ทริปนี้กลุ่มเช ไปกัน 7 คน เช พี่ต่าย พี่โอ้ต นนท์ ออย ตะวัน ซอล(ช่างภาพ) และไปเจอกับกลุ่มบอลที่มากัน 4 คน เลยไปด้วยกันซะเลย ทีมบอลมี บอล แพรว พี่จง เดียร์ เลยเดินกันเดินและตั้งแค้มป์ด้วยกันมันเสียเลยได้เพื่อนใหม่สนุกดี กลางคืนมีมีทติ้งกันสนุกมาก ขอบคุณพี่ต่ายมากที่หุงข้าว ทำแกงหยวก ขอบคุณพี่โอ้ต ที่ช่วยย่างหมูและต่อแพไม้ไผ่ให้เล่นน้ำกันและพาเที่ยวจนเกือบสว่าง และขอบคุณป๋านิ่มมากที่ทำเกี๊ยวน้ำอร่อยๆ มาให้ทาน ระหว่างเดินไปน้ำตก กลุ่มเช แวะมุด ปีน ป่าย ตลอดสองข้างทาง สนุกดี เจอรอยเลียงผา ไก่ป่า ออกจากน้ำตก เช นนท์ ซอล พี่โอ้ต ก็ไปเที่ยวต่ออีกหลายที่ ขอบคุณพี่สำเภามากๆ ที่ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี เราปีนน้ำตกพี่สำเภาก็ปีนตามบางจุดพี่สำเภาก็บอกว่าตัวเขาเองก็ยังไม่เคยมา รอชมในรีวิวละกัน


ทริปนี้สะบักสะบอม โดนท่อไอเสียลวกคืนวันศุกร์ เช้าพาร่างเจ็บๆ เดินเข้าป่าเล่นน้ำตก โดนมีดตีใส่หน้า ดั้งแทบหัก เดินหลุดไปดงหานช้างร้องกับ ผอ.นนท์อีกระหว่างสำรวจข้างทางของน้ำตกผาแตก กลับมามุดถ้ำหัวโขกหินที่เป็นสายแร่เหล็กหินเหล็กทั้งก้อนหัวปูด และสุดท้ายโดนกำลังก้มเก็บของเพื่อนที่ปีนจงจากหลังรถทับหลังแทบหักอีก

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมขอเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ "น้ำตกผาแตก" โดยจะเปิดให้เดินศึกษาธรรมชาติฯ ระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2560 -2 เม.ย. 2560 ซึ่งจะเปิดให้เดินอาทิตย์ละ 3 วัน คือ วันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว วันละ 20 คน (หรือ กรุ๊ปละ 10 คน 2 กรุ๊ป)


ค่าใช้จ่าย

1. ค่ารถ คันละ 1000 บาท 1 กรุ๊ป ใช้รถ 2 คัน

2. ค่าคนนำทาง 1000 บาท

3. ค่าลูกหาบ 1400 บาท หาบได้ 30 กก.

โทร. 034-510431



น้ำตกผาแตกตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อยู่บริเวณพื้นที่ป่าบ้านทิพุเย หมู่ 3 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นน้ำตกหินปูนที่สวยงาม มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีจำนวน 4 ชั้น แต่ละชั้นสูงประมาณ 5 - 20 เมตร และเกือบทุกชั้นยังมีแอ่งน้ำสามารถเล่นน้ำได้ น้ำตกผาแตกอยู่ก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาแหลม โดยจะมีถนนลาดยางเข้าไปถึงหมู่บ้านทิพุเย ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร (ใช้รถยนต์ของอุทยาน) และเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร จะถึงตัวน้ำตกผาแตก ซึ่งมีทางชักลากไม้เก่า และต้องนอนพักค้างแรม 1 คืน



ข้อแนะนำในการเดินป่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาแตก

1. เตรียมความพร้อมร่างกาย เนื่องจากระยะทางในการเดิน 6 กม. ใช้เวลาประมาณ 4 ชม.

