของห้องน้ำบ้าง ห้องน้ำอาจจะดูเล็กตามสัดส่วนของห้องพัก แต่ก็ไม่ถึงกับอึดอัดครับ แบ่งโซนเปียกแห้งด้วยการก่อผนัง เวลาอาบน้ำ น้ำแอบกระเด็นออกมาที่ส่วนแห้งนิดหน่อยครับ

HOP INN เป็นโรงแรมที่ใหม่ ราคาไม่แพง การเดินทางไปมาสะดวก ที่จอดรถก็สะดวก ห้องพักเล็กไปสักนิด ห้องไม่เก็บเสียง ได้ยินเสียงคนเดินและพูดคุยด้านนอก ไม่มีห้องอาหาร แต่โดยรวมแล้วผมว่าคุณภาพสมน้ำสมเนื้อกับราคา เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนมองหาที่พักในราคาระดับกลางๆ ครับ

ผมออกเดินทางจากโรงแรมกันตั้งแต่ตีห้าครึ่ง เพราะตั้งใจจะไปชมแสงแรกกลางทะเลบัวแดง ที่หนองหาน กุมภวาปีครับ (หนองหาน สะกดด้วย “น" นะครับ ถ้า หนองหาร ที่สะกดด้วย “ร" จะอยู่ที่สกลนครครับ)

ผมมาถึงหนองหานประมาณ 06.30 น. พอก้าวเท้าลงจากรถ ก็ทันได้เห็นแสงแรกพอดีเลยครับ

จากนั้นผมรีบติดต่อเรือทันที เรือมี 2 ประเภทให้เลือก คือ เรือใหญ่ สามารถนั่งได้ประมาณ 10 คน และเรือหางยาว นั่งได้ 2 คนครับ

สำหรับราคาของเรือใหญ่ จะมีให้เลือก 2 ราคา คือระยะใกล้ ราคาลำละ 300 บาท ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และ ระยะไกล ราคาลำละ 500 บาท ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง สำหรับเรือหางยาว คิดราคาเหมาลำ 300 บาทครับ

เรือจอดรอนักท่องเที่ยวอยู่บริเวณท่าเรือแล้ว เมื่อสมาชิกพร้อมก็ออกล่องเรือกันครับ

พระอาทิตย์สีชมพูดวงกลมโต ค่อยๆ โผล่พ้นเส้นขอบฟ้า ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีทอง ทาบทาไปยังกลุ่มบัวที่กำลังเริ่มเบ่งบาน นับเป็นความโชคดีของผมมาก ที่มาทันเห็นพระอาทิตย์ขึ้นกลางทะเลบัวแดงสมดังตั้งใจครับ

ดอกบัวกำลังเริ่มเบ่งบาน มีสายหมอกบางๆ ปกคลุมทิวต้นไม้อยู่เบื้องหลัง เรือลำน้อยใหญ่ต่างมุ่งหน้าไปยังจุดหมายเดียวกัน คือกลางบึงหนองหานครับ

ล่องเรือไปได้สักพัก จะพบกับพระพุทธรูปปางสมาธิตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของวัดดอนหลวง ด้านหลังของวัดดอนหลวงจะมีหอคอยที่สามารถขึ้นไปชมวิวทะเลบัวแดงมุมสูงได้ครับ

วิวมุมสูงของทะเลบัวแดง มองจากหอคอยครับ

หอคอยที่ตั้งอยู่หลังวัดดอนหลวงครับ

บึงหนองหานเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ มีพื้นที่มากกว่า 29,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 4 อำเภอ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลา พันธุ์นก พืชน้ำ เป็นจำนวนมาก ช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะมีดอกบัวสีชมพูเข้มออกดอกบานสะพรั่งแข่งกันอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวได้มายลโฉมกัน แต่หลังจากเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว จะเข้าสู่ช่วงบัวเน่า หรือช่วงที่บัวเก่าล้มตายกลายเป็นอาหารของดอกบัวชุดใหม่ ช่วงนี้ก็จะมีบัวหลวงเข้ามาผลัดเปลี่ยนให้ความงามที่แตกต่างออกไป สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น ยกให้หนองหานเป็น 1 ใน 10 ทะเลสาบที่สวยงามและแปลกที่สุดในโลกครับ

