“ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำ พรำ

กบมันก็ร้อง งึมงำ ระงมไปทั่ว ท้องนา…

ฝนตกทีไร คิดถึงขวัญใจ ของข้า

แม่ดอกโสน บ้านนา

น้องเคยเรียกข้า พ่อดอกสะเดา...”


เสียงเพลง “ฝนเดือนหก แว่วเข้ามาในโสตประสาทของผม นี่ก็เข้าฤดูฝนแล้วซินะ จริงๆ ปีนี้ฤดูฝนมาเร็ว คือเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมแล้ว เมื่อเข้าฤดูฝน สิ่งแรกที่นึกถึงคือความเขียวขจีของพันธุ์พืช พาลทำให้ผมนึกถึงทุ่งนาขั้นบันไดที่แม่แจ่มขึ้นมาในบัดดล นี่ก็เกือบ 2 ปีแล้วซินะที่ผมห่างหายจากการขึ้นไปเที่ยวทางภาคเหนือ และน่าจะเกือบ 5 ปีแล้วซินะที่ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสแม่แจ่มเป็นครั้งแรก ไปแม่แจ่มรอบนั้นมีเวลาน้อยมาก ไปเพื่ออยากรู้ว่าทำไมนักท่องเที่ยวถึงนิยมไปเที่ยวแม่แจ่มกันจัง ไปครั้งนั้นแทบไม่ได้รูปติดไม้ติดมือกลับมาเลย ไปครั้งนั้นทำให้รู้ว่าต้องกลับมาสัมผัสแม่แจ่มแบบเจาะลึก อีกสักรอบ

แม่แจ่ม หรือ เมืองแจ๋ม เมืองในหุบเขา เมืองเล็กๆ ที่ยังคงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เมืองที่มีนาขั้นบันไดที่สวยไม่แพ้ซาปาหรือ หยวนหยาง เมืองที่นักท่องเที่ยวหลายคนอยากจะมาสัมผัส และอีกหลายสิ่งอย่างที่รอให้นักท่องเที่ยวได้มาค้นหาครับ

จุดหมายแรกของแม่แจ่ม คือ การชมทะเลหมอกที่บ้านบนนาครับ แต่ช่วงที่ผมไปที่แม่แจ่มปลอดฝนมาสัก 1-2 วันแล้ว ไม่รู้ว่าจะได้เห็นทะเลหมอกหนาๆ หรือเปล่า คงต้องไปลุ้นกันอีกทีครับ

สำหรับจุดชมวิวบ้านบนนา อยู่ทางด้านเหนือของแม่แจ่ม ใช้เส้นทางเดียวกับการไปวัดพุทธเอ้นครับ แต่ก่อนถึงวัดพุทธเอ้นให้สังเกตจะมีแยกซ้ายมือไปทางวัดน้อย ให้เราใช้เส้นทางนี้เลยครับ ขับไปเรื่อยๆ จะมองเห็นอ่างเก็บน้ำสันหนอง เลยขอแว๊บเข้าไปเก็บบรรยากาศสักเล็กน้อยครับ


อ่างเก็บน้ำสันหนองเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จากสันอ่างเก็บน้ำพอจะมองเห็นวิวของเมืองแม่แจ่มได้เหมือนกัน ช่วงเช้าน้ำนิ่งมาก นิ่งจนสามารถเห็นเงาสะท้อนน้ำได้ด้วยครับ

หลังจากแวะเก็บบรรยากาศที่อ่างเก็บน้ำสันหนองแล้ว เรามุ่งหน้าต่อสู่จุดชมวิวบ้านบนนา

สถานที่ท่องเที่ยวของแม่แจ่มบางจุด เช่น จุดชมนาขั้นบันได หรือจุดชมทะเลหมอก ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้ทำเป็นสัญลักษณ์หรือป้ายบอกทางที่ชัดเจนว่าจุดนั้นๆ คือจุดชมวิว นักท่องเที่ยวคงต้องหามุมงามๆ กันเอาเองครับ ผมเองก็ต้องคอยสอบถามเส้นทางจากชาวบ้านไปตลอดทางเหมือนกัน การอ่านป้ายชื่อหมู่บ้านก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง จุดชมวิวบ้านบนดอยจะอยู่เลยจากหมู่บ้านบนดอยออกมาไกลพอสมควร แนะนำว่าขับรถมาเรื่อยๆ แล้วจะมองเห็นมุมที่เปิดโล่งเองครับ