2. การแต่งกายเดินป่า ควรแต่งกายรัดกุม พยายามสวมชุดที่ปกปิดร่างกายให้มิดชิด เพื่อป้องกันแมลงกัด ต่อย ชุดที่สวมใส่ควรเป็นชุดที่ใส่สบาย คล่องตัว และใช้โทนสีที่กลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ เสื้อผ้าที่ต้องเตรียมมา ควรแบ่งออกเป็น 3 ชุด คือ ชุดเดินป่า ชุดเล่นน้ำ และชุดนอน และควรมีเสื้อแจ็กเก็ต ถุงเท้า เนื่องจากในเวลากลางคืนอากาศค่อนข้างเย็น สำหรับรองเท้าควรเป็นรองเท้าเดินป่าหุ้มส้นที่แข็งแรงและสวมใส่พอดีและสามารถเดินลุยน้ำได้

3. ลูกหาบ (กลุ่มเช ไม่ได้จ้าง)

4. อุปกรณ์เดินป่า ที่จำเป็นต้องเตรียมมา เช่นเปล เต็นท์ ถุงนอน, FLY SHEET , หม้อสนาม

5. อาหาร จัดเต็มได้เลยทางเดินสบาย

6. ของใช้จำเป็น ยาสามัญประจำบ้าน เช่นยาแก้ไข้,ยาแก้แพ้, ยาหม่อง ,ยาทาแก้คัน,ยาเส้นหรือยาอื่นๆ ,ทิชชู่แห้งและทิชชู่เปียก น้ำตกผาแตกมีห้องสุขาชั่วคราว จำนวน 2 ห้อง

7. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ให้เตรียมยามาด้วย และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนออกเดินทาง

การเดินทางสู้น้ำตกผาแตก ในคืนวันศุกร์ที่10/03/2016 จะนอนพักกันที่ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ปข.1 (เกริงกระเวีย) หมู่ที่ 2 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี หน่วยจะอยู่ด้านซ้ายมือ



การเดินทางไปหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ปข.1 (เกริงกระเวีย)

ตัวเมืองกาญจนบุรี - หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ปข.1 (เกริงกระเวีย) 170 กิโลเมตร



รถยนต์

- จากตัวเมืองกาญจนบุรี วิ่งบนถนนแสงชูโตที่เป็นถนนสายหลัก ถึงสี่แยกแก่งเสี้ยน เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายอำเภอไทรโยค - ทองผาภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 323)

- ก่อนถึงตัวอำเภอทองผาภูมิ มีสามแยก เลี้ยวขวาไปทางอำเภอสังขละบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) จะผ่านวัดท่าขนุน

รถทัวร์ บขส. 999 จากกรุงเทพฯ - ด่านเจดีย์สามองค์

- ขึ้นรถจากสถานีขนส่ง หมอชิต (รถ ปอ. 1) บอกคนขับว่าลงที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ปข.1 (เกริงกระเวีย)

รถโดยสารระหว่างอำเภอ

- ขึ้นรถทัวร์กรุงเทพฯ - กาญจนบุรี จากสถานีขนส่งสายใต้ สถานีขนส่งหมอชิต ไปลงที่ตัวเมืองกาญจน์

- นั่งรถจากสถานีขนส่งในตัวเมืองกาญจน์ ไปอำเภอสังขละบุรี แล้วลงระหว่างทาง

ค่าธรรมเนียมอุทยานฯ


- คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท

- ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

- รถจักรยาน คันละ 10 บาท มอเตอร์ไซค์ คันละ 20 บาท

- รถยนต์เก๋ง คันละ 30 บาท

- ค่าบริการกางเต็นท์ คืนละ 30 บาท/คน/คืน

ตื่นตอนเช้า ทำอาหารทาน และเตรียมตัวออกเดินทาง

คุณบุหลัน รันตี บอกว่า ทิ หรือ ที้ แปลว่าน้ำ , พุ หรือ พู้ แปลว่าลูก แปลตรงๆ แปลว่า น้ำลูก แปลตามหลัก คือลำห้วย ลำธาร สายน้ำขนาดเล็ก



น้ำตกผาแตก ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อยู่บริเวณพื้นที่ป่าบ้านทิพุเย

“ทิพุเย" เป็นภาษากะเหรี่ยง หมายถึง ลำห้วยเล็ก ๆ ที่มีต้นเยขึ้นอยู่ ต้นเย คือต้นเต่าร้าง เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามริมห้วยในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งแต่เดิมลำห้วยทิพุเยมีต้นเยขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก การเรียกชื่อสถานที่ต่าง ๆ ของคนกะเหรี่ยง จะเรียกชื่อตามลักษณะทางภูมิศาสตร์และลักษณะเด่นของพืชและระบบนิเวศน์ในแต่ละแห่ง เช่นน้ำตกโปตาน่า คือมีต้นโปตาน่าขึ้นอยู่ ห้วยแหว่งสะชูว์ หมายถึง ห้วยมะไฟ เป็นต้น