มุมนี้ถือเป็นมุมมหาชน มีฉากหน้าเป็นทะเลบัวแดง ฉากหลังเป็นพระธาตุครับ

ยิ่งสาย ดอกบัวยิ่งเบ่งบานอย่างเต็มที่ สีแดงของดอกบัวยามนี้ มีสีเหลืองของไม้น้ำชนิดอื่นขึ้นมาแทรก นกนานาชนิดเริ่มบินโฉบเฉี่ยวไปตามดอกบัว เคียงคู่ไปกับเรือของคณะผม ชาวบ้านเริ่มออกหากิน ชีวิตวันใหม่เริ่มดำเนินขึ้นอีกครั้ง เป็นภาพที่ผมประทับใจมากๆ ผมเคยไปชมความงามของทะเลบัวที่ทะเลน้อย จ.พัทลุงมาแล้ว ขอบอกเลยว่า ที่ทะเลน้อย สู้ทะเลบัวแดงกุมภวาปีไม่ได้เลยครับ

สำหรับผู้ที่จะมาชมความงามของทะเลบัวแดง ผมแนะนำให้มาช่วงเช้านะครับ ถ้าได้ออกเรือช่วงหกโมงครึ่งจะดีมากๆ เพราะจะมีโอกาสได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นกลางทะเลบัวแดง อากาศจะไม่ร้อน แดดไม่แรง และไม่ต้องต่อคิวรอขึ้นเรือด้วยครับ เพราะช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ นักท่องเที่ยวจะมากเป็นพิเศษ เรือที่เตรียมไว้ให้บริการมีไม่เพียงพอกับนักท่องเที่ยวครับ ดอกบัวจะบานถึงเวลาประมาณ 11 โมงของทุกวันนะครับ

ขึ้นจากเรือมา จะเห็นเด็กๆ มานั่งขายของบริเวณท่าขึ้นเรือเต็มไปหมด สินค้ามีทั้งเหง้าบัวเชื่อม น้ำรากบัว แอลมอนด์อีสานหรือเม็ดกระบก และอื่นๆ อีกเยอะเลยครับ

จากลานจอดรถที่เงียบเหงาในช่วงเช้า สายนี้เริ่มกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันตาเห็น มีสินค้าพื้นเมืองมาวางจำหน่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลปึกในแพคเกจที่หาดูได้ยากในเมืองกรุงครับ

ข้าวจี่ในสองรูปแบบ

ข้าวหลาม มีทั้งข้าวขาวและข้าวดำ อร่อยหวานมันกำลังดีครับ

สมุนไพรพื้นบ้าน

จิ้งหรีดนึ่ง

ไข่ปิ้ง

ปลาตัวเล็กตัวน้อยปิ้ง อร่อยดีครับ

ผ้าพื้นเมือง

ที่ขาดไม่ได้เห็นจะเป็นเสื้อยืด ลายทะเลบัวแดงครับ หลากหลายลวดลายมากๆ

ทะเลบัวแดง อยู่ห่างจากจังหวัดอุดรธานี ประมาณ 45 กิโลเมตร สามารถเดินทางจาก อ.เมืองอุดรธานี โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-กุมภวาปี) ถึงกิโลเมตรที่ 26 ให้เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางห้วยสามพาด-อำเภอประจักษ์ศิลปาคม ประมาณ 18 กิโลเมตรก็จะถึงท่าเรือบ้านเดียมครับ

หลังจากขึ้นเรือ ท้องก็เริ่มร้องครับ มื้อเช้านี้ผมตั้งใจจะไปฝากท้องไว้ที่ไก่ย่างเขาสวนกวาง ผมเคยมาทานไก่ย่างเขาสวนกวางมาแล้วครั้งนึง ติดใจรสชาติของร้าน “ไก่ย่างวรรณา" รอบนี้จึงไม่พลาดที่ร้านนี้อีกครั้ง