เช้านี้ถึงแม้จะไม่ได้ทะเลหมอกหนาๆ อย่างที่ตั้งใจแต่ก็ยังพอมองเห็นสายหมอกบางๆ ที่โลมเลียทิวเขา เบื้องล่างของผืนหมอกมองเห็นตัวเมืองแม่แจ่ม สมกับเป็นเมืองเล็กๆ ที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางขุนเขาเสียจริงๆ ครับ

จบภารกิจชมทะเลหมอกยามเช้าแล้ว ผมขอเริ่มปักหมุดโปรแกรมในตัวเมืองแม่แจ่มและจะมาเก็บบรรยากาศช่วงเย็นทางทิศเหนือของแม่แจ่มอีกครั้ง

เริ่มกันที่วัดบ้านทัพครับ

จากถนนใหญ่มองเห็นวัดบ้านทัพอยู่ท่ามกลางไร่ข้าวโพด จริงๆ จะเป็นนาข้าว แต่เนื่องจากช่วงนี้ยังไม่ถึงฤดูปลูกข้าวกัน เลยเปลี่ยนมาเป็นปลูกข้าวโพดแทนไปก่อนครับ

วัดบ้านทัพ เดิมชื่อวัดศรีหนองเมือง ซึ่งที่ตั้งของวัดเดิมนั้นประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำทุกปี ชาวบ้านและพระภิกษุจึงลงความเห็นว่าจะย้ายที่ตั้งของวัดให้อยู่ในทำเลที่สูงกว่าตำแหน่งเดิม จากนั้นได้นิมนต์องค์พระประธานล่องแพมาตามลำน้ำแม่แจ่ม แล้วนำองค์พระประธานมาประดิษฐาน ณ สถานที่ตั้งวัดแห่งใหม่ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของวัดแห่งหนึ่งที่กลายสภาพเป็นวัดล้างไปนานแล้ว เมื่อทำการย้ายวัดศรีหนองเมืองมาที่ตั้งแห่งใหม่แล้ว ก็ตั้งชื่อใหม่ว่า วัดบ้านทัพ ซึ่งครั้งหนึ่ง ณ บ้านทัพเคยมีทหารมาตั้งกองทัพอยู่ จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ รวมถึงวัดแห่งนี้ด้วย

ด้านหลังของวัดบ้านทัพจะเป็นทุ่งนา ทำให้เป็นที่นิยมจากนักท่องเที่ยวต่างพากันมาถ่ายรูปวัดบ้านทัพในบรรยากาศทุ่งนาสีเขียว และครั้งนี้ผมเองก็ต้องการจะมาถ่ายบรรยากาศแบบนั้นเหมือนกัน แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะช่วงนี้ยังไม่ใช่ฤดูปลูกข้าวครับ

จากนั้นมุ่งหน้าต่อสู่วัดป่าแดด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดบ้านทัพครับ

มองเห็นองค์เจดีย์สีขาวแต่ไกลครับ

วัดป่าแดดสร้างขึ้นราวๆ ปี พ.ศ.2400 โดยพญาเขื่อนแก้ว เจ้าเมืองแจ๋ม ตัววิหารก่อด้วยอิฐถือปูน มีโครงสร้างด้านบนเป็นไม้ แวดล้อมไปด้วยไม้ใหญ่ ดูร่มรื่นมากๆ ครับ



ตอนที่ผมไป ประตูด้านหน้าของวิหารถูกปิดอยู่ แต่ผมได้ขออนุญาตพระเพื่อเข้าชมด้านใน ซึ่งจะมีประตูเล็กๆ ด้านหลังวิหารเปิดแง้มอยู่ ภายในวิหารดูน่ากลัวดีเหมือนกัน ทั้งมืดและมีเศษฝุ่นอยู่เต็มไปหมด ดูเหมือนจะถูกปิดร้างไว้นานโดยที่ไม่มีการใช้งานเลย ด้านในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย งดงามแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน พระพักตร์ดูอิ่มเอิบ เหมือนท่านยิ้มให้กับเราตลอดเวลา รวมถึงธรรมมาสที่ดูเก่ามากๆ ครับ


หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมผมถึงอยากเข้ามาชมด้านในของวิหารหลังนี้ เฉลยครับ ด้านในของวิหารหลังนี้จะมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ที่เล่าเรื่องราวพระพุทธประวัติ นิทานพื้นบ้าน ที่ยังคงความสมบูรณ์ของช่างสกุลไทยใหญ่ จำนวน 8 ภาพ บางภาพค่อนข้างสมบูรณ์ บางภาพก็หลุดร่อนไปตามกาลเวลา


นอกจากนี้ยังมีหอไตรที่อายุมากกว่าร้อยปี ก่ออิฐถือปูนมุงด้วยกระเบื้องดินขอและรูปปั้นเทวดาสององค์คอยอารักขาพระไตรปิฎกอยู่ด้านหน้าครับ


ถึงแม้วัดป่าแดดจะเป็นวัดขนาดเล็ก แต่ที่นี่ก็มากมีด้วยคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม แนะนำว่าไม่ควรพลาดในการไปเที่ยวชมครับ

จากวัดป่าแดด ไปต่อกันที่วัดยางหลวง อีกหนึ่งวัดที่มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร วัดยางหลวงเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2038คำว่า “ยาง” เป็นคำเรียกชาวกระเหรี่ยงซึ่งเป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมา ส่วนคำว่า “หลวง” แปลว่า ใหญ่ ครับ

จุดที่น่าสนใจของวัดยางหลวงอยู่ที่พระอุโบสถ เป็นพระอุโบสถที่มีแท่นหน้าประตู ซึ่งปกติจะมีรูปนาคราช แต่ที่วัดยางหลวงไม่มี ฐานโดยรอบของพระอุโบสถไม่เสมอกัน ซึ่งมาจากการสร้างที่ต้องใช้คนมากมายสร้างพร้อมกัน ผนังด้านหลังของพระอุโบสถมีภาพที่งดงามของพระ 3 องค์ เป็นภาพพระพุทธองค์และพุทธสาวก ในแบบฉบับของล้านนาครับ

บรรยากาศภายในวิหารดูเหมือนถูกปล่อยร้าง ขาดการทำความสะอาดมานานครับ ด้านในถูกปิดมิดชิดจนค่อนข้างมืด กลางวิหารเป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน ด้านหลังของพระประธานเป็นกู่ปราสาท ซึ่งไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นแบบนี้กันสักเท่าไรครับ


กู่ปราสาท จำลองจากเขาคิชกูฎ ซึ่งมีประวัติเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธมากมาย เช่น พระคันธกุฏิบนยอดเขาคิชกูฎ คุกขังพระเจ้าพิมพิสาร โรงพยาบาลหมอชีวกและวัดเวฬุวัน ถ้ำพระสาธิบุตร ด้านข้างของกู่ปราสาททั้งสองข้างเป็นพระพุทธรูปยืนสมัยโบราณ ลายปูนปั้นของกู่ปราสาท ได้รับอิทธิพลทางด้านสถาปัตยกรรมแบบพุกามมาจากพม่า ผสมกับล้านนาสกุลช่างเชียงแสน ดูเก่าแก่ ทรงคุณค่ามากๆ ครับ


ที่แท่นยืนของพระพุทธรูปทั้งสององค์มีการจารึกเป็นตัวอักษรด้วย โดยองค์ขวามือของพระประธานจารึกบนแท่นด้านหน้าพระบาท ส่วนองค์ซ้ายมือมีจารึกรอยนูนอักษรครับ


ถ้าหันหน้าให้พระประธาน หากสังเกตที่พื้นด้านขวามือบริเวณหน้าต่างแต่ละบาน จะเห็นพื้นของพระอุโบสถถูกทาด้วยสีขาว หากปิดหน้าต่างจนเกือบสนิท พอให้แสงรอดผ่านได้ จะปรากฏภาพเงาสะท้อนวิหารที่ลอดผ่านช่องของหน้าต่าง ซึ่งจะเห็นชัดมากในช่วงที่ฟ้าใส ภาพจะมีให้เห็น 2 ภาพครับ