บ้านทิพุเย มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติตลอดปี มีลำห้วยไหลผ่านหมู่บ้าน 3 สาย คือ ห้วยทิพุเย ห้วยจองกวะ ห้วยทิไร่ป้า ลำห้วยไหลผ่านที่ทำกินของชาวบ้านคือ ห้วยโปตาน่า ห้วยทิยาหลุ่ง ห้วยแห้ง ห้วยแหว่งฉะชูว ห้วยแม่กลองโผ่ว

หมู่บ้านทิพุเยแบ่งเขตการปกครองเป็น 7 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านห้วยเสือ, หมู่ที่ 2 บ้านเกริงกระเวีย, หมู่ที่ 3 บ้านทิพุเย, หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งเสือโทน(เดิมชื่อบ้านคลิตี้บน), หมู่ที่ 5 บ้านภูเตย, หมู่ที่ 6 บ้านทุ่งนางครวญ และ หมู่ที่ 7 บ้านชะอี้

ชุมชนตั้งอยู่บนที่ราบเทือกเขาพระฤๅษีบ่อแร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมซึ่งทางราชการเพิ่งประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมเมื่อปี พ.ศ.2534 โดยได้ประกาศเขตอุทยานฯ ทับพื้นที่หมู่บ้านและที่ทำกินของชาวบ้านทิพุเยทั้งหมด

ลงทะเบียนเข้าเที่ยวชมน้ำตกผาแตก ที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จากนั้นนั่งรถยนต์ที่เตรียมไว้ เดินทางต่อไปยังจุดเดินเท้าที่หมู่บ้านทิพุเย



ถนนมีแต่ฝุ่นหาาอะไรมาปิดหน้าด้วย

หลังจากขับรถตากแดด กินฝุ่น ก็ผ่านพ้น 9 กิโลเมตร อันแสนอบอุ่น มาได้ มาถึงจุดเดินยกเป้ลงจัดของอีกรอบแล้วเตรียมออกเดิน


บริเวณที่รถจอด จะเป็นทางแยกซึ่งเป็นทางชักลากไม้เก่า

เดินตามทางถนนไม่ชันคะ เป็นป่าไผ่เสียส่วนใหญ่

เดินข้ามขอนไม้

เดินขึ้นเนินนิดหน่อย

เดินขึ้นเนิน ลงเนิน

ข้ามอีกหนึงสะพาน

ถึงที่พักจุดแรก เจอชาวบ้านเดินตามมา 3 คน จากการสอบถามคือกำลังออกไปหาปลากัน ในภาพ คืออุปกรณ์จับปลา

ระหว่างทางเกิดเหตุไม่คาดฝันที่การปะทะกับกองกำลังกระต่ายป่า ดูแล้วน่าจะตายด้วยโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดมากกว่าดดนยิงตาย

มีการใช้กำแพงเจ้าหน้าที่ ในการหลบวิถีกระสุน มันร้ายนัก

ข้ามสะพานไม้ไผ่อีกหนึ่งสะพาน ตามด้วยสะพานไม้

ตามด้วยสะพานไม้อีกอัน

แวะหาหนอนไม้ไผ่

เดินมาถึงจุดนี้ เริ่มมีหินถ้ำ กระจัดกระจายตามสองข้างทาง เลยแวะไปสำรวจแนวภูเขาฝั่งขวามือกัน

สำรวจกันทั่วแนวหิน มีแต่ร่องรอยโพรงน้ำ ไม่พบถ้ำ พี่สำเภาเองบอกยังไม่เคยมา แกเองก็ปีนตามาดูเช่นกัน

ระหว่างที่เดินทาง เจออีกกลุ่มที่กำลังเดินทางกลับสวนมาพอดี เลยฉีดน้ำใส่เสียเลย

มีแวะหาอาหารเย็นด้วย

ออกเดินทางต่อคะ ใกล้จะถึงแค้มป์แล้ว พี่ต่ายประคับประคองใบกล้วยอย่างดี จะเอาไปทำอาหารในตอนเย็น

ภาพบน ต้นเย คือต้นเต่าร้าง เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามริมห้วยในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์


มีห้องน้ำก่อนถึงลานกางเต็นท์

เดินไปถึงเจอทริปของป๋านิ่ม นอนพักผ่อนกันอยู่ พวกเราเห็นว่าตรงนี้คนเยอะแล้ว เลยตัดสินใจไปหาที่ตั้งแค้มป์กันอีกฝั่งของลำห้วย คืนนี้จะมีงานบวช อาจารย์จง กลัวเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้าน