จาก อ.กุมภวาปี มุ่งหน้าสู่ อ.เขาสวนกวาง เมื่อผ่านสี่แยกเขาสวนกวางให้ชิดซ้ายไว้ครับ ร้านไก่ย่างวรรณาอยู่ไม่ไกลจากสี่แยกเขาสวนกวางมากนัก จะมองเห็นตึกสามชั้นทาสีชมพู ป้ายชื่อร้านชัดเจน แต่ระวังจะเข้าร้านผิดนะครับ เพราะร้านที่ติดไก่ย่างวรรณาเป็นร้านขายไก่ย่างเช่นกัน ชื่อร้าน “ไก่ย่างวรรณ" ครับ

ร้านไก่ย่างวรรณาคงจะขายดีจนมีร้านอื่นเอาชื่อร้านไก่ย่างวรรณาไปแอบอ้างกระมังครับ เขาเลยติดป้ายเตือนว่า ร้านไก่ย่างวรรณาไม่มีสาขา

ส้มตำต่างๆ แซ๊บได้ใจ นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ อีกเยอะเลย แต่ที่ขาดไม่ได้คือไก่ย่างครับ ปิ้งสุกร้อนๆ อร่อยมากเลยครับ ที่สำคัญราคาไม่แพงด้วย ผมทานกัน 9 คน อาหารเต็มโต๊ะเลย เช็คบิลมาไม่ถึง 900 บาทครับ

หลังอิ่มท้องแล้ว ผมมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองขอนแก่น ผมตั้งใจจะไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่วัดหนองแวง วัดหนองแวงตั้งอยู่ริมบึงแก่นนครเลยครับ

บึงแก่นนครเป็นบึงขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองขอนแก่น รอบๆ บึงแก่นนครจะจัดเป็นพื้นที่สวนสุขภาพ ประดับประดาด้วยพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย มีรูปปูนปั้นไดโนเสาด้วย ดูแล้วที่นี่น่าพักผ่อนมากๆ จากบึงแก่นนครสามารถมองเห็นพระมหาธาตุแก่นนคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดหนองแวงด้วยครับ

วัดหนองแวงเป็นพระอารามหลวง มีพระมหาธาตุแก่นนครหรือพระธาตุเก้าชั้นฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 50 เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น ความสูงของพระธาตุแห่งนี้สูงถึง 80 เมตรเลยครับ มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ และมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบครับ

บริเวณชั้นล่างของพระมหาธาตุแก่นนคร เป็นที่ประดิษฐานพระประธานและพระบุษบกพระบรมสารีริกธาตุ มีจิตกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน บานประตู หน้าต่าง แกะสลักภาพนิทานเรื่องจำปาสี่ต้น บานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติและมีจิตรกรรมฝาผนังประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่นดูแล้วงดงามมากๆ ครับ

ใครที่พอจะมีแรง ผมแนะนำว่าให้ขึ้นไปบนพระมหาธาตุดูนะครับ ขึ้นไปให้ครบ 9 ชั้นเลย แต่ละชั้นก็จะมีจุดที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไปครับ

ชั้นที่ 2 เป็นหอพัก บานประตูหน้าต่างเขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทานเรื่องสังศิลป์ชัย

ชั้นที่ 3 เป็นหอปริยัติ บานประตูหน้าต่างเขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทานเรื่องนางผมหอม

ชั้นที่ 4 เป็นหอปริยัติธรรม ภายในมีพิพิธภัณฑ์ของเก่าบานประตูหน้าต่างภาพพระประจำวันเกิด เทพประจำทิศและตัวพึ่ง-ตัวเสวย

ชั้นที่ 5 เป็นหอพิพิธภัณฑ์ มีบริขารของหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 6 บานประตูหน้าต่างแกะสลักภาพพุทธชาดก

ชั้นที่ 6 เป็นหอพระอุปัชฌายาจารย์ บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดกเรื่องเวสสันดร

ชั้นที่ 7 เป็นหอพระอรหันตสาวก บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานเรื่องพระเตย์มีใบ้