วิหารหลังนี้แหล่ะครับ ที่เป็นต้นกำเนิดของภาพเงาสะท้อนภายในพระอุโบสถ


ด้านในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน ซึ่งพระประธานของวัดยางหลวงประกอบขึ้นมาจากไม้สักทั้งองค์ และน่าจะเป็นพระพุทธรูปไม้สักองค์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศด้วยครับ


เที่ยววัดกันพอหอมปากหอมคอแล้ว ขอคั่นโปรแกรมไปเที่ยวแบบธรรมชาติกันบ้าง จุดที่ผมจะพาไปชมคือ น้ำออกฮู อยู่ห่างจากตัวเมืองแม่แจ่มประมาณ 8 กิโลเมตร ทางทิศเหนือ อยู่ติดถนนเลย มีป้ายบอกชัดเจนครับ


ชื่อ “น้ำออกฮู”ก็พอจะเดาลักษณะของสถานที่ว่าเป็นน้ำออกรู และก็เป็นจริงดังที่ผมคาดเดา ลักษณะจะเป็นบ่อน้ำผุดตลอดทั้งปีจากซอกหินครับ



น้ำที่ผุดจะผุดที่บ่อนี้ โดยจะผุดอยู่ตลอดปีไม่มีวันเหือดแห้ง

จากบ่อน้ำที่ผุดตามธรรมชาติ น้ำจะไหลลงบ่อขนาดเล็กที่ได้สร้างขึ้นลักษณะเป็นฝายเล็กๆ จากนั้นน้ำจะไหลลงเป็นลำธาร น้ำใสเลยทีเดียวครับ


บริเวณโดยรอบร่มรื่นด้วยกลุ่มไม้ใหญ่ มีการทำเพิงเล็กๆ ให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพักผ่อนด้วย ผมว่าช่วงวันเสาร์อาทิตย์ นักท่องเที่ยวน่าจะมาพักผ่อนที่นี่กันเยอะแน่ๆ เลยครับ

ตัดกลับมาเที่ยวชมวัดกันอีกครั้ง วัดที่เหลือจะอยู่ทางด้านเหนือของแม่แจ่ม ใช้เส้นทางเดียวกับที่ไปชมทะเลหมอกเมื่อเช้า แต่ทะเลหมอกจะเลี้ยวซ้าย ส่วนอีก 3 วัดที่เหลือไม่ต้องเลี้ยวซ้าย แต่จะตรงไปอย่างเดียวครับ

เริ่มที่วัดพร้าวหนุ่ม ผมได้มีโอกาสพบท่านเจ้าอาวาสด้วยท่านเล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อวัดพร้าวหนุ่ม แต่เดิมวัดแห่งนี้มีต้นมะพร้าวที่กำลังโตได้ที่อยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านแถวนั้นเลยเรียกว่าวัดพร้าวหนุ่มกันจนติดปาก ปัจจุบันต้นมะพร้าวตายหมดแล้วครับ ถึงแม้ว่าวัดพร้าวหนุ่มจะเป็นวัดใหม่ แต่วัดแห่งนี้ก็มีความงดงามที่ไม่แพ้วัดใดๆ ในแม่แจ่มเหมือนกันครับ

ด้านในงดงามมากๆ ครับ

มีการนำภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาใช้ในการก่อสร้างวัดด้วย อย่างเช่นกลอนที่ประตูหน้าต่าง ภาพซ้ายเป็นประตูเสือหมอบ เวลาจะเปิดปิดประตู ใช้การขยับหางของเสือเพื่อเป็นการปลดกลอนประตู หรืออย่างภาพขวา เรียกว่าพญาลืมงาย เมื่อเวลาจะปลดล๊อกกลอนจะต้องใช้ไม้มาแหย่ในสลักครับ