ช่วยกันทำที่ตั้งแค้มป์

ทำอาหารเย็น

พี่ต่ายหาไม้มาหุงข้าว

พี่ต่ายทำอาหารให้ทาน

หลังจากทำอาหารก็ออกเดินไปยังน้ำตก

มุ่งหน้ามาที่น้ำตกชั้นสุดท้ายก่อน เป็นบ่อน้ำสีฟ้า สวยงามมาก

เล่นน้ำกันสบายใจ สูทสีดำซอล ช่างภาพ และที่นอนบนแพไม้ไผ่พี่ต่าย

ความจริงมันจะมีทางให้เดิน แต่พวกเราเลือกเดินไต่ตามน้ำตก ย้อนขึ้นไปเรื่อยๆ

ปีนต่อไปคะ สนุกมาก

ระหว่างที่กำลังปีนน้ำตก เชก็แวะเดินหาดูดอกไม้ข้างทาง บังเอิญไปเจอหน้าผาหินขนาดใหญ่ คาดว่าช่วงหน้าฝนน้ำคงไหลผ่านลงมา ทำให้หินบริเวณนี้ถูกเคลือบด้วยหินปูน และมีหินงอกหินย้อย ที่แวววาว สวยมากๆ เลย

ตรงนี่พี่สำเภาบอกว่ายังไม่เคยมาอีกเช่นกัน จากการสำรวจไม่พบถ้ำ มีแต่รังนอน และรอยเลียงผา

เดินตามน้ำตกต่อไปเรื่อยๆ จนถึงที่พัก

กลับมาย่างไก่และทานข้าวเย็น โดยทีมคุณบอลก็ได้มาค้งแค้มบริเวณเดียวกัน เลยเรียกมาร่วมวงด้วยกันเลย นั่งตำจอกกันจนเหล้าหมด จึงแยกย้านกันไปนอน ทีละคน สองคน

หลังจากทานข้าวเช้าเสร็จ ก็เดินทางกลับไปยังหน่วย แต่การเดินทางยังไม่จบเพียงเท่านี้ เช ได้มีโอกาสคุยกับพี่สำเภาเลยถามแกว่าแถวนี้มีถ้ำบ้างไหม แกบอกว่ามีเยอกมาก แต่เชเลือกไปถ้ำเกริงกะเวีย เพราะมีมีสายน้ำไหลผ่านในถ้ำด้วย



ปล.ถ้ำนี้ยังไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยว เข้าชม หากต้องการเข้าชมโปรดสอบถามจากเจ้าหน้าที่

กลับมาถึงหน่วย ยังไม่เปลี่ยนชุด เช พี่โอ๊ต พี่สำเภา นนท์ ซอล เดินทางไปดูถ้ำกันต่อ ถ้ำอยู่ห่างจากหน่วยไป 2 กิโลเมตร ไปถึงจอดรถ ช่วงแรกเดินตามสวนยางไป แล้วตัดเข้าป่า

ทางรกพอสมควร

ปากถ้ำไม่กว้างมากนัก คิดว่าคงเป็นถ้ำที่ไม่ใหญ่มาก

ภายในถ้ำไม่เล็กอย่างที่คิด ด้านซ้ายมือได้ยิยเสียงน้ำดังมาก แต่พวกเราคิดว่าเดี๋ยวค่อยเดินไป เลยไปสำรวจฝั่งซ้ายมือก่อน

มีค้างคาวอาศัยอยู่ มีหินที่เป็นแร่เหล็กอยู่มาก

มีซอกเล็ก ซอกน้อยให้เดินเต็มไปหมด ที่เดินมา นี่เชสุ่มเดินแค่ทางเดียว ถ้าซอกแซกด้วยคงเดินยาวแน่นอน

ภายในถ้ำมีธารน้ำไหลซอนไซ ผ่านในตัวถ้ำเป็น แนวยาว อยากจะมุดน้ำมาก ถ้ามีเชือกและชูชีพ

บริเวณที่เช นั่ง ถ้าช่วงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมเลยบริเวณที่นั่งขึ้นไปอีก กะจุดไปเรื่อยๆ แต่พี่สำเภาบอกว่าอันตราย ให้กลับมา แต่กว่าจะได้ยิน ตะโกนกันจนคอแห้ง เพราะว่าน้ำเสียงดังมาก