ชั้นที่ 8 เป็นหอพระธรรม เป็นที่รวบรวมพระธรรม พระไตรปิฏก ฯลฯ บานประตูแกะสลักรูปพรหม 16 ชั้น

และชั้นที่ 9 เป็นหอพระพุทธ ตรงกลางมีบุษบก เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติ รูปพรหม 16 ชั้นครับ

บนชั้น 9 นี้ สามารถชมทัศนียภาพของตัวเมืองขอนแก่นได้ทั้ง 4 ด้านเลยครับ มองเห็นบึงแก่นนครมุมสูงด้วยครับ

พระมหาธาตุแก่นนครถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองขอนแก่นที่มีสถาปัตยกรรมวิจิตรตระการตาด้วยรูปทรงและสีสันอร่ามเหลือง ใครที่ผ่านมาผ่านไปแถวขอนแก่น หากมีเวลา ผมแนะนำให้ลองแวะมาชมความงดงามของที่นี่ดูนะครับ

ติดกับวัดหนองแวงเป็นที่ตั้งของร้านอัมพรแหนมเนืองครับ มาอีสานทั้งทีผมคงไม่พลาดที่จะทานแหนมเนือง ใจจริงๆ อยากไปทานแหนมเนืองที่หนองคายมากกว่า แต่เนื่องจากผมไม่มีเวลาที่หนองคาย จึงมาทานแก้ขัดที่ขอนแก่นแทนครับ

ร้านอัมพรอยู่ตรงหัวมุมของวัดหนองแวง สามารถจอดรถไว้ในวัดแล้วเดินข้ามถนนมาทานได้เลยครับ

เมนูประจำร้าน ก็คงจะเป็นแหนมเนืองครับ

ข้าวเกรียบปากหม้อ

ยำหัวปลีข้าวเกรียบงา

เมี่ยงทอด หรือ กระยอทอด

ขนมจีนหนังหมู

แหนมคลุก

ปิดท้ายด้วยขนมเบื้องญวนครับ

สำหรับรสชาติอาหาร ผมว่ายังสู้ของหนองคายไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการทานแก้ขัด ก็ถือว่าพอได้อยู่ครับ

หลังอิ่มท้องแล้ว ผมมุ่งหน้ากลับอุดรธานี เพื่อเตรียมเดินทางกลับกรุงเทพครับ ก่อนวันเดินทางกลับหนึ่งวัน นกแอร์ได้ส่ง SMS แจ้งมาว่า ไฟล์ทที่ผมจะบินกลับมีความจำเป็นต้องล่าช้าไป 20 นาที แต่เอาเข้าจริงๆ ล่าช้าไปกว่าครึ่งชั่วโมงครับ

การที่เครื่องล่าช้าในวันนี้ ผมถือว่าเป็นผลดีสำหรับผมครับ เพราะก่อนที่เครื่องจะทะยานขึ้นฟ้า ดวงอาทิตย์ก็เริ่มที่จะตกแล้ว นั่นหมายถึงวันนี้ผมอาจจะได้เห็นพระอาทิตย์ตกจากบนเครื่องบินครับ

หลังจากที่เสียเวลาร่วมครึ่งชั่วโมง เครื่องก็เริ่มทะยานสู่ฟากฟ้าครับ

พระอาทิตย์ตกคนละฝั่งกับที่ผมนั่ง แต่ก็ไม่น่าเสียใจครับ เพราะผมมีโอกาสได้เห็นแสงงามๆ ที่ปรากฏอยู่บนฟากฟ้า เบื้องหน้าของผม ณ เวลานั้น สวยงามมากครับ

เพียง 1 ชั่วโมง นกแอร์ก็นำผมมาสู่กรุงเทพอย่างปลอดภัย ช่วงก่อนที่เครื่องจะลง ผมยังมีโอกาสได้เห็นแสงงามๆ กับแสงไฟสว่างไสวของเมืองกรุงครับ ทริปนี้ถือเป็นอีกหนึ่งทริปที่ผมประทับใจครับ

ลุงเสื้อเขียว

 วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2558 เวลา 15.23 น.

ความคิดเห็น