หลังพระราชพิธีประวัติศาสตร์พ้นผ่าน เชื่อว่าหลายคนคงวางแผนอยากไปกราบสักการะพระบรมราชสรีรางคารองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่วัดบวรนิเวศ และวัดราชบพิธ รวมถึงเยี่ยมชมนิทรรศการภายในพระเมรุมาศท้องสนามหลวง ที่จะเปิดตั้งแต่ 2-30 พฤศจิกายน ต่อกันอีก

ขอบอกนิดหน่อยว่านอกจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังมีพระบรมราชสรีรางคารของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีพระองค์อื่น ประดิษฐาน ณ วัดหลวงต่างๆ ในพื้นที่แถวพระบรมมหาราชวังอีกด้วย ระยะทางไม่ไกล สามารถเดินถึงกัน ซึ่งผมขอแนะนำเส้นทางเดินไว้ให้เผื่อใครสนใจ ไม่จำเป็นต้องขับรถไป เดินสะดวกกว่ากันเยอะ

วัดซึ่งประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลนั้นๆ มีดังนี้ครับ

- วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร (ร.6 ร.9)
- วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร (ร.8)
- วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร (ร.5 ร.7 ร.9)
- วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร (ร.4)
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (ร.1)
- วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร (ร.2)

สำหรับพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร เขตจอมทอง ฝั่งธนบุรี ใครทำเวลาดีพอจะนั่งรถเพื่อสักการะให้ครบ 9 รัชกาล ภายในวันเดียวก็ลองดู นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 5 ประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร อีกแห่ง แต่อยู่นอกโซนพระบรมมหาราชวัง ใครอยากไปก็นั่งรถได้ไม่ไกลเท่าไหร่

ส่วนเส้นทางเดินเท้า 6 วัด ระยะทางราว 4 กิโลเมตร รอบพระบรมมหาราชวังเดินยังไง ไปกันเลย

1. ให้จุดเริ่มต้นคือท้องสนามหลวงหรือพระเมรุมาศ เดินมาถนนราชดำเนินกลาง ถึงแยกคอกวัวทางเข้าถนนข้าวสารนั่นแหละ ก็เลี้ยวซ้ายเข้ามาตามถนนตะนาว ตรงไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเข้าถนนข้าวสาร นิดเดียวก็จะถึงวัดบวรนิเวศ

2. จากวัดบวรย้อนกลับมาแยกคอกวัว เลี้ยวซ้ายเดินไปเจออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ข้ามถนนเดินเข้าถนนดินสอตรงไปเสาชิงช้า เลียบด้านข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ตรงเสาชิงช้าคือทางเข้าวัดสุทัศนเทพวราราม

3. ออกจากข้างวัดสุทัศน์ฝั่งถนนตีทอง ตรงไปถึงแยกเลี้ยวขวาเข้าถนนราชบพิธ เดินอีกนิดก็จะถึงด้านหลังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เข้าวัดทางด้านหลังได้เลย

4. อยู่ที่วัดราชบพิธ ให้ออกจากวัดด้านสุสานหลวง ฝั่งตรงข้ามคือวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เราก็เดินขึ้นสะพานข้ามคลองรอบกรุงแล้วเข้าวัดทางด้านข้างซึ่งเป็นฝั่งพุทธาวาส

5. ออกจากวัดราชประดิษฐ์ เดินไปทางพระบรมมหาราชวัง ถึงถนนสนามไชย (กำแพงพระบรมมหาราชวัง) ให้เลี้ยวซ้ายผ่านสวนสราญรมย์ จะเจอด้านหลังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ข้ามถนนเดินเลียบข้างวัดไปเข้าประตูฝั่งวิหารพระพุทธไสยาส

6. ออกประตูเดิมที่วัดโพธิ์ ข้ามถนนไปท่าเตียน ขึ้นเรือข้ามฝากไปวัดอรุณราชวราราม มีเรือวิ่งตลอดตั้งแต่เช้าถึงเย็น ค่าเรือสามบาท


วัดบวรนิเวศวิหาร (ร.6 ร.9)

วัดซึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ และรัชกาลที่ 6 ประดิษฐานภายใต้พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยสุโขทัย อัญเชิญมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก พร้อมกับพระศรีศาสดา ซึ่งอยู่ภายในวิหารวัดบวรนี่แหละ เข้าไปกราบสักการะได้เช่นกัน

ในวัดยังมีเจดีย์สีทององค์ใหญ่ และอ้อ... พระอีกองค์ในอุโบสถซึ่งอยู่หลังพระพุทธชินสีห์ คือพระพุทธสุวรรณเขต พระประธานองค์เดิมก่อนจะอัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานคู่กัน


วัดสุทัศนเทพวราราม (ร.8)

คนคุ้นชื่อวัดสุทัศน์จากตำนานเปรตวัดสุทัศน์ และเป็นวัดที่อยู่ตรงเสาชิงช้า มากกว่ารู้ว่าเป็นวัดซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 8 บรรจุในผ้าทิพย์หน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหาร

วัดสุทัศน์พื้นที่กว้างขวาง นอกจากพระวิหาร เราสามารถสักการะพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานในพระอุโบสถ และชมภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยๆ


วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ร.5 ร.7 ร.9)

วัดสุดท้ายซึ่งสร้างตามราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ต้องสร้างวัดประจำรัชกาล โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 มีพระอุโบสถสวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ด้านในตกแต่งแบบโกธิคของยุโรป ส่วนพระเจดีย์องค์ใหญ่ก็ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์สีเหลืองทั้งองค์สวยมากเช่นกัน

พระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ประดิษฐานใต้พระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสร้างจากทองคำทั้งองค์

วัดแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของสุสานหลวง ประดิษฐานพระอัฐิและพระสรีรางคารเชื้อพระวงศ์ อนุสาวรีย์หลายองค์สร้างตามสถาปัตยกรรมโกธิคสวยแปลกตา เราเข้าชมและกราบสักการะได้


วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (ร.4)

ต้นแบบของวัดธรรมยุติกนิกายซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงก่อตั้งและสร้างวัดแห่งนี้้ขึ้น พระบรมราชสรีรังคารของพระองค์ประดิษฐานใต้พระพุทธสิหังคปฏิมากร พระประธานในพระวิหารหลวง (ที่นี่ไม่มีพระอุโบสถ) โดยรอบพระวิหารหลวงและองค์เจดีย์ใหญ่ประดับด้วยหินอ่อนสวยงามมาก

วัดแห่งนี้ค่อนข้างเน้นเรื่องการปฏิบัติพระธรรมวินัยมากกว่าวัดแห่งอื่น การเข้าเยี่ยมชมควรเป็นไปด้วยความเคารพและสุภาพเรียบร้อย


วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ร.1)

บอกชื่อวัดพระเชตุพนอาจไม่คุ้นหู พอเรียกวัดโพธิ์ค่อยคุ้นขึ้นเยอะ เป็นวัดซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเยอะที่สุดรองแค่วัดพระแก้วเท่านั้นแหละ จุดน่าสนใจมีมากมายจนบรรยายไม่หมด ใช้เวลาเดินเที่ยวได้ทั้งวัน แต่ภาพซึ่งเผยแพร่โด่งดังไปทั่วโลกคือพระพุทธไสยาส พระนอนองค์ใหญ่และสวยที่สุดองค์หนึ่งของบ้านเรา

สำหรับพระบรมราชสรีรางคารขององค์รัชกาลที่ 1 ประดิษฐานอยู่ภายใต้พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ


วัดอรุณราชวราราม (ร.2)

มีวัดโพธิ์ก็ต้องอยู่คู่กับวัดแจ้ง หรือวัดอรุณ แค่ข้ามฝั่งเจ้าพระยา พระปรางค์วัดอรุณใครๆ ก็ย่อมรู้จัก ในวัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายครับ ฝรั่งต่างชาติถือเป็นอีกแลนด์มาร์คของเมืองกรุง

พระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 2 ประดิษฐานภายใต้พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ ย้ำว่าในพระอุโบสถนะไม่ใช่พระวิหาร ใครไม่สันทัดเรื่องนี้หรือแยกไม่ออก จะบอกให้ว่าในพระวิหารตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบลายดอกไม้ ส่วนในพระอุโบสถเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง


ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง

http://www.facebook.com/alifeatraveller



ความคิดเห็น