หลังจากเดินได้ชั่วโมงกว่าๆ จวนจะมืดแล้ว เลยตัดสินใจออก และห่วงพี่โอ้ตด้วยเพราะพลัดหลงกันตั้งแต่เข้าถ้า ไม่รู้คลาดกันตอนไหน

หลังจากออกจากถ้ำ เจอพี่โอ้ตแล้ว ก็ไปทานข้าวกัน พี่สำเภาไปทานด้วย ทานเสร็จ ร่ำรากัน จะไปนั่งชมวิว อาบน้ำ ที่ลำคลองงู (เอิ่ม นี่มันจะห้าโมงครึ่งละ ไปชมวิวอะไรฟะ ไปถึงมืดพอดี เลยนั่งเล่นกันชิลๆ)

ไปเที่ยวอุโมงค์เหมืองแร่เก่า ดร.ผล กลีบบัว จ.กาญจนบุรี

อุโมงค์ขุดเจาะโดยแรงงานคน เป็นเหมืองตะกั่วเก่า ที่มีมากว่า 3 ชั่วอายุคน ตัวอุโมงค์มีขนาดใหญ่ มีสาขาแยกทั่วไปหมด แต่ ทางเหมืองไม่อนุญาตให้เดินออกนอกเส้นทางให้เข้าชมได้ในทางตรงเท่านั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปนาน เริ่มเกิดหินงอกหินย้อย


รถบรรทุกสามารถขับเข้าไปด้านในได้ ในอดีตใช้สำหรับลำเรียงขนแร่ที่ขุดเจาะได้จากในภูเขาออกมา

ปัจจุบันนี้ไม่มีการทำเหมืองแล้ว (เนื่องจากหมดอายุสัมปทาน) อุโมงค์ที่ลึกที่สุด มีความลึกประมาณ 2 กิโลเมตรเศษ



ทางเทศบาลตำบลสหกรณ์นิคม เล็งเห็นว่า บริเวณเหมืองเก่าและอุโมงค์เหล่านี้มีความน่าสนใจ

เหมาะสมที่จะจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัยได้ รวมทั้งอยากส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว

จึงได้ทำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ โดยมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขอใช้พื้นที่

เพื่อพัฒนาและเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว และให้ชาวบ้านในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร

มีทั้งหมด 3 อุโมงค์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน

เมื่อเข้าไปข้างในเราจะเห็น ร่องรอยการทำเหมือง สำหรับทางก็เปียก ชื้น แฉะ มีน้ำไหล ตลอดทางภาพบน สำหรับใช้กับเครื่องอัดอากาศเพื่อส่งผ่านลม ใช้ใน เหมืองแร่ ภาพล่าง hopper สำหรับลำเลียงแร่

บริเวณนี้เคยเป็นช่องลำเรียงแร่ ปัจจุนเรียกว่าช่องน้ำตก ช่วงหน้าฝนน้ำจะไหลลงมาจากตรงนี้ มีหินย้อย ที่เกิดขึ้นตามกาลเวลา สวยงามมาก



การเข้าเที่ยวชมอุโมงค์เหมืองแร่นั้น เทศบาลตำบลสหกรณ์นิคม “ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขับรถเข้าไปเที่ยวเอง" ต้องใช้รถยนต์ และผู้นำชมของทางชุมชนในการเข้าเที่ยวชมเท่านั้นเนื่องจากเส้นทางในอุโมงค์เหมืองมีความสลับซับซ้อน อาจเกิดการพลัดหลง และเกิดอันตรายได้

นักท่องเที่ยวที่สนใจจะเข้าเที่ยวชมอุโมงค์เหมืองเก่า สามารถติดต่อนัดหมายวันเวลาได้ที่ เทศบาลตำบลสหกรณ์นิคม โทรศัพท์ 034 685038,

คุณสำรวม ใจซื่อ (นายกเทศมนตรีตำบลสหกรณ์นิคม) โทร.081 995 4997,

คุณวารี ผาภูมิเกริก (รองนายกเทศมนตรีตำบลสหกรณ์นิคม) โทร. 084 717 5185

ภายในเหมืองมีปลาชิว ปลาช่อน กุ้ง และปู (ทุกวันนี้กำลังสอบถามอยู่ว่าเป็นปูสายพันธ์ไหน) ทริปนี้ขอบคุณทุกกคนมากถึงบ้านเกือบๆ ตีสอง คนอื่นตีสี่ได้แหละ ยินดีที่ได้พบเจอ นะ

I'm Che

 วันพุธที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560 เวลา 21.33 น.

ความคิดเห็น