บริเวณตรงกลางของหน้าต่างจะมีการสลักเป็นลวดลาย ท่านเจ้าอาวาสเล่าให้ฟังว่าลายที่เห็นเป็นลายของยันต์ ในสมัยก่อนเวลาที่ชาวบ้านจะออกรบ จะนำผ้ามานาบไปกับลวดลายนี้แล้วใช้หมึกมาฝน ลายจากบานหน้าต่างจะติดออกมาบนผ้า ผ้าจะกลายเป็นผ้ายันต์ครับ






จากนั้นท่านเจ้าอาวาสนำผมมาชมที่หอพระไตรปิฎก ซึ่งงดงามไม่แพ้กัน ลวดลายตามซุ้มประตูหน้าต่างมีการนำแผ่นเงินดุนลายเข้ามาร่วมด้วย คล้ายๆ กับที่วัดศรีสุพรรณเลย นอกจากนั้นท่านยังเปิดให้ผมได้ชมภายในหอพระไตรปิฎกอีกด้วย

จากวัดพร้าวหนุ่ม ไปต่อกันที่วัดพุทธเอ้น ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก


วัดพุทธเอ้น มีตำนานในการสร้างวัดว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับฉันภัตตาหารที่บริเวณทิศเหนือของเมืองแม่แจ่ม เมื่อพระองค์ฉันภัตตาหารเสร็จก็ได้บ้วนปากลงบนพื้นดิน เกิดเป็นบ่อน้ำทิพย์ จึงได้ตะโกนเรียกชาวบ้านมาดู วัดนี้จึงถูกเรียกว่าวัดพุทธเอ้น (เอ้น หรือ เอิ้น ภาษาเหนือแปลว่าตะโกน) ปัจจุบันบ่อน้ำทิพย์บ่อนี้เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาวแม่แจ่มใช้รองเพื่อไปดื่มกิน บ่อน้ำทิพย์ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของวัดเลยครับ จากภาพด้านหลังป้ายชื่อวัด จะเห็นชาวบ้านกำลังรองน้ำทิพย์กลับไปใช้ที่บ้าน ผมเห็นชาวบ้านมารองน้ำไม่ขาดสายเลยและชาวบ้านยังเล่าอีกว่าบ่อน้ำทิพย์นี้มีน้ำผุดขึ้นมาให้ใช้ตลอดทั้งปีเลยทีเดียว



นอกจากบ่อน้ำทิพย์แล้ว ที่วัดพุทธเอ้นยังมีโบสถ์ไม้กลางน้ำ ตั้งอยู่กลางสระน้ำสี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง รายล้อมไปด้วยดอกบัว ตัวโบสถ์เป็นไม้ทั้งหลัง หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ดไม้ขนาดไม่ใหญ่นัก หน้าบันแกะสลักไม้เป็นลายพรรณพฤกษา เชิงชายเป็นรูปมกรคายนาคทั้งสี่ด้าน บริเวณรอบโบสถ์จนถึงกำแพงเรียกว่า “อุทกสีมา” มีความหมายเหมือนกับ “ขันทสีมา” ของโบสถ์บนบก ปัจจุบันโบสถ์ไม้โบราณหลังนี้หลงเหลืออยู่เพียงหลังเดียวในประเทศไทย แต่ก่อนเคยมีประเพณีการบวชพระสงฆ์กลางน้ำ คติการบวชในโบสถ์กลางน้ำนั้นถือว่าเป็นการบวชพระภิกษุสงฆ์ที่มีความบริสุทธิ์มากที่สุด ได้รับอิทธิพลมาจากฝ่ายลังกา แต่ปัจจุบันการบวชกลางน้ำได้ถูกยกเลิกแล้ว


ด้านในของโบสถ์ไม้กลางน้ำครับ




และสิ่งที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือวิหารไม้สักเก่าแก่ ด้านหลังวิหารเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์องค์ใหญ่ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ หลายสิ่งอย่างดูแปลกตาไปจากวัดทางภาคกลางมาก ไม่ว่าจะเป็นเชิงเทียนที่ตั้งอยู่ที่หน้าพระประธาน ถ้าเป็นภาคกลางจะใช้ประมาณโต๊ะหมู่บูชา และยังมี ธรรมมาส ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตั้งอยู่ด้านข้างของพระประธานด้วยครับ

จากวัดพุทธเอ้น ผมไปต่อที่วัดกองกาน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพุทธเอ้นมากนัก




เดิม วัดกองกาน มีชื่อว่า วัดศรีเมืองมา มีเรื่องเล่าว่าราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ในช่วงที่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามามีบทบาทในดินแดนล้านนา เจ้าผู้ครองเมืองต่างๆ ในล้านนา เช่น เชียงราย เชียงแสน เชียงใหม่ ได้ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นมา พร้อมๆ กับสร้างพระพุทธรูป ในเวลานั้นช่างก็สร้างไปตั้งแต่องค์พระไล่ขึ้นมาถึงพระเศียร แต่มีปัญหาว่าไม่สามารถปั้นแต่งพระพักตร์ให้สวยงามได้ ไม่ว่าจะทำไปกี่ครั้งแล้วก็ตาม จนในที่สุดได้มีการบวงสรวงเทวดาเพื่ออธิษฐานขอให้การสร้างพระสำเร็จ ช่างก็ได้ลงมือทำต่อไป ในขณะนั้นได้มีสามเณรรูปหนึ่งมาช่วยปั้นพระพักตร์ให้มีความสวยงามอิ่มเอิบ แล้วสามเณรน้อยองค์นั้นก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย จึงเป็นที่โจษจันว่าสามเณรน้อยนั้นจะต้องเป็นพระอินทร์มาช่วยสร้างพระพุทธรูปจนสำเร็จ พระพุทธรูปองค์นั้นมีชื่อว่าพระเจ้าตนหลวงครับ

ในกาลต่อมาเมื่อบ้านเมืองเกิดกลียุค วัดหลายแห่งถูกปล่อยให้รกร้าง รวมถึงวัดศรีเมืองมาด้วย ช่วงปลายปี พ.ศ.2380-2390 มีชาวบ้านมาแผ้วถางพื้นที่ทำไร่ทำนา จึงได้พบกับพระเจ้าตนหลวงที่มีเถาวัลย์ขึ้นปกคลุม แม้ว่าสิ่งอื่นๆ ในวัดจะพังทลายลง แต่องค์พระยังคงความงดงามอยู่ดังเดิม ชาวบ้านจึงช่วยกันปรับพื้นที่ ลงรักปิดทององค์พระเสียใหม่แล้วสร้างวัดขึ้นมาอีกครั้ง ในการสร้างวัดนี้มีผู้มีจิตศรัทธามากมายที่หาบเอาข้าวของมาเข้าร่วม เมื่อหาบของมาก็เอาไม้คานมากองไว้ จึงเป็นที่มาของชื่อวัดว่า “วัดกองกาน” นั่นเองครับ



เลยจากวัดกองกานไปสัก 500 เมตร จะเป็นจุดชมนาขั้นบันไดที่มีชื่อเสียงอีกจุดหนึ่งของแม่แจ่ม ถึงแม้ความอลังการอาจจะไม่เท่านาขั้นบันไดบ้านป่าบงเปียง แต่ความสวยงามของ นาขั้นบันไดบ้านกองกาน ก็ไม่ได้น้อยหน้าเลย แถมยังเดินทางได้สะดวกกว่าการไปที่บ้านป่าบงเปียงด้วย แต่ !!! เบื้องหน้าผม ณ ตอนนี้ มองไม่เห็นผืนแปลงนาเลยสักผืน อะไรกันเนี่ย นี่ผ่านหน้าฝนมาแล้ว 1 เดือน ทำไมที่นี่ยังไม่เริ่มปลูกนาข้าวกันเลยเหรอเนี่ย ภาพของนาขั้นบันไดที่วาดไว้ในฝัน กลับกลายเป็นแปลกผักแบบขั้นบันไดไปเสียนี่ แต่ไม่เป็นไร ถึงจะเป็นแปลงผัก แต่ก็ยังพอเห็นขั้นบันไดอยู่บ้าง ถือว่าหยวนๆ ไปครับ

ก่อนจะอำลาแม่แจ่ม ผมได้ตะเวนหาซื้อของฝากเล็กๆ น้อยๆ ติดไม้ติดมือเพื่อไปฝากคนที่บ้านสักหน่อยครับ โดยเลือกที่จะไปดูปิ่นปักผม สินค้า OTOP ชิ้นดังของแม่แจ่มครับ


ถ้าพูดถึงปิ่นปักผม คงต้องนึกถึงปิ่นปักผมฝีมือของพ่ออุ้ยกอนแก้ว อินตะก๋อน เมื่อหลายปีก่อนที่ผมได้มาเที่ยวแม่แจ่มในครั้งแรก ผมอยากมาดูฝีมือปิ่นปักผมของพ่ออุ้ยกอนแก้วเป็นอย่างมาก แล้วรอบนี้ผมจึงไม่ขอพลาด ตรงมายังบ้านของพ่ออุ้ยกอนแก้วในทันที แต่เมื่อมาถึงบ้านของพ่ออุ้ย ถึงได้ทราบว่าพ่ออุ้ยกอนแก้วได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2556 แล้วครับ




พ่ออุ้ยกอนแก้ว เป็นช่างทำปิ่นปักผมทองเหลืองโบราณที่มีชื่อเสียงของแม่แจ่ม ถึงแม้พ่ออุ้ยจะไม่อยู่แล้ว แต่ท่านก็ได้ถ่ายทอดวิชาให้กับลูกหลานได้สานต่อการทำปิ่นปักผมโบราณให้อยู่คู่แม่แจ่มตลอดไป

ปิ่นปักผมที่มีจำหน่าย มีทั้งปิ่นปักผมทองเหลืองหัวแก้วพม่า หรือถ้าใครชอบแบบเนื้อเงิน ก็มีทั้งปิ่นแบบธรรมดาและปิ่นดอกไม้ไหว เลือกซื้อหาได้ตามใจชอบเลยครับ

อีกหนึ่งของฝากของแม่แจ่มที่เด็ดไม่แพ้ปิ่นปักผม นั่นคือผ้าซิ่นตีนตกครับ ที่แม่แจ่มจะมีการทอผ้าซิ่นตีนตกกันทั้งหมู่บ้านเลยครับ

ผ้าซิ่นตีนตกเป็นงานหัตถกรรมผ้าทอพื้นบ้านของผู้หญิงในอำเภอแม่แจ่มที่คงเอกลักษณ์ดั้งเดิมที่สืบทอดจากรุ่นต่อรุ่นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ละบ้านจะมีเครื่องทอผ้าอยู่ที่ใต้ถุนบ้าน


“กระสวย” อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างสรรค์ผ้าซิ่นสวยๆ ให้เป็นที่ปรากฏต่อสายตาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติครับ



ลวดลายของผ้าจะสะท้อนถึงคติความเชื่อและความศรัทธาผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา จึงมีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น โคม ขัน นาค หงส์น้ำต้น สะเปา ครับ



มีทั้งแบบเป็นผืนและถุงสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าที่ตัดเย็บรอการจำหน่ายด้วยครับ

ถึงแม้ว่าการมาแม่แจ่มของผมในครั้งนี้ อาจไม่ได้สมหวังตามที่ตั้งใจ เพียงเพราะไม่ได้เห็นความสวยงามของนาขั้นบันได เนื่องจากยังไม่ถึงช่วงฤดูปลูกข้าว แต่ผมว่าผมไม่เสียใจเลยนะที่มาที่แม่แจ่มในรอบนี้ จริงๆ แล้วแม่แจ่มไม่ได้มีดีแค่นาขั้นบันได แต่แม่แจ่มมากมีด้วยคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ความงดงามที่เกิดขึ้นในจิตใจ ทำให้ผมตั้งใจกลับมาที่แม่แจ่มอีกครั้งในเร็ววัน

สำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการมาชมความงามของนาขั้นบันได คงต้องวางแผนมาในช่วงกันยายน-พฤศจิกายนครับ ที่นี่จะปลูกข้าวกันปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

ท้ายสุดนี้ เพื่อนๆ สามารถเข้าไปให้กำลังใจและติดตามผลงานของผมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/unclegreenshirt นะครับ

ความคิดเห